7 ธีมบล็อก wordpress ที่น่าสนใจสำหรับบล็อกห้องสมุด

ช่วงปีที่ผ่านมาผมได้สังเกตว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งเริ่มมีการนำบล็อกเข้ามาใช้มากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะ wordpress แล้ว ผมได้รับคำถามมามากเหลือเกิน เนื่องจาก ProjectLib และ Libraryhub ของผมใช้ wordpress มาตลอด ซึ่งวันนี้ผมจึงขอเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับ wordpress ในวงการห้องสมุดบ้างดีกว่า

เข้าประเด็นกันแบบง่ายๆ เลย เรื่องที่เขียนวันนี้ “7 ธีมบล็อก wordpress ที่น่าสนใจสำหรับบล็อกห้องสมุด
ผมเรียบเรียงใหม่จากบทความ “7 Great Library Themed Templates for Your Blog(เนื่องจากบางธีมไม่สามารถเปิดได้แล้ว)

ทำไมต้องเป็น wordpress – ผมขอสรุปแบบตรงๆ เลยนะครับ ว่า “ฟรี – ง่าย – ยืดหยุ่น – ประสิทธิภาพสูง – ของเล่นเยอะ”

ปล. สำหรับคนที่ใช้ wordpress.com (แบบของฟรี) สามารถค้นหาธีมที่นำเสนอด้านล่างนี้ได้บางธีมเท่านั้น ส่วนคนที่ดาวน์โหลด wordpress ไปติดตั้งบน host สามารถนำไปใช้ได้ทุกธีมครับ

ธีมที่มีให้เลือกบน wordpress มีมากมาย จนหลายคนบอกว่านี่คือสิ่งที่ยากของ wordpress คือ เลือกธีมไม่ถูก เพราะสวยหมดทุกธีม
ซึ่งธีมที่มีใช้อยู่นั่นบางธีมก็เสียเงิน บางธีมก็ใช้ได้ฟรี ขึ้นอยู่กับความสามารถพิเศษของธีมนั่นๆ ด้วย

ห้องสมุดหลายๆ แห่งที่ตัดสินใจใช้ wordpress เป็นบล็อกของห้องสมุดจึงต้องรู้จักวิธีในการเลือกธีมที่เหมาะสมกับการใช้งาน
ดังนั้นธีมที่จะให้ดูในวันนี้ ผมว่าสำหรับบล็อกห้องสมุดแล้วฟีเจอร์ครบ และหน้าตาของธีมดูเหมาะสมกับความเป็นห้องสมุดดี

(บางธีมนั้นเป็นผลงานของห้องสมุดที่ออกแบบ สร้าง และปล่อยออกมาให้ดาวน์โหลดด้วย)

“7 ธีมบล็อก wordpress ที่น่าสนใจสำหรับบล็อกห้องสมุด”
ที่ว่านี้มีดังนี้ :-
1. Law library wordpress theme.

2. Books and Imagination theme.

3. Black Bible theme.

4. Easy Reader theme.

5. BlueWebHosting theme.

6. Trexle Theme.

7. High tech book studies theme.


เป็นยังไงกันบ้างครับกับธีมที่แนะนำในวันนี้เอาเป็นว่า ที่แนะนำทั้งหมดนี้คือธีมที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีๆ นะครับ ถ้าสนใจธีมไหนก็คลิ๊กที่ชื่อของธีมที่อยู่ด้านบนของแต่ละรูปได้เลยนะครับ

เอาเป็นว่าวันนี้พอแค่นี้ก่อนดีกว่า ไว้จะมาแนะนำอย่างอื่นที่เกี่ยวกับ wordpress วันไหนอีกแล้วกันครับ

โครงการศึกษาดูงานชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา 2554

“ไปเที่ยวกันมั้ย มั้ย มั้ย มั้ย มั้ย…..จะไปก็รีบไป ไป ไป ไป ไป …….ไปดูงานห้องสมุดกันเถอะ!!!”
วันนี้มีโครงการดีๆ มาประชาสัมพันธ์ครับ เป็นโครงการของชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสมุดฯ
อย่างที่เกริ่นนั่นแหละครับ โครงการนี้เป็น “โครงการศึกษาดูงาน” ครับ ว่าแต่ไปดูกันที่ไหนบ้าง ลองอ่านโครงการกันก่อนเลยครับ

โครงการศึกษาดูงานชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสุมดแห่งประเทศไทย ฯ ประจำปี 2554
Academic Librarian Group Thai Library Association (ALG TLA) Study Tour :  2011

……………………………………………………..

ผู้รับผิดชอบโครงการ นางสาวรุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน (รองประธาน และ กรรมการฝ่ายวิชาการ)

หลักการและเหตุผล

ชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ (Academic Librarian Group: Thailand Library Association) เป็นชมรมหนึ่งในสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ โดยเป็นกลุ่มของบรรณารักษ์ และผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาการปฏิบัติงานในห้องสมุด และเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ของข้อมูลข่าวสารระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา

ชมรม ฯ เล็งเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิก  จึงจัดโครงการศึกษาดูงานแหล่งบริการสารสนเทศ / แหล่งเรียนรู้ที่มีการดำเนินงานที่เข้มแข็งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ณ จังหวัดนครปฐม ได้แก่ หอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์ และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพื่อให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และประสบการณ์  ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนำไปสู่การพัฒนาวงการวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ศึกษาแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานสถาบันบริการสารนิเทศ และแหล่งเรียนรู้
2. เพื่อให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มความรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานสถาบันบริการสารนิเทศ และแหล่งเรียนรู้
3. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรม

วัน – เวลา : วันเสาร์ที่ 10 กันยายน  2554  เวลา 7.00 – 17.00 น.

สถานที่ : หอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์ และ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : กรรมการ/ทีมงาน สมาชิกชมรม และผู้สนใจ จำนวน 15 คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ศึกษาแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานห้องสมุดจากห้องสมุดและ / หรือ สถาบันบริการสารสนเทศอื่น ๆ
2. สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มความรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานห้องสมุดและ / หรือ สถาบันบริการสารสนเทศอื่น ๆ
3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรม

เป็นยังไงกันบ้างครับ อ่านโครงการแล้วเริ่มสนใจกันบ้างหรือปล่าว ไปดูงานได้พูดคุยได้แลกเปลี่ยนความรู้กันในหลายๆ ด้าน พบปะและสร้างเครือข่ายกลุ่มบรรณารักษ์ด้วยนะครับ สิ่งดีๆ มีมากขนาดนี้แล้ว ไม่เข้าร่วมไม่ได้แล้ว

เรามาดูกำลังการแบบคร่าวๆ กันก่อนดีกว่าครับ
6.15 น. เดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
7.00 น. แวะรับที่จุดจอดรถตู้ มธ.ศูนย์รังสิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุมใกล้สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์
7.00 – 8.30 น. เดินทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปจังหวัดนครปฐม
8.30 – 11.00 น. ศึกษาดูงานหอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์
11.00 –12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ณ บริเวณใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์
12.30 – 14.00 น. เดินทางจากจังหวัดนครปฐม ไปหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พุทธมณฑลสาย 5
14.00 – 16.00 น. ศึกษาดูงานหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
16.00 น. ออกเดินทางกลับ
17.30 น. เดินทางถึงกรุงเทพ โดยสวัสดิภาพ

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ติดต่อและแจ้งรายชื่อเข้าร่วมโดยด่วนที่ คุณรุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน.  โทร. 086-5284042  นะครับ

ห้องสมุด Neilson Hays รับสมัครผู้ช่วยบรรณารักษ์

วันนี้ได้รับเมล์ขอความช่วยเหลือในการประกาศรับสมัครผู้ช่วยบรรณารักษ์สำหรับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (วันก่อนเพิ่งไปดูงานเอง อ่านบล็อกย้อนหลังได้ที่ “การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)“) ว่าแล้วก็เลยช่วยลงประกาศให้ในบล็อกแล้วกัน

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงาน
ชื่อตำแหน่งงาน : ผู้ช่วยบรรณารักษ์
ที่ทำงาน : ห้องสมุดเนลสันเฮย์
จำนวน : (อันนี้ไม่ทราบครับ ต้องสอบถามที่นั่นเอง)

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีเลยทีเดียวนะครับสำหรับคนที่สนใจ เพราะจะได้เข้าทำงานในห้องสมุดที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในกรุงเทพฯ (เรื่องเล่าที่หลายๆ คนผู้กัน)

หน้าที่ของตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์

1. ให้บริการยืม-คืนหนังสือ
2. ให้ข้อมูลและช่วยเหลือสมาชิกในการสืบค้น
3. งานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ภาระงานเท่าที่อ่านดูเบื้องต้นไม่เกี่ยวกับหน้าที่ catalog หรืองานจัดซื้อจัดหานะครับ เพราะหน้าที่นั้น น่าจะเป็นของบรรณารักษ์มากกว่า ในส่วนของผู้ช่วยบรรณารักษ์น่าจะเน้นในเรื่องของงานบริการต่างๆ ในห้องสมุดมากกว่าครับ

คุณสมบัติเบื้องต้นของตำแหน่งนี้

– จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป (ถ้าจบสาขาบรรณารักษศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ)
– สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น MS office ได้
– มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษได้ดี
– มีใจบริการ อดทน และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
– สามารถปฏิบัติงานในวันเสาร์และอาทิตย์ได้
– ถ้ามีประสบการณ์ในการทำงานในห้องสมุดมาก่อนจะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ ย้ำครับ ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น ไม่ใช่ว่ากีดกั้นผู้ชายหรอกนะครับ แต่ถ้าใครที่เคยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของที่นี่จะรู้ว่าที่นี่เป็นสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association)ดังนั้นคณะกรรมการและบอร์ดต่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงทั้งนั้น เอาเป็นว่างานนี้ขอเฉพาะเพศหญิงก่อนแล้วกันนะครับ

หากใครอ่านแล้วคิดว่านี่แหละน่าจะเป็นงานที่เหมาะกับฉัน ก็ส่งรูปถ่าย ประวัติการศึกษา และการทำงาน (เป็นภาษาอังกฤษ) มาที่ neilson.library@gmail.com แล้วทางห้องสมุดจะติดต่อกลับไปเองนะครับ

เอาเป็นว่าก็ขออวยพรให้เพื่อนๆ ได้งานที่นี่นะครับ สู้ๆ

พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ

วันนี้ในขณะที่ผมกำลังวิเคราะห์หมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดวัดไชยมงคล (ห้องสมุดที่ผมมาช่วยดูแลอีกแห่ง) ผมก็ได้เจอหนังสือเล่มนึง ที่พอผมอ่านชื่อเรื่องแล้วรู้สึกชวนให้หยิบมากๆ นั่นคือ หนังสือ “พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ” ซึ่งเป็นหนังสือในโครงการเอกสารและตำราของ Nida ผมเลยขอนำเนื้อหาบางส่วนมาโพสให้เพื่อนๆ อ่านแล้วกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ รักธรรม และ อริชัย รักธรรม
จัดพิมพ์โดย : โครงการเอกสารและตำราคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปีพิมพ์ : 2539
ISBN : 9748164527

ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับตัวแสบขององค์กรกันหน่อยดีกว่านะ หนังสือเล่มนี้แบ่งตัวแสบขององค์กรเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. เจ้านายตัวแสบ
2. เพื่อนร่วมงานตัวแสบ
3. ลูกน้องตัวแสบ

เรามาลองดูกันดีกว่าว่าตัวแสบของแต่ละประเภทมีอะไรกันบ้าง

1. เจ้านายตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

1.1 พฤติกรรมของนายปรปักษ์
1.2 พฤติกรรมของนายประเภทเย่อหยิ่ง
1.3 พฤติกรรมของนายหลอกลวง
1.4 พฤติกรรมของนายหาประโยชน์ส่วนตัว
1.5 พฤติกรรมของนายไม่ให้เกียรติลูกน้อง
1.6 พฤติกรรมของนายคิดถึงแต่ตัวเอง
1.7 พฤติกรรมของนายแบบเรือเกลือ
1.8 พฤติกรรมของนายดื้อรั้น
1.9 พฤติกรรมของนายประเภทเงียบ
1.10 พฤติกรรมของนายชอบจับผิด

2. เพื่อนร่วมงานตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

2.1 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเป็นปรปักษ์
2.2 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานยโสโอหัง
2.3 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานหลอกลวง
2.4 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัว
2.5 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานไร้มารยาท
2.6 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเห็นตนเองเป็นเลิศ
2.7 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเรือเกลือ
2.8 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานดื้อรั้น
2.9 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานไม่ชอบพูด
2.10 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานคอยจับผิด

3. ลูกน้องตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

3.1 พฤติกรรมของลูกน้องปรปักษ์
3.2 พฤติกรรมของลูกน้องยโสโอหัง
3.3 พฤติกรรมของลูกน้องหลอกลวง
3.4 พฤติกรรมของลูกน้องชอบเอาเปรียบ
3.5 พฤติกรรมของลูกน้องมีปัญหา
3.6 พฤติกรรมของลูกน้องเห็นแก่ตัว
3.7 พฤติกรรมของลูกน้องเรือเกลือ
3.8 พฤติกรรมของลูกน้องดื้อรั้น
3.9 พฤติกรรมของลูกน้องประเภทเก็บความรู้สึก
3.10 พฤติกรรมของลูกน้องคอยจับผิด

