ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ทุกคน

วันนี้เปิดอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2562 แล้วเจอคอลัมน์หนึ่ง “ก้าวไกลวิสัยทัศน์” ซึ่งเขียนโดย ดร.บวร ปภัสราทร (อาจารย์ที่เคยสอนปริญญาโทผมตอนที่อยู่ KMUTT) วันนี้ท่านเขียนเรื่อง “ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทุกยุค” ผมจึงขอนำมาต่อยอดและอธิบายให้บรรณารักษ์ได้อ่านกันต่อด้านล่างนี้นะครับ

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่หลายท่านได้ยินคำว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์กันบ้างแล้ว และนอกจากการที่ได้ยินคำๆ นี้บ่อยขึ้น ความฉลาดและความสามารถของ AI ก็ถูกพัฒนามากขึ้นเช่นกัน จนบ่อยครั้งที่ผมไปบรรยายให้พี่น้องชาวบรรณารักษ์ฟังจะต้องมีคำถามว่า “แล้วเราจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือไม่”

จากการพูดคุยกับอีกหลายๆ คน รวมถึงหาข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนเรื่องดังกล่าว
“งานที่หุ่นยนต์สามารถแทนที่ได้” มีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เป็นงานที่ต้องทำซ้ำๆ (ลองนึกถึงกระบวนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม)
  2. เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดที่ต้องประมวลผลแบบซับซ้อน (การคิดคำนวณ)
  3. เป็นงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต (อันนี้ก็ไม่ต้องเอาชีวิตเราไปเสี่ยง)

กลับมาดูงานในห้องสมุดกันครับ

  1. งานที่ต้องทำซ้ำๆ เช่น การให้บริการยืมคืน เดี๋ยวนี้ก็มีบริการ Self Service แล้ว
  2. งานที่ต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อน เช่น การให้เลขหมู่ อีกหน่อยใส่ชื่อหนังสือหรือโยนเนื้อหาเข้าไประบบคงบอกเลขหมู่ได้เลย
  3. ส่วนงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต — อันนี้ยังคิดไม่ค่อยออก (จัดชั้นหนังสือแล้วหนังสือตกใส่หัวมั้งครับ)

กลับเข้าเรื่องดีกว่า อาจารย์ของผมก็เลยกล่าวว่า “เครื่องมือเครื่องจักรทันสมัยแค่ไหนก็ไม่สามารถแทนทักษะเหล่านี้ได้ง่ายๆ” (บางประเด็นแอบไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ)

ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทุกยุค ประกอบด้วย

  1. ต้องพูดให้คนอื่นยอมฟังได้ – อันนี้เน้นที่เรื่องของการสื่อสาร ถ้าหุ่นยนต์พูดแล้วเราไม่ฟังหุ่นยนต์ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคนต้องพูดก็ควรพูดหรือสื่อสารให้น่าฟังหรือเข้าใจ ซึ่งจะต้องอาศัยทักษะอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การจับใจความของคนที่เราต้องการสื่อสาร หรือ การสรุปประเด็นให้สื่อสารได้ตรงจุด
  2. ต้องคิดเชิงวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี – อันนี้ผมอยากให้คิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับงานอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ใช่แค่คิดวิเคราะห์งานของตัวเอง (หรืองานที่ทำเพียงคนเดียว) ถ้าเราเห็นภาพใหญ่ หรือ ภาพรวม และคิดได้เป็นระบบจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
  3. รู้วิธีหาความรู้ – มนุษย์เราก็มาพร้อมกับความขี้สงสัย (ผมเคยเขียนไปเมื่อบล็อกล่าสุด “บรรณารักษ์ขี้สงสัยถึงอยู่รอด”) เมื่อเราสงสัยเราก็ต้องหาคำตอบ และสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้คือ การจะหาความรู้เพื่อมาตอบสิ่งที่เราสงสัย (บางทีก็หงุดหงิดกับเด็กไทยบางส่วนที่ชอบมาถามเรื่องรายงานแทนที่จะหาเนื้อหาบางส่วนแล้วมาคุย กลับกลายเป็นว่าให้เราหาให้ทั้งหมด)
  4. รู้บัญชีเบื้องต้น – อันนี้เห็นด้วยเพราะคนไทยขาดการให้ความรู้เรื่อง Financial Literacy ตั้งแต่เด็ก ทำให้เรื่องการเงินค่อนข้างมีปัญหา
  5. รู้วิธีตัดสินใจ – การตัดสินใจจริงๆ แล้วเรื่องนี้เหมือนง่าย แต่บางคนชอบใช้การตัดสินใจจากความรู้สึก (มโนไปเอง) อยากให้เติมเรื่องการนำข้อมูลมาใช้เพื่อตัดสินใจ จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันมีเรื่องพวกนี้ให้ฝึกเยอะ เช่น ก่อนจะซื้อของสักอย่างเราจะค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบราคา อ่านรีวิว ซึ่งนั่นคือการนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ
  6. รู้วิธีหาพรรคพวก – มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ไม่ชอบอยู่ตามลำพัง ดังนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่ยังทำให้เราเป็นมนุษย์ สามารถนำมาปรับใช้ในมิติการสร้างเครือข่าย หรือ แม้กระทั่งการทำงานร่วมกัน
  7. รู้จักพักผ่อนได้ – ทักษะนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าทำได้ยากมาก ยิ่งในปัจจุบันที่เราใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลมากมาย กลับกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านั้นดึงเวลาที่มีค่าของเราไปใช้ค่อนข้างเยอะ แถมยังทำให้เรารู้สึกเครียดมากยิ่งขึ้น ดังนั้นอะไรที่มันเยอะเกินไปลองปิดและหยุดพักบ้าง
  8. รู้จักสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง – ในยุคนี้เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้ แถมความรู้ที่เราเคยเรียนบางอย่างก็ใช้ไม่ได้กับโลกปัจจุบันอีกแล้ว เราจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต บางครั้งท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง ผมว่าไม่แปลก แต่เราอย่าจมกับความรู้สึกเหล่านั้นนาน พยายามเติมไฟ เติมแรงบันดาลใจให้ตัวเองบ้าง เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราเป็นสิ่งมีชีวิต …

เอาเป็นว่าบทความนี่ก็เสริมเติมแต่งจากหัวข้อของอาจารย์ผมไปเยอะเหมือนกัน หวังว่าอ่านแล้วจะได้ข้อคิดดีๆ กันบ้าง

สำหรับใครที่อยากอ่านต้นฉบับที่อาจารย์ผมเขียน เข้าไปดูได้ที่
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648540

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *