LibCampUbon#2 : นำเสนอสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ

หัวข้อที่สองของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
โดย อาจารย์ ดร. กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

เมื่อเราได้สารสนเทศท้องถิ่นมาแล้ว เราก็ต้องรู้จักการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ
อาจารย์จึงได้นำเสนอกรณีศึกษาของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

เริ่มต้นจากการแนะนำตัวเองเช่นกัน และเล่าที่มาก่อนที่จะมาได้รับตำแหน่ง ผอ. ที่นี่
ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของการสรรหาของ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี (ต้องแสดงวิสัยทัศน์)

งานหลักที่ดูแลอยู่ในตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. งานบริหารด้านวิชาการ
2. งานบริการความรู้สู่ชุมชน

อาจารย์ชอบทำงานอยู่เป็นเบื้องหลัง ซึ่งงานระดับจังหวัดหลายๆ งานก็มักจะเข้ามาขอความร่วมมือจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
ตัวอย่างงานระดับจังหวัด เช่น งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นต้น

ข้อคิดของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ “พยายามอย่าทำให้ตัวเองให้ popular เพราะคนอื่นจะจับตามองรวมถึงจับผิดด้วย
ถ้าอยากจัดงานในพื้นที่แล้วไม่มีอุปสรรคมาขวาง วิธีง่ายๆ คือ “ลายเซ้นต์ของผู้ว่าฯ

กรณีศึกษาเรื่อง งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)
ก่อนปี 2537 คนอุบลฯ ยังไม่ค่อยรู้จัก “เจ้าคำผง” เลย วิธีการที่ใช้เพื่อให้คนรู้จัก คือ จัดพิมพ์หนังสือแจกปีละ 3,000 เล่ม ต่อเนื่อง 5 ปี (ทำไมต้องจัดพิมพ์หนังสือ เพราะหนังสือสามารถจัดเก็บได้นานกว่าสื่อชนิดอื่นๆ) ภายในงานพิธีบวงสรวงจะไม่มีการขายของ (ไม่มีการออกร้านขายของ) เพราะไม่อยากทำลายบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ ในงานอนุญาตให้คนนำหมากพลูมาถวาย …..

ความสำเร็จของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม (ศูนย์ศิลป์) มาจากการพัฒนาของ ผอ. ตั้งแต่สมัยอดีต แม้ว่า ผอ. จะถูกเปลี่ยนไปหลายคนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ นโยบายของการบริหารที่มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทำให้ไม่ขาดตอน

ข้อมูลทั่วไปของหออุบลนิทัศน์
เริ่มต้นสร้างในวันที่ 17 กันยายน 2540 และเสร็จในวันที่ 9 เมษายน 2542 ใช้งบประมาณในการสร้าง 94 ล้าน

เมื่อได้อาคารมาแล้ว โจทย์ที่ยากก็ตามมาคือ “จะเริ่มต้นจัดแสดงกันอย่างไร”
ทำไมถึงยาก : เพราะเริ่มต้นที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีวัตถุโบราณแสดง และข้อมูลกว้างมาก

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายสาขาจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานเพื่อการค้นคว้าข้อมูล (แต่ละคณะถูกมอบหมายให้ค้นหาข้อมูลต่างกัน)

เคล็ดลับและแง่คิดก่อนที่จะเริ่มต้นค้นคว้า
– หากพูดถึงประวัติศาสตร์ ทุกคนจะรู้ว่ามันมีเรื่องที่มากมายในนั้น แต่สิ่งที่หออุบลนิทัศน์เน้น คือ เหตุการณ์ที่สำคัญในแต่ละยุคเท่านั้น ไม่ได้รวบรวมข้อมูลมาทั้งหมด
– แบ่งข้อมูลตามยุคสมัย เช่น ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ผาแต้ม), ยุคปฎิรูปการเมืองใน ร.5, ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯลฯ
– เนื้อหาที่นำมาแสดงต้องกระชับ เข้าใจง่าย และตัวอักษรต้องใหญ่ อ่านง่าย
– การนำเสนอข้อมูลต้องอาศัยภาพประกอบ วัสดุตัวอย่าง รวมไปถึงการสร้างโมเดลประกอบ
– การแบ่งพื้นที่ในหออุบลนิทัศน์แบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 4 ห้องหลัก
– สร้างความมีส่วนร่วมให้คนในชุมชน จัดกิจกรรมบริจาคภาพเก่าๆ ในอดีต
– มีการใช้ไวนิลเพื่อจัดนิทรรศการครั้งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
– การจัดลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ และตามความสำคัญของเนื้อหา


ห้องแสดงนิทรรศการหลัก 4 ห้อง
มีดังนี้
1. ห้องภูมิเมือง – ภูมิศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานี สภาพทางธรณีวิทยา ภาพถ่ายจากดาวเทียม
2. ห้องภูมิราชธานี – ประวัติของเมือง เน้นไฮไลท์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ สมัยก่อตั้งเมือง สถาปนาเมือง ก่อนการปฏิรูปการปกครอง ยุคปฏิรูปการปกครอง ร.5 กรมหลวงพิชิตปรีชากร กรมหลวงสรรพสิทธิ์ เหตุการณ์สำคัญ ขบถผู้มีบุญ
3. ห้องภูมิธรรม – พระธรรมต่างๆ พระอาจารย์หลายๆ คน
4. ห้องภูมิปัญญา – ภูมิปัญญาของชาวอุบล สมุนไพรพื้นบ้าน อาหารและครัวไฟ การแต่งกาย ภาษาและวรรณกรรม ดนตรีและนาฎศิลป์ มุมคนดีศรีอุบล

ข้อมูลเพื่อการติดต่อ
อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
2 ถนนแจ้งสนิท ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
โทรศัพท์ 0 4535 2000-29 ต่อ 1122

ปล. ข้อมูลที่สรุปมาจากการบรรยายและแผ่นพับที่อาจารย์นำมาแจกครับ


ก่อนจบอาจารย์ได้แนะนำเว็บไซต์ของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีhttp://www.aac.ubru.ac.th ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้

LibCampUbon#2 : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน

หัวข้อแรกของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร”
โดยอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพท. อุบลราชธานี เขต 4


อาจารย์เริ่มต้นจากการแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง (อาจารย์เรียนจบช่างกลแต่ถนัดถ่ายภาพ)
และพูดถึงการเริ่มต้นสนใจเรื่องข้อมูลท้องถิ่น มาจาก “ความไม่รู้” ทำให้ “อยากรู้”

อาจารย์ย้ำก่อนที่จะเริ่มบรรยายว่า “อาจารย์ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบรรณารักษ์แต่อาจารย์สนใจเรื่องการรวบรวมข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้กับทุกคนได้อ่าน” ซึ่งอาจารย์ให้แง่คิดว่า “สื่อทุกอย่างน่าจะถึงมือประชาชน

อาจารย์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานโครงการใหญ่ๆ 2 โครงการ คือ
1. การทำหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี
2. โครงการฮักแพง … แปงอุบล (ความผูกพัน….การเปลี่ยนแปลงในจังหวัดอุบลราชธานี) ปี 2546-2549

สารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน => เสียง ภาพ เรื่องเล่า …… เน้นที่ตัวคน
ข้อมูลได้ถูกรวบรวมมาจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเน้นไปที่ข้อมูลที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภาพเก่าที่เก็บรักษา…..


อาจารย์ปัญญาเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่ที่สุดให้ฟัง คือ….
ข้อมูลสูญหาย (ข้อมูลที่อาจารย์รวบรวมเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หายหมดเลย เนื่องจากคอมพิวเตอร์เสีย)
แง่คิดที่อาจารย์ฝากไว้ คือ “การเก็บข้อมูลดีที่สุดคือเขียน บันทึกเป็นภาพถ่าย อย่าหวังเรื่องดิจิตอลมาก

ข้อมูลที่จัดเก็บได้ยาวนานที่สุด คือ การบันทึกข้อมูลด้วยการเขียน
บันทึกในสมัยโบราณ เช่น การบันทึกข้อมูลลงในใบลาน….

ตัวอย่างภาพเก่าที่อาจารย์ปัญญานำมาให้พวกเราได้ดูกัน

ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส
ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส

ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สารสนเทศท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์
ในจังหวัดอุบลราชธานีมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ และพิพธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

เร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว “เว็บไซต์ร้อยเรื่องเมืองอุบล” ต้องรอติดตามกันต่อไปนะครับ

โครงการฮูปเก่า เว้าอุบล เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกต่อยอดมาจากโครงการฮักแพง … แปงอุบล
เป็นโครงการที่รวบรวมรูปภาพเก่าที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เพียงแค่รูปภาพเราก็จะเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และความรุ่งเรืองของอดีต

วิธีง่ายๆ ในการจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (ขั้นตอนการรวบรวม)
1. ขอแค่เราถ่ายภาพให้เป็นก็เพียงพอแล้ว ถ่ายภาพสิ่งของใกล้ตัว เช่น อาคารที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง ถ่ายวันนี้ก็จะเป็นอดีตของวันหน้า
2. บันทึกเสียงเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญหรือเอกสารที่เราเขียนถึง

ตัวอย่างเรื่องราวที่น่าเก็บ เช่น ภาพถ่ายของการปล่อยนกปล่อยปลาในวัด วันนี้ปล่อยนกคู่ละ 60 บาท อีก 10 ปีถ้าเรามาถ่าย ณ จุดเดิมนี้ เราอาจจะเห็นราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันภาพถ่ายราคาอาหารในร้านๆ หนึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้คงไม่ใช่ราคาเดียวกันแน่ๆ สารสนเทศท้องถิ่นในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่และเวลาด้วย

ข้อคิดสำหรับบรรณารักษ์ในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นที่อาจารย์ฝากไว้ คือ
“บรรณารักษ์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ต้องรู้เรื่องทุกเหตุการณ์ในอดีตก็ได้ แต่ขอให้รู้ถึงความเป็นมาของท้องถิ่นก็เพียงพอแล้ว”

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของหัวข้อแรกในงาน libcampubon#2 นะครับ
วิทยากรท่านอื่นๆ ก็บรรยายได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ติดตามอ่านกันต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ครับ

ปล. ในการบรรยายของอาจารย์ปัญญาอาจพูดประเด็นสลับไปมา ผมขออนุญาติเรียบเรียงและยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

รวมภาพการจัดงานเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ Libcampubon#2

ผ่านไปแล้วสำหรับงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
ก่อนที่จะไปอ่านบทสรุปของวิทยากรแต่ละคน ผมก็ขอประมวลภาพทั้งหมดมาให้ชมก่อนนะครับ
โดยภาพที่รวมนี้ตั้งแต่เริ่มจัดสถานที่จนถึงการถ่ายภาพรวมของผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคน


สถานที่ในการจัดงานของเราก็คือ บริเวณโถงกลางชั้น 1 ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
(แบบว่า open air มากๆ ซึ่งไม่ว่าจะนั่งส่วนไหนของห้องสมุดก็จะได้ยินการเสวนาแน่นอน)

ก่อนเริ่มงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งหมด 45 คน ซึ่งเป็นอาจารย์ภาคบรรณฯ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ และผู้ที่สนใจทั่วไป

เมื่อถึงเวลาเริ่มงาน…ก็ต้องมีการเกริ่นที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้เล็กๆน้อยๆ โดยผมเอง

เริ่มหัวข้อแรกด้วยเรื่อง สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร โดย อาจารย์ปัญญา


ต่อด้วยหัวข้อที่สองเรื่อง นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ โดย อาจารย์กิติรัตน์


หัวข้อที่สามเรื่อง การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ โดยอาจารย์ชำนาญ


หัวข้อที่สี่และหัวข้อที่ห้ารวมกัน เรื่องการเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร และกรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย โดยอาจารย์วิมานพร และผมเองครับ


ก่อนจบการสัมมนาในครั้งนี้ เรื่องแถม การแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นและแผนการพัฒนามุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยคุณดาหวัน


ไม่ลืมก่อนแยกย้ายก็ต้องถ่ายรูปรวมกันสักหน่อย

นี่ก็เป็นเพียงภาพบางส่วนเท่านั้นนะครับ ถ้าอยากชมแบบเต็มๆ ก็ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ
ประมวลภาพสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)

[nggallery id=39]

เป็นยังไงกันบ้างครับ ยังไงก็รออ่านบทสรุปต่อวันหลังได้เลยนะครับ

ปล. ขอบคุณสำหรับภาพงามๆ จากฝีมือทีมงานห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์

งานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดที่ผมไม่อยากให้พลาดอีกงาน คือ งานสัมมนาวิชาการที่จัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ต้นเดือนหน้า หัวข้องานหลักก็น่าสนใจมากๆ คือ “ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ประเภทของงาน : สัมมนาวิชาการ
ชื่องานหลัก : ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 8.30-16.30 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมปองทิพย์ 1 อาคาร 12 ชั้น 9 นิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ม.กรุงเทพ รังสิต
ผู้จัดงาน : คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)

เห็นแค่ชื่องานผมก็รู้สึกได้ว่าเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการแนวใหม่ในวงการห้องสมุดจริงๆ ครับ (นานๆ ทีจะรู้สึกตื่นเต้นกับงานแบบนี้) เรื่องของเศรษฐกิจกับห้องสมุดมันอยู่ใกล้กันมากต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันครับ ยิ่งในบ้านเรากำลังสนใจกับคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งแน่นอนครับก่อนที่ธุรกิจจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จะต้องอาศัยซึ่งความรู้เป็นพื้นฐานเสียก่อน และการได้มาซึ่งความรู้ก็มีหลายช่องทางเช่นกัน และหนึ่งในนั้นคือ “ห้องสมุด”

ไม่ได้อยากเชียร์อะไรมากมายหรอกนะครับ แต่เห็นว่างานดีๆ ก็เลยอยากแนะนำ
เอาเป็นว่าลองมาดูหัวข้อที่น่าสนใจในงานกันก่อนดีกว่า
– ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– สมรรถนะของบรรณารักษ์ในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– ห้องสมุดกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– Information Economy and Social Network
– แบรนด์ห้องสมุดในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– PR 2.0 for Library
– กิจกรรมสร้างสรรค์กับงานห้องสมุด

การสัมมนาครั้งนี้แม้ว่าหัวข้อจะมีความน่าสนใจมากมาย แต่……
ต้องขอบอกว่ามีค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมงานนะครับ ประมาณคนละ 2000 บาท

(เอาเป็นว่าไปอ่านในหนังสือโครงการและแบบตอบรับดูกันเองน้า….)

