การให้หัวเรื่องด้วย BISAC Subject heading

ถ้าเราถามบรรณารักษ์ว่า “คุณให้หัวเรื่องหนังสือเล่มนี้อย่างไร มีมาตรฐานอะไรในการให้
บรรณารักษ์หลายๆ คนก็คงตอบว่า “ก็เปิดดูจาก LC Subject Heading” นะสิ
ตกลงว่าในโลกนี้มีการให้หัวเรื่องอยู่แบบเดียวจริงหรือ

bisac-library

การให้หัวเรื่องที่ผมจะนำเสนอวันนี้อาจจะต่างจากการให้หัวเรื่องตามหลักบรรณารักษ์หน่อยนะครับ
แต่ผมว่ามันก็สามารถนำมาใช้แทนกันได้นะ บางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ

การให้หัวเรื่องที่ผมจะกล่าว ถูกเรียกว่า “BISAC”
ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Book Industry Standards and Communications”
ซึ่งถูกคิดค้นด้วยองค์กรที่ชื่อว่า Book Industry Study Group ซึ่งทำงานกับตัวหนังสือเช่นกัน

วัตถุประสงค์หลักๆ ก็คือ ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล EDI(electronic data interchange) ของสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและวารสารเป็นหลัก

ลองเข้าดูการให้หัวเรื่องของระบบ BISAC ได้ที่
http://www.bisg.org/what-we-do-0-136-bisac-subject-headings-list-major-subjects—2009-edition.php

ตัวอย่างหัวเรื่องในระบบ BISAC เช่น
ANTIQUES & COLLECTIBLES
ARCHITECTURE
ART
BIBLES
BIOGRAPHY & AUTOBIOGRAPHY
(นี่เป็นหัวเรื่องใหญ่นะครับ หากต้องการรายละเอียดต้องเข้าไปดูในหัวเรื่องอีกที)

และจากการที่ผมได้ลองเข้าไปดู ผมก็พบว่าจริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ กับ LC subject heading เหมือนกัน
บางทีผมว่ามันก็สามารถนำมาใช้แทน LC subject heading ได้เหมือนกัน

เอาเป็นว่าสำหรับผมคิดว่ามันก็เป็นทางเลือกที่ดีในการนำมาใช้นะครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ http://www.bisg.org

ห้องสมุดที่ทำงานตามกระแสคอมพิวเตอร์

เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในห้องสมุดมีหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ เครือข่ายล่ม ไวรัสลงคอมพิวเตอร์
จนทำให้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของเราต้องหยุดทำงานและไม่สามารถปฏิบัติงานได้

problem-computer-library

หากเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ทุกคนก็คงบอกว่า ?สบายมาก พักแป๊บนึงก็ได้ เดี๋ยวมันก็ใช้ได้แล้ว?
แต่เหตุการณ์แบบนั้นผมคงไม่พูดถึงหรอกเพราะมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรา
แต่สำหรับบางที่และบางกรณีที่เป็นเหตุให้ระบบไม่สามารถใช้งานได้เป็นวันหรือหลายวัน

ห้องสมุดของท่านมีแผนสำรองในการปฏิบัติงานหรือไม่ หรือว่าต้องปิดห้องสมุดด้วยเลย แล้วมันจะดีหรอ

ระบบงานบางอย่างที่ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวถ้าใช้คอมไม่ได้จะทำไง
เช่น หากระบบใช้ไม่ได้ การยืม คืนหนังสือของผู้ใช้บริการจะทำอย่างไร
หากต้อง catalog หนังสือให้เสร็จคุณจะทำงานอย่างไร
บรรณารักษ์อย่างพวกคุณมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะต้องเพิ่งพิงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

อันที่จริงผมก็รู้อยู่แล้วหล่ะว่าบรรณารักษ์เรามีวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีด้วย
แต่บางที่ ที่ผมเจอบางทีพอระบบยืม คืนเสีย ห้องสมุดนั้นประกาศไม่ให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือไปด้วย
ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกยังไงก็ไม่รู้ ทำไมเราต้องอิงกับคอมพิวเตอร์หล่ะ

จำได้หรือเปล่าครับว่า…สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เรายังทำงานกันได้เลย มิใช่หรือ

วิธีการแก้ง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำสถาบันเหล่านั้นนะครับ
ง่ายมาแค่คุณจดรหัสผู้ยืม รหัสบาร์โค้ตของหนังสือ ประทับตราวันที่ยืม และประทับตราวันที่คืน
ลงกระดาษหรือไม่ก็อาจจะทำเป็นแบบหนังสือการยืม
ส่วนการคืนทำงานกว่าก็คือ ประทับตราวันที่คืน กับรหัสบาร์โค้ตของหนังสือก็เท่านั้นเอง
แต่ต้องดูเรื่องค่าปรับด้วยนะครับ แต่ถ้าดูไม่ได้ก็รอจนกว่าระบบจะใช้ได้แล้วส่งบิลแจ้งยอดให้กับผู้ใช้วันหลัง

ซึ่งพฤติกรรมของห้องสมุดที่ไม่ยอมทำงานเพราะว่าเปิดตามกระแสคอมพิวเตอร์
ผมพูดในเชิงประชดว่า คุณเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เก่งมาก
เพราะว่าพอคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้คุณก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พักผ่อนเพราะว่าทำอะไรไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมว่าปิดห้องสมุดไปเถอะครับ

เพราะว่าคติของบรรณารักษ์ที่ดีคือต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
ไม่ใช่อิงความสะดวกสบายของบรรณารักษ์นะครับ

ฝากไว้ให้คิดกันนิดนึง ห้องสมุดส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าดีอยู่แล้ว
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง ค่อยๆ ปรับและหาวิธีการแก้ปัญหา และควรมีแผนงานสำรองเตรียมไว้ด้วยนะครับ

ปัญหามากมายที่รอการแก้ไข จากห้องสมุดแห่งหนึ่ง

หลังจากที่ผมได้คุยกับเพื่อนๆ ในวงการห้องสมุดหลายคน ก็รู้ว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมากมาย
ซึ่งบางปัญหาก็เกิดจากผู้บริหาร หรือบางปัญหาก็เกิดจากผู้ใช้บริการ และบางปัญหาก็เกิดจากตัวบรรณารักษ์เอง

ที่มาจาก badjonni
ที่มาจาก badjonni

วันนี้ผมมีกรณีตัวอย่างมานำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดแห่งนี้ให้เพื่อนๆ ช่วยวิเคราะห์นะครับ

ปัญหาของห้องสมุดนี้ มีดังนี้ครับ

1. ชั้นหนังสือเต็มจนหนังสือไม่มีที่เก็บอีกแล้ว (พื้นที่มีเยอะแต่ชั้นหนังสือมีน้อย)
บรรณารักษ์ทำเรื่องขออนุมัติในการจัดหาครุภัณฑ์ไป 1 ปีกว่าๆ แล้วยังไม่ได้

2. สื่อประเภทซีดีมีมากมายในห้องสมุด แต่ไม่มีที่จัดเก็บ
แม้แต่เครื่องเล่นซีดี คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่มีในห้องสมุด

3. ในห้องสมุดไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น เวลาผู้ใช้ต้องการหาหนังสืออะไร
ก็จะเดินมาถามบรรณารักษ์อย่างเดียว หรือไม่ก็ใช้ความเคยชินเดินหาตามชั้นเอาเอง

4. บุคลากรในห้องสมุดไม่เคยถูกส่งไปเข้าร่วมงานสัมมนา อบรม ประชุมวิชาการต่างๆ เลย
จนบุคลากรบางส่วนต้องลางานเพื่อไปเข้าร่วมงานต่างๆ เอง

5. บุคลากรของห้องสมุด (บรรณารักษ์) มักจะถูกขอให้ไปช่วยงานอื่นๆ ในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน ประชาสัมพันธ์ รับสมัครนักศึกษา ฯลฯ

6. นักเรียนเอาโน้ตบุ๊คมาใช้ในห้องสมุดแต่ไม่สามารถต่อ internet ได้
เนื่องจาก wireless มีไว้ให้พนักงานในองค์กรเล่นได้อย่างเดียว

7. เวลาองค์กรจัดงานนิทรรศการ หรืองานกิจกรรมต่างๆ จะมายืมครุภัณฑ์จากห้องสมุดเป็นหลัก
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ทำให้ห้องสมุดไม่มีที่นั่งเพื่อให้บริการผู้ใช้

ฟังปัญหาของห้องสมุดนี้แล้วก็แอบเหนื่อยใจแทนนะครับ
แต่ผมก็ขอนำเสนอวิธีใการจัดการกับเรื่องเหล่านี้นะครับ

