กิจกรรม workshop : สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด

วันนี้นายห้องสมุดขอประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด (Facebook for library service) ซึ่งจัดโดย ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสุมดแห่งประเทศไทยฯ (ผมอยู่ในฐานะวิทยากรด้วย)

รายละเอียดเบื้องต้นในการบรรยาย
ชื่องานภาษาไทย : สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Facebook for library service
สถานที่จัดงาน : ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วันและเวลาที่จัด : วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2555 เวลา 9.00-16.00 น.
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม : ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

กิจกรรมนี้ผมถูกทาบทามจากคุณรุ้งทิพย์ให้เป็นวิทยากรมานานพอควรแล้ว
โอกาสดีที่ผมเพิ่งจะบรรยายเรื่องนี้ไปเมื่อไม่นานมานี่เอง
(อ่านเรื่อง “Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน“)
ประจวบกับมีโอกาสได้เจอคุณรุ้งทิพย์หลายงาน ก็เลยตอบตกลงว่าจะบรรยายให้ในหัวข้อนี้

หัวข้อที่น่าสนใจของงานนี้
– เสวนา / แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Facebook)
– การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด
– ฝึกปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด

เรื่อง Facebook กับงานห้องสมุดมีอะไรมากมายกว่าที่คุณคิดนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวัดผลความสำเร็จของการมี  Facebook ห้องสมุด
หรือการต่อยอดในการนำ facebook มาใช้กับกิจกรรมของห้องสมุดด้านต่างๆ

ดาวน์โหลดเอกสาร โครงการเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด ที่นี่

แต่ถ้าไม่อยากดาวน์โหลด กรุณาอ่านรายละเอียดโครงการต่อด้านล่างนี้ (ขออนุญาติ copy มาลงแบบเต็มๆ)

โครงการเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด (Facebook for library service)
จัดโดย ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสุมดแห่งประเทศไทย ฯ

…………………………….

ผู้รับผิดชอบโครงการ นางสาวรุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน รองประธาน และ กรรมการฝ่ายวิชาการ

หลักการและเหตุผล

การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนำไปสู่ระบบเครือข่ายทางสังคม (Social network) ในรูปแบบ online และที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ Facebook ห้องสมุดในฐานะผู้ให้บริการและส่งเสริมการใช้และการรู้สารสนเทศ  ควรสนใจติดตามศึกษา และนำเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการของห้องสมุดเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม    ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงได้ร่วมมือกับชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา  (ชบอ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ   จัดกิจกรรมเสวน และฝึกปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะแก่ผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดที่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ Facebook เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะความรู้ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการนำสื่อสังคมออนไลน์ Facebook
2. เพื่อให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มความรู้และประสบการณ์ในการนำสื่อสังคมออนไลน์ Facebook ประยุกต์ใช้เพื่อการบริการห้องสมุด
3. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรม

วัน – เวลา วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม  2555  เวลา 9.00 – 16.00 น.

สถานที่ ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี อาคารปิยชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กรรมการ/สมาชิกชมรม และผู้สนใจ จำนวน  20  คน

วิทยากร คุณเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์    จาก LibraryHub

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการนำสื่อสังคมออนไลน์ Facebook
2. สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มความรู้และประสบการณ์ในการนำสื่อสังคมออนไลน์ Facebook ประยุกต์ใช้เพื่อการบริการห้องสมุด
3. ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรม

หน่วยงานสนับสนุน บริษัท Mercuri Data

งานนี้ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า ฟรี ตลอดงานครับ
ลงทะเบียนฟรี อบรมฟรีแบบนี้ ต้องรีบสมัครกันมาหน่อยนะครับ
เอาเป็นว่าใครสนใจก็ลงทะเบียนมาได้เลยนะครับ
รับจำนวนจำกัด ที่ รุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน. rungtipho@live.com โทร. 086-5284042

บรรณารักษ์จำเป็นต้องรู้จักหนังสือในห้องสมุดตนเองหรือไม่

“คนขายจำเป็นต้องรู้จักสินค้าของตนเอง”
“คนขายต้องเข้าใจสินค้าของตนเอง”
“คนขายต้องรู้ว่าสินค้าของตนเองเป็นอย่างไร”

ประโยคข้างต้นเป็นประโยคที่ผมคิดขึ้นมาหลังจากที่ผมไปซื้อของมาชิ้นนึง

เหตุการณ์มันเริ่มจากการที่ผมเดินเข้าไปในร้านขายของที่หนึ่งที่ขายของเฉพาะทาง
ผมตัดสินใจที่จะซื้อของชิ้นหนึ่ง จึงอยากให้คนขายแนะนำสิ่งของที่ผมต้องการซื้อ
ปรากฎว่าเขาแนะนำอะไรไม่ได้เลย จนต้องส่งคำถามเหล่านี้ไปให้คนขายอีกคนจึงอธิบายได้

ผมรู้สึกหงุดหงิดมากที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้

จนผมต้องอุทานว่า “ไม่รู้จักสินค้าของตนเองแล้วจะมาขายทำไม”
ประโยคที่ผมอุทานขึ้นมานี้ เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะถามในวันนี้นั่นเอง

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในห้องสมุด ผู้ใช้บริการจะรู้สึกเช่นใด

แน่นอนครับว่าเราไม่ใช่องค์กรเชิงธุรกิจ แต่องค์กรของเราเป็นองค์กรที่เน้นบริการ
ยิ่งคำขวัญของเรา “บริการด้วยใจ (Service mind)” เรายิ่งต้องให้ความสำคัญมากๆ

พื่อนๆ ว่า ตกลงเราควรจะต้องรู้จักหนังสือหรือสื่อความรู้ในห้องสมุดของเราหรือไม่
บรรณารักษ์อย่างพวกเราจำเป็นต้องอ่านหนังสือบ้างหรือไม่

[poll id=”25″]

เอาเป็นว่าช่วยๆ กันตอบดูนะครับ
แล้วเดี๋ยวผมจะเอามาเขียนเล่าให้ฟังแบบเต็มๆ อีกสักตอนนึง

10 แนวโน้มด้าน Social Media สำหรับวงการห้องสมุด ในปี 2012

วันนี้เข้าไปอ่านบล็อก  socialnetworkinglibrarian แล้วเจอบล็อกเรื่องนึงที่น่าสนใจมาก เป็นเรื่องคำทำนายเกี่ยวกับ Social Media ที่จะเกิดในวงการห้องสมุดปี 2012

เรื่องของ Social Media ไม่ใช่เรื่องแฟชั่นอีกต่อไปแล้วนะครับ
เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะวงการไหนๆ ก็ให้ความสำคัญกับมัน และใช้กันอย่างแพร่หลาย
ไม่พ้นวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์เช่นกัน เราจะต้องทำความรู้จักกับมันและใช้มันให้เป็น

ต้นฉบับเรื่องนี้ คือ Top 10 Social Media and Libraries Predictions for 2012

ผมขอแปลแบบสรุปๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วกันนะครับ

10 แนวโน้มด้าน Social Media สำหรับวงการห้องสมุด ในปี 2012
1. จำนวนของเว็บไซต์ห้องสมุดที่ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เช่น โทรศัพท์มือถือ tablet ฯลฯ
2. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้ Youtube เพื่อใช้วีดีโอทำการตลาดให้ห้องสมุดและเพื่อการศึกษา
3. ห้องสมุดจะสื่อ Social media มากกว่าการเป็นแค่สื่อประชาสัมพันธ์
4. Google+ จะได้รับความนิยมมากขึ้นและห้องสมุดหลายๆ แห่งจะเข้าไปสร้าง page บน Google+ ด้วย นอกเหนือจากการสร้าง page บน facebook
5. ห้องสมุดจำนวนมากจะค้นหาวิธีเพื่อสร้าง app บนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ (Mobile app)
6. ผู้ให้บริการด้านฐานข้อมูลจะสร้าง app บนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ (Mobile app) และห้องสมุดก็นำ app เหล่านี้ไปให้ผู้ใช้บริการใช้ต่อไป
7. เว็บไซต์วิจารณ์หนังสือ (Review book) เช่น Goodreads และ librarything จะถูกใช้จากวงการห้องสมุดมากขึ้น
8. ห้องสมุดจะนำโปรแกรมจำพวก Opensource มาใช้มากขึ้น
9. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้เกมส์ออนไลน์เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดและการศึกษา
10. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้ Google app มากกว่าแค่การใช้บริการอีเมล์

เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับแนวโน้มในปีนี้

จากข้อมูลข้างต้นเพื่อนๆ จะสังเกตว่าเรื่องของ Facebook เริ่มไม่ค่อยมีการพูดถึงแล้ว เนื่องจากมันเข้ามาอยู่กับวงการห้องสมุดในต่างประเทศนานพอสมควรแล้ว ปีนี้เรื่อง google+ กำลังมาจึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษหน่อย และเรื่อง ebook เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่นิยม แต่มันได้รับความนิยมจนคงที่แล้ว ตอนนี้เรื่อง Review book กำลังน่าสนใจเช่นกัน

เอาเป็นว่าปี 2012 จะเป็นอย่างไร เพื่อนๆ ต้องจับตาดูกันต่อไปนะ

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ อยากอ่านเรื่องเต็มๆ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://socialnetworkinglibrarian.com/2011/12/29/top-10-social-media-and-libraries-predictions-for-2012/

อ่านอะไรดี : กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน

แนะนำหนังสือดีๆ มาพบกับเพื่อนอีกครั้งแล้วนะครับ ช่วงนี้ไปยืมหนังสือที่เกี่ยวกับห้องสมุดและการอ่านมาเยอะมากเลย วันนี้ขอยกมาแนะนำสักเล่มแล้วกัน ซึ่งหนังสือที่ผมแนะนำวันนี้ คือ “กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน
สำนักพิมพ์ : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
จำนวนหน้า : 87 หน้า
ปีพิมพ์ : 2554

หนังสือเล่มนี้ถูกจัดพิมพ์โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มุ่งเน้นอยากให้เด็กและเยาวชนไทยได้เห็นความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ของหนังสือ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. กำเนิดหนังสือเด็กของไทย : จากสมุดไทยถึงยุคกำเนิดการพิมพ์
2. สร้างหนังสือ สร้างเด็กไทย ในยุคก้าวสู่การศึกษาแผนใหม่
3. รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน : เพาะนักอ่าน หว่านเมล็ดพันธุ์ “นักเขียน” สู่บรรณพิภพ


จากการเปิดอ่านอย่างผ่านๆ ได้พบเห็นหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย
เช่น

1. กำเนิดหนังสือเด็กของไทย : จากสมุดไทยถึงยุคกำเนิดการพิมพ์

– หนังสือเล่มแรก ดวงแก้วแห่งปัญญาเด็กไทย (หนังสือที่ปรากฎหลักฐานว่าแต่งขึ้นสำหรับเด็กเล่มแรก ได้แก่ “จินดามณี”)
– หนังสือสอนทักษะชีวิตเล่มแรก คือ “สวัสดิรักษา” แต่งโดย สุนทรภู่
– แบบเรียนภาษาไทย เรียนความรู้ด้วยความงาม (แบบเรียนหลวง ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร)
– การบันทึกข้อมูล (การจารึกบนศิลา เขียนบนใบลาน เขียนลงกระดาษข่อย พิมพ์อักษรไทย)

2. สร้างหนังสือ สร้างเด็กไทย ในยุคก้าวสู่การศึกษาแผนใหม่

– สร้างแบบเรียน คือ สร้าง “แบบ” เด็กไทย
– สร้างเสริมแบบเรียนไทยโดยบาทหลวงฝรั่ง
– หนังสือนิทาน-อ่านสนุก…ปลูกฝังความดีด้วยความงาม
– หนังสือดีที่ต้องห้มในสมัยรัชกาลที่ 6-7 (ทรัพยศาสตร์เล่ม 1-2 โดยพระยาสุริยานุวัตร)
– เพลงกล่อมเด็ก : จากมุขปาฐะสู่หนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยเล่มแรก

3. รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน : เพาะนักอ่าน หว่านเมล็ดพันธุ์ “นักเขียน” สู่บรรณพิภพ

– นิตยสารหรือจดหมายข่าวสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จัดทำโดยโรงเรียนต่างๆ เช่น

— จดหมายเหตุแสงอรุณ : แสงแรกแห่งอรุณของนิตยสารเพื่อเด็ก (จัดทำโดยโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง)
— กุลสัตรี : ปฐมฤกษ์เพื่อโรงเรียนสตรีและนักเรียนสตรี (นิตยสารของมหามกุฏราชวิทยาลัย)
— ราชินีบำรุง : สื่อสร้างเสริมคุณภาพผู้หญิงยุคใหม่ (ของโรงเรียนราชินี)
— อัสสัมชัญอุโฆษสมัย : จากครูฝรั่งถึงนักเรียนไทย ก้องไกลในกระแสกาล (ของโรงเรียนอัสสัมชัญ)
— แถลงการศึกษาเทพศิรินทร์ : แปลงเพาะต้นกล้า “นักประพันธ์” (ของโรงเรียนเทพศิรินทร์)

– นักเขียนที่มีบทบาทและสำคัญในอดีต

— “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ : บุคคลสำคัญของโลกทางศิลปวัฒนธรรม
— ม.จ.อากาศดำเกิง : เปิดโลกและชีวิตด้วย ละครแห่งชีวิต
— สด กูรมะโรหิต : ผู้สร้างอาณาจักรจรรโลงวรรณกรรม

นี่ก็เป็นตัวอย่างเรื่องเด็ดๆ ที่เราจะได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้
เอาเป็นว่าผมได้เข้าใจและเห็นที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์หนังสือเด็กที่อธิบายได้ดีทีเดียว

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ สามารถหาหนังสือเล่มนี้ได้ที่ TKpark เลยนะครับ ยืมมาอ่านได้ฟรีเลยครับ
หรือไม่ผมก็ขอแนะนำให้อ่านออนไลน์ไปเลยที่ http://issuu.com/happy2reading/docs/happyreading7

อย่าลืมไปหาอ่านกันเยอะๆ นะครับ ลองดูแล้วคุณจะชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนผม

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน http://www.happyreading.in.th/

Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

วันนี้ได้รับเกียรติให้ไปบรรยายที่สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เรื่อง “การใช้ Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” เลยอยากเอามาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่าน

รายละเอียดเบื้องต้นในการบรรยาย
ชื่อการบรรยาย : Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
หน่วยงานที่จัด : สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 9.00-12.00 น.

สไลด์ที่ผมใช้ในการบรรยาย

หัวข้อที่ผมในบรรยายในวันนี้ประกอบด้วย
– ทำไมต้องเป็น Facebook Fanpage
– ตัวอย่าง Facebook Fanpage วงการห้องสมุด
– เริ่มต้นสมัคร Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทย
– การใช้งาน Facebook Fanpage ให้ประสบความสำเร็จ

ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ ผมอยากให้ทุกๆ คนได้รู้จักและเข้าใจว่าทำไมเราต้องใช้ Facebook กันก่อน
เริ่มจากความหมายของ Facebook โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า Facebook คือ เว็บไซต์ในกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์เว็บหนึ่งที่ให้บริการแบ่งปันเรื่องราว แสดงความคิดเห็น แบ่งปันรูปภาพ แบ่งปันวีดีโอ แบ่งปันข้อมูลในเรื่องที่สนใจ ให้กลับกลุ่มเพื่อนๆ ของเรา นอกจากนี้ยังใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อนที่รู้จักกัน และเพื่อนใหม่ที่เราอยากรู้จักในโลกออนไลน์ด้วย

จากนั้นผมได้นำสถิติของ Facebook ในช่วงต้นปี 2010 และ ปลายปี 2010 มาให้ดูว่า
จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านคนภายในปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังนำข้อมูลของประเทศที่มีการใช้ Facebook 10 อันดับ มาให้ชม และตั้งข้อสังเกตให้คิดเล่นๆ นิดหน่อย

รูปแบบการใช้ Facebook ในปัจจุบัน เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. Profile
2. Group
3. Page

แต่ละแบบใช้งานและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ในวงการห้องสมุดเมืองไทยก็มีความเข้าใจในเรื่องการใช้ Facebook กันผิดประเภทหลายแห่ง
ส่วนใหญ่มักจะสมัครใช้ Facebook ในแบบ Profile จำนวนมากเนื่องจากสมัครง่าย
แต่หลายๆ คนลืมคิดถึงข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว จำนวนสมาชิก การวัดผลการใช้งาน…

ดังนั้นข้อสรุปแล้ว ผมจึงนำเสนอให้ ห้องสมุดใช้แบบ Page จะดีกว่า เพราะ
ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้เล่น Facebook) จำนวนสมาชิกที่ไม่จำกัด และการวัดผลที่ชัดเจน

ก่อนที่จะมี Facebook Fanpage ของห้องสมุด จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
– Page Name (ชื่อของหน้า) อันนี้สำคัญมากเพราะตั้งแต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แนวทางในการเลือกชื่อของหน้า คือ เลือกชื่อที่ทำให้คนอื่นเข้าใจ ชื่อหน่วยงาน ชื่อโครงการ ชื่อที่ทำให้อื่นรู้ว่าเป็นเรา
– Profile Image (รูปแทนหน้าเพจ) แนวทางในการเลือกรูปภาพ คือ เลือกภาพที่ดึงดูดใจผู้ใช้บริการ ภาพที่ใช้แทนหน้าของเรา ย้ำชื่อของเราลงในภาพด้วยก็ดี
– Page Info (ข้อมูลทั่วไป) ลงข้อมูลของหน้าของเรา การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการกับเราต้องชัดเจน

ตัวอย่าง Facebook Fanpage ในวงการห้องสมุดที่น่าสนใจ
– Tkpark อุทยานการเรียนรู้ (http://www.facebook.com/tkparkclub)
– Thailand Creative & Design Center (TCDC) (http://www.facebook.com/tcdc.thailand)
– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ความรู้กินได้ (http://www.facebook.com/Ubonpubliclibrary)
– เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย (http://www.facebook.com/THLibrary)
– Thammasat University Libraries (http://www.facebook.com/pages/Thammasat-University-Libraries/100107346702609)

หลังจากที่เล่าเรื่องเชิงทฤษฎีและเห็นชมตัวอย่างหน้า Facebook Fanpage เสร็จ ก็เริ่มเข้าสู่การ Workshop กันได้

Step By Step กันเลยนะครับ ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. การสมัครใช้งาน Facebook Fanpage
– เมื่อ login Facebook แล้ว ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/pages/create.php
– เลือกหมวดหมู่ของหน้า Facebook Fanpage ในกรณีของโครงการสารานุกรมไทย เลือก “องค์กรไม่แสวงหากำไร”
– ใส่ชื่อของหน้า (Page Name) แล้วกดเริ่มกันเลย
– ได้หน้าเพจแล้วครับ
– ใส่รูปภาพของหน้ากันต่อเลยครับ
– เชิญชวนเพื่อนเข้ามากด Like
– ใส่รายละเอียดของหน้าให้เรียบร้อย
– จากนั้นก็ใช้ได้แล้วครับ

2. การปรับแต่ง Facebook Fanpage เบื้องต้น

– การตั้งค่าของคุณ
– จัดการสิทธิ์
– ข้อมูลเบื้องต้น
– รูปประจำตัว
– คุณสมบัติ
– เครื่องมือ
– จัดการผู้ดูแล
– แอพ
– โทรศัพท์มือถือ
– เจาะลึก
– วิธีใช้
– การเปลี่ยนชื่อ URL ให้สั้นลง


3. การใช้งานและรู้จักเครื่องมือที่ดีของ Facebook Fanpage

– การใช้งาน Page Insight (ดูสถิติการเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการ)
– การโพสข้อความ รูปภาพ ลิ้งค์ วีดีโอ แบบสอบถาม

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ Facebook Fanpage
1. คอยอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดใหม่ให้ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ อยากปล่อยให้ข่าวไม่อัพเดทเกิน 1 เดือน
2. หากผู้ใช้บริการขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดหรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ขอต่ออายุการยืมหนังสือ ห้องสมุดไม่ควรปฏิเสธ
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการด้วย อย่าเงียบหายหรือละเลย พยายามตอบและให้บริการด้วยความเร็ว
4. ไม่นำเรื่องราวพฤติกรรมที่แย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลงในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ของห้องสมุด
5. พยายามพูดคุยหรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในห้องสมุดเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์บ้าง
6. การจัดกิจกรรมในห้องสมุดทุกครั้งควรนำมาลงในเว็บไซต์ห้องสมุดและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดตามข่าวสารของห้องสมุด

เอาหล่ะครับนี่ก็เป็นเพียงสาระตามสไลด์ที่ผมได้บรรยายและ workshop กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ

จริงๆ แล้วไม่เชิงว่าเป็นการบรรยายหรอกครับ แต่เป็นการลงมือทำไปพร้อมๆ กับการบรรยายเลยมากกว่า เพราะว่าผลสำเร็จของการบรรยายในวันนี้ ก็คือ “สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ก็มี Facebook Fanpage ไว้ใช้

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากรู้ว่า Facebook Fanpage ของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นอย่างไร
ก็ลองชมกันได้ที่ http://www.facebook.com/saranukromthai
ตั้งแต่การอบรมจนถึงตอนนี้ (ช่วงที่กำลังเขียนบล็อก 22.00) มีแฟนเพจ 53 คนคร้าบบบบ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ก็เข้าไปช่วยกันกด Like หน้านี้กันด้วยนะครับ
http://www.facebook.com/saranukromthai
ขอฝากไว้ให้ชมและรับความรู้กันมากๆ ครับ

มหาวิทยาลัยคริสเตียนรับสมัครบรรณารักษ์ด่วน 1 อัตรา

ข่าวฝากประชาสัมพันธ์เรื่องงานบรรณารักษ์มาถึงอีเมล์ผมอีกรอบ ที่สำคัญคือห้องสมุดที่รับสมัครบรรณารักษ์นี้ คือ ห้องสมุดที่ผมเพิ่งไปบรรยายเมื่อเดือนที่แล้วเอง นั่นก็คือ ห้องสมุด มหาวิทยาลัยคริสเตียน นั่นเอง

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงาน
ชื่อตำแหน่งงาน : บรรณารักษ์
สถานที่ : มหาวิทยาลัยคริสเตียน
จำนวน : 1 อัตรา

งานบรรณารักษ์ของที่นี่จากการที่ผมได้เข้าไปดูสถานที่ และการทำงานภายในห้องสมุดแห่งนี้ จริงๆ แล้วก็คงไม่ต่างจากงานห้องสมุดทั่วๆ ไปที่ต้องทำ เช่น งาน catalog งานจัดหา งานบริการ และอื่นๆ

ข้อมูลเบื้องต้นอีกอย่างที่อยากให้รู้ก่อน คือ มหาวิทยาลัยคริสเตียน มีคณะเด่นๆ และเป็นหลัก คือ พยาบาลศาสตร์
นั่นหมายถึง ห้องสมุดแห่งนี้มีข้อมูลและหนังสือที่เกี่ยวกับการแพทย์และพยาบาลพอสมควรเลยทีเดียว
การจัดหมวดหมู่ของห้องสมุดแห่งนี้ คือ ระบบ LC และ NLM นะครับ (ถ้าเพื่อนๆ จะสมัครคงต้องเตรียมพร้อมเรื่องนี้ด้วย)

คุณสมบัติเบื้องต้นของตำแหน่งนี้
1. เพศชาย/หญิงอายุ 22-35 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
2. มีความสามารถใช้โปรแกรม Microsoft Office ได้ดีและ
3. มีความสามารถในการใช้ฐานข้อมูล
4. มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี
5. สามารถปฏิบัติงานนอกเวลาได้

สำหรับคนที่สนใจงานในตำแหน่งนี้ เพื่อนๆ ต้องเตรียมเอกสารดังนี้
1. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 ใบ
2. ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา 1 ชุด
3. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1 ชุด
4. หลักฐานการศึกษาวุฒิที่จบพร้อมสำเนา 1 ชุด
5. หลักฐานการเกณฑ์ทหารหรือหลักฐานการผ่อนผัน 1 ชุด

ติดต่อสมัครได้ที่ มหาวิทยาลัยคริสเตียน 144 หมู่ 7 ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม 73000
หรือส่งทาง E-mail : supatrak@christian.ac.th ทางโทรสาร 0-3422-9499

เอาเป็นว่าผมก็ขอให้เพื่อนๆ โชคดีครับ
(จะอ้างอิงนิดนึงก็ได้นะครับ ว่ารู้ข่าวจาก Libraryhub)

ประเด็นพูดคุยในงาน บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด

อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อวันก่อนว่า ผมได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินรายการของงานเสวนาครั้งนี้ (งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์) ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ จากการเสวนา ผมจะขอสรุปลงมาให้เพื่อนๆ อ่านเพื่อเป็นไอเดียและเล่าสู่กันฟังในเรื่องปัญหาน้ำท่วมกับห้องสมุด

หัวข้ออย่างเป็นทางการ คือ “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด” ซึ่งถูกเล่าโดย :-
– นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต

ผู้ดำเนินรายการ : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้ และเจ้าของบล็อก Libraryhub

แค่เห็นชื่อและตำแหน่งของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวแล้ว ผมขอบอกเลยครับว่าการเสวนาครั้งนี้สนุกแน่ๆ
เพราะเราจะได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างห้องสมุดที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วกัน

การเสวนาครั้งนี้ผมได้ลองตั้งคำถามคร่าวๆ เพื่อถามห้องสมุดทั้งสาม ดังนี้
1. คำถามที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนน้ำมาถึง :
– ข่าวเรื่องน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 มีให้เห็นแทบจะทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงประกาศหรือแถลงการณ์จากรัฐบาลอยู่ตลอด สำนักหอสมุดได้รับรู้ข่าวเหล่านี้และติดตามข่าวบ้างหรือไม่ และใส่ใจกับข่าวเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร
– เมื่อได้รับข่าวสารและรับรู้ว่าน้ำจะมาถึง ห้องสมุดมีการเตรียมตัวอย่างไร
– ในช่วงการเตรียมตัวรับน้ำท่วม ใครมีบทบาทต่อเรื่องนี้มากที่สุด ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ประชาชน

2. คำถามที่เกี่ยวกับช่วงน้ำท่วม
– เมื่อน้ำมาถึงแล้ว หอสมุดได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เสียหายด้านไหนบ้าง แล้วแก้ไขอย่างไรในเบื้องต้น
– บุคลากรของสำนักหอสมุดทำงานกันอย่างไรในช่วงน้ำท่วม และได้รับความช่วยเหลือบ้างหรือไม่
– น้ำท่วมนานแค่ไหน ต้องหยุดให้บริการนานแค่ไหน (รวมตั้งแต่น้ำมาจนน้ำลดและเปิดให้บริการ)
– มีช่องทางอื่นในการให้บริการห้องสมุดหรือไม่


3. คำถามที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูห้องสมุดหลังน้ำท่วม

– สำรวจความเสียหายดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เสียหายมากน้อยเพียงใด
– อะไรที่ต้องรีบดำเนินการหลังน้ำลด เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ
– น้ำท่วมแบบนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดตลอดทั้งปีหรือไม่
– งบประมาณที่ต้องใช้ในการฟื้นฟู
– ใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะกลับมาเป็นหอสมุดเหมือนเดิม
– การเรียกขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ


4. คำถามจุดประกายหรือไอเดียเล็กๆ ที่เกี่ยวกับน้ำท่วม

– ไอเดียการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของ ม รังสิต เรื่องการทาสีต้นไม้ที่ตายแล้วให้ดูสดใสต้อนรับเทศกาลปีใหม่
– สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนอื่นๆ รอบๆ มหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
– การจัดทำแผนเพื่อป้องกันภัยพิบัติด้านต่างๆ (ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม)

5. ทิ้งท้ายก่อนจบเสวนาด้วย “หากปีนี้น้ำมาอีก หอสมุดเอาอยู่หรือไม่”

6. คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนา

เอาเป็นว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรผมจะนำมาสรุปให้อ่านแน่นอนครับ
ใครที่อยากจะตั้งคำถามก็สามารถตั้งคำถามมาได้ที่ด้านล่างนี้นะครับ
ผมจะนำคำถามของท่านมาถามให้และสรุปมาให้อ่านแน่นอนครับ

นายห้องสมุดพาชม พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน

นานๆ ทีจะมีโอกาสออกไปดูงานนอกสถานที่ วันนี้ผมมีอีกสถานที่นึงที่น่าสนใจมาฝาก
นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “The Jim Thompson House

สถานที่นี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น…
– เรือนไทยที่มีการผสมผสานของชีวิตความเป็นอยู่อย่างคนตะวันตก
– เรื่องราวของสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนี้
– ความเป็นมาและเรื่องราวความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านหลังนี้ (คุณจิม)
ฯลฯ


เรื่องราวชีวประวัติของคุณจิมทอมป์สัน (เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ
ตั้งแต่เรื่องของการก่อสร้างเรือนไทยหลังนี้ การทำงานของคุณจิม รวมถึงเรื่องของวงการอุตสาหกรรมผ้า
เรื่องที่คุณจิมหายสาบสูญนี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

การเดินในบ้านจิม (พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน) ครั้งนี้
จากเรื่องข้อมูลต่างๆ และรูปแบบของการจัดเรือนไทยทำให้ผมขนลุกอยู่ตลอดเวลา
(ที่ขนลุกนี้ไม่ได้หมายความว่าเพราะเรื่องไม่ดีนะครับ แต่เป็นเรื่องรายละเอียดในบ้านหลังนี้ต่างหาก)


การเข้าชมบ้านหลังนี้ต้องเสียค่าเข้าชมด้วยนะครับ

ผู้ใหญ่ 100 บาท และเด็ก 50 บาท ครับ
ซึ่งการเข้าชมจะมีไกด์เดินพานำชมและเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยนะครับ

ภายในเรือนไทยหลัก (ตัวบ้านหลัก) ไม่ให้ถ่ายภาพนะครับ แต่เพื่อนๆ สามารถถ่ายภาพจากนอกอาคารเข้ามาในตัวบ้านได้
สาเหตุก็เพราะว่า ถ้าเราเข้าไปถ่ายภาพอย่างนี้เราจะไม่ตั้งใจฟังเรื่องราวจากไกด์ไงครับ

เอาเป็นว่าถ้าใครพอมีเวลาว่างและสะดวกผมก็ขอแนะนำให้เป็นสถานที่ที่เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ดีแห่งหนึ่งนะครับ
การเดินทางบอกตรงๆ ว่านั่งรถไฟฟ้าไปก็สะดวกครับ ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติและเดินอีกนิดก็ถึงและ

สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
สามารถชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.jimthompsonhouse.com/thai/index.asp

ชมภาพบรรยากาศใน “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” ทั้งหมด

[nggallery id=53]

งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์

ไม่ได้อัพเดทกิจกรรมห้องสมุดมานาน วันนี้ขอแนะนำกิจกรรมห้องสมุดที่ผมเข้าร่วมสักหน่อย
กิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่จะถึงนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2555) ชื่อกิจกรรม “งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด

รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมนี้
ชื่อกิจกรรม : งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด
วันที่จัดงาน : 7 กุมภาพันธ์ 2555
สถานที่จัดงาน : ห้องเรวัต พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้นใต้ดิน ๒ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
รับจำนวน 70 คน

กิจกรรมนี้ผมได้รับเชิญเพื่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการ (ได้พลิกบทบาทจากวิทยากรเป็นผู้ดำเนินรายการครั้งแรก) ช่วงแรกๆ ก็ลังเลว่าจะตอบรับดีมั้ย
แต่พอได้ยินหัวข้อเท่านั้นแหละ ต้องตอบตกลงทันที เพราะผมเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่เช่นกัน “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 กับห้องสมุด
หลังจากจบการเสวนาครั้งนี้ผมคงได้เขียนเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที

หัวข้อที่เป็น Hilight ของกิจกรรมนี้ คือ
– เล่าสู่กันฟัง: ประสบการณ์ในหน้าที่ Subject Liaison โดย Mr. Larry Ashmun
– บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด โดย ผอ.ห้องสมุดจาก ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รังสิต


ณ วันที่ผมลงข้อมูลในบล็อก ตอนนี้ปิดรับผู้ลงทะเบียนแล้วนะครับ เนื่องจากเต็มแล้ว (70คน)
เอาเป็นว่าผมจะสรุปเรื่องราวในวันนั้นมาลงให้อ่านแล้วกันครับ

รายละเอียดของกิจกรรมครั้งนี้อ่านได้จากเว็บไซต์ http://library.tu.ac.th/announcement/km/ นะครับ