อ่านอะไรดี : ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน

ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องห้องสมุดกับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เยอะมาก และคำถามนึงที่เพื่อนๆ ถามมาเยอะ คือ “บรรณารักษ์ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง” ผมก็แนะนำไปหลายๆ อย่างแต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องย้ำ คือ ภาษาอังกฤษ และวันนี้ผมขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับ “ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์”


ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่องภาษาไทย : ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : English for Public Librarians
จัดพิมพ์โดย : โครงการวิจัยการพัฒนาชุดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปีพิมพ์ : 2552
จำนวนหน้า : 406 หน้า
ISBN : 9786115050086

โจทย์การพัฒนาบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนให้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นโจทย์ที่ท้าทายผมมาก
ดังนั้นผมจึงต้องค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือสอนภาษาอังกฤษ การฝึกอบรมด้านภาษา ฯลฯ
ซึ่งการค้นพบหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ครับ จึงต้องเอามาเขียนลงบล็อกให้ได้

หนังสือเล่มนี้อย่างที่ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่าเป็นของ มสธ. นั่นแหละครับ
ผมจึงตามไปที่ มสธ. และถามหาหนังสือเล่มนี้ ซึ่งรู้มาว่า มีหนังสือเล่มนี้อยู่จริง แต่ไม่มีจำหน่าย
ดังนั้นผมจึงต้องเสาะหามาให้ได้เพื่อนำมาศึกษา ซึ่งต้องขอขอบคุณอาจารย์น้ำทิพย์มากๆ ที่กรุณาให้ผมนำมาศึกษา

ภายในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
หน่วยที่ 1 Welcoming Visitors
หน่วยที่ 2 Reading for Professional Development
หน่วยที่ 3 Writing for Professional Development

ในแต่ละส่วนเน้นทักษะที่ไม่เหมือนกัน เช่น

หน่วยที่ 1 ที่เกี่ยวกับการต้อนรับผู้ใช้บริการ จะเป็นบทที่เน้นการสนทนา (พูด) เป็นหลัก ซึ่งในบทนี้ที่ผมชอบมากๆ คือ มีสคริปส์ให้อ่านด้วย ประมาณว่าถ้ามีผู้ใช้บริการเข้ามาที่ห้องสมุด สามารถอ่านบทสคริปส์ตามนี้ได้เลยทีเดียว ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
1.1 การกล่าวต้อนรับผู้ใช้บริการ
1.2 การนำชมห้องสมุดในส่วนต่างๆ
1.3 คำถามจำพวก FAQ และการกล่าวขอบคุณและอำลาผู้เยี่ยมชม

หน่วยที่ 2 เน้นทักษะการอ่านเป็นหลัก ซึ่งบรรณารักษ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น การอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ หรือการอ่านข้อมูลที่เกี่ยวกับห้องสมุด ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
2.1 การอ่านข้อมูลสารสนเทศ เช่น ข่าว เว็บไซต์ห้องสมุด
2.2 การอ่านที่เกี่ยวกับงานห้องสมุด เช่น catalog
2.3 การอ่านที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ

หน่วยที่ 3 เน้นทักษะการเขียนเป็นหลัก ซึ่งการเขียนเป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะใช้สื่อสารกับผู้ใช้บริการหรือการติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายห้องสมุดอื่นๆ ในต่างประเทศด้วย ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
3.1 การติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ เช่น จดหมาย เอกสารต่างๆ
3.2 การติดต่อผ่าน E-mail
3.3 การเขียนแบบฟอร์มต่างๆ

เอาเป็นว่าน่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยครับ เอาเป็นว่าก็ลองหามาอ่านกันบ้างแล้วกัน

หนังสือเล่มนี้หายากมากครับ เพราะทำออกมาจำกัด แต่ในช่วงนั้นได้ยินว่ามีหลายห้องสมุดได้รับและเข้าอบรมเรื่องนี้กันไปแล้ว คำแนะนำของผมง่ายๆ คือ หยิบออกมาทบทวนกันบ้างนะครับ ส่วนใครที่ยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ ขอให้รอสักครู่ ผมจะนำมาเล่าให้อ่านในบล็อกเรื่อยๆ แล้วกันครับ

ปล. หนังสือเล่มนี้ต้องขอขอบคุณ อาจารย์น้ำทิพย์ วิภาวิน ที่กรุณาให้ผมยืมอ่านและนำมาถ่ายเอกสารครับ