เป็นไงบ้างครับแต่ละกลุ่ม แค่ชื่อก็รู้สึกว่าเป็นตัวแสบในองค์การได้แล้วใช้มั้ยครับ

ในหนังสือเล่มนี้จะบอกลักษณะย่อยๆ ของแต่ละกลุ่มลงไปอีกนะครับ แบบว่าละเอียดมากๆ
เช่น พฤติกรรมของนายปรปักษ์ จะแบ่งออกเป็นอีก 4 กลุ่ม เช่น คนเผด็จการ คนดื้อรั้น คนทารุณผู้อื่น คนระเบิดเวลา …

หนังสือจะบรรยายลักษณะของคนในแต่ละกลุ่ม วิธีรับมือกับคนในแต่ละกลุ่ม
รวมถึงตัวอย่างบทสนทนาของเจ้าตัวแสบที่ชอบพูดกับเราพร้อมแนวทางในการโต้ตอบกลับ
เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจก็ไปอ่านเพิ่มเติมในหนังสือดูแล้วกันนะครับ

เพื่อนๆ เคยเจอเจ้าตัวแสบประเภทอื่นๆ อีกมั้ยครับ ยังไงก็เล่าสู่กันฟังได้นะครับ

ภาพห้องสมุดวันละรูป เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้บน Facebook

ห้องสมุดหลายๆ ที่คงมี Facebook เป็นของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ profile หรือ Page ก็ตาม “เพื่อนๆ ทำอะไรกับ facebook ห้องสมุดของเพื่อนๆ บ้าง” วันนี้ผมขอแนะนำการโปรโมทห้องสมุดแบบง่ายๆ ที่เพื่อนๆ สามารถนำไปทำได้ทันทีมาฝากครับ

การโปรโมทที่ว่านี้ คือ การถ่ายภาพห้องสมุดของเพื่อนๆ วันละ 1 รูป แล้วนำมาอัพโหลดลงอัลบั้ม “ห้องสมุดวันละรูป” ใน Facebook ของห้องสมุด เพื่อนๆ ไงครับ

กิจกรรมนี้ผมทดลองกับ facebook fanpage ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว
ผลที่ตอบรับนับว่าเป็นที่น่าพอใจมาก ผู้ใช้บริการออนไลน์ให้ความสนใจกับรูปภาพต่างๆ ของห้องสมุดมาก
วัดได้จากสถิติการเข้าชมภาพ การกดถูกใจ และการแสดงความคิดเห็น….

คนเข้ามาดูภาพเยอะมาก แถมมีผลตอบรับที่ดีมากๆ ด้วยนะครับ

กิจกรรมนี้ทำได้ง่ายมากเลยครับ ผมขอแนะนำวิธีแบบง่ายๆ ลองนำไปทำกันดูนะ

อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพห้องสมุด ได้แก่
– มือถือที่ใช้ถ่ายภาพได้
– กล้องเว็บแคมของคอมพิวเตอร์
– กล้องดิจิตอลทั้งแบบธรรมดา หรือ DSLR
– เครื่องสแกนรูปภาพ

เลือกใช้ได้เลยครับ ถนัดอะไรก็ใช้อันนั้นนะครับ

ถ่ายอะไรได้บ้างหรือถ่ายมุมไหนดี
– ชั้นหนังสือในห้องสมุด
– การให้บริการที่หน้าเคาน์เตอร์
– ผู้ใช้บริการอ่านหนังสือ
– กิจกรรมที่จัดในห้องสมุด
– ภาพเบื้องหลังการทำงานของบรรณารักษ์

เมื่อโพสรูปลงไปในอัลบั้บมแล้ว ถ้ามีคำบรรยายขอถ่ายภาพแต่ละภาพด้วยจะยิ่งดี ที่สำคัญลงวันที่ไว้ด้วยเพื่อเตือนความจำให้กับเราในอนาคตด้วย

14/8/54 คณะ นักศึกษา กศน.วารินชำราบ เยี่ยมชมห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี "ศูนย์ความรู้กินได้" กว่า 300 คน

ดูตัวอย่างของ “ห้องสมุดวันละรูป” ของ facebook fanpage ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ได้ที่ http://www.facebook.com/media/set/?set=a.245804078771929.67239.219735101378827&type=1

เป็นไงบ้างครับ ง่ายหรือปล่าว เอาเป็นว่าลองไปทำกันดูนะครับ หากทำแล้วก็ส่ง URL มาให้ผมดูบ้างนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอแนะนำเพียงเท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ อิอิ

prewedding เก๋ๆ ในห้องสมุดซีแอทเทิล – Seattle Public Library

หลายๆ คนคงรู้ว่าช่วงนี้ผมกำลังจะมีข่าวดี (ผมจะแต่งงานในเดือนธันวาคม 2554 นี้)
ดังนั้นช่วงนี้ผมคงต้องเตรียมตัวอะไรมากมาย วันนี้ผมเลยค้นข้อมูลเรื่องการถ่ย prewedding เล่นๆ
(จริงๆ ผมถ่าย pre wedding ไปแล้ว แต่ก็อยากถ่ายเพิ่มอีกนิดหน่อย โดยเฉพาะการถ่ายรูปแต่งงานในห้องสมุด)

