สรุปงาน New technology and Best Practice in Library Services

วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเรื่อง “New technology and Best Practice in Library Services
โดยคุณ John Hickok จาก California State University เห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจดีจึงขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ อ่าน

รายละเอียดงานบรรยายเบื้องต้น
ชื่อการบรรยาย : New technology and Best Practice in Library Services
ผู้บรรยาย : John Hickok
วันและเวลาที่บรรยาย : วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.00-12.00 น.
สถานที่ในการบรรยาย : ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมหาจักรีสิรินธร
ผู้จัดงาน : ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสถานฑูตสหรัฐฯ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ การบรรยายครั้งนี้มีล่ามช่วยแปลในระหว่างการบรรยายด้วย
(แต่ผมว่าฟังภาษาอังกฤษแล้วดูสไลด์ตามน่าจะเข้าใจหว่านะครับ แต่ก็เอาเถอะครับมีล่ามก็ดี)

การบรรยายเริ่มจากการแนะนำตัวของผู้บรรยาย ซึ่งคือคุณ John Hickok
(ผมขออนุญาติเรียกผู้บรรยายว่าคุณ John เพื่อความชัดเจนในการสื่อสารนะครับ)

โดยคุณ John เป็นบรรณารักษ์ธรรมดาๆ คนนึงที่ California State University (ย้ำว่าบรรณารักษ์ธรรมดา) นอกจากนี้คุณ John ก็ยังเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้กับคนต่างชาติด้วย โดยเฉพาะคนเอเชีย วิทยานิพนธ์ที่คุณ John คือเรื่องการเปรียบเทียบความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับการบริการห้องสมุด ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจาก 200 กว่าห้องสมุด จาก 14 ประเทศ ในแถบเอเชีย ตำแหน่งอันทรงเกียรติของคุณ John ตอนนี้คือ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ALA

หลังการแนะนำตัวเองเสร็จเรื่องแรกที่คุณ John บรรยายคือ Best Practice

ตัวอย่าง Best Practice จาก California State University แบ่งออกเป็น

1 งานด้านเทคนิคของบรรณารักษ์ ซึ่งมี 6 ตัวอย่าง ดังนี้
1.1 Prompt Cat. (การซื้อรายการบรรณานุกรมจาก OCLC)
คุณ John ได้แสดงให้เราเห็นว่าตำแหน่งงานด้าน catalog ในห้องสมุดของอเมริกาถูกลดบทบาทลงมาก แต่หันไปเพิ่มความสำคัญให้กับบรรณารักษ์ด้าน e-resource เป็นหลัก เนื่องจาก catalog สามารถดึงมาจาก OCLC ทำให้ข้อมูลเป็นกลางและไม่ทำให้เกิดความหลากหลายในการ catalog ด้วย

คำอธิบาย Prompt Cat. อ่านได้ที่ http://www.oclc.org/promptcat/

1.2 Consortium buying power of databases (จับมือร่วมกับหน่วยงานห้องสมุดอื่นๆ ในการซื้อฐานข้อมูลจากต่างประเทศ)
คุณ John ได้บอกพวกเราว่าการที่ทำความร่วมมือในการบอกรับฐานข้อมูลจะทำให้เราประหยัดงบประมาณและก่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าด้วย (จริงๆ แล้วในบ้านเรา uninet ก็มีนะ สกอ. บอกรับทำให้มหาลัยประหยัดด้วย)

1.3 Explosion of full-text linking in database (การเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่บอกรับให้สามารถค้นหาฐานข้อมูลแบบ fulltext ได้)
การเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ ที่บอกรับจะมำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น EBSCO ไม่มี full text ในเรื่องนี้แต่ในฐานข้อมูลอื่นอาจจะมีก็ได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อมฐานข้อมูลกันก็จะทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลก็อาศัยโปรแกรมเสริมบางชนิด เช่น “Find it” เพียงแค่เรานำมาติดตั้งกับหน้าเว็บไซต์ก็สามารถทำงานได้แล้ว

1.4 Partnering with WorldCat for last ILL. (เข้าร่วมกับ world cat ในการแชร์ข้อมูล เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในท้องถิ่น)
การทำความร่วมมือกับ WorldCat ในเรื่องฐานข้อมูลหนังสือ การเข้าร่วม ILL (inter library loan) จะเป็นทางเลือกในการช่วยให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดยืมหนังสือที่ห้องสมุดของเราไม่มีแต่ที่อื่นมีก็ได้ และยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้สามารถค้นหาหนังสือที่อยู่ใกล้มือได้ (อยู่ใกล้ห้องสมุดไหนก็ไปที่นั่น)

http://www.worldcat.org/

1.5 Reference Statistics Software (เก็บข้อมูลจากบริการตอบคำถามมาแล้วประมวลผมหาความต้องการที่แท้จริงของห้องสมุด)
โปรแกรมเก็บสถิติการอ้างอิงและการตอบคำถามผู้ใช้บริการจะทำให้เราสามารถประเมินความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงการนำข้อมูลสถิติมาใช้ในงานบริหารจัดการห้องสมุดได้ เช่น ในช่วงเวลาที่คนใช้ห้องสมุดมากๆ ก็ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า

1.6 Library Instruction Request form (แบบฟอร์มขอบรรณารักษ์ไปช่วยในการสอน)
แบบฟอร์มในการขอให้บรรณารักษ์ไปช่วยในการอบรมผู้ใช้บริการเฉพาะด้าน มีไว้ให้อาจารย์ในคณะส่งข้อความให้ห้องสมุดเพื่อขอใช้บริการบรรณารักษ์ไปอบรมผู้ใช้

2 งานบริการผู้ใช้ห้องสมุด ซึ่งมี 7 ตัวอย่างดังนี้

2.1 IM Chat reference (บริการตอบคำถามออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง)
เอา Chat online มาไว้ที่หน้าเว็บไซต์ได้เลย และต้องคอยดูแลและตอบคำถามผู้ใช้บริการด้วยนะ ในช่วงเวลาทำการบรรณารักษ์ห้องสมุดก็จะช่วยกันตอบ แต่ในเวลาหลังเลิกงานห้องสมุดที่นั่นก็จ้างคนมาดูแลและตอบคำถาม (จ้าง OCLC) ครับ ไม่แพงมากถ้าทำความร่วมมือกับที่อื่นๆ ด้วย จากการสำรวจผู้ใช้บริการจะเข้าใช้บริการมากสุดตอนห้าทุ่ม

2.2 Software to control all lab screens (โปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมหน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด)
ในช่วงเวลาที่มีการอบรมเพื่อไม่ให้เกิดความวอกแวก ห้องสมุดควรจะมีโปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมหน้าจอด้วย ผู้ใช้จะได้จดจ่ออยู่กับหน้าจอที่เราควบคุม โปรแกรมที่คุณ John แนะนำคือ lanschool (www.lanschool.com) เสียตังค์ครับแต่ไม่แพงมาก

www.lanschool.com

2.3 Specialized guides (แนะนำข้อมูลเพื่อช่วยในการสืบค้นเฉพาะเรื่อง)
การจัดทำข้อมูลเพื่อแนะนำการสืบค้นจำเป็นมากครับ เพราะบางครั้งบรรณารักษ์ต้องนั่งตอบคำถามผู้ใช้ซึ่งเป็นคำถามซ้ำไปซ้ำมา ยกตัวอย่าง นาย ก มาขอข้อมูลเรื่องโลกร้อน บรรณารักษ์ก็ชี้ว่าไปหาที่นี่ๆๆๆ แล้วก็จบ นาย ข เดินมาก็ขอข้อมูลโลกร้อน บรรณารักษ์ก็ต้องชี้ว่าไปหาที่นี่ๆๆๆ จบไปอีกหนึ่งคน นาย ค เดินมาก็ขอข้อมูลโลกร้อนอีก บรรณารักษ์ก็ต้องตอบแบบเดิม ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าเราจัดทำคู่มือการหาข้อมูลโลกร้อนแล้วเอาขึ้นเว็บ ผู้ใช้ก็จะได้นำคู่มือตรงนี้ไปใช้