สำหรับรายละเอียดโครงการ, หนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการ และแบบตอบรับการเข้าร่วมสัมมนา เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดได้ที่ http://www.thaipul.org/?p=252

เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีผลต่อวงการห้องสมุดเพียงใด แล้วห้องสมุดจะพัฒนาไปในแนวทางไหน มางานนี้เพื่อนๆ จะได้คำตอบ…

งานนี้เพื่อนๆ คนไหนไปได้ช่วยกลับมาสรุปให้ผมฟังด่วยนะครับ
เพราะงานนี้ผมพลาดแล้วแน่ๆ (วันที่ 2-4 มิ.ย. ผมไปงาน world book expo ที่สิงคโปร์)
เอาเป็นว่าผมจะรออ่านสรุปจากเพื่อนๆ ที่ไปงานแล้วกันนะครับ

LibCampUbon#2 : สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด

สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจรกลับมาอีกครั้งแล้วนะครับ ครั้งนี้เราก็ยังคงจัดที่จังหวัดอุบลราชธานีเช่นเคย หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม LibCampUbon#2 โดยหัวข้องานหลักในครั้งนี้ คือ “สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด” หัวข้อเล็กๆ แต่เป็นโครงการใหญ่ของห้องสมุดหลายๆ แห่ง

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องานภาษาไทย : สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่องานภาษาอังกฤษ : LibCampUbon#2
ธีมหลักของงาน : สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 26 พฤษภาคม 2554
สถานที่จัดงาน : ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้จัดงาน : ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์ความรู้กินได้, เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่

ทำไมธีมงานในครั้งนี้เราต้องเน้นเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นด้วย คำตอบแบบง่ายๆ คือ “เพราะข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นถือว่าเป็นจุดเด่นของการศึกษาพื้นที่ ประวัติความเป็นมา และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ” แล้วห้องสมุดมีบทบาทและอะไรที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศท้องถิ่นหล่ะ อีกคำตอบ คือ “ศูนย์กลางแห่งข้อมูลท้องถิ่นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือห้องสมุดยังไงหล่ะครับ

“สารสนเทศท้องถิ่น เป็นข้อมูลที่มีคุณค่า และมีความสำคัญ สำหรับศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น”

หนังสือโครงการสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร : LibcampUbon ครั้งที่ 2
“สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด   (Local Information @ Library)

เพื่อนๆ อ่านได้จาก http://www.kindaiproject.net/kmshare-blog/libcampubon2-proposal.html

ผมจะขอสรุปแบบคร่าวๆ ให้อ่านแล้วกันว่าในงานนี้เพื่อนๆ จะได้พบกับหัวข้อที่น่าสนใจอะไรบ้าง
– สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร
– การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ
– นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
–  การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร
– กรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย
– เสวนาร่วม : ความร่วมมือในการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วิทยากรที่มาให้ความรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความสามารถและเก่งในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นมากๆ เลยครับ เช่น นักการศึกษา หัวหน้าหอจดหมายเหตุ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์ผู้สอนเรื่องสารสนเทศท้องถิ่น รวมถึงผมเองที่จะพูดในแง่ของสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์…

งานนี้ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า ฟรีเช่นเคย ใครสนใจก็ส่งเมล์มาหาผมได้นะครับ
สำหรับใครที่ต้องการจดหมายเชิญก็ส่งเมล์มาหาผมได้เช่นกัน เดี๋ยวจะให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเชิญไปให้

งานนี้ไม่อยากให้พลาดอีกเช่นเคย ใครที่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมงานได้ก็ขอเชิญนะครับ ส่วนใครที่ไม่อยากเดินทางไกลในวันนั้นเราจะมีการ live tweet (ถ่ายทอดสดผ่านข้อความใน twitter นาทีต่อนาทีเลย ติดตามได้จาก twitter.com/kindaiproject)
หรือทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ รอติดตามผ่านบทสรุปด้วยการเขียนบล็อกของผมเองก็ได้ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ขอลงข่าว libcampubon แค่นี้ก่อนแล้วกัน สำหรับวันนี้ลาไปก่อนนะ อิอิ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ส่งเมล์มาถามได้ที่ dcy_4430323@hotmail.com

ปล. libcampbkk ไม่ต้องน้อยใจเร็วๆ นี้เราจะจัดที่กรุงเทพฯ แน่นอนครับ สถานที่ตอนนี้ มธ รังสิต เสนอตัวมาแล้ว เรื่องแค่ธีมงานและหัวข้อเล็กๆ น้อยๆ ครับ

สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจรกลับมาอีกครั้งแล้วนะครับ ครั้งนี้เราก็ยังคงจัดที่จังหวัดอุบลราชธานีเช่นเคย

สรุปการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (3 พ.ค.) ผมได้มีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians วันนี้ผมจึงขอนำเนื้อหาในวันนั้นมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

รายละเอียดเบื้องต้นของงานบรรยาย
ชื่อโครงการ : โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians
ชื่อวิทยากร : คุณเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ เจ้าของบล็อก libraryhub
วันที่จัดงาน : วันที่ 3 พฤษภาคม 2554
สถานที่บรรยาย : ห้องราชมงคลเธียเตอร์ อาคารวิทยบริการ
ผู้จัดงาน : สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลธัญบุรี

ก่อนที่จะสรุปการบรรยาย ผมว่าเพื่อนๆ คงอยากเห็นสไลด์ของผมแล้ว เอาเป็นว่าไปชมสไลด์กันก่อนดีกว่า

สรุปเนื้อหาจากสไลด์ “การพัฒนาทักษะด้าน IT สู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่

การบรรยายเริ่มจากเรื่องทักษะและความหมายแบบกว้างๆ เกี่ยวกับการเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่ ซึ่งผมชอบเรียกบรรณารักษ์ยุคใหม่ว่า Cybrarian นั่นเอง โดยบรรณารักษ์ยุคใหม่นอกจากจะต้องแม่นเรื่องของทักษะด้านบรรณารักษ์แล้ว ยังต้องเพิ่มทักษะอื่นๆ อีก เช่น ทักษะไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมสมัยใหม่ และเครือข่ายสังคมออนไลน์

เรื่องของงานบรรณารักษ์ผมคิดว่าทุกคนคงแม่นอยู่แล้ว ผมจึงขออธิบายภาพรวมของงานห้องสมุดนิดนึง ว่ามีงานอะไรบ้าง และที่สำคัญสมัยนี้เกือบทุกงานล้วนแล้วแต่มีไอทีเข้ามาช่วยงานในห้องสมุดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น งานบริหาร งานบริการ งานเทคนิค ฯลฯ

จากนั้นผมให้ดูวีดีโอห้องสมุดของประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นห้องสมุดที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เกือบทุกอย่าง

จากนั้นอธิบายในเรื่องของทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ ซึ่งผมได้อัพเดทข้อมูลทักษะเพิ่มเติม (อัพเดทจาดสไลด์เก่า) ซึ่งมีดังนี้
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ในการบรรยายในช่วงนี้ผมให้เวลา 15 นาทีเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติร่วมกัน เนื่องจากที่นี่ใช้ระบบ Walai Autolib อยู่จึงมีการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาการเชื่อมต่อ การจัดทำบาร์โค้ด …… เอาเป็นว่าก็น่าจะได้หนทางดีๆ ในการแก้ปัญหาบ้างนะ

เมื่อจบเรื่องทักษะด้านไอทีแล้วผมก็เข้าสู่เรื่อง “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ทันที
เปิดวีดีโอแนะนำและให้คำอธิบายว่าทำไมเราต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์
(อ่านบทความประกอบเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ได้ที่ โอกาสในการใช้ Social media ในโลกปัจจุบัน)

จากนั้นผมให้ดูสไลด์ไอเดียของการนำเว็บไซต์ 2.0 มาใช้ในงานห้องสมุด ชมสไลด์ด้านล่างได้เลยครับ

นั่นก็เป็นอีกสไลด์นึงที่ผมใช้ในการบรรยายครั้งนี้

บรรยายช่วงเช้าจบตรงที่เรื่องของภาพรวมของสื่อสังคมออนไลน์ เริ่มต้นในช่วงบ่ายเป็นกรณีศึกษาการใช้ Blog Facebook Twitter ในงานห้องสมุด

Blog – ใช้ทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่างการใช้บล็อกห้องสมุดในหลายจุดประสงค์ เราสามารถเขียนเรื่องอะไรลงในบล็อกได้บ้าง
Facebook – คำอธิบาย ตัวเลขของการใช้ facebook ทั่วโลก facebook กับงานห้องสมุด 10 อันดับหน้าแฟนเพจห้องสมุดระดับโลก
Twitter – คำอธิบาย ตัวเลขของการใช้ twitter ทั่วโลก อธิบายการใช้งานเบื้องต้น 10 อันดับ twitter ห้องสมุดที่มีคนตามเยอะ

แนวโน้มของห้องสมุดในปี 2011 เพื่อนๆ อ่านได้ที่ “แนวโน้มของ Social Media กับงานห้องสมุดในปี 2011
เรื่องที่ผมแถมจากเรื่องของ trend แล้วยังมีวีดีโอและเว็บไซต์ Library101 ที่น่าสนใจด้วย ลองเข้าไปดูต่อได้ที่ http://libraryman.com/library101/

กรณีศึกษาการใช้งานและการพัฒนาเว็บไซต์
http://www.kindaiproject.net – เว็บไซต์โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
http://www.libraryhub.in.th – เว็บบล็อกเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog – บล็อกห้องสมุด ม ศิลปากร
http://tanee.oas.psu.ac.th – ห้องสมุด JFK มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
http://www.facebook.com/kindaiproject – Facebook โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
http://www.facebook.com/thlibrary – Fanpage เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
http://www.twitter.com/kindaiproject – Twitter โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

จากนั้นก็ให้ดูตัวอย่างการสร้างแผนกลยุทธ์ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในห้องสมุดด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการใช้งาน
(ปัจจุบันห้องสมุดมีสื่อสังคมออนไลน์แล้วแต่มีการใช้งานที่ไร้ทิศทางทำให้ได้ประสิทธิภาพน้อย จึงแนะนำเรื่องนี้ด้วย)

ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแล้วสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2. สามารถให้บริการผ่านสื่อออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นบทสรุปของสไลด์และงานบรรยายของผมแบบคร่าวๆ นะครับ
ถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลส่วนไหนเพิ่มเติมหรือสงสัยอะไรก็ส่งเมล์มาถามได้นะครับที่ dcy_4430323@hotmail.com

เอาเป็นว่าวันนี้ผมคงหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ แล้วเจอกันใหม่ อิอิ

ชมภาพบรรยากาศในวันนั้นได้ที่ http://www.library.rmutt.ac.th/?p=4860

ปล. ขอบคุณภาพสวยๆ จากทีมงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

แนะนำหนังสือ : หัวใจเล็กๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่

วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการเล่าเรื่องห้องสมุดเป็นการเล่าเรื่องหนังสือบ้างดีกว่า
หนังสือที่ผมจะพูดถึงในวันนี้เป็นหนังสือที่มีเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์แนะนำผมมา
(แบบว่าใจดีส่งมาให้อ่านถึงบ้านด้วย) ซึ่งผมก็ได้รับหนังสือเล่มนี้มาเมื่อสามวันที่แล้ว

รายละเอียดเบื้องต้นของหนังสือเล่มนี้
ชื่อหนังสือ : หัวใจเล็กๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่
ชื่อผู้เขียน : พรวรินทร์ นุตราวงศ์ (พี่แอ้)
สำนักพิมพ์ : บันลือบุ๊คส์
ปีพิมพ์ : 2554
ISBN : 9786169080336
ราคา : 169 บาท

โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวนี้สักเท่าไหร่
ตอนแรกพออ่านชื่อเรื่องแล้วยังนั่งคิดเลยว่า จะอ่านได้กี่อ่านหว่ะเนี้ย (ความรู้สึกส่วนตัว)

ลองอ่านดูก่อนดีกว่า… ปรากฎว่าอ่านแล้วถึงรู้สึกว่าจริงๆ เราน่าจะอ่านหนังสือแบบนี้ตั้งนานแล้ว

อ่านแล้วรู้สึกถึงแรงบันดาลใจของการทำความดีขึ้นมาเลยครับ
ภาษาที่ใช้ก็ดูไม่น่าเบื่อเหมือนที่คิด แถมมีภาพการ์ตูนกราฟิกสร้างสีสันได้มากเลย

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงประสบการณ์ของพี่แอ้ นางพยาบาลที่ทำงานด้วยใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการกำลังใจและแนะนำวิธีที่จะช่วยเติมเต็มที่สิ่งขาดหายไปของผู้ป่วย รวมไปถึงการดูแลจิตใจของครอบครัวผู้ป่วยด้วย

สารบัญในหนังสือเล่มนี้
บทที่ 1 – วิกฤตคือโอกาส
บทที่ 2 – ปาฏิหาริย์สร้างได้
บทที่ 3 – ก้าวข้ามขีดจำกัด
บทที่ 4 – อย่ารอ
บทที่ 5 – เรื่องเล็กๆ ที่มีความหมาย
บทที่ 6 – ลูกหลาน : ความกังวลตราบสิ้นลมหายใจ
บทที่ 7 – อโหสิกรรม
บทที่ 8 – กลับไปตายที่บ้าน
บทที่ 9 – ความปรารถนาของเด็กผู้ต้องจากไปก่อนวัยอันควร
บทที่ 10 – ความผูกพัน
บทที่ 11 – ความรักของพ่อแม่
บทที่ 12 – ยังไม่อยากตาย
บทที่ 13 – พลังของการก่อน

เห็นแค่สารบัญก็น่าติดตามแล้วใช่มั้ยครับ
แต่ละบทจะแทรกหน้าเทคนิคต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยให้ด้วยนะครับ

เอาเป็นว่าผมขอเล่าหน้าที่ผมประทับใจให้ฟังดีกว่า (ขออนุญาตย่อนะครับ ชอบมากๆ)

“จะบอกลาคนที่รักอย่างไร”

เรื่องราวประมาณว่าคนไข้คนนึงถามพี่แอ้ว่าเขาควรจะบอกแม่เขาอย่างไรว่าต่อไปจะไม่มีเขาแล้ว พี่แอ้ก็ตอบไปว่า “ถ้าบอกไปตรงๆ ว่า “แม่ครับ ให้ผมตายนะ ผมไม่ไหวแล้ว” แม่ก็คงหัวใจสลายและตายตามลูกไปแน่ๆ ดังนั้นให้บอกว่า “แม่ครับให้ผมไปก่อนได้มั้ย สักวันแม่ก็ต้องตามไป ทำบุญเยอะๆ นะครับ ผมจะรอแม่” น่าจะดีกว่าหรือปล่าว”

จากนั้นพี่แอ้ก็ไปคุยกับแม่ของคนไข้ต่อว่า “ตอนนี้น้องเขาอาการหนักมาก ถ้าน้องไม่ไหว พี่จะทำอย่างไรคะ” แม่ของน้องก็ยืนยันว่าจะให้น้องเขาอยู่ต่อ พี่แอ้จึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าน้องเจ็บปวดมากต้องให้ยาทุกชั่วโมง ขาดยาไม่ได้ จะให้เขาอยู่ต่อมั้ย” แม่ของน้องจึงตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นให้ลูกไปเถอะ แม่ไม่อยากเห็นเขาทรมาน สงสารลูกมาก

เมื่อถึงเวลาที่ต้องบอกลา แม่ก็ได้จับมือลูกชายแล้วบอกว่า “แม่จะทำบุญให้นะลูก ลูกรอแม่ด้วย แล้วแม่จะตามไป

เป็นยังไงกันบ้างครับนี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงแค่หน้าเดียวเท่านั้น
ยังมีอีกหลายหน้าที่ผมชอบมากๆ อีก เอาเป็นว่าผมก็ขอแนะนำไว้เพียงเท่านี้แล้วกันครับ

เพื่อนๆ หาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไปเลยนะครับ
สำหรับชาวห้องสมุดผมก็แนะนำให้มีติดไว้ที่ห้องสมุดนะครับ

ปล. ขอบคุณมากนะครับสำหรับหนังสือดีๆ ที่ส่งมาให้ผมอ่าน

ห้องสมุดดิจิทัล คือ 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ

วันนี้เจอบทความดีๆ ที่มีเรื่องห้องสมุดอยู่ในนั้น ผมก็เลยขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อนะครับ
บทความนี้มาจาก “10 Technologies That Will Transform Your Life” จากเว็บไซต์ http://www.livescience.com

10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ มีดังนี้
อันดับที่ 10 Digital Libraries (ห้องสมุดดิจิทัล)
อันดับที่ 9 Gene Therapy and/or Stem Cells (เซลล์ต้นกำเนิด)
อันดับที่ 8 Pervasive Wireless Internet (อินเทอร์ไร้สาย)
อันดับที่ 7 Mobile Robots (หุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้)
อันดับที่ 6 Cheaper Solar Cells (เครื่องเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า)
อันดับที่ 5 Location-Based Computing (เทคโนโลยีการระบุพื้นที่)
อันดับที่ 4 Desktop 3-D Printing (การพิมพ์ภาพแบบสามมิติ)
อันดับที่ 3 Moore’s Law Upheld (กฎของมัวร์ในเรื่องประสิทธิภาพและขนาดของชิป)
อันดับที่ 2 Therapeutic Cloning (การโคลนนิ่ง)
อันดับที่ 1 The Hydrogen Economy (พลังงานน้ำ, พลังงานทดแทน)


เป็นยังไงกันบ้างครับ 1 ใน 10 ของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ คือห้องสมุดดิจิทัล (อันดับที่ 10)
นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของเราชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์เลยก็ว่าได้นะครับ

เมื่อเรารู้ว่าห้องสมุดดิจิทัลสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนแล้ว
พวกเราในฐานะคนทำงานห้องสมุดและบรรณารักษ์ขอสัญญาว่าจะพัฒนาวิชาชีพนี้ต่อไป
เพื่อให้ห้องสมุดตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในสังคมต่อไป

50 เหตุผลที่บรรณารักษ์ไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในห้องสมุด บรรณารักษ์ก็ควรยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น
ซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในห้องสมุดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กระบวนการทำงาน การบริหารงาน รวมถึงเทคโนโลยี
ผมว่ามันก็ต้องมีเหตุผลของการที่ทำสิ่งใหม่เข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ก็แก้ปัญหาเดิมๆ ได้

และแน่นอนครับว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ทำให้บรรณารักษ์บางส่วนไม่พอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของงานไอที
คำถามหลักที่จะต้องเจอต่อมาคือ “ทำไมถึงไม่ยอมรับหรือเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆหล่ะ”

คำตอบของคำถามนี้อยู่ในแผนภาพด้านล่างนี้ครับ

ภาพนี้เป็นภาพจากบล็อก http://13c4.wordpress.com ซึ่งพูดถึงเรื่อง “50 เหตุผลที่ไม่ยอมเปลี่ยน

ในภาพอาจจะมองไม่ค่อยเห็น เอาเป็นว่าผมขอยกตัวอย่างมาสักเล็กน้อยแล้วกัน

– It’s too expensive
(มันแพงมาก – สงสัยผู้บริหารจะเป็นคนพูด)

– I’m not sure my boss would like it
(ฉันไม่มั่นใจว่าหัวหน้าของฉันจะชอบมัน – ตัดสินใจแทนผู้บริหารซะงั้น)

– We didn’t budget for it.
(พวกเราไม่มีงบประมาณสำหรับมัน – ไม่มีทุกปีเลยหรอครับ)

– Maybe Maybe not.
(อาจจะ หรือ อาจจะไม่ – ยังไม่ได้คิดอะไรเลย ก็ไม่ซะแล้ว)

– It won’t work in this department.
(มันไม่ใช่งานในแผนกเรา – แล้วตกลงเป็นงานของแผนกไหนหล่ะ)

– We’re waiting for guidance on that.
(พวกเรากำลังคอยคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ – แล้วตกลงอีกนานมั้ยหล่ะครับ)

– It can’t be done.
(มันไม่สามารถทำได้หรอก – แล้วคุณรู้ได้ไงว่าทำไม่ได้ ลองแล้วหรอ)

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากแผนภาพนี้เท่านั้นนะครับ
เอาเป็นว่าเหตุผลบางอย่างในแผนภาพ ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่ยังฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่นะ

แต่ที่เอามาให้เพื่อนๆ ดูนี่ ไม่ได้หมายความว่าจะตำหนิหรือว่าอะไรใครหรอกนะครับ
เรื่องนี้อาจจะเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดอย่างไรกับเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ในห้องสมุดบ้าง

บทสรุป เรื่อง ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เมื่อวานผมเกริ่นไปแล้วว่าผมไปบรรยายในงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่4) แล้วก็ทิ้งท้ายว่าผมจะสรุปการบรรยายของผมให้อ่าน วันนี้เลยขอทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ เรื่องที่ผมบรรยายในงานนี้ คือ “ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เอกสารประกอบการบรรยายเพื่อนๆ สามารถชมได้จาก

หรือเปิดได้จาก http://www.slideshare.net/projectlib/ict-for-living-library-at-school

ดูสไลด์แล้วอาจจะงงๆ หน่อย งั้นอ่านคำอธิบายและบทสรุปของเรื่องนี้ต่อเลยครับ

บทสรุป ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เริ่มต้นจากการบรรยายถึงความหมายและบทบาทของบรรณารักษ์ยุคใหม่ หรือที่ผมชอบเรียกว่า cybrarian ซึ่งหลักๆ ต้องมีความรู้ด้านบรรณารักษ์และความรู้ที่เกี่ยวกับไอที

จากนั้นผมจึงเปรียบเทียบว่าทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้ไอที ซึ่งหลายๆ คนชอบมองว่าเป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ ผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า บรรณารักษ์ ไม่ใช่ โปรแกรมเมอร์ เราไม่ต้องรู้ว่าเขียนโปรแกรมอย่างไรหรอก แต่เราต้องรู้จัก เข้าใจ และนำโปรแกรมไปใช้ให้ถูกต้อง

ทักษะด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ (สำหรับห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน) ผมขอแยกเรื่องหลักๆ ออกเป็น 7 กลุ่ม คือ
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0


เมื่อเห็นทักษะไอทีที่ผมนำเสนอไปแล้ว เพื่อนๆ อาจจะบอกว่าง่ายจะตาย ไม่ต้องทำงานซับซ้อนด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องง่ายๆ ของบรรณารักษ์ บางครั้งมันก็ส่งผลอันใหญ่หลวงอีกเช่นกัน

จากนั้นผมก็ให้ชมวีดีโอเรื่อง social revolution (คลิปนี้ถูกลบไปจาก youtube แล้ว โชคดีที่ผมยังเก็บต้นฉบับไว้)

จากนั้นผมก็ได้พูดถึง social media tool ว่ามีมากมายที่ห้องสมุดสามารถนำมาใช้ได้
เช่น Blog email msn facebook twitter youtube slideshare Flickr

ซึ่งผมขอเน้น 3 ตัวหลักๆ คือ blog, facebook, twitter โดยเอาตัวอย่างของจริงๆ มาให้ดู
Blog – Libraryhub.in.th
Facebook – Facebook.com/kindaiproject / Facebook.com/Thlibrary
twitter – twitter.com/kindaiproject

จากนั้นผมก็ฝากข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแล้วสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2. สามารถให้บริการผ่านสื่อออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

เอาเป็นว่าสไลด์นี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ ไว้วันหลังผมจะถยอยนำสไลด์มาขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
จริงๆ ไปบรรยายมาเยอะแต่เพิ่งจะได้เริ่มเขียนเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ให้เพื่อนๆ อ่าน

วันนี้ก็ขอลาไปก่อนครับ