หลังจากที่ค้นหาข้อมูล เรื่องการถ่ายภาพ pre wedding ในห้องสมุดดู (keyword : prewedding library)
ผมก็พบกับภาพของคู่แต่งงานคู่หนึ่งที่ถ่ายรูป prewedding ในห้องสมุด และห้องสมุดแห่งนั้นคือ ห้องสมุดซีแอทเทิล

ห้องสมุดซีแอทเทิล (Seattle Public Library) เป็นห้องสมุดที่ได้รับการออกแบบโดย Rem Koolhaas
การออกแบบภายในมีหลายส่วนที่เน้นสีสันสร้างความสวยงาม และมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การเรียนรู้

หลังจากที่ได้ชมภาพคู่แต่งงานที่ใช้ห้องสมุดซีแอทเทิล เป็นสถานที่ในการถ่าย prewedding แล้ว
มันทำให้ผมรู้สึกว่า การที่ผมจะถ่ายรูป prewedding ในห้องสมุดคงจะดีไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
(มันเข้ากับ concept ของนายห้องสมุดอย่างผมมากๆ)

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องคิดให้รอบคอบอีกนิด คือ ถ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ใช้บริการคนอื่นๆ
เพราะห้องสมุดที่ผมคิดจะไปถ่าย คือ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งไม่มีวันหยุด ซะด้วยสิ
เอาเป็นว่าคงต้องรีบถ่ายอย่างรวดเร็ว และเตรียมหามุมถ่ายให้เรียบร้อย และดำเนินการให้เร็วที่สุดหล่ะมั้ง

สุดท้ายนี้ถ้าได้ถ่ายจริงๆ จะเอามาอวดให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ อิอิ

ที่มาของข้อมูลและภาพทั้งหมดโดย http://www.studio-br.com/blog/2011/02/16/alyssa-dan-pre-wedding-engagement-photography-seattle-public-library/

credit : http://www.studio-br.com

“การลงทุน” “ผลตอบแทน” ของการมีห้องสมุดประชาชนในอเมริกา

บทความที่ผมกำลังจะนำมาให้เพื่อนๆ อ่าน เป็นบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในบล็อกของที่ทำงานผม
เกี่ยวกับเรื่อง “การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนของการมีห้องสมุดประชาชน
เรื่องนี้ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการคิดเรื่องการประเมินห้องสมุดประชาชนอ่ะครับ

“ลงทุน 1 เหรียญได้คืนกว่า 4 เหรียญ” คือ บทสรุปอันมีชื่อเสียงของเกลน ฮอลท์ (Glen Holt) ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนเซนหลุยส์ ที่คำนวณออกมาให้เห็นว่า ทุกๆ หนึ่งเหรียญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีประจำปี ห้องสมุดได้บริหารและก่อให้เกิดประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้บริการเป็นมูลค่ามากกว่า 4 เหรียญ

จากคำกล่าวด้านบนทำให้เห็นว่า ในประเทศที่เจริญแล้วมักเห็นความสำคัญของการมีห้องสมุด ซึ่งนำมาอธิบายในเรื่องการลงทุนสำหรับการพัฒนาห้องสมุด โดยจะเห็นว่า เงินทุกเหรียญที่ผู้ใช้บริการจ่ายภาษีและเป็นงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด ห้องสมุดจะตอบแทนกลับคืนเป็น 4 เท่า

ผลตอบแทนที่ว่านี้อาจจะไม่ได้ตอบแทนเป็นเงินกลับสู่กระเป๋าผู้ใช้บริการหรอกนะครับ
แต่เป็นการตอบแทนในเรื่องของการพัฒนาสื่อต่างๆ และพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า เช่น

– ไม่ต้องซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะมาอ่านและยืมได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เอง เพราะมาอ่านได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อสื่อมัลติมีเดียเอง เพราะมาดู มาชม มาฟังได้ที่ห้องสมุด
– มานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ มาค้นข้อมูลได้ที่ห้องสมุด

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการวัดผล ประเมินความคุ้มค่า และผลตอบแทนของห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขที่เห็นชัดเจน ดูได้จากตารางด้านล่างนี้