1. ทำงานเท่าที่หน้าที่ของตนรับผิดชอบ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
เราจะฝืนทำมากกว่าที่เป็นอยู่แล้วเดือดร้อนถึงเราไม่ได้ แต่ขอให้ดูว่าผู้ใช้ต้องไม่เดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถึงไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้สืบค้น แต่เราก็สามารถที่จะค้นให้ผู้ใช้ได้มิใช่หรือครับ
เท่านี้นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบรรณารักษ์และผู้ใช้อีกด้วย


2. บางอย่างก็อย่าคาดหวังหากหวังมาก

เช่น คาดว่าจะได้ชั้นหนังสือเดือนหน้า เราก็จะรอคอยในสิ่งที่จะทำให้ผิดหวังได้
ให้คิดซะว่าถ้ามันมีก็ดีนะ แต่ถ้าขาดมันก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เท่านี้ก็สบายใจทั้งเรา ทั้งผู้บริหารแล้ว

3. บางอย่างเราก็คอยติดตามสอบถาม/ทวงถามบ้าง
เช่น หากชั้นหนังสือล้นออกมาเยอะมากแล้วเราก็ควรเริ่มกระตุ้นผู้บริหารได้แล้ว
ไม่ใช่ปล่อยให้มันล้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วไปคาดหวังว่าสักวันผู้บริหารจะเห็นอันนั้นมันคงเป็นไปไม่ได้กระมั้ง

4. ปล่อยวางบ้างเถอะ
บางครั้งการที่องค์กรขาดอุปกรณ์บางอย่างแล้วมาขอยืมไปจากห้องสมุดเช่น โต๊ะ เก้าอี้
หากช่วงนั้น ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องใช้ก็ปล่อยๆ ให้เขาไปเถอะแต่ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเอาไปหมดเลย
ควรจะเหลือไว้ให้ห้องสมุดสักครึ่งหนึ่งก็จะดี เพราะอย่าลืมว่าเราต้องบริการผู้ใช้ด้วย ไม่ใช่บริการองค์กรเพียงอย่างเดียว


คำแนะนำเหล่านี้ ถ้าเพื่อนๆ รับฟังมันก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจแล้วหล่ะครับ

แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดยังไงกับปัญหาเหล่านี้ มีแนวทางในการแก้ไขบ้างหรือปล่าวครับ

ห้องสมุดแห่งนี้อเนกประสงค์เกินไปหรือปล่าว

เพื่อนๆ หลายคนชอบบอกผมว่า อยากให้ห้องสมุดบริการทุกๆ อย่าง หรือ ประมาณว่าอเนกประสงค์เลยก็ดี
วันนี้ผมก็เลยขอเอาประเด็นห้องสมุดอเนกประสงค์ มาเล่าให้ฟังอีกที (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ นะครับ)

everything-in-library

สมมตินะครับ…สมมติ หากว่าห้องสมุดของเพื่อนๆ อเนกประสงค์แบบนี้ เพื่อนๆ ว่ามันดีหรือปล่าว

1. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นห้องเรียนได้ อาจารย์สามารถขอใช้วัสดุจากจากห้องสมุดได้
เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ วารสารเก่าๆ และก็ตัดกันอย่างสนุกสนานในห้องสมุด

2. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นคลังเก็บรวบรวมข้อสอบได้ โดยที่บรรณารักษ์เป็นผู้ตรวจสอบและเก็บให้
พออาจารย์หาข้อสอบเก่าๆ ไม่เจอก็มาโทษบรรณารักษ์และห้องสมุด

3. ห้องสมุดทำหน้าที่จัดกรรมการคุมสอบได้อีก อาจารย์ที่คุมสอบต้องมาลงชื่อที่ห้องสมุดในช่วงสอบ
ส่วนอาจารย์สำรองก็ต้องมานั่งรอในห้องสมุด สรุปว่าห้องสมุดทำหน้าที่ได้เหมือนหน่วยคุมสอบ

4. เวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร สามารถมายืมโต๊ะ เก้าอี้ที่ห้องสมุดได้
ส่วนผู้ที่ใช้ห้องสมุดคนอื่นก็นั่งพื้น หรือ ยืนอ่านแล้วกันนะครับ

5. เวลาปิดเทอมห้องสมุดต้องเตรียมสถานที่ไว้เพื่อใช้ในงานอื่นโดย
ต้องเก็บหนังสือออกจากชั้นและทำการจัดหนังสือใหม่ทุกครั้งเมื่อเปิดเทอม

6. เวลานักเรียนจะจบก็จะมาถ่ายรูปที่ห้องสมุดโดยใช้ห้องอ้างอิงเพื่อการถ่ายรูป
ส่วนนักเรียนที่รอถ่ายรูปก็จะเดินไปเดินมาและคิดว่าห้องสมุดเป็นตลาดซะก็สบายใจ

7. ใช้เป็นที่ลงทะเบียนของนักเรียนทุกๆ เทอม

8. ใช้เป็นสถานที่สัมภาษณ์งานของฝ่ายบุคคลด้วย โดยใช้ห้องโสตฯในการสัมภาษณ์

9. ห้องนอน ห้องพักผ่อน อยู่ที่ห้องสมุดทั้งนั้นเลย

10. และอื่นๆ อีก

ปล. บรรณารักษ์ที่ทำงานที่นี่ ไม่ได้อยากให้ห้องสมุดเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เอง
เนื่องจากนโยบายจากผู้บริหารได้มีคำสั่งออกมาเพื่อใช้ห้องสมุดในการดังกล่าวข้างต้น

เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดแบบนี้แก้ไขอย่างไร เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดของเพื่อนๆ เป็นแบบนี้หรือปล่าว
สรุปแล้วที่เล่ามา เพื่อนๆ ว่าห้องสมุดอเนกประสงค์อย่างนี้ดีมั้ยครับ

ลักษณะทั่วไปของมุมกาแฟในห้องสมุด

บริการใหม่ๆ และทัศนคติใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น
อดีตห้องสมุดหลายแห่งไม่อนุญาติให้นำของกินหรือเครื่องดื่มเข้ามาในห้องสมุด
แต่ปัจจุบันห้องสมุดเหล่านั้นก็เริ่มเปลี่ยนอนุญาติให้นำของกินหรือเครื่องดื่มเข้ามาในห้องสมุดได้

coffee-in-library

โดยเฉพาะมุมกาแฟ ช่วงหลังๆ ที่ผมไปเยี่ยมห้องสมุดหลายๆ ที่
ผมก็เริ่มสังเกตว่าห้องสมุดส่วนใหญ่พักหลังมักจะนิยมมีมุมกาแฟด้วย

จะเพิ่มอีกสักมุมก็คงไม่แปลกเนอะ “มุมกาแฟ” ในห้องสมุด

มุมกาแฟที่ผมพบหลักๆ ผมจะขอแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ นะครับ ซึ่งมีดังนี้

แบบที่ 1 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟเข้ามาเปิดกิจการในห้องสมุด

ลักษณะแบบนี้ห้องสมุดก็ได้ผลตอบแทนหลายๆ อย่าง เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ฯลฯ
ห้องสมุดที่ดำเนินการแบบนี้ได้จะต้องเป็นห้องสมุดที่มีบริเวณหน่อยนะครับ


แบบที่ 2 จัดมุมกาแฟแบบง่ายๆ ด้วยการให้ผู้ใช้บริการบริการตัวเอง

ลักษณะแบบนี้ห้องสมุดก็จะจัดเครื่องทำน้ำร้อน แก้วกระดาษ ช้อนคน และกาแฟสำเร็จรูปประเภทซอง
จากนั้นการคิดเงินก็ให้ผู้ใช้บริการหยอดเงินใส่กล่อง หรือไม่ก็เก็บเงินที่หน้าเคาน์เตอร์
แบบนี้ก็ดีครับง่ายดีแต่การเขียนขออนุมัติกับผู้บริหารจำเป็นต้องเล่าถึงจุดประสงค์ที่ชัดเจนนะครับ
(ไม่งั้นผู้บริหารจะมาหาว่าคุณกำลังหากินกับผู้ใช้บริการห้องสมุดด้วย)


แบบที่ 3 จัดตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือตู้กดน้ำกระป๋อง

ลักษณะนี้ก็จะคล้ายๆ กับข้อที่หนึ่ง คือ ให้ผู้ประกอบการตามติดตั้งให้และดูแลเครื่องเอง
จากนั้นห้องสมุดก็เก็บค่าไฟ หรือ ค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายด้วย

เอาเป็นว่าจริงๆ แล้วอาจจะมีรูปแบบอื่นๆ อีก ยังไงก็ขอให้เพื่อนๆ เล่าให้ผมฟังบ้างนะ

คุณครูสามารถพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุดได้ แต่…

เรื่องเก่าเล่าใหม่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของห้องสมุดสถานศึกษานะครับ
หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการที่คุณครูพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุนะครับ
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาดีกว่า

teacher-in-library

แต่ก่อนอื่นมาฟังเรื่องราวที่เกิดกับผมก่อนดีกว่า…

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในคาบวิชาสังคมศึกษา ของระดับชั้น…
คุณครูที่สอนในวิชานี้ได้นำนักเรียนในห้องที่สอนมาที่ห้องสมุด
และบอกกับบรรณารักษ์ว่า “จะนำนักเรียนมาหาข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อให้เด็กทำรายงาน”
โดยขอให้บรรณารักษ์ช่วยเตรียมหนังสือพิมพ์เก่าๆ ให้หน่อย เพื่อให้เด็กๆ หาข่าว และตัดข่าวได้
บรรณารักษ์ก็ได้จัดเตรียมให้ตามคำขอของคุณครูท่านนี้

หลังจากที่คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนเสร็จ
นักเรียนก็แยกย้ายกันไปทำงานตามโต๊ะของตัวเอง

จากนั้นบรรยากาศความสนุกสนานก็เกิดขึ้น นักเรียนทำงานไปก็คุยไป ตะโกนคุยกันไปมา
จนผู้ใช้บางส่วนที่เป็นคุณครูก็เข้ามาบอกบรรณารักษ์ว่าให้ช่วยตักเตือนนักเรียนเหล่านี้หน่อย
บรรณารักษ์ก็เดินไปเตือนหลายครั้ง เตือนทีก็เงียบที พอบรรณารักษ์เดินกลับมาเสียงก็ดังอีก

ส่วนคุณครูที่มอบหมายงานให้นักเรียนนั้น ก็นั่งอ่านนวนิยายตามสบาย โดยที่ไม่เตือนลูกศิษย์กันเลย

พอหมดคาบคุณครูท่านนี้ก็เช็คชื่อนักเรียน โดยการเรียกชื่อทีละคน
ซึ่งการเรียกชื่อของคุณครูท่านนี้คงกะว่าไม่ว่านักเรียนจะอยู่ส่วนไหนของห้องสมุด ก็คงต้องได้ยิน
เนื่องจากพลังเสียงของคุณครูท่านนี้ดีมาก เรียกทีเดียวคนหันมามองทั้งห้องสมุดเลย

พอคุณครูท่านนี้พานักเรียนกลับไปแล้ว บรรณารักษ์ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ
คือ หนังสือพิมพ์ที่ตัดกันเกลื่อนกลาดไม่ยอมเก็บให้ด้วย ต้องให้บรรณารักษืมาตามเก็บทีหลังอีก

สำหรับความคิดของผมแล้ว การที่คุณครูพานักเรียนมาที่ห้องสมุดผมถือว่าดีนะครับ
เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดด้วย

แต่ถ้าคุณครูจะสอนหนังสือไปด้วย ผมว่าคุณครูกลับไปสอนที่ห้องเรียนน่าจะดีกว่านะครับ

ถ้าในห้องเรียนไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็มาบอกกับบรรณารักษ์ได้ครับ เดี๋ยวบรรณารักษ์จัดไปส่งถึงที่เลย
อย่างน้อยห้องเรียนคงเสียงดังได้มากกว่าห้องสมุด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ
และคุณครูครับ การมอบหมายงานกรุณามอบหมายให้เสร็จในห้องเรียนไม่ใช่มามอบหมายที่ห้องสมุดครับ

ลด ละ เลิกการใช้เสียงเถอะครับไม่ต้องคิดถึงบรรณารักษ์ก็ได้
แต่อยากให้คิดถึงผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ

ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ประกาศรับสมัครบรรณารักษ์

ประกาศรับสมัครงานห้องสมุดมาอีกแล้วจ้าาา ใครสนใจรีบมาอ่านเลย
วันนี้ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ ภายใต้สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งมาให้ช่วยประชาสัมพันธ์
ดังนั้นใครสนใจก็อ่านคุณสมบัติด้านล่างนี้เลยนะครับ

animal-plant-library

รายละเอียดของงานบรรณารักษ์เบื้องต้น
ชื่อตำแหน่ง : บรรณารักษ์ (จ้างรายเดือน)
สถานที่ทำงาน? : ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ ในกลุ่มงานหอพรรณไม้และฐานข้อมูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เงินเดือน : 9,000 บาท
เริ่มงานได้ทันที

เอาเป็นว่าคร่าวๆ ก้อย่างที่บอกนะครับว่า เป็นบรรณารักษ์จ้างรายเดือน
และที่สำคัญคือรับด่วนมาก ใครสมัครแล้วสามารถเริ่มได้เลยก็จะดีมากนะครับ

คุณสมบัติของตำแหน่งนี้
– วุฒิปริญญาตรีด้านบรรณารักษศาสตร์ หรือสารสนเทศศาสตร์
– มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ดี
– มีความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อสื่อสารได้ดี
– สามารถใช้โปรแกรมพื้นฐานคอมพิวเตอร์ได้
– สามารถใช้โปรแกรมตัดแต่งรูปภาพ photoshop ได้
– มีความรับผิดชอบและรอบคอบ
– มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

คุณสมบัติ ผมว่าเพื่อนๆ คงผ่านหมดแหละครับ
เอาเป็นว่างานก็อยู่ตรงหน้าพวกคุณแล้ว เพียงแต่คุณจะเลือกหรือไม่ก็เท่านั้น

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ สนใจตำแหน่งนี้ หรืออยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม
สามารถติดต่อได้ที่ คุณนันท์นภัส? ภัทรหิรัญไตรสิน (np_pat@dnp.go.th)

สำหรับที่อยู่ของห้องสมุดพฤกษศาสตร์ ในกลุ่มงานหอพรรณไม้และฐานข้อมูล
61 ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 0 2561 0777 ต่อ 1476

สำหรับวันนี้ผมก็ขอตัวก่อนแล้วกันนะครับ
และต้องขอบคุณเพื่อนๆ เครือข่ายบรรณารักษ์ที่ส่งข่าวงานบรรณารักษ์มาให้ผมประชาสัมพันธ์เรื่อยๆ
เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ที่คุณต้องการความช่วยเหลือ ผมก็พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกๆ คนเช่นกัน

บรรณารักษ์ต้องเข้มแข็งถ้าพวกเราสามัคคีกันในวิชาชีพ

อบรมการจัดการห้องสมุดเสมือนออนไลน์

วันนี้ผมมีงานอบรมดีๆ มาฝากเพื่อนๆ ครับ แต่ต้องรีบสมัครกันหน่อย
เพราะว่ารับแค่ 20 คนเท่านั้น และงานจะจัดในวันที่ 24 มกราคม นี้แล้ว
เป็นงานที่เกี่ยวกับการแนะนำเรื่องการจัดการห้องสมุดเสมือนออนไลน์ เพื่อสร้างห้องหนังสือส่วนตัว

frontpage_activities105

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องาน : อบรมการจัดการห้องสมุดเสมือนออนไลน์ เพื่อสร้างห้องหนังสือส่วนตัว
วันและเวลาที่จัดงาน : วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2553 เวลา 13.00-16.00 น. (ลงทะเบียนเที่ยงเป็นต้นไป)
สถานที่ : ศูนย์การเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ธนาคารกสิกรไทย จามจุรีสแควร์ ชั้น 2

คำถามเหล่านี้จะได้รับคำตอบ…
เคยไหม? ที่ซื้อหนังสือมาเยอะมากแต่ยังไม่มีเวลาอ่านเก็บไว้จนลืมไปแล้วว่าไปอยู่ที่ไหน
เคยไหม? ที่อยากรู้ว่ามีใครที่อ่านหนังสือ แบบที่เรากำลังอ่านอยู่บ้าง
เคยไหม? ที่คิดว่าการใช้คอมพิวเตอร์กับการอ่านหนังสือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
แล้วอยากรู้ไหมว่า ใครบางคนที่อ่านหนังสือ ที่เปลี่ยนชีวิต? นั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่การอ่าน

โครงการนี้เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่าง
– โครงการนักอ่านจิตอาสา
– บริษัทเพื่อสังคม Opendream
– เครือข่ายบรรณารักษ์รุ่นใหม่ libraryhub

ภาพรวมของการอบรมในครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรมได้รู้จักการจัดการห้องสมุดเสมือนส่วนตัว Online
พร้อมกับเรียนรู้โปรแกรมช่วยจัดการเก็บหนังสือและค้นหาง่ายๆ กับโปรแกรม Alexandia
เพื่อช่วยจัดระบบข้อมูลหนังสือที่เรามีอยู่ในห้องหรือบ้านของเราให้เป็นระบบมากขึ้น
ทั้งนี้ยังช่วยให้เราได้เจอเพื่อนๆที่อ่านเรื่องเดียวกันอยู่ ตลอดจนคนที่อ่านหนังสือแบบเดียวกันมาแบ่งปันกัน

กำหนดการสำหรับการอบรม
12.00 – 13.00? ลงทะเบียน
13.00 ? 13.45? ห้องสมุดเสมือนออนไลน์คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?
13.45 ? 15.00? จะจัดการห้องสมุดส่วนตัวออนไลน์ได้อย่างไร ด้วยโปรแกรม Alexandia
15.00 ? 16.00? แนะนำชั้นหนังสือออนไลน์ต่างๆ ที่คุณสามารถเข้าร่วมได้

เอาเป็นว่า น่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยครับ

ผมเองก็ได้บรรยายในช่วงสุดท้ายพอดี “แนะนำชั้นหนังสือออนไลน์ต่างๆ ที่คุณสามารถเข้าร่วมได้”
หลักๆ ก็ไม่มีอะไรมากแค่แนะนำการใช้งาน Librarything และ Shelfari ครับ

ถ้าเพื่อนๆ สนใจก็ขอเชิญลงทะเบียนได้ที่
http://spreadsheets.google.com/viewform?hl=en&formkey=dEdIbDFHeXpvZXVXVmRYbkUyRkRERFE6MA

รีบๆ หน่อยนะครับ ที่นั่งมีจำกัดจริงๆ

ตามหาห้องสมุดในฝันในร้านหนังสือ

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับว่า “ห้องสมุด” อะไรจะไปอยู่ในร้านหนังสือ
“ห้องสมุดในฝัน” ที่ผมหมายถึง นั่นคือ ชื่อหนังสือ ของอาจารย์น้ำทิพย์ครับ

book-in-library

รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : ห้องสมุดในฝัน
ผู้แต่ง : น้ำทิพย์ วิภาวิน
ISBN : 9789748816395
ปีพิมพ์ : 2550
ราคา : 139 บาท

เรื่องที่ผมจะเขียนนี้คงไม่ใช่การแนะนำหนังสือหรอกนะครับ
แต่ผมจะเล่าเรื่องการหาซื้อหนังสือหมวดหมู่บรรณารักษ์ในร้านหนังสือต่างหาก

เรื่องมันมีอยู่ว่า…

วันก่อนผมไปเดินเล่นที่ร้านหนังสือมา แล้วดันอยากอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบรรณารักษ์
แต่ไม่รู้ว่าปกติในร้านหนังสือ เขาจะเอาหมวดของบรรณารักษ์ไปไว้กับหมวดอะไร
(ปกติรู้แต่ในห้องสมุด หมวดบรรณารักษ์จะอยู่ที่ 020 หรือไม่ก็ Z)

อ๋อ ลืมบอกไปก่อนเข้าร้านหนังสือ ผมได้เข้าไปดูในเว็บของร้านหนังสือนี้แล้ว
และเห็นชื่อหนังสือ “ห้องสมุดในฝัน” ว่ามีในร้านหนังสือแห่งนี้

จนปัญญาจริงๆ ครับ ไม่รู้ว่าจะหายังไงดี สุดท้ายก็ถามที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน
พนักงานก็บอกว่าให้ลองไปหาที่ชั้นนวนิยายดู หรือไม่ก็เรื่องสั้นก็ได้

แบบว่าผมอึ้งไปชั่วขณะ นึกว่าเขาจัดหนังสือผิด
แล้วผมก็ลองเดินไปหาตามที่เขาแนะนำ ไล่หาไปสักระยะก็ยังไม่เจอ
เดินมาถามอีกที พนักงานบอกว่า “หนังสือหมด” เออเอาเข้าไปในเว็บบอกว่ามีแต่ที่ร้านหมด