2.4 Specialized tutorials (เทคนิคในการสอนใช้ข้อมูลเฉพาะเรื่อง)
รูปแบบการสอนไม่ควรใช้ text ล้วนๆ เหมือนสมัยก่อน เพราะว่ามันน่าเบื่อและทำให้ผู้ใช้บริการไม่สนใจในคำแนะนำนั่นๆ แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่มาใช้เทคโนโลยีอย่างพวก flash javascript หรือวีดีโอใน youtube มันก็อาจจะทำให้กระตุ้นในการอยากรู้ของผู้ใช้บริการก็ได้

2.5 RefWorks plug in and workshop (โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างบรรณานุกรมที่ถูกต้อง)
โปรแกรม RefWorks มีลักษณะคล้ายๆ โปรแกรม Endnotes ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถสร้างบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามรูปแบบของ APA

2.6 Outreach to international student (แนะนำและสอนการใช้ห้องสมุดให้กับผู้ใช้บริการ)
การแนะนำและสอนการใช้ห้องสมุดให้กับผู้ใช้บริการในเมืองไทยคุณ John บอกไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเห็นว่าทำกันอยู่แล้ว โดยเน้นเด็กมัธยมที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้คุณ John ย้ำว่าต้องจัดสอนให้ผู้ใช้ทุกกลุ่ม เช่น ผู้ใช้บริการที่เป็นคนต่างชาติในห้องสมุดของเราก็ต้องสอน เพราะการใช้ห้องสมุดในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

2.7 International partnership (สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ)
การทำความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติทั้งรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการจะช่วยให้เกิดการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการดูงานเพื่อพัฒนาห้องสมุดได้

จบตัวอย่างของ Best Practice แล้วคุณ John ได้เน้นในเรื่องของ trend ห้องสมุด คือ การบริการเชิงรุก

คุณ John ได้กล่าวถึงข้อดีของการให้บริการเชิงรุกและการให้การศึกษากับกลุ่มผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนภาพลักษณ์บรรณารักษ์รุ่นเก่า (โบราณ เคร่งเครียด และชอบทำปากจุ๊ๆ ให้เงียบ) ไปเป็นภาพลักษณ์บรรณารักษ์แนวใหม่ (ทันสมัย เป็นมิตร และเชี่ยวชาญเรื่องการสืบค้น)

เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแนวการให้บริการเป็นเชิงรุกในสหรัฐอเมริกา มี 3 อย่างคือ
1 บรรณารักษ์มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีมากขึ้น เช่น ทำบล็อก เล่นเฟสบุ๊ค ใช้ยูทูป
2 บรรณารักษ์มีบทบาทต่อการเรียนการสอนรายวิชาวรรณกรรมและการค้นหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น
3 บรรณารักษ์ในสหรัฐอเมริกาจบวุฒิโทในสาขาบรรณารักษ์ แต่จบตรีสาขาอื่นๆ ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งต่างจากไทยที่คนไทยเรียนตรีบรรณฯ ต่อโทก็ยังบรรณ ดังนั้นทำให้ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอื่นๆ เลย


การให้บริการเชิงรุกต้องดูอะไรบ้าง

1 สถานที่ในการให้บริการตอบคำถาม ไม่ควรอยู่ไกลหรือลึกลับเพราะผู้ใช้จะไม่กล้าใช้บริการ และที่สำคัญหนังสืออ้างอิงควรอยู่ใกล้ๆกับจุดบริการตอบคำถามด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือจุดบริการตอบคำถามควรมีจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้บรรณารักษ์สามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันที

2 การแนะนำบริการตอบคำถามให้ผู้ใช้บริการรู้จัก คุณ John ยกตัวอย่างของห้องสมุด California State University ว่า บรรณารักษ์จะเดินถือโน้ตบุ๊คเข้าหาผู้ใช้บริการที่นั่งสืบค้นข้อมูลอยู่ตามโต๊ะ เมื่อบรรณารักษ์สังเกตเห็นว่าผู้ใช้กำลังต้องการค้นข้อมูล บรรณารักษ์ก็จะเดินเข้าไปถามและช่วยทันที คุณ John บอกในช่วงแรกผู้ใช้อาจจะตกใจ แต่เมื่อทำแบบนี้แล้วคนที่อยู่ใกล้ๆ จะได้ยินว่าบรรณารักษ์ให้การช่วยเหลือเรื่องการสืบค้นได้ ก็อาจจะต่อคิวเพื่อขอรับบริการต่อไป นอกจากนี้การทำป้ายเพื่อแนะนำบริการตอบคำถามก็สมควรที่จะทำในห้องสมุด

ภาพตัวอย่างป้ายบริการตอบคำถามในห้องสมุด

จากการพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาในเรื่องสาเหตุที่ไม่ขอรับบริการตอบคำถามจากบรรณารักษ์เนื่องจาก
– ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ (ไม่อยากให้คนอื่นคิดว่าโง่)
– เคยเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการใช้บริการห้องสมุด
– คิดว่าเปิด google ก็ได้คำตอบ

3 เพิ่มแหล่งบริการค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ ในห้องสมุด (แต่ต้องไม่กระทบเรื่องงบประมาณ) เน้นเว็บไซต์ด้านสารสนเทศมากๆ คุณ John แนะนำให้ลองใช้
www.ipl2.org
www.libraryspot.com
www.refdesk.com

4 เพิ่มการศึกษาให้ผู้ใช้บริการมากๆ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการรู้มากๆ ก็จะมาที่ห้องสมุดเองนั่นแหละ วิธีการง่ายๆ ให้ทำดังนี้
– จัดปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด
– ขอความร่วมมือจากสาขาวิชาเพื่อให้เด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องการค้นข้อมูลในห้องสมุด
– จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop)

เอาเป็นว่าการบรรยายในหัวข้อ “New technology and Best Practice in Library Services” ก็จบที่สไลด์นี้
แต่คุณ John มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาให้พวกเราได้ดูอีก คือ ตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจ (International Best Pratices of Library Spaces)

ตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจ (International Best Pratices of Library Spaces) มี 9 หัวข้อที่ศึกษา ดังนี้

1. The Information Common
3. Social Network
4. Distance learning
5. Virtual Mgmt system
6. Technical Service
7. Marketing / Promotion
8. Reference Info Lit.
9. Library Space Planning

หลังจากจบการบรรยายก็ถึงช่วงเวลาที่ใช้ในการตอบคำถาม มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เช่น
1. การมีร้านกาแฟในห้องสมุด – คนจะมากินกาแฟอย่างเดียวหรือไม่ กินเสร็จก็ออกจากห้องสมุด
คุณ John ก็ตอบว่าการศึกษาเรื่องนี้จริงๆ พบว่ายิ่งการมีร้านกาแฟ จะยิ่งทำให้คนเข้าห้องสมุดและอยู่กับห้องสมุดนานขึ้น นอกจากนี้การทำงานร่วมกันระหว่างร้านกาแฟกับห้องสมุดก็จะดีมากๆ เช่น วีดีโอที่เปิดในร้านกาแฟก็อาจจะเป็นวีดีโอที่เกี่ยวกับการแนะนำห้องสมุด กิจกรรมห้องสมุด หรือสาระความรู้จากห้องสมุดก็ได้

2. การเปิดพื้นที่ Comment zone (พื้นที่ที่ให้คนสามารถพูดคุยปรึกษางานกัน) มันเสียงดังนะ มันจะไม่กวนผู้ใช้คนอื่นหรอ
คุณ John ก็ตอบว่าการที่เป็น Comment zone มันก็ต้องเสียงดังอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ควรจัดมุม private zone หรือ quiet zone ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่ต้องการสมาธิใช้เช่นกัน ซึ่งบางทีเราอาจจะแบ่งพื้นที่ให้ห้องสมุดมีโซนที่เสียงดังสัก 50% ก็ดีนะ เพราะห้องสมุดปกติคือสถานที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ที่นั่งอ่านเงียบๆ เหมือนสมัยก่อน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมเขียนบล็อกยาวไปหน่อยนะครับหวังว่าคงไม่น่าเบื่อเกินไป
สำหรับคนที่ไม่ได้มาวันนี้หากสงสัยในส่วนไหนก็ฝากคำถามไว้แล้วกันครับ เดี๋ยวจะแวะมาตอบให้
สำหรับเอกสารการบรรยายไม่แน่ใจว่าผู้จัดงานลงไว้ที่ไหนเดี๋ยวจะลองเช็คดูให้นะครับ

About libraryhub 884 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

16 Comments

  1. มีประโยชน์ดีค่ะ จะแชร์ไว้เผื่อที่ทำงานได้อ่านด้วย (แต่เขาจะอ่านป่าวนี่สิ) .. บางเรื่องเราก็ทำอยู่อย่าง ทำบล็อก เล่นเฟสบุ๊ค ใช้ยูทูป อิอิ .. แต่หลายอย่างเพิ่งรู้เหมือนกันอ่ะค่ะ เทรนด์ห้องสมุดมันเปลี่ยนเร็วไปตามโลก จริงๆ

    • โลกไปตามเทคโนโลยี ห้องสมุดก็ต้องตามให้ทันแต่เน้นเทคโนโลยีแล้วต้องห้ามลืมก่ีให้บริการด้วยใจ (service mind) ด้วยนะ

  2. ขอบคุณมากครับ สรุปข้อมูลดีๆ มาฝาก(อีกแล้ว)
    จากหัวข้อบรรยาย & ตัวอย่างที่คุณ John กล่าวถึง หลายห้องสมุดในไทยเรา พัฒนาดำเนินการกันไปแล้ว น่าชื่นใจนะครับ สิ่งไหนที่ยังใหม่และต้องปรับเปลี่ยน ก็นับเป็นประเด็นที่คนห้องสมุดต้องนับมาคบคิด ศึกษา ลงมือทำ ปรับให้เหมาะพอดีกับธรรมชาติ อุปนิสัยผู้ใช้บริการของบ้านเราด้วย

    ผู้เขียน…ย้ำว่าอ่านแล้ว ขอเม้นท์ อะ…จัดให้นะครับ 😀

    • ขอบคุณครับ ถ้าอ่านแล้วงงตรงไหนหรือปล่าวอ่ะ ผมไม่ได้เขียนยาวๆ แบบนี้มานานแล้ว กลัวคนอ่านง่วง

  3. ชอบมากค่ะ รออยู่ว่าจะมี บนเว็บเมื่อไหร่ ค่ะ ดีใจมากๆๆๆๆ กรี๊ดดดดดดดดดด

  4. มาลงชื่อว่าอ่านจบแล้วจ้า ขอบคณมากสำหรับการแบ่งปันจ้า

    • ขอบคุณพี่ๆ น้องๆ ทุกคนที่เข้ามาอ่านนะครับ งงตรงไหนบ้างหรือปล่าว

  5. ได้ความรู้จากคุณวาย มากมาย อย่างไรขอเอกสารเพิ่มเติม ด้วยยิ่งดีนะครับ ขอบคุณครับ

    • เอกสารของงานนี้ ผมกำลังติดต่อไปที่ผู้จัดงานอยู่ครับ ไม่รู้ว่าจะได้หรือปล่าว แต่จะพยายามขอมาลงครับ

  6. พี่ก็ไปฟังมา จะสรุปลงบลอกของสนามจันทร์เหมือนกัน ได้อ่านของวายแล้ว เยี่ยม จงขอไปพ่วงที่บล็อกของสนามจันทร์ด้วยนะ

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*