จริงๆ แล้วอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ และข้อไม่ควรปฏิบัติในบล็อกเดียวกัน
แต่กลัวว่ามันจะยาวเกินไปเดี๋ยวเพื่อนๆ จะเบื่อเอาง่ายๆ
วันนี้ผมจึงขอเลือกข้อไม่ควรปฏิบัติสำหรับห้องสมุดที่ใช้ Twitter ก่อนน่าจะดีกว่า
เรื่องที่จะนำเสนอนี้สำหรับห้องสมุดหรือบรรณารักษ์ที่เปิด Account เพื่อใช้ในองค์กรเท่านั้น
ไม่รวมถึง Account Twitter ส่วนตัวของเพื่อนๆ นะครับ (ง่ายๆ twitter องค์กร only)
ผมก็ใช้เวลาในการเล่น Twitter มาสามปีกว่าๆ สังเกตมาสักระยะแล้วว่า
ห้องสมุดหลายๆ แห่งเริ่มมีการนำ twitter มาใช้ในองค์กรมากขึ้น
เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรม แนะนำหนังสือ ฯลฯ ในห้องสมุด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
แต่ห้องสมุดบางแห่งเมื่อผมได้เข้าไปใน twitter ผมก็รู้สึกแปลกๆ และสงสัยเล็กน้อย
ถึงความผิดปกติในแง่ต่างๆ เช่น lock ไม่ให้คนอื่นดู, ปล่อยให้ twitter ร้าง ฯลฯ
ผมจึงอยากนำเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาแนะนำให้เพื่อนๆ ห้องสมุดและบรรณารักษ์อ่าน
สิ่งที่ Twitter ห้องสมุดหรือบรรณารักษ์ไม่ควรทำในโลกออนไลน์ ได้แก่
– การ lock หรือ การ protected Account ของห้องสมุดหรือบรรณารักษ์
เพราะห้องสมุดของเราควรเปิดกว้างให้ผู้ใช้บริการบนโลกออนไลน์ทุกคน
ดังนั้นเราไม่ควรจำกัดการเข้าถึงห้องสมุดด้วยวิธียุ่งยาก
– ทำตัวเสมือนเป็นหุ่นยนต์ (ดึง feed ข่าวของห้องสมุดมาลงเพียงอย่างเดียว)
ในโลกของ twitter ห้องสมุดก็สามารถมีชีวิตได้ หากมีคนถามห้องสมุดก็ควรตอบ
นอกจากนี้ห้องสมุดยังสามารถทักทายผู้ใช้บริการออนไลน์อยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อความเป็นกันเอง
– อย่าปล่อยให้การอัพเดทข้อความใน twitter ทิ้งช่วงเกิน 2-3 วัน
เพราะนั้นหมายถึงความไม่ใส่ใจของห้องสมุด (ห้องสมุดร้าง)
เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ก็แล้วกันนะครับ
เพื่อเป็นคำเตือนให้เพื่อนๆ บรรณารักษ์และห้องสมุดมือใหม่ระวังในการใช้เครื่องมือออนไลน์
Leave a Reply