ฝึกงาน 1 : ฝึกงานในห้องสมุด

เมื่อวานผมได้แนะนำการฝึกงานแบบกว้างๆ ของนักศึกษาเอกบรรณฯ ไปแล้วนะครับ
วันนี้ผมจะขอเสนอเรื่องการฝึกงานแบบตรงสายงาน (ฝึกงานในห้องสมุดเต็มรูปแบบ)

training-library1

จากที่ผมเคยบอกเกี่ยวกับการฝึกงานในประเภทนี้ ว่า:-
1. เด็กเอกบรรณฯ ทุกคน จะต้องเคยผ่านการฝึกงานที่ห้องสมุดสถาบันการศึกษาของตัวเอง
2. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจะเป็นบรรณารักษ์แบบจริงๆ
3. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่อาจเป็นบรรณารักษ์ในวงการราชการ หรือสถานศึกษา
4. เป็นการฝึกงานที่เน้นการฝึกงานทุกส่วนในห้องสมุด

นี่ก็เป็นเพียงคุณสมบัติแบบคร่าวๆ ของการฝึกงานประเภทนี้

สถานที่สำหรับฝึกงานที่ผมจะแนะนำ คือ :-
1. ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (เลือกได้มากมายในประเทศ)
2. ห้องสมุดของหน่วยงานราชการ
3. ห้องสมุดประชาชน
4. หอสมุดแห่งชาติ

สิ่งที่น้องๆ จะได้ฝึกจากสถานที่ดังกล่าวนี้
เช่น
– งานวิเคราะห์หมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศ
– งานทำตัวเล่มทรัพยากรสารสนเทศ เช่น ประทับตรา, ติดสัน, ห่อปก ฯลฯ
– งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
– งานบริการต่างๆ ในห้องสมุด เช่น ยืมคืน สมัครสมาชิก
– งานอื่นๆ ที่มีในห้องสมุด

โดยรวมการฝึกงานในลักษณะนี้ น้องๆ จะได้รับการฝึกงานในสายงานบรรณารักษ์ครบทุกรูปแบบเลย
ซึ่งผมว่าถ้าน้องๆ อยากทำงานในสายงานของห้องสมุด หรือบรรณารักษ์
การฝึกงานในลักษณะนี้จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจงานห้องสมุดมากขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านห้องสมุดสำหรับอนาคตเลยก็ว่าได้

ยังไงก็ลองเอาไปคิดดูนะครับ แต่ผมก็แอบเชียร์ให้น้องๆ เลือกสายนี้เหมือนกัน อิอิ

แนะนำนักศึกษาบรรณารักษ์เรื่องฝึกงาน

ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมใหม่ก็จริง แต่ก็มีนักศึกษาหลายคนฝากคำถามให้ผมมากมาย
คำถามที่ว่า นั่นคือ “นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ควรฝึกงานที่ไหนดี ช่วยแนะนำหน่อย”

training-library

ในฐานะที่ผมเป็นรุ่นพี่เอกบรรณารักษ์ (คงไม่เกิน 7 ปีหล่ะมั้ง)
วันนี้ผมก็เลยขอเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกที่ฝึกงานให้น้องๆ นะครับ

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำประเภทของการฝึกงานบรรณารักษ์ให้เพื่อนๆ หลายๆ คนรู้จักกันก่อนดีกว่า
ซึ่งตามความคิดของผม และจากประสบการณ์ ผมขอแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ
2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด
4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน

การฝึกงานในแต่ละแบบมีข้อแตกต่างกันในด้านรายละเอียด
รวมถึงใช้ในการตัดสินใจเรื่องการเลือกสถานที่ฝึกงานด้วย

ทีนี้เรา ลองมาดูกันทีละแบบเลยดีกว่าครับ

1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ

นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ต้องใช้ความรู้ และความสามารถทางด้านบรรณารักษ์เต็มรูปแบบเลย
โดยทั่วไปคนที่เรียนเอกบรรณารักษศาสตร์จะต้องเจอการฝึกงานแบบนี้อยู่แล้ว
นั่นก็คือ ?ห้องสมุดของสถาบันตัวเอง? เป็นด่านแรก
และหากคิกจะเอาดีทางบรรณารักษ์และอยากได้พื้นฐานแบบแน่นๆ


