4 บทบาทใหม่ที่ห้องสมุดควรทำหลัง COVID-19 (Next Normal for Library)
มีคำถามส่งมาถึงผมมากมายเพื่อถามว่า “หลัง COVID-19 ห้องสมุดคงไม่เหมือนเดิม แล้วห้องสมุดของเราจะต้องปรับและเปลี่ยนอย่างไร” วันนี้ผมขอนำบทความจากหนังสือพิมพ์ The Straits Times เรื่อง “Beyond Covid-19: The new roles libraries can play” มาแชร์ให้เพื่อนๆ อ่าน
ผู้ที่ให้ข้อมูลกับ The Straits Times ก็ไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ Mr. Ng Cher Pong (CEO, National Library Board) ก่อนที่เขาจะมาเป็น CEO ให้กับ NLB เขาเคยเป็น CEO ของ SkillsFuture Singapore (SSG) มาก่อน บทความนี้จึงทำให้ผมรู้จักความคิดและมุมมองของ CEO ท่านนี้ได้ดีขึ้น
ห้องสมุดไม่สามารถตั้งรับและบริการในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป สาเหตุหลักๆ ก็คงปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยีและการสื่อสารที่ไร้พรมแดนในปัจจุบันไม่ได้ ผู้คนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างอิสระ และง่ายดายมากขึ้น ห้องสมุดในอดีตทำหน้าที่เพียงแค่รวบรวมองค์ความรู้ และรอการใช้งานจากผู้ใช้บริการ แต่วันนี้เราต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้ใช้บริการที่นับวันจะเปลี่ยนเร็วและไม่เหมือนเดิมมากยิ่งขึ้น
จวบจนวันที่สถานการณ์ COVID-19 รุกรามไปยังหลายประเทศทั่วโลก ห้องสมุดแบบเดิมไม่สามารถให้บริการได้เช่นที่เคยเป็น เรามีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ / การจำกัดการใช้บริการ / ผู้ใช้บริการไม่มั่นใจต่อการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
คำแนะนำเพื่อให้ห้องสมุดสามารถคงอยู่ในโลกใบนี้ได้ต่อไป เราต้องเปลี่ยน — เปลี่ยนยังไงดี
ขอแนะนำ 4 บทบาทใหม่ที่ห้องสมุดควรทำหลัง COVID-19 (Next Normal for Library)
- To move beyond reading to facilitate learning (จาก “อ่าน” สู่ “การเรียนรู้”)
ไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเป็นผู้ที่สร้างสภาพแวดล้อม และอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเรียนรู้ให้กับผู้ใช้บริการ และการเรียนรู้ที่เราต้องอำนวยความสะดวกต้องเป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เฉพาะแก่ผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคล (Personalized Learning) — และแนวโน้มที่สำคัญคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และ การเรียนรู้เพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ในอนาคต
- To move beyond books to curating programmes (จาก “หนังสือ” สู่ “การจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้”)
หนังสือในห้องสมุด (กายภาพ) อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการอีกแล้ว หนังสือในโลกใบนี้มีมากมายเหลือเกิน แต่เล่มไหนจะเหมาะกับใครมันเป็นเรื่องเฉพาะทางมากๆ และผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงความรู้ในสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวก แต่จะทำให้เนื้อหาเหล่านั้นเป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น “บรรณารักษ์” จำเป็นต้องมีวิธีการถ่ายทอด และสื่อสารเนื้อหาที่น่าสนใจให้กับผู้ใช้บริการ เช่น SURE แคมเปญที่ห้องสมุดสิงคโปร์ต้องการสร้างแนวคิดวิธีการหาความจริงจากการอ่านวรรณกรรม …
- To move beyond collecting to engagement with Singaporeans (Community) (จาก “การจัดเก็บ” สู่ “การสร้างความผูกพันในชุมชน”)
ห้องสมุดไม่สามารถซื้อหนังสือได้ทุกเล่มที่มีในท้องตลาด และห้องสมุดก็มีข้อจำกัดเรื่องการจัดเก็บหนังสือ (พื้นที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนหนังสือ) ลองนึกแบบเร็วๆ “หนังสือหลายเล่มที่เราซื้อมาไม่เคยถูกใช้เลย” ดังนั้นจากข้อหนึ่งและสอง การอ่านและหนังสือ ตอนนี้ ถูกเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมส่งเสริมเรียบร้อย ซึ่งถ้าตอบโจทย์ชุมชนก็จะดีมากๆ ด้วย ลองนึกภาพหลัง COVID-19 จบ คนที่ตกงานก็จะกลับมาหางาน กลับมาอัพเดทความรู้ ห้องสมุดจะต้องปฏิบัติอย่างไร
- To move beyond physical to omni-channel modalities (จาก “กายภาพ” สู่ “การสร้างช่องทางใหม่ๆ”)
ผู้ใช้บริการบางส่วนตอนนี้ย้ายไปอยู่บน Platform ออนไลน์ และก็มีผู้ใช้บริการบางส่วนรอการเปิดห้องสมุด (สถานที่) ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้ผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้ลองใช้ platform ที่เขาไม่คุ้นชินและบูรณาการทั้ง กายภาพ และ ดิจิทัล เข้าด้วยกันคงดี
*** ถ้าเราเน้นออนไลน์อย่างเดียว คำถามที่จะตามมาคือ “ทำไมต้องมีสถานที่”
*** ถ้าเราเน้นแต่สถานที่อย่างเดียว คำถามที่ตามมาคือ “ถ้าเกิดวิกฤตอีกครั้งผู้ใช้บริการจะต้องรอห้องสมุดเปิดเมื่อไหร่”
จากบทบาทใหม่ข้างต้น ผมได้อ่านต่อไปจนถึง “CREATING THE LIBRARIES AND ARCHIVES OF TOMORROW 2021-2025” ซึ่งเป็นแผน 5 ปีของ NLB สิงคโปร์ เข้าใจเลยว่า 4 บทบาทนี้ถูกกำหนดในแผนของห้องสมุดชาติสิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายเราก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะเป็นเช่นไร
สรุปเนื้อหาจาก https://www.straitstimes.com/opinion/beyond-covid-19-the-new-roles-libraries-can-play
ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว : Libraryhub