10 เรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์โดนใจในปี 2012

รายงานผลเรื่องฮอตฮิตของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยประจำปี 2012 มาแล้วครับ
วันนี้นายห้องสมุดจะมารายงานให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกัน

Libraryhub บล็อกอันดับหนึ่งวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยก็เปิดมาได้ 3 ปีกว่าๆ แล้วนะครับ
เรื่องที่เขียนก็มีประมาณเกือบๆ 700 เรื่อง ซึ่งสำหรับปี 2012 นี้ผมเขียนได้จำนวน 80 เรื่องเอง
(นับว่าเขียนได้น้อยมากๆ)

แต่เอาเป็นว่าเรื่องราวที่เขียน ในปี 2012 นี้ เรื่องไหนจะเป็นเรื่องที่เด่นบ้างโปรดติดตาม

10 เรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์โดนใจในปี 2012 ได้แก่

อันดับที่ 1 งานบรรณารักษ์ หลายที่ หลายตำแหน่ง มาเสิร์ฟแล้ว

อันดับที่ 2 ตัวอย่างกิจกรรมห้องสมุดโรงเรียน : ครูดีเด่นกับการใช้ห้องสมุด

อันดับที่ 3 นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

อันดับที่ 4 ศูนย์สร้างสุข บ้านหลังใหม่ของ สสส. รับบรรณารักษ์ 1 อัตรา

อันดับที่ 5 ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับสมัครบรรณารักษ์

อันดับที่ 6 ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

อันดับที่ 7 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (หลักสี่) รับสมัครบรรณารักษ์ด่วนที่สุด

อันดับที่ 8 บรรณารักษ์ต้องไม่พลาดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2555

อันดับที่ 9 SE-ED รับสมัครบรรณารักษ์ 2 ตำแหน่งนะครับ

อันดับที่ 10 บรรณารักษศาสตร์ เท่ากับ สารสนเทศศาสตร์ หรือไม่

เป็นยังไงกันบ้างครับ ตามที่คาดกันเลยหรือปล่าว
สำหรับผมก็ไม่แปลกใจเลยที่เห็นเพราะคิดไว้แล้วว่าที่ 1 คงต้องเกี่ยวกับเรื่อง “หางาน” แน่ๆ
สำหรับวันนี้ก็ขอนำเสนอเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ

ปล. เรื่องในบล็อกของผมทั้งหมดจริงๆ ยังมีอีกมากนะครับ แต่ที่วัดของปีนี้คงจัดลำดับได้เพียงเท่านี้

หมายเหตุ ผลสรุปนี้วัดจากเครื่องมือ google analytics

ข้อมูลจากวันที่ 1 มกราคม – 26 ธันวาคม 2555

ศูนย์สร้างสุข บ้านหลังใหม่ของ สสส. รับบรรณารักษ์ 1 อัตรา

คำค้นแห่งปี 2012 ในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

ในช่วงก่อนสิ้นแบบนี้ หลายๆ เว็บไซต์ หลายๆ บล็อกก็ทำการสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ซึ่งการสรุปข้อมูลบนเว็บไซต์ก็สามารถสรุปได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การสรุปผลจากคำสืบค้น(Keyword Search)” นั่นเอง เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Google ก็มีการสรุปคำสืบค้นยอดฮิตแห่งปีอยู่แล้ว หรือที่เราเรียกว่า Google Zeitgeist

บล็อก Libraryhub ของผมเองซึ่งเป็นตัวแทนของบล็อกห้องสมุดและวงการบรรณารักษ์ไทย ก็อยากทราบเช่นกันว่า “คำค้นยอดฮิต (Keyword Search)” ที่ทำให้เพื่อนๆ เข้ามาเจอบล็อกของผมได้มีคำว่าอะไรบ้าง

บล็อกของผมจะประมวล “คำค้นยอดฮิต (Keyword Search)” ได้อย่างไร
คำตอบ คือ ผมใช้ Google Analytics สรุปข้อมูลให้ครับ
เอาหล่ะไปดูกันเลยครับ

20 คำค้นยอดฮิต (Keyword Search) ของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย มีดังนี้
(ข้อมูลประมวลจากวันที่ 1 มกราคม – 16 ธันวาคม 2555)

1. บรรณารักษ์
2. หอสมุดแห่งชาติ
3. ห้องสมุดมารวย
4. ห้องสมุด 3 ดี
5. งานบรรณารักษ์
6. หอสมุดแห่งชาติ เวลาทําการ
7. สมัครงานบรรณารักษ์
8. libraryhub
9. หางานบรรณารักษ์
10. library hub
11. ห้องสมุด
12. หน้าที่ของบรรณารักษ์
13. ห้องสมุดโรงเรียน
14. หน้าที่บรรณารักษ์
15. รับสมัครบรรณารักษ์
16. ป้ายนิเทศ
17. ห้องสมุด3ดี
18. การจัดป้ายนิเทศ
19. หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
20. กิจกรรมห้องสมุด

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ คำสืบค้นเหล่านี้เองที่ทำให้เพื่อนๆ หลายคนเข้ามาเจอบล็อกของผม

การที่ผมนำคำสืบค้นเหล่านี้มาลงให้เพื่อนๆ ดู มันมีประโยชน์อย่างไร
มันเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเลือกเรื่องที่จะเขียนในบล็อกของผมนั่นเอง
ผมก็แค่ดูว่าเพื่อนๆ กำลังค้นหาอะไรเยอะ แล้วก็เขียนเรื่องที่ครอบคลุมกับคำสืบค้นมากๆ
มันก็จะทำให้เพื่อนๆ เจอบล็อกของผมบ่อยๆ และทำให้มีสมาชิกหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอสรุป “คำสืบค้นยอดฮิต” ก่อน วันหลังจะนำเสนอข้อมูลสรุปเกี่ยวกับบล็อกห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ที่ชื่อ “Libraryhub” ด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ

นายห้องสมุดพาเที่ยวงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยทุกท่าน วันนี้นายห้องสมุดขอพาไปชมงาน “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9” นะครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องาน : “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9”
วันเวลาในการจัดงาน : เริ่มวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2555 – 16 กุมภาพันธ์ 2556 (ทุกวันเสาร์) เวลา 16.00-17.30 น.
จัดโดย : มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

งานเทศกาลนิทานในสวนจัดมาแล้วหลายปี กิจกรรมนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องและความน่าสนใจของงานนี้ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน งานเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่านิทาน รวมถึงการเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 5

สวนสาธารณะที่จัดงานนี้มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน ดังนี้
1. สวนลุมพินี (วันที่ 8, 15, 22 ธันวาคม 2555 และ 5 มกราคม 2556)
2. สวนรถไฟ (วันที่ 12, 19, 26 มกราคม และ 2 กุมภาพันธ์ 2556)
3. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (วันที่ 9, 16 กุมภาาพันธ์ 2556)

ภายในงานเทศกาลนิทานในสวนมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
– การแสดง (ละครนิทาน)
– แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน
– ลานเสวนา
– งานประดิษฐ์
– ป้ายนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่านิทาน
– หนังสือนิทานภาพที่น่าสนใจให้เด็กๆ และพ่อแม่หยิบอ่าน


ความประทับใจในงานนี้ของผม คือ
– ได้เห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มานั่งฟังนิทานและอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน
– ได้ข้อมูลและข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง
– กิจกรรมครอบครัวที่น่าสนใจ

ชมวีดีโอที่ผมถ่ายมาเป็นตัวอย่างงานได้ที่ http://socialcam.com/v/COBamROb

เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะถ่ายภาพกำหนดการของงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9 ให้เพื่อนๆ ได้ดูและถ้าว่างก็ลองมาเข้าร่วมงานดูนะครับ

ในวันที่ผมมานี้ได้มีโอกาสดูละครนิทานเรื่อง “บ้านหลังน้อยยามค่ำคืน” โดยกลุ่มนิทานกระดานหก ได้ฟังประสบการณ์ในการเล่านิทานจาก ผศ. รพินทร คงสมบูรณ์ (อาจารย์ภาคบรรณฯ จาก มศว.) แถมด้วยเสวนา “รักลูกให้ถูกทางอย่างพ่อแม่มืออาชีพ” โดย พญ. ปริชวัน จันทร์ศิริ

เอาเป็นว่ายังมีอีกหลายสัปดาห์ที่จัดนะครับ แนะนำให้มาลองฟังดูแล้วจะรู้ว่าน่าประทับใจจริงๆ

ภาพบรรยากาศในงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

[nggallery id=62]

10 อย่างที่นายห้องสมุดต้องทำให้ได้ภายในปี 2556

ไปดูหนังเรื่อง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” แล้วเอาข้อคิดจากในหนังมาเล่าให้เพื่อนๆ ชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้อ่านครับ ประเด็นในหนังที่ผมชอบมากตอนหนึ่ง คือ เรื่องการวางแผนในอนาคต เราเคยตั้งความหวังอะไรกันบ้างหรือเปล่า สำหรับผมพอออกจากโรงหนังมาก็เริ่มคิด และเรียบเรียงออกมาสัก 10 ข้อแบบคร่าวๆ เหมือนกัน ลองอ่านกันดูนะ

10 อย่างที่นายห้องสมุดต้องทำให้ได้ภายในปี 2556
1. ต้องลองไปออกค่ายพัฒนาห้องสมุดกับเพื่อนๆ ให้ได้สักครั้งนึง
2. ต้องเขียนรีวิวหนังสือดีๆ ให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 เล่ม
3. ต้องไปเยี่ยมห้องสมุดอื่นๆ ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 แห่ง
4. ต้องปรับปรุงบล็อก libraryhub ใหม่
5. จัดกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook
6. จัดทำของที่ระลึกสำหรับเพื่อนๆ ที่รักในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์
7. ต้นแบบอะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย สัก 2-3 ชิ้น
8. เขียนบทความหรือจัดทำหนังสือของตัวเองให้ได้สัก 1 เล่ม
9. บรรยายเกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดให้ได้สัก 10 ครั้ง
10. เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ให้ได้อย่างน้อย 4 เรื่อง

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ผมต้องการจะทำในปี 2556 นะครับ
ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน แต่บันทึกนี้ผมจะจำเอาไว้
และนำมาเล่าให้ฟังในปีหน้าว่าอะไรที่สำเร็จ อะไรที่ไม่สำเร็จ

แต่ถึงที่สุดแล้วก็อยากให้ทำได้สำเร็จทุกอย่างจริงๆ เป็นกำลังใจให้ผมด้วยแล้วกันนะครับ

บรรณารักษ์แนะนำ app : หนอนหนังสือไม่ควรพลาด Goodreads

นานๆ ทีจะมาเขียนบล็อกให้เพื่อนๆ อ่าน วันนี้ผมเลยขอเปิดประเด็นใหม่ซึ่งอยากให้เพื่อนๆ ลองอ่าน
นั่นคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการแนะนำ App ในโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet ที่น่าสนใจ
ซึ่ง app ที่แนะนำในบล็อกนี้จะเกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์ รวมไปถึงคนที่ชอบอ่านหนังสือด้วย

วันนี้ผมขอแนะนำ App ที่เกี่ยวข้องกับคนชอบอ่านหนังสือแล้วกัน
และที่สำคัญ App นี้มาจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ผมชอบใช้ในการบรรยายของผมมากๆ
เว็บไซต์ที่ว่านี้ คือ www.goodreads.com นั่นเอง

เว็บไซต์ goodreads มีความน่าสนใจตรงที่ว่า มันเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์หนึ่งที่รวบรวมคนที่รักการอ่านจากทั่วโลก มีการแนะนำหนังสือต่างๆ มากมายหลายภาษา มีการพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ การวิจารณ์หนังสือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับหนังสือมากมาย เอาเป็นว่าคอหนังสือหรือเหล่าหนอนหนังสือไม่ควรพลาด ที่สำคัญเว็บไซต์นี้ไม่ได้มีแต่หนังสือภาษาอังกฤษเท่านั้นแต่ยังมีหนังสือ วรรณกรรม เรื่องสั้น ของไทยอยู่เยอะพอสมควรเลย

“เพื่อนๆ อยากรู้มั้ยครับว่ามีคนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกับเพื่อนๆ กี่คน และเข้ารู้สึกยังไงกับหนังสือเล่มนั้น”

“คนที่วางแผนจะซื้อหนังสืออ่สนสักเล่มอยากรู้มั้ยครับว่าหนังสือเล่มที่เรากำลังจะซื้อมีคนพูดถึงอย่างไร”

“คนที่อ่านหนังสือไปแล้วสามารถแชร์ความประทับใจหรือพูดคุยกับคนที่อ่านเล่มเดียวกันได้”

เมื่อรู้แล้วว่าเว็บไซต์นี้ดีขนาดไหน ผมเชื่อว่าถ้าเพื่อนๆ มีโทรศัพท์ smartphone หรือ tablet คงจะต้องไม่พลาดกับ app ของเว็บไซต์นี้ “Goodreads”


ใน app “goodreads” มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
– ค้นหาหนังสือ
– หนังสือของเรา (My book)
– ประวัติส่วนตัว (My profile)
– กลุ่มของฉัน (My group)
– อัพเดท หรือ หนังสือมาใหม่ หรือ วิจารณ์หนังสือล่าสุด (Update)
– เพื่อนของฉัน (My friends)
– สแกนหนังสือ หรือ เพิ่มหนังสือเข้าระบบ (Barcode scan)


กรณีถ้าเพื่อนๆ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของเว็บไซต์นี้ เพื่อนจะสามารถเข้าได้แค่ ค้นหนังสือ กับ การอ่านวิจารณ์หนังสือล่าสุดเท่านั้น ในเมนูอื่นๆ เพื่อนๆ จะเข้าไม่ได้ แต่เพื่อนๆ ก็สามารถที่จะสมัครสมาชิกใน app นี้ได้เลย เพียงแค่เพื่อนๆ มี facebook app นี้จะเชื่อมต่อกับ facebook ทำให้เพื่อนๆ ไม่ต้องกรอกข้อมูลอะไรมากมาย (สมัครสมาชิกง่ายมากๆ)


สำหรับคนที่ใช้ android สามารถเข้าไป search หา “Goodreads” ใน https://play.google.com/store
สำหรับคนที่ใช้ IOS ก็เข้าไปหาได้ที่ App Store นะครับ

เอาเป็นว่าก็ลองเข้าไปสมัครและเล่นกันดูนะครับ วันนี้ผมก็ขอแนะนำ app นี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน
ชมภาพการใช้งานของผมได้จากด้านล่างเลยครับ หากเพื่อนๆ มีข้อสงสัยประการใดก็สอบถามมาได้นะครับ

ภาพตัวอย่างการใช้งาน app goodreads

 
รายละเอียดของหนังสือ
มีข้อมูลนักเขียนด้วย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศรับสมัครบรรณารักษ์

งานบรรณารักษ์มาอีกแล้วครับท่าน… ใครที่กำลังมองหางานบรรณารักษ์อยู่ รีบมาอ่านเรื่องนี้เลยนะครับ งานบรรณารักษ์ที่ผมจะแนะนำวันนี้เป็นงานลูกจ้างโครงการนะครับ งานนี้เป็นของหน่วยงานองค์การมหาชนแห่งหนึ่งนะครับ ชื่อหน่วยงาน คือ “สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่อตำแหน่ง : บรรณารักษ์
ลักษณะงาน : ลูกจ้างโครงการ
จำนวน : 1 ตำแหน่ง
สังกัด / หน่วยงาน : ห้องสมุดด้านเทคโนโลยีสำรวจโลกและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

อย่างที่บอกครับว่าเป็นองค์การมหาชน ดังนั้นเรื่องสวัสดิการผมว่าน่าจะได้มากกว่าหน่วยงานภาครัฐนะครับ แต่ก็ไม่แน่ใจนะว่าจะได้มากกว่าแค่ไหน ยังไงคงต้องลองดูเอง

เรื่องหน้าที่ของงานผมก็ไม่แน่ใจนะครับ (เพราะในใบประกาศรับสมัครไม่ได้แจ้งไว้)

คุณสมบัติของคนที่จะสมัครในตำแหน่งนี้ มีดังนี้
1. ปริญญาตรีขึ้นไป สาขาบรรณารักษศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
2. อายุไม่เกิน 30 ปี
3. มีความรู้ด้านการให้บริการในห้องสมุด
4. มีความรู้การจัดหนังสือแบบดิวอี้
5. มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์
6. มีความสามารถในการประสานงานได้ดี
7. มีความรู้ด้านการใช้ภาษาอังกฤษ

หากเพื่อนๆ สนใจผมว่าต้องรีบแล้วหล่ะครับ เพราะว่ารับถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เท่านั้น
รายละเอียดอื่นๆ สามารถติดตามได้ที่ http://www.gistda.or.th/gistda_n/dmdocuments/p-20121123-librarian-1.pdf

เอาเป็นว่าผมก็ขอให้เพื่อนๆ โชคดีครับ

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด

เมื่อวันก่อนที่ผมแนะนำหนังสือ “ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)” ซึ่งหนังสือเล่มนี้อย่างที่ผมบอกอ่ะครับว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย วันนี้ผมจึงขอนำเสนอสักเรื่องที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเข้ากับงานห้องสมุดและบรรณารักษ์


โดยตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เป็นเพียงบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “ทำตามการให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล” อยู่ในภาคที่สอง

มองในมุมที่ “แอปเปิล” เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจดังนั้นเรื่องการให้บริการลูกค้ามีความสำคัญมากๆ ซึ่งการที่ห้องสมุดอยู่ในฐานะของการให้บริการความรู้นั้น ผมก็มองว่าถ้าเราเน้นการให้บริการแบบเชิงรุกและเน้นผู้ใช้บริการ มันก็จะทำให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดประทับใจเช่นกัน (บทความนี้ผมว่าบรรณารักษ์ที่อยู่ในฝ่ายบริการและเคาน์เตอร์ควรอ่านมากๆ)

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) มีดังนี้
A – Approach – เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
P – Probe – สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
P – Present – นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
L – Listen – รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
E – End – จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เพื่อนๆ เคยเจอประโยคเล่านี้หรือไม่
“โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ / ค่ะ” “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มหรือเปล่าครับ / ค่ะ”
ประโยคส่งท้ายและเชื้อเชิญลูกค้าให้กลับมา สิ่งนี้แหละที่ห้องสมุดน่าทำบ้าง

“แอปเปิล” นำเสนอมาบางข้อห้องสมุดก็ทำอยู่แล้ว เอาเป็นว่าลองมาดูกันดีกว่าครับว่าถ้าจะนำมาใช้ จะใช้อย่างไรดี

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) สู่การประยุกต์ใช้ในห้องสมุด

ข้อที่ 1 เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
การสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการเมื่อแรกพบเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยเบื้องต้นแล้วรอยยิ้มถือว่าสำคัญมากๆ เมื่อผู้ใช้เดินเข้ามาในห้องสมุดการทักทายผู้ใช้บริการ เช่น “สวัสดีครับ ห้องสมุดยินดีให้บริการ” “ห้องสมุดยินดีต้อนรับครับ” คำทักทายแบบเป็นกันเองจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ไม่เครียดและสามารถพูดคุยและตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ลองคิดนะครับ “ถ้าเราเป็นผู้ใช้บริการแล้วเดินเข้ามาที่ห้องสมุดเจอบรรณารักษ์ทำหน้ายักษ์ใส่เราจะกล้าถามอะไรมั้ย” เอาเป็นว่าการสร้างความประทับใจเบื้องต้นของผมที่จะแนะนำคือ “รอยยิ้ม” ครับ

ข้อที่ 2 สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
ผู้ใช้บริการบางท่านเมื่อเข้ามาที่ห้องสมุดเขาอาจจะต้องการความรู้หรือคำตอบอะไรสักอย่าง การทีบรรณารักษ์เป็นคนเปิดคำถามถามผู้ใช้บริการ ผมว่ามันก็สมควรนะครับ ผู้ใช้บริการบางท่านเป็นคนขี้อาย (ผมก็เป็นนะไม่กล้าเดินมาถามบรรณารักษ์) บรรณารักษ์ที่ต้อนรับจากข้อที่ 1 เมื่อยิ้มแล้วลองถามผู้ใช้บริการดูว่า “ต้องการมาค้นเรื่องอะไรครับ” “อยากทราบเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือปล่าว” ผู้ใช้ก็จะบอกความต้องการกับเราเอง อันนี้ผมว่าน่าสนใจดีครับ

ข้อที่ 3 นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
ถ้าผู้ใช้บริการถามถึงสิ่งที่ไม่มีในห้องสมุด บรรณารักษ์สามารถหาข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น ผู้ใช้บริการต้องการงานวิจัยจากต่างประเทศแล้วห้องสมุดของเราไม่มี และพอจะรู้ว่าในฐานข้อมูล สกอ. ก็สามารถแนะนำหรือแนะให้ไปค้นที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็ได้ สรุปง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์ห้ามตอบว่าไม่รู้หรือไม่ทราบเด็ดขาด แม้แต่เรื่องที่ไม่รู้จริงๆ ก็ต้องค้นคำตอบจากอินเทอร์เน็ตหรือบอกกับผู้ใช้ว่าจะหาคำตอบมาให้ในโอกาสหน้า

ข้อที่ 4 รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
ผู้ใช้บางท่านอาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าต้องการหนังสืออะไร เช่น พ่อแม่มือใหม่อาจต้องการคำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูก บรรณารักษ์ควรจะรับฟังปัญหาและสามารถแนะนำหนังสือที่มีในห้องสมุด หรือแนะนำแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมให้กับพ่อแม่มือใหม่เหล่านั้นได้ ข้อนี้ต้องบอกตรงๆ ครับว่า บรรณารักษ์ยุคใหม่ไม่ใช่แค่คนค้นหนังสือตามที่ผู้ใช้ต้องการแล้ว แต่ต้องสามารถเลือกหนังสือที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้

ข้อที่ 5 จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่
เมื่อทักทายแล้วก็ต้องมีการบอกลาประโยคบอกลาผู้ใช้บริการและเชิญชวนให้เขากลับมาใช้บริการใหม่ อาจจะเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ผมว่ามันเป็นการใส่ใจรายละเอียดที่ผู้ใช้บริการก็ต้องการเช่นกัน

สรุปขั้นตอนจากเรื่องนี้ (การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด)
ทักทายต้อนรับ – ถามความต้องการ – แนะนำหนังสือให้ผู้ใช้ – แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ – อำลาและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เอาเป็นว่าบางข้อผมว่าเพื่อนๆ ก็ทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ลองเอามาปรับและเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับบริบทของห้องสมุดดูแล้วกันนะครับ

นายห้องสมุดชวนอ่าน ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)

วันสบายๆ วันนี้ นายห้องสมุดขอแนะนำหนังสือสักเล่มแล้วกัน นั่นคือหนังสือ “ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)” แบบว่าหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ เพราะมีแง่คิดที่ผมว่าคนทำงานด้านบริการควรเก็บมาคิดหลายเรื่อง เอาเป็นว่าลองอ่านบล็อกเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อหนังสือ : ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)
ผู้เขียน : Carmine Gallo
ผู้แปล : ศรชัย จาติกวาณิช
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล
ปีพิมพ์ : 2555
จำนวนหน้า : 304 หน้า
ISBN : 9786167060392
ราคา : 239 บาท

ในยุคนี้หากพูดถึง “แอปเปิล” ผมเชื่อว่าน้อยคนจะบอกว่าไม่รู้จัก
Mac, Iphone, Ipad, IPOD ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าชื่อดังของ “แอปเปิล”
การที่บริษัทแอปเปิลเติบโตและเป็นที่รู้จักของโลก นั่นแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของบริษัทแห่งนี้

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชม “แอปเปิล” ไม่ใช่แค่เพียงสินค้าที่เขาจำหน่ายเท่านั้น
แต่ความคิดของ “แอปเปิล” ในแง่ต่างๆ ที่ผมชอบ ไม่ว่าจะเป็นแง่คิดตอนที่แอปเปิลทำ ipod
หรือแม้กระทั่งแง่คิดของการออกแบบร้านของ “แอปเปิล” หรือที่เราเรียกว่า “Apple Store

หนังสือเล่มนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่น่าสนใจ (สารบัญ) หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาคใหญ่ๆ คือ

ภาค 1 จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าภายในของคุณ
– ฝันไปให้ไกลกว่าเดิม
– จ้างมายิ้ม
– บ่มเพาะพนักงานที่ไม่กลัว
– สร้างความไว้วางใจ
– จัดให้มีระบบข้อมูลป้อนกลับ
– พัฒนาพนักงานหลายมือ
– มอบอำนาจให้พนักงานของคุณ

ภาค 2 ให้บริการลูกค้าภายนอก
– ทำตามการให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล
– ตั้งนาฬิกาในตัวลูกค้าของคุณใหม่
– ขายประโยชน์
– ปลดปล่อยอัจฉริยะภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวลูกค้า
– สร้างสรรค์ช่วงว้าว
– ฝึกฝนสคริปต์
– ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย

ภาค 3 จัดเวที
– กำจัดความรกรุงรัง
– ใส่ใจในรายละเอียดของแบบ
– ออกแบบประสบการณ์ที่สัมผัสได้หลายมิติ
– สรุป: จิตวิญญาณของแอปเปิล

แค่เห็นสารบัญผมว่าหลายๆ คนก็เริ่มสนใจแล้วใช่มั้ยหล่ะครับ เอาเป็นว่าก็ลองไปหาอ่านได้ที่ร้านหนังสือใกล้บ้านหรือไม่ก็ห้องสมุดกันดูนะครับ (ถ้าไม่มีในห้องสมุดก็เสนอรายชื่อนี้ให้ห้องสมุดซื้อให้ได้นะ)

ปล. หนังสือเล่มนี้ตั้งใจซื้อมาเพื่อแจกเป็นรางวัลให้กับคนที่เล่นกิจกรรมบน
Facebook เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

กิจกรรมแจกหนังสือ : เว็บไซต์ห้องสมุดควรมีอะไรเพิ่มเติม

เรื่องของเว็บไซต์ห้องสมุดเป็นเรื่องที่ผมถูกถามบ่อยมากๆ ว่า “เว็บห้องสมุดควรจะมีอะไรนอกเหนือจากความสามารถในการสืบค้นหนังสือของห้องสมุด” ซึ่งผมเองเวลาไปบรรยายที่ไหนก็ตาม ผมก็จะยกเรื่องนี้มาพูดเช่นกัน …

ล่าสุดผมเลยจัดกิจกรรมนึงขึ้นมา คือ “กิจกรรมที่ให้เพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ช่วยกันเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวกับเว็บไซต์ห้องสมุด” โดยคำถามมีอยู่ว่า “ท่านคิดว่าเว็บไซต์ห้องสมุดควรมีอะไรอีก นอกจากการสืบค้นหนังสือในห้องสมุด” และใครที่ตอบได้ถูกใจผมมากที่สุด ผมจะมอบหนังสือให้เป็นรางวัล

เอาหล่ะครับ เรามาดูคำตอบของเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์กันดีกว่า

คำตอบจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม Librarian in Thailand

