แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน
หัวข้อที่สองของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่ผมจะสรุป
คือ แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน
วิทยากรโดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง (จุดประสงค์ที่ผมมาฟังตั้งแต่เช้าก็เพื่อหัวข้อนี้โดยเฉพาะนั่นแหละครับ)
ท่านวิทยากรขึ้นมาเกริ่นถึงประวัติการทำงานของตัวเอง (ซึ่งเยอะมากๆ เลย)
นอกจากนี้ยังมีผลงานทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายด้วย เช่น โปรแกรมที่ในวงการแพทย์รู้จักดี UCHA
ท่านได้เล่าถึงความประทับใจและกล่าวขอบคุณบรรณารักษ์การแพทย์คนหนึ่ง
ซึ่งย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เครื่อง Electroconvulsive therapy หรือ เครื่อง ECT ซึ่งมีราคา 300,000 บาท (ในช่วงนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือที่แพงมากๆ) ท่านจึงอยากศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง ECT บ้าง โดยที่เริ่มจากการค้นหาข้อมูลของเครื่อง ECT ซึ่งท่านก็ได้ขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์คนนั้นให้รวบรวมข้อมูลให้หน่อย ซึ่งผลปรากฎว่าบรรณารักษ์คนนั้นใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้เกือบทั้งหมด (ตอนแรกอาจารย์ทวีทองคิดว่าคงประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้อ่าน) เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ มาแล้วอาจารย์ก็ได้วิจัยและพัฒนาจนทำให้สามารถประดิษฐ์เครื่อง ECT ได้ในราคาแค่ 300 บาท
เป็นยังไงกันบ้างครับ เห็นยังว่า บรรณารักษ์ในวงการแพทย์สามารถสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้อย่างไร
จากสไลด์ของอาจารย์ ผมจึงขอนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ บรรณารักษ์ และสิ่งที่ได้มา ให้ดูตามภาพได้เลย
ต่อมาอาจารย์ก็ได้เห็นความสำคัญของงานห้องสมุดกับการบริการฐานข้อมูลการแพทย์
จนในปี 2541 ที่ท่านวิทยากรมาอยู่ที่กรมควบคุมโรค จึงได้มีการจัดซื้อฐานข้อมูล full text ของวารสารการแพทย์ เพื่อให้บริการ โดยรูปแบบการให้บริการก็ คือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรในหน่วยงาน สามารถติดต่อขอใช้บริการฐานข้อมูล Full text มาที่ห้องสมุดกรมควบคุมโรค (ผ่าน จดหมาย แฟกซ์ อีเมล์) แล้วทางบรรณารักษ์ก็จะค้นข้อมูลและจัดส่งเนื้อหาไปให้
แต่ผลที่ได้ คือ 1 ปีมีคนค้นหาเพียงแค่ 53 เรื่องเท่านั้น เนื่องจากปัญหาของการซื้อฐานข้อมูลต้องดูเรื่องจำนวนสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานข้อมูลด้วย ดังนั้นนอกหน่วยงานจึงไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ จึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าที่ควร
ในปี 2549 กรมการแพทย์ได้ลงทุนในการซื้อฐานข้อมูล E-Journal ในราคา 3 ล้านบาท โดยรูปแบบการให้บริการยังคงคล้ายๆ กับการให้บริการในปี 2541 แต่คราวนี้นำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ intranet และ VPN เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้แพทย์สามาารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เมื่ออยู่ในกรมการแพทย์ ส่วนแพทย์ที่อยู่นอกองค์กรก็สามารถใช้ VPN เข้ามาใช้งานฐานข้อมูลได้ด้วย
ผลที่ได้ จำนวนการเข้าถึงฐานข้อมูลมีมากขึ้นแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนอีกเช่นเคย เนื่องจากการใช้ VPN มากๆ บริษัทผู้ขายก็แจ้งเตือนจำนวนการใช้งานมาเป็นระยะๆ และการต่อ VPN เองก็ค่อนข้างซับซ้อน
ในปี 2554 กรมการแพทย์จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องของฐานข้อมูลการแพทย์ โดยที่ขอความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ หรือ สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ที่ใหญ่ๆ เพื่อนำฐานข้อมูลมารวมกันและให้บริการแก่หน่วยงานที่ขาดงบประมาณ รูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ คือ หน่วยงานที่มีฐานข้อมูลนำฐานข้อมูลมาลงไว้ที่ส่วนกลางที่เดียวและสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ การให้บริการก็สามารถทำได้โดยการใช VPN หรือส่งคำข้อผ่านทาง webboard, email ก็ได้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ลดต้นทุนเรื่องการบอกรับฐานข้อมูลแบบ full text และจำนวนการใช้งานฐานข้อมูลก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย
สิ่งที่มุ่งหวังจากการพัฒนาฐานข้อมูล Full text ร่วมกันคือ นักวิชาการเก่ง หมอเก่ง พยาบาลเก่ง ซึ่งจะทำให้องค์กรเก่ง กรมเก่งไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่เก่งก็เพราะว่าบรรณารักษ์นั่นเอง
ปัจจุบัน Elibrary ของกรมการแพทย์ คือ http://www.dms.moph.go.th
แนวคิดระบบข้อมูลใหม่ของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– อยากรู้อะไรต้องได้รู้
– ทำได้ด้วยตนเอง
– เรียนรู้ง่าย จำนวนคลิ๊กที่เข้าถึงข้อมูลต้องน้อยที่สุด
– เมื่อส่งคำถามแล้วต้องได้คำตอบเดี๋ยวนั้นเลย
– ทำกราฟ และสถิติได้หลายรูปแบบ
– ฟรี ไม่ต้องตั้งงบประมาณ
แนวคิดเสริมของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– โปรแกรมเดียวสามารถใช้ได้ทุกงาน
– ฝึกอบรมรอบเดียวก็เพียงพอ
– ไม่ต้องสร้างหลายโปรแกรม
– ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ก็สามารถใช้งานได้
– พัฒนาต่อยอดได้เรื่อยๆ
– ประหยัดงบประมาณ
– มาตรฐานด้านเทคโนโลยี
ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำโปรแรกม UCHA ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบห้องสมุดได้ด้วย
ใช้งานได้ง่ายแถมครอบคลุมการทำงานในโรงพยาบาลได้อีก ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว
สามารถหาอ่านข้อมูลโปรแกรม UCHA ได้เพิ่มเติมที่ http://110.164.65.40/wiki/doku.php