จะสังเกตได้ว่าบางแห่งให้ผลตอบแทนมากถึง 6 เหรียญเลยทีเดียว เช่น ห้องสมุดประชาชนในรัฐฟลอริด้า บทความเรื่องผลตอบแทนของการมีห้องสมุดมีหลายบทความที่น่าอ่าน เช่น

http://ila.org/advocacy/pdf/Ohio.pdf

http://www.clpgh.org/about/economicimpact/

http://www.lrs.org/public/roi/

เอาเป็นว่าก็ลองเข้าไปอ่านกันดูได้นะครับ

หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขในการคำนวณความคุ้มค่าเขาวัดจากไหน ผมจึงขอยกตัวอย่างสักเรื่องนะครับ “ในปี 2553 ห้องสมุดแห่งหนึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวน 3.5 ล้านคน และมีจำนวนการยืมสื่อในห้องสมุดจำนวน 6.4 ล้านรายการ หากตรวจสอบข้อมูลดูแล้วจะพบว่าหากผู้ใช้บริการเหล่านี้จ่ายเงินเพื่อซื้อสื่อเหล่านี้ พวกเขาจะต้องจ่ายเงินมากถึง 378 เหรียญต่อคนเลย”

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมในการคำนวณผลตอบแทนของห้องสมุดด้วย ซึ่งห้องสมุดต่างๆ ก็เพียงแค่กรอกข้อมูลลงในตามฟอร์มต่างๆ แล้วให้โปรแกรมคำนวณออกมาก็จะรู้แล้วครับว่า ห้องสมุดตอบแทนผู้ใช้บริการคืนกลับมาเท่าไหร่ เราไปดูหน้าตาของโปรแกรมตัวนี้กัน

เมื่อกรอกข้อมูลการใช้บริการในส่วนต่างๆ ตามที่โปรแกรมกำหนดแล้ว โปรแกรมจะคำนวณค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในการลงทุน และวัดความคุ้มค่าของการใช้บริการห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขต่างๆ ดังภาพ

เป็นยังไงกันบ้างครับโปรแกรมแบบนี้น่าสนใจใช่มั้ยหล่ะครับ ผมเองก็อยากให้เกิดในเมืองไทยเช่นกัน
ยังไงก็ฝากไปถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนที่อำนาจในการตัดสินใจด้วยแล้วกันครับ

ต้นฉบับที่ผมเขียนสามารถดูได้จาก http://kindaiproject.net/kmshare-blog/cost-benefit-analysis-for-libraries.html#

การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)

หลังจากฟังการบรรยายของวิทยากรหลายๆ คนในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 สิงหาคมก็มีการจัดไปศึกษาดูงานกันที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ผมจึงขอตามไปดูงานด้วย และได้เก็บภาพต่างๆ มามากมายเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาได้ชมห้องสมุดกัน

การไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ของกลุ่มบรรณารักษ์การแพทย์ค่อยข้างจะสนุกกว่าทุกที่ที่ผมเคยพบ นั่นคือทางเจ้าภาพของงานได้เหมารถ ปอ สีส้ม สาย 77 จำนวน 1 คัน เป็นรถที่จะพาเราไปศึกษาดูงาน เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร วิทยากร ผู้ฟัง ต่างก็ได้ใช้บริการรถเมล์คันดังกล่าวทั้งนั้น บางคนนั่ง บางคนยืน สนุกสนานครับ เดี๋ยวลองดูในอัลบั้มรูปแล้วกันนะครับ

พอไปถึงที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ก็เกิดอุปสรรคขึ้นนิดหน่อย คือ จำนวนผู้ที่เข้าชมเกือบๆ 70 กว่าคนครับ เลยต้องแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ผลัดกันชมด้านนอกกลุ่มนึงด้านในกลุ่มนึง

เคยได้ยินคนพูดว่า ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ

เรื่องของประวัติความเป็นมาของห้องสมุด (ของลอกมาจากวิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%8C)

สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) จดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีนำมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพโดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน

นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็คือ นาง Sarah Blachley Bradley ซึ่งเป็นภรรยาของคุณหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)

ในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อ จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ

ส่วนชื่อปัจจุบันของห้องสมุด คือ สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ นั้นมาจากชื่อของนาง Jennie Neilson Hays ซึ่งชื่อเดิมของ นาง Jennie Neilson Hays คือ Jennie Neilson เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวได้อพยพไปอยู่อเมริกาต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และได้พบกับคุณคุณหมอ Thomas Heyward Hays ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2429 และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2430

ต่อมานาง Jennie Neilson Hays ได้เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดโดยเตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในปี เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือน เมษายน พ.ศ. 2463

ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุดในปี พ.ศ. 2414 เป็นต้นมาห้องสมุดไม่มีสถานที่ทำการถาวรย้ายไปตามที่ที่จะได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนาง Jennie Neilson Hays ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2463 ด้วยความรักที่เธอมีต่อห้องสมุด คุณหมอ Thomas Heyward Hays จึงได้สร้างอาคารถาวรและซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นของห้องสมุดและเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน ดังนั้นสมาคมห้องสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดเนลสันเฮย์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จเริ่มเปิดทำการในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยสถานที่ตั้งนั้นอยู่ที่ เลขที่ 193,195 ถนนสุรวงศ์ และปัจจุบันห้องสมุดก็ยังเปิดให้บริการอยู่

อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) และสถาปนิกผู้ช่วยชื่อนายจีโอวานี แฟร์เรโร (Mr.Giovanni Gerreo)ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิค โดยผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิดและปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าไปย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน

อาคารห้องสมุดเนลสันเฮย์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

นี่ก็เป็นเรื่องราวแบบคร่าวของความเป็นมาเกี่ยวกับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง การสร้างห้องสมุดเพื่อเป้นที่ระลึกแก่ภรรยาที่เสียชีวิต เรื่องราวคล้ายๆ ทัชมาฮาล เลยนะครับ

ข้อมูลทั่วไปที่นายบรรณารักษ์ไปสังเกต
– หนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดครับ
– การจัดหนังสือใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– มีตู้บัตรรายการใช้อยู่ด้วย
– อยู่ในระหว่างการปรับปรุงห้องนิทรรศการ และห้องสมุดบางส่วน
– ตู้หนังสือทุกตู้มีกระจกปิดเพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้า และรักาาความชื้นในห้องสมุดด้วยระบบการระบายอากาศที่ดี
– กิจกรรมสำหรับเด็กจะจัดทุกเสาร์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยจัด
– ค่าเข้าใช้บริการ ครั้งละ 50 บาท (เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาห้องสมุด)

อัตราค่าสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้
– ประเภทครอบครัว 3300 บาทต่อปี
– ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 22 ปีขึ้นไป) 2500 บาทต่อปี
– ประเภทผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 1500 บาทต่อปี
– ประเภทเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป) 1700 บาทต่อปี

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ได้ที่ http://www.neilsonhayslibrary.com

หรือถ้าอยากไปชมสถานที่จริงก็สามารถเดินทางไปได้อยู่แถวๆ ถนนสุรวงศ์ หรือสอบถามทางได้ที่เบอร์ 0-2233-1731 นะครับ

ชมภาพการไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ทั้งหมด

[nggallery id=46]

โรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์ (Hand : Medical Librarian)

หัวข้อที่แปดแล้วนะครับมาอ่านสรุปงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” กันต่อเลย
หัวข้อ คือ โรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์ (Hand : Medical Librarian)
วิทยาการโดย นายแพทย์สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิศสิน

หัวข้อนี้ถือว่าเป็นการเติมความรู้ในเรื่องของสุขภาพและการดูแลสุขภาพในวิชาชีพบรรณารักษ์
อาชีพของบรรณารักษ์เรามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับกระดูและข้ออย่างไร
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การยกของหนักก็ทำให้มีโอกาสที่จะบาดเจ็บข้อหรือกล้ามเนื้อเช่นกัน

โดยวันนี้ท่านวิทยากรขอแนะนำโรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์

โรคที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ไม่ได้เกิดจากการยกของหนัก แต่การยกของหนักทำให้มีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้นก็เท่านั้นเอง

โรคนิ้วสะดุด

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน
– เกิดอาการที่นิ้วแม่มือ, นิ้วนาง, นิ้วกลาง

การรักษา

-พักการใช้งานชั่วคราว
– ใส่เครื่องดามมือ
– ทานยาแก้อักเสบ
– ฉีดยาแก้อักเสบ (ฉีดสารสเตอรอยด์)
– ผ่าตัด

โรคอักเสบบริเวณข้อมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน

การรักษา

– พักการใช้งานชั่วคราว
– ใส่เครื่องดามมือ
– ทานยาแก้อักเสบ
– ฉีดยาแก้อักเสบ (ฉีดสารสเตอรอยด์)
– ผ่าตัด

โรคเส้นประสาทถูกกดทับ บริเวณข้อมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– คนท้องหรือตั้งครรภ์เกิดบ่อยมาก
– เกิดอาการชาเป็นพักๆ ถ้าหนักๆ จะเกิดอาการชาแล้วไม่หาย

การรักษา

– การรักษาจากต้นทาง (สาเหตุ) เช่น ปรับปรุงวิธีทำงาน การปรับการนั่งทำงาน การวางมือบนแป้นคีย์บอร์ด
– ดามข้อมือ
– ทานยา ยาแก้อักเสบ วตามิน B6
– ผ่าตัด

โรคข้อเสื่อมทางมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน
– ข้อนิ้วยึดติดในตอนเช้า
– ลักษณะนิ้วเก

การรักษาขั้นต้น

– แช่น้ำอุ่นๆ ช่วงเช้า 3-5 นาที

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มาจาก
– กรรมพันธุ์
– อายุ, เพศ, น้ำหนักตัว, ภาวะประจำเดือน
– การทำงาน

เอาเป็นว่ายังไงซะก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

ผู้ใช้บริการขอบอก : ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ

สรุปหัวข้อที่เจ็ดของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
หัวข้อ คือ ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ (Use the Medical Library ? : Resident)
วิทยาการโดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ นักศึกษาแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลเลิศสิน

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ผมรู้สึกว่าฟังสบายที่สุดแล้วสำหรับการฟังสัมมนาวันนี้
เพราะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้ห้องสมุดการแพทย์ในมุมมองของผู้ใช้บริการ
อย่างที่บอกอ่ะครับว่าฟังง่าย แต่หัวข้อนับว่าเป็นประโยชน์เลยทีเดียว

วิทยากรได้นำภาพบรรยากาศในห้องสมุดการแพทย์มาให้พวกเราดู โดยเน้นที่รูปหนังสือเล่มใหญ่ๆ (หนังสือด้านการแพทย์ส่วนใหญ่เล่มใหญ่ หนา และหนัก) ทำให้ผู้ใช้บริการหลายคนไม่นิยมที่จะยืมหนังสือเหล่านี้ออกจากห้องสมุด ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์หลายคนนิยมใช้ Ipad บ้าง Ebook reader บ้าง เพื่อที่จะใช้อ่าน E-book วิทยากรได้โชว์ว่าในเครื่องคอมตัวเองก็เก็บหนังสือ e-book มากมาย ราวๆ 400 กว่าเล่ม นี่ก็เป็นส่วนนึงที่อยากแสดงให้เห็นว่า “ใครจะไปแบกหนังสือในห้องสมุดบ้าง”

แล้วตกลง “มีห้องสมุดการแพทย์ไว้ทำไม” วิทยากรได้แบ่งการใช้งานห้องสมุดการแพทย์ออกมาเป็น 2 ส่วน คือ
– ใช้ในแง่แหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ วารสาร ฐานข้อมูล e-book ฯลฯ
– ใช้ในแง่ส่วนตัว เช่น พักผ่อน นัดพบ หาความรู้เพิ่มเติม

ห้องสมุดการแพทย์ในฝันตามสไตล์นักศึกษาแพทย์

1 การเป็นแหล่งข้อมูล (อันนี้เน้นการให้บริการทางเว็บไซต์ หรือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้) โดยห้องสมุดจะต้องมีฟีเจอร์เพิ่มเติม คือ

1.1 ระบบการค้นหาที่ใช้ง่าย และค้นหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 ระบบการสะสมองค์ความรู้ จัดเก็บข้อมูลได้เป็นระบบ
1.3 ระบบการสร้าง สามารถสร้างองค์ความรู้ หรือ มีพื้นที่ในการเขียนเรื่องต่างๆ ในเว็บห้องสมุด
1.4 ระบบการเผยแพร่ ถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้เพื่อให้ผู้อื่นได้อ่านและแสดงความคิดเห็นได้

2 สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ เช่น

2.1 ไฟล์วีดีโอทางด้านการแพทย์ เช่น การผ่าตัด การรักษาเฉพาะที่ ฯลฯ
2.2 ไฟล์ภาพทางด้านการแพทย์ เช่น ภาพการวินิจฉัยโรคต่างๆ ฯลฯ
2.3 ไฟล์ฟิล์มภาพ X-ray เช่นภาพกระดูดหัก กระดูแตก กระดูกคต ฯลฯ

3 บรรยากาศภายในห้องสมุด

3.1 สถานที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้
3.2 สถานที่เงียบสงบ

4 ส่วนสนับสนุน

4.1 หนังสือพิมพ์
4.2 วารสาร
4.3 อินเทอร์เน็ตไร้สาย

5 อื่นๆ

5.1 ห้องน้ำ
5.2 ห้องอาหาร

นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ใช้บริการ หากเราสามารถทำตามความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ห้องสมุดก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ตลอดไป นั่นแหละครับ