เปรียบเทียบข้อดีของหนังสือฉบับกระดาษกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

วันนี้เจอประเด็นนึงในกลุ่มบรรณารักษ์ไทยใน Facebook “ข้อดีและข้อเสียของ E-Book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง ?” ซึ่งประเด็นนี้ผมจะเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแต่ไม่มีเวลา วันนี้ผมจึงขอเขียนเรื่องนี้ออกเป็นสองประเด็นแล้วกัน

ประเด็นที่ผมจะนำเสนอ มาจากบทความ 2 เรื่อง ดังนี้
1. 5 ประเด็นที่บอกว่าหนังสือดีกว่า ebooks (http://www.readwriteweb.com/archives/5_ways_that_paper_books_are_better_than_ebooks.php)
2. 5 ประเด็นที่บอกว่า ebooks ดีกว่าหนังสือ (http://www.readwriteweb.com/archives/5_ways_that_ebooks_are_better_than_paper_books.php)

เรามาดูกันที่ละเรื่องเลยดีกว่านะครับ

5 ประเด็นที่บอกว่าหนังสือดีกว่า ebooks

1. Feel หรือ ความรู้สึก – เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมากอยู่แล้วว่าหนังสือแบบกระดาษยังคงให้ความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านมากกว่า การได้จับกระดาษ พลิกกระดาษไปทีละหน้าเป็นเรื่องที่ ebooks ยังหาความรู้สึกมาแทนไม่ได้

2. Packaging หรือ รูปลักษณะของตัวเล่มหนังสือ – นอกจากในเรื่องของตัวเล่มแล้วยังรวมถึงสิ่งที่มากับหนังสือ เช่น ภาพประกอบหนังสือด้วย การที่รูปบางรูปไปอยู่ใน ebooks มันทำให้ไม่สะดวกต่อการดูเพราะหน้าจอของ ebooks มันเล็กกว่าหนังสือบางเล่ม แม้ว่า ebooks จะมีฟังค์ชั่นในการขยายรูปภาพ แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่ากับการดูภาพฉบับจริง นอกจากนี้ปกหนังสือก็เป็นจุดดึงดูดให้คนสนใจหนังสือมากกว่าด้วย หากปกหนังสือในอีบุ๊คหลายๆ รุ่นยังไม่มีภาพที่เป็นสีเลย ทำให้จุดนี้หนังสือแบบเดิมก็ยังคงดีกว่า ebooks

3. Sharing หรือการแบ่งปัน – ในแง่นี้หมายถึงการให้เพื่อนยืมไปอ่าน การนำหนังสือไปบริจาคต่อให้คนอื่น ถ้าเป็น ebooks มันจะมีการติดสิทธิ์จำพวก DRM ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือบางเล่มไม่สามารถนำไปให้คนอื่นอ่านต่อได้ ลิขสิทธิ์ของ ebooks จะมีแค่เจ้าของเพียงคนเดียว แต่หนังสือหากเราอ่านจบแล้วยังส่งต่อให้ใครก็ได้ยืมอ่านต่อ

4. Keeping หรือ การเก็บ – จากเรื่องของ DRM ในข้อเมื่อกี้แล้วสิ่งที่น่าคิดอีก คือ ในอนาคต ebooks อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากกว่านี้ สมมุติว่าเราซื้อ ebooks ในปีนี้ เวลาผ่านไปอีก 10 ปีเราอยากจะอ่านเล่มนี้อีก เราอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ เปลี่ยนโปรแกรมอ่านใหม่ ซึ่งมันก็ไม่เหมาะเลย (ยกตัวอย่างไฟล์โปรแกรมที่เราเคยเล่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลองเอาโปรแกรมนั้นมาลองเล่นดูสิครับ) แต่มุมมองกลับกันถ้าเป็นหนังสือ อีกสิบปีเราอยากอ่านก็หยิบหนังสือเล่มเดิมออกมาไม่ต้องเปลี่ยนปกใหม่เรก็อ่านได้ครับ 5555

