Branding…การสื่อสารอัตลักษณ์ของห้องสมุดและการบริการสารสนเทศ

ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ จะจัดงานประชุมวิชาการ ประจำปี ซึ่งในปีนี้กำหนดการและหัวข้อก็ออกมาแล้ว วันนี้ผมจึงขอประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ผู้สนใจเข้าร่วมกันสักหน่อย

รายละเอียดงานประชุมวิชาการประจำปี ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
ชื่องานภาษาไทย : Branding…การสื่อสารอัตลักษณ์ของห้องสมุดและการบริการสารสนเทศ
สถานที่จัดงาน : โรงแรมมารวยการ์เด้น
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 6 – 7 กันยายน 2555
จัดโดย : ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

จริงๆ แล้วเรื่องของการสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่แต่เฉพาะในแวดวงธุรกิจเท่านั้น ซึ่งต้องบอกว่าเราลองมาเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้กันใหม่ดีกว่า เพราะเรื่องของการสร้างแบรนด์เองปัจจุบันเป็นเรื่องที่แม้แต่หน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หรือแม้แต่ห้องสมุดก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักการสร้างภาพลักษณ์และแบรนด์ของหน่วยงานตนเอง

“การสร้างแบรนด์ ไม่ใช่ การประชาสัมพันธ์ แต่ การสร้างแบรนด์ เป็นส่วนหนึ่งและขั้นตอนหนึ่งของประชาสัมพันธ์”

การจัดการประชุมวิชาการในเรื่องนี้ผมจึงมองว่ามันก็น่าสนใจอยู่นะ
เพราะเป็นเรื่องที่ทุกท่านจะได้รับรู้และเปลี่ยนทัศนคติของพวกเรา
ให้เข้าใจคำว่าการสร้างแบรนด์ของห้องสมุดอย่างแท้จริง

หัวข้อที่น่าสนใจของงานนี้
– Brand Identity กับห้องสมุด
– อัตลักษณ์ของการอ่าน….มุมหนังสือเพื่ออาเซียน…
– Branding การสร้างอัตลักษณ์ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
– นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการสร้าง branding ของห้องสมุด
– Branding อย่างไร เพื่อก้าวไกลสู่อนาคต

เอาเป็นว่าแต่ละหัวข้อก็น่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยหล่ะครับ
ถ้าสนใจก็ลงทะเบียนมาฟังกันก็แล้วกันนะครับ

การลงทะเบียนเข้าร่วมงานนี้มีค่าใช้จ่ายสักหน่อยนะครับ
สมัครก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ค่าลงทะเบียน 1800 บาท
สมัครในช่วงวันที่ 18-31 สิงหาคม 2555 ค่าลงทะเบียน 2200 บาท
ปิดรับสมัครวันที่ 31 สิงหาคม 2555 นะครับ

เอาเป็นว่าถ้าสนใจก็สมัครเข้าร่วมงานกันได้นะครับ ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมและใบสมัครสามารถดูได้ที่
http://library.md.chula.ac.th/guide/slg6-7sep55.pdf
หรือ http://www.libraryhub.in.th/wp-content/uploads/2012/07/slgannual.pdf

ผู้บริหารคาดหวังว่าบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนควรเป็นอย่างไร

หมายเหตุก่อนการอ่าน : หัวข้อในวันนี้อาจจะดูรุนแรงสักนิดหน่อย แต่ถ้าได้อ่านเนื้อเรื่องจริงๆ แล้วจะรู้สึกว่ามันไม่ได้แรงเหมือนที่คิดนะครับ

ที่มาของหัวข้อในวันนี้มาจากเอกสารที่ผมค้นพบโดยบังเอิญ ซึ่งเอกสารที่ว่านี้มีชื่อว่า
What should an Administrator expect a School Library Media Specialist to be

ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าผู้บริหารคาดหวังว่าบรรณารักษ์ห้องสมุดในโรงเรียนควรทำอะไรได้บ้าง
ผมว่าบทความนี้นอกจากจะเหมาะกับครูบรรณารักษ์หรือบรรณารักษ์ในโรงเรียนแล้ว
ผมขอแนะนำให้บรรณารักษ์ในห้องสมุดทุกประเภทได้อ่านด้วยเพราะน่าจะนำมาประยุกต์ได้

บรรณารักษ์ห้องสมุดในโรงเรียนควรทำอะไรได้บ้าง
– ผู้สอน ครู อาจารย์ในเรื่องของการวรรณกรรมหรือสารสนเทศด้านต่างๆ
– ผู้ประสานงาน หรือ ประสานความร่วมมือกับส่วนต่างๆ ในโรงเรียน
– ผู้ชี้แหล่งสารสนเทศ ช่วยตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าสารสนเทศเพิ่มเติม
– ผู้กระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้บริหาร ครู นักเรียน พ่อแม่ และชุมชนได้รู้ถึงกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุด
– ผู้นำด้านแนวความคิดและจุดประกายไอเดียในการเรียนรู้
– ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนางาน พวกเราสามารถออกแบบและนำเสนองานเพื่อการพัฒนาโรงเรียนได้
– ผู้สร้างนวัตกรรม ห้องสมุดสามารถนำสิ่งใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ แนวความคิดใหม่ๆ มาทดลองใช้ได้
– ผู้ที่รักในการเรียนรู้ ความสามารถในการเรียนรู้มีได้อย่างไร้ขีดจำกัด
– ผู้รวบรวมและผนวกการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะแนวความคิดเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์


แต่ทั้งหมดทั้งปวงบรรณารักษ์ห้องสมุดในโรงเรียนไม่สามารถทำงานด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือและความช่วยเหลือของผู้บริหารและครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียนด้วยจึงจะช่วยให้ห้องสมุดประสบความสำเร็จ

เอาเป็นว่าบรรณารักษ์ห้องสมุดในโรงเรียนที่กล่าวมาสามารถเป็นได้ยิ่งกว่าบรรณารักษ์ที่แค่นั่งให้บริการในห้องสมุดโรงเรียนก็แล้วกันครับ ผมเองก็คาดหวังให้เพื่อนๆ ได้เปลี่ยนแปลงตนเองเช่นกันครับ

ดาวน์โหลดเอกสารต้นฉบับได้ที่ http://hoorayforbooks.pbworks.com/f/lms+evaluation+ideas.pdf

ส่วนภาพ Infographic จาก http://yourteacherlibrarian.wikispaces.com/Are+You+Ready%3F

ตัวอย่างกิจกรรมห้องสมุดโรงเรียน : ครูดีเด่นกับการใช้ห้องสมุด

ขวัญและกำลังใจของผู้ใช้บริการห้องสมุดโรงเรียนเล็กๆ น้อย คงจะเป็นรางวัลผู้เข้าใช้บริการดีเด่น ซึ่ง หลายๆ โรงเรียนมักจะแจกรางวัลนี้ให้กับนักเรียนเป็นหลัก “นักเรียนที่ยืมหนังสือมากที่สุด” “นักเรียนที่เข้าห้องสมุดบ่อยที่สุด” วันนี้ผมขอนำเสนอผู้ใช้บริการอีกกลุ่มที่เราควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน”

ตัวอย่างกิจกรรมวันนี้ผมบังเอิญเห็นใน Facebook ดังภาพ

กิจกรรมนี้มาจาก “ห้องสมุดโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย”
ชื่อกิจกรรม “15 อันดับครูที่เข้าใช้ห้องสมุดโรงเรียนเป็นประจำ”

ดูไปแล้วเพื่อนๆ อาจจะรู้สึกว่ามันธรรมดา ห้องสมุดไหนๆ เขาก็แจกรางวัลประมาณนี้กัน
แต่ข้อสังเกตที่ผมขอตั้งไว้ให้คิด คือ การประกาศเกียรติคุณโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ครับ

ลองอ่านชื่อประกาศและรายละเอียดของประกาศดูนะครับ
ผมรู้สึกว่าแม้จะเป็นเพียงประกาศผ่านโลกออนไลน์แต่ในความรู้สึกของผู้ที่มีรายชื่อในนั้น
บอกตรงๆ ครับ ถ้ามีชื่อผมอยู่บนนั้น “ผมโคตรภูมิใจเลย” “มันวิเศษมากๆ เลย”

ยังไม่หมดครับสังเกตด้านขวามือนะครับ มีการ tag ไปให้ครูที่ได้รับรางวัลด้วย
ซึ่งนั้นหมายความว่าประกาศฉบับนี้ก็จะอยู่บนหน้า Facebook ของผู้ถูกประกาศอีก

นอกจากนั้นก็มีประกาศนียบัตรและพิธีรับมอบรางวัลจากผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย (ในที่นี้คือภารดา)

นอกจากรางวัลหรือประกาศนียบัตรที่มอบให้กับนักเรียนแล้ว
ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาด้วย “เยี่ยมจริงๆ ครับ”

เมื่อครูได้รับรางวัลนี้แล้ว ผมเชื่อว่าคุณครูเหล่านี้เองที่จะมีส่วนช่วยเหลือห้องสมุดในด้านต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาจจะปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านและการใช้ห้องสมุดให้เด็กๆ ที่คุณครูได้สอนต่อไป


เอาเป็นว่าตัวอย่างกิจกรรมดีๆ แบบนี้ผมจะหาและนำมาเล่าให้เพื่อนๆ อ่านต่อไปครับ !!!

สรุปการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TKpark) ได้มีการจัดการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ให้ตัวแทนจากศูนย์ไอซีทีชุมชน และตัวแทนจากโรงเรียนในเครือ สพฐ. จำนวน 150 คน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมศิลปากร และอุทยานการเรียนรู้

หัวข้อในการอบรม
– แนะนำโครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย
– แนะนำสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง
– เรียนรู้การใช้ Audio book
– เรียนรู้การใช้เกมสร้างสรรค์
– ล้วงลึกทุกมิติการเรียนรู้
– มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์


ทีมวิทยากรที่บรรยายในวันนี้เป็นทีมงานจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กันทั้งทีมเลย ซึ่งมาจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายห้องสมุดมีชีวิต ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายไอที และฝ่ายพัฒนาเครือข่าย

สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ที่กล่าวมาข้างต้นประกอบด้วย
– E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม
– Audio Book 101 เล่ม
– เกมสร้างสรรค์ 6 เกมส์

การอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมนอกจากจะได้ฟังการบรรยายแล้ว ยังมีคอมพิวเตอร์ (2 คนต่อ 1 เครื่อง) ที่บรรจุสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ไว้ให้ได้ลองเล่นไปพร้อมๆ กับการสอนการใช้งาน ซึ่งสื่อการเรียนรู้เกือบทุกสื่อเป็นที่เรียกความสนใจของผู้เข้าร่วมอบรมมากๆ โดยเฉพาะเกมสร้างสรรค์อย่างเกมกุ๊กๆ กู๋ คนสู้ผี ผู้เข้าร่วมอบรมได้เล่นกันอย่างสนุกสนานมากๆ หรือแม้แต่ E-Book ที่มีสื่อประสมที่น่าสนใจมากมาย

ซึ่งเมื่อผู้เข้าอบรมได้อบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK กลับไปใช้ที่ต้นสังกัด

การอบรมก็ผ่านไปด้วยดีครับ ยังไงผมก็ขอขอบคุณทุกส่วนที่ทำให้งานนี้สำเร็จนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน ผู้สนับสนุนให้เกิดงาน …..

ประมวลภาพการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

[nggallery id=56]

สรุปการบรรยาย : มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 มิถุนายน 2555) ผมได้มีโอกาสมาบรรยายในงาน “การอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK” เรื่อง “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์” วันนี้จึงขอแชร์เรื่องดังกล่าวให้เพื่อนๆ อ่าน

ก่อนอื่นมาดูสไลด์ที่ผมใช้ประกอบการบรรยายนี้กันก่อน

สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์”

เรื่องของสื่อดิจิทัล กับ สื่อออนไลน์ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนมากๆ เพราะเมื่อข่าวสาร ข้อมูล และความรู้อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว จริงๆ มันก็คือสื่อดิจิทัลนั่นแหละ ซึ่งสื่อออนไลน์มันก็มีหลายประเภท เช่น
– เว็บไซต์
– ฐานข้อมูล
– เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
– ไฟล์เสียง
-ไฟล์วีดีโอ

และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เราก็จะพบว่า สื่อดิจิทัลมากมายเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น  E-Book ในอดีตเป็นเอกสารที่พิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ .txt .doc วันเวลาผ่านไปจากไฟล์เอกสารธรรมดาก็ถูกแปลงสภาพเป็นไฟล์ PDF จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไฟล์ Flash และนอกจากจะอ่านได้เพียงอย่างเดียวก็เปลี่ยนเป็นการนำสื่อวีดีโอและเสียงมาประกอบกับหนังสือด้วย ซึ่งนับเวลาการเปลี่ยนแปลงได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

ในสไลด์ที่ผมจะแนะนำนี้เป็นเพียงตัวอย่างเว็บไซต์ในโลกของ 2.0 ที่เราสามารถนำมาใช้ในวงการศึกษาเท่านั้น (ตัวอย่างแค่เล็กน้อยเท่านั้น) ได้แก่

http://www.flipsnack.com = สร้าง E-book ง่ายๆ ด้วย Flipsnack เพียงแค่อัพโหลดไฟล์ PDF ที่ต้องการจะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปบนเว็บไซต์นี้ คุณก็จะได้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Flip Book ที่สวยงามแบบง่ายๆ ได้เลยทีเดียว

http://issuu.com = สร้างและค้นหา E-book แบบง่ายๆ ด้วย ISSUU นอกจากจะสร้าง E-book ได้แล้วเรายังสามารถหา E-book ที่น่าสนใจอ่านได้อีก ตัวอย่างที่ผมแนะนำคือ หนังสือแบบเรียนมานะมานีที่เราเคยเรียนกันในอดีตก็อยู่บนเว็บไซต์นี้เช่นกัน

http://paper.li/ = หนังสือพิมพ์ข่าวสารในแบบฉบับของเรา Paper.li หนังสือพิมพ์ที่รวบรวมข่าวสารที่เราสนใจ และแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน….

http://youtubemp3.tv/ = แปลงวีดีโอบน Youtube ให้กลายเป็น MP3 คลิบวีดีโอไหนที่มีสาระน่ารู้และน่าสนใจ แล้วเราอยากเก็บไว้มาฟังคนเดียว ก็สามารถแปลงออกมาให้เป็นไฟล์ MP3 ได้

http://www.oxytube.com/ = เก็บวีดีโอบน Youtube มาไว้ในเครื่องของเราดีกว่า

http://www.uppsite.com/ = เปลี่ยนบล็อกของคุณให้กลายเป็น APP บนมือถือ

http://www.makebeliefscomix.com/Comix/ = สร้างการ์ตูนง่ายๆ ด้วย Makebeliefscomix (อันนี้ผมย้ำเยอะหน่อยเพราะว่าน่าสนใจมากๆ เหมาะแก่การนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หรือแม้กระทั่งจัดเป็นคอร์สอบรมแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย)

และก่อนจะจบการบรรยายผมก็ย้ำถึงความสำคัญของโลกออนไลน์อีกครั้งว่า โลกแห่งสื่อสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้เราก็จะเจอหนทางและแนวทางที่จะนำมาใช้งานได้อีก

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการบรรยายของผมครับ