แนะนำหนังสือดีๆ มาพบกับเพื่อนๆ อีกแล้วนะครับ ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะมากๆ เลยเนื่องจากอ่านเพื่อให้หายเครียดเรื่องน้ำท่วมอ่ะครับ (แอดมินกลายเป็นผู้ประสบภัยไปซะแล้ว) เมื่อวานเขียนเรื่อง “Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน” ดังนั้นวันนี้จึงขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่อง “การอ่านหนังสือ” แล้วกันครับ
ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : 20 คมคิด ฝ่าวิกฤตการอ่าน
สำนักพิมพ์ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ISBN : 9786167197296
จำนวนหน้า : 63 หน้า
ปีพิมพ์ : 2552
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมมุมมองและข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมการรักการอ่านจากบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่และเกี่ยวข้องกับการอ่าน
เอาเป็นว่าแต่ละคนกล่าวอะไรไว้บ้าง ลองอ่านได้เลยครับ (ปล. ตำแหน่งของบุคคลหลายๆ คนเป็นตำแหน่งในช่วงปี 2552 นะครับ)
1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : นายกรัฐมนตรี
“การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรงพลังสำหรับมวลมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งสำหรับคนทุกคน”
2. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
“การเติมเต็มการศึกษาตลอดชีวิต ให้ประชาชนมีความสามารถในการอ่าน การแสวงหาความรู้ เข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา จากสื่อและวิธีการที่หลากหลายในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”
3. ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ : อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
“รัฐบาลทุกชุดต้องทำเรื่องนี้ เพราะนโยบายรักการอ่านสำคัญมาก และคนในสังคมต้องเข้าใจว่า สังคมดีขึ้นต้องมาจากการศึกษาดี คุณภาพการศึกษาดี ต้องอ่านและเขียน เพราะนี่คือทักษะสำคัญในการครองชีพ”
4. ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล : ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
“ถ้าเราส่งเสริมการอ่านอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีหนังสือดีๆ อะไรให้อ่าน ก็ไม่เกิดผล แต่ในขณะเดียวกันหากมีหนังสือออกมากองจำนวนมาก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการอ่าน หนังสือก็จะกองอยู่อย่างนั้น ไม่มีคนอ่าน ทั้งนี้หนังสือจะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อได้รับการจับต้อง ได้รับการอ่าน”
5. คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต : นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
“รัฐบาลต้องมีนโยบายการอ่านแบบครบวงจร คือ ส่งเสริมให้มีนักเขียนที่ดี ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์สามารถจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณภาพ และมีช่องทางในการจำหน่ายที่กระจายไปอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดโรงเรียน มีกิจกรรมซึ่งสามารถจูงใจให้เด็กเข้าห้องสมุด รวมทั้งดึงเอาคนในชุมชนมาช่วยกันทำงานในห้องสมุด”
6. ชมัยภร แสงกระจ่าง : นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
“ทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น จัดกลุ่มนักอ่าน อ่านแล้วเล่าสู่กันฟัง สร้างครอบครัวรักการอ่าน สร้างมุมการอ่านทุกที่ทุกเวลา ทำให้หนังสือราคาถูกและดี การยกย่องและให้กำลังใจนักอ่านและนักเขียนให้มากกว่าดารา”
7. ริสรวล อร่ามเจริญ : นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
“ทุกวันอาทิตย์ในรายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชน ควรให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวว่า ผู้นำประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่าน”
8. ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน : นายกสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย
“ภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดพลังทางสังคม ควรจะต้องสร้างนโยบายหลักเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยว่าต้องการให้เป็นเช่นใด”
9. เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป : กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
“การอ่าน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ การสร้างนิสัยรักการอ่านจึงต้องทำในทุกกลุ่มอายุ คือ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป”
10. ผาณิต เกิดโชคชัย : ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์การเรียนรู้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การใช้นโยบายภาษีในเชิงส่งเสริมผู้ประกอบการที่สัมพันธ์กับการอ่าน เพื่อให้มีต้นทุนที่เหมาะสมและเอื้อให้ผู้ซื้อมีอำนาจเป็นเจ้าของหนังสือหรือสื่อเรียนรู้เป็นของตนเองได้”
11. พฤหัส พหลกุลบุตร : ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา กลุ่มมะขามป้อม
“เด็กต้องเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมเองจึงจะมีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเขาทำให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นรูปธรรมจริงๆ และยั่งยืน”
12. ทศสิริ พูลนวล : บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
“รัฐต้องเริ่มจากแผนพัฒนาทุนมนุษย์ ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ในอีกกี่ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องการประชากรที่มีทักษะชีวิตด้านใดบ้าง ประชากรของประเทศต้องพึ่งพาตนเองได้ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ซึ่ง “การอ่าน” อยู่ในฐานะเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด”
13. จรัญ มาลัยกุล : มูลนิธิกระจกเงา
“ผู้ใหญ่เองก็ต้องอ่านด้วย อย่าไปคิดแค่ให้เด็กอ่านเท่านั้น ผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงว่าการอ่านนั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ไม่ใช่ปัญหาของเด็ก”
14. เข็มพร วิรุณราพันธ์ : ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สสส.
“การอ่านควรเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ควรแทรกอยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งบูรณาการอยู่ในหลายๆ เรื่อง ไม่ควรแยกออกไปต่างหาก เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็ก ถ้าจะทำยุทธศาสตร์เพื่อเด็ก การอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลให้ได้”
15. ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ : สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ (สพร.) สำนักงาน กศน.
“ทุกๆ หน่วยของสังคมต้องช่วยกันสร้างกระบวนรัการอ่าน และควรที่จะสร้างค่านิยม “การอ่าน” ให้เป็นคุณลักษณะจำเป็นขั้นพื้นฐาน”
16. ดร.กมล รอดคล้าย : ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
“ส่งเสริมการอ่านโดยระดมสรรพกำลัง ทำให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลยุทธ์นอกกรอบ คือ มีนวัตกรรม เทคนิค วิธีการรูปแบบใหม่ๆ ที่จูงใจคนให้อ่านหนังสือ โดยอาจศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับคนไทย”
17. ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม : ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
“การส่งเสริมการอ่านต้องเริ่มจากเด็กเล็กๆ ระดับปฐมวัย ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ Bookstart จึงอยู่ที่ความเข้าใจของพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็ก”
18. ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ : โครงการบริการวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
“ผู้ใหญ่ต้องช่วยดูแลให้เด็กอ่านหนังสือ หาหนังสือให้เด็กอ่าน ตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ปล่อยปละละเลย ซื้อหนังสือให้เด็ก แทนการให้เด็กเล่นแต่คอมพิวเตอร์”
19. สรวงธร นาวาผล : กลุ่ม We are happy
“หนังสือต้องอยู่ในใจเด็ก ให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จากการอ่านหนังสือ ได้เป็นเจ้าของ และมีความสุขกับหนังสือ โดยสร้างสุขภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านทั้งใน ครอบครัว และชุมชน”
20. วันทนีย์ นามะสนธิ : ผู้ช่วยกรรมการ สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
“ทุกคนในสังคมไทยประสานความร่วมมือกันสร้างสังคมแห่งการอ่าน อาทิ ผู้นำทางความคิด/ผู้นำทางสังคม มีนิสัยรักการอ่าน และเป็นต้นแบบอันดีให้กับเยาวชน และประชาชนในสังคม”
เป็นยังไงกันบ้างครับ ได้รับข้อคิดดีๆ เพียบเลยใช่มั้ยครับ
นี่แหละครับอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า สังคมไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับการอ่านอยู่นะครับ
ผมเองก็อยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆ ยิ่งอ่านมากภูมิคุ้มกันทางปัญญายิ่งมีมากเช่นกัน
ปล. หนังสือเล่มนี้สามารถยืมอ่านได้ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุด TK park นั่นเอง
Leave a Reply