ตลอดระยะเวลาที่ผมได้เขียนบล็อกห้องสมุด และมีโอกาสไปบรรยายให้ห้องสมุดต่างๆ เข้าใจและรู้จักห้องสมุดในมุมมองต่างๆ คำถามหนึ่งที่คุณครูบรรณารักษ์ (บรรณารักษ์ในห้องสมุดโรงเรียน) ถามผมมากที่สุด คือ “จะเริ่มงานห้องสมุดอย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เรียนด้านบรรณารักษ์มาโดยตรง”
การจัดเรียงหนังสือในห้องสมุด มีแค่จัดเรียงตามแบบดิวอี้ (Dewey) หรือเปล่า ต้องเรียง 000 – 999 จริงๆ ใช่หรือไม่ และจะทำความเข้าใจตัวเลขต่างๆ ว่ามีความหมายอย่างไรได้เร็วที่สุดแค่ไหน …
โลกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ ครับ ถามว่า ถ้าไม่เรียงแบบที่บรรณารักษ์เดิมทำให้ แล้วเราสามารถจัดกลุ่มและแบ่งประเภทหนังสือแบบอื่นๆ ได้อีกหรือไม่
วันนี้ผมจึงขอถือโอกาส รีวิวหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ อ่าน ชื่อเรื่องหนังสือก็เข้าใจง่ายครับ
“Genrefication 101 : A School Librarian’s Quick Guide on How to Genrefy the Library”
ข้อมูลเบื้องต้นของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Genrefication 101 : A School Librarian’s Quick Guide on How to Genrefy the Library
ผู้แต่ง : Laura Holladay
สำนักพิมพ์ : HowExpert™
ปีพิมพ์ : 2018
จำนวนหน้า : 61 หน้า
ISBN : 9781949531626
สารบัญของหนังสือเล่มนี้
- What the Heck is Genrefying?
- Dewey Vs. Genrefying
- Planning to Genrefy
- Making Genrefication Happen
- Get Your Genrefy On
- Teach Your Users Right
- Two Final Thoughts and a Warning
สรุปเนื้อหาในแต่ละบท
— ทำความเข้าใจกันก่อน “ในห้องสมุดโรงเรียนสามารถทำได้ทั้ง Genrefying และจัดหนังสือแบบดิวอี้ ได้พร้อมๆ กัน การนำเรื่องนี้มาเขียน ผมไม่ได้หมายความให้เราเปลี่ยนห้องสมุดทั้งห้องเป็นแบบ Genrefying ทั้งหมดนะครับ ตัวอย่างเรื่องนี้คือ การจัดมุมหนังสือตามเทศกาล หรือ Collection สำคัญๆ —
บทที่ 1 เริ่มจากการอธิบายความหมายของการจัดกลุ่ม (Genrefying) และออกตัวว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และอยู่ในระหว่างการนำมาใช้ในระยะเริ่มต้น (อาจต้องมีการปรับแก้ไขเพื่อให้เข้ากับห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ อีกที) ที่มาที่ไปของ Genrefy มาจากภาระงานของบรรณารักษ์โรงเรียน (ครูบรรณารักษ์) ที่ค่อนข้างมีงานเยอะไม่ได้ดูแค่เรื่องห้องสมุดอย่างเดียว แต่ต้องสอนทักษะด้านสารสนเทศด้วย จุดหมายหนึ่งที่ครูบรรณารักษ์ต้องการ คือ ทำให้เด็กๆ รักการอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นการจัดกลุ่ม (Genrefying) จึงตอบโจทย์มากกว่าการจัดแบ่งหมวดหมู่ตามดิวอี้
บทที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการเปรียบเทียบระหว่างการจัดกลุ่ม (Genrefying) และการแบ่งหมวดหมู่ (Classification) แบบดิวอี้ ผู้เขียนพยายามยกตัวอย่างให้เราเห็นว่า การจัดหมวดหมู่ดิวอี้แบบเดิมในห้องสมุดสามารถถูกแทนที่ด้วยการจัดกลุ่ม (Genrefying) ได้ ตัวอย่างการจัดเรียนหนังสือตามตัวอักษรของผู้เขียน (เพื่อให้เราได้เห้น Collection ของผู้เขียนท่านนั้นทั้งหมด) … นอกจากนี้การสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการแบ่งหมวดหมู่แบบดิวอี้จริงๆ ควรสอนแบบใด (ไม่ใช่สอนจำตัวเลข แต่ให้สอนถึงที่มาที่ไปของการแบ่งหมวดหมู่)
บทที่ 3 การเริ่มต้นเพื่อการจัดกลุ่ม (Genrefying) สิ่งสำคัญ คือ ต้องคุยกับผู้บริหารให้เข้าใจเสียก่อน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มแบบเล็กๆ ก่อน เช่น จัดตามเทศกาลต่างๆ (มุมหนังสือความรัก (Valentine) มุมหนังสือสยองขวัญ (Halloween)) นอกจากนี้ในบทนี้ยังกล่าวถึงข้อดีของการจัดกลุ่ม (Genrefying) ว่ามันคือความยืดหยุ่น หรือ Flexible (จะดีแค่ไหนที่หนังสือหลายๆ เลขหมู่จะมาอยู่ร่วมกัน)
บทที่ 4 การทำให้มันเกิดขึ้น สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น จัดมุมให้กับหนังสือในกลุ่มนี้ หรือ อาจใช้สติ๊กเกอร์หมวดหมู่เพื่อบอกว่าหนังสือในกลุ่มนี้ถูกจัดกลุ่ม (Genrefying) อยู่
บทที่ 5 ส่วนที่ยากที่สุดของเรื่องนี้ นั่นคือ การเปิดตัวหนังสือที่ถูกจัดกลุ่ม (Genrefying) เราต้องหาวิธีสื่อสารเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจว่าหนังสือเดิมที่เคยอยู่ในชั้นหนังสือถูกเปลี่ยนที่ไปแล้ว เราต้องสื่อสารว่าจะย้ายไปนานแค่ไหน และเหมือนมันครบเวลาจะย้ายกลับมาอย่างไร เราต้องมีกลไกในการบันทึกข้อมูลของหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย (บางคนย้ายไปแล้วลืมย้ายกลับ บางทีอาจทำให้หนังสือหายไปจากชั้นหนังสือตลอดกาล)
บทที่ 6 บทนี้ห้ามข้ามเด็ดขาด นั่นคือ อย่าลืมสื่อสารกับผู้ใช้บริการ บอกเขาว่าวิธีการใช้หนังสือในกลุ่มนี้ต้องทำอย่างไร เมื่อหยิบออกมาแล้วต้องวางคืนที่ไหน ในห้องเรียนเราอาจสอนนักเรียนสำหรับการใช้หนังสือในกลุ่มนี้ได้ และนอกจากนี้อย่าลืมบอกคุณครูคนอื่นๆ ด้วย
บทที่ 7 เป็นบทที่มีการเปรียบเทียบอีกรอบระหว่างห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดโรงเรียน บริบทการจัดกลุ่มหนังสือ (Genrefying) สามารถทำได้แต่อาจแตกต่างกันในจุดประสงค์ เหตุเพราะห้องสมุดโรงเรียนเราสามารถนำเรื่องดังกล่าวไปสอนในห้องเรียนได้ แต่กับห้องสมุดประชาชนอาจต้องใช้วิธีการสื่อสารแบบอื่นๆ แนวคิดหนึ่งที่ห้องสมุดประชาชนหลายๆ แห่งเริ่มนำมาใช้ คือ การจัดหมวดหมู่หนังสือแบบร้านขายหนังสือ อันนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน ประเด็นที่ต้องห้ามลืมเลยคือ การทำงานในรูปแบบนี้ต้องมอนิเตอร์และปรับปรุงตามบริบทของการใช้งานด้วย
หนังสือเล่มนี้อ่านไม่ยากครับ เนื่องจากจำนวนหน้าที่ค่อนข้างน้อย และผู้เขียนได้พยายามเล่าประสบการณ์ และอธิบาย Step by Step ค่อนข้างดี นอกจากนี้ผมชอบการจับประเด็นสำคัญของผู้เขียนในแต่ละบท เช่น อันนี้เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด อันนี้ห้ามข้ามเด็ดขาด ….
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ สำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ นักเรียน/เด็กๆ ชอบการจัดกลุ่มเนื้อหา (Genrefying) มากกว่าการจัดแบ่งหมวดหมู่ตามดิวอี้ (Dewey)