คำถามนี้เป็นคำถามที่เพื่อนๆ ส่งมาให้ผมช่วยตอบเมื่อหลายเดือนก่อน
จริงๆ แล้วผมก็ตอบคำถามนี้ไปแล้วนะครับ
แต่วันนี้ผมขอนำเหตุการณ์นี้มาแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันหน่อยดีกว่า
กรณีศึกษา : ขอคำแนะนำในการสร้างและจัดการห้องสมุดเพื่อเก็บสื่อมัลติมีเดีย
เกริ่นนำ : บริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์มีความประสงค์ที่จะสร้างห้องสมุดเพื่อเก็บเทปถ่ายทำรายการ (footage)
คำถาม 1 : ควรจัดการกับระบบเทปอย่างไร
คำถาม 2 : มีระบบงานห้องสมุดหรือโปรแกรมใดที่มารองรับมั้ย หรือ มีตัวอย่างการวางระบบมั้ย
จากโจทย์ที่ได้รับมาจะสังเกตได้ชัดว่า ห้องสมุดที่ต้องการสร้างเป็นห้องสมุดที่มีลักษณะเฉพาะ
นั่นคือ ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่ใช้จัดเก็บสื่อมีเดียต่างๆ
หากดูเรื่องสื่อที่มีการจัดเก็บ นั่นคือ เทปบันทึกภาพ วีดีดี ดีวีดี ฯลฯ
แนวทางในการตอบโจทย์เรื่องนี้
คำถาม 1 : ควรจัดการกับระบบเทปอย่างไร
คำตอบ 1 : การจัดเก็บสื่อตามที่โจทย์ให้มาอาจจะแยกได้ 2 กรณี นั่นคือ
1.1 หากสื่อมีเดีย (เทปที่ถ่ายทำรายการ) มีความหลากหลายทางด้านเนื้อหา
ผมก็ขอเสนอแนวทางในการจัดเก็บสื่อมีเดียแบบตามหลักสากล เช่น
จัดตามหมวดหมู่ดิวอี้, จัดตามหมวดหมู่รัฐสภาอเมริกัน(LC)
เพราะจะช่วยให้เนื้อหาและหมวดหมู่ของสื่อมีเดียกระจายเป็นส่วนๆ ง่ายต่อการค้นหา
1.2 หากสื่อมีเดีย (เทปที่ถ่ายทำรายการ) มีเนื้อหาในแนวเดียวกัน
เช่น เทปถ่ายทำรายการอาหาร, เทปถ่ายทำรายการบันเทิง ฯลฯ
บรรณารักษ์อาจจะต้องมีการสร้างระบบการจัดการขึ้นมาเอง เช่น เรียงตามอักษร, เรียงตามวันถ่ายทำ
แล้วนำรายการเหล่านี้มาเขียนข้อมูลลงสมุดทะเบียนเพื่อให้สะดวกต่อการค้นหา
แต่ทั้งนี้การจัดหมวดหมู่ไม่ว่าจะจัดแบบไหนก็ตาม
เราจะต้องคำนึงถึงความสะดวกในการสืบค้นของผู้ใช้ด้วย
การจัดเก็บในช่วงเริ่มต้น บรรณารักษ์ควรทำคู่มือการจัดเก็บควบคู่ไปด้วย
เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลสำหรับอนาคตต่อไป
คำถาม 2 : มีระบบงานห้องสมุดหรือโปรแกรมใดที่มารองรับมั้ย หรือ มีตัวอย่างการวางระบบมั้ย
คำตอบ 2 : โปรแกรมห้องสมุดทุกโปรแกรมสามารถรองรับกับการจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว
การเลือกโปรแกรมห้องสมุดขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนทรัพยากรสารสนเทศ งบประมาณ ฐานข้อมูลที่ใช้ ฯลฯ
ถ้าต้องการระบบจัดเก็บสื่อมีเดียที่ไม่ใหญ่มาก หรือ ไม่ซับซ้อนมาก
ก็เลือกโปรแกรมห้องสมุดแบบเล็กๆ ก็ได้ครับ หรือไม่ก็เขียนเองเลยใช้ Access ก็ได้
ถ้าต้องการระบบจัดเก็บสื่อมีเดียที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย
ก็อาจจะเลือกระบบห้องสมุดแบบกลางๆ ก็ได้
ในกรณีที่จำนวนสื่อมีไม่มาก และรองรับการทำงานในระดับปกติ
ผมขอแนะนำ โปรแกรม Library2000 น่าะเหมาะสมที่สุดครับ
เพราะราคาไม่แพง แถมเป็นโปรแกรมคนไทยด้วย
หากสนใจลองเข้าไปดูที่ http://www.library2000.net/ ครับ
ราคาแบบ lite verson เพียงแค่ 500 บาทเอง
สำหรับคำถามทั้งสองข้อ ผมก็ตอบได้ประมาณนี้นะครับ
ผมขอเสริมอีกสักเรื่องนะครับ เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บสื่อมีเดีย
เรื่องนี้ผมว่าก็สำคัญไม่แพ้กับการจัดระบบหรือโปรแกรมในการจัดเก็บเลย
เพราะหากระบบจัดเก็บดี และโปรแกรมดี แต่สถานที่ใช้ไม่ได้ สื่อมีเดียก็อาจจะเสื่อมมูลค่าได้ครับ
สถานที่ที่เหมาะสมต่อการจัดเก็บสื่อควรจะ
– มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น
– อุณหภูมิต้องไม่ร้อนจนเกินไป เพราะสื่ออาจจะเสียหายได้
และอื่นๆ อีกมากมาย
เอาเป็นว่ากรณีศึกษาวันนี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ
หวังว่าเพื่อนๆ คงจะได้ไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ไปประยุกต์ใช้กันนะครับ
ปล. คำตอบและความคิดเห็นของผม อาจจะไม่ตรงใจกับอีกหลายๆ คนก็ได้นะครับ
ดังนั้นเพื่อให้คำตอบสมบูรณ์ ผมจึงอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยครับ
นานๆ ทีจะมาเสนอความเห็นที
ขอร่วมเสวนาด้วยคนครับ
จากการที่เคยได้ทำงานกับบ.ลักษณะนี้มาก่อน
บ.ผลิตสื่อโทรทัศน์ความต้องการเก็บของเขาน่าจะแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปอย่างเราๆ
ส่วนใหญ่แล้วเขาต้องการแค่บางส่วนของภาพวีดีโอที่ถ่ายทำไปแล้ว ทั้งที่ได้ออกรายการ และไม่ได้ออกรายการ เอามาตัดต่อเพื่อทำรายการใหม่
สำหรับรายการที่ออกอากาศไปแล้ว การเก็บน่าจะเรียงตามชื่อรายการและวันเวลาที่ออกอากาศ
ส่วนวีดีโอที่ไม่ได้ออกอากาศ (วีดีโอก่อนการตัดต่อ) อาจจะทำการเรียงลำดับวันเวลาที่ถ่ายทำ
ประเด็นสำคัญของการเข้าถึงของเนื้อหาวีดีโอ น่าจะอยู่ที่คำค้น (หัวเรื่อง) คงจะใช้คำค้นในรูปแบบทางบรรณารักษ์ไม่เหมาะเท่าไร
เพราะช่างตัดต่อเขาต้องการภาพที่เฉพาะเจาะจงเลย เช่น ภาพแม่น้ำเจ้าพระยา long shot อะไรทำนองเนี้ย
เพราะฉะนั้นในวีดีโอ 1 แผ่น/เรื่อง คำค้นจะเยอะมาก เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาให้มากที่สุด
นอกจากนั้นตัวคำค้นจะต้องระบุถึงตำแหน่งภาพที่อยู่ด้วย เช่นอยู่ที่ นาที ที่เท่าไรของวีดีโอชุดนั้น
สำหรับระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่จะใช้ อย่างที่คุณวายแนะนำก็น่าจะได้
เพราะผมคิดว่าถ้าระบบฯ รองรับ MARC ก็สามารถลงรายกายบรรณานุกรมของสื่อสารสนเทศทุกประเภทได้อยู่แล้ว