รีวิวหนังสือ “แนวทางสำหรับบรรณารักษ์หนึ่งเดียวในห้องสมุด”

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมโพสรูปหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมอยากอ่าน ชื่อเรื่องว่า “Managing the One-Person Library” ซึ่งมีเพื่อนๆ สอบถามและอยากให้ผมช่วย Review หนังสือเล่มนี้ วันนี้สะดวกแล้วครับ มาอ่านรีวิวจากผมกันได้เลย

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Managing the One-Person Library
ผู้แต่ง : Larry Cooperman
ISBN : 9781843346715
ปีพิมพ์ : 2015
จำนวนหน้า : 88 หน้า

ทำไมผมถึงรู้สึกชอบและอยากรีวิวหนังสือเล่มนี้ : ส่วนหนึ่งเพราะบรรณารักษ์ในห้องสมุดบ้านเรา (ประเทศไทย) ส่วนใหญ่ (ห้องสมุดโรงเรียน) จะมีบรรณารักษ์ / ครูบรรณารักษ์เพียงหนึ่งคนที่เป็นผู้ดูแลห้องสมุดเป็นหลัก ซึ่งก็ตรงกับคำว่า One-Person Library หรือในหนังสือเล่มนี้จะใช้คำว่า “SOLO Librarian”

นิยามสั้นๆ ของคำว่า “One-Person Library” คือ one in which all the work is done by the [single] librarian ซึ่งถูกกล่าวถึงตั้งแต่ปี 1976 โดย Guy St. Clair อ่านต่อในวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/One-person_library

หนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 บท ดังนี้

  1. Who is a one-person, or solo librarian? And how do they manage to do what they do?
  2. Marketing your library
  3. Professional development
  4. Collection development
  5. IT resources, troubleshooting, internet security, and library security
  6. Cataloging and Serials management
  7. Staffing the one-person library
  8. Final thoughts on solo librarianship and the future of solo librarians

ผมขอสรุปแต่ละบทแบบสั้นๆ ดังนี้

บทที่ 1 จะเป็นการอธิบายนิยามของคำว่า “One-Person Library” ซึ่งหมายถึง ห้องสมุดที่มีบรรณารักษ์ที่จบและมีความรู้ด้านบรรณารักษ์เพียงคนเดียว ซึ่งบรรณารักษ์คนนี้มีเรื่องที่ต้องจัดการเยอะมาก เช่น การบริหารจัดการเวลา การวางกลยุทธ์ขององค์กร การบริหารความเปลี่ยนแปลง การบริหารและจัดการความเครียด การบริหารจัดการคน ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงการจัดการทั่วๆ ไป (ทุกอาชีพก็ต้องทำ) ยังไม่ได้ลงถึงเรื่องการจัดการความรู้ด้านวิชาชีพเลย อ่านบทสรุปของผมอาจจะเข้าใจยาก ในหนังสือจะยกตัวอย่างและอธิบายวิธีการพอสังเขป เช่น การบริหารและจัดการความเครียด นำเสนอวิธีการง่ายๆ 3 ข้อ คือ 1. หาเวลาพักในระหว่างทำงานบ้าง 2. กำหนดเวลาในการทำงานและพักให้ชัดเจน 3. พัฒนาวิชาชีพบ้าง (อยู่ในบทที่ 3)

บทที่ 2 การตลาดในห้องสมุด ให้เราพยายามดึงจุดเด่นของวิชาชีพมานำเสนอให้มากขึ้น เช่น บรรณารักษ์แนะนำให้อ่าน (อย่าพยายามทำการตลาดแบบนักการตลาดเพราะเราไม่ได้เกิดมาเป็นนักการตลาด แต่เราเกิดมาเป็นบรรณารักษ์) ช่องทางในการประชาสัมพันธ์แบบง่ายๆ เช่น ภายในพื้นที่, สื่อสังคมออนไลน์, บอร์ดนิทรรศการ, กลุ่มชุมชนใกล้เคียงห้องสมุด ฯลฯ

บทที่ 3 การพัฒนาวิชาชีพ (พัฒนาตัวเองด้านวิชาชีพ) เช่น เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ สัมมนา เข้าร่วมเครือข่าย ฟังสัมมนาออนไลน์ (webinars) เข้าร่วมกลุ่มวิชาชีพในสังคมออนไลน์ ฝึกเขียน ฝึกสอน สุดท้ายเมื่อได้เรียนรู้อะไรมาลองฝึกปฏิบัติจะทำให้เราเก่งขึ้น

บทที่ 4 งานพัฒนาทรัพยากร งานนี้จริงๆ แล้วถ้าเรากำหนดนโยบายในงานพัฒนาทรัพยากรที่ชัดเจน จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เช่น ขอบเขตของเนื้อหาหนังสือที่ห้องสมุดควรมี (ใช้เพื่อพิจารณาจัดซื้อจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด) นโยบายในการคัดออก กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานให้ชัด กำหนดประเภททรัพยากรที่ควรมีในห้องสมุด แนวทางในการประเมินทรัพยากร (ดูจากยอดการยืม, ดูจากอายุทรัพยากร, ภาพรวมของจำนวนหนังสือบมชั้น, คำแนะนำจากผู้ใช้)

บทที่ 5 งานด้านไอที จริงอยู่ที่เราไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ เราเป็นเพียงบรรณารักษ์ แต่ในยุคนี้เรานำไอทีมาใช้ในห้องสมุดมากมาย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เราควรทำได้ระดับหนึ่ง เช่น เวลาเครื่องคอมพิวเตอร์มีปัญหาเราสามารถปิดและลองเปิดใหม่ หรือสังเกตอาการของเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ การแก้ไขปัญหาอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น ฯลฯ ข้อดีของการนำไอทีมาช่วยในการทำงานคือลดงานบางอย่างได้ เช่น การจองห้องประชุม การนัดหมายผ่านอีเมล์ ฯลฯ

บทที่ 6 งานวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง เอาง่ายๆ เลยเราต้องรู้จักมาตรฐานงาน catalog ก่อน เช่น ห้องสมุดเราใช้การจัดหมวดหมู่แบบไหน มาตรฐานการลงรายการตาม AACR2 หรือไม่ การกรอกข้อมูลลงในระบบแบบ MARC หรือเปล่า …. หากเราไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ แนะนำกลับไปพัฒนาตามบทที่ 3

บทที่ 7 บทนี้เน้นการจัดการกับทีมงาน ซึ่งได้แก่ อาสาสมัคร เด็กฝึกงาน พนักงานฝึกหัด (บทนี้ถ้าดึงเข้ามาให้ตรงกับกรณีของประเทศไทยผทอาจจะเข้ายกตัวอย่างเป็น ยุวบรรณารักษ์ที่ช่วยงานในห้องสมุดโรงเรียนก็ได้)

บทที่ 8 บทสรุป เราทำงานในห้องสมุดคนเดียวก็จริง แต่ในโลกนี้ก็ไม่ได้มีห้องสมุดเพียงแห่งเดียว การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุด บรรณารักษ์จะได้เครือข่ายไปด้วย และเชื่อผมเถอะว่า “ไม่มีใครเข้าใจบรรณารักษ์นอกจากคนในวิชาชีพเดียวกันแน่นอน”

เอาเป็นว่าผมก็สรุปหนังสือคร่าวๆ เรียบร้อยแล้ว ภาพรวมของหนังสืออ่านไม่ยากเลยครับ และจำนวนหน้าที่ค่อนข้างน้อย (88 หน้า) แถมทุกบททีการสรุปออกมาเหลือ 5 ประเด็น และการยกตัวอย่างจากห้องสมุดต่างๆ ยิ่งทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นด้วย

จบการรีวิวแต่เพียงเท่านี้

ปล. ขอแถมภาพ infographic สรุปหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนๆ ด้วย คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพนะครับ

ข้อมูลจาก https://libraryconnect.elsevier.com/articles/flying-solo-could-you-manage-one-person-library-new-infographic-download-and-share

About libraryhub 884 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*