คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

ไม่ได้อัพเดทบล็อกตัวเองนานมากๆ เพราะมีอะไรหลายๆ เรื่องเข้ามารบกวน
วันนี้ได้โอกาสเข้ามาอัพเดทเลยอยากเขียนถึงจุดกำเนิดของบล็อกเครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

ปล. บทความนี้เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ในวารสาร “โดมทัศน์” ของธรรมศาสตร์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 2
ชื่อบทความว่า “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์ Projectlib – Libraryhub

เอาเป็นว่าใครหาอ่านจากตัวเล่มไม่ได้ก็อ่านได้บนบล็อกผมเลย ด้านล่างนี้เลยครับ

“คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์ Projectlib – Libraryhub”

มีคนเคยบอกผมว่า ?หากเราไม่เริ่มที่จะทำอะไรสักอย่าง สิ่งๆ นั้นก็จะไม่มีทางเกิด….? เมื่อผมได้ฟังประโยคนี้แล้ว ผมได้หันกลับมามองย้อนการทำงานของตัวเอง ในช่วงนั้นผมเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ห้องสมุดตำแหน่งเล็กๆ ในห้องสมุดแห่งหนึ่ง ผมถามตัวเองว่า ?ทำไมวงการบรรณารักษ์ถึงไม่มีศูนย์กลางของข่าวสารด้านวงการห้องสมุดเลย หรือ ทำไมถึงหาบทความอ่านเกี่ยวกับเรื่องบรรณารักษ์ยากจัง? เมื่อคิดแล้วในสมองของผมมันก็ตอบกลับมาว่า ?จริงๆ เราน่าจะมีเว็บไซต์เพื่อวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์บ้างนะ? นี่คือความคิดเล็กๆ ในวันนั้นที่ทำให้มีเว็บไซต์ชุมชนบรรณารักษ์ออนไลน์ในวันนี้

เริ่มคิด…เริ่มค้นหา…

ใครๆ ก็คิดว่าอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ปัญหาหนึ่งที่หลายๆ คนเจอ คือ ไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมและไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบเว็บไซต์ ผมเองก็ประสบปัญหาเดียวกันครับ เมื่อตั้งโจทย์ขึ้นว่าอยากมีเว็บไซต์แต่ทำเว็บไซต์ไม่เป็น ที่พึ่งหนึ่งของผมก็คือห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต การค้นหาข้อมูลเรื่องการสร้างเว็บไซต์เริ่มต้นขึ้นผ่านไปหนึ่งเดือนหนังสือหลายเล่มที่อ่านจบไปก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย การเข้าไปดูเว็บไซต์อื่นๆ ก็เป็นเพียงแค่รูปแบบที่ทำให้ผมจินตนาการเว็บไซต์ส่วนตัวให้ดูอลังการมากมายแต่ทำไม่ได้จริง เมื่อใกล้พบกับความสิ้นหวังก็มีแสงสว่างหนึ่งปรากฎขึ้นมา ผมได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งในเว็บไซต์และรู้ว่าเขาสามารถทำเว็บไซต์ได้จึงขอคำปรึกษา ซึ่งเขาให้คำแนะนำมากมาย รวมถึงแนะนำคำว่า ?บล็อก (Blog)? ให้ผมรู้จัก

ช่วงนั้นมีบล็อกมากมายที่ให้บริการฟรีบนเว็บไซต์ เช่น Gotoknow, Exteen, OKnation, Blogspot, WordPress ฯลฯ ผมจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปเล่นและใช้งานบล็อกหลายๆ ที่ และสิ่งที่ทำให้ผมรู้ คือ การเขียนบล็อกมันง่ายจริงๆ แทบจะไม่ต้องเข้าใจเรื่องการเขียนโปรแกรมเว็บไซต์เลยก็ว่าได้ จากบล็อกต่างๆ เหล่านั้น ผมจึงเลือกWordpress เพื่อใช้เป็นบล็อกหลักของผม

