เก็บตกความประทับใจในงาน #Twtparty

งานเลี้ยงสังสรรค์ของเราชาว twitter หรือที่มีชื่องานว่า #TWTparty ก็ผ่านไปแล้วนะครับ
วันนี้ผมขออาสาเล่าเรื่องความประทับใจที่เกิดขึ้นทั้งหมดในงานให้เพื่อนๆ ฟังนะครับ

twtparty2

งานเลี้ยง #Twtparty ที่จัดไปเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2552 ณ ร้าน Kin Ramen
มีผู้ร่วมกินทั้งหมด 27 คน ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้
@ylibraryhub @junesis @jaaja @bankkung @jazzanovalerm @jenospot @tomorn @maeyingzine @ladynile @aircoolsa? @oiil @CCCheezEEE @zetsuboublogger @exzign @eCybermania @panj @muenue @neokain @goople @lwkl @pimoooo @MeetTrend @Meetmeal @dominixz @eiiiie @Reind33r @FordAntiTrust

บทสรุปที่ร้าน Kin Ramen ก็คือ
ทุกคนอิ่มกันมากมาย แม้จะมีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง 45 นาทีก็เถอะ
แต่พวกเราก็สั่งกันเต็มที่ งานนี้ต้องขอขอบคุณ @pimoooo ที่แนะนำเมนูต่างๆ ให้เรา
(พวกเราไม่ค่อยรู้จักเมนูอาหารอ่ะ เลยบอกพี่แกว่า ขอ 3 ชุด เลย อิอิ)

ค่าเสียหายที่เฉลี่ยรายคน ตกคนละ 315 บาทเอง เนื่องจากเราไปกัน 26 คน เลย เข้าแก็บว่า มา 10 คน ฟรี 1 คน
ดังนั้นเราเลยประหยัดกันได้นิดนึง เอาเป็นว่าราคาก็ไม่แพงมากเกินไป ใช่มั้ย ?????

ระหว่างที่กิน กิจกรรมที่เกิดขึ้น เช่น แจกของขวัญปีใหม่ พูดคุยเฮฮา ถ่ายรูปสนุกสนาน ฯลฯ
แบบว่าจริงๆ ถ้าจะจัดคราวหน้าแนะนำว่าเหมาทั้งชั้นเลยน่าจะดี เพราะพวกเราใช้เสียงกันแบบเต็มที่มากๆ

เอาเป็นว่า สนุกมากๆ ครับ

ประมวลภาพ #Twtparty ณ ร้าน Kin Ramen

[nggallery id=21]

แต่อย่างที่เกริ่นไปในกำหนดการของ #Twtparty เรายังเหลืออีกกิจกรรมนึงคือถ่ายรูปหน้า Q-House สาธร
ซึ่งมีการจัดไฟ และสถานที่เพื่อให้เข้ากับงานคริสต์มาส ดังนั้นหลังกินเสร็จพวกเราจึงมุ่งหน้าไปต่อที่ Q-House ทันที
งานนี้มี @nuboat มาแจมด้วย เอาเป็นว่าเราก็ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนานจริงๆ

กิจกรรมเด่นๆ ที่หน้า Q-House เช่น ถ่ายรูป นั่งเสวนาเรื่องวิชาการ และชื่นชมบรรยากาศยามค่ำคืน

เอาเป็นว่าเราไปชมภาพกิจกรรมหน้า Q-House กันด้วยดีกว่า

[nggallery id=20]

เป็นยังไงกันบ้างครับกับกิจกรรมทั้งหมด

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่ตอบรับเข้าร่วมงานทุกคนนะครับ
มิตรภาพใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น และสานสัมพันธ์เพื่อนๆ เก่าที่เคยเจอกัน
งานหน้าจะมีอีกแน่นอน ผมสัญญาและจะมีกิจกรรมดีๆ มาฝากเรื่อยๆ ครับ

อัพเดท ขอเพิ่มวีดีโอที่ถ่ายในงาน #twtparty โดย @dominixz ในบล็อกครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=S2x0p3Fkoxs[/youtube]

Happy New Year 2010 ครับ

ประสบการณ์ทำงานห้องสมุดเล็กใหญ่ไม่สำคัญ

คนที่ทำงานในห้องสมุดใหญ่ หรือ คนที่ทำงานในห้องสมุดเล็ก
ไม่ว่าจะที่ไหนก็คือห้องสมุดเหมือนกัน และเป็นบรรณารักษ์เหมือนกัน
ดังนั้นกรุณาอย่าแตกแยกครับ บรรณารักษ์ต้องสามัคคีกัน (มาแนวรักชาติ)

librarian-in-library

ทำไมผมต้องเขียนเรื่องนี้หรอครับ สาเหตุมาจากมีน้องคนนึงมาอ่านบล็อกผมแล้วส่งเมล์มาถาม
เกี่ยวกับเรื่องการทำงานในห้องสมุดและสมัครงานในห้องสมุดนั่นเอง

ประมาณว่าน้องเขาถามว่า
“ผมทำงานในห้องสมุดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทำงานทุกอย่างคนเดียวในห้องสมุด
ทีนี้ผมอยากจะออกมาสมัครงานในห้องสมุดแบบใหญ่ๆ บ้าง
ขอถามว่าผมจะเสียเปรียบบรรณารักษ์คนที่เคยทำงานในห้องสมุดใหญ่ๆ บ้างหรือปล่าว”

ประเด็นนี้ผมมานั่งคิดๆ ดูแล้ว มันก็ตอบยากนะครับ เพราะว่าในแง่ของการให้บริการในห้องสมุดมันก็คล้ายๆ กันนะครับ
คือพูดง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์ยังไงเราก็ต้องให้บริการผู้ใช้ในห้องสมุดอยู่แล้ว

จะบอกว่าห้องสมุดใหญ่ต้องให้บริการดีกว่าห้องสมุดเล็ก มันก็คงไม่ใช่ สรุปง่ายๆ ว่างานด้านบริการผมว่าเท่าๆ กัน
แต่ในแง่ของอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกหรืองบประมาณอันนี้ผมคงต้องถามต่อไปอีกว่า

“ห้องสมุดของเรา บริการให้ผู้ใช้บริการได้เต็มที่แล้วหรือยัง”

ห้องสมุดในบางแห่งมีงบประมาณมากมาย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาก แต่บรรณารักษ์กลับไม่สนใจในการให้บริการ
ดังนั้นการจะเปรียบเทียบห้องสมุดผมจึงไม่ขอเอาเรื่องความใหญ่โตของห้องสมุดมาเทียบนะครับ
ถ้าจะเทียบผมขอเทียบในแง่ของการให้บริการดีกว่า ถึงแม้ว่าจะวัดผลในการให้บริการยากก็ตาม

ในแง่ของผู้ใช้บริการที่ต้องเข้ามาใช้บริการในห้องสมุด
จุดประสงค์ก็คงจะไม่พ้นเพื่อค้นหาข้อมูล เพื่อหาความรู้ อ่านหนังสือ ฯลฯ
ซึ่งโดยหลักการแล้วห้องสมุดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องมีบริการพื้นฐานเหล่านี้

ในเรื่องของการทำงานด้านบรรณารักษ์ในห้องสมุด อันนี้ผมคงต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับการเรียนรู้งานของเพื่อนๆ นั่นแหละ
ซึ่งโดยปกติที่ผมเห็นคือถ้าเป็นห้องสมุดใหญ่ๆ บรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะมีการแบ่งงานอย่างชัดเจน
ซึ่งแน่นอนว่าคนเดียวอาจจะไม่ต้องทำทุกงานในห้องสมุดก็ได้ ดังนั้นบรรณารักษ์ก็จะได้ความชำนาญเฉพาะด้านไปใช้

แต่ถ้าหากมองไปที่ห้องสมุดขนาดเล็กซึ่งบางแห่งมีบรรณารักษ์คนเดียว
และทำงานทุกอย่างในห้องสมุดไม่ว่าจะเป็นงานบริหารไปจนถึงการจัดชั้นหนังสือ
แน่นอนครับ บรรณารักษ์ในกลุ่มนี้จะเข้าใจในกระบวนการทำงานของห้องสมุดแบบภาพรวมได้อย่างชัดเจน
รู้กระบวนการต่างๆ ในห้องสมุด ขั้นตอน แผนงาน และการดำเนินการต่างๆ อย่างเป็นระบบ

เอาเป็นว่าขอสรุปนิดนึง
ห้องสมุดใหญ่ –> บรรณารักษ์ชำนาญเฉพาะด้าน
ห้องสมุดขนาดเล็ก –> บรรณารักษ์เข้าใจภาพรวมของห้องสมุด

เวลาไปสมัครงานไม่ว่าจะมาจากห้องสมุดเล็ก หรือ ห้องสมุดใหญ่
ผมว่าต่างคนก็ต่างได้เปรียบในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องการสมัครงานคงไม่มีผลกระทบเช่นกัน

ยังไงซะไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ทุกคนก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นบรรณารักษ์อยู่ดี
ดังนั้นก็ขอให้เพื่อนๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนะครับ

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ (NLM Classification)

การจัดหมวดหมู่หนังสือตามมาตรฐานของห้องสมุดมีอยู่หลายรูปแบบ
แล้วแต่ว่าเพื่อนๆ จะเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับห้องสมุดของเพื่อนๆ เอง
วันนี้ผมจึงขอนำเสนอการจัดหมวดหมู่ทางการแพทย์ให้เพื่อนๆ รู้จักนะครับ

nlm

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม NLM
หรือชื่อเต็มๆ คือ National Library of Medicine นั่นเอง

ประวัติของการจัดหมวดหมู่แบบ NLM
เกิดจาก Army Medical Library ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องการจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดในปี 1944
ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่หนังสือโดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข (ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแอลซี)
และได้เสนอแนะให้ห้องสมุดทางการแพทย์มีการจัดหมวดหมู่ในลักษณะดังกล่าว
จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ขึ้น

ซึ่งทำให้ได้แม่แบบในการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ฉบับแรกขึ้น ในปี 1948
โดยพัฒนามาจากการจัดหมวดหมู่แบบแอลซีนั่นเอง

การปรับปรุงหมวดหมู่ต่างๆ ใน NLM Classification ก็มีการปรับปรุงมาโดยตลอด
เนื่องจากในวงการแพทย์ก็มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดเช่นเดียวกับด้านเทคโนโลยี

ในปี 2002 ก็มีการจัดทำเว็บไซต์และตีพิมพ์ข้อมูลของการจัดหมวดหมู่ทางการแพทย์ขึ้น
ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.nlm.nih.gov/class/index.html

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ โดยทั่วไปจะใช้ตัวอักษรหลัก 2 ตัว คือ Q และ W

โดยแต่ละตัวอักษรสามารถแบ่งหมวดย่อยลงไปอีกระดับได้ ซึ่งเหมือนกับการจัดหมวดหมู่แบบแอลซี เช่น
หมวดหลัก Q – Preclinical Sciences (วิชาว่าด้วยสุขภาวะเบื้องต้น)
หมวดย่อย QS – Human Anatomy กายวิภาคศาสตร์มนุษย์
หมวดย่อย QT – Physiology สรีรวิทยา
หมวดย่อย QU – Biochemistry ชีวเคมี
หมวดย่อย QV – Pharmacology เภสัชวิทยา

หมวดหลัก W – Medicine and Related Subjects (การแพทย์และเรื่องที่เกี่ยวข้อง)
หมวดย่อย WA – Public Health สาธารณสุขศาสตร์
หมวดย่อย WB – Practice of Medicine แพทยศาสตร์
หมวดย่อย WC – Communicable Diseases โรคติดต่อ

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างแค่บางหมวดหมู่เท่านั้น หากจะดูหมวดแบบเต็มๆ ลองเข้าไปดูที่
http://wwwcf.nlm.nih.gov/class/OutlineofNLMClassificationSchedule.html

หลังจากที่ได้หมวดหมู่แล้ว หลังจากนี้ก็ต้องใช้การเปิดตารางดัชนี
เพื่อกำหนดเลขอารบิค 1 – 999 เพื่อให้ได้หมวดหมู่และรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ

เช่น หากต้องการพจนานุกรมเกี่ยวกับโรคติดต่อ ก็ต้องไปดูเลขเฉพาะของหมวดนั้นๆ ลงไปอีก
ซึ่งจะได้ หมวดโรคติดต่อ + พจนานุกรม = WC + 13
ดังนั้น พจนานุกรมเกี่ยวกับโรคติดต่อ = WC13

และถ้าอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ ก็จะต้องมีเลขผู้แต่ง และปีพิมพ์ของหนังสือเล่มนั้นด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับเรื่องราวการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์
มันก็มีความซับซ้อนไม่ต่างจากการจัดหมวดหมู่หนังสือแบบอื่นๆ เช่นกัน

รู้รึยังครับการงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

กรณีศึกษาเรื่องสารานุกรมออนไลน์ : Britannica VS Wikipedia

วันนี้ผมขอนำเรื่องเก่ามาเรียบเรียงและเล่าใหม่อีกสักครั้งนะครับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนสงสัยมากมายเกี่ยวกับการอ้างอิงบทความต่างๆ ในสารานุกรม
โดยกรณีที่ผมนำมาเขียนนี้จะขอเน้นไปในเรื่องสารานุกรมที่เป็นสิ่งพิมพ์กับสารานุกรมออนไลน์

reference-site

ซึ่งเรื่องมันมีอยู่ว่า…มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามผมถึงเรื่อง
การนำข้อมูลบน website ไปอ้างอิงในการทำรายงานว่ากระทำได้หรือไม่ และมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า

อันที่จริงคำถามนี้ผมก็เคยตั้งคำถามในใจไว้เหมือนกัน แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้สักที
เพราะว่าประเด็นในเรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญออกมากล่าวไว้ไม่เหมือนกัน โดยสรุปได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มที่บอกว่าข้อมูลสามารถนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากในหลักการเขียนบรรณานุกรมยังมีการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์
2. กลุ่มที่บอกว่าข้อมูลไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ทั้งหมด ซึ่งต้องเลือกและพิจารณาแหล่งข้อมูลเสียก่อนจึงจะอ้างอิงได้
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบทความทางวิชาการ เช่น รายงานการประชุม ฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า สารานุกรมออนไลน์

สารานุกรมออนไลน์ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต เราสามารถจำแนกได้ออกเป็นอีกสองกลุ่ม คือ

1. สารานุกรมออนไลน์ทั่วไป
ได้แก่ Encyclopedia Britannica , Encarta เป็นต้น
สารานุกรมจำพวกนี้ได้รับความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานานเนื่องจากสารานุกรม เหล่านี้นอกจากมีบนอินเทอร์เน็ตแล้วยังมีในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์อีกด้วย

2. สารานุกรมเสรี ได้แก่ Wikipedia, PBwiki เป็นต้น
สารานุกรมจำพวกนี้เป็นสารานุกรมที่ให้ข้อมูลค่อนข้างดี แต่บางครั้งก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาจากนักวิชาการ ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงกันเรื่องความน่าเชื่อถืออยู่

ข้อแตกต่างระหว่าง Britannica กับ Wikipedia คือ ผู้แต่งหรือผู้เขียนบทความ
ถ้าเป็นของ Britannica ผู้เขียนจะเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
แต่ Wikipedia ผู้แต่งหรือผู้เขียนคือใครก็ได้ที่เข้าใจหรือรู้ในเรื่องๆ นั้น เข้ามาเขียนด้วยภาษาง่ายๆ อธิบายตามที่เขารู้
ถ้าสิ่งที่เขารู้มันผิดก็จะมีคนเข้ามาแก้ไขให้เรื่อยๆ จนได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ที่สุด

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเรื่อง wikipedia เพิ่มเติม ลองอ่านดูที่
แนะนำวิกิพีเดีย โดยเว็บไซต์ wikipedia
Wikipedia สารานุกรมฟรีออนไลน์ที่ใครๆ ก็เขียนได้ โดยผู้จัดการ 360 องศา

หากจะถามถึงการอ้างอิงเนื้อหาผมคงตอบไม่ได้ว่าจะอ้างอิงได้หรือไม่
เพื่อนๆ ต้องพิจารณากันเองนะครับ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับบทความที่เราจะนำมาใช้ว่ามีความน่าเชื่อถือขนาดไหน
เพราะว่าใน wikipedia แต่ละเรื่องจะต้องมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องดูแหล่งอ้างอิงของบทความนั้นๆ ด้วย

