เมื่อวานนี้ขณะนั่งเล่น Twitter อยู่ ก็พบกับ วีดีโอไอเดียสุดเจ๋งจากห้องสมุดที่ประเทศญี่ปุ่นเลยกดเข้าไปดูสักหน่อย พอดูจบเลยต้องตามค้นข้อมูลต่อและขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน
สมุดสะสมมูลค่าการยืม – “Reading passbook”
หากเพื่อนๆ นึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงการทำธุรกรรมในธนาคารดูนะครับ เมื่อเราฝากและถอนเงินเราจะเอาสมุดบัญชีไปใส่เครื่องอัพเดทข้อมูลเพื่อดูยอดบัญชีคงเหลือ
หลักการของ Reading passbook ก็ไม่ได้ต่างกันมาก แค่
- สมัครเปิดบัญชี Reading passbook
- เมื่อยืมหนังสือและนำหนังสือมาคืนเรียบร้อยก็เอา Reading passbook ไปใส่ตู้เพื่ออัพเดทมูลค่าของหนังสือที่เรายืมไป
- เราจะพบกับชื่อหนังสือที่เราเคยยืม และราคาของหนังสือเล่มนั้นใน Reading passbook
- ดูยอดสะสมมูลค่าของการยืมทั้งหมดได้
ซึ่งจากข่าวและบทความที่ผมนำมาลงนี้ เด็กผู้หญิงในคลิปวีดีโอ เธอมียอดสะสมมูลค่าหนังสือที่เธอยืมถึงมากกว่า 500,000 เยน เลยทีเดียว
การทำเช่นนี้มันทำให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดตระหนักถึงสิ่งที่ห้องสมุดทำอย่างยิ่ง ลองนึกแบบเร็วๆ ว่าถ้าไม่มีห้องสมุดแล้วเราต้องอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเองด้วยเงินขนาดนี้ เราก็แทบไม่อยากทำเลย แต่ห้องสมุดสามารถช่วยแบ่งเบาในเรื่องนี้ได้
ปกติผมเอาเทคนิคนี้มาใช้ในการวัดมูลค่าทางสังคมของห้องสมุดที่ผมทำงานอยู่แล้ว โดยเราเรียกตัวเลขนี้ว่า “มูลค่าประหยัดให้กับสมาชิก” — การที่สมาชิกยืมหนังสือหนึ่งเล่ม เท่ากับเขาไม่ต้องซื้อหนังสือจากร้านหนังสือได้ หากเรานำตัวเลขนี้มาสะสมและรวมทุกคน ทุกเล่มในห้องสมุด จะพบว่าในแต่ละปีห้องสมุดมีมูลค่าประหยัดให้กับสมาชิกสูงถึงหลายล้านบาทเลยทีเดียว และหากเราเอาตัวเลขตัวนี้มาหารกับงบประมาณในการซื้อหนังสือ เราจะได้มูลค่าทางสังคม เช่น
มูลค่าประหยัดให้กับสมาชิก ปี 2561 = 5,000,000 บาท
งบประมาณของห้องสมุด = 500,000 บาท
จะเท่ากับเงิน 1 บาทที่ห้องสมุดลงทุน ตอบแทนคืนสังคม 10 บาท
ซึ่งแทนที่เราจะรายงานความสำเร็จแค่ ตัวเลขคนเข้าใช้บริการ จำนวนการยืม เราสามารถรายงานตัวเงินที่ตอบแทนคืนสังคมก็ได้ ซึ่งทำให้ห้องสมุดของเราดูมีค่าขึ้นอีกเยอะเลย (เทคนิคนี้ผมนำมาใช้ในห้องสมุดของผมนะครับ)
เพิ่มเติมข้อมูลนะครับ ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องนี้มากกว่า 71 ห้องสมุดแล้วด้วยนะครับ
ที่มาของบทความ https://headlines.yahoo.co.jp/videonews/nnn?a=20190305-00000099-nnn-soci
ผู้ผลิต https://www.trc.co.jp/solution/passbook.html