LibCampUbon#2 : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน

หัวข้อแรกของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร”
โดยอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพท. อุบลราชธานี เขต 4


อาจารย์เริ่มต้นจากการแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง (อาจารย์เรียนจบช่างกลแต่ถนัดถ่ายภาพ)
และพูดถึงการเริ่มต้นสนใจเรื่องข้อมูลท้องถิ่น มาจาก “ความไม่รู้” ทำให้ “อยากรู้”

อาจารย์ย้ำก่อนที่จะเริ่มบรรยายว่า “อาจารย์ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบรรณารักษ์แต่อาจารย์สนใจเรื่องการรวบรวมข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้กับทุกคนได้อ่าน” ซึ่งอาจารย์ให้แง่คิดว่า “สื่อทุกอย่างน่าจะถึงมือประชาชน

อาจารย์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานโครงการใหญ่ๆ 2 โครงการ คือ
1. การทำหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี
2. โครงการฮักแพง … แปงอุบล (ความผูกพัน….การเปลี่ยนแปลงในจังหวัดอุบลราชธานี) ปี 2546-2549

สารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน => เสียง ภาพ เรื่องเล่า …… เน้นที่ตัวคน
ข้อมูลได้ถูกรวบรวมมาจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเน้นไปที่ข้อมูลที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภาพเก่าที่เก็บรักษา…..


อาจารย์ปัญญาเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่ที่สุดให้ฟัง คือ….
ข้อมูลสูญหาย (ข้อมูลที่อาจารย์รวบรวมเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หายหมดเลย เนื่องจากคอมพิวเตอร์เสีย)
แง่คิดที่อาจารย์ฝากไว้ คือ “การเก็บข้อมูลดีที่สุดคือเขียน บันทึกเป็นภาพถ่าย อย่าหวังเรื่องดิจิตอลมาก

ข้อมูลที่จัดเก็บได้ยาวนานที่สุด คือ การบันทึกข้อมูลด้วยการเขียน
บันทึกในสมัยโบราณ เช่น การบันทึกข้อมูลลงในใบลาน….

ตัวอย่างภาพเก่าที่อาจารย์ปัญญานำมาให้พวกเราได้ดูกัน

ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส

ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สารสนเทศท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์
ในจังหวัดอุบลราชธานีมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ และพิพธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

เร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว “เว็บไซต์ร้อยเรื่องเมืองอุบล” ต้องรอติดตามกันต่อไปนะครับ

โครงการฮูปเก่า เว้าอุบล เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกต่อยอดมาจากโครงการฮักแพง … แปงอุบล
เป็นโครงการที่รวบรวมรูปภาพเก่าที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เพียงแค่รูปภาพเราก็จะเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และความรุ่งเรืองของอดีต

วิธีง่ายๆ ในการจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (ขั้นตอนการรวบรวม)
1. ขอแค่เราถ่ายภาพให้เป็นก็เพียงพอแล้ว ถ่ายภาพสิ่งของใกล้ตัว เช่น อาคารที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง ถ่ายวันนี้ก็จะเป็นอดีตของวันหน้า
2. บันทึกเสียงเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญหรือเอกสารที่เราเขียนถึง

ตัวอย่างเรื่องราวที่น่าเก็บ เช่น ภาพถ่ายของการปล่อยนกปล่อยปลาในวัด วันนี้ปล่อยนกคู่ละ 60 บาท อีก 10 ปีถ้าเรามาถ่าย ณ จุดเดิมนี้ เราอาจจะเห็นราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันภาพถ่ายราคาอาหารในร้านๆ หนึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้คงไม่ใช่ราคาเดียวกันแน่ๆ สารสนเทศท้องถิ่นในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่และเวลาด้วย

ข้อคิดสำหรับบรรณารักษ์ในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นที่อาจารย์ฝากไว้ คือ
“บรรณารักษ์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ต้องรู้เรื่องทุกเหตุการณ์ในอดีตก็ได้ แต่ขอให้รู้ถึงความเป็นมาของท้องถิ่นก็เพียงพอแล้ว”

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของหัวข้อแรกในงาน libcampubon#2 นะครับ
วิทยากรท่านอื่นๆ ก็บรรยายได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ติดตามอ่านกันต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ครับ

ปล. ในการบรรยายของอาจารย์ปัญญาอาจพูดประเด็นสลับไปมา ผมขออนุญาติเรียบเรียงและยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

Exit mobile version