มีบทความของ Nature Magazine Dec 14, 2005 เรื่อง Internet encyclopaedias go head to head
ได้สำรวจความถูกต้องของข้อมูลแล้วพบว่า ใน Britannica กับ Wikipedia มีความผิดพลาดในระดับพอๆ กัน
ซึ่งหลายคนมองบทความชิ้นนี้ว่าเป็นการทำให้ Britannica เสียชื่อเสียงหรือเปล่า
แต่ในโลกของอินเทอร์เน็ตอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเหมือนกันนะ
จนถึงวันนี้จากการจัดอันดับเว็บไซท์ของ alexa ปี 2009 Wikipedia ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ของโลนะครับ

แล้วเพื่อนๆ คิดยังไงกับเรื่องนี้ครับ
บทความในวิกิพีเดียสามารถนำมาอ้างอิงได้มั้ย
แล้วความน่าเชื่อถือเพื่อนๆว่าเชื่อได้กี่เปอร์เซ็นต์ครับ

ห้องสมุดกับทิศทางในการใช้ Social Networking ปีหน้า

อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2010 แล้วนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอบทความเรื่อง
แนวโน้มของการใช้ social networking ในวงการห้องสมุดปี 2010” นะครับ

sns-library

บทความนี้ต้นฉบับมาจากเรื่อง “Top 10 Social Networking in Libraries Trends for 2010”

สาระสำคัญของบทความชิ้นนี้คือการชี้ให้เห็นถึงทิศทางในการใช้ Social Networking ต่างๆ เพื่องานห้องสมุด
ซึ่งหากเพื่อนๆ ติดตามกระแสของการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อนๆ จะรู้ว่าแนวโน้มห้องสมุดมีการนำมาใช้มากขึ้น
ซึ่งบทความชิ้นนี้ได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อย่อยๆ 10 อย่างด้วยกันดังนี้

1. An increase in the use of mobile applications for library services.
โปรแกรมที่เกี่ยวกับบริการต่างๆ ของห้องสมุดในโทรศัพท์มือถือมีมากขึ้น
เช่น ใน Iphone ของผมตอนนี้ก็มี โปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น DCPL, bibliosearch เป็นต้น

2. Even more ebook readers and the popularity of the ones that already exist.
กระแสของการใช้ Ebook Reader ปีที่ผ่านมาถ้าเพื่อนๆ สังเกตก็จะพบว่ามีจำนวนที่โตขึ้นมา
เว็บไซต์หลายๆ เว็บไซต์ให้บริการ download Ebook มากมาย ซึ่งบริการเช่นนี้จะเกิดในห้องสมุดอีกไม่นานครับ

3. The usage of more niche social networking sites for the public at large and this will spill over into libraries.
จำนวนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับ social networking เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมันก็กำลังจะเข้ามาสู่วงการห้องสมุดเพิ่มขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องนึง คือ twitter หลายๆ ห้องสมุดในไทยตอนนี้ยังเริ่มใช้บริการกันแล้วเลยครับ

4. An increase in the amount and usage of Google Applications such as Google Wave and other similar applications.
การใช้งาน application บน google มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น google wave หรือโปรแกรมอื่นๆ
เพื่อนๆ คนไหนอยากได้ invite google wave บอกผมนะเดี๋ยวผมจะ invite ไปให้

5. The Google Books controversy will more or less be resolved and patrons will begin to use it more.
google book มีการใช้งานมากขึ้นเช่นกัน หลังจากที่มีอยู่ช่วงนึงเป็นขาลง แต่ตอนนี้จำนวนผู้ใช้กลับเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกแล้ว
(นอกจากนี้ google book ยังได้รับความร่วมมือจากห้องสมุดอีกหลายๆ แห่งด้วย)

6. Library websites will become more socialized and customized
เว็บไซต์ของห้องสมุดจะมีความเป็น 2.0 มากขึ้น (ตอบสนองกับผู้ใช้มากขึ้น)
ลักษณะการให้บริการบนเว็บไซต์ของห้องสมุดจะเปลี่ยนไป

7. College libraries will use more open source software and more social networking sites.
ห้องสมุดหลายๆ แห่งกำลังตื่นตัวเรื่อง Open source รวมถึงการใช้ social network ในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
เช่น Moodle, greenstone, Dspace ฯลฯ

8. More libraries will use podcasting and itunes U to communicate with patrons.
ห้องสมุดหลายๆ ที่จะมีการใช้ podcast และนำ itune เข้ามาติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการ
ตัวอย่าง เช่น การให้บริการ podcast ของ Library of Congress

9. More libraries will offer social networking classes to their patrons.
เมื่อห้องสมุดใช้ Social networking มากขึ้นแล้ว ห้องสมุดก็ต้องจัดคอร์สอบรมให้ผู้ใช้บริการด้วย
โดยปีหน้าห้องสมุดหลายๆ ที่จะมีการจัดคอร์สเกี่ยวกับเรื่อง Social Networking เพิ่มมากขึ้น
แล้วเราคงจะได้เห็นหลักสูตรแปลกๆ เพิ่มมากขึ้นนะครับ

