True Corp. กำลังต้องการคนมาช่วยทำ Digital Library

วันนี้มีงานมาแนะนำอีกแล้วครับ ซึ่งงานในวันนี้ที่จะแนะนำขอบอกว่าน่าสนใจมากๆ ครับ
ซึ่งทางฝ่าย HR ของ TRUE ได้ส่งมาให้ผมช่วยลงประชาสัมพันธ์ เอาเป็นว่าลองอ่านข้อมูลก่อนนะครับ

truecorp

รายละเอียดทั่วไปของงานนี้ (ขอ Copy จาก Mail มาเลยดีกว่า)

“บริษัท True กำลังต้องการหาคนมาช่วยทำ Digital Library โดยมีรายละเอียดของตำแหน่งงานตามนี้
หลักๆ ก็คือ งานบริการให้แก่ลูกค้าของ ทรู ที่จะเข้าไปใช้บริการในส่วนของ Digital Content ที่ร้านใหม่ของเราซึ่งอยู่ในย่านสยามแสควร์”

เอาเป็นว่าแค่อ่านรายละเอียดของเมล์นี้แล้ว ผมรู้สึกสนใจเกี่ยวกับ project นี้มากๆ
แถมชื่อตำแหน่งก็ดูน่าสนใจและดึงดูดชวนให้อยากทำงานเลยก็ว่าได้

เราลองไปดูคุณสมบัติและภาระงานของตำแหน่งนี้กันก่อนดีกว่า

ชื่อตำแหน่ง : True Digital Library Specialist

คุณสมบัติของตำแหน่งนี้? :
– Masters in any fields
– Knowledge of and/or experience with all aspects of digital content including acquisitions, cataloging and metadata control, collection management, document-delivery, electronic resources and reference.
– A strong focus in digital content is required as is a keen interest and desire to work with the often dynamic and changing special digital library environment.
– Experience with national and international music, web design and programming.
– Teamwork and leadership capabilities are required, along with strong interpersonal and communication skills.
– Must have the ability to take initiative and to be self directed and motivated.
– Able to demonstrate their project management, analytical, and problem solving skills, with an aptitude for complex and detailed work.
– Strong service orientation to customers and to co-workers is a must.

ภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ : Primary tasks
1. Provide expertise and leadership in the creation and maintenance of metadata for digital content acquired by True.
2. Help to develop, refine, and implement policies, procedures, workflows, and metadata standards for the True Digital Library; manage digitization projects; and participate in the overall management.
3. Provide descriptive, technical, and structural metadata for digital content.
4. Evaluate and maintain quality control of Digital Content operations.
5. Maintain documentation on Digital Content best practices.
6. Analyze metadata needs and provide estimated metadata costs and timeline for proposed projects.
7. Design, implement, and manage project workflows.
8. Collaborate with other Institution and Libraries staff in selection of digital projects and content.
9. Promote and report on Digital Content local, regional, and national communities.
10. Attracts potential customers by answering product and service questions; suggesting information about other products and services.
11. Recommends potential products or services to management by collecting customer information and analyzing customer needs.
12. Opens customer accounts by recording account information. Maintains customer records by updating account information.
13. Contributes to team effort by accomplishing related results as needed.

เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาระงานในตำแหน่งนี้
หลักๆ ก็คือดูแล Digital Content ต่างๆ ของ True เช่น Music Movie ฯลฯ
โดยการจัดระบบของสื่อต่างๆ เหล่านี้ก็คงต้องใช้ Meta Data เข้ามาควบคุมในเรื่องการจัดระบบ
รวมไปถึงงานวางระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดทำ จัดหา และพัฒนา Digital Content ด้วย

เอาเป็นว่านี่อาจจะเป็นโมเดลใหม่ของการจัดการระบบห้องสมุดดิจิตอลเลยก็ว่าได้ครับ

หากเพื่อนๆ สนใจงานตำแหน่งนี้ ให้ส่ง resume ไปที่ chitsana_wan@truecorp.co.th ได้เลยนะครับ
แล้วก็แจ้งว่ารู้ข่าวจาก Libraryhub นะครับ

ขอบให้เพื่อนๆ โชคดีกันนะครับ

ปล. แอบเสียดายนะครับ อยากสมัครด้วยแต่ผมยังมีงานที่ต้องทำให้เสร็จก่อน
เอาไว้จบโครงการนี้แล้วเดี๋ยวผมจะไปสมัครด้วยคนนะ อิอิ

?ผมยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา? ผมต้องเสียค่าปรับหนังสือด้วยหรอ?

นี่อาจจะเป็นเพียงปัญหาที่บรรณารักษ์เจออยู่บ่อยๆ แต่พูดอะไรไม่ได้เท่านั้น
วันนี้ผมขอนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

overdue-library

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผมเป็นบรรณารักษ์สถานศึกษาแห่งหนึ่ง
ในตอนนั้นบรรณารักษ์ของที่นี่จะถูกจำกัดตำแหน่ง คือ “เจ้าหน้าที่” ไม่ใช่ “บรรณารักษ์”
ดังนั้นอาจารย์หลายๆ คนในสถานศึกษาแห่งนี้มักจะใช้อำนาจในการต่อรองต่างๆ นานา

อาทิเช่นเรื่องการจ่ายค่าปรับที่ผมจะเล่านี้…

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นเรื่องนโยบายของห้องสมุดก่อนนะครับ
สำหรับการยืมหนังสือของอาจารย์ 1 คน ยืมได้ 10 เล่ม และได้ระยะเวลา 1 เดือน
หากคืนเกินกำหนด ก็จะต้องเสียค่าปรับ เล่มละ 5 บาท / วัน

เข้าเรื่องแล้วกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า…
มีอาจารย์แผนกหนึ่งเอาหนังสือมาคืนที่ห้องสมุด แล้วระบบแจ้งเตือนว่า “คืนหนังสือเกินกำหนด”
ซึ่งทำให้มีค่าปรับหนังสือ 15 บาท ดังนั้นบรรณารักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องปรับอาจารย์คนนั้น

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ยอมจ่าย ด้วยการให้เหตุผลว่า
?ต้องปรับผมด้วยหรอครับ ในเมื่อผมก็ยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา
นี่ผมใช้เพื่อการเรียนการสอนนะ ไม่ได้เอาไปอ่านเล่นหรือเอาไปดอง?

ทางบรรณารักษ์ก็ให้เหตุผลว่ามันเป็นกฎระเบียบที่ห้องสมุดตั้งขึ้น
ถ้าจะขอยกเว้นเรื่องค่าปรับหนังสือก็ต้องเขียนหนังสือให้เหตุผลแบบเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่อาจารย์คนนี้ก็ยังไม่ยอมจ่าย หรือไม่ยอมเขียนหนังสือใดๆ
(ทั้งๆ ที่อาจารย์คนอื่นๆ เวลาทำผิดกฎเขาจะรู้ตัวเองและยอมทำตามกฎที่ห้องสมุดกำหนดไว้)

สุดท้ายอาจารย์ท่านนี้ก็ยืนยันว่าไม่จ่าย แถมยังขู่ว่าจะเอาไปฟ้องผู้บริหารขององค์กรอีก
ในข้อหา “บรรณารักษ์ปรับค่าหนังสือที่คืนกำหนดกับอาจารย์ที่นำไปใช้ในการเรียนการสอน”

สรุปค่าปรับแค่ 15 บาท อาจารย์คนนี้สามารถทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม

การยืมหนังสือไปใช้เพื่อการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เหมาะสม
หากถึงวันที่กำหนดคืนแล้วยังใช้หนังสือเล่มนั้นไม่เสร็จ ก็น่าจะแจ้งห้องสมุดเพื่อต่ออายุการยืม
หรือไม่ก็ทำหนังสือมาเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าจะมาบอกปากเปล่าว่าไม่จ่าย
เพราะทางห้องสมุดก็ต้องทำบัญชีส่งฝ่ายกการเงินเช่นกัน
หากระบบแจ้งค่าปรับกับเงินที่ส่งให้ไม่สอดคล้องกัน ห้องสมุดจะได้มีหลักฐาน

วิธีแก้ที่ผมจะขอเสนอ
สำหรับอาจารย์อย่างเดียวคือถ้าคืนหนังสือเกินกำหนด
เราจะไม่ปรับตรงบริเวณเคาน์เตอร์ยืม-คืน แต่เราจะปรับทุกสิ้นเดือน (ตัดเงินเดือนแทน)
และทุกๆ ครั้งที่เปิดเทอมใหม่หลังจากเราอบรมการใช้ห้องสมุดให้นักศึกษาแล้ว
ควรจะจับอาจารย์มาอบรมการใช้และกฎระเบียบของห้องสมุดด้วย
(ขนาดกฎเรื่องการปรับค่าหนังสืออาจารย์ยังไม่รู้เลย สมควรอบรมและชี้แจงอย่างยิ่ง)

เพื่อนๆ ว่ามีวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร หรือต้องการให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะครับ

————————————————

อ่านเรื่องแนวทางการแก้ไขเรื่องค่าปรับหนังสือที่พี่โตเขียนตอบได้ ในเรื่อง “ว่าด้วยค่าปรับหนังสือ”
อ่านได้ที่ http://iteau.wordpress.com/2007/08/15/libraryfine/

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่โต ที่เสนอแง่คิดดีๆ ให้พวกเราอ่านด้วยครับ

หาหนังสืออ่านเล่นใน Google books search ดีกว่า

เรื่องนี้เขียนมานานแล้ว แต่อยากให้อ่านกันอีกสักรอบครับ
เกี่ยวกับการสืบค้นหนังสือโดยเฉพาะพวก text book ในเว็บไซต์ Google Books Search

textbook

ทำไมผมต้องแนะนำให้ใช้ Google Books Search หรอ….สาเหตุก็มาจาก :-
ข้อจำกัดของการใช้ Web OPAC ที่สืบค้นได้แต่ให้ข้อมูลเพียงแค่รายการบรรณานุกรมของหนังสือเท่านั้น
แต่ไม่สามารถอ่านเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้นได้ เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงต้องเดินทางมายืมหนังสือที่ห้องสมุด
แต่ลองคิดสิครับว่าถ้าห้องสมุดปิด เพื่อนๆ จะอ่านเนื้อเรืองของหนังสือเล่มนั้นได้ที่ไหน

และนี่คือที่มาของการสืบค้นหนังสือบนโลกออนไลน์

ปัจจุบัน Search Engine ที่มีผู้ใช้งานในลำดับต้นๆ ของโลก ทุกคนคงจะนึกถึง Google
เวลาที่เราต้องการข้อมูลอะไรก็ตามเราก็จะเริ่มที่หน้าของ Google แล้วพิมพ์คำที่เราต้องการค้น เช่น ระบบสารสนเทศ
ผลของการสืบค้นจากการใช้ Search Engine จะมีสารสนเทศจำนวนมากถูกค้นออกมา
เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ ผู้ใช้สามารถได้เนื้อหาและข้อมูลในทันที แต่เราจะเชื่อถือข้อมูลได้มากเพียงไรขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของข้อมูล
รวมถึงเราจะนำข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตไปอ้างอิงประกอบได้หรือไม่
แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเอกสารที่เราสืบค้นมีใครเป็นผู้แต่งที่แท้จริง

googlebooks

Google Book Search – http://books.google.com/
เป็นบริการใหม่ของ Google ที่ให้บริการในการสืบค้นหนังสืออิเล็ทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
ซึ่งผลจาก การสืบค้นปรากฎว่าได้สารสนเทศแบบเต็ม (Full-text Search)
ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ทำงานวิจัยอาจารย์ นักศึกษา สามารถค้นหนังสือและอ่านหนังสือได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านถานที่และเวลา

ยกตัวอย่างจาก นาย ก. เช่นเดิมที่ค้นหนังสือสารสนเทศในตอนเที่ยงคืนของวันอาทิตย์
หากนาย ก. ใช้บริการ Google Books Search ในตอนนั้น นาย ก. ก็จะได้ข้อมูลในทันที ไม่ต้องรอมาที่ห้องสมุด

แต่อย่างไรก็ตาม Google Books Search ยังมีข้อจำกัดหนึ่งสำหรับคนไทยคือ
ยังไม่สามารถสืบค้นหนังสือฉบับภาษาไทยได้ ดังนั้นหนังสือที่ค้นได้จะอยู่ในภาษาอื่นๆ เท่านั้น
คนไทยคงต้องรอกันอีกสักระยะมั้งครับถึงจะใช้ได้อย่างสมบูรณ์

แต่ถ้าอนาคต Google ทำให้สามารถค้นหนังสือภาษาไทยได้ถึงต่อนั้น
Google คงเป็นหนึ่งในคู่แข่งของห้องสมุดแน่ๆ อีกไม่นานต้องรอดูกันไป

ปล. มีบทความนึงที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่อง Full-text Searching in Books
เป็นบทความที่พูดถึง Google Books Search และ Live Search Books

วันนี้ผมขอแนะนำเพียงเล็กน้อยไว้วันหลังผมจะมา demo
และสอนเทคนิคการสืบค้นอย่างสมบูรณืแล้วกันนะครับ

นักศึกษาภาคค่ำก็ต้องการใช้ห้องสมุดเหมือนกัน

วันนี้ผมขอเขียนถึงเรื่องการให้บริการห้องสมุดในช่วงกลางคืนบ้างนะครับ และเข้าใจว่าหลายๆ ห้องสมุดก็ให้บริการซึ่งดีอยู่แล้ว
แต่ห้องสมุดบางแห่งกลับละเลยเกี่ยวกับการให้บริการผู้ใช้เฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะ “นักศึกษาภาคค่ำ” หรือ “นักเรียนภาคค่ำ
ซึ่งวันนี้ผมจะเขียนแสดงความคิดเห็นในฐานะของผู้ใช้บริการห้องสมุดและผู้ให้บริการห้องสมุดให้เพื่อนๆ อ่านกัน

libraryinnight

เมื่อสถาบันการศึกษาเปิดรับนักเรียนหรือนักศึกษาภาคค่ำแล้ว (โดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนพาณิชย์ ฯลฯ)
การบริการสนับสนุนด้านการศึกษา เช่น ห้องสมุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาดังกล่าว
เนื่องจากนักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ก็ต้องจ่ายค่าเทอมและค่าบริการต่างๆ ให้กับสถาบันการศึกษา เช่น ค่าบำรุงห้องสมุด ฯลฯ

หลายๆ สถาบันการศึกษาก็มีการบริการห้องสมุดให้นักศึกษาภาคค่ำด้วยโดยจะเปิดให้บริการดึกขึ้น
แต่ประเด็นตรงนั้นผมจะไม่พูดถึง แต่จะขอกล่าวถึงบางสถาบันการศึกษาเท่านั้น
ที่มีการเปิดการเรียนการสอนภาคค่ำแต่ไม่จัดบริการพื้นฐานดังกล่าว
โดยเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะที่ผมเป็นทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

มุมมองของผมในฐานะผู้ใช้บริการ (นักศึกษาปริญญาโทภาคค่ำ) ต่อห้องสมุดคณะ
ผมเรียนปริญญาโทในภาคค่ำ ซึ่งเรียนเวลา 18.00 – 21.00 น. แต่ห้องสมุดของสถาบันที่ผมเรียนปิดเวลา 21.00 น.
ซึ่งทำให้ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ห้องสมุดในวันที่ผมเรียน เนื่องจากพอเรียนเสร็จห้องสมุดก็ปิดไปแล้ว
และข้อจำกัดของคนที่เรียนปริญญาโทภาคค่ำ คือ เป็นคนที่ทำงานประจำอยู่แล้ว พอมาถึงที่เรียนก็มักจะถึงเวลาเข้าเรียนพอดี
ดังนั้นหากพิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ จะรู้ว่านักศึกษาเหล่านี้แทบไม่ได้ใช้ห้องสมุดเลยในช่วงกันธรรมดา


มุมมองของผมในฐานะบรรณารักษ์ของสถานศึกษาที่มีการเปิดหลักสูตรภาคค่ำ

นโยบายของผู้บริหารมีการกำหนดช่วงเวลาการเปิดปิดห้องสมุดอย่างชัดเจน คือ ให้บริการในช่วงเวลา 8.00 – 18.00 น.
ซึ่งทางบรรณารักษ์ได้ยื่นเรื่องขอขยายเวลาในการเปิดให้บริการห้องสมุดไปจนถึงเวลา 22.00 น.
แต่ผู้บริหารปฏิเสธในการขยายเวลาเนื่องจากมองในเรื่องของการใช้ทรัพยากรและความคุ้มค่าของการให้บริการเป็นหลัก
(ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เครื่องปรับอากาศ ค่าจ้างพนักงานล่วงเวลา ฯลฯ)

อ่านแล้วเข้าใจภาพรวมกันบ้างหรือยังครับ จริงๆ แล้วเรื่องนี้สำหรับผมเองในฐานะที่เป็นบรรณารักษ์
ผมก็อยากให้บริการห้องสมุดกับนักศึกษาภาคค่ำด้วยเช่นกันนะครับ ผมใช้หลักการเอาใจเขามาใส่ใจเรานะครับ
ลองมองย้อนว่าถ้าคุณเป็นนักศึกษาเหล่านี้ คุณเองอยากจะใช้ห้องสมุดบ้างหรือปล่าว

แนวทางที่ผมจะเสนอจะทำได้หรือไม่ได้อันนี้เพื่อนๆ ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ
ผมขอเสนอให้ห้องสมุดปิดหลังจากหมดการเรียนการสอนของนักศึกษาภาคค่ำสัก 1 ชั่วโมงครับ
เช่น ถ้านักศึกษาภาคค่ำเลิกเรียน 21.00 น. ห้องสมุดก็ควรปิดสักประมาณ 22.00 น.

ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริการในการยืมคืนกับนักศึกษาภาคค่ำบ้าง

สุดท้ายก็ขอฝากว่า “การบริการเราต้องยึดผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่ยึดความสบายของบรรณารักษ์เป็นหลัก”
อย่างน้อยนักศึกษาภาคค่ำจะได้ไม่ต้องมาบ่นว่า ?เสียเงินจ่ายค่าห้องสมุดไปแล้วไม่เห็นได้ใช้เลย?

เรื่องเล่าของผมกับห้องสมุดในวัยเด็ก

ก่อนอื่นต้องขออวยพรให้เด็กๆ อนาคตของชาติสักหน่อยดีกว่า เนื่องจากวันนี้เป็น “วันเด็กแห่งชาติ”
ผมอยากเห็นอนาคตของชาติรักการอ่านมากๆ และมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ครับ

library-kid

คำขวัญวันเด็กปี 2553 = “คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม”

วันนี้ผมขอเขียนเรื่องแบบสบายๆ หน่อยแล้วกัน และขอเข้ากับบรรยากาศวันเด็กนิดๆ นะ
ประมาณว่าจะขอเล่าเรื่องสมัยตอนผมเป็นเด็กแล้วกัน เกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดในวัยเด็กของผม

ผมเริ่มชอบห้องสมุดตั้งแต่เมื่อไหร่น้า…

ผมคงต้องเริ่มต้นเล่าตั้งแต่สมัยผมเรียนเลยหล่ะมั้ง
ซึ่งผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมาตลอดตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6
ผมยังคงจำห้องสมุดโรงเรียนแห่งนี้ได้เสมอและเห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

หลักๆ การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดครั้งใหญ่ที่ผมเห็นมีอยู่ 3 ครั้ง ดังนี้

1. ห้องสมุดเล็กๆ ที่ให้บริการแบบดั้งเดิมต้องยืมคืนด้วยบัตรกระดาษ และยังไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาให้บริการ
ภายในห้องสมุดเองก็ติดพัดลมไว้ทั่ว ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศเลย แต่ห้องสมุดก็ไม่ร้อนนะ
คนมายืมหนังสือที่นี่ก็เยอะเหมือนกัน จะยืมแต่ละทีต้องเข้าแถวรอนานมาก
แต่ผมเองก็ใช้บริการแทบจะทุกสัปดาห์เลย ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่ประมาณ ป.3-4 ได้มั้ง
หนังสือที่ผมยืมส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มีภาพเยอะๆ พวกการ์ตูนวิทยาศาสตร์ครับ

2. ห้องสมุดถูกย้ายไปอยู่อีกตึกซึ่งเป็นห้องสมุดชั่วคราวเนื่องจากตอนนั้นมีการทุบตึกห้องสมุดเดิมเพื่อสร้างห้องสมุดใหม่
ในห้องสมุดชั่วคราวนี้เปิดดำเนินการแค่ประมาณปีครึ่งเอง
แต่ก็มีเครื่องปรับอากาศในห้องสมุดนะ ซึ่งผมก็ชอบมาก และเข้าไปนั่งอ่านหนังสือเล่นประจำเพราะว่ามันเย็นดี
แต่ในช่วงนั้นผมไม่ค่อยได้ยืมหนังสือเลย หรือว่าโตแล้วเริ่มขี้เกียจนะ

3. ห้องสมุดใหม่เสร็จกลายเป็นตึกหอสมุดใหญ่มาก มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น มีอินเทอร์เน็ตให้เล่นด้วย
ในตึกหอสมุดใหม่นี้มีทั้งห้องคอมที่ใช้สำหรับวิชาเรียนในชั้น 2 ส่วนในชั้น 3 กับ 4 เป็นห้องสมุด
ซึ่งมีความทันสมัยมากๆ ทำให้ผมเข้ามาประจำเลย โดยเฉพาะเวลาพักเที่ยงเกือบทุกวันผมจะอยู่ที่ห้องสมุดเสมอๆ
เวลาเพื่อนจะตามหาผมก็มักจะมาหากันที่ห้องสมุดนั่นแหละ
ในช่วงนั้นเวลาใครต้องการทำรายงาน ผมจะอาสาเป็นคนค้นหาข้อมูลเพื่อประกอบรายงานตลอด
คงเป็นเพราะตอนนั้นแน่ๆ ที่ทำให้ผมอยากเป็นบรรณารักษ์มั้ง

นอกจากห้องสมุดโรงเรียนของผมแล้วผมยังมีห้องสมุดที่ผมไปประจำอีกสองที่นั่นคือ

1. หอสมุดแห่งชาติ (ไปค่อนข้างบ่อย)
ช่วงที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำรายงาน ผมก็จะเลือกที่ค้นหาข้อมูลหลัก ซึ่งนั่นก็คือ หอสมุดแห่งชาติ นั่นเอง
เวลาอยากได้เนื้อหาอะไร ข้อมูลอะไร ความรู้อะไร คำตอบของผมที่ได้มักจะมาจากห้องสมุดเป็นหลัก
อาจจะเป็นเพราะว่าในสมัยนั่นอินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มต้น จึงทำให้ค้นหาข้อมูลแล้วไม่ค่อยได้อะไรนั่นเอง


2. ห้องสมุดภาษาญี่ปุ่นที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

เนื่องจากทุกๆ วันเสาร์ผมจะเรียนภาษาญี่ปุ่นที่นั่นและในห้องสมุดนั่นมีหนังสือที่สอนภาษาญี่ปุ่นมากมายด้วย
เวลามาเรียนผมจึงต้องแวะห้องสมุดนี้สักชั่วโมงเพื่อหาอะไรอ่านเล่น และเพื่อเป็นการฝึกภาษาไปในตัวด้วย

เอาเป็นว่าผมขอหยุดเวลาเด็กไว้แค่นี้ก่อนแล้วกัน
ไว้วันหลังจะมาเล่าต่อในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอให้เพื่อนๆ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติกันนะครับ

รับสมัครผู้ช่วยบรรณารักษ์ @ Neilson Hays Library

วันนี้ผมมีตำแหน่งงานด้านห้องสมุดมานำเสนอให้เพื่อนๆ อีกแล้ว
สำหรับคนที่กำลังหางานอยู่หรือเพิ่งจบใหม่ๆ ผมขอแนะนำงานนี้เลยนะครับ

library-job

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับตำแหน่ง
ชื่อตำแหน่ง : ผู้ช่วยบรรณารักษ์
สถานที่ทำงาน : ห้องสมุด Neilson Hays ตั้งอยู่ที่ 195 ถ.สุรวงศ์ บางรัก กทม

คุณสมบัติประจำตำแหน่งนี้
– เพศหญิง
– จบปริญญาตรีสาขาบรรณารักษศาสตร์ หรือ สารสนเทศศาสตร์
– ติดต่อสื่อสารด้วยภาษาอังกฤพอใช้
– มนุษยสัมพันธ์ดี

ห้องสมุดแห่งนี้รับบรรณารักษ์เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นนะครับ
สาเหตุอาจจะมาจากภูมิหลังของห้องสมุดแห่งนี้ที่ในอดีตครั้งหนึ่งเคยชื่อว่า “สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ”

ภาระงานหลักของตำแหน่งนี้ คือ
– บริการยืมคืนหนังสือที่เคาน์เตอร์
– จัดเก็บหนังสือขึ้นชั้น
– บริการถามตอบปัญหาเรื่องการใช้ห้องสมุดทั่วไป
– งานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับห้องสมุด

เอาเป็นว่าลักษณะงานก็เป็นงานทั่วไปๆ ในห้องสมุดแหละครับ แค่นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์บริการยืมคืนทั้งวัน
และก็นำหนังสือที่ผู้ใช้นำมาคืนไปขึ้นชั้นให้เรียบร้อยก็เท่านั้น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานนี้

กรุณาส่งเมล์มาถามที่ chompoom@hotmail.com หรือ โทร. 02-233-1731

เว็บไซต์ห้องสมุด Neilson Hays : http://www.neilsonhayslibrary.com/index.shtml

ความทรงจำดีๆ เรื่องเว็บไซต์ห้องสมุดชิ้นแรกของผม

วันนี้ผมลื้อไฟล์งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเจองานชิ้นนี้ (เว็บไซต์แรกที่ผมสร้างให้กับห้องสมุด) โดยบังเอิญ
วันนี้ผมจึงขอรำลึกถึงความหลังและเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบคร่าวๆ นะครับ

ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ
ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ

ในขณะนั้นผมอยู่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ไอทีของห้องสมุดแห่งหนึ่ง (ลองอ่านจากประวัติผมดูนะครับ)
ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการห้องสมุดให้จัดทำเว็บไซต์ของห้องสมุดขึ้นมา

จุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่ผมสร้าง
– เพื่อแนะนำข้อมูลทั่วไปของห้องสมุด เช่น ประวัติความเป็นมา เวลาทำการ นโยบายในการให้บริการ ฯลฯ
– เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบรรณารักษ์ และผู้ใช้บริการ
– เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารของห้องสมุด
– เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังสารสนเทศออนไลน์

ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับ ช่วงนั้นผมยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับไอทีสักเท่าไหร่
เลยออกแบบเว็บไซต์ห้องสมุดอย่างง่ายๆ ขึ้นมา โดยเขียนด้วย HTML ธรรมดาๆ

แต่ด้วยความโชคดีของผมที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ ผมได้เป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์มาก่อน
เลยชำนาญกับการออบแบบงานใน Photoshop
ดังนั้นผมจึงผสานระหว่างความรู้ด้านไอทีและการออกแบบจนได้เว็บไซต์ห้องสมุดออกมา

ในเว็บไซต์นี้ประกอบด้วย
1. ฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม – เพื่อช่วยในการค้นหนังสือจากห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
โดยเว็บของผมก็จะเชื่อมไปยัง http://uc.thailis.or.th

2. การจัดการความรู้ห้องสมุด – เพื่อสร้างชุมชนการจัดการความรู้ ซึ่งตอนนี้เชื่อมโยงมาที่บล็อกนี้

3. กฤตภาคออนไลน์ – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นข่าวเก่าๆและบทความดีๆ ได้
ซึ่งส่วนนี้ผมสร้างเองโดยแบ่งหมวดตามสาขาวิชาที่มีการเปิดสอนที่นี่

4. สุดยอดหนังสือน่าอ่าน – เพื่อเป็นการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในแต่ละเดือน
โดยผมก็ทำจุดเชื่อมโยงไปที่เว็บของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คในส่วนของอันดับหนังสือขายดี

5. ebook online – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เมื่ออยู่ที่บ้าน
ไม่ต้องมาที่ห้องสมุด อันนี้ผมก็เชื่อมโยงไปยัง http://www.gutenberg.org/wiki/Main_Page

6. ติดต่อศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้จะบอกแผนที่ในการมาที่ห้องสมุด และที่อยู่ในการติดต่อ
รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ด้วย

7. แบบฟอร์มศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้เป็นบริการภายในให้บรรณารักษ์สามารถ Download เอกสารประกอบการทำงานได้

8. ศูนย์รวมความรู้นอกตำราเรียน – อันนี้สร้างเองแต่ก็ใช้ข้อมูลจากคนอื่นอยู่ดี
ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมคัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจในแต่ละเดือนแล้วนำสไลด์ความรู้ต่างๆ มาให้ผู้ใช้บริการเข้าไปดูได้
โดยผมก็จะเชื่อมโยงไปยังเอกสารต้นฉบับของเจ้าของสไลด์

9. ค้นข้อมูลจาก google – ส่วนนี้มีไว้สำรองเมื่อผู้ใช้บริการไม่สามารถหาหนังสือในห้องสมุด
ก็สามารถค้นข้อมูลได้จาก google ได้

10. แนะนำฐานข้อมูลออนไลน์ – มีการรวบรวมรายชื่อฐานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย
ที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งฐานข้อมูลที่คัดสรรมานั้นนับว่ามีประโยชน์กับผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา
ข้อมูลเพื่อนำไปทำวิจัยได้

11. บริการข่าวสาร –
อันนี้ผมก็ใช้ rss feed ข่าวมาจาก สำนักข่าวต่างๆ โดยแบ่งข่าวเป็น 5 ส่วนคือ
ข่าวการศึกษา / ข่าวไอที / ข่าวสุขภาพ / ข่าวธุรกิจ / ข่าวยานยนต์

12. รวบรวมจุดเชื่อมโยงไปยังห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เพื่อใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม

13. แนะนำหนังสือใหม่ในแต่ละเดือน

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับความสามารถของเว็บไซต์นี้
แต่ถ้าเพื่อนๆ สังเกตจะรู้ว่าหลายๆ เมนู ผมไม่ต้องทำเองก็ได้นะครับ
แค่อาศัยการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ภายนอกก็เพียงพอแล้ว

ของบางอย่างเราสามารถนำมาใช้ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสร้างเอง
สิ่งสำคัญของการทำเว็บไซต์ห้องสมุด คือ ทำออกมาแล้วผู้ใช้ต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ผลงานชิ้นนี้ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้มีเว็บไซต์ แต่หลังจากที่ผมลาออกที่นี่ก็เปลี่ยนเว็บไซต์ห้องสมุดใหม่
ซึ่งผมก็แอบน้อยใจนิดๆ เหมือนกัน เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วมีอะไรที่ดีขึ้นผมก็คงยอมได้
แต่นี่เปลี่ยนเว็บไซต์จากที่มีความสามารถดังกล่าวกลายเป็นเว็บไซต์ที่มีแต่แนะนำข้อมูลห้องสมุดอย่างเดียว

เศร้าใจนะ แต่ทำอะไรไม่ได้นี่…

ผู้ชายก็เป็นบรรณารักษ์ได้นะ…

เพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยและถามผมอยู่เสมอว่า “ทำไมผู้ชายถึงไม่ค่อยเรียนบรรณารักษ์”
หรือไม่บางคนก็ถามว่า “วิชาชีพบรรณารักษ์ทำไมไม่ค่อยมีผู้ชาย” วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
เกี่ยวกับเรื่องมุมมองของคนส่วนใหญ่ต่อ อาชีพบรรณารักษ์ และ ผู้ชาย

librarian-male

เริ่มจากในสมัยที่ผมเรียนบรรณารักษืก่อนแล้วกันนะครับ
เพื่อนๆ เชื่อหรือไม่ว่า 4 ปี รวมกันมีเพศชายแค่ 10 คนเท่านั้นเอง
ซึ่งถ้าเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ ถือว่าน้อยมากๆ

หลังจากที่ผมเรียนจบแล้ว ได้ไปสมัครงานบรรณารักษ์หลายๆ ที่
ผมมักเจอคำถามลักษณะนี้บ่อยมากว่า ?ผู้ชายแท้หรือปล่าว ทำไมถึงเลือกเรียนและมาเป็นบรรณารักษ์?
ตอนแรกผมก็อึ้งไปนิดหน่อยเพราะไม่คิดว่าเขาจะล้อเล่นได้แรงแบบนี้
แต่พอได้คุยกับหลายๆ คน ผมก็เริ่มเข้าใจครับว่า คงเป็นเพราะมุมมองของวิชาชีพหล่ะมั้ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์เป็นอาชีพหนึ่งที่มีผู้หญิงทำงานเยอะ หรือมีค่านิยมในการทำงานนั่นเอง
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิง เช่น พยาบาล บรรณารักษ์ ฯลฯ
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย เช่น ตำรวจ ทหาร ฯลฯ

ขอเล่าต่อนะครับ ที่ทำงานบางแห่งถามผมว่า “ผู้ชายสามารถเป็นบรรณารักษ์ได้ด้วยหรอ”
ผมก็ตอบไปว่า ?ต้องทำได้สิครับ เพราะว่าผมเรียนจบมาด้านนี้ แถมมันก็เป็นอาชีพที่ผมรักด้วย ทำไมถึงจะทำไม่ได้?
เค้าก็ตอบว่า ?ผู้หญิงน่าจะเป็นบรรณารักษ์ได้ดีกว่าผู้ชาย? ตกลงมันเป็นแบบนี้จริงหรอ

นอกจากนี้ในใบประกาศรับสมัครงานขององค์กรบางแห่ง ได้มีการระบุว่ารับสมัครบรรณารักษ์ที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น
ผมก็แปลกใจว่าทำไมถึงต้องระบุคุณสมบัติว่า เฉพาะเพศหญิง บางทีองค์กรนี้อาจจะมีเหตุผลสักอย่าง ซึ่งผมยังไม่เข้าใจ

ที่ร้ายแรงกว่านั้นยังมีอีกกรณีหนึ่งครับ เนื่องจากผมมีเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลขององค์กรแห่งหนึ่ง
พอผมถามถึงเรื่องนี้ เขาก็ตอบว่า ?ก็เป็นปกติที่เวลารับบรรณารักษ์ เขาจะดูผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย?

ผมจึงถามต่อว่าทำไมหล่ะ ก็ได้คำตอบว่า
?เพราะว่าผู้หญิงทำงานละเอียดกว่าผู้ชาย และมีการบริการที่สุภาพ อ่อนโยน และดึงดูดผู้ใช้บริการได้?
เอาเป็นว่ายังไงๆ ถ้าองค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ องค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ผู้หญิงเท่านั้น

เอาเป็นว่าที่กล่าวมาก็เป็นเพียงบางองค์กรเท่านั้นนะครับ

จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้หรอกนะครับ แต่เพราะว่าในสิ่งที่เพื่อนผมตอบมาให้ฟังนั้น
บางทีผมก็รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่หรอก เพราะ “เพื่อนชายบางคนที่ผมรู้จักเขาก็ทำงานแบบว่าละเอียดกว่าผู้หญิง” ก็มี
เรื่องการบริการ บรรณารักษ์ทุกคนที่เรียนมักจะถูกสอนมาอยู่แล้วว่าเราต้อง service mind อยู่แล้ว
ส่วนสุดท้ายผมคงเถียงไม่ได้ เนื่องจากเพศชายยังไงๆ ก็ไม่สามารถดึงดูดใครเข้าห้องสมุดได้
และอีกอย่างการจะดึงดูดใครเข้าห้องสมุดมันไม่ใช่แค่เรื่องว่าเพศหญิงหรือเพศชาย
แต่มันขึ้นอยู่กับภาพรวมของห้องสมุดว่าสามารถบริการและตอบสนองผู้ใช้บริการมากที่สุดหรือไม่

สรุปจากเรื่องนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายก็สามารถทำงานบรรณารักษ์ได้ทั้งนั่นแหละ
และจะทำงานดีหรือไม่ดียังไง มันขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมการให้บริการของแต่ละคนไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพศ

หมายเหตุก่อนจบ ผมยืนยันครับว่า ผมเป็นผู้ชาย 100% ที่ทำงานบรรณารักษ์นะครับ

เมื่อบรรณารักษ์อย่างผมเจอกับผู้ใช้บริการหัวหมอ

วันนี้ขอเล่าเรื่องในอดีตนิดนึงนะครับ สมัยตอนที่ผมยังเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งหนึ่งอยู่
อ๋อ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ว่าเป็นห้องสมุดสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ลองอ่านประวัติผมดูจะรู้ว่าที่ไหน)
ผมก็พบเจอกับผู้ใช้บริการห้องสมุดหลากหลายรูปแบบ (อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน เจ้าหน้าที่) วันนี้เป็นเพียงเคสหนึ่งเท่านั้น

userlibrary

ผู้ใช้หัวหมอ คือ ผู้ใช้บริการที่ฉลาดแกมโกง มีความรู้แต่มักใช้ในทางที่ผิด
เมื่อเข้ามาใช้บริการทีไรก็มักจะหาเรื่องปวดหัวมาให้เหล่าบรรณารักษ์ประจำ

ผู้ใช้หัวหมอที่ผมมักจะพบประจำ คือ นักศึกษา ครับ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

เพื่อนๆ เคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่
ผมเอาหนังสือมาคืนแล้วจริงๆ นะครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า…วันหนึ่งนักศึกษา ก. ก็เข้ามาที่ห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ
แต่ผมไม่สามารถให้ยืมได้เนื่องจากระบบมีข้อความเตือนว่า “ยังมีหนังสือค้างส่ง”
ผมจึงทวงถามถึงหนังสือเล่มดังกล่าว แต่นักศึกษาบอกว่านำมาคืนแล้ว
ผมจึงได้ให้นักศึกษาไปหาหนังสือบนชั้นหนังสือแล้วนำมาแสดงเป็นหลักฐาน

ผ่านไป 10 นาที นักศึกษากลับมาพร้อมกับหนังสือดังกล่าว แล้วพูดว่า
?ก็บอกแล้วว่าคืนแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเลยนะครับคุณบรรณารักษ์?

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมโดนผู้ใช้ตำหนิว่าไม่รอบคอบ
แต่ก็เอาเถอะครับผมคงไม่รอบคอบเอง เลยถูกผู้ใช้ตำหนิซะบ้าง

แต่ผมก็ยังมีเรื่องที่สงสัยหลายเรื่อง เช่น
– ระบบห้องสมุดในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
– หนังสือที่มาคืนทุกเล่มผมต้องเพิ่มสัญญาณในแถบแม่เหล็ก แต่เล่มนี้กลับยังไม่ได้เพิ่ม

(ผมทดลองหยิบหนังสือเล่มนี้เดินผ่านประตูจับสัญญาณ)

แต่เอาเถอะครับ บรรณารักษ์มือใหม่อย่างผมอาจจะพลาดเองก็ได้

อีกหลายสัปดาห์ต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันกับคนๆ เดิมอีกแล้ว
นักศึกษาคนนี้มาขอยืมหนังสือ และระบบก็เตือนอีกแล้วว่ายังมีหนังสือค้างส่ง
ผมจึงต้องทวงถามไปตามปกตินั่นแหละครับ ซึ่งนักศึกษาก็บอกว่าคืนไปแล้ว “ระบบมั่วปล่าว
วิธีเดิมครับ ถ้าคืนแล้วก็ต้องอยู่ที่ชั้น ผมจึงบอกให้เด็กคนนี้ไปหาที่ชั้นอีกที

หลังจากที่เด็กคนนี้เดินไปสักพัก ผมก็เดินตามไปแบบเงียบๆ

สุดท้ายผมก็พบความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
นั่นคือ “นักศึกษาคนนั้นเดินไปที่ชั้นหนังสือ สักพักก็หยิบหนังสือที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าออกมา

พอเขาหันหลังกลับมา ก็เห็นผมยืนอยู่ข้างหลังก็ตกใจเล็กน้อย
แล้วก็ยังหยิบหนังสือมาโชว์ผมอีกว่า “นี่ไงหาเจอแล้ว
ผมก็เลยบอกไปว่ามา “ยืนดูอยู่นานแล้ว…

เอาเป็นว่าผมคงไม่ลงโทษอะไรมากมายหรอกครับ แค่ทำเรื่องส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาก็เท่านั้น

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ อ่านแล้วรู้สึกยังไง มีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างมั้ยครับ
เอาเป็นว่าเล่าสู่กันฟังครับ แล้วหาทางแก้ไขกันดีกว่า…

ความสัมพันธ์ระหว่างงานห้องสมุดกับงานฝ่ายบุคคล

เรื่องราวที่ผมกำลังจะเขียนต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่ผมทำงานเป็นบรรณารักษ์ให้องค์กรแห่งหนึ่งอยู่
และผมเชื่อว่าห้องสมุดภายในองค์กรหลายๆ แห่งมักประสบปัญหานี้เช่นกัน (องค์กรที่มีห้องสมุดให้บริการคนภายใน)

hr-library

เมื่อบุคลากรคนหนึ่งลาออกไปแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลไม่แจ้งให้ห้องสมุดทราบ
วันดีคืนดีห้องสมุดมาตรวจสอบข้อมูลอีกที ก็พบว่าบุคลากรที่ลาออกคนนั้นมีหนังสือค้างส่ง
ซึ่งถ้าเป็นหนังสือทั่วไปค้างส่งคงไม่เท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนังสือที่ค้างส่งที่เป็น text book ราคาแพงและหลายเล่มด้วย
และเมื่อขอข้อมูลจากผ่านบุคคลและติดต่อไปยังบุคลากรคนนั้นกลับติดต่อไม่ได้

ห้องสมุดเกิดความเสียหายเนื่องจากบุคลากรลาออกไปหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหา…

ห้องสมุดพยายามทำเรื่องไปให้ฝ่ายบุคคลหลายรอบแล้ว (เรื่อง ขอตรวจสอบสถานะการยืมของบุคลากรที่มีความประสงค์จะลาออก)
แต่กลับถูกเมินเฉย และต่อว่ากลับมาว่า “เป็นหน้าที่ของห้องสมุดที่ต้องทวงถามการยืมจากบุคลากรเอง
แต่เมื่อชี้แจงว่า “ในเมื่อห้องสมุดมิอาจจะทราบได้ว่าเดือนนี้ใครจะลาออกบ้างแล้วจะให้ห้องสมุดทำอย่างไร
กลับได้รับคำตอบว่า “ห้องสมุดก็ต้องมาตรวจสอบจากฝ่ายบุคคลเอง

สรุปง่ายๆ หน้าที่ของห้องสมุดนอกเหนือจากงานที่ต้องดูแลหนังสือแล้ว
ยังต้องมาดูแลว่าบุคลากรคนไหนจะลาออกเมื่อไหร่และก็ต้องตามเช็คให้อีก
มันถูกต้องหรือไม่ อันนี้ผมคงไม่อยากให้ความเห็น
เพราะว่าผมคิดว่าเพื่อนๆ คงคิดกันได้ว่าใครควรรับผิดชอบงานอะไรกันแน่

เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ลองอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนด้านล่างดูนะครับ

ห้องสมุดควรจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของตัวเอง
เช่นฝ่ายการเงิน / ฝ่ายบุคคล เพื่อพูดคุยและตกลงข้อกำหนดต่างๆ ร่วมกัน
มิใช่ผลักภาระและปัญหาให้กันอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้

เมื่อมีบุคลากรมาขอลาออก คนๆ นั้นก็จะยื่นเรื่องขอลาออกที่ฝ่ายบุคคล
ฝ่ายบุคคลก็จะควรตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคนๆ นั้นที่มีต่อองค์กร
โดยทั่วไปฝ่ายบุคคลก็จะติดต่อไปยังฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายตรวจสอบวัสดุ ฝ่ายการเงินและควรติดต่อกับห้องสมุดด้วย

ฝ่ายห้องสมุดก็จะได้ตรวจสอบหนังสือค้างส่งและค่าปรับค้างชำระของบุคลากรท่านนั้นด้วย
หากไม่ทำเช่นนี้แล้ว เมื่อบุคลากรท่านนั้นลาออกไปแล้ว ห้องสมุดจะไม่รู้เรื่องเลยและหนังสือที่มีคุณค่าก็จะกลายเป็นหนังสือสูญหาย

เอาเป็นว่าการพูดคุยทำความเข้าใจในหน้าที่ จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้
หากพูดคุยกันแล้วมีเรื่องถกเถียงกันก็ให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ก็ได้นะครับ

นี่ก็เป็นเพียงข้อเสนอของผม และเรื่องราวที่อยากเล่าสู่กันฟังก็เท่านั้นเอง