คนทำงานด้านห้องสมุดจำเป็นต้องจบบรรณารักษศาสตร์หรือไม่

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้ถามความคิดเห็นของเพื่อนๆ ผ่านทาง Library poll วันนี้ผมจึงขอตั้งคำถามแบบง่ายๆ ที่เกี่ยวกับวิชาชีพของเราให้เพื่อนๆ ช่วยกันตอบ

ซึ่งคำถามในวันนี้มาจากประโยคบอกเล่าต่างๆ เช่น
“ใครๆ ก็เป็นบรรณารักษ์ได้”
“เอาใครมาทำงานห้องสมุดก็ได้”
“งานห้องสมุดง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้”

เมื่อได้ฟังแล้วเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ครับ

เอาเป็นว่าไปโหวตกันได้เลย

[poll id=”26″]

เอาเป็นว่าช่วยกันโหวตเยอะๆ นะครับ
แล้ววันหลังผมจะมาเขียนบทความนี้ให้อ่านครับ

บรรณารักษศาสตร์ เท่ากับ สารสนเทศศาสตร์ หรือไม่

ขอออกตัวก่อนนะครับที่เขียนไม่ได้ว่าจะชวนทะเลาะหรือสร้างความแตกแยก แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมากๆ และจากประสบการณ์ตรงในช่วงผมเป็นนักศึกษา (รุ่นผมชื่อบรรณารักษศาตร์และสารสนเทศศาสตร์ แต่หลังจากรุ่นผมไปแล้วใช้คำว่า การจัดการสารสนเทศ) วันนี้ผมว่าเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจสับสนบ้างว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ปล. ที่เขียนบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ถูกผิดหรือไม่แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน

หลายๆ สถานศึกษาเริ่มมีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรวิชา หรือ บางแห่งเปลี่ยนชื่อภาควิชาไปเลยก็มี

คำถามที่ผมคาใจมากๆ คือ “ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสาขาวิชานี้” “ชื่อสาขานี้มันล่าสมัยจริงหรือ”
เหตุผลที่ผมได้ยินและได้คุยกับอาจารย์บางท่าน คือ
– “ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วเด็กจะไม่เข้ามาเรียนในสาขานี้”
– “ถ้าเด็กเข้ามาไม่ได้ตามจำนวน ภาควิชาก็ไม่สามารถเปิดสอนได้”
– “สาขาวิชามีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น”
– “เด็กที่จบไปจะได้ชื่อหลักสูตรที่สวยหรู สามารถทำงานอะไรก็ได้”

เอาเป็นว่าเหตุผลต่างๆ มากมายที่ผมก็ขอรับฟัง
แต่…เคยคิดกันหรือไม่ว่า….ประเด็นนี้จะทำให้เด็กสับสน

“หนูไม่รู้นี่ว่าสารสนเทศศาตร์ คือ สอนให้หนูเป็นบรรณารักษ์ หนูนึกว่าเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์”
“การจัดการสารสนเทศน่าจะสอนการจัดการข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิงแต่เรื่องห้องสมุด”
“เข้ามาเพราะชื่อหลักสูตรเท่ห์จัง แต่ทำไมเรียนเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด”

สถานศึกษาบางแห่งเปลี่ยนชื่อหลักสูตรก็จริงแต่เนื้อหาในรายวิชาเกือบครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอยู่ดี บางแห่งไม่ได้เปลี่ยนรายวิชาด้านในเลยด้วยซ้ำ จากประเด็นแบบนี้ จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่สับสนกับหลักสูตร หรือ วิชาที่เรียน

จากกรณีเรื่องของชื่อหลักสูตร หรือ ชื่อของภาควิชา ผมขอพูดถึงสภาพของเด็ก 3 กลุ่มให้ฟังคร่าวๆ คือ
1. “รู้ว่าบรรณารักษ์เป็นส่วนหนึ่งของสารสนเทศอยู่แล้ว และตั้งใจมาเรียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ” พูดง่ายๆ ว่าใจรักอ่ะครับ เด็กพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะใจเขามาด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว
2. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่พอมาเจอเนื้อหาของแต่ละวิชา ก็ได้แต่ทำใจและยอมรับสภาพ” พูดง่ายๆ ว่า อดทนให้เรียนจบแล้วเดี๋ยวไปหางานอย่างอื่นทำ กลุ่มนี้ก็พบมากมาย เด็กส่วนหนึ่งที่จบไม่ได้กลับมาทำงานตามสายที่เรียน
3. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนและรู้ว่าไม่ใช่ก็ลาออกไปเรียนอย่างอื่น หรือ ฝืนเรียนแต่ก็รับไม่ได้” พูดง่ายๆ ว่า เมื่อไม่ใช่ทางที่คิดไว้ก็ไปทางอื่นดีกว่า

เรื่องของชื่อว่า “บรรณารักษศาสตร์” หรือ “สารสนเทศศาสตร์” แท้จริงแล้วมันเท่ากันหรือไม่
แค่ชื่อก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผมบอกได้ตรงๆ ครับว่า อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” มันก็ต่างกัน

อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” ต่างอย่างไร

“บรรณารักษ์” คือการจัดการสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ องค์ความรู้ในห้องสมุด กระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินงานในห้องสมุด “บรรณารักษ์” ต้องรู้และสามารถจัดการได้

“นักสารสนเทศ” คือ การจัดการสารสนเทศด้านใดด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องจัดการห้องสมุดทั้งหมด แต่ต้องจัดการข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ได้ ยิ่งถ้าจัดการหรือมีความรู้ด้านวิชาชีพอื่นๆ ด้วยก็ยิ่งดี และถือว่าเป็นนักสารสนเทศของอาชีพนั้นๆ ได้ด้วย เช่น นักสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่า ห้องสมุด คือส่วนหนึ่งของการจัดการสารสนเทศแบบภาพรวม บรรณารักษ์ก็คือนักสารสนเทศในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อหลักสูตร สถานศึกษาก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนด้วย…

หรือแม้แต่ครูแนะแนวเด็ก ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ก็ควรรู้และเข้าใจในแง่นี้ด้วย มิเช่นนั้นเด็กๆ ของท่านก็จะเข้าใจผิดว่า “สารสนเทศ” ก็คือ “คอมพิวเตอร์” ต่อไป

วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน อิอิ

Infographic เทรนด์ในการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reading)

วันนี้เจอภาพ Infographic นึงรู้สึกว่ามันน่าสนใจเลยเอามาฝากเพื่อนๆ กัน Infographic นี้ได้พูดถึงแนวโน้มและพฤติกรรมของการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบภาพรวม เช่น ทำไมถึงอ่าน อุปกรณ์อ่านที่เป็นที่นิยม ฯลฯ

เอาเป็นว่าไปชมภาพ Infographic กันก่อนเลยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ น่าสนใจใช่มั้ยหล่ะ

สรุปข้อคิดและเนื้อเรื่องจาก Infographic นี้
การสำรวจข้อมูลครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างคือชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
– เพศชายกับเพศหญิงมีสัดส่วนในการอ่าน E-book ใกล้เคียงกัน ช่วงอายุที่อ่านมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 18-49 ปี และมีรายได้มากกว่า 50,000 เหรียญต่อปี
– เหตุผลในการอ่านหลักๆ คือ เพื่อการเรียนรู้, เพื่อหลบหนีความเป็นจริง และเพื่อความเป็นเทิง
– ในช่วงเวลาหนึ่งปี อัตราในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย หนังสือประเภทสิ่งพิมพ์จำนวน  15 เล่ม และ E-book จำนวน 24 เล่ม
– อัตราของการซื้อหนังสือคนที่อ่าน E-book จะซื้อหนังสือมากกว่านักอ่านปกติ
– E-Reader ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ Kindle Fire
– แต่เมื่อเทียบ Kindle Fire กับ iPad คนใช้ iPad มากว่าหลายเท่า

ประเด็นสุดท้ายน่าสนใจมากๆ ครับ คือ “เหตุผล 4 ประการที่ไม่ซื้อ E-Reader”
1. ไม่จำเป็นหรือต้องการแค่ 1 (บางคนใช้ tablet ซึ่งแทนกันได้)
2. ไม่สามารถใช้ได้แค่คนๆ หนึ่ง (ไม่อยากใช้งานร่วมกับคนอื่น)
3. มีอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น Tablet Notebook PC
4. ชอบหนังสือประเภทสิ่งพิมพ์มากกว่า

เอาหล่ะครับก็ขอฝากเรื่องราวดีๆ ไว้เพียงเท่านี้ก่อนแล้วกัน

“ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเพียงใด คนก็ยังคงต้องการแสวงหาความรู้มากขึ้นไปด้วย และการอ่านก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้เช่นกัน รูปแบบของหนังสือจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่คนเราก็ยังไม่ทิ้งหนังสือที่เป็นเล่มอยู่ดี”

ที่มา http://infographiclabs.com/news/e-reading-trends/

เก็บตกบรรยากาศในงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555

เพื่อนๆ คนไหนได้ไปงาน “เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555” บ้างครับ เป็นอย่างไรกันบ้างงานนี้จุดประกายไอเดียให้ผู้เข้าร่วมงานได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสื่อใหม่ๆ สำหรับเด็ก กิจกรรมสำหรับเด็ก และตัวอย่างนิทรรศการแบบเด็ดๆ มากมาย สำหรับคนที่ไม่ได้มางานนี้ไม่ต้องเสียใจครับ ผมขอนำภาพบรรยากาศและสรุปไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ให้อ่านแล้วกัน

ข้อมูลทั่วไปของงาน “เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555” อ่านได้จาก
http://www.libraryhub.in.th/2012/07/10/librarian-go-family-books-festival-2012/

งานอบรมและงานบรรยายที่จัดในงาน “เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555” ผมไม่ได้เข้าร่วมนะครับ
แต่สิ่งที่ผมให้ความสนใจ คือ ร้านหนังสือที่เข้ามาจำหน่าย นิทรรศการจากบริษัทใหญ่ๆ และกิจกรรมสำหรับเด็กที่น่าสนใจ

สรุปเรื่องของร้านหนังสือ
– มีร้านที่จำหน่ายหนังสือและสื่อสำหรับเด็กเยอะพอสมควร
– หนังสือภาพเป็นหนังสือที่ขายดีในงานนี้
– หนังสือสำหรับเด็กที่มีเนื้อเรื่องตามประแสปัจจุบัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียน ชีวประวัติบุคคลชื่อดัง ก็มีการนำมาแปลงให้เด็กอ่านง่ายขึ้น
– รูปแบบหนังสือ pop up ทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
– หนังสือเสียง audio book มีมากขึ้น


สรุปเรื่องนิทรรศการ
– นิทรรศการแสดงผลงานและความเป็นงานของบริษัทแปลนฟอร์คิดส์ รูปแบบในการนำเสนอน่าสนใจดี อ่านง่ายและเข้าใจง่าย
– นิทรรศการและบอร์ดของโครงการ BBL สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ น่าสนใจทั้งเนื้อหา และมีกิจกรรม รวมถึงสื่อที่จะทำให้ครูเข้าใจกระบวนการสอนตามหลัก BBL
– นิทานในสวนกระดาษ นอกจากเรื่องของกิจกรรมในบูธนี้แล้ว ผมยังให้ความสนใจกับชั้นหนังสือที่ทำจากกระดาษด้วยเช่นกัน
– นิทรรศการ “108 หนังสือดี โครงการเฉลิมพระเกียรติ”


สรุปกิจกรรม (จริงๆ ในนิทรรศการก็มีกิจกรรมประกอบบ้างอยู่แล้ว ดังนั้นกิจกรรมด้านล่างนี้ขอเน้น hilight แล้วกัน)
– กิจกรรม “นิทานเพื่อนรัก” อันนี้ผมขอเน้นว่าเด็ดสุดจริงๆ เล่านิทานโดยผ่านกิจกรรมแต่ละฐาน ผู้เล่าก็สวมชุดมาสคอตด์น่ารัก

เอาเป็นว่าขอสรุปไว้ให้อ่านเท่านี้ก่อนดีกว่า
นอกนั้นผมขอบรรยายโดยใช้ภาพถ่ายแล้วกัน

ภาพบรรยากาศงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555 ทั้งหมด

[nggallery id=58]

สัมมนาวิชาการ ความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน สำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ

วันนี้ขอมาประชาสัมพันธ์งานสัมมนาอีกงานที่น่าสนใจ คือ “ความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน สำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ” งานนี้ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการด้วย ในหัวข้อ “บทบาทของห้องสมุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน” เอาเป็นว่าอ่านรายละเอียดด้านล่างได้เลยครับ

รายละเอียดงานสัมมนาวิชาการเบื้องต้น
ชื่องานภาษาไทย : ความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน สำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาคาร 1 ชั้น 4 ธนาคารแห่งประเทศไทย
วันและเวลาที่จัด : วันศุกร์ที่  10 สิงหาคม พ.ศ. 2555    เวลา  8.30 – 16.30 น.
จัดโดย : ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเศรษฐศาสตร์ (ศปศ.)

อย่างที่เกริ่นไปเบื้องต้นว่างานนี้ถูกเชิญให้เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ บอกตรงๆ ว่าเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของห้องสมุดในสังคมและผลกระทบของการมีห้องสมุดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (หัวข้อนี้แอบบอกว่าดูน่าสนใจและน่าสนุกมากๆ ครับ)

หัวข้อที่น่าสนใจในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ เช่น
– พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคน อย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์แผนฯ 11
– บทบาทนโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
– การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
– บทบาทของห้องสมุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน

วิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้นเลย (ทำเอาผมประหม่าเล็กน้อย)
ผมเชื่อว่างานนี้เพื่อนๆ จะได้เข้าใจถึงบทบาทของห้องสมุดที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศเลยทีเดียว

ห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่นั่งอ่านหนังสือ หรือ แค่ที่เก็บหนังสือ เท่านั้น
แต่ห้องสมุดสามารถสร้างสังคม พัฒนาระบบเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาคน
อยากให้เพื่อนๆ ได้มาฟังกันเยอะๆ นะครับ

งานนี้ถ้าใครสนใจก็สามารถลงทะเบียนได้ฟรีนะครับ

ติดต่อสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่
ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเศรษฐศาสตร์ (ศปศ.)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0 2280 4035, 0 2283 5698, 0 2283 5795
FAX แบบลงทะเบียนได้ที่ โทรสาร 0 2283 5656 หรือทาง mail : supattrn@bot.or.th

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

– หนังสือเชิญเข้าร่วมงาน
– แบบตอบรับเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ

ขอความกรุณาตอบกลับมาภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 นะครับ

บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library

วันนี้นายห้องสมุดพาเที่ยวขอพาเพื่อนๆ ไปชมห้องสมุดในต่างประเทศบ้าง ซึ่งห้องสมุดที่ผมจะพาไปชมวันนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ห้องสมุดแห่งนี้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมมากๆ และห้องสมุดแห่งนี้ คือ “Bishan Public Library

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดแห่งนี้
ห้องสมุด : Bishan Public Library
ที่อยู่ : 5 Bishan Place, #01-01, Singapore 579841
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 21.00 น.
การเดินทาง : สถานีรถไฟฟ้า Bishan

อย่างที่เกริ่นไว้แหละครับว่าห้องสมุดนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาคารห้องสมุดเป็นเอกลักษณ์มากๆ แถมเป็นอาคารเอกเทศ (ห้องสมุดประชาชนของประเทศสิงคโปร์หลายแห่งมักอยู่ในห้างสรรพสินค้าและใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้า)

อาคารห้องสมุดประชาชน Bishan มี 5 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดิน – ห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน – หนังสือเด็ก
ชั้น 1 เป็นโซนวารสาร นิตยสาร และเคาน์เตอร์บริการยืมคืน
ชั้น 2 มุมหนังสือนวนิยาย บันเทิงคดี
ชั้น 3 มุมหนังสือสารคดี และหนังสือทั่วไป และหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์
ชั้น 4 มุมหนังสือเยาวชน และโซนมัลติมีเดีย

จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมประทับใจ คือ
– มุมอ่านหนังสือหรือช่องทำงานส่วนตัว (ช่องที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารมีลักษณะเป็นช่องๆ กระจกสี) ซึ่งที่นี่เรียกว่า pods

– พื้นที่โซนเด็กที่แยกออกจากโซนอื่นๆ ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
– การให้บริการยืมคืนหนังสือด้วยตัวเองผ่านตู้ Kiosk หน้าห้องสมุด (บริการ 24 ชั่วโมงจริงๆ)

– บริการบรรณารักษ์ตอบคำถาม แม้ว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์จะอยู่ที่ชั้น 1 แต่ในชั้นอื่นๆ ก็มีบริการถามบรรณารักษ์เช่นกัน โดยสามารถโทรภายในลงมาถามก็ได้ หรือจะถามผ่านระบบ FAQ ก็ได้

เอาเป็นว่าก็เป็นห้องสมุดที่ให้แง่คิดและไอเดียกับผมอีกแห่งหนึ่ง
ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมกันนะครับ

ชมภาพบรรยากาศที่ผมถ่ายมาได้ที่นี่

[nggallery id=57]

บรรณารักษ์ควรไป…เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555

ในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ของทุกปี งานหนังสือที่หลายๆ คนรอคอยอีกงานก็คงหนีไม่พ้นงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ซึ่งในครั้งนี้มีชื่อใหม่ คือ “เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องานภาษาไทย : เทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน 2555
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Family Books Festival 2012
วันและเวลาที่จัดงาน : 11-15 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00-20.00 น.
สถานที่จัดงาน : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้จัดงาน : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

พรุ่งนี้แล้วนะครับ !!! นั่นแหละครับ พรุ่งนี้แล้วงานนี้ผมอยากให้ทุกๆ คนได้ไปเหมือนเช่นงานหนังสือที่จัดในเดือนมีนาคมหรือเดือนตุลาคม เพราะงานนี้เป็นงานที่มีอะไรมากกว่าแค่การจำหน่ายหนังสือนะครับ

บรรณารักษ์ท่านใดที่ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ผมขอแนะนำกิจกรรมที่น่าสนใจเล็กๆ น้อยๆ แล้วกัน
– How Poco Publications Make music
– แถลงงานวิจัย โครงการนิทานเพื่อรัก
– อบรมบรรณารักษ์ “เทคนิคการจัดกิจกรรมการอ่านของบรรณารักษ์”
– เปิดโลกความรู้กับ อมรินทร์ คอมมิกส์ สมาร์ทแก๊ง
– Meeting Jamsai Love series ครั้งที่ 8
– DEXPRESS MEETING ครั้งที่ 3
– อบรมครู “นิทานเพื่อนรักกับการเรียนรู้ ของครูสู่ เด็กปฐมวัย”
– การอ่านและเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

ครั้งนี้งานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน มีการเปลี่ยนชื่อด้วยนะครับ เป็นงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน เพราะงานนี้ธีมงานใหญ่ คือ เรื่องของการอ่านทั้งครอบครัว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะอ่านนิทานให้ลูกฟัง จริงๆ แล้วรู้มั้ยครับว่ามีเทคนิคหรือวิธีการเล่าอย่างไรให้ลูกเกิดการเรียนรู้ เอาเป็นว่ามางานนี้ได้ความรู้นี้กลับไปแน่นอน

ส่วนบรรณารักษ์ก็เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ และเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในห้องสมุด หรือจะจัดกิจกรรมเล่านิทานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กก็เข้าท่าเหมือนกัน

เอาเป็นว่าใครสนใจก็อย่าลืมไปร่วมงานนี้กันได้ครับ

Infographic หมดยุคของสารานุกรมฉบับพิมพ์อย่าง Britannica

ไม่ได้นำ Infographic ข้อมูลดีๆ มาให้เพื่อนๆ ชมนานแล้ว วันนี้ผมขอแก้ตัวด้วยการนำเสนอ Infographic ข้อมูลของสารานุกรมแห่งหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก (คนที่เรียนด้านบรรณารักษ์จะต้องรู้จัก) นั่นคือ Britannica

แต่เพื่อนๆ หลายคนคงได้ข่าวเมื่อต้นปี 2012 ที่ สารานุกรมอย่าง Britannica ต้องประกาศยุติการพิมพ์สารานุกรมฉบับสิ่งพิมพ์ แต่สารานุกรมนี้ยังคงให้บริการในรูปแบบออนไลน์อยู่

อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
Encyclopedia Britannica หยุดพิมพ์แล้ว – http://www.blognone.com/node/30677
สารานุกรมบริทานิกาหยุดตีพิมพ์ – http://news.voicetv.co.th/global/33700.html (วีดีโอข่าว)

เอาหล่ะครับ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า วันนี้ผมนำ Infographic ที่เกี่ยวกับ Britannica มาให้ดูครับ ชมกันก่อนเลย

เอาหล่ะครับมาดูข้อมูลสรุปจาก Infographic นี้กัน

ข้อมูลประวัติแบบคร่าวๆ ของ Britannica
– ฉบับแรกพิมพ์ในปี 1771 (อายุในปัจจุบัน = 244 ปี)
– ฉบับดิจิทัลถูกจัดทำครั้งแรกในปี 1981 โดย Lexisnexis
– ฉบับออนไลน์ครั้งแรกและฉบับซีดีเวอร์ชั่นสมบูรณ์เกิดขึ้นในปี 1994
– ฉบับมือถือ (รองรับเครื่อง Palm) เกิดในปี 2000
– ฉบับแอพใช้งานกับอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่ของบริษัท apple (ipod,ipad,iphone) เกิดในปี 2011
– ปิดฉากสารานุกรม Britannica แบบสิ่งพิมพ์ในปี 2012

ทำไม Britannica ถึงไม่ทำสิ่งพิมพ์แล้วหล่ะ???
– ยอดขายตกลงอย่างรุนแรง ในปี 1990 ยอดขาย 120,000 ฉบับ ในปี 1996 เหลือยอดขาย 40,000 ฉบับ และในปี 2009 เหลือ 8,000 ฉบับ

ราคาของการใช้งานสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica ฉบับพิมพ์ ราคา 1,395 เหรียญสหรัฐ
– Britannica ฉบับ ipad ราคา 1.99 เหรียญสหรัฐ/เดือน
– Britannica ฉบับออนไลน์ สมัครสมาชิก 70 เหรียญสหรัฐ/ปี
– wikipedia ฟรี ฟรี ฟรี

จำนวนบทความสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนบทความประมาณ 65,000 บทความ
– Wikipedia มีจำนวนบทความประมาณ 3,890,000 บทความ

จำนวนคนที่เขียนบทความในสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนประมาณ 4,000 คน (ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง)
– Wikipedia มีจำนวนประมาณ 751,426 คน (ใครๆ ก็เขียนได้)

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ ก็คงต้องบอกว่ายุคของสารานุกรม Britannica ฉบับพิมพ์อาจจะถึงจุดสิ้นสุดไปแล้ว แต่สิ่งที่กำลังจะเริ่มต้นก็คือการแข่งขันกับ Wikipedia ในโลกออนไลน์นั่นเอง

เอาเป็นว่าเส้นทางนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามชมกันต่อไป

ปล.จริงๆ แล้ว การแข่งขันกันระหว่าง Britannica กับ Wikipedia ทำให้ผมรู้สึกถึงการแข่งขันระหว่าง Library และ Google ด้วย…

ที่มาของภาพ Infographic นี้มาจาก http://mashable.com/2012/03/16/encyclopedia-britannica-wikipedia-infographic/

สวนหนังสือเจริญกรุงรับบรรณารักษ์ด่วน 1 ตำแหน่ง

เพื่อนๆ ที่กำลังหางานห้องสมุดหรือบรรณารักษ์อยู่ มาอ่านเรื่องนี้กันเร็ว วันนี้ผมมีงานห้องสมุดและบรรณารักษ์มาแนะนำอีกแล้ว เป็นงานบรรณารักษ์ในกรุงเทพฯ นี่แหละ และงานที่ว่าคือ “งานบรรณารักษ์ ณ สวนหนังสือเจริญกรุง

ใครที่ยังไม่รู้จักสวนหนังสือเจริญกรุง สามารถอ่านบล็อกผมย้อนหลังได้ครับ
พาชมห้องสมุดสวนหนังสือเจริญกรุง

ตำแหน่งงานบรรณารักษ์นี้รับด่วนมากๆ ครับ ใครที่สนใจอ่านต่อด้านล่างเลยครับ
(ปล. ขออนุญาตคัดลอกจาก Facebook เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย มาลงนะครับ)

ตำแหน่งบรรณารักษ์นี้ต้องทำอะไรบ้าง
– ปฏิบัติงานตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น.
– วิเคราะห์เลขหมู่ระบบดิวอี้และลงทะเบียนหนังสือ
– ห่อปกพลาสติกหนังสือก่อนขึ้นชั้นและซ่อมหนังสือ
– จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในห้องสมุด
– ประสานงานทั่วไประหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก

พิจารณาถึงหน้าที่และตำแหน่งแล้วไม่ยากและไม่ซับซ้อนนะครับ
แต่ทำงานอาจจะเลิกดึกหน่อย แต่ก็ได้ทำงานสาย (เหมาะสำหรับคนตื่นสายเลย)
ที่ลงประกาศนี้ไม่ได้บอกว่าทำงานกี่วัน เอาเป็นว่าสอบถามกันเองนะ

สำหรับผู้สนใจอ่านคุณสมบัติต่อได้เลย
– เพศชาย/หญิง อายุระหว่าง 25-35 ปี
– จบปริญญาตรีบรรณารักษ์ศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์หรือสารสนเทศศาสตร์
– เป็นผู้มีใจรักงานห้องสมุดฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
– สามารถใช้โปรแกรมjoomla, Photoshop CS, Photoscape และโปรแกรมตัดต่อวิดีโอได้
– มีที่พักในระแวกพระราม3 สาทร สีลม บางรัก หัวลำโพง จะรับพิจารณาพิเศษ
– มีประสบการณ์ด้านการทำงานห้องสมุดฯ จะรับพิจารณาพิเศษ
– เงินเดือนตามแต่ตกลง

เอาเป็นว่าคุณสมบัตินี้ใครผ่านก็สมัครกันไปได้เลยนะครับ
ซึ่งหากทุกอย่างโอเคแล้ว โทรไปได้เลยที่ โทร. 02688-8100 , 081-556-9929

หรือจะเดินทางไปที่สวนหนังสือเจริญกรุงได้เลยที่

2074/17-18 ถ.เจริญกรุง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กทม 10120

หวังว่าจะสมหวังกันนะครับ อิอิ

การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และการเขียนเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้

นานๆ ทีผมจะเข้ามาที่เว็บไซต์ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ พอเข้ามาวันนี้ก็รู้สึกชื่นใจนิดนึง ตรงที่มาเว็บไซต์มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ้างนิดหน่อยแล้ว นัดว่าอัพเดทเรื่อยๆ ก็จะดีนะครับ

เอาหล่ะเข้าเรื่องดีกว่า…วันนี้เข้าไปเจอคอร์สการอบรมที่น่าสนใจ ผมจึงขอนำเอามาบอกเล่าสักหน่อย เป็นคอร์สการอบรม “การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และการเขียนเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้”


รายละเอียดของการอบรมเบื้องต้น
ชื่องานภาษาไทย : การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และการเขียนเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ รุ่นที่ 2
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2555
จัดโดย : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

การอบรมเรื่องแผนจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะกับครูบรรณารักษ์ที่นอกเหนือจากงานห้องสมุดแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ด้านการสอนต่างๆ ด้วย ดังนั้นการอบรมนี้จะช่วยพัฒนาทักษะและแง่คิดในเรื่องการจัดการเรียนรู้ด้วย

หัวข้อที่น่าสนใจในการอบรม
– การวิเคราะห์หลักสูตร
– การเขียนแผนหน่วยการเรียนรู้
– การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้
– การเขียนเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้

การอบรมครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายนะครับ
สำหรับคนที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ 2,500 บาท
สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก/บุคคลทั่วไป 2,700 บาท

เอาเป็นว่าใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อได้ที่
รักษาการผู้จัดการสำนักงานสมาคมฯ นางวีระวรรณ วรรณโท มือถือ 081-5641308
หรือเจ้าหน้าที่สมาคมฯ นางสาวปรีดา อิ่มใจดี มือถือ 086-0153516

หรือดาวน์โหลดแผ่นพับเอกสารและใบสมัครได้ที่
http://www.libraryhub.in.th/wp-content/uploads/2012/07/TLA-form.doc