บรรณารักษ์การแพทย์กับเครือข่ายสังคมออนไลน์

ถึงคิวที่ผมจะต้องสรุปการบรรยายในส่วนของผมเองในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ภายใต้หัวข้อย่อย คือ E-Medical Librarian and Social Network
วิทยากร คือ ผมเองครับ (นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์) นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้


สำหรับหัวข้อที่ผมบรรยายก็มีสไลด์ประกอบ ซึ่งเพื่อนๆ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

(บรรยายเรื่องเครื่องมือออนไลน์ ก็เลยขอนำมาเสนอเป็นตัวอย่าง อิอิ)

จริงๆ เรื่องที่ผมบรรยายให้ที่นี่ เป็นหัวข้อที่ผมบรรยายให้ห้องสมุดอื่นๆ ฟังบ่อยมาก
แต่ที่ไม่เหมือนที่อื่น คือ ปกติผมจะใช้เวลาบรรยายเรื่องนี้ 6 ชั่วโมง แต่สำหรับที่นี่ผมย่อเหลือ 1 ชั่วโมง
(เนื้อหาที่ผมเคยบรรยาย 6 ชั่วโมง ลองอ่านเรื่องเก่าดูที่ “สรุปการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians“)

เริ่มจากการพูดถึงคำว่า Cybrarian ว่ามีที่มาจากคำว่า Cyber + Librarian
นั่นก็หมายถึงบรรณารักษ์ในยุคไซเบอร์ หรือ ผมจะขอแทนว่าเป็น บรรณารักษ์ยุคใหม่แล้วกัน
โดยแน่นอนสิ่งที่บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีนอกจากความรู้ในด้านวิชาชีพของห้องสมุดแล้ว
ยังต้องมีความรู้รอบด้าน และติดตามข่าวสารใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะไอที

“ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที” ประเด็นอยู่ที่ว่างานในห้องสมุดปัจจุบันเกือบทุกส่วนต้องพึ่งพาไอทีหรือคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ งานบริหาร งานจัดทำรายการ ฯลฯ

“ไอทีสำหรับบรรณารักษ์” คงไม่ต้องถึงขั้นว่า เขียนโปรแกรม หรือ พัฒนาโปรแกรม เหมือนพวกโปรแกรมเมอร์หรอกนะครับ
แต่ผมแค่ต้องการให้เรารู้จักโปรแกรม เข้าใจโปรแกรม และนำโปรแกรมไปใช้งานให้ถูกต้องก็เท่านั้นเอง

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

เครื่องมือออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาห้องสมุด (แบบฟรีๆ) มีดังนี้
– Blog
– E-mail
– MSN
– Twitter
– Facebook
– Youtube
– Flickr
– Slideshare (ตัวอย่างการใช้ดูจากไฟล์สไลด์ที่ผมบรรยายไว้ด้านบนเลยครับ)

ก่อนที่ผมจะมาบรรยายให้ที่นี่ฟัง ผมได้ศึกษาเว็บไซต์ของห้องสมุดการแพทย์หลายที่ และพบจุดที่ต้องปรับปรุงหลักๆ คือ กระดานถามตอบ (forum) ซึ่งปัจจุบันได้กล่าวเป็นที่อยู่ของพวกสแปมโฆษณาไปหมดแล้ว ผู้ดูแลต้องรีบดำเนินการปรับปรุงโดยด่วน และอีกจุดหนึ่งที่หลายๆ แห่งเป็น คือ การไม่อัพเดทเว็บไซต์มาเป็นปีๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาเจอแต่ข้อมูลเก่าๆ

ทางออกของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมขอแนะนำให้ลองนำบล็อกมาใช้แทนเว็บไซต์ห้องสมุด เนื่องจากอัพเดทง่าย ไม่ต้องมีความรู้เรื่องโปรแกรมก็สามารถอัพเดทเว็บไซต์ของห้องสมุดได้แล้ว

ปัจจุบันบล็อกถูกนำมาใช้หลากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น :-
1. การสร้างบล็อกขององค์กร
2. การสร้างบล็อกเพื่อกระจายข่าวสาร
3. การสร้างบล็อกเพื่อสร้างเครือข่าย
4. การสร้างบล็อกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

บล็อกฟรีที่ผมแนะนำให้ใช้ คือ www.wordpress.com เพราะว่ามีลูกเล่นเยอะแถมคนเจอใน google ได้ง่ายอีกด้วย

ตัวอย่างบล็อกที่ผมแนะนำคือ บล็อกเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย http://www.libraryhub.in.th

เรื่องของบล็อกห้องสมุดหลายๆ แห่งชอบถามว่าเขียนเรื่องอะไรได้บ้าง ผมเลยทำตัวอย่างหัวข้อมาให้ดู ยังไงก็ลองเอาไปประยุกต์กันดูนะครับ
– รายชื่อหนังสือยอดนิยมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– กิจกรรมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– ประมวลภาพกิจกรรมวันเด็ก ณ ห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– ขอคำแนะนำ เรื่องหนังสือนิทานในห้องสมุดหลายเล่มถูกเด็กฉีก
– รวมภาพผลงานของเด็กๆ ที่เข้ามาวาดภาพ ระบายสีในห้องสมุด


เครื่องมือออนไลน์อีกตัวที่ไม่พูดไม่ได้แล้ว คือ Facebook

ห้องสมุดหลายๆ แห่งมี facebook แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร โพสแบบไหน
ดังนั้นผมจึงนำตัวอย่างการใช้งาน facebook มาให้ดู เช่น
– แนะนำหนังสือที่น่าสนใจในห้องสมุด
– ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น
– ทักทายพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการออนไลน์
– โปรโมทบล็อกหรือเว็บไซต์ของห้องสมุด
– เชิญเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุด
– ให้บริการออนไลน์
– โพสรูปกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด

นอกจากนี้ยังได้แนะนำเรื่องการดูสถิติการเข้า facebook ของผู้ใช้บริการ หรือ สมาชิกได้
โดยการตั้ง page ของห้องสมุดแล้วดูที่ “ดูอย่างละเอียด” จะพบข้อมูลการเข้าใช้ของสมาชิกดังรูป

รณีศึกษาการใช้ facebook ที่น่าสนใจดูได้ที่
http://www.facebook.com/thlibrary (กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย)
http://www.facebook.com/groups/133106983412927/ (กลุ่ม Librarian in Thailand)
http://www.facebook.com/groups/183430135056067/ (ชมรมบรรณารักษ์การแพทย์)

จบจากเรื่อง facebook ก็ต่อในเรื่องที่ใกล้ๆ กัน คือ Twitter
ห้องสมุดหลายๆ แห่งไม่รู้จัด twitter ซึ่งผมก็อธิบายแบบง่ายๆ ว่า
Twitter เป็นการโพสประกาศแบบสั้นๆ 140 ตัวอักษร ให้คนที่เป็นเพื่อนเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร
การใช้งาน twitter ที่ผมขอแนะนำ คือ การนำมาใช้ในการถ่ายทอดสดการสัมมนา หรือ การจัดกิจกรรมในห้องสมุด

ปิดท้ายด้วยการนำเสนอการใช้ไอทีแบบง่ายๆ สร้างงานแบบสร้างสรรค์
(นำเสนอตัวอย่าง infographic ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งใช้แค่โปรแกรม powerpoint เท่านั้น)
ลองอ่านเพิ่มเติมและชมภาพ infographic ได้ที่ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

ทิ้งท้ายไว้สักนิดให้คิดแล้วกันครับว่า “เปิดใจ และตามมันให้ทัน เรื่องไอทีไม่ยากเหมือนที่คิด”