LibCampUbon#2 : มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชน

ก่อนจบงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
วิทยากรได้เชิญผู้ที่กำลังจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (คุณดาหวัน ธงศรี)
มาแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นแบบเบื้องต้นและอธิบายถึงขอบเขตงานในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

การจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นมุมสารสนเทศที่มีความสำคัญ สำหรับให้ศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์เมืองอุบล และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อสร้างเป็นต้นแบบและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี  มีดังนี้ ซึ่งจะแบ่งการจัดเก็บรวบรวมออกเป็น

– หนังสือเกี่ยวกับเมืองอุบล  อาทิเช่น ประวัติเมืองอุบลราชธานี  ประมวลภาพอุบลราชธานี 200 ปี  เป็นต้น
– หนังสือที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญในจังหวัดอุบล เป็นคนเขียนหนังสือด้านต่างๆ อาทิเช่น  ผญา อักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรขอม ที่แปลจากใบลาน เพื่อเล่าเรื่องราว สืบสาน วรรณกรรม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของเมืองอุบล และสื่อจากการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ
– ภาพเก่าเล่าเรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองอุบล จัดทำเป็นรูปเล่ม สำหรับเผยแพร่
– รวมถึงสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิเช่น บุคคลสำคัญ และบุคคลมีชื่อเสียง ด้านศิลปิน นักร้อง หมอร้อง หมอลำ อาทิเช่น สลา คุณวุฒิ  ต่าย อรทัย และหมอลำพื้นบ้าน ด้านอื่นๆ เป็นต้น

เพื่อให้บริการและเผยแพร่ให้กับประชาชน เด็กรุ่นใหม่ ที่สนใจและต้องการศึกษาค้นคว้า ทำวิจัย และจะทำให้ได้รู้ได้เข้าใจทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองอุบลมากขึ้น

เป็นไงกันบ้างครับ นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ความคืบหน้าในการจัดทำผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้ทราบในโอกาสต่อไปนะครับ

อ๋อ และก่อนจบงาน libcampubon#2 ผมก็ถือโอกาสสอบถามถึงความต้องการของผู้ที่เข้าฟังว่า
ต้องการให้จัดหัวข้ออะไรในงาน libcampubon ครั้งต่อไป ซึ่งได้ผล คือ

หัวข้อที่ได้รับการเสนอเพื่อใช้จัดในงาน LibcampUbon ครั้งต่อไป เช่น
– ศูนย์ความรู้กินได้ระดับตำบล
– แนวคิดในการนำศูนย์ความรู้กินได้มาใช้กับห้องสมุดขนาดเล็ก (แบบงบประมาณน้อย)
– การทำ workshop การถ่ายภาพเพื่อนำมาจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (คล้ายกับภาพเก่าเล่าเรื่อง)
– การจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมสารสนเทศท้องถิ่น
– การจัดทำมุมความรู้กินได้ในห้องสมุด ตั้งแต่แนวคิดจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ เอาเป็นว่าทีมงานทุกคนจะนำข้อเสนอตรงนี้ไปทำการบ้านและสรุปออกมาให้เร็วที่สุดนะครับ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่ “เพราะเราคือทีมเดียวกัน เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี LibcampUbon

Thailand Conference on Reading 2011 (TCR2011)

ช่วงนี้มีเพื่อนๆ ส่งงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์มาให้ผมมากมาย ซึ่งวันนี้ผมขอแนะนำงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับการอ่านที่น่าสนใจให้เพื่อนๆ ได้อัพเดทกันหน่อย งานนี้จัดโดยห้องสมุดทีเคพาร์คด้วยนะ

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงาน
ชื่องาน : Thailand Conference on Reading
ลักษณะของงาน : การประชุมวิชาการ
วันและเวลาที่จัดงาน : 24-25 สิงหาคม 2554
สถานที่จัดงาน : โรงแรมAmari Watergate

งานนี้น่าสนใจมากเพราะว่าเราจะได้ฟังคำแนะนำและรายงานดีๆ ที่เกี่ยวกับการอ่าน
ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นนะมีอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมบรรยายด้วย
แถมด้วยเรื่องที่หลายๆ คนอยากฟัง คือ เรื่อง “Bangkok World Book Capital 2013

มาดูหัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้ดีกว่า
– คิดสร้างสรรค์ ด้วยการอ่าน
– How Malaysia Reads
– The development of Book Reading Activity for Promoting Better Life of Citizen in Vietnam
– นโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทย
– ช่องว่างและความเท่าเทียมในการเข้าถึงหนังสือและแหล่งเรียนรู้
– ข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย
– นิสัยการอ่านของคนไทยในมิติด้านวัฒนธรรม
– Korea’s experience to promote reading and literacy
– Reading Culture in the Youth Kids
– ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน
– Bangkok World Book Capital 2013
– ร่วมสร้างรากฐาน อ่าน คิด เรียนรู้ เตรียมคนสู่พลเมืองอาเซียน

งานประชุมวิชาการดีๆ แบบนี้มีค่าใช้จ่ายนะครับ
แต่ถ้าสมัครก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม จะได้ราคาพิเศษ คือ 2000 บาท
และถ้าสมัครก่อนสิ้นเดือนนี้ก็ได้ราคา 2500 บาท และสมัครในเดือนสิงหาคมราคา 3000 บาท

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ลองเข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tcr2011.com เลยนะครับ
สำหรับวันนี้ก็แนะนำแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เลยเจอกันครั้งหน้า

LibCampUbon#2 : กรณีศึกษาเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นจากห้องสมุด

การบรรยายในลำดับที่ 5 ของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี
เรื่อง “กรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย
โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (ผมเอง) นักพัฒนาระบบห้องสมุด ศูนย์ความรู้กินได้


การบรรยายในส่วนของผมจะสอดคล้องกับเรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร”  ในหัวข้อที่ 4 ของงาน Libcampubon#2 แต่ของผมจะเน้นไปในเรื่องของเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นเป็นหลัก

สไลด์ที่ผมใช้บรรยายในครั้งนี้ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ

เนื้อหาของสไลด์และสิ่งที่ผมบรรยายสรุปได้ดังนี้

การบรรยายเริ่มจากการสรุปข้อมูลจากการบรรยายตั้งแต่ช่วงเช้าจนมาถึงเรื่องการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่น ซึ่งได้พูดถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้ใช้หรือห้องสมุดต้องการว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งหลักๆ คนไม่พ้น “ความรู้ที่มาจากตัวบุคคล สืบต่อกันมาเรื่อยๆ” และแหล่งค้นคว้าอื่นๆ เช่น
– ห้องสมุด
– ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม
– หอจดหมายเหตุ
– พิพิธภัณฑ์
– วัด

ซึ่งแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และเวลาในการให้บริการ เช่น ห้องสมุดปิดหนึ่งทุ่ม หากต้องการข้อมูลหลังสองทุ่มก็ไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ หรือ ผู้ใช้บริการจากต่างประเทศต้องเดินทางไกลมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งยากมาก ดังนั้นทางออกของเรื่องการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอีกทางคือต้องเพิ่งพาเรื่อง “เทคโนโลยี” ซึ่งเน้น “เทคโนโลยีเว็บไซต์”

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำคือ สารสนเทศท้องถิ่นหลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ (เรื่องอดีต) เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วยังต้องรวมถึงเรื่องปัจจุบัน และอนาคตด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเองต้องรู้ทุกอย่าง

ห้องสมุดหลายๆ แห่งจึงมีบทบาทเพียงเติมโดยเฉพาะการจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
หลายๆ แห่งมีการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดและอีกหลายๆ แห่งนำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงในเว็บไซต์
ซึ่งผมได้นำเสนอข้อมูลเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุด (แค่ตัวอย่าง)

ตัวอย่างเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุดที่น่าสนใจ
– ภาคเหนือ
http://www.lannacorner.net/ – ล้านนาคอร์เนอร์
http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/ – ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
http://nadoon.msu.ac.th/web/ – ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร
http://www.bl.msu.ac.th/ – โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.มหาสารคาม
http://lib12.kku.ac.th/esan/ – มุมอีสานสนเทศ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

– ภาคตะวันออก
http://rrulocal.rru.ac.th/ – ข้อมูลท้องถิ่นภาคตะวันออก สำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์

– ภาคกลาง
http://www.odi.stou.ac.th/nonthaburi-studies – นนทบุรีศึกษา สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

– ภาคใต้
http://localinfo.tsu.ac.th/jspui/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ
http://wbns.oas.psu.ac.th/ – ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ หอสมุดจอห์นเอฟ เคนเนดี้

ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีเองก็มีเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย เช่น
http://www.guideubon.com/ – ไกด์อุบล.com
http://202.29.20.74/rLocal/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ม.ราชภัฎอุบลราชธานี
http://www.aac.ubru.ac.th/ – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
http://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/ – งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.esansawang.in.th/esanweb/es0_home/index_esan.html – ภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โรงเรียนสว่างวีระวงศ์

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นผ่านเว็บไซต์นะครับ
เรื่องของวิธีและโปรแกรมจริงๆ แล้วยังมีเยอะนะครับที่สามารถนำมาใช้ได้
แต่เวลาในการนำเสนอมีจำกัด ผมจึงขอยกยอดไปไว้บรรยายในคราวต่อไปนะครับ

ก่อนจากกันวันนี้ผมขอบอกไว้ก่อนว่า การสรุปงาน libcampubon#2 ยังไม่จบครับ
ยังเหลือต่อพิเศษอีกตอนหนึ่ง คือเรื่องของ มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
และเรื่องทิศทางและหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับ libcampubon#3 ด้วยครับ
ยังไงก็รออ่านได้ในวันพรุ่งนี้นะครับ สำหรับวันนี้ต้องไปจริงๆ และ บ๊ายบาย

LibCampUbon#2 : วิชาสารสนเทศท้องถิ่นเรียนอะไร – สำคัญหรือไม่

session ที่สี่ของงาน LibcampUbon#2 (การศึกษาในวิชาสารสนเทศท้องถิ่น)
เรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร
โดยวิทยากร อาจารย์วิมานพร รูปใหญ่ อาจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฎอุบลฯ

การบรรยายเริ่มจากเรื่องของการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
ซึ่งวิชานี้ ถือว่าเป็นวิชาเอกบังคับของนิสิตภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้

ทำไมถึงต้องเป็นวิชาเอกบังคับ (เด็กเอกบรรณฯ ต้องเรียน)
– เกิดจากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของภาควิชาและจุดเน้นของคณะที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่เข้าใจและสามารถจัดการข้อมูลท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ทางภาควิชาได้คาดหวังในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูลที่อยู่ในท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ และรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในพื้นที่ด้วย

ประวัติความเป็นมาของวิชานี้ ภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 (นานใช่มั้ยหล่ะครับ)  และแต่เดิมวิชานี้ถือว่าเป็นวิชาเลือกของเอกบรรณฯ เท่านั้น แต่พอมีการปรับหลักสูตรใหม่ในปี พ.ศ. 2551 จึงเห็นควรให้วิชานี้เปลี่ยนสถานะเป็นวิชาเอกบังคับ โดยเพิ่มเริ่มเรียนเป็นวิชาเอกบังคับครั้งแรกเมื่อเทอมที่แล้วนี้เอง (ปล. ประวัติของภาควิชานี้อ่านได้จาก http://www.libis.ubru.ac.th/history.php)

หลักสูตรการเรียนการสอนในวิชานี้เทอมนึงก็จะมี 16 สัปดาห์ โดยนักศึกษาจะได้เรียนในหัวข้อต่างๆ เช่น
– พื้นฐานความรู้ของเรื่องสารสนเทศท้องถิ่น (ค้นได้จากไหนบ้าง มีที่มาอย่างไร)
– แหล่งสารสนเทศท้องถิ่น (เน้นที่ข้อมูลจากตัวบุคคล)
– การจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
– การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น
– โจทย์งานศึกษาข้อมูลในท้องถิ่นของตนเอง (2-3 สัปดาห์)
– นำเสนอผลงานสารสนเทศท้องถิ่นที่ได้ไปค้นคว้า
– การเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ อาจารย์จึงได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการทำฐานข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นด้วย การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ รวบรวม และค้นหาทำให้สารสนเทศท้องถิ่นมีการพัฒนาต่ออย่างยั่งยืน

อีกเรื่องที่นักศึกษาจะต้องเข้าใจและเรียนรู้ คือ การทำเครือข่ายสารสนเทศท้องถิ่น (ใครมีดีอะไรเราต้องรู้จัดนำมาใช้)

หลังจากที่บรรยายเรื่องการศึกษาไปส่วนหนึ่งแล้ว วิทยากรทั้งสองจึงขอเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการสารสนเทศท้องถิ่นในชุมชน ซึ่งสรุปข้อมูลได้ว่า
– มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอุบลฯ ค่อนข้างน้อย
– ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือในเรื่องการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นเนื่องจากกลัวคนอื่น copy ผลงาน
– ในแง่คิดของรัฐเราอยากให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ในแง่คิดของชาวบ้านกลัวคนลอกเลียนแบบ
– ภูมิปัญญาบางอย่างมันคงอยู่ในชีวิตประจำวันจนทำให้ชาวบ้านลืมเก็บสั่งสมองค์ความรู้
– กศน มีโครงงานที่เกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่นมากมาย น่าจะนำมาทำเป็นคลังความรู้ได้

ทำไมต้องเรียน
– สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
– แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายและคงอยู่กับคนในชุมชน

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเรื่องแบบคร่าวๆ ของเรื่องการศึกษาข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นเท่านั้นนะครับ
(กรณีตัวอย่างจาก สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ)

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจข้อมูลในภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ
ก็สามารถดูได้ที่ http://www.libis.ubru.ac.th/

LibCampUbon#2 : จัดรูปแบบสื่อสารสนเทศท้องถิ่นให้เป็นระบบ

ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวเสร็จก็มาพบกับหัวข้อที่สามประจำงาน LibcampUbon#2
เรื่อง “การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ
โดย อาจารย์ชำนาญ ภูมลี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

การบรรยายในครั้งนี้มีเอกสารประกอบด้วยนะครับ (สไลด์ประกอบ) ชมได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ
หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/kindaiproject/libcampubon2-collection-development-for-local-information

เอาหล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเพื่อนๆ ก็ดูสไลด์และอ่านบทสรุปไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

อาจารย์ได้เตรียมสไลด์ซึ่งใช้หัวข้อว่า “กระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่น ให้เป็นระบบ
ซึ่งหลักๆ อาจารย์จะบรรยาย 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1. สารสนเทศมีอะไรบ้าง
2. กระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ
3. ตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ

ก่อนเข้าเรื่องขอบอกกอ่นนะครับว่าอาจารย์เป็นนักจดหมายเหตุดังนั้นข้อมูลจะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเชิงประวัติศาสตร์มากหน่อยนะครับ

อาจารย์ได้อธิบายเรื่อง สารสนเทศท้องถิ่นคืออะไร และ อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่นบ้าง
ซึ่งหลักๆ สารสนเทศท้องถิ่นเกิดจากวัสดุต่างๆ มากมาย เช่น อิฐ หิน ดิน ไม้…….
ส่วนสิ่งที่จะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นได้ก็คือเอาวัสดุต่างๆ เหล่านั้น มาเขียน มาวาด มาทำสัญลักษณ์ เพื่อให้คงอยู่และสื่อความหมายได้

“สารสนเทศท้องถิ่น คืออะไร อิฐ หิน ดิน ทราย ไม้ ปูน เหล็ก ใบไม้ กระดาษ ฟิล์ม เทป ครั่ง พลาสติก #libcampubon2”
“อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่น อิฐที่มีตัวหนังสือ ศิลาจารึก อิฐมีตัวหนังสือ ป้ายต่างๆ ใบลาน หนังสือ รูปภาพ แผนที่ #libcampubon2)”

เชื่อหรือไม่ : เสื้อรุ่นก็ยังถือว่าเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเลย เนื่องจากบนเสื้อรุ่นจะมีข้อความบ่งบอกถึงสถานที่ ช่วงเวลา และสามารถสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้

ความหมายของสารสนเทศเบื้องต้น = ผลลัพธ์ของกระบวนการจัดการข้อมูล และความรู้ต่างๆ นั่นเอง
อาจารย์ได้เปรียบเทียบให้เราเห็นอีกว่า สารสนเทศก็เหมือนกับ สื่อ  สื่อมวลชน ข้อมูลข่าวสาร เช่นกัน

คำว่าจดหมายเหตุ จริงๆ แล้วมี 3 พยางค์ แต่สามารถแยกออกเป็นคำที่มีความหมายได้ 6 คำ คือ จด, หมาย, เหตุ, จดหมาย, หมายเหตุ, จดหมายเหตุ (โดยจดหมายเหตุจะเน้นไปที่ข้อมูลที่มีความสำคัญและเป็นของเก่า)

เมื่อเรารู้จักความหมายและลักษณะทั่วไปของสารสนเทศท้องถิ่นและจดหมายเหตุแล้ว
อาจารย์ได้นำเราเข้าสู่เรื่องของกระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ

เรื่องแรกที่ต้องคิด คือ การรวบรวมข้อมูล หอจดหมายเหตุสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
1. การออกระเบียบและกฎหมาย (สำหรับหน่วยงานรัฐถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเลย เช่น พรบ ระเบียบงานสารบรรณ)
2. การขอรับบริจาค
3. การซื้อ

เมื่อรวบรวมแล้วจึงมีการประเมินคณค่าเป็นอันดับสอง โดยหากเอกสารชิ้นไหนมีสาระสำคัญก็ถือว่าเป็นจดหมายเหตุได้ แต่ถ้าชิ้นไหนไม่มีคุณค่าก็จะทิ้งและทำลาย (เราไม่สามารถเก็บได้ทุกอย่าง ข้อจำกัดเรื่องสถานที่)

เมื่อได้จดหมายเหตุที่คัดเลือกและผ่านการประเมินแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การให้เลขหมวดหมู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของหน่วยงานว่าต้องการจัดระบบแบบไหน

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการบำรุงให้จดหมายเหตุอยู่คงทนต่อไป ซึ่งมีหลายวิธีมาก เช่น การอัดล้างขยายภาพถ่าย การทำไมโครฟิล์ม การทำสำเนาเอกสาร การเสริมกระดาษ การอบน้ำยาฆ่าแมลง การจัดเก็บเข้าตู้

งานของหอจดหมายเหตุมองรวมๆ ก็คล้ายๆ ห้องสมุดนะ แต่ความพิเศษและความยากของหอจดหมายเหตุอยู่ที่เอกสารที่จัดเก็บมีสภาพเก่าแก่ ฝุ่นเยอะ
…… ดังนั้นคนทำงานด้านนี้ลำบากกว่านะ (80% ของคนทำงานหอจดหมายเหตุโสด – อันนี้อาจารย์พูดแซวนะ)

เมื่อเรารู้จัดภาพรวมของการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศแล้ว อาจารย์ได้พูดถึงงานบริการในหอจดหมายเหตุ ว่ามีดังนี้
– การให้บริการอ่านเอกสารจดหมายเหตุ
– การให้บริการทำสำเนา
– การค้นคว้าและบริการยืมจดหมายเหตุ
– การให้บริการถ่ายภาพ

บทสรุปของกระบวนการทำงานในหอจดหมายเหตุ (ชมภาพด้านล่าง)

จบในเรื่องของขั้นตอนแล้ว อาจารย์ก็นำเสนอตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นให้พวกเราชม โดยเน้นภาพถ่ายเก่าๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับเข้าใจเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นกันเพิ่มบ้างหรือปล่าวครับ
นอกจากนี้ยังเห็นขั้นตอนของการจัดระบบด้วย โหแบบว่านานๆ จะได้ข้อมูลเช่นนี้นะครับ
ยังเหลือเรื่องอีกสองตอน เอาเป็นว่าก็ติดตามบทสรุปของงาน libcampubon#2 กันต่อไปนะครับ