สุวิมล แสงม่วง – มีการแนะนำหนังสือที่น่าอ่าน คะ
Itj Pally Punyoyai – มีแฟนเพจห้องสมุดดีมั๊ยค่ะ ประมาณ แฟนพันธ์แท้ห้องสมุดอ่ะค่ะ
Aobfie Thiyaphun –  มีชีวิตชีวา..แลดูน่าใช้ อยากรู้เรื่องใดถามได้ทุกครา..(มีบรรณารักษ์ออนไลน์..
คอยให้ความช่วยเหลือและตอบคำถามค่ะ)
MineMim BabyBee – ความรู้ทั่วไปค่ะ ^^
Maymon Unratana – มีข่าวสารกิจกรรมให้ผู้ใช้ได้ร่วมสนุก เช่น กิจกรรมตอบคำถามในการสืบค้นฐานข้อมูลต่างๆ มีแฟนเพจเฉพาะของห้องสมุด แนะนำหนังสือใหม่ บทความแนะนำการสืบค้น วิดีโอแนะนำการใช้ห้องสมุด เป็นต้นค่ะ
Prissana Sirikul – ประชาสัมพันธ์หนังสือ – กิจกรรมห้องสมุดค่ะ
Podjamand Boonchai – เว็บควรมีเกมส์ชิงรางวัลอย่างนี้เยอะๆค่ะ
เมย์ เมย์ – ข่าวสารที่ทันสมัย..และกิจกรรมต่างๆภายในห้องสมุดค่ะ.
Cybrarian Cyberworld – แนะนำหนังสือใหม่ แนะนำบริการและแหล่งเรียนรู้ภายในห้องสมุด ที่สำคัญที่สุด แนะนำบุคลากรของหน่วยงานห้องสมุดด้วย
กุ้ยช่าย ยิ้มแป้นเล่น – มีข่าวสารแวดวงห้องสมุดอื่นๆ
นม ยัง อึน – นำเสนอข่าวที่อยู่ในกระแสปัจจุบันที่เป็นประโยชน์ค่ะ ลักษณะคล้ายๆข่าวกฤตภาคอะไรประมาณนี้
Wasabi Srisawat – แนะนำหนังสือที่ถูกยืมมากที่สุด20อันดับของแต่ละเดือน และหนังสือดีที่ไม่ค่อยมีคนยืม จะได้กระตุ้นการอ่านมากขึ้น
Yaowaluk Sangsawang Nontanakorn – เว็บไซต์ของห้องสมุด ตามความคิดนะคะ ควรมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับห้องสมุดในเรื่องระเบียบ กฎ นโยบาย ในการเข้าใช้ห้องสมุด บุคลากรห้องสมุด และเบอร์โทรติดต่อ หรือ e-Mail ที่ติดต่อห้องสมุดได้สะดวก รายการหนังสือใหม่ รายการฐานข้อมูลที่มีให้บริการ เพื่อเรียกความสนใจ ขั้นตอนการสมัครสมาชิกและ ขั้นตอนการใช้งานฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ห้องสมุดมีให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้ทราบในเบื้องต้น
Path Ch – ห้องสมุดสามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างได้ เว็บไซต์น่าจะมีการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในกรณีที่ห้องสมุดไม่มีข้อมูลนั้นๆ
Pimolorn Tanhan – มีรูปบรรณารักษ์สวยๆ น่ารักๆ มาเป็น Pretty แนะนำการใช้ห้องสมุด การสืบค้นข้อมูลต่างๆ ก็ดีนะคะ
Kru-u Tata – อยากได้งานวิจัยที่เกี่ยวกับห้องสมุดด้วยค่ะ
Lutfee Himmamad – ทำเกมส์ออนไลน์ที่มีทั้งสาระและความบันเทิง ที่ทำให้คนเล่นเรียนรู้การใช้ห้องสมุดได้ด้วยตนเอง ครับ
Tipbha Pleehajinda – เป็นช่องทางเข้าสู่แหล่งสารสนเทศที่มีประโยชน์
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีประกาศหรือข้อมูลและบริการของห้องสมุดที่ใช้ภาษาเชิงโฆษณา ภาษาโฆษณาทั้งวจนภาษาและอวัจนะภาษาให้เกิด impact แก่ผู้อ่านให้มากกว่าการประกาศหรือป้ายธรรมดาๆ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุด เช่นโฆษณา งานหนังสือแห่งชาติ ขายหนังสือ ขายอุปกรณ์+ebook computer tablet ฯลฯ
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีนักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด และจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดด้วย เช่น หนังสือที่อ่านจบแล้วก็นำมาแลกกันอ่าน หนังสือที่คิดว่าเราไม่ใช้แล้วก็นำมาแบ่งปันคนอื่น มีคนอีกมากมายที่ต้องการหนังสือของเรา หนังสือที่ห้องสมุดมีเกินต้องการ … นำมาแบ่งปันแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยน/พูดคุยแสดงความคิดเห็น มี Discussion Group ฯลฯ
บรรณารักษ์ เจน – น่าจะมีเว็บให้ผู้ใช้บริการโหวตห้องสมุดและบรรณารักษ์ จะได้กระตุ้นให้พวกเราออกตัวแรงกันขึ้นหน่อย
Wilaiwan Runra – เล่าเรื่องหนังสือ แนะนำหนังสือ เล่านิทาน หน้าเว็บ เลือกคลิปรักการอ่านแชร์ หรือไม่ก็คลิปความรู้ที่คนทั่วไปไม่รู้มาแชร์ เป็นบริการที่ควรให้แก่ผู้อ่านที่ไม่อยากค้นหา แค่เปิดเว็บก็เจอเรื่องที่ใช่ก็ โอนะค่ะ
Kanokwan Buangam – เว็บไซต์ห้องสมุดนอกจากให้สืบค้น แนะนำหนังสือ แนะนำแหล่งสืบค้นแล้ว อยากให้มีแนะนำ สุดยอดบรรณารักษ์บ้างค่ะ เช่น ถ้าจะปรึกษาค้นข้อมูลด้านนี้ก็ไปคุยพี่คนนั้น อะไรประมาณนี้

คำตอบจากเพื่อนๆ ในหน้าเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

Chairach Plewma – Blog เรื่องดี ๆ ที่อยากเล่า และ สื่อ ict ให้ดาวน์โหลด
Nadcha Thanawas – แนะนำหนังสือประจำสัปดาห์ วิดีโอแนะนำห้องสมุด และก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับห้องสมุดคร้า
Aom P. Chan – ช่องทางที่สามารถให้ผู้ใช้บริการมีfeedback มาที่ห้องสมุด
Kornsawan Chonphak – มีข้อมูลดีดี เช่น กฤตภาคในรูปแบบ e-book
Saowapa Sarapimsakul – ถาม-ตอบ กับuser คะ
Loveless Taew – มีลิงค์เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องคะ
Aun Un – บล็อกลิงค์หัวข้อต่างๆเสมือนเป็นหนังสือแต่ละชนิด
Jira Ping – แนะนำหนังสือดีที่น่าอ่านหรือ หนังสือที่ได้รับรางวัลต่างๆ
Piw Piw Arsenal – 1.สามารถ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2.ให้คะแนนหรือเรตติ้งของหนังสือ 3.มีการแชร์ผลการสืบค้นไปยัง Social Network คะ
อาร์ต วชิร ขจรจิตร์จรุง – มีการเช็คสถานะของสมาชิก
Piw Piw Arsenal – เว็บห้องสมุดควรนำ เทคโนโลยี Web2.0 และ Social Network มาใช้ สาหรับเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณค่าของเนื้อหา เช่น สามารถวิจารณ์ (reviews) ให้คะแนนเพื่อจัดอันดับหนังสือ (ratings) การกำหนดกลุ่มข้อมูล (tagging) ที่น่าสนใจ ทำการบอกรับ (subscribe) RSS Feeds ซึ่งจะแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ เมื่อมีทรัพยากรใหม่เข้ามายังห้องสมุด ทำการแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจ (sharing) ไปยังกลุ่มSocial Network พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ใช้ด้วยการแสดงผลแบบ Facet นอกจากนี้ผู้ใช้บริการสามารถจัดเก็บผลการสืบค้นด้วยการ Print, E-mail, Save หรือเรียกประวัติการสืบค้นคืนโดย อัตโนมัติเมื่อผู้ใช้ได้เข้าสู่ ระบบอีกครั้ง รวมถึงการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้ Upload ภาพของ ตนเอง แก้ไขข้อมูลส่วนตัว หรือขอใช้บริการอื่น ๆ ผ่านทาง Mobile Chamo Smart Device Interface ค่ะ
ห้องสมุด บุญเลิศอนุสรณ์ – กิจกรรมตอบคำถามอาเซียนประจำสัปดาห์
Pearlita Kled – หาข้อมูลที่ต้องการได้ง่าย มี Link แนะนำฐานข้อมูล หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางในการแนะนำหนังสือ หรือเสนอแนะความคิดเห็นต่าง ๆ
Jlo Home – บริการสารสนเทศท้องถิ่น
Sophit Sukkanta – 1. สถิติแสดงจำนวนหนังสือล่าสุดที่ตนเองยืมว่าได้จำนวนกี่เล่มแล้วตลอดอายุการเป็นสมาชิก แสดงถึงความภาคภูมิใจที่มีต่อนิสัยรักการอ่าน 2. สถิติแสดงรายชื่อหนังสือที่ถูกยืมมากที่สุด 10 อันดับ เพื่อแสดงถึงความต้องการและค่านิยมที่มีต่อหนังสือแต่ละเล่ม
Atchara Natürlich – บริการจองหนังสือใหม่ มีเดียใหม่ๆ ล่วงหน้าค่ะ (ไม่ทราบว่าที่เมืองไทยมีหรือยังนะคะ)
Titirat Chackaphan – ควรมีหน้าเว็ปที่สามารถตอบคำถามของผู้ที่สนใจ หรือไม่เข้าใจ เกี่ยวกับห้องสมุดค่ะ เพราะบางคนยังไม่เข้าใจว่าห้องสมุดมันคืออะไร หรือบางครั้งบรรณารักษ์เองยังไม่เข้าใจถ่องแท้เลยค่ะ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ให้คนเก่งๆ มาช่วยตอบคำถามให้น่ะค่ะ
Khunjom Akk – ประโยค คำคม สาระสั้นๆ จากหนังสือ / นิตยสาร เล่มต่างๆค่ะ
Chaiyaboon Bonamy – แนะนำเกี่ยวกับห้องสมุด เช่นห้องสมุดในดวงใจ , ความประทับใจเกี่ยวกับห้องสมุด
Sukanya Leeprasert – กิจกรรมของห้องสมุด และการรับคำเสนอแนะคำติชม รวมทั้งการดำเนินงานแก้ไขเรื่องต่างๆ
หวาน เย็น – นิทรรศการออนไลน์ เพื่อช่วยตัดปัญหาด้านเวลา สถานที่จัดงานและงบประมาณ
Aom P. Chan – ข่าวสารความเคลื่อนไหวของห้องสมุดที่น่าสนใจ รวมถึงรายการหนังสือใหม่ วารสารใหม่ และอะไรใหม่ๆในห้องสมุด
Jirawan Tovirat – กิจกรรมส่งเสริมการอ่านค่ะ
Phuvanida Kongpaiboon – บรรณารักษ์หน้าตาสดใสเต็มใจให้บริการทุกเรื่องพร้อมจักกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่กระตุ้นให้เกิดนิสัยรักการอ่านคะ
Emorn Keawman – เกมส์ค้นหา หรือไม่ก็เกมส์จับผิดภาพ 555 แบบว่าชอบอะ
Jib Wanlaporn – การ์ตูน animation แนะนำการใช้ระบบสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด หรือ สร้างหนังสั้นเป็นเรื่องราว การแนะนำการสืบค้นหนังสือภายใน หส. การเข้าห้องสมุดแนวสร้างสรรค์ นำกราฟิกเข้ามาช่วยดึงดูดใจผู้ใช้ คะ
Agogo Dogclub – มันต้องแนะนำหนังสือซิเพราะบางทีเราชอบน่ะแต่นึกไม่ออกว่าเรื่องไหนมันสนุก
Niramon Leekatham – แสดง pop-up New Window ขึ้นมาปรากฎเป็นสิ่งแรก ตอบคำถามสั้น ๆ ก่อนว่า “เหตุใดจึงเข้า Web ห้องสมุดนี้” หรือ “คุณรู้จักห้องสมุดนี้จากใคร” เพราะคิดว่า เป็นการทราบช่องทางการตลาดสำหรับห้องสมุด สามารถตอบโจทย์อื่นในยุคเทคโนโลยีที่ท่วมท้นปัจจุบัน
Thip Toh – ทำเป็นแหล่งชอปปิ้ง หนังสือ สื่อต่างๆ สร้างบรรยากาศให้น่าเข้าใช้บริการ เจ้าหน้าที่มีจิตให้บริการ
Wiramol Chanpoo – เป็นแหล่งชอบปิ้งหนังสือและเน้นบรรยากาศแบบห้างมีทุกอย่างมีมุมต่างๆมีร้านจำหน่ายหนังสือที่ใหม่เน้นความหลากหลาย
Watcharee Jaithai – เป็นเหมือนบ้าน เหมือนคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เปิด 24 ชั่วโมง
JoyLis Isaya Punsiripat – อยากให้เว็บไซต์ห้องสมุดมีความน่าสนใจเหมือนเว็บไซต์ทั่วไปๆเล่น kapook, sanook เป็นเว็บที่ทุกคนเข้ามาเป็นประจำเมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ค่ะ แต่ในฐานะที่เป็นเว็บห้องสมุดก็อยากจะให้มีการแนะนำหนังสือ บอร์ดสำหรับพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ รีวิวหนังสือ มีกิจกรรมตอบคำถาม มีสาระที่เป็นเกร็ดความรู้ต่างๆ นอกจากการเป็นแค่เว็บที่ทุกคนเข้ามาสำหรับสืบค้นหนังสือเพียงอย่างเดียว นอกจากมีข้อมูลพื้นฐานต่างๆที่เกี่ยวกับห้องสมุด เช่น ประวัติ ระเบียบห้องสมุดค่ะ เพราะเราเป็นห้องสมุด เว็บห้องสมุดก็ควรเป็นแหล่งความรู้ต่างๆที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้จากเว็บไซต์ด้วยค่ะ ^^

คำตอบที่ถูกใจผมมากที่สุด มีอยู่ 2 คน คือ …..
1. “อยาก … มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดด้วย เช่น หนังสือที่อ่านจบแล้วก็นำมาแลกกันอ่าน หนังสือที่คิดว่าเราไม่ใช้แล้วก็นำมาแบ่งปันคนอื่น มีคนอีกมากมายที่ต้องการหนังสือของเรา หนังสือที่ห้องสมุดมีเกินต้องการ … นำมาแบ่งปันแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยน/พูดคุยแสดงความคิดเห็น มี Discussion Group ฯลฯ” ความคิดเห็นนี้โดย “วราวรรณ วรรณ ส้ม
2. “1.สามารถ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2.ให้คะแนนหรือเรตติ้งของหนังสือ 3.มีการแชร์ผลการสืบค้นไปยัง Social Network คะ” ความคิดเห็นนี้โดย “Piw Piw Arsenal

หนังสือที่จะแจกในเดือนนี้ "ประสบการณ์แอปเปิล"

ผู้ที่โชคดีได้รับหนังสือจากผม คือ คุณ “วราวรรณ วรรณ ส้ม” และ “Piw Piw Arsenal
เอาเป็นว่าส่งชื่อ-นามสกุลจริง สังกัดใด ที่อยู่ มาที่ dcy_4430323@hotmail.com ด้วยครับ

ปล. ว่าจะแจกแค่เล่มเดียว แต่คิดอีกทีแจกกลุ่มละ 1 เล่มดีกว่า กลายเป็น 2 รางวัลในแต่ละเดือน

สำหรับกิจกรรมแบบนี้ผมคิดว่าจะจัดอีกและจะจัดทุกเดือน
กติกาและการตัดสินจะมีกฎที่มากขึ้นเรื่อยๆ ยังไงก็ฝากติดตามกันต่อด้วยนะครับ

บล็อกในวันนี้ผมยกความดีความชอบให้ทุกท่านที่ร่วมสนุกทุกคน
หวังว่าทุกท่านจะเข้ามาร่วมสนุกกันใหม่ในเดือนหน้าด้วยนะครับ

เว็บไซต์ห้องสมุดจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านคิดและจะปรับปรุงมันหรือไม่
อยู่ที่ตัวท่านแล้วหล่ะครับ…

การดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังเกิดปัญหาวิกฤต

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปีที่แล้ว มหาอุทกภัยปี 54 ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานต่างๆ มากมาย ห้องสมุดหลายแห่งต้องสูญเสียทรัพยากรสารสนเทศ บางแห่งอาจไม่ได้สูญเสียทรัพย์สินแต่ก็ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นบทเรียนนี้จึงนำไปสู่การหาแนวทางป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยถ้าเรามีแผนที่ดี ห้องสมุดก็จะสามารถพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

ข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
ชื่องาน : การสร้างแผนดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดปัญหาวิกฤต  (Business Continuity Plan /BCP)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
วันที่จัด : วันที่  13 – 14  ธันวาคม 2555

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้เป็นการจัดโดยความร่วมมือของหน่วยงาน 5 หน่วยงาน คือ
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต
– ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม


แนวคิดการบริหารจัดการเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤต หรือ Business Continuity Management (BCM) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับหน่วยงาน ยามที่เกิดวิกฤติหรือปัญหาหากเรามีแผนในการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนได้ต่อไป ห้องสมุดเองก็ควรมีแผนนี้ไว้ใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

หัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
– เทคโนโลยีกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ
– เจาะลึกแผนบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่องขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ : กรณีศึกษาของ CPALL
– มุมมองแผน BCP 5 สถาบัน
– การประเมินความเสี่ยงและแผนการจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Risk Assessment & Business Continuity Planning)

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับหัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ แถมวิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนด้วยนะครับ แต่มีเงื่อนไขนิดนึง คือ
– สงวนสิทธิผู้เข้าร่วมประชุมฯ สถาบันละ 2 ท่าน
– รับสมัครจำนวนจำกัด 150 ท่าน
– ปิดรับสมัครการลงทะเบียนออนไลน์ ภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2555

ใครที่ได้ไปงานนี้อย่าลืมเอาเรื่องมาเล่าให้ผมฟังด้วยน้า
หรือถ้าเป็นไปได้เจ้าภาพที่จัดงานเก็บเอกสารงานสัมมนาในครั้งนี้มาฝากผมด้วยน้า

ติดตามเว็บไซต์ข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ที่ http://203.131.219.245/bcp/