5. Second hand book หรือ หนังสือมือสอง -? เรื่องนี้ก็ไม่พ้น DRM เช่นกัน หากเราอ่านหนังสือเล่มเดิมๆ จนเบื่อแล้ว ถ้าเป็นหนังสือเราก็เอาไปขายต่อเป็นหนังสือมือสองได้ แต่ ebooks ไม่สามารถขายได้เนื่องจากมันจะผูกกับสิทธิ์เจ้าของเพียงคนเดียว

เป็นไงบ้างครับ แบบนี้ยืนยันได้แล้วหรือยังว่าหนังสือย่อมดีกว่า ebooks
แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจจนกว่าเพื่อนๆ จะอ่านบทความที่สองนี้นะครับ

5 ประเด็นที่บอกว่า ebooks ดีกว่าหนังสือ

1. Social Highlighting หรือ ช่วยกันเน้นข้อความที่น่าสนใจ – ฟังค์ชั่นนี้เป็นจุดเด่นของการอ่านหนังสือบน ebooks ความสามารถในการแบ่งปันหรือการอ่านหนังสือร่วมกัน (แต่ละคนต้องซื้อหนังสือหรือดาวน์โหลดเล่มเดียวกันมาเท่านั้นนะ) เมื่อเจอข้อความเด็ดๆ หรือน่าอ่านเราก็จะเน้นข้อความนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ ที่อ่านเล่มเดียวกันได้เห็นทำให้การอ่านสนุกมากยิ่งขึ้น ลองมองภาพนะว่าหากเราไปยืมหนังสือห้องสมุดมาอ่านแล้วเราทำ highlight ลงไป คงโดนด่าแน่นอน

2. Notes หรือ จดบันทึก – ฟังค์ชั่นนี้จะคล้ายๆ กับเมื่อกี้ แต่เน้นการเติมข้อมูลลงไปด้วย บางคนอ่านแล้วก็สรุปใจความสำคัญลงไปใน ebooks เผื่อในอนาคตกลับมาอ่านใหม่จะได้จำได้ นอกจากนี้ยังใช้บันทึกเพื่อเตือนความจำในหนังสือได้

3. Look up of word หรือ ค้นหาคำในหนังสือ – หากหยิบหนังสือแบบเดิมมาอ่านการที่เราจะต้องหาคำที่เราอยากอ่านในหนังสือทำได้โดยการที่เราจะต้องอ่านมันทั้งเล่มแล้วก็จดมันออกมา แต่ใน ebooks มีฟังค์ชั่นในการค้นหาคำซึ่งมันสะดวกมากกว่าการที่เราจะต้องอ่านมันทั้งเล่ม

4. Social network หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ – เมื่อเราเจอประโยคเด็ดๆ ในหนังสือบางทีเราก็อยากจะแชร์สิ่งนั้นไปให้เพื่อนๆ ได้อ่านเหมือนกัน ตอนนี้ ebooks device หลายรุ่นก็ทำฟีเจอร์เพื่อให้เครื่อง ebooks ต่ออินเทอร์เน็ตแล้วส่งข้อความผ่าน twitter หรือ facebook ได้แล้ว เช่น? Kindle 2.5

5. Search หรือ การค้นหา – ฟีเจอร์เพิ่มเติมที่น่าสนใจของการอ่าน ebooks คือเราสามารถนำข้อความใน ebooks ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน search engine ได้ด้วย ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่มากกว่าการอ่านหนังสือได้ด้วย

โดยรวมๆ แล้วจุดเด่นของ ebooks จะเน้นไปในแนวทางของสังคมออนไลน์มากขึ้น การอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน การพบปะกับคนที่ชอบหนังสือในแนวเดียวกัน รวมถึงการเรียนรู้ที่มากกว่าแค่การอ่านหนังสือด้วย

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นจุดเด่นของหนังสือและ ebooks ใครชอบอะไรก็เลือกแบบนั้นแล้วกัน
ยังไงซะ การอ่านก็มีประโยชน์อยู่แล้ว รักการอ่านมากๆ ทำให้มีความรู้และเกิดไอเดียมากๆ ครับ

About libraryhub 884 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

8 Comments

  1. ผมว่าถ้าเอา digital มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ebook ชนะตั้งแต่อยู่ในมุ้งคับ
    ในมุมมองผมนะครับ ตัวมีเดียหนึ่งตัว ต่อไปในอนาคตอาจจะเก็บได้เป็นล้านเล่ม มากกว่าห้องสมุดบางแห่งด้วยซ้ำ
    แต่……. แต่อันนี้สำคัญ ebook ล้ามเล่มก็จบที่แบตฯหมด ไฟดับ ซึ่งต่างจากหนังสือต่อให้ไฟดับ ก็ยังเหลือเทียนไข ต่อให้ไม่มีเทียนไข ก็ยังเหลือพระอาทิตย์ในกลางวัน ยังเหลือหนังสือให้อ่านได้อีกล้านเล่ม

    ไม่มีอะไรแพ้ชนะ แต่หนังสือ ( Hard Copy ) ไม่มีอะไรมาเทียบเคียงได้ รวมถึงอรรถรสในการอ่านด้วยนะครับ

  2. ทั้งหนังสือแบบกระดาษและแบบ ebook เราว่าชนะทั้งคู่นั่นแหละ ไม่มีใครแพ้หรอก
    ทั้งสองแบบเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน

    หากเราต้องการอ่านหนังสือที่เน้นเรื่องราวเฉพาะด้านหรือหนังสือที่ต้องการภาพและรายละเอียดเยอะๆ ก็เลือกหนังสือแบบกระดาษก็ดีนะ แต่ถ้าอยากอ่านเรื่องที่เน้นเนื้อหาไม่เน้นรูปแบบ ebooks ก็สะดวกไปอีกแบบ

    ขอมอบรางวัลให้ทั้งสองแบบแล้วกัน

  3. ของทุกอย่างที่มันเป็น electronic ถึงอนาคตมันจะมาแทนที่ของที่เป็นกระดาษ แต่มันก็ไม่อาจจะทดแทนได้ทุกอย่าง ยังไง มันก็ต้องใช้อุปกรณฺ์ และอุปกรณ์จำเป็นต้องใช้ไฟอยู่ดี ถ้าอุปกรณ์พังก็อ่านไม่ได้

    ถึงมันจะดี แต่มันก็มีข้อเสียอยู่พอสมควรนะ

  4. ผมมีความคิดเห็นว่า ควรจะให้อยู่คู่กันเป็นทางเลือกแบบ หยิน และ หยาง จะดีมากที่สุด
    เพราะ อย่างน้อย เราก็ไม่เสียอะไรเลย สะดวกใช้หนังสือเราก็ใช้หนังสือ สะดวกใช้คอมพิวเตอร์เราก็ใช้ไฟล์ดิจิตอล ซึ่งถ้าตัดสินจากบรรยากาศ อารมณ์ร่วมในการอ่าน ต้องยอมรับโดยดุษฏีว่า หนังสือชนะขาดแน่นอน แต่เราจะพิจารณาในส่วนของบรรยากาศอย่างเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องพึงเห็นถึงประโยชน์และกาลเทศะความสะดวกของแต่ละคนอีกด้วย

    เช่น บุคคลที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และมีเวลาพอที่จะอ่านหนังสือ รักและชอบการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ตัวหนังสือต้องออกมาจากปลายปากกา ต้องจรดปลายปากกาลงบนกระดาษ ไม่อย่างนั้นจะคิดพ็อตเรื่อง หรือ เขียนเรื่องนั้นๆ ไม่ค่อยดีนัก อย่างนี้ ก็ต้องใช้ประโยชน์จากหนังสือดีกว่าครับ

    ส่วนบุคคลที่ข้องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา เช่น เด็กวัยรุ่นสมัยนี้เป็นต้น เมื่อไฟล์หนังสือดิจิตอลเข้ามาทำให้ วัยรุ่นสมัยใหม่นี้ สนใจ และตื่นตัวกันมากขึ้น มีการพกนิยาย ในรูปแบบดิจิตอล หนังสือเรียนที่สแกนในรูปแบบดิจิตอลไปเข้าแลคเชอร์ พร้อมทั้ง จดโน๊ตลงบนแล๊บท๊อป หรือ ไอแพ่ด ซึ่งสะดวกสบายและเหมาะสมกับกาลเทศะของยุคปัจจุบัน เมื่อต้องการข้อมูลเป็นกระดาษ หรือจัดพิมพ์เป็นหนังสือก็สามารถพิมพ์ลงบนกระดาษได้เลยทันทีที่มีอุปกรณ์พร้อม

    นี่ก็คือสิ่งที่ เราปฏิเสธไม่ได้ รัฐบาลก็รณรงค์ส่งเสริมในเรื่องของ หนังสืออิเลคทรอนิกส์ ด้วย เนื่องจากประหยัดงบประมาณของชาติ แล้ว ยังเป็นการรณรงค์รักษ์โลกร้อน ไม่ทำลายป่า จัดพิมพ์เอกสาร หรือ หนังสือเท่าที่จำเป็น ไม่ได้พิมพ์แจกเอาหน้าเอาตาเหมือนดั่งแต่ก่อนอีกแล้ว แม้แต่หนังสือบันทึกข้อความ หรือ หนังสือออก ปัจจุบันบางหน่วยงานได้ทำเอกสารเป็นไฟล์ดิจิตอล ส่งถึงกันทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกิดความคล่องตัวในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง

    และ วัยรุ่นสมัยนี้ ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ เพราะติดคอมพิวเตอร์ (เป็นเรื่องจริง) ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาในชีวิตประจำวัน จนคอมพิวเตอร์แทบจะกลายเป็น ปัจจัยที่ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ หรือ เลขอะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลจึงได้ สนับสนุนเรื่องหนังสืออิเลคทรอนิกส์มากขึ้น ห้องสมุดหลายๆ แห่งเริ่มตื่นตัว เริ่มจัดทำ เริ่มแจกจ่าย ทางเอกชนก็ได้จัดทำจำหน่ายทางอินเตอร์เนตในราคาที่ถูกกว่าการพิมพ์หนังสือ เด็กๆ วัยรุ่นสมัยใหม่ จึงได้หันมานิยมกันมากขึ้น

    แต่อย่างไรก็ดี ผมถึงจะเป็นเด็กวัยรุ่น(ไหน) ผมก็ยังนิยมชมชอบหนังสือ กลิ่นของหนังสือ ราของหนังสือ บรรยากาศกลิ่นของห้องสมุด เป็นอย่างมาก ผมไม่ใช่หนอนหนังสือนิยายแว่นตาหนาเตอะ แต่ผมเป็นหนอนหนังสือประเภทค้นคว้าหาข้อมูลวิเคราะห์รายละเอียด จึงทำให้ผมชอบค้นหาจากหนังสือมากที่สุด ให้ความรู้สึกสบายตา และรู้สึกถึงข้อมูลที่ผ่านระบบประสาทสายตาเข้าสู่เซลล์สมองอย่างมีคุณค่า ต่างกับเวลาที่ผม อ่านหนังสือจากไฟล์ดิจิตอล ผมจะมีอาการวิงเวียนทันที เวียนหัว พยายามอ่านให้เร็วที่สุด แสบตา และง่วงนอน ทำให้ข้อมูลที่ได้บางครั้ง ไม่ชัดเจน ไตร่ตรองยากสักนิด ทำได้เร็วจริง รวดเร็วจริง แต่จะไม่สมบูรณ์เท่า เขียนด้วยปากกาลงบนกระดาษ และหาข้อมูลจากหนังสือ

    *************************************

    ความเข้าใจของผม เกี่ยวกับอีบุ๊ค ที่คลุกคลีในวงการพิมพ์มาตั้งแต่เด็ก

    เมื่อเราเลือกพิมพ์หนังสือสักเล่มหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ แน่นอน ลักษณะการพิมพ์คงไม่ใช่การเรียงพิมพ์เครื่องตีธง เครื่องปั้มแท่นกริ๊ก เครื่องพิมพ์หิน โม่หมึกกันกล้ามขึ้น เหมือนสมัยก่อนๆ

    สมัยปัจจุบันต้องใช้รูปแบบลักษณะการเรียงพิมพ์แบบดิจิตอล เพื่อปริ้นฟิล์มที่ขณะนี้ก้าวหน้าไปมาก ไม่ต้องไปนั่งถ่ายฟิล์มเนกาทีฟ โฟซิทีฟ อีกต่อไปแล้ว เพียงแค่ปลายนิ้ว ก็พร้อมทำสำเร็จ เรียกว่า กึ่งสำเร็จรูป ก็น่าจะได้ พร้อมส่งยิงเพลท เข้าเครื่องพิมพ์ offset พิมพ์หนังสือออกมาได้เลย

    สิ่งที่มันเสร็จไปแล้ว ก็คือหนังสือ ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในฝ่ายบินดิ้งจัดทำส่วนที่เหลือเรียบร้อย ที่เหลือ ก็คือ ไฟล์ต้นฉบับ กับเพลทสำหรับพิมพ์ และแน่นอน เจ้าของงานพิมพ์คงต้องการไฟล์พวกนี้แหละครับไปเก็บไว้ซึ่งโรงพิมพ์ก็จะไม่หวงห้ามแน่นอน เพราะเป็นงานของเขาที่จ้างพิมพ์

    นี่แหละครับ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียดาย พิมพ์แทบตาย ไหน ๆ เจ้าของเขาก็ไม่เอาแล้ว (เฉพาะที่เป็นเรื่องสาธารณะ) รวมถึงประหยัดงบประมาณการพิมพ์ไปหลายอยู่ ปัจจุบัน ยอดพิมพ์หนังสือ ก็ยังไม่ได้แตกต่างจากเมื่อหลายสิบปีมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าน้อยลงไปอยู่บ้าง

    เมื่อไฟล์ดิจิตอลเข้ามาเสริม ในวงการหนังสือ แรกๆ ก็อาจจะแปลกๆตากันไปบ้าง แต่คงต้องยอมรับว่า ไม่ใช่กระแสอย่างแน่นอน เพราะเมื่อคิดในมุมกลับ ถ้าคนสมัยก่อนเป็นเราขณะนี้ เขาก็คงจะว่าดี ที่มี และมองมุมสะท้อนในอนาคต ลูกหลานของเรา อาจจะถือ เครื่องมือประเภท ไอแพ่ด เดินอ่านนิยาย หรือ หนังสือเรียน กันแทบจะทุกคนก็เป็นได้ … จบห้วนๆ นี่แหละครับ ไม่รู้จะเขียนอะไรต่อ

    ขอบคุณครับ
    ปล. ผมมาพิมพ์ทีไรยาวทุกทีเลย ถ้ามันไม่ดี รบกวนพี่แจ้งผมบ้างนะครับ ผมกลัวจะโดนว่าเหมือนกัน (ยิ้ม)

  5. ไม่หรอกครับ ผมยินดีมากๆ เลยที่มีคนแสดงความคิดเห็นยาวๆ แบบนี้ ว่าแต่จะทาบทามมาเขียนบล็อกร่วมกับผมเลยดีมั้ยครับ เห็นเรื่องที่แสดงความคิดเห็นมายาวๆ แบบนี้เอาลงเป็นเรื่องบนบล็อกเลยน่าจะดี สนใจมั้ยครับ ถ้าสนใจยังไงก็แอด MSN ผมหรือส่งเมล์มาคุยกันได้ครับ dcy_4430323@hotmail.com

  6. ผมว่า ebook. ชนะหนังสือในอีกเรื่องคือ พกพาสะดวกครับ สมมติจะให้แบกtextเล่มหนาๆไปอ่านนอกบ้านก็ไม่ไหวอะครับ แต่ใส่ในipad หลายๆเล่มนี่ยังชิวๆ

  7. ดีใจจังค่ะที่มีเรื่องราวของบรรณารักษ์จากบรรณารักษ์มาให้อ่าน สมัยเรียนจะดีใจมากเวลาที่มีบรรณารักษ์ที่บอกได้เลยว่าหนังสืออยู่ตรงไหน แม้บางคนจะ… ที่บ้านหนังสือเยอะค่ะ จนเอาออกมาทำเว็บขายด้วย บริจาคด้วย คิดว่าที่นี่น่าจะเป็นแหล่งความรู้เรื่องหนังสือ การเก็บรักษาและซ่อมแซมด้วย แม้การอ่านหน้าจอจะปวดตาแต่ก็จะแวะมาอ่านบ่อยๆค่ะ

  8. อาจารย์ให้มาหาคำตอบ ความเเตกต่างระหว่าง อีบุ้ค กับหนังสือ จิงต้องตอบว่าไรดีงง

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*