10. Social networking in libraries will be viewed more as a must and as a way to save money than as a fun thing to play with or to use to market the library.
การนำ Social networking ที่ห้องสมุดนำมาใช้วัตถุประสงค์หลักๆ คือ การลดค่าใช้จ่ายมากกว่าเล่นเพื่อนสนุกสนาน
นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการสร้างกฎทางการตลาดใหม่ๆ ให้วงการห้องสมุดด้วยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับกระแสแห่งเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
ห้องสมุดของเพื่อนๆ พร้อมแล้วหรือยังที่จะก้าวไปข้างหน้าเหมือนกับห้องสมุดหลายๆ แห่งทั่วโลก
เอาเป็นว่าผมก็ขอเป็นกำหลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนนะครับ…ก้าวต่อไป

อัพเดทข้อมูลงาน #TWTparty – 30/12/2009

หลังจากการประชุมกันนอกรอบของผู้ที่ร่วมจัดงาน #TWTparty

twtparty

ผลสรุปเรื่องกิจกรรม เวลา สถานที่ และผู้ที่เข้าร่วมงานมีดังนี้

1. กิจกรรมที่จะจัดในงาน #TWTparty
– พบปะสังสรรค์ พูดคุย และทักทายกัน
– รับประทานอาหารร่วมกัน (ร้าน Kin Ramen)
– ถ่ายรูปร่วมกัน (หน้าอาคาร Q-house ลุมพินี)
– มอบของขวัญแด่กันในโอกาสปีใหม่ (แล้วแต่ว่าใครจะเตรียมมาก็ได้)

2. เวลาในการจัดงาน #TWTparty ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552
18.30 รวมตัวกันที่หน้าลานน้ำพุ สยามพารากอน
19.00 รับประทานอาหารที่ร้าน Kin Ramen
21.00 เดินทางไปที่ Q house ลุมพินี และถ่ายรูป #Twtphotocamp
22.30 แยกย้ายกันกลับบ้าน

ปล. สำหรับคนที่ไม่สามารถมาร่วมรับประทานอาหารแล้วสนใจจะมาถ่ายรูปก็ขอเชิญนะครับ

3. สถานที่ที่จัดงาน #TWTparty

Kin Ramen ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่น ชั้นบนของร้าน R BURGER อยู่ติดกับธนาคารกรุงเทพ (อยู่หน้าสยามสแควร์ซอย 5)

พิกัดของสถานที่

shop_kinramen_map

– อาคาร Q-house ลุมพินี (สำหรับถ่ายรูป)

พิกัดของสถานที่

map_qhouselumpini_new

4. รายชื่อผู้ที่เข้าร่วมงาน #TWTparty confirm แล้ว
– @ylibraryhub
– @junesis
– @jaaja
– @bankkung
– @jazzanovalerm
– @jenospot
– @tomorn
– @maeyingzine
– @ladynile
– @aircoolsa
– @oiil
– @CCCheezEEE
– @zetsuboublogger
– @exzign
– @eCybermania

สรุปจำนวนล่าสุดที่คอนเฟิม ณ วันนี้มีจำนวน 15 คนครับ
หากใครที่สนใจเพิ่มก็ติดต่อผมมาได้นะครับ แต่อย่าเกินวันอังคารนะครับ เพราะต้องยืนยันกับทางร้านด้วย

รวมบล็อกที่รีวิวร้านที่พวกเราจะไปกินกัน – Kin Ramen
บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นกลางสยาม @ Kin Ramen
บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น Kin Ramen @ Siam Square
@ป๋าเดียชวนชิม@ .. บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น ที่ Kin Ramen ณ SiamSquare

ขอสรุปง่ายๆ เลยนะครับ ในวันนั้น 18.30 น. เราจะเจอกันหน้าลานน้ำพุสยามพารากอน
และเราจะเริ่มเข้าร้าน kin Ramen เวลา 19.00 น. หากใครมาแล้วไม่เจอผมกรุณา DM มาหาได้ครับ

อัพเดทเพิ่มรายชื่อ @muenue @neokain @goople @lwkl @pimoooo @MeetTrend @dominixz

เมื่ออินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากกว่าหนังสือพิมพ์

วันนี้ผมขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องการใช้อินเทอรืเน็ตกับการอ่านหนังสือพิมพ์หน่อยนะครับ
บทความนี้จริงๆ มาจากเรื่อง “อินเทอร์เน็ตกำลังแย่งผู้อ่านไปจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” จาก blognone นะครับ
ต้นฉบับเนื้อหาภาษาอังกฤษ อ่านได้ที่ “Internet use could kill off local newspapers, study finds” จาก physorg
แต่ผมขอนำมาเพิ่มในส่วนที่ผมวิเคราะห์และวิจารณ์ลงไปด้วยครับ

internet-use

————————————————————————————————–

การศึกษาในเรื่อง สื่อออนไลน์ ที่ส่งผลต่อการบริโภคข่าวสารของผู้ใช้โดยทั่วไป
โดยผลการศึกษานี้สรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

1. ในปีที่ผ่านมา (2007) ยอดการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษมียอดที่ลดลง
ทำให้สูญเสียผู้ อ่านไปนับล้านคน แต่ยอดการดูข่าวในอินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

2. รูปแบบของข่าวที่นำเสนอในอินเทอร์เน็ตมาจาก เว็บ Search Engine ต่างๆ
ข่าวสารในบล็อกต่างๆ / เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ที่ดังๆ รวมถึงเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ด้วย

3. Google, Yahoo, AOL และ MSN มีคนเข้าใช้ในแต่ละเดือนประมาณ 100 ล้านคน
แต่เว็บของสถานีโทรทัศน์กลับมีเพียง 7.4 ล้านคนเท่านั้นเอง
และเว็บของหนังสือพิมพ์ดังๆ ที่ติดตลาด เช่น New York Times มีผู้ใช้ประมาณ 8.5 ล้านต่อเดือน

4. หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือหนังสือพิมพ์เล็กๆ พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าวแล้ว
แต่ก็เป็นการยากที่จะดึงลูกค้าจากกลุ่มต่างๆ ในข้อที่ 3 มาได้
ดังนั้นผลกระทบโดยตรงนี้จึงตกอยู่กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต่างๆ ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าว

5. ในบทความนี้แนะนำว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นควรจะปรับกลยุทธ์โดยการให้นำเสนอ
ข่าวในแนวที่กว้างขึ้นและคงความเป็นสากลของหนังสือพิมพ์จึงจะพิชิตอุปสรรค ต่างๆ ได้

————————————————————————————————–

ผลการศึกษาที่ผมยกมานี้หากเรามามองในแง่ของความเป็นบรรณารักษ์
บางคนคงเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมผู้ใช้จึงมีจำนวนลดลงบ้าง

ถึงแม้ว่าในบทความนี้กล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยหลายคนอาจจะบอกว่า
ไม่มีทางหรอกยังไงคนไทยก็ติดความเป็นกระดาษมากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว

แต่ในความคิดของผมที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยม
ประเด็นหลักผมคิดว่ามาจากสื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งทำให้เกิดความยากในการที่จะนำมาใช้
บางคนไม่ชอบภาษาอังกฤษพอเห็นอะไรนิดหน่อยที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงเกิดอาการต่อต้าน

แต่ผมก็คิดในหลักง่ายๆ ว่า แล้วถ้าสื่อเหล่านี้เป็นภาษาไทยหล่ะ
จะทำให้ผู้ใช้หันไปใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์หรือไม่
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ห้องสมุดคงต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยทันที

ผมเอาสรุปสถิติของการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยมของคนไทยมาให้ดูกันคร่าวๆ ดีกว่า
แล้วให้พวกเราลองเปรียบเทียบในแง่ของห้องสมุดว่าห้องสมุดมีคนเข้าใช้จำนวน แค่ไหน

www.sanook.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 223,597
www.kapook.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 142,020
teenee.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 74,811
www.mthai.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 73,752

ข้อมูลจาก truehits.net

เอาเป็นว่าห้องสมุดที่ไหนบ้างในเมืองไทยที่มีการเข้าใช้จำนวนมากเหมือนเว็บไซต์
ใครรู้ช่วยบอกผมทีนะครับ

การค้นหาหนังสือในเว็บไซต์ห้องสมุดด้วย OPAC

ปัจจุบันการค้นหาหนังสือในห้องสมุดดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากนะครับ
จากบัตรรายการมาเป็น OPAC หรือ WEBPAC ซึ่งทำให้เราค้นหาหนังสือได้จากทุกที่ทุกเวลา
แต่การค้นหาทุกๆ อย่างก็มีข้อจำกัดของมัน วันนี้ผมขอเขียนถึง OPAC แล้วกันนะครับ

libraryopac

OPAC (Online Public Access Catalog) เป็นระบบค้นหารายการหนังสือในห้องสมุด
โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แทนที่ระบบแบบเก่าที่เป็นบัตรกระดาษผู้ใช้บริการห้องสมุดหรือบรรณารักษ์
ซึ่งผู้ใช้สามารถสืบค้นผ่านคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด หรือว่าใช้คอมพิวเตอร์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้

หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้งาน OPAC กันแล้วนะครับ
ในเว็บของห้องสมุดเกือบทุกที่จะมีบริการสืบค้นหนังสือออนไลน์ (OPAC / WEBPAC)
และหลายๆ คนคงคิดว่าระบบ OPAC นี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกคุณเคยคิดมั้ยว่า…
เวลาเราค้นหนังสือเจอใน OPAC แล้วเราทำไงต่อ

ระบบ OPAC นี้สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาก็จริงแต่พอค้นหนังสือเจอแล้วแต่ก็อ่านไม่ได้
สิ่งที่เราได้คือเรารู้ว่ามันเก็บอยู่ที่ไหนเพียงเท่านั้นและบอกว่าหนังสือนั้นอยู่ในห้องสมุดหรือปล่าว

หากเราต้องการหนังสือเราก็ต้องเดินทางมาที่ห้องสมุดอยู่ดี
ระบบ OPAC อาจจะใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลาก็จริง
แต่ถ้าเราค้นหาหนังสือตอนห้องสมุดปิดบริการหล่ะ เราจะทำยังไง

ผมขอยกตัวอย่างปัญหาสักนิดมาให้อ่านนะครับ

ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. สืบค้นหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ
นาย ก. จึงเปิดเข้าไปในเว็บห้องสมุดในเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์แล้วพิมพ์คำค้นว่า ระบบสารสนเทศ นาย ก.
ได้รายชื่อหนังสือที่เกี่ยวกับสารสนเทศโดยมีหนังสืออยู่ที่ห้องสมุดกลาง จำนวน 3 เล่ม
แทนที่นาย ก.จะอ่านได้เลยแต่นาย ก.กลับต้องรอวันจันทร์วันที่ห้องสมุดเปิดทำการ
จึงจะสามารถไปที่ห้องสมุดแล้ว ยืมได้ – – – นี่แหละระบบที่ตอบสนองทุกที่ทุกเวลาแต่สถานที่ไม่ใช่

ตัวอย่างที่ 2 ในวันจันทร์ นาย ก.คนเดิมที่ได้รายชื่อหนังสือแล้วเข้าไปที่ห้องสมุดไปหาหนังสือที่ตนเองค้น ไว้
ผลปรากฎว่าหนังสือที่ค้นเนื้อหาด้านในไม่ตรงกับสิ่งที่ นาย ก.ต้องใช้
สรุปก็ต้องหาใหม่ – – – นี่แหละเห็นรายการแต่ไม่เห็น content

แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

สมมุติถ้านาย ก. หาข้อมูลใน Search Engine แต่แรก
คงได้อ่านตั้งแต่คืนวันอาทิตย์แล้ว ไม่ต้องเสียเวลามาที่ห้องสมุดด้วย

เอาเป็นว่าอย่างที่ผมบอก ไม่มี solution ไหนที่ดีที่สุดสำหรับห้องสมุด
เพียงแต่เราต้องหาทางแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการของเราให้ดีขึ้นต่างหาก

ทางแก้ของเรื่องนี้อยู่ผมจะนำมาเขียนเล่าให้ฟังวันหลังนะครับ
เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงคุณภาพและการให้บริการเชิงรุกของห้องสมุดบ้าง
ว่าเพื่อนๆ จะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้

ปล.ที่เขียนเรื่องนี้มาไม่ใช่ว่าต้องการจะล้มระบบ OPAC หรอกนะครับ? และไม่ได้มีเจตนาในการเปรียบเทียบแต่อย่างใด

ห้องสมุดเพื่อผู้ใช้บริการหรือเพื่อบรรณารักษ์กันแน่

ในการจัดตั้งห้องสมุดไม่ว่าที่ไหนก็ตาม จุดมุ่งหมายสำคัญที่บรรณารักษ์ได้ยินมาตลอดคือ “เพื่อผู้ใช้บริการ”
ประโยคนี้ผมก็ได้ยินตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนบรรณารักษ์เหมือนกัน
ในเรื่องของการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ “ผู้ใช้บริการเหมือนพระเจ้า” ก็ว่าได้

libraryforuser

แต่พอเราลองมองย้อนดูเวลาทำงานเราตอบสนองให้กับผู้ใช้จริงๆ หรือปล่าว
อันนี้ต้องคิดดูอีกทีนะครับ เพราะเท่าที่ผมเคยใช้บริการและเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดหลายๆ ที่
ผมก็คิดอยู่เสมอว่าทำไมบางครั้งการสั่งหนังสือ หรือการบริการต่างๆ บรรณารักษ์ยังอิงความเป็นบรรณารักษ์
และตอบสนองผู้ใช้ได้ไม่เต็มที่ การวิเคราะห์เพื่อให้เข้าถึงความเข้าใจของผู้ใช้เป็นสิ่งที่ยากมาก

ในบางครั้งจึงอาจมีการถกเถียงกันว่า…
ความจริงแล้วเราทำเพื่อผู้ใช้จริงหรือ หรือเป็นเพียงการบริการที่ทำให้บรรณารักษ์สบาย

—————————————————

กรณีการสืบค้นหนังสือในห้องสมุด

ห้องสมุด ก. เวลาผมไปห้องสมุดนี้ทีไรต้องการสืบค้นหนังสือผมก็จะเข้าไปถามบรรณารักษ์ว่า
หนังสือที่ผมต้องการหาอยู่ตรงไหน” แต่กลับได้รับคำตอบว่า “ไปหาในคอมพิวเตอร์ดู

ซึ่งทำเอาผมงงไปชั่วขณะ…
จากนั้นผมเดินไปทางมุมสืบค้นคอมพิวเตอร์บ้าง ปรากฎว่าไม่มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่เลย
ผมจึงเดินกลับไปถามบรรณารักษ์ใหม่อีกรอบว่า “ที่มุมสืบค้นไม่เห็นมีคอมพิวเตอร์เลย
บรรณารักษ์คนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า “คอมพิวเตอร์เสีย” “งั้นไปใช้บัตรรายการดูแล้วกัน

ประมาณว่าจะขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เขาก็บอกให้ไปใช้คอมพิวเตอร์
แถมพอคอมพิวเตอรืเสียก็แนะนำไปให้ใช้อย่างอื่น

สรุปว่าบรรณารักษ์เป็นคนที่คอบให้ความช่วยเหลือในห้องสมุดจริงหรือ


—————————————————

ผมขอแถมให้อ่านอีกสักตัวอย่างแล้วกัน

—————————————————

ตัวอย่างกรณีการสั่งหนังสือเข้าห้องสมุด

ห้องสมุด ข. อันนี้ผมเคยทำงานอยู่แล้วกันแต่ไม่ขอเอ่ยชื่ออีก
ในการสั่งหนังสือแต่ละครั้งทางบรรณารักษ์จะนำแบบฟอร์มแล้วให้ผู้ใช้เขียนเสนอแนะรายชื่อหนังสือ
แต่พอรวบรวมเสร็จทีไร ไม่เคยเอารายชื่อนั้นมาส่งให้สำนักพิมพ์สักที

ผมจึงได้เข้าไปสอบถามว่า “ทำไมเราไม่เอารายชื่อหนังสือที่ผู้ใช้บริการเสนอไปสั่งสำนักพิมพ์หล่ะ
บรรณารักษ์ผู้ที่รับผิดชอบงานนั้นก็ตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า
ทำอย่างนั้นจะทำให้เสียเวลาต้องมาแยกสำนักพิมพ์ที่สั่งอีก มันจะไม่สะดวกและเพิ่มภาระงานนะ
เอางี้เราก็ให้ทางสำนักพิมพ์ส่งรายชื่อมาให้เราดีกว่าแล้วเราเลือกเรื่องที่มีหรือที่ใกล้เคียงก็ได้

