10 ข้อปฏิบัติที่จะทำให้คุณกลายเป็นบรรณารักษ์คนใหม่

ภาพเดิมๆ ของบรรณารักษืในสายตาผู้ใช้บริการ คือ “บรรณารักษ์เป็นเพียงแค่คนเฝ้าหนังสือในห้องสมุด”
การจะเปลี่ยนภาพลักษณ์หรือค่านิยมเหล่านี้ได้ มันก็ต้องขึ้นอยู่กับเราว่า “จะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองมั้ย”


คำถามที่ตามมา “อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วต้องทำอย่างไรหล่ะ”
บทความนี้ผมนำมาจากบทความที่อาจารย์ Michael Stephens ใช้สอนนักศึกษาของเขา
ชื่อเรื่องตามต้นฉบับ คือ “Ten Rules for the New Librarians

บทความนี้เขียนตั้งแต่ปี 2006 นี่ก็ผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่ผมว่ามันก็ยังพอใช้ได้นะ
เอาเป็นว่าผมจะขอแปลเรื่องนี้แล้วกัน โดยใช้ชื่อว่า “10 ข้อปฏิบัติที่จะทำให้คุณกลายเป็นบรรณารักษ์คนใหม่”

ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นบรรณารักษ์คนใหม่ได้ มีดังนี้

1. Ask questions (ตั้งคำถาม)
– ในขณะที่ถูกสัมภาษณ์งานบรรณารักษ์ พยายามอย่าให้คนสัมภาษณ์งานถามเราเพียงฝ่ายเดียว เราควรจะต้องถามและพยายามเรียนรู้เรื่องห้องสมุดนั้นๆ ด้วย เช่น ถามคำถามกลับไปว่าตอนนี้ห้องสมุดมีโครงการไอทีหรือปล่าว และมีแผนนโยบายของห้องสมุดเป็นอย่างไร

2. Pay attention (เอาใจใส่)
– เวลาสัมภาษณ์งานบรรณารักษ์ ก็ขอให้มีความเอาใจใส่และสนใจกับคำถาม ที่คนสัมภาษณ์ถามด้วย ไม่ใช่ยิงคำถามอย่างเดียว ในการเอาใจใส่นี้อาจจะแทรกความคิดเห็นของเราลงไปในคำถามด้วย

3. Read far and wide (อ่านให้เยอะและอ่านให้กว้าง)

– แน่นอนครับ บรรณารักษ์เราต้องรู้จักศาสตร์ต่างๆ รอบตัวให้ได้มากที่สุด ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มากโดยเฉพาะข่าวสารในแวดวงบรรณารักษ์

4. Understand copyright (เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์)
– เรื่องลิขสิทธิ์ดูอาจจะเป็นเรื่องของกฎหมายซึ่งหลายๆ คนมองว่าไกลตัว แต่จริงๆ แล้วผมก็อยากบอกว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับห้องสมุดโดยตรงในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ในห้องสมุด รวมถึงสื่อออนไลน์ของห้องสมุดด้วย

5. Use the 2.0 tools (ใช้เครื่องมือ 2.0)
– ตรงๆ เลย ก็คือ ต้องรู้จักและนำเอา web 2.0 มาประยุกต์ใช้กับการให้บริการในห้องสมุด หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง library 2.0 ก็ว่างั้นแหละ

6. Work and Play (ทำงานอย่างมีความสุข)
– บรรณารักษ์ยุคใหม่อย่างน้อยต้องรู้จักการประยุกต์การทำงานให้ ผู้ทำงานด้วยรู้สึกสนุกสนานกับงานไปด้วย เช่น อาจจะมีการแข่งขันในการให้บริการกัน หรือประกวดการให้บริการกันภายในห้องสมุดก็ได้

7. Manage yourself (จัดการชีวิตตัวเอง)
– บางคนอาจจะบอกว่าทำไมบรรณารักษ์ต้องทำโน้นทำนี่ “ฉันไม่มีเวลาหรอก” จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าไม่มีเวลาหรอกครับ แต่เพราะว่าเขาไม่จัดการระเบียบชีวิตของตัวเอง ดังนั้นพอมีงานจุกจิกมาก็มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ดังนั้นบรรณารักษ์ยุคใหม่นอกจากต้องจัดการห้องสมุดแล้ว การจัดการตัวเองก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

8. Avoid technolust (ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี)

– ห้ามอ้างว่าไม่รู้จักเทคโนโลยีโน้น หรือเทคโนโลยีนี้ บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องหัดและทดลองใช้เทคโนโลยีเบื้องต้นให้ได้

9. Listen to the reasoned librarians (รับฟังความคิดเห็นของบรรณารักษ์ด้วยกัน)
– อย่างน้อยการรับฟังแบบง่ายๆ ก็คือ คุยกับเพื่อนร่วมงานดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ในการบริการ บรรณารักษ์ต้องช่วยเหลือกัน อย่างต่อมานั่นก็คือ การอ่านบล็อกของบรรณารักษ์ด้วยกันบ้าง บางทีไม่ต้องเชื่อทั้งหมด แต่ขอให้ได้ฟังความคิดเห็นกันบ้าง

10. Remember the Big Picture (มองภาพรวมให้ได้)

– การมองภาพรวมของการทำงานในห้องสมุดจะทำให้เราเข้าใจว่างานต่างๆ ในห้องสมุดล้วนแล้วแต่มีความสอดคล้องกัน การทำงานจึงต้องอาศัยความเชื่อมโยง หากไม่เห็นภาพรวมของห้องสมุดเราก็จะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ คิดว่า 10 ข้อปฏิบัติเหล่านี้ยากเกินไปหรือปล่าว “แล้วจะทำได้มั้ย”
ไม่ต้องกลัวครับผมไม่ได้คาดหวังว่าเพื่อนๆ จะต้องทำตามเป๊ะๆ แต่นำเสนอมุมมองมากกว่า
สำหรับผมก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามทั้งหมด บางข้ออาจจะทำได้ไม่เต็มที่แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำมัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *