เพื่อนๆ คิดยังไงกับบทความ “ว่าไงนะ บรรณรักษ์ตายแล้วหรือ”
วันนี้บทความที่ผมนำมาให้อ่านแค่ชื่อเรื่องอาจจะทำให้เพื่อนๆ หลายคนตกใจ และหลายๆ คนก็คงช็อค
แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า ชื่อเรื่องนี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่วงการบรรณารักษ์ของพวกเราเลย
บทความเรื่อง “ว่าไงนะ บรรณรักษ์ตายแล้วหรือ” ได้ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันนี้ (วันที่ 9 ธันวาคม 2553)
ซึ่งนักข่าวจากกรุงเทพธุรกิจมาขอสัมภาษณ์ผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ ของห้องสมุด
และจากการคุยในวันนั้นก็ได้บทความชิ้นนี้ออกมา (นักข่าวถอดคำพูดจากการสัมภาษณ์ผมนะ)
ใครที่ยังไม่ได้อ่านผมขอนำบทความนี้มาลงในบล็อกนี้ด้วยนะครับ
ว่าไงนะ บรรณรักษ์ตายแล้ว ?
โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
เคยมีรายงานสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2546 พบว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยปีละ 7 บรรทัด
กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ถูกหยิบมากพูดกันน้ำหูน้ำตาเล็ด
อีก 5 ปีต่อมา 2551 ผลสำรวจสำนักเดิมอีกพบว่า แนวโน้มคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 39 นาทีต่อวัน
จนล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำรวจพบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานถึง 94 นาทีต่อวัน เท่ากับว่าเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี คนไทยมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น หรือไม่ช่องทางการเข้าถึงหนังสือของคนไทยเพิ่มมากขึ้น
แน่นอนว่า อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นพฤติกรรมการอ่านของคนทั่วโลก
การอ่านหนังสือ และการค้นคว้าเอกสารของนักเรียนนักศึกษาไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในห้องสมุดอย่าง เดียวแล้ว ภาพของนักศึกษายืนอยู่หน้าตู้ดัชนี ดึงลิ้นชักออกมาค้นหารายชื่อหนังสือ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว พวกเขาไม่ต้องการความรู้เกี่ยวกับการจัดระบบห้องสมุดแบบดิวอี้ และรัฐสภาอเมริกัน อีกต่อไป
เมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักพัฒนาระบบห้องสมุด จากโครงการศูนย์ความรู้กินได้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ยอมรับว่า ทิศทางการสืบค้นแบบใหม่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทำให้การค้นหาแบบเดิมถูกตัดทิ้ง ห้องสมุดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันสมัย บรรณารักษ์ต้องเป็นได้มากกว่าคนเฝ้าห้องสมุด
ที่ผ่านมาแม้ห้องสมุด จะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของเทคโนโลยีโดยแปลงหนังสือทั้งเล่มให้อยู่ในรูปของอี บุ๊ค จัดเก็บในฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อความสะดวกในการค้นหา แต่เขากลับมองว่า นั่นไม่ใช่แนวทางที่จะสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่เขามองคือการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจในรูปของบทความ นอกเหนือจากข่าวสาร บันเทิง ที่ปรากฏอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตในทุกวันนี้
เหตุผล ดังกล่าวผลักดันให้บรรณารักษ์ วัย 28 ปี ริเริ่มแนวคิดการสร้างชุมชนบรรณารักษ์ออนไลน์ขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อหากลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน สร้างเป็นเครือข่าย ผลักดันให้เกิด libraryhub.in.th ศูนย์กลางข้อมูลสำหรับบรรณารักษ์โดยเฉพาะ
?แนวคิด นี้เกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัวที่หลงไหลในเสน่ห์ของห้องสมุด จนกระทั่งตัดสินใจเรียนต่อเพื่อที่จะเป็นบรรณารักษ์ ในขณะที่คนอื่นอาจเลือกเรียนในสายวิศวะ แพทย์ ที่ดูดีมากกว่า? เขากล่าว
libraryhub ที่เริ่มต้นโดยมีเป้าหมายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนี้โดยเฉพาะ ปัจจุบันเว็บไซต์ได้รับการยอมรับให้เป็นประตูของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า นักพัฒนาห้องสมุด ในยุค 2.0
?ทุกวันนี้ห้องสมุดเกือบทุกแห่งเริ่ม เอานำสื่อออนไลน์เข้ามาใช้ อย่างเช่น เฟซบุ๊ค แฟนเพจ เข้ามาใช้ บรรณารักษ์ในโลกยุคใหม่ที่สามารถทำหน้าที่เป็นคนป้อนความรู้ให้กับผู้อ่าน ได้เลย โดยไม่ต้องยัดเยียด ต่างจากทฤษฎีของบรรณารักษ์รุ่นเก่าที่ใครจะเข้ามาใช้ห้องสมุดต้องมาค้นหา ข้อมูลเอง? เขาอธิบาย
เมฆินทร์ เล่าว่า ห้องสมุดในบ้านกับต่างประเทศแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่าง สหรัฐ อาชีพบรรณารักษ์ส่วนใหญ่มาจากสายไอที อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่น ชีวะ ธุรกิจ แพทย์ ซึ่งโจทย์ของบรรณารักษ์คือจะทำอย่างไรให้คนห้องสมุด และอ่านหนังสือมากขึ้น
ครั้งหนึ่ง เมฆินทร์ เคยแก้โจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กช่างกลเข้าห้องสมุด เขาคิดหาแผนการทุกวันทั้งที่ใช้แล้วได้ผลและไม่ได้ผล ตั้งแต่หลอกล่อโดยวิธีการแปะสกอร์ฟุตบอล ไว้ข้างบอร์ดหางานพิเศษ แสดงถึงคุณสมบัติของคนที่ต้องการ ซึ่งเขามองว่าบรรณารักษ์สามารถแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กที่ไม่ เคยสนใจอ่านหนังสือเลยได้ลองอ่านดู
แม้จะไม่มีทักษะด้านงานเขียนมา ก่อน แต่ด้วยสไตล์เขียนแบบเล่าเรื่อง ช่วยสื่อสารให้คนเข้าใจดีกว่าเขียนเป็นทางการแต่ไม่มีใครอ่านเลย หลังจากเขียนไปสักระยะหนึ่งเริ่มมีการส่งต่อเนื้อหา คอมเม้นท์ และสร้างเป็นกลุ่มสังคมออนไลน์ ด้วยฐานสมาชิกประมาณ 700 คน เกิดเป็นคอมมูนิตี้ ห้องสมุดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
จนกระทั่งเครือ ข่ายเริ่มขยายตัว เกิดเป็นไลเบอร์เลี่ยนแมกาซีนออนไลน์ ไลเบอร์เลี่ยนออนไลน์ดอทคอม ไลเบอร์เลี่ยนทีวี ในขณะที่ตัวเขาเองรับหน้าที่เดินสายบรรยายและเป็นที่ปรึกษาให้ห้องสมุดหลาย ที่ คิดโครงการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น รณรงค์ให้นักอ่านแบ่งบันหนังสือ โดยใส่แท็กในแฟซบุ๊ค รวมถึงจัดลิมแคปม์ เปิดเวทีสัมมนาเฉพาะกลุ่มสำหรับบรรณารักษ์ในยุคดิจิทัล
เขามองว่า งานห้องสมุดยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่นการจัดการระบบห้องสมุดที่มีอยู่กระจัดกระจายทั่วกรุงเทพให้อยู่บนฐาน ข้อมูลเดียวกัน โดยยึดแบบอย่างจากห้องสมุดในประเทศสิงคโปร์ที่มีองค์กรกลางเข้ามาดูแลจัดการ ในเรื่องหนังสือ ฐานข้อมูล ทำให้ห้องสมุดขนาดเล็กทำหน้าที่ให้บริการเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ ห้องสมุดในเครือข่ายของห้องสมุดกรุงเทพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 แห่ง ทำงานแยกส่วนกัน ซึ่งหากมีการทำงานเป็นภาพรวมก็จะทำให้เห็นสถิติการอ่านของคนกรุงเทพ ซึ่งมาจากข้อมูลที่มีตัวชี้วัดที่แน่นอน รวมถึงการปรับเปลี่ยนหนังสือในห้องสมุดระดับจังหวัดให้มีเนื้อหาตรวจกับความ ต้องการของท้องถิ่น
เขามองว่า การสร้างห้องสมุคในยุคใหม่ต้องเริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของคนใน พื้นที่ สำรวจว่าท้องถิ่นมุ่งไปทางไหนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรม หัตถกรรม หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับนักอ่านที่แท้จริง
?ห้องสมุดจะนั่งอยู่เฉยให้คนมาบอกว่าไม่พัฒนา จะยอมจำนน หรือต้องสู้เพื่อการพัฒนา? เขาตั้งคำถามไปยังบรณารักษ์ทั้งมวล
ประเด็นหลักๆ ที่ผมอ่านแล้วช็อคตั้งแต่แรกคือ การใช้ชื่อเรื่องที่ค่อนข้างแรง (กลัวเพื่อนๆ รับไม่ได้)
แต่เนื้อหาด้านในพออ่านแล้วก็น่าจะได้ข้อคิดบ้างนิดๆ หน่อยๆ นะครับ (อยากให้อ่านเนื้อมากกว่าชื่อเรื่อง)
เอาเป็นว่าคิดเห็นยังไงก็เอามาลองคุยกันหน่อยครับ ขอเชิญแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้นะครับ
แต่สุดท้ายนี้ประโยคด้านล่างสุดของบทความ ผมก็ยังคงอยากบอกเพื่อนๆ อยู่เหมือนเดิม
?ห้องสมุดจะนั่งอยู่เฉยให้คนมาบอกว่าไม่พัฒนา จะยอมจำนน หรือต้องสู้เพื่อการพัฒนา?