ผมจึงถามต่อไปว่า “ถ้าสมมุติว่าผู้ใช้บริการเดินเข้ามาถามหาหนังสือที่เขาเสนอไว้หล่ะ จะทำอย่างไร
บรรณารักษ์คนเดิมก็ตอบว่า “ก็บอกไปว่าหนังสือเล่มนั้นทางสำนักพิมพ์แจ้งว่าขาดตลาด

ผมก็ได้แต่นั่งคิดว่า “ทำไปได้นะคนเรา

สั่งหนังสือเพื่อการทำงานของบรรณารักษ์ หรือ เพื่อผู้ใช้บริการเนี้ย

—————————————————

จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงส่วนน้อยของห้องสมุดหล่ะมั้งครับ
ผมเชื่อว่าด้วยจรรยาบรรณของความเป็นวิชาชีพบรรณารักษ์จะยังอยู่กับทุกคนที่ประกอบอาชีพนี้อยู่
เพียงแต่ก็อยากฝากบอกเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพทุกคนว่า ผู้ใช้ของเราสำคัญที่สุด
การบริการด้วยใจ (Service mind) ทุกคนคงมีอยู่ในสายเลือดนะครับ

ก่อนจบขอฝากบทความเรื่อง service mind ให้ลองอ่านดูนะครับ

การมีหัวใจบริการ (Service Mind)

เทคนิคการสร้างจิตสำนึกในงานบริการ ( Service Mind)

การมีหัวใจบริการ (Service Mind)

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นบรรณารักษ์

เรื่องเก่าขอเล่าใหม่เกี่ยวกับบทความหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนอยากเป็นบรรณารักษ์
หลายๆ คนจะต้องนึกถึงบทความเรื่องนี้ “โตขึ้นหนูอยากเป็น – บรรณารักษ์” (คุ้นๆ กันบ้างหรือปล่าว)

librarian

ลองอ่านต้นฉบับได้ที่ โตขึ้นหนูอยากเป็น – บรรณารักษ์

ผมขอสรุปเนื้อหาในบทความนี้

– ในปัจจุบันเป็นยุคของสังคมสารสนเทศ มีข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นในแต่ละวันมากมาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ในการตัดสินใจ ใช้ทำธุรกิจ ต่างๆ แต่ในบางครั้งเราไม่สามารถใช้สารสนเทศได้อย่างเต็มที่ เหมือนกับปลาในมหาสมุทรซึ่งมีอยู่มากมาย หากแต่เราไม่มีเครื่องมือในการจับปลาและไม่รู้จักวิธีในการจับปลานั่นเอง ดังนั้น บรรณารักษ์จึงทำหน้าที่เสือนชาวประมงซึ่งรู้วิธีจับปลาและมีอุปกรณ์ในการจับปลานั่นเอง

– หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสายวิชาชีพนี้มีชื่อเรียกต่างๆ มากมาย เช่น บรรณารักษศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์, สารนิเทศศึกษา, สารสนเทศศาสตร์, การจัดการสารสนเทศ เป็นต้น

– บรรณารักษ์ไม่ใช่แค่คนจัดชั้นแต่บรรณารักษ์เป็นคนที่ดูแลและจัดการหนังสือแต่ละเล่มให้อยู่ในระบบห้องสมุด

– อาชีพที่บรรณารักษืสามารถทำได้มีมากมายเช่น บรรณารักษ์, นักจัดการข้อมูลในศูนย์ข้อมูลต่างๆ หรือเรียกว่าศูนย์สารสนเทศขององค์กรต่างๆ นักข่าว, ฝ่ายข้อมูลบริษัทโฆษณา, เว็บมาสเตอร์, เจ้าหน้าที่บริการงานทั่ว?ไป, นักวิชาการสารสนเทศ, อาจารย์ หรือแม้กระทั่งเป็นเจ้าของร้านทองก็เป็นร้านทอง IT เป็นต้น

– จุดเด่นของสาขาบรรณารักษ์ก็คือสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพอื่นๆ ได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องการทำงาน

ประโยคทิ้งท้ายของบทความนี้ผมชอบมากๆ เลย นั่นก็คือ
“เมื่อรู้เช่นนี้แล้วกรุณา อย่าคิดว่าจบบรรณารักษ์แล้วต้องจัดชั้นหนังสืออีกไม่เช่นนั้นคราวหน้าจะเอา LC SUBJECT HEADING ฟาดหัวเสียให้เข็ด”

เพราะว่าคนที่เรียนหรือทำงานในด้านนี้จะรู้ครับว่า หนังสือ “LC SUBJECT HEADING” มันเล่มใหญ่มาก
ถ้าเอาตาฟาดหัวคนคงมีหวังสลบไปหลายวันเลยครับ อิอิ

เมื่ออ่านบทความนี้จบผมขอแสดงความคิดเห็นสักนิดนะครับ ว่า
ผมเห็นด้วยอย่างมากกับบทความนี้ เพราะวิชาชีพนี้ทำให้ผมเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
ต้องตามข่าวสารให้ทันอยู่เสมอๆ มีนิสัยการรักการอ่าน และทำให้เข้าศาสตร์ของวิชาอื่นๆ ได้ดี

อ่านแล้วรู้สึกอยากเป็นบรรณารักษ์ขึ้นมาเลยหรือปล่าวครับ อิอิ