สุดท้ายก็เปลี่ยนร้านไปดูที่ร้านหนังสืออื่น ปัญหาที่ผมพบเหมือนกันทุกร้าน คือ
– ไม่รู้ว่าหนังสือหมวดบรรณารักษ์ หรือห้องสมุด วางรวมกับหมวดอะไร
– พนักงานทุกคนเข้าใจว่า “ห้องสมุดในฝัน” คือ นวนิยาย
– คนขายและพนักงานทำหน้างงใส่เหมือนกัน และคำตอบสุดท้าย คือ “หมด”

เรื่องนี้ผมคงต้องปรึกษาเจ้าของร้านหนังสือหลายๆ ร้านแล้วหล่ะครับ
ว่าจะแก้ไขยังไงดี เช่น ระบุหมวดของบรรณารักษ์ ในร้านหนังสือเลยดีมั้ย
(แต่คิดในอีกแง่นึง คือ หนังสือในหมวดบรรณารักษ์มีค่อนข้างน้อย)

เอาเป็นว่าขอแนะนำสำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการอ่านหนังสือที่อยู่ในหมวดบรรณารักษ์หรือห้องสมุด
ให้เพื่อนๆ เดินไปหาที่ศูนย์หนังสือจุฬาแล้วกันนะครับ หรือไม่ก็เปิดเว็บไซต์แล้วสั่งซื้อออนไลน์น่าจะง่ายกว่า

ปล. สุดท้ายแล้วผมก็ได้หนังสือ “ห้องสมุดในฝัน” ด้วยการสั่งซื้อออนไลน์ครับ
เนื่องจากราคาถูกกว่า และได้รับของถึงบ้านเลย อิอิ

เว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ – http://www.chulabook.com/

เว็บไซต์ซีเอ็ดยูเคชั่น – http://www.se-ed.com/

เรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดกับห้องสมุดแห่งนี้

ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ผมเลยขอเอามาให้เพื่อนๆ ช่วยวิจารณ์กันหน่อยแล้วกัน
เนื่องจากองค์กรแห่งนี้เน้นเทคโนโลยีต่างๆ นานาในสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคยสนใจห้องสมุด

technology-lib

แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกเน้นให้เกิดในองค์กร แต่ก็ถูกละเลยจากบุคลากรในองค์กรอยู่ดี เช่น

– การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี VOIP แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้
– แจก Ipod ให้บุคลากรแต่ใช้ไม่เป็น
– อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีไว้โหลดหนัง โหลดเพลง
– มีการจัดสอบวัดความรู้ด้านไอทีในองค์กร แต่สามารถส่งตัวแทนไปสอบได้
– ระบบการให้บริการด้วยเว้บไซต์ออนไลน์ แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไม่เป็นสุดท้ายก็ต้องเดินมาที่แผนก
– เว็บไซต์องค์กรที่ไม่เคยอัพเดทเลย

นี่คือสิ่งที่องค์กรตอบสนองให้บุคลากรในหน่วยงาน แต่สิ่งที่ได้มาคือความไร้ค่ามากๆ
บ้างก็ใช้ไม่เป็น บ้างก็นำไปใช้ผิดจุดประสงค์ กลุ้มใจแทนองค์กรเลยครับ

ทีนี้หันมาดูที่ห้องสมุดบ้างดีกว่า
1. มีคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการสืบค้น (ที่โต๊ะบรรณารักษ์เท่านั้น)
2. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นระบบที่ใช้ได้เสถียรที่สุด และไม่ยืดหยุ่นให้ใคร (วันหยุดก็จะคิดค่าปรับแถมให้ด้วย)
3. เครื่องทำสำเนาของสื่อโสตฯ ทำได้ (แต่เอากลับบ้านไปทำนะบรรณารักษ์)
4. ชั้นหนังสือมีจำนวนมาก (แต่หนังสือมากกว่า)
5. มีสื่อโสตฯ มากมาย (เอากลับไปดูที่บ้านนะครับ)
6. มีเว็บห้องสมุด (แต่ต้องไปฝากคนอื่นเอาขึ้น server)

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ
แต่ขอเอาไว้เล่าให้ฟังต่อคราวหน้าดีกว่า เพราะแค่นี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งสลดแล้ว

สุดท้ายก็ขอฝากให้เพื่อนๆ ช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่าสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร