“The Next Five Years”: อีกห้าปีหลังจากนี้ … ห้องสมุดจะ …
วันนี้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์เพื่อคลายเครียดจากการทำงานในวงการอื่น (พอจะมีเวลาว่างนิดหน่อย) จริงๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้เหมาะกับช่วงนี้มากๆ เพราะเป็นช่วงที่ผมต้องคิดแผนกลยุทธ์ในปีหน้า …
ในวงการราชการเดือนหน้าก็เป็นเดือนสุดท้ายที่ใช้งบประมาณแล้ว … ตุลาคม คือ ปีงบประมาณใหม่
ในวงการเอกชนเริ่มปีงบประมาณใหม่ตามปีปฏิทิน แต่ก็ต้องเริ่มเขียนแผนและเตรียมร่างงบประมาณในช่วงนี้
หนังสือเล่มที่ผมอ่านมีชื่อว่า “Digital Information Strategies: From Applications and Content to Libraries and People” ซึ่งเขียนโดย David Baker และ Wendy Evans ดูข้อมูลอื่นๆ จาก https://www.amazon.com/Digital-Information-Strategies-Applications-Libraries/dp/0081002513
ในบทที่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึง “Digital Information Strategies” ซึ่งภายในบทก็มีเรื่องที่น่าสนใจหลายส่วน แต่ที่สะดุดใจผมคือ “The Next Five Years” กล่าวคือ ผู้เขียนได้เล่าถึงการศึกษาอนาคตและแนวโน้มของห้องสมุด โดยใช้เทคนิคที่ชื่อว่า “Delphi” ในการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายวิชาชีพ
อีกห้าปีหลังจากนี้ … ห้องสมุดจะ …
- ห้องสมุดประชาชนจะกลายเป็น Third Place (สถานที่ที่ไม่ใช่ทั้งบ้านและที่ทำงาน แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการ)
- ห้องสมุดเฉพาะจะหายไป
- บรรณารักษ์จะผลิตเนื้อหาข้อมูลมากขึ้นเพื่อตอบสนองผู้ใช้ของตนเอง
- บรรณารักษ์จะให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น
- บรรณารักษ์จะมีส่วนร่วมในการศึกษาเรื่อง Information Literacy มากขึ้น
- บริการห้องสมุดจะเน้นการบริการทางไกลมากขึ้น
- การตลาดจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของห้องสมุดมากขึ้น
- เครือข่ายจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ
- ห้องสมุดทางกายภาพจะมีความสำคัญอีกนาน
- ห้องสมุดจะกลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Maker space, Lab
- ห้องสมุดประชาชนจะมีการจัดการ Collection แบบ hybrid มากขึ้น
- ห้องสมุดจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไปเรื่อยๆ
ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้ให้ความเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดยังคงอยู่ในอนาคต อาทิ
- แนวทางความยั่งยืนของการพัฒนาห้องสมุด
- ความจำเป็นที่ห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลง
- การเติบโตของเทคโนโลยี
- พฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป
- แนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ห้องสมุดสมัยใหม่
- ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของบรรณารักษ์ยุคใหม่
พออ่านบทนี้จบ ผมกลับมานั่งทบทวนถึงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา (COVID-19) เพื่อนๆ หลายคนถามผมว่า ห้องสมุดจะกลับมาเป็นอย่างไร แน่นอนครับ “ห้องสมุดไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิม” และต้องขอบอกว่า “ไม่ต้องรอเปลี่ยนแปลงแบบ 5 ปีที่ผมเขียนด้านบน” เอาแค่ภายในปีนี้ก่อน ลองกลับไปดูข้างบนครับ
- Third Place – ถ้าต้อง Work from home นานๆ เราก็เบื่อ แถมออฟฟิตก็ไม่ให้เราเข้าไปทำงานแบบแออัด “การมี Third Place อาจตอบโจทย์ได้”
- ความรู้เฉพาะทางสามารถหาได้ง่ายขึ้น ห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่อ่าน แต่ต้องเน้นการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ กระบวนการในการเรียนรู้
- ข้อมูล ความรู้จากหนังสือในห้องสมุด บรรณารักษ์สามารถเลือกและนำมาเล่าในรูปแบบง่ายๆ ได้ผ่าน Social Media
- ต้องระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์มากยิ่งขึ้น
- Social Media ใครๆ ก็เขียน Content ได้ ข่าวลวง ข่าวจริง แยกแยะอย่างไรบรรณารักษ์ตอบได้หรือไม่
- Physical Distancing เราสามารถให้บริการผ่าน Online ได้หรือไม่ หรือถ้าผู้ใช้ไม่สามารถเดินทางมาหาเรา เรามี Mobile Library หรือไม่
- Content Marketing สำคัญมาก
- เราไม่สามารถเก่งได้ด้วยตัวคนเดียว หลายหัวดีกว่าหัวเดียว
- พื้นที่ภายในห้องสมุดปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
- สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ หรือ สร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ ในพื้นที่ห้องสมุด
- การจัดหนังสือแบบเดิมจะค่อยๆ หายไป จัดหมวดหมู่ตามเนื้อหาที่เป็นที่สนใจน่าจะดีกว่า
- เราต้องเป็น “ที่พึ่ง” ของทุกคนในชุมชนให้ได้
วันนี้ ถ้าถามว่า “อีกห้าปีห้องสมุดจะเป็นอย่างไร” ผมอยากให้เราหลับตาแล้วนึกย้อนกลับไปว่า “ห้าปีที่ผ่านมาห้องสมุดเราเปลี่ยนไปหรือไม่” ที่สำคัญ “เปลี่ยนแล้วผู้ใช้บริการมีความยินดีกับเราหรือไม่”
เชื่อผมเถอะครับ “การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้จะมาเร็วกว่าที่เพื่อนๆ คิดแน่นอน”