บทความที่ผมกำลังจะนำมาให้เพื่อนๆ อ่าน เป็นบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในบล็อกของที่ทำงานผม
เกี่ยวกับเรื่อง “การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนของการมีห้องสมุดประชาชน”
เรื่องนี้ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการคิดเรื่องการประเมินห้องสมุดประชาชนอ่ะครับ
“ลงทุน 1 เหรียญได้คืนกว่า 4 เหรียญ” คือ บทสรุปอันมีชื่อเสียงของเกลน ฮอลท์ (Glen Holt) ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนเซนหลุยส์ ที่คำนวณออกมาให้เห็นว่า ทุกๆ หนึ่งเหรียญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีประจำปี ห้องสมุดได้บริหารและก่อให้เกิดประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้บริการเป็นมูลค่ามากกว่า 4 เหรียญ
จากคำกล่าวด้านบนทำให้เห็นว่า ในประเทศที่เจริญแล้วมักเห็นความสำคัญของการมีห้องสมุด ซึ่งนำมาอธิบายในเรื่องการลงทุนสำหรับการพัฒนาห้องสมุด โดยจะเห็นว่า เงินทุกเหรียญที่ผู้ใช้บริการจ่ายภาษีและเป็นงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด ห้องสมุดจะตอบแทนกลับคืนเป็น 4 เท่า
ผลตอบแทนที่ว่านี้อาจจะไม่ได้ตอบแทนเป็นเงินกลับสู่กระเป๋าผู้ใช้บริการหรอกนะครับ
แต่เป็นการตอบแทนในเรื่องของการพัฒนาสื่อต่างๆ และพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า เช่น
– ไม่ต้องซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะมาอ่านและยืมได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เอง เพราะมาอ่านได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อสื่อมัลติมีเดียเอง เพราะมาดู มาชม มาฟังได้ที่ห้องสมุด
– มานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ มาค้นข้อมูลได้ที่ห้องสมุด
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการวัดผล ประเมินความคุ้มค่า และผลตอบแทนของห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขที่เห็นชัดเจน ดูได้จากตารางด้านล่างนี้
จะสังเกตได้ว่าบางแห่งให้ผลตอบแทนมากถึง 6 เหรียญเลยทีเดียว เช่น ห้องสมุดประชาชนในรัฐฟลอริด้า บทความเรื่องผลตอบแทนของการมีห้องสมุดมีหลายบทความที่น่าอ่าน เช่น
– http://ila.org/advocacy/pdf/Ohio.pdf
– http://www.clpgh.org/about/economicimpact/
– http://www.lrs.org/public/roi/
เอาเป็นว่าก็ลองเข้าไปอ่านกันดูได้นะครับ
หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขในการคำนวณความคุ้มค่าเขาวัดจากไหน ผมจึงขอยกตัวอย่างสักเรื่องนะครับ “ในปี 2553 ห้องสมุดแห่งหนึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวน 3.5 ล้านคน และมีจำนวนการยืมสื่อในห้องสมุดจำนวน 6.4 ล้านรายการ หากตรวจสอบข้อมูลดูแล้วจะพบว่าหากผู้ใช้บริการเหล่านี้จ่ายเงินเพื่อซื้อสื่อเหล่านี้ พวกเขาจะต้องจ่ายเงินมากถึง 378 เหรียญต่อคนเลย”
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมในการคำนวณผลตอบแทนของห้องสมุดด้วย ซึ่งห้องสมุดต่างๆ ก็เพียงแค่กรอกข้อมูลลงในตามฟอร์มต่างๆ แล้วให้โปรแกรมคำนวณออกมาก็จะรู้แล้วครับว่า ห้องสมุดตอบแทนผู้ใช้บริการคืนกลับมาเท่าไหร่ เราไปดูหน้าตาของโปรแกรมตัวนี้กัน
เมื่อกรอกข้อมูลการใช้บริการในส่วนต่างๆ ตามที่โปรแกรมกำหนดแล้ว โปรแกรมจะคำนวณค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในการลงทุน และวัดความคุ้มค่าของการใช้บริการห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขต่างๆ ดังภาพ
เป็นยังไงกันบ้างครับโปรแกรมแบบนี้น่าสนใจใช่มั้ยหล่ะครับ ผมเองก็อยากให้เกิดในเมืองไทยเช่นกัน
ยังไงก็ฝากไปถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนที่อำนาจในการตัดสินใจด้วยแล้วกันครับ
ต้นฉบับที่ผมเขียนสามารถดูได้จาก http://kindaiproject.net/kmshare-blog/cost-benefit-analysis-for-libraries.html#
ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ ครับ อยากให้เมืองไทยเป็นแบบนี้บ้างจริงๆ