กิจกรรมวันเด็ก ณ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดจังหวัดอุบลราชธานี

วันเสาร์ที่จะถึงนี้เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม หรือ ที่เราเรียกว่า วันเด็ก นั่นเอง ช่วงนี้ห้องสมุดหลายๆ แห่งคงกำลังเตรียมงานวันเด็กกันอยู่ ผมจึงขอนำรูปแบบงานวันเด็กในห้องสมุดที่เคยจัดมาเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ

จริงๆ เรื่องงานวันเด็กของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีผมเคยเขียนในบล็อกของผมแล้ว
เรื่อง “งานวันเด็ก ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้ผมขอเขียนในมิติที่เกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมงานแล้วกันครับ

เริ่มตั้งแต่การประชุมกันในทีมเพื่อหากิจกรรมต่างๆ มาลงในงานวันเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วคิดออกมาแล้วมีมากมาย ได้แก่
– การวาดภาพระบายสี
– การเล่านิทาน
– การตอบคำถามเพื่อแจกของรางวัล
– การพับกระดาษโอริงามิ
– การปั้นดินน้ำมัน
– การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์
– การชมภาพยนตร์

ฯลฯ

จริงๆ แล้วคิดไว้เยอะมาก แต่ก็มาแบ่งเป็นประเภทๆ อีกที เช่น กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมเพื่อนักอ่าน กิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้ชื่อโซนต่างๆ ดังนี้

1 โซนสร้างพลานามัย
2 โซนรักการอ่าน
3 โซนสร้างจินตนาการ
4 โซนเทคโนโลยี
5 โซนส่งเสริมอาชีพ

เมื่อได้ชื่อกิจกรรมและโซนกิจกรรมแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องคิดคือ “การเขียนโครงการวันเด็ก” ออกมา
ที่ต้องรีบเขียนออกมาเพื่อที่เราจะนำโครงการนี้ไปขอรับอภินันทนาการของรางวัล ของแจก และเงินทุนจากผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สำหรับจัดงานต่อไป

เมื่อได้ของรางวัล ของแจก และของสนับสนุนต่างๆ แล้วก็เริ่มดำเนินการวางแผนงานต่อ คือ จัดสรรของรางวัลเพื่อลงไปในกิจกรรมต่างๆ

จากนั้นก็เริ่มวางผู้ที่เป็นหลักในกิจกรรมต่างๆ และแบ่งหน้าที่กันทำ
ห้องสมุดประชาชนไม่ต้องกลัวว่าคนจะน้อย กศน สามารถมอบหมายครู กศน มาช่วยห้องสมุดจัดงานได้ด้วย

สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างจุดเด่นให้กับห้องสมุด
ลองคิดดูนะครับ วันเด็ก หน่วยงานต่างๆ ก็จัดงานกันมากมาย
ถ้าห้องสมุดไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เด็กๆ ก็อาจจะหายไปอยู่ที่งานวันเด็กที่หน่วยงานอื่นๆ จัดก็ได้

สุดท้ายก็ประชุมกันอีกสักนิดก่อนจัดงานสองวันเพื่อตรวจสอบว่า ยังขาดเหลืออะไรอีกหรือไม่

นี่แหละครับ กว่าจะเป็นงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

ชมภาพกิจกรรมในงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ทั้งหมด

[nggallery id=35]

12 หัวข้อการศึกษา (ด้านเทคโนโลยี) ที่น่าจับตามองในปี 2012

วันนี้ในขณะที่กำลังอ่านเรื่องแนวโน้มของการศึกษาในอนาคตอยู่ก็พบหัวข้อนึงที่น่าอ่านมากๆ ซึ่งเป็นเรื่อง “12 หัวข้อการศึกษา (ด้านเทคโนโลยี) ที่น่าจับตามองในปี 2012” จึงอยากนำมาให้เพื่อนๆ อ่าน (เพื่อนๆ ในวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดก็ลองอ่านได้นะ เผื่อเอามาประยุกต์กับวงการห้องสมุดของเราบ้าง)

ต้นฉบับของเรื่องนี้จริงๆ ชื่อว่า “12 Education Tech Trends to Watch in 2012” จากเว็บไซต์ http://mindshift.kqed.org

เรามาดู 12 หัวข้อการศึกษาที่น่าจับตามองในปี 2012 กันก่อนนะครับ
1. MOBILE PHONES – โทรศัพท์มือถือ
2. BYOD (BRING YOUR OWN DEVICE) – อุปกรณ์ที่พกพาไปไหนมาไหนได้ เช่น notebook, netbook, ipod, tablet
3. BANDWIDTH ISSUES – การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
4. NATURAL USER INTERFACES – การตอบสนองกับผู้ใช้แบบธรรมชาติ เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง
5. WEB APPS – การใช้โปรแกรมต่างๆ ผ่านเว็บไซต์
6. DATA – ข้อมูล
7. ADAPTIVE LEARNING – การเรียนการสอนที่เน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
8. PRIVACY/SECURITY – ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัย
9. OPEN LICENSING – สัญญาการอนุญาตแบบเปิด
10. PEER TO PEER – การเชื่อมต่อแบบ peer to peer
11. THE MAKER MOVEMENT – การเคลื่อนไหว
12. GAMING – เกมส์

รายละเอียดของแต่ละหัวข้อ ถ้าเพื่อนๆ สนใจก็เข้าไปอ่านเรื่องแบบเต็มๆ ต่อได้ที่ http://mindshift.kqed.org/2012/01/12-education-tech-trends-to-watch-in-2012/

เหตุผลที่ผมแนะนำเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ คือ อยากให้เพื่อนๆ ได้เห็นแนวโน้มของวงการศึกษา (ห้องสมุดและบรรณารักษ์เราก็อยู่ในวงการศึกษาเช่นกัน) เมื่อวงการศึกษาให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อนๆ บรรณารักษ์ก็ควรให้ความสนใจบ้าง บางประเด็นมันเริ่มเข้ามาเกี่ยวกับชีวิตของเรามากขึ้น ทั้งเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการอย่างเรา ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วก็จะได้เตรียมตัวและพยายามทำความเข้าใจมันได้

เอาเป็นว่าวันหยุดแบบนี้เอาเรื่องวิชาการมาอ่านบ้างนะครับ อิอิ

12 Education Tech Trends to Watch in 2012

กรณีศึกษา : การพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน

จากวันก่อนที่ผมพูดถึงหนังสือเรื่อง “Digital Library Futures” ผมรู้สึกสนใจเกี่ยวกับบทความที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มากมาย วันนี้ผมขอยกตัวอย่างมาสักบทหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องกรณีศึกษาความสำเร็จของการดำเนินการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลของประเทศจีน

ชื่อบทความต้นฉบับ : To make a better digital library – some collaborative efforts in China
แปลเป็นภาษาไทย : การทำให้ห้องสมุดดิจิทัลดีขึ้น : ความพยายามในการสร้างความร่วมมือในประเทศจีน

ผมขอเก็บประเด็นต่างๆ จากบทความนี้มาเล่าให้ฟังนิดหน่อยแล้วกันครับ

เริ่มจากเรื่องของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลระดับประเทศของจีน ซึ่งจริงๆ แล้วหน่วยงานระดับสูงของจีนก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญมานานพอสมควรแล้วโดยจัดตั้งหน่วยงานต้นแบบและพัฒนามาจนถึงห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนเลยทีเดียว

ประวัติความเป็นมาแบบย่อๆ มีดังนี้
– 1997 เริ่มจัดตั้งโครงการห้องสมุดดิจิทัลจีนต้นแบบขึ้น
– 1998 มีการจัดตั้ง CALIS (China Academic Library & Information System)
– 1999 มีการจัดตั้ง NSDL (National Science Digital Library)
– 2000 มีการจัดตั้ง NSTL (National Science and Technology Library)
– 2001 มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน (National Digital Library of China)

หลังจากที่มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนขึ้นมาแล้ว ทางการจีนก็ได้ทำความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริการในการจัดทำโครงการห้องสมุดดิจิทัลร่วมกันด้วย หรือที่เรียกว่า โครงการ CADAL (China-US Million Book Digital Library project)

ในช่วงเริ่มต้นของโครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล ก็ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเช่นกัน โดยหลักๆ แล้ว จะเป็นเรื่องของการทำ Digitisation ซึ่งข้อมูลบางอย่างมีความซ้ำซ้อนกันจนทำให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

สิ่งที่ต้องคิดเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลในคลังข้อมูลของห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ นั่นคือ “มาตรฐานข้อมูล” ทางการจีนจึงได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างข้อมูลและชุดข้อมูลกลางขึ้น แล้วจัดตั้งเป็นคณะกรรมการกลางซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานดังนี้
– NLC (National Library of China)
– NCIRSP (National Cutural Information Resources Sharing Project)
– CALIS (China Academic Library & Information System)
– Shanghai Library
– NSL (National Science Library)
– Library of Party School of the Central Committee of C.P.C
– Library of National Defense University
– Zhejiang University Library

การประชุมเพื่อการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลและการให้บริการในจีน ดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้ง

บทสรุปของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีน
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนควรมีการกำกับจากหน่วยงานระดับสูงในจีน
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลเน้นการแบ่งปันความรู้และความร่วมมือกันสร้างความรู้
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติควรเปิดกว้าง (ไม่ใช่แค่สร้างโปรแกรม แต่ต้องพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ ให้รองรับด้วย)
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนเน้นการสร้างชุมชนและความร่วมมือ

เอาเป็นว่าบทความนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกันครับ
บทความอื่นๆ จะเป็นอย่างไรไว้ผมจะสรุปมาให้อ่านอีกนะครับ

นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

นายห้องสมุดไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนานเลยนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ไปค่อนข้างบ่อยเช่นกัน นั่นคือ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” นั่นเอง เอาเป็นว่าในห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านกันดู

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (สังกัด กทม นะครับ) (ข้อมูลจากห้องสมุดประชาชนกรุงเทพฯ)

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

การให้บริการภายในของห้องสมุดก็จะคล้ายๆ กับห้องสมุดประชาชนที่อื่นๆ นั่นแหละครับ เช่น

หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา

– บริการที่นั่งอ่านหนังสือ
– บริการยืมคืน
– บริการสื่อมัลติมีเดีย
– บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– บริการหนังสืออ้างอิง
– บริการหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา (อันนี้เยี่ยมมากๆ)
– บริการมุมเด็ก
– บริการสอนใช้คอมพิวเตอร์
– บริการกาแฟ-เครื่องดื่ม
ฯลฯ อีกมากมาย ต้องลองไปใช้กันดูนะครับ

การสมัครสมาชิกเพียงแค่เพื่อนๆ นำบัตรประชาชนมา และเสียค่าสมาชิกเพียง 50 บาทต่อปี ก็จะได้รับบัตรสมาชิกอันแสนสวย
สมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือ 1 สัปดาห์ 4 เล่ม ครับ ถ้ายืมเกินก็เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อ 1 เล่มครับ

เอาหล่ะครับ Hilight จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้
คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับ บริษัท Microsoft นั่นเอง
แล้ว Microsoft มาช่วยอะไรห้องสมุดแห่งนี้บ้างหล่ะ …
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

มาที่นี่แล้วทำให้ผมรู้สึกว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” ของกรุงเทพฯ มันช่างเป็นสถานที่ๆ เหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง แล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาลองใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้นะครับ

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-252-8030

ชมภาพห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีทั้งหมดได้เลยครับ

[nggallery id=52]

อ่านอะไรดี : “Digital Library Futures” อนาคตห้องสมุดดิจิทัล

สวัสดีเรื่องแรกของบล็อก Libraryhub ปี 2555 ก่อนอื่นคงต้องสวัสดีปีใหม่เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์สักหน่อย และขออวยพรให้ทุกๆ ท่านพบแต่ความสุขและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคน

เอาหล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า วันนี้ผมจะมาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่าได้สาระค่อนข้างดีเล่มหนึ่ง เป็เรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล หรือทิศทางของห้องสมุดในยุคไซเบอร์เลยก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยเกี่ยวกับ “อนาคตของห้องสมุดดิจิทัล” ซึ่งเน้นในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังและการปรับกลยุทธ์ของห้องสมุดดิจิทัล

ปล. หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มนะครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Digital Library Futures : User perspectives and Institutional strategies
บรรณาธิการโดย : Ingeborg Verheul, Anna Maria Tammaro and Steve Witt
สำนักพิมพ์ : IFLA Publication
ISBN : 9783110232189
จำนวนหน้า : 150 หน้า


ข้อมูลทั่วไปจากเว็บไซต์ของ IFLA

http://www.ifla.org/publications/ifla-publications-series-146

เอาหล่ะครับ อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยและงานวิชาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล
ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละเรื่องของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เนื้อหาที่เรียงร้อยกัน (เลือกอ่านแต่เรื่องที่สนใจได้ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม)

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)
3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)

ในแต่ละส่วนก็จะประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ดังนี้
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
– The Virtual Scholar : the Hard and Evidential Truth
– Who are the Users of Digital Libraries, What do they Expect and want?
– A Content Analysis on the Use of Methods in Online User Research


2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)

– A Pianist’s Use of the Digitised Version of the Edvard Grieg Collection
– When is a Library NOT a Library?

3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)
– To Make a Better Digital Library – Some Collaborative Efforts in China
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge : the World Digital Library Perspective
– Digital Library Futures : Pressures on the Publisher-Librarian Relation in the Era of Digital Change

นอกจากส่วนเนื้อหาแล้วยังมีส่วนที่สรุปข้อมูลทั้งหมดและประวัติของผู้เขียน (วิทยากร) ด้วย
ซึ่งทำให้เราได้เห็น background ของผู้เขียน (วิทยากร) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการห้องสมุดดิจิทัลมาก่อน

เอาเป็นว่าผมเองก็อ่านไปได้บางส่วน (คงไม่ได้อ่านทั้งเล่มแหละ) แต่เลือกเรื่องที่อยากจะอ่านไว้แล้ว
ไว้ถ้ามีเวลาว่างจะเอาบางเรื่องมาเขียนเป็นบล็อกเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกทีแล้วกันครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน เดี๋ยวจะเอาหนังสือในกลุ่ม “ห้องสมุดดิจิทัล” ที่ผมอ่านมาแนะนำอีก ไว้เจอกันคราวหน้าครับ…

ปล. หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อมานะครับ แต่ยืมมาจาก TKpark ใครสนใจก็ลองมาหยิบยืมจากที่นี่แล้วกัน