นานๆ ทีจะได้เข้ามาอัพความรู้เกี่ยวกับวงการห้องสมุด วันนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง “Creating a New Library: Recipes for Transformation” แล้วได้ข้อคิดดีๆ หลายอย่าง จึงอยากนำมาแชร์ให้เพื่อนๆ อ่าน สามารถติดตามรีวิวหนังสือเล่มนี้ได้ ด้านล่างนี้เลย
ข้อมูลหนังสือเบื้องต้น
ชื่อหนังสือ : Creating a New Library: Recipes for Transformation
ผู้แต่ง : Valerie Freeman และ Rebecca Freeman
ISBN : 9780081012987
สำนักพิมพ์ : Elsevier Science
ปีที่พิมพ์ : 2016
จำนวนหน้า : 446 หน้า
เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็น 7 บทใหญ่ ดังนี้
1) Introduction
2) Theory behind the change
3) From idea to conclusion
4) Spectacular spaces
5) Community connections
6) Outrageous outreach
7) Conclusion
ซึ่งเนื้อหาคร่าวๆ ในบทที่ 1, 2, 3 จะเป็นการกล่าวถึงที่มาที่ไป การเล่าเรื่องโดยนำทฤษฎีต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบพื้นที่, รูปแบบการเรียนรู้, การทำความเข้าใจผู้ใช้บริการ, กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในรูปแบบใหม่ๆ, และฉายภาพความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การเล่มในบทที่ 4, 5, 6 อีกที
ในบทที่ 4, 5, 6 จะเป็นการลงรายละเอียดของสูตรสำเร็จในมุมมองต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
บทที่ 4 Spectacular spaces : เรื่องพื้นที่ภายในห้องสมุดและการใช้สอยพื้นที่ในมุมมองใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 33 เรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ เช่น การสร้างสรรค์พื้นที่ในดูดีด้วยต้นทุนต่ำ, การจัดวางที่นั่งในตำแหน่งต่างๆ, การจัดพื้นที่เงียบภายในห้องสมุด, การจัดสวน (พื้นที่สีเขียว), การจัดมุมนวัตกรรม, การจัดมุมแนะนำบรรณารักษ์, ….. เรียกได้ว่าแบบอยากจัดพื้นที่หรือปรับพื้นที่แบบไหนมีคำแนะนำเกือบทุกอย่าง
การเขียนสูตรสำเร็จของการใช้พื้นที่จะแบ่งออกเป็น
- Servings (มุมนี้สำหรับตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแบบไหน เช่น ฝูงชน, 2-5 คน, 1 คน)
- Ingredients (มุมนี้ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เช่น เก้าอี้ โต๊ะ ป้าย ….)
- Setup (วิธีการจัดมุมแบบ step by step)
- Make it happen! (ปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้พื้นที่ใช้การได้)
- Clean up (แนวทางในการทำความสะอาดหรือเก็บของหลังใช้เสร็จ)
- Variations (รูปแบบในการใช้งาน)
- Nutrition information (ข้อมูลในการใช้ประโยชน์จากมุมนี้เพื่อสื่อสาร)
- Allergy warnings (คำเตือนหรือข้อพึงระวังของการใช้มุมนี้ เช่น จำกัดระยะเวลา)
บทที่ 5 Community connections : กิจกรรมและการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนชุมชน (กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจ) ในบทนี้มีคำแนะนำมากถึง 33 เรื่อง ตัวอย่างเช่น สภากาแฟ (จิบกาแฟคุยเรื่องหนังสือ), Book Club, เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, กิจกรรมฝึกอ่านฝึกเล่า, กิจกรรมบอร์ดเกม, …. มีกิจกรรมให้เลือกนำไปใช้เยอะมากๆ
การเขียนสูตรสำเร็จของการจัดกิจกรรมจะเหมือนกับการเขียนสูตรสำเร็จของการใช้พื้นที่ซึ่งประกอบด้วย Servings, Ingredients, Setup, Make it happen!, Clean up, Variations, Nutrition information และ Allergy warnings
บทที่ 6 Outrageous outreach : ในบทนี้จริงๆ คล้ายกับบทที่ 5 แต่เป็นการเน้นกิจกรรมที่ห้องสมุดต้องออกจากพื้นที่ไปจัดภายนอกห้องสมุด จำนวน 33 กิจกรรม เช่น ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile books), กิจกรรมที่ช่วยเหลือคนไร้บ้าน, กิจกรรมสัปดาห์หนังสือ, กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ, กิจกรรมสนับสนุนการหางาน, ห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) ฯลฯ สูตรสำเร็จในแต่ละเรื่องก็จะเหมือน 2 บทด้านบน
เขียนมาจนถึงตอนนี้ เพื่อนๆ คงมองเห็นภาพหนังสือเล่มนี้ออกแล้ว ว่าทำไมถึงหนา 446 หน้า เพราะสูตรสำเร็จที่เราได้มีมากถึง 99 สูตร จาก 3 เรื่องข้างต้น เช่น พื้นที่, กิจกรรมชุมชน, กิจกรรมภายนอก ผมถือว่าคู่มือเล่มนี้ค่อนข้างอธิบายได้ดีมากๆ (มีภาพประกอบด้วยนะครับ)
บทสุดท้าย (บทที่ 7) เป็นการสรุปภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ โดยมีประเด็นที่ผมชอบ เช่น
- เราอยู่ในยุคที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย ดังนั้นเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และความเข้มแข็ง (ความเพียร) ที่จะต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ มากมาย
- 3 หัวใจแห่งความสำเร็จ คือ 1) การออกแบบพื้นที่ให้ตรงใจลูกค้า (ทำให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ), 2) ทำให้ลูกค้าเสพติดกับกิจกรรมต่างๆ และ 3) เชื่อมต่อกับพันธมิตรในชุมชน
เอาเป็นว่าคุ้มมากๆ ครับที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ (คิดถึงงานบรรณารักษ์ที่เคยทำเลย) ….
Leave a Reply