เมื่อวันก่อนผมได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ เรื่อง “ทักษะวิชาชีพบรรณารักษ์ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” (Professional Librarian Development and Disruptive Technologies) ในฐานะวิทยากรตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ ก่อน session ของผม ดร.กฤษฎา (รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้กล่าวเปิดงานและบรรยายเรื่อง Future Thai Citizens and Learning Revolution ซึ่งผมได้ไอเดียจากสไลด์หน้าหนึ่งของท่าน
ในหน้าดังกล่าวอาจารย์กฤษฎาได้มาจากสไลด์ของอาจารย์สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งกล่าวถึงความสมดุลในทุกสิ่ง
การนำภูมิปัญญาของมนุษย์มาใช้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ทุกสิ่งก็ต้องรักษาสมดุลให้ดี เช่น ด้านเทคโนโลยีก็ต้องไม่มากเกินไป สิ่งแวดล้อมก็ต้องพอเหมาะพอดี
ถ้าไม่สมดุลอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมจะรุนแรงมากขึ้น คนจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะมากขึ้น สุดท้ายก็ส่งผลต่อมนุษย์ต่อไป
พอได้ฟังการบรรยายวันนั้นแล้ว ผมก็เลยเขียนภาพนี้แบบเร็วๆ ว่า “ห้องสมุดแบบ GST model“
Human VS Technology -> รักษาสมดุลในเรื่องเทคโนโลยี อย่างที่วันก่อนผมได้โพสใน facebook ชื่นชมห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า
“ห้องสมุดประชาชนไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ไฮเทคสุดๆ แล้วชาวบ้านไม่ใช้ ตัวอย่าง เช่น เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ห้องสมุดซื้อ เพชรพระอุมาฉบับ eBook มา 5 Users ใส่ไว้ใน Tablet อย่างดี แต่ไม่มีคนเปิดอ่านเลยในห้องสมุด (ฉบับตัวเล่มยังดีกว่า) สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือ กิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของชาวบ้าน ซึ่งนั่นคือ “ผู้ใช้บริการของเรา””
นั่นแหละครับเทคโนโลยีสุดไฮเทคไม่สามารถตอบความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นนำเทคโนโลยีมาใช้ได้แต่ดูผู้ใช้บริการของห้องสมุดท่านด้วย
Human VS Human -> รักษาสมดุลในเรื่องของมนุษย์ด้วยกัน ประเด็นนี้แบ่งได้หลายเรื่องมากๆ ครับ เช่น
- ความเท่าเทียม/ความเสมอภาคในการให้บริการ
- การคิดถึงผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)
- การบริการด้วยใจ (Service Mind)
ดังนั้นในเรื่องนี้ ผมขอเน้นเรื่อง S-Service เพราะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ (บรรณารักษ์กับบรรณารักษ์/บรรณารักษ์กับผู้ใช้บริการ/ผู้ใช้บริการกับผู้ใช้บริการ)
Human VS Nature -> รักษาสมดุลในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้อาจตอบได้ด้วยเรื่อง Green Library ไม่ว่าจะเป็น
- การให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม (การให้ความรู้)
- การทำงานในห้องสมุดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง)
เอาเป็นว่านี่เป็นเพียงมุมมองของผม จากการที่ผมอ่านและฟังการบรรยายเท่านั้น เรื่อง GST Model ไม่เคยมีใครเคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นไม่ต้องนำเรื่องนี้ไปอ้างอิงและทำตามกระแสที่ผมเขียนนะครับ เพราะทุกอย่างผมเชื่อว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งปฏิบัติกันอยู่แล้ว….
แล้วในความคิดเห็นของเพื่อนๆ หล่ะครับ GST Model คืออะไร
Leave a Reply