ชื่อบล็อกสำคัญไฉน

เพื่อให้ทุกคนรู้จักบล็อกของเรา สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือ ชื่อบล็อก การตั้งชื่อบล็อกมีแนวทางในการเลือกชื่อบล็อกมากมาย เช่น เอาชื่อหน่วยงานตัวเอง เอาชื่อจริงของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการเอาชื่อนามปากกาของตัวเองมาใช้ ซึ่งสำหรับผมแล้วการใช้ชื่อ Projectlib ดูเหมือนว่าจะเป็นชื่อที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เนื่องจากบล็อกของผมไม่ได้สังกัดใครดังนั้นจึงไม่มีชื่อหน่วยงาน และการเอาชื่อจริงมาใช้ก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมีคนนำชื่อจริงผมไปจดทะเบียนโดเมนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากจุดประสงค์และการสื่อสาร ผมจึงเลือก Projectlib มาใช้ด้วยความหมายว่า Project หมายถึง โครงการ และ Lib มาจาก Library ซึ่งหมายถึงห้องสมุด เมื่อนำมารวมกันเป็น Projectlib นั่นหมายถึงโครงการสำหรับห้องสมุดนั่นเอง

หัวใจของการสร้างชุมชนแห่งนี้

เมื่อได้พื้นที่ในการเขียนและได้ชื่อบล็อกในการสื่อสาร สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คืออุดมการณ์ในการเขียนบล็อก ซึ่งเรื่องนี้ผมเขียนในบล็อกของผมเองหลายครั้งแล้ว และก็ขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกครั้ง เพราะนี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำบล็อก Projectlib และ Libraryhub 10 ข้อนี้เป็น 10 ข้อจากใจผม ซึ่งมีดังนี้

1. วงการบรรณารักษ์และห้องสมุดในประเทศไทยต้องพัฒนาและปรับปรุงตนเองมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้
2. ห้องสมุดถือเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ของคนในสังคม
3. การนำสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวมาประยุกต์ใช้การทำงาน เช่น การนำ MSN มาใช้เพื่อตอบคำถามออนไลน์ ฯลฯ
4. การอ่านมากๆ ทำให้สมองของเราแข็งแรง พัฒนาความรู้ และต่อยอดได้เยอะขึ้น
5. ลบภาพบรรณารักษ์ยุคเก่า และสร้างภาพลักษณ์บรรณารักษ์ยุคใหม่
6. งานด้านบรรณารักษ์ และห้องสมุดสามารถนำไปต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ด้วย
7. อยากบอกว่าข่าววงการบรรณารักษ์ทั่วโลกมีมากมาย แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยมีใครนำเสนอเลย
8. งานห้องสมุดมีมากกว่าแค่นั่งเฝ้าหนังสือ
9. ห้องสมุดก็มีเรื่องสนุกๆ มากมาย ไม่ได้น่าเบื่อเหมือนที่หลายๆ คนคิดนะครับ
10. สำคัญที่สุดแล้วคือ ผมรักวิชาชีพนี้มาก และเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก

เขียนบล็อกไม่ใช่เรื่องยาก

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการเขียน ชื่อบล็อกและอุดมการณ์ของบล็อก เรื่องยากที่หลายๆ คนชอบพูดถึงก็คือ ?แล้วจะเขียนเรื่องอะไรลงในบล็อก? คำแนะนำต่อจากนี้ก็มาจากเพื่อนผมอีกเช่นกัน เพื่อนผมบอกว่า ?ให้เราคิดว่าบล็อกก็เหมือนไดอารี่เล่มหนึ่งของเรา เราอยากเขียนอะไรลงไปก็เขียนได้ จะเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันก็ได้ เอารูปมาลงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นทางการมากก็ได้? เพียงแค่นี้แหละครับทำให้ความคิดผมมองการเขียนบล็อกว่าง่าย ผมจับเอาเรื่องการทำงานในแต่ละวัน ข่าวสาร และความคิดเห็นของผมใส่ลงไปในบล็อกทุกวัน วันแรกๆ อาจจะเขียนแค่สามสี่บรรทัด พอผ่านไปสักเดือนผมก็สามารถเขียนได้มากขึ้นเรื่อยๆ เอง

ตัวอย่างแนวทางในการเขียนเรื่องในบล็อก Projectlib และ Libraryhub

– นำบทความจากบล็อกบรรณารักษ์ ห้องสมุดต่างประเทศมาแปล
– ประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานเสวนา สัมมนา ที่เกี่ยวกับวงการบรรณารักษ์ ห้องสมุด หรืองานอื่นๆ ที่น่าติดตาม
– แนะนำห้องสมุดที่ผมไปเยี่ยมชมด้วยการถ่ายรูปและเล่าเรื่องราวห้องสมุด
– ตำแหน่งงานห้องสมุดก็สามารถนำมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้
– เทคโนโลยีที่ห้องสมุดและบรรณารักษ์ควรติดตาม
– คลิปวีดีโอจาก Youtube ที่พูดถึงวงการห้องสมุด
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นนะครับ อย่างที่บอกคือเราสามารถเขียนได้ทุกเรื่อง ขอแค่เราฝึกและเขียนบ่อยๆ เราก็จะชินไปเอง

เครื่องมือฟรีๆ บนโลกออนไลน์ที่ช่วยให้คนรู้จักเครือข่ายของเรา

เมื่อเรามีบล็อกส่วนตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำให้มันเกิดคือการให้คนอื่นได้เข้ามาอ่าน และเข้ามาแสดงความคิดเห็น ยิ่งเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะถือว่าเราได้ฝึกฝีมือเราไปเรื่อยๆ ซึ่งเครื่องมือฟรีๆ ที่ผมนำมาใช้สร้างเครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์ ได้แก่

– จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) มีไว้สำหรับการอัพเดทข่าวสารความเคลื่อนไหวของบล็อกให้เพื่อนๆ ติดตาม
– MSN / Gtalk มีไว้สำหรับสนทนาออนไลน์ และตอบคำถามออนไลน์กับเพื่อนๆ สมาชิก
– Skype มีไว้สนทนาออนไลน์และประชุมงานออนไลน์ (คุยเป็นกลุ่มเครื่องมือนี้ขอแนะนำ)
– Hi5 ? Librarian in Thailand มีไว้รวบรวมกลุ่มบรรณารักษ์ที่เล่น hi5
– Facebook มีไว้พูดคุย ตอบคำถาม ประชาสัมพันธ์เรื่องราวของบล็อก (กระแสกำลังมาแรง)
– Twitter มีไว้กระจายข่าวสารให้เพื่อนๆ นอกวิชาชีพได้เข้าใจถึงงานห้องสมุดและบรรณารักษ์
– Slideshare มีไว้เผยแพร่สไลด์ไฟล์นำเสนอในงานเสวนาต่างๆ ซึ่งเป็นสไลด์ที่ผมทำเอง

นี่ก็เป็นเพียงเครื่องมือฟรีๆ ส่วนหนึ่งที่ผมใช้อยู่ และเครื่องมืออีกส่วนที่ไม่ได้กล่าวจริงๆ ก็ยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งหากเพื่อนๆ มีเวลาก็ลองเข้าไปอ่านในบล็อกของผมต่อได้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้นบล็อกหรือเว็บไซต์ของห้องสมุดก็ควรจะตามให้ทันด้วย

การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จาก Projectlib สู่บ้านใหม่ Libraryhub

หลังจากที่ดำเนินการสร้างเครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์ได้ระยะหนึ่ง บล็อก Projectlib ที่อาศัยของฟรีอย่างเดียวก็มีความต้องการที่จะสร้างและพัฒนาเครือข่ายให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงมีการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนชื่อ การย้ายพื้นที่ของบล็อก ซึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องมีการลงทุน (เสียค่าใช้จ่าย) โดยหลังจากที่ปรึกษาพี่ๆ ในวงการเว็บไซต์หลายคน ผมจึงได้ข้อสรุปในการลงทุนครั้งนี้

จะสังเกตได้ว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย 1 ปีเพียงแค่ 700 บาทซึ่ง คิดเฉลี่ยแล้ววันละไม่ถึง 2 บาท เป็นการลงทุนที่ไม่มากเกินไปหรอกครับ เทียบกับผลที่ได้แล้วมันคุ้มกว่ามาก ได้ความเป็นส่วนตัวของบล็อก แถมยังเพิ่มลูกเล่นให้บล็อกเราได้อีกมากมาย

กิจกกรมจากโลกออกไลน์สู่โลกแห่งความเป็นจริง

นอกจากกิจกรรมออนไลน์แล้ว ผมให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมบนโลกแห่งความเป็นจริงด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น

– งาน Libcamp คืองานสัมมนาแบบไม่เป็นทางการของกลุ่มเครือข่ายบรรณารักษ์รุ่นใหม่ ซึ่งปีที่แล้วจัดไป 3 ครั้ง งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายๆ องค์กร ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แถมยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบรรณารักษ์รุ่นใหม่ด้วย
– งานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งมีหลายองค์กรชวนผมไปช่วยจัด ก็ได้รับความสนใจจากคนในองค์กรต่างๆ เข้าร่วมอย่างดี
– ตัวกลางในการรับบริจาคหนังสือให้ห้องสมุดที่ยังขาดแคลนหนังสือ

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ ผมให้ความสำคัญทั้งกิจกรรมออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้ละเลยกิจกรรมในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย

อนาคตและทิศทางของเครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

ทิศทางของเครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์ในอนาคต การเพิ่มบทบาทของเครือข่ายต่อวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดจะมีเพิ่มขึ้น โดยอาจจะทำความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาวงการห้องสมุด เช่น สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย หอสมุดแห่งชาติ หรือองค์กรอื่นๆ ซึ่งการสร้างเครือข่ายและร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นสิ่งที่วิชาชีพกำลังต้องการในตอนนี้ นอกจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแล้ว กิจกรรมสู่ภูมิภาคจะมีมากขึ้นด้วยเนื่องจากสมาชิกของบล็อก Projectlib และ Libraryhub ซึ่งมีกระจายตัวอยู่หลายจังหวัด และช่วงนี้มีแผนที่จะเขียนหนังสือสำหรับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ด้วย ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีหนังสือออกมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

บทสรุปแห่งความสำเร็จ

ความสำเร็วของบล็อก Projectlib และ Libraryhub ผมคงไม่วัดด้วยการบอกว่ามีจำนวนเรื่องที่เขียนและสมาชิกมากเท่าไหร่ แต่ความสำเร็จที่ผมได้จากการเขียนและสร้างชุมชนแห่งนี้คือ การที่วงการบรรณารักษ์และห้องสมุดตื่นตัวกันเรื่องการพัฒนามากกว่า จากสามปีที่แล้วที่ผมเปิดบล็อกในช่วงนั้นผมแทบจะหาคนที่เขียนเรื่องห้องสมุดไม่ได้ จนวันนี้ห้องสมุดหลายๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเว็บไซต์และบล็อก เพียงเท่านี้แหละครับผมก็พอใจมากแล้ว

บทความที่จะทำให้รู้จักผมเพิ่มเติม

เจ้าของบล็อก projectlib.wordpress.com – http://www.librarianmagazine.com/VOL1NO7/projectlib.html
Projectlib – Librarian 2.0 – http://tag.in.th/interview?show=projectlib
มาทำความรู้จักกับเจ้าของ Libraryhub – http://www.libraryhub.in.th/my-portfolio/

เอาเป็นว่าหากอ่านบนบล็อกแล้วรู้สึกว่ามันยาวเกินไป ผมก็อนุญาติที่จะให้เพื่อนๆ ดาวน์โหลดแล้ว print ไปอ่านครับ
โหลดได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/wp-content/uploads/2011/04/Projectlib-Libraryhub.pdf

เอาเป็นว่าก็หวังว่าจะเป็นการกลับมาอีกครั้งที่เพื่อนๆ จะให้การต้อนรับผมนะ

About libraryhub 884 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

2 Comments

  1. แต่ที่ ที่ผมยินอยู่ อาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของการเขียนบล๊อคนะครับ ^^ แต่วันนึง ผมว่าหวังว่าเขาจะสนใจมัน ก่อนเขาจะดูล้าหลังจนเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*