ผมขอแนะนำว่า ให้เลือกห้องสมุดประเภทสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
เช่น ธรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์, ศิลปากร ฯลฯ

2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
นั่นหมายถึง การฝึกงานในห้องสมุดเฉพาะทางนั่นแหละครับ
นอกจากความรู้ทางด้านบรรณารักษ์แล้ว สิ่งที่จะได้เพิ่มจากการฝึกงานคือ
ความรู้เฉพาะทางอีกด้วย สำหรับคนที่มีพื้นฐานแบบแข็งแกร่งแล้ว
อยากลองอะไรแบบแปลกๆ และรักการเรียนรู้ ผมว่าเลือกฝึกแบบนี้ก็ดีนะครับ

ผมขอแนะนำตัวอย่างห้องสมุดเฉพาะทางที่น่าสนใจ
เช่น ห้องสมุดญี่ปุ่น ห้องสมุดมารวย ห้องสมุดการออกแบบ ห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฯลฯ


3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด

นั่นหมายถึง เป็นการฝึกที่ไม่ได้อยู่ในห้องสมุดนะครับ อาจจะเป็นศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ข้อมูลต่างๆ
โดยทั่วไปจะเน้นในรูปแบบองค์กรเอกชน บริษัทเว็บไซต์ บริษัทสื่อ สำนักพิมพ์ต่างๆ
ซึ่งความรู้เกี่ยวกับห้องสมุดอาจจะไม่ได้ใช้ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ คืองานทางด้านสารสนเทศนั่นเอง
และอย่างน้อยก็ทำให้ลบภาพเอกบรรณฯ ได้ว่า ?บรรณารักษ์พอจบก็ต้องทำห้องสมุด? ได้อีก


ผมขอแนะนำตัวอย่างศูนย์ข้อมูล และสถานที่ฝึกงานที่น่าสนใจ
เช่น ศูนย์ข้อมูลทางการเกษตร มติชน เนชั่น เว็บไซต์ต่างๆ ฯลฯ

4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน
นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนเลย
เพียงแต่ต้องการฝึกแค่เข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงาน รู้จักกฎระเบียบองค์กร
หรือทำความคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ
ถ้าจะให้ผมแนะนำ ผมจะขอเน้นให้หาที่ฝึกงานในลักษณะที่เป็นองค์กรของต่างประเทศ
เพราะเมื่อคุณที่ฝึกงานในองค์กรต่างชาติคุณจะรู้ว่า องค์กรมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติแบบสุดๆ
น่าท้าทายดีครับ องค์กรในแบบของไทยผมก็ไม่ได้ห้ามแต่ควรเลือกดีๆ ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอเกริ่นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้ววันหลังผมจะแนะนำการฝึกงานในแต่ละรูปแบบอย่างละเอียดต่อไป

พาชมหอสมุดดนตรีฯ รัชกาลที่ 9

สถานที่ที่ผมจะพาเพื่อนๆ เข้าชมวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าเป็นสถานที่ๆ พิเศษมากๆ
สถานที่แห่งนี้ คือ หอสมุดดนตรีพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครับ
เป็นห้องสมุดดนตรีที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

musiclibrary

ข้อมูลทั่วไปของหอสมุด
สถานที่ : หอสมุดดนตรีพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ที่อยู่ : ภายในหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : 0-2282-8045 โทรสาร : 0-2282-8033
เว็บไซต์ : http://www.kingramamusic.org

ห้องสมุดแห่งนี้ เป็นห้องสมุดที่รวบรวมงานทางด้านดนตรีไว้มากมาย
เช่น เอกสารเกี่ยวกับเพลง โน้ตเพลง วีดีโอ แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง ฯลฯ

Collection ที่ผมชอบมากๆ คือ การรวมโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
แถมด้วย? Collection เพลงพระราชนิพนธ์ที่มีมากมายให้เราได้ฟังด้วย

music-library2

สิ่งที่ผมประทับใจอีกอย่าง คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการฟังเพลง
และการค้นคว้าบทเพลงผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์นับว่าเจ๋งไปเลยยยยย

librarymusic

เฟอร์นิเจอร์ด้านในห้องสมุดดนตรีถือว่า สามารถดึงดูดใจให้ผมใช้บริการได้เลยทีเดียว
ด้วยสีสันที่สะดุดตา และความสบายที่ได้สัมผัส ทำให้ผมลืมไปเลยว่าอยู่ในห้องสมุด

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ที่ลองไปสัมผัสให้ได้นะครับ
ที่นี่ให้บริการในวันจันทร์ ถึง วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น.

รวมภาพบรรยายกาศภายในหอสมุดดนตรีฯ รัชกาลที่ 9

[nggallery id=6]

การสร้างห้องสมุดเพื่อเก็บสื่อ

คำถามนี้เป็นคำถามที่เพื่อนๆ ส่งมาให้ผมช่วยตอบเมื่อหลายเดือนก่อน
จริงๆ แล้วผมก็ตอบคำถามนี้ไปแล้วนะครับ
แต่วันนี้ผมขอนำเหตุการณ์นี้มาแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันหน่อยดีกว่า

medialibrary

กรณีศึกษา : ขอคำแนะนำในการสร้างและจัดการห้องสมุดเพื่อเก็บสื่อมัลติมีเดีย
เกริ่นนำ : บริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์มีความประสงค์ที่จะสร้างห้องสมุดเพื่อเก็บเทปถ่ายทำรายการ (footage)
คำถาม 1 : ควรจัดการกับระบบเทปอย่างไร
คำถาม 2 : มีระบบงานห้องสมุดหรือโปรแกรมใดที่มารองรับมั้ย หรือ มีตัวอย่างการวางระบบมั้ย

จากโจทย์ที่ได้รับมาจะสังเกตได้ชัดว่า ห้องสมุดที่ต้องการสร้างเป็นห้องสมุดที่มีลักษณะเฉพาะ
นั่นคือ ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่ใช้จัดเก็บสื่อมีเดียต่างๆ
หากดูเรื่องสื่อที่มีการจัดเก็บ นั่นคือ เทปบันทึกภาพ วีดีดี ดีวีดี ฯลฯ

แนวทางในการตอบโจทย์เรื่องนี้
คำถาม 1 : ควรจัดการกับระบบเทปอย่างไร
คำตอบ 1 : การจัดเก็บสื่อตามที่โจทย์ให้มาอาจจะแยกได้ 2 กรณี นั่นคือ

1.1 หากสื่อมีเดีย (เทปที่ถ่ายทำรายการ) มีความหลากหลายทางด้านเนื้อหา

ผมก็ขอเสนอแนวทางในการจัดเก็บสื่อมีเดียแบบตามหลักสากล เช่น
จัดตามหมวดหมู่ดิวอี้, จัดตามหมวดหมู่รัฐสภาอเมริกัน(LC)
เพราะจะช่วยให้เนื้อหาและหมวดหมู่ของสื่อมีเดียกระจายเป็นส่วนๆ ง่ายต่อการค้นหา

1.2 หากสื่อมีเดีย (เทปที่ถ่ายทำรายการ) มีเนื้อหาในแนวเดียวกัน

เช่น เทปถ่ายทำรายการอาหาร, เทปถ่ายทำรายการบันเทิง ฯลฯ
บรรณารักษ์อาจจะต้องมีการสร้างระบบการจัดการขึ้นมาเอง เช่น เรียงตามอักษร, เรียงตามวันถ่ายทำ
แล้วนำรายการเหล่านี้มาเขียนข้อมูลลงสมุดทะเบียนเพื่อให้สะดวกต่อการค้นหา

แต่ทั้งนี้การจัดหมวดหมู่ไม่ว่าจะจัดแบบไหนก็ตาม
เราจะต้องคำนึงถึงความสะดวกในการสืบค้นของผู้ใช้ด้วย
การจัดเก็บในช่วงเริ่มต้น บรรณารักษ์ควรทำคู่มือการจัดเก็บควบคู่ไปด้วย
เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลสำหรับอนาคตต่อไป

คำถาม 2 : มีระบบงานห้องสมุดหรือโปรแกรมใดที่มารองรับมั้ย หรือ มีตัวอย่างการวางระบบมั้ย

คำตอบ 2 : โปรแกรมห้องสมุดทุกโปรแกรมสามารถรองรับกับการจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว
การเลือกโปรแกรมห้องสมุดขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนทรัพยากรสารสนเทศ งบประมาณ ฐานข้อมูลที่ใช้ ฯลฯ

ถ้าต้องการระบบจัดเก็บสื่อมีเดียที่ไม่ใหญ่มาก หรือ ไม่ซับซ้อนมาก
ก็เลือกโปรแกรมห้องสมุดแบบเล็กๆ ก็ได้ครับ หรือไม่ก็เขียนเองเลยใช้ Access ก็ได้

ถ้าต้องการระบบจัดเก็บสื่อมีเดียที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย
ก็อาจจะเลือกระบบห้องสมุดแบบกลางๆ ก็ได้

ในกรณีที่จำนวนสื่อมีไม่มาก และรองรับการทำงานในระดับปกติ
ผมขอแนะนำ โปรแกรม Library2000 น่าะเหมาะสมที่สุดครับ
เพราะราคาไม่แพง แถมเป็นโปรแกรมคนไทยด้วย

library2000

หากสนใจลองเข้าไปดูที่ http://www.library2000.net/ ครับ
ราคาแบบ lite verson เพียงแค่ 500 บาทเอง

สำหรับคำถามทั้งสองข้อ ผมก็ตอบได้ประมาณนี้นะครับ

ผมขอเสริมอีกสักเรื่องนะครับ เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บสื่อมีเดีย
เรื่องนี้ผมว่าก็สำคัญไม่แพ้กับการจัดระบบหรือโปรแกรมในการจัดเก็บเลย
เพราะหากระบบจัดเก็บดี และโปรแกรมดี แต่สถานที่ใช้ไม่ได้ สื่อมีเดียก็อาจจะเสื่อมมูลค่าได้ครับ

สถานที่ที่เหมาะสมต่อการจัดเก็บสื่อควรจะ
– มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น
– อุณหภูมิต้องไม่ร้อนจนเกินไป เพราะสื่ออาจจะเสียหายได้

และอื่นๆ อีกมากมาย

เอาเป็นว่ากรณีศึกษาวันนี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ
หวังว่าเพื่อนๆ คงจะได้ไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ไปประยุกต์ใช้กันนะครับ

ปล. คำตอบและความคิดเห็นของผม อาจจะไม่ตรงใจกับอีกหลายๆ คนก็ได้นะครับ
ดังนั้นเพื่อให้คำตอบสมบูรณ์ ผมจึงอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยครับ

1 เดือนกับ 50 เรื่องใน Libraryhub

ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้วนะครับสำหรับบล็อกใหม่ของผม Libraryhub
(บล็อกนี้เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552)

1month

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมเขียนบล็อกแบบไม่มีวันหยุดอีกแล้วครับท่าน
อุดมการณ์เดิมเริ่มดำเนินการต่อ นั่นคือ My Library in 365 days…

บทสรุปของเดือนที่แล้ว (เดือนพฤษภาคม 2552)
มเขียนบล็อกได้ครบ 31 วัน และจำนวนเรื่องที่เขียน 50 เรื่อง

เรื่องที่นำมาเขียนบางเรื่องเพื่อนๆ อาจจะคุ้นๆ
สาเหตุมาจากผมได้นำเอาเรื่องบางส่วนของ projectlib มา rewrite ใหม่นั่นเอง
เพื่อให้ภาษาน่าอ่านมากขึ้น รวมถึงอัพเดทข้อมูลของเรื่องมากขึ้นด้วย
เอาเป็นว่ารับรองว่าไม่ได้ copy ของเก่ามาแบบเต็มๆ ก็แล้วกัน

การเขียนบล็อกในเดือนที่ผ่านมาทำให้ผมว่าเป้าหมายของการเขียนบล็อกว่า
ถ้า 1 เดือน ผมสามารถเขียนได้ 50 เรื่องแบบนี้
แสดงว่า 1 ปี ผมจะมีเรื่องในบล็อกนี้ 600 เรื่องเลยก็ว่าได้

แค่คิดนี้ก็แบบว่าน่าตื่นเต้นมากๆ ที่จะรอดูในวันครบรอบหนึ่งปีแล้ว
อุดมการณ์นี้จะน่าท้าทายมากๆ เลยเพื่อนๆ ว่ามั้ย???
เอาเป็นว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็คงต้องรอดูกันไปนะครับ

สำหรับเดือนนี้ผมก็ดีใจมาก ที่ได้กลับมาทักทายและเขียนบล็อกให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีก
หวังว่าเพื่อนๆ จะตามอ่านเรื่องของผมต่อไปนะครับ

คุณอ่านหนังสือแบบไหนในห้องสมุด

ในห้องสมุดมีหนังสือให้เพื่อนๆ ได้เลือกอ่านมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเรียน หนังสือทั่วไป หนังสือนวนิยาย หนังสืออ้างอิง ฯลฯ

reading-book

วันนี้ผมจึงอยากมาถามเพื่อนๆ ว่า
“หนังสือประเภทไหนที่เพื่อนๆ ชอบมากที่สุดเวลาเข้าใช้ห้องสมุด”

[poll id=”6″]

วัตถุประสงค์ในการถามปัญหาข้อนี้ คือ
บรรณารักษ์ที่เข้ามาอ่านก็จะรู้ว่า พฤติกรรมผู้ใช้ห้องสมุดส่วนใหญ่ชอบหนังสือแนวไหน
และต้องจัดหาหนังสือแนวใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงวางแผนการให้บริการได้ดีขึ้นด้วย

ยังไงก็ขอความกรุณาแล้วกันนะครับ ช่วยๆ ตอบกันหน่อย

หอสมุดแห่งชาติกับภาพลักษณ์ใหม่ๆ

นำเที่ยวห้องสมุดวันนี้ ผมขอนำเสนอ “หอสมุดแห่งชาติ”
ล่าสุดที่ผมได้ไปเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ ทำเอาผมประหลาดใจในหลายๆ ส่วน
ผมจึงอยากนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของหอสมุดแห่งชาติบ้าง

nlt-banner

ข้อมูลทั่วไปของหอสมุดแห่งชาติ
สถานที่ : หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ที่อยู่ : ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : 0-2281-5212 โทรสาร : 0-2281-5449
เว็บไซต์ : http://www.nlt.go.th

การนำชมหอสมุดแห่งชาติของผม ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะครับว่า
ผมเข้าชมหอสมุดแห่งชาติในวันอังคาร ดังนั้นจำนวนคนจึงไม่ค่อยมาก
และข้อจำกัดด้านเวลา ที่ผมมีเวลาในการเข้าชมเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
ดังนั้นอาจจะเข้าชมได้ไม่ครบ แต่ผมจะนำเสนอข้อมูลเท่าที่ผมได้เห็นนะครับ

ไปดูในส่วนต่างๆ กันเลยดีกว่าครับ

เริ่มจากเมื่อเดินเข้าประตูหน้า แล้วมาที่ตึกใหญ่
แต่เดิมหน้าหน้าตึกใหญ่เป็นเพียงสวนต้นไม้หน้าตึก
แต่เดี๋ยวนี้มีการสร้างอาคารเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอาคารแบบ 1 ชั้น

อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ด้านหน้าอาคารใหญ่
อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ด้านหน้าอาคารใหญ่

อาคารที่สร้างเพิ่มขึ้นมาด้านหน้าตึกใหญ่ ภายในมี
– ร้านกาแฟ
– ร้านอาหาร
– ร้านขายขนม ของว่าง
– ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
– ร้านจำหน่ายหนังสือ

นับว่าเป็นอาคารที่เพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้บริการได้มากเลยนะครับ
มีกาแฟให้ดื่ม หิวข้าวก็กินข้าได้ แถมมีหนังสือจำหน่ายอีก
ครบแบบนี้ผมต้องยกนิ้วให้เลยครับ

ในส่วนต่อมาภายในอาคารใหญ่ของหอสมุดแห่งชาติ

จุดแรกที่ทุกคนจะต้องพบก็คือ ทางเข้าและทางออกของอาคาร ซึ่งจะประกอบด้วย
– ห้องฝากของ (เพื่อนๆ ต้องนำกระเป๋ามาฝากไว้ที่นี่เท่านั้น)
– จุดตรวจของ รปภ. (จุดนี้จะช่วยตรวจของๆ ผู้ใช้บริการตอนออกมาครับ)

แต่ ณ จุดทางเข้าก็ยังคงมีป้ายประกาศ และกฎการเข้าใช้ห้องสมุดติดอยู่นะครับ

จุดต่อมานั่นคือ ห้องโถงใหญ่ บริเวณชั้น 1
แต่เดิมจะใช้ในการแสดงนิทรรศการ (แต่ส่วนใหญ่ผมจะพบกับห้องโล่งๆ มากกว่า)
แต่เดี๋ยวนี้มีเคาน์เตอร์กลาง ซึ่งใช้เป็นส่วนของประชาสัมพันธ์ และจุดบริการตอบคำถาม

nlt2
เคาน์เตอร์กลาง และจุดประชาสัมพันธ์

ในชั้นหนึ่งผมเพิ่งสังเกตเห็นห้องนิทรรศการใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ
ซึ่งออกแบบเป็นประตูเลื่อนเพื่อเข้าไปดูนิทรรศการด้านใน
แต่ในระหว่างการเยี่ยมชม ห้องนี้ยังถูกปิดล็อคอยู่ยังไม่สามารถเข้าไปดูได้
ผมเลยขอถ่ายรูปจากด้านนอกเข้าไปก็แล้วกัน

ห้องนิทรรศการ อยู่ชั้น 1 อาคารใหญ่
ห้องนิทรรศการ อยู่ชั้น 1 อาคารใหญ่

จากนั้นผมก็ได้ชมวีดีโอแนะนำหอสมุดแห่งชาติ
ที่น่าตกใจคือ วีดีโอที่แนะนำยังเป็นแบบ เทปวีดีโออยู่เลย
คุณภาพของภาพและเสียงยังไม่ค่อยดีนัก แต่คิดว่าอีกหน่อยเขาคงจะปรับปรุงนะ

หลังจากการชมวีดีโอเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มเดินชมห้องบริการต่างๆ ดังนี้
– ห้องสืบค้นอินเทอร์เน็ต และบัตรรายการ (ชั้น 1)
– ห้องวารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ (ชั้น 1)
– ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย (ชั้น 5)
– ห้องเอกสารโบราณ (ชั้น 4)
– ห้องบริการอ่านหนังสือ (ชั้น 2)

nlt4

แต่ละจุดมีไอเดียการบริการที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง เช่น
– หอสมุดแห่งชาติให้บริการ wifi และปลั๊กไฟสำหรับโน้ตบุ๊ค
– บัครรายการ (บัตรสืบค้นหนังสือ) ยังคงมีการอัพเดทเรื่อยๆ คู่กับระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่หอสมุดแห่งชาติใช้ คือ Horizon
– หอสมุดแห่งชาติไม่มีการรับสมัครสมาชิก ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ทุกคนไม่จำกัด
– ไม่อนุญาติให้ยืมหนังสือออกจากหอสมุดแห่งชาติ
– การจัดหนังสือในห้องวารสารยังคงใช้การเรียงตามตัวอักษรเป็นหลัก
– การแบ่งห้องบริการต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติ ยังคงยึดหลักตามการแบ่งหมวดหมู่
– หอสมุดแห่งชาติรวบรวมงานวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ มากมาย
– วิทยานิพนธ์และงานวิจัย ปี 2546-ปัจจุบันถูกจัดเก็บที่นี่ ส่วนที่เก่ากว่านั้นจะอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติลาดกระบัง
– การจัดหมวดหมู่ที่นี่ใช้แบบดิวอี้ และแถบสี เพื่อง่ายต่อการคัดแยกและจัