ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า บทความนี้ผมเขียนเพื่อร่วมสนุกในบล็อก Gotoknow ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ จาก gotoknow มาพบบทความนี้ ขอให้เข้าใจว่าบทความนี้เป็นของ “นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์” หรือ “Projectlib” หรือ “km_library” ใน Gotoknow นั่นเอง
ใน Gotoknow ให้เขียนเรื่อง “บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” โดยตอบคำถามดังต่อไปนี้
– ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง
– ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่
– บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร
– เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
– บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร
– บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป
– ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เอาเป็นว่าผมขอตอบคำถามทีละข้อแล้วกันนะครับ
ปล. ผมขอตอบทีละคำถาม (ต่างจากบล็อกของผมใน Gotoknow)
1. ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง
ตอบ – ภาพเดิมๆ ของเราเกี่ยวกับห้องสมุด คือ สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ การสืบค้นหนังสือ ทรัพยากรสำคัญของห้องสมุดคือหนังสือ แต่โลกได้เปลี่ยนไปมากเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเราค่อนข้างเยอะ ห้องสมุดควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับผู้ใช้บริการ ควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยคำตอบและข้อมูลที่ให้กับผู้ใช้บริการบางทีอาจไม่ได้เก็บอยู่ในรู้แบบหนังสือก็ได้ เช่น บางองค์ความรู้อยู่ในตัวบุคคล ห้องสมุดก็เชิญเขามาพูดหรือเป็นวิทยากรก็ได้ ห้องสมุด คือ พื้นที่ที่ให้บริการข้อมูล ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
2. ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่
ตอบ – ควรมี เพราะห้องสมุดคือสถานที่ที่รวบรวมความรู้ ซึ่งไม่ได้มีแค่หนังสือเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะเป็นสถานที่ที่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ต่างๆ ห้องสมุดไม่สามารถเก็บหนังสือได้ทุกเล่มบนโลก แต่ห้องสมุดจะเป็นคนบอกให้คุณรู้ว่าที่ไหนมีความรู้อะไร ที่ไหนมีข้อมูลอะไร และที่ไหนที่จะแก้ข้อสงสัยที่คุณอยากรู้ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ กระบวนการหนึ่งที่ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เริ่มจากคนที่ทำงานในห้องสมุด ผู้ใช้บริการ …..
3. บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร
ตอบ –บรรณารักษ์ไม่ใช่แค่คนที่นั่งเฝ้าหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่บรรณารักษ์จะต้องรู้จักหนังสือในห้องสมุดทั้งหมดด้วย การที่ผู้ใช้บริการมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ แล้วบรรณารักษ์สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ได้รอบห้องสมุดนับเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นมากๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนบทบาทของบรรณารักษ์ให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือก็ยิ่งดี เช่น เมื่อคนเข้ามาในห้องสมุดแล้วต้องการรู้วิธีการรักษาสุขภาพ บรรณารักษ์ก็จะแนะนำหนังสือพร้อมทั้งบอกได้ว่าเล่มไหนอ่านดี เล่มไหนอ่านง่าย ช่วยชี้นำทำให้เกิดการเรียนรู้และความสนใจในการอ่านหนังสือของผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
4. เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
ตอบ – ควรเปลี่ยนอย่างยิ่ง การสืบค้นหนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ผมว่าไม่พอแล้วหล่ะครับ การค้นหาหนังสือแบบเดิมๆ คือ การค้นชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สถานที่จัดเก็บ โลกที่ผมอยากเห็นคือการสืบค้นข้อมูลของหนังสือที่นำไปสู่บทวิจารณ์หนังสือ (ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากที่อ่านหนังสือ ผมว่ามันมีค่าไม่ต่างจากเนื้อเรื่องในหนังสือเลย) หรือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับระบบสืบค้นหนังสือ เช่น สามารถกำหนดคำสืบค้นให้กับหนังสือที่เราสืบค้นได้ (การที่บรรณารักษ์เป็นคนกำหนดคำสืบค้นต่างๆ ให้หนังสือ บางครั้งทำให้ผู้ค้นสืบค้นไม่เจอ เพราะคำศัพท์ที่บรรณารักษ์นำมาใช้มาจากตำราการให้หัวเรื่อง)
5. บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร
ตอบ – ห้องสมุดแบบเดิมๆ ต้องมีบรรยากาศเงียบสงบ ใครส่งเสียงดังก็เหมือนคนทำผิดร้ายแรง จริงๆ แล้วสำหรับผมการที่ห้องสมุดมีเสียงบ้างไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะการที่คนได้อ่านหนังสืออาจมีเรื่องที่สงสัยหรือเรื่องที่ต้องอภิปรายกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องสมุดก็จำเป็นที่ต้องใช้เสียง ไม่เคยมีใครบอกเลยนะครับว่า การเรียนรู้ต้องนั่งเงียบๆ แล้วจะเรียนรู้ได้ดี (สำหรับผมการเรียนรู้เกิดจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และห้องสมุดควรเป็นสถานที่เอื้อให้เกิดสิ่งนี้)
6. บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป
ตอบ –อย่างแรกที่บรรณารักษ์ควรเป็น คือ การแนะนำเรื่องกระบวนการในการเปลี่ยนความรู้ อ่านหนังสือเสร็จให้ผู้ใช้บริการลองเขียนวิจารณ์หนังสือ หรือ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ใช้บริการอ่าน ผมว่าคนเราถ้าได้พูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมันทำให้เรายิ่งรู้มากขึ้นด้วย
7. ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ –ปัจจุบันนี้ห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอกด้วย (ประชาชนทั่วไป) ซึ่งการให้บริการความรู้ผมว่าทั้งสองแบบเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่เนื้อหาสาระมากกว่า เช่นในห้องสมุดประชาชนก็เน้นหนังสือที่ผู้ใช้บริการอ่านง่าย ไม่ซับซ้อนอะไรมาก ส่วนห้องสมุดโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยก็จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นและเนื้อหาเชิงวิชาการที่มากขึ้น
เอาเป็นว่าผมขอตอบแบบนี้ตามความคิดเห็นของผมนะ
นี่แหละ บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ผมอยากเห็น
Leave a Reply