เยาวชนเผยร้านเหล้าเข้าง่ายกว่าห้องสมุด

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมได้หยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาอ่านขณะกินข้าว
แต่เมื่ออ่านถึงหน้าข่าวการศึกษาก็ต้องสำลักทันทีเมื่อเจอข่าวนี้ “เยาวชนเผยร้านเหล้า เข้าง่าย กว่าห้องสมุด”

ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/edu/62873
(ผมขอ copy มาลงให้เพื่อนๆ อ่านที่นี่ เช่นกัน เพราะข่าวในเว็บไซต์อาจจะถูกลบง่ายๆ)

เนื้อข่าว “เยาวชนเผยร้านเหล้า เข้าง่าย กว่าห้องสมุด”
ในคอลัมน์ข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553

“สวมชุด นร.-นศ.เป็นพริตตี้เรียกแขกเสียเอง พม.รุกรณรงค์ภัยวัยรุ่นรับเทศกาลวาเลนไทน์ นักวิชาการติงระบบการศึกษาสอนเด็กติดแสงสี ต้องเร่งแก้ไข…

ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “รักใสๆ ให้ปลอดภัยของวัยโจ๋” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ตอนหนึ่งว่า คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นพบว่าผู้กระทำผิดแทบทุกรายมาจากสาเหตุของการดื่มสุรา โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงของสุรา หอพักแถวมหาวิทยาลัยที่ตนตรวจพบ ทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อย ปล่อยให้ร้านสะดวกซื้อ ที่ตั้งอยู่ภายในจำหน่ายสุรา หรือ แม้แต่ร้ายขายยาก็เปิดจำหน่ายสุราด้วยเพราะขายดีกว่ายา

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า เร็วๆ นี้ จะเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรรพาสามิต อธิการบดีทุกแห่ง มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติการตรวจจับหอพักที่ทำผิดกฎหมายอย่าง เคร่งครัด จากนั้นตนจะเดินสายตรวจไม่เฉพาะใน กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่รวมถึงต่างจังหวัดด้วย นอกจากนี้ช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ใกล้จะถึงได้มอบหมายให้ศูนย์เฝ้าระวัง และเตือนภัยทางสังคม พม. หารูปแบบรณรงค์ให้วัยรุ่นเข้าใจและรับทราบถึงภัยของวัยรุ่น การเที่ยวเตร่ ยาเสพติด และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล เยาวสตรีดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 กล่าวว่า การที่วัยรุ่นเข้าถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด มาจากการไม่เห็นคุณค่าในชีวิตตนเอง มักภูมิใจในสิ่งที่ตนสร้างมากกว่าสิ่งที่สร้างตนโดยเฉพาะพ่อแม่ และความไม่พอเพียงกับการใช้ชีวิต จะเห็นว่าปัญหายาเสพติดเวลานี้ไม่ใช่เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่เด็กเป็นผู้กระจายความเสี่ยงให้กับผู้อื่นเสียเอง ร้านเหล้าปั่น บาร์เบียร์เข้าง่ายมากกว่าห้องสมุด ยิ่งเป็นชุดนักเรียนนักศึกษากลายเป็นพริตตี้ที่รัญจวนเชิญชวนให้หมู่ภมรเข้า มาดอมดม

เยาวสตรีดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้โยงใยให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งเปิดประตูไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับใครก็ได้ นำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และตัดสินปัญหาด้วยการทำแท้งหรือกลายเป็นครอบครับเด็กแนวคือไม่มีแนวทางใน การดำเนินชีวิต จึงอยากเสนอให้ยึดหลัก 4 ใจคือ 1.จริงใจ ไม่อ่อนแอต่อกระแสต่างๆ 2.ข่มใจ 3.แข็งใจ อดทนต่อกิเลส และ4.คุมใจ ให้เป็นนายไม่ใช่เป็นทาสของอารมณ์ นอกจากนี้อยากเสนอ ผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้องควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้เห็นถึงโทษ พิษภัยของปัญหา สร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่ ป้องกันความเสี่ยงและความเสื่อมอย่างชัดเจน

นางสาวอรพิมพ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังต้องสร้างต้นแบบแรงบันดาลใจเชิงประจักษ์ให้กับวัยรุ่น เพราะตนเคยประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วยตนเอง จากเพื่อนที่เรียนมัธยมในโรงเรียนสตรีด้วยกัน เมื่อแยกย้ายไปเรียนต่ออุดมศึกษาเพียงแค่อยู่ชั้นปี 1 เพื่อนคนดังกล่าวโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือให้หาที่ทำแท้งให้ ขณะนั้นได้ปฏิเสธไปเพราะตกใจและไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร จากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ผ่านไปได้ทราบข่าวว่าเพื่อนคนดังกล่าวเสียชีวิต เพราะตกเลือดมากจากการสั่งซื้อยาขับทางอินเตอร์เน็ต และใช้ไม้แขวนเสื้อเกี่ยวเด็กออกมา จะเห็นว่าปัญหาวัยรุ่นรวดเร็วและรุนแรงมากหากไม่เร่งรีบแก้ไข

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถิติการข่มขืน ปล้ำ ล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด คือ แฟนและคนรู้จักมากที่สุด โดยอิทธิพลจากละครหลังข่าว รวมทั้งดารานักแสดงที่นำเรื่องเซ็กส์มาเป็นจุดขายในที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นเรื่องลามกอนาจารผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาอย่าไปโทษแต่วัยรุ่น แต่ต้องโทษที่ผู้ใหญ่สร้างสิ่งเร้ายั่วยุเด็ก ระบบการศึกษาสอนให้เด็กเป็นปลาหมึก เมื่อถูกแสงสีล่อให้ติดกับดักก็ถูกช้อนนำไปกิน ไม่ได้สอนให้คิด วิเคราะห์และสร้างภูมิคุมกันปัญหา ทั้งนี้ปัญหาการใช้เสรีภาพตามอำเภอใจ ทำร้ายสังคม ต้องแก้โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”

อ่านแล้วรู้สึกยังไงครับ สำหรับผมขอวิจารณ์นิดนึงพอนะครับ “เรื่องร้านเหล้าเข้าง่ายกว่าห้องสมุด”

ผมไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้นะครับ ทำไมนะหรอครับ

ทำไม “ร้านเหล้า” ถึงเข้ายากกว่าห้องสมุด
1. เข้าได้เฉพาะเวลากลางคืน การเดินทางไปอาจจะไม่ค่อยสะดวก (สำหรับคนที่ไม่มีรถนะครับ)
2. เข้าไปมีแต่เสียงอึกทึกครึกโครม พูดกันเสียงดังๆ กลับมาเจ็บคออีก
3. ถ้าให้ขออนุญาติไปร้านเหล้ากับห้องสมุด คงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่า ผู้ใหญ่จะอนุญาติอย่างไหน (เว้นแต่หนีไป)
4. อายุต่ำกว่า 20 ปีก้ห้ามเข้าด้วย
เอาเป็นว่าด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง มันก็เห็นๆ อยู่ว่าร้านเหล้าเข้ายากกว่าห้องสมุด

เรื่องการเข้ายากหรือง่าย ผมมองว่ามันเป็นเพียงการเข้าถึงสถานที่นะครับ

สิ่งที่น่าคิดของเรื่องนี้คือ เยาวชนไม่อยากเข้าห้องสมุดเองมากกว่า ถึงได้บอกว่าเข้ายาก

แล้วทำไม “เยาวชนไม่อยากเข้าห้องสมุด” อันนี้เพื่อนๆ พอจะนึกกันออกหรือยังครับ
สาเหตุอาจจะเพราะ “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชนเหล่านั้นได้ยังไงหล่ะครับ”

ตัวอย่าง “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชน”
– มีแต่สื่อสารสนเทศที่ไม่น่าสนใจต่อการเรียนรู้ (หนังสือเก่า หนังสือชำรุดมากมายในห้องสมุด)
– มีแต่บรรณารักษ์ที่ทำหน้าดุใส่ ใครจะกล้าเข้าหล่ะครับ
– ไม่มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เลย (ห้องสมุดเป็นเพียงห้องอ่านหนังสือเท่านั้น)
– อุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ไม่เพียงพอ หรือไม่มี (คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต)
เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างของ “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชน”

ที่นี้เรามาดูแนวทางการแก้ไขบ้างดีกว่า
– ห้องสมุดต้องมีบริการแนะนำหนังสือใหม่หรือหนังสือที่น่าสนใจ ที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์ให้ดี
– บรรณารักษ์ต้องมีท่าทีที่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้ใช้บริการ
– จัดกิจกรรมในห้องสมุดเพื่อส่งเสริมและรณรงค์การรักการอ่านบ้าง
– จัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงบรรณารักษ์ต้องสามารถใช้งานเป็นด้วย
เพียงเท่านี้ห้องสมุดก็จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นนะครับ

ถ้าห้องสมุดน่าสนใจและมีกิจกรรมมากๆ ผมเชื่อว่าเยาวชนก็คงหันมาใช้ห้องสมุดมากขึ้นนะครับ
แล้วผมก็หวังว่าจะไม่ได้ยิน เห็น หรืออ่านข่าวทำนองนี้อีกนะครับ