LibCamp#2 : แอบดูบล็อกห้องสมุดในต่างประเทศ

ผู้บรรยายคนต่อมา คือ คุณวงศ์ต้น เบ็ญจพงษ์ บรรณารักษ์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ซึ่งมาพูดเรื่อง อัปเดทสถานการณ์บล็อกห้องสมุดในต่างประเทศ

inter-library-blog

ซึ่งเริ่มจากการเกริ่นเกี่ยวกับเรื่องของบล็อกมากมาย เช่น

บล็อกไม่ได้ไร้สาระเหมือนที่หลายๆ คนกำลังคิด….
บล็อกก็ไม่ใช่ของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว
มีบล็อกได้ง่ายๆ ฟรี… ไม่ต้องเสียเงิน
ไม่ต้องมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม ก็มีบล็อกได้

จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เรื่องราวว่าบล็อกห้องสมุดในต่างประเทศมี 4 ลักษณะที่น่าสนใจ คือ

1. Blog เพื่อองค์กร
– ใช้บล็อกเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ทัศนคติของคนในองค์กร
และทำให้คนใช้ห้องสมุด มีทัศนคติกับห้องสมุดดีขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนที่จะมีแนวโน้มเข้าห้องสมุดน้อยลง

ตัวอย่าง Blog เพื่อองค์กร เช่น
http://www.loc.gov/blog/
http://www.worldcat.org/blogs/
http://www.nypl.org/blog

2. Blog เพื่อข่าวสาร
– ใช้บล็อกเพื่ออับเดทสถานการณ์ และข่าวสารต่างๆ ในวงการห้องสมุด

ตัวอย่าง Blog เพื่อข่าวสาร เช่น
http://lisnews.org/
http://liswire.com

3. Blog เพื่อการสร้างเครือข่าย
– ใช้บล็อกเพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อนร่วมวิชาชีพ
โดยทั่วไปจะมาจากกลุ่มเล็กๆ และขยายขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ในที่สุด

ตัวอย่าง Blog เพื่อการสร้างเครือข่าย เช่น
http://www.socialnetworkinglibrarian.com/
http://litablog.org/

4. Blog เพื่อสร้างความรู้ / เผยแพร่ความรู้
– ความรู้จะได้รับการต่อยอด เพราะเกิดจากการเปิดเผยความรู้
เมื่อมี Blog ทุกอย่างจะตามมา

ตัวอย่าง Blog เพื่อสร้างความรู้ เช่น
http://lonewolflibrarian.wordpress.com/
http://tametheweb.com

ก่อนจบคุณวงศ์ต้นได้กล่าวถึงเรื่องประโยชน์ของการใช้บล็อกว่า
จากการสร้างบล็อกเล็กๆ เพียง 1 บล็อก เมื่อมีการรวมกลุ่มและจับกลุ่มกันก็จะทำให้เกิดเครือข่าย
เมื่อมีเครือข่ายก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันจนกลายเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่
ซึ่งก็จะทำให้วิชาชีพมีคลังความรู้ และสามารถพัฒนาวงการห้องสมุดต่อไปในอนาคตได้

นับว่าเป็นประโยชน์มากเลยนะครับกับเรื่องการต่อยอดความรู้
ผมเองก็ตกใจมากเลยไม่คิดว่าเพียงแค่บล็อกเล็กๆ ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ขนาดใหญ่
(ก็คงเหมือน Libraryhub ใรวันนี้ที่ต้องรอเวลาจนกลายจะมีความรู้ขนาดมหาศาลหล่ะมั้ง)

ขอบคุณภาพประกอบและบทสรุปของงานจากทีมงาน สสส. ด้วยนะครับ

LibCamp#2 : เสวนาชวน Blogger มาเล่าสู่กันฟัง

วิทยากรที่ร่วมเสวนาใน session นี้ ประกอบด้วย
1. คุณอภิชัย อารยะเจริญชัย บรรณารักษ์ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข (http://janghuman.wordpress.com)
2. อาจารย์สุวรรณ สัมฤทธิ์ บรรณารักษ์ชำนาญการ ห้องสมุดกรมการแพทย์ (http://stks.or.th/wg/dmslib)
3. คุณแสงเดือน ผ่องพุฒ บรรณารักษ์ ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์จดหมายเหตุ วุฒิสภา (http://senatelibrary.wordpress.com)

libcamp2-blogger-team

ซึ่งประเด็นที่ได้จากการเสวนาในช่วงนี้ คือ

คุณอภิชัย อารยะเจริญชัย
จุดประสงค์ในการเขียนบล็อกจริงๆ แล้ว มองว่า Blog เป็นเสมือนโลกส่วนตัวอีกโลกหนึ่ง
ในโลกเสมือนใบนี้เราเขียนในเรื่องที่อยากเขียน และเล่าในเรื่องที่อยากเล่าได้อย่างเต็มที่
โดยการเขียนบล็อก เราจะต้องเลือกเนื้อหาหรือเลือกประเด็นที่คนอยากรู้มากๆ มาเขียน
ซึ่งคุณอภิชัยเองก็บอกว่ามีความถนัดในการหาข้อมูลและเรียบเรียงอยู่แล้ว
เพียงแต่ในการเขียนจะต้องอาศัยแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้ในการอ้างอิงด้วย

อาจารย์สุวรรณ สัมฤทธิ์ ใช้บล็อกเพื่อส่งเสริมงานห้องสมุด
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอสไลด์ เรื่อง “ห้องสมุดกรมการแพทย์บนสังคมออนไลน์” ด้วย
ซึ่งภายในสไลด์ได้กล่าวถึงบล็อกของห้องสมุดกรมการแพทย์ว่า ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 ให้บริการ free fulltext thai article Journals
ส่วนที่ 2 ข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์
ส่วนที่ 3 วีดิโอจากเว็บไซต์ Youtube

นอกจากนี้อาจารย์สุวรรณ ยังได้แนะนำบล็อกของห้องสมุดกรมการแพทย์ และการประเมินผลบล็อกของตัวเองด้วย
นับว่านอกจากสาระที่ได้จากเรื่องของบล็อกแล้ว ยังทำให้ผมรู้ว่าห้องสมุดควรมีเนื้อหาที่เด่นเฉพาะด้านเหมือนกัน

เทคนิคการเขียน Blog (อาจารย์สุวรรณแนะนำมา)

– เขียนแนวที่ตนเองถนัด คือวิชาการ แนวสุขภาพ
– ยึดหลักเชื่อ กับเปลี่ยนของโอบามา, การเพิ่มคุณค่าให้เอกสาร, การเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
– ใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น youtube, ภาพ และการเล่าเรื่อง
– ให้คำ search เป็นทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

คุณแสงเดือน ผ่องพุฒ ได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องแผนส่งเสริมกลยุทธ์การใช้ห้องสมุด ด้วยการใช้บล็อก ดังนี้
– มีการประชาสัมพันธ์ ลักษณะการเล่าให้ฟัง
– เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้ใช้เข้าร่วมกิจกรรมของห้องสมุด
– เป็นที่รวบรวม และเป็นกลุ่มของเนื้อหาในห้องสมุดที่เป็นดิจิทัล
– เพื่อบริการ และให้คำปรึกษาการใช้งานห้องสมุดกับผู้ใช้

ฟังวิทยากรทั้งสามได้เล่าถึงประสบการณ์ในเรื่องของบล็อกห้องสมุดแล้ว
นอกเวทีก็มีคนเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น

คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร ในฐานะอาจารย์พิเศษ อินเทอร์เน็ตเพื่อการประชาสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์
ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีมากที่ห้องสมุดจะใช้ Blog ในการเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์
เพราะหกปีก่อนที่จะมี Blog การประชาสัมพันธ์จะต้องผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ ที่ใช้เวลา และงบประมาณสูงกว่า

คุณสมปอง บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/)
ได้เล่าว่า เริ่มต้นเขียน Blog จากการทำ KM ของหน่วยงาน โดยใช้เว็บไซต์ gotoknow
แล้วจึงทำบล็อกที่เป็นหน่วยงานของตัวเอง เขียนบล็อกเอาไว้ระบาย และเล่าเรื่องราวต่างๆ
ซึ่งในการสร้าง Blog สร้างง่ายแต่เขียนยาก หน่วยงานต้องใช้เวลาเป็นปีในการสร้างคนเพื่อเขียนบล็อก

เอาเป็นว่าทั้งในและนอกเวทีต่างแชร์ประสบการณ์ร่วมกันแบบนี้
ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยวงการห้องสมุดของเราก็เริ่มจะมีแนวโน้มที่ดีต่อการให้บริการในอนาคตแล้ว

ขอบคุณภาพประกอบและบทสรุปของงานจากทีมงาน สสส. ด้วยนะครับ

อบรมการจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้

000 100 200 300 …. เมื่อเห็นตัวเลขเหล่านี้ บวกกับชื่อเรื่อง
หวังว่าเพื่อนๆ คงเดาได้ว่าผมจะเกริ่นเกี่ยวกับเรื่องอะไรนะครับ

dewey

ถูกต้องครับ…เรื่องที่ผมจะเกริ่นวันนี้ก็ คือ การอบรมหลักการจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้ (Dewey)

รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับการอบรมครั้งนี้
ชื่อการอบรม : การจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้
วันที่จัด : 12 – 17 ตุลาคม 2552
สถานที่จัด : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ชั้น 4
จัดโดย : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

การอบรมในครั้งนี้จะเน้นการอบรมในเรืองของการให้เลขหมู่แบบดิวอี้เป็นหลัก
ซึ่งในการให้เลขหมู่แบบดิวอี้ เพื่อนๆ จำเป็นต้องรู้จักตารางเลขประกอบด้วย
รวมถึงวิธีการให้หัวเรื่องที่ถูกต้องและชัดเจนเพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

จริงๆ อยากจะบอกว่าหลักสูตรนี้ สำหรับเพื่อนๆ ที่เรียนวิชาเอกบรรณฯมาตอนปริญญาตรี
การจัดหมวดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้ต้องใช้เวลาเรียนกันเป็นเทอมเลยก็ว่าได้
แต่หลักสูตรนี้จะช่วยเร่งลัดให้เพื่อนๆ ได้เพียง 5 วันเท่านั้นก็จะเข้าใจได้ทั้งหมด

หัวข้อที่เพื่อนๆ ต้องเจอตอนอบรมมีดังนี้
– หลักการจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้
– การใช้ตารางประกอบ
– การแบ่งหมู่แยกตามหมวดต่างๆ
– การกำหนดหัวเรื่อง
– การทำรายการ

วิทยากรสำหรับการอบรมครั้งนี้ คือ รองศาสตราจารย์ พวา พันธุ์เมฆา
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหมวดหมู่และการให้หัวเรื่องภาษาไทยครับ

การอบรมครั้งนี้ต้องเสียเงินนะครับ โดยถ้าเป็นสมาชิกของสมาคมห้องสมุดจะต้องจ่ายราคา 4,000 บาท
แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกของสมาคมห้องสมุดจะต้องจ่ายในราคา 4,300 บาทครับ
ราคานี้รวมค่าเอกสาร อาหารว่าง 2 มื้อ และอาหารกลางวัน? 1 มื้อ / วันนะครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่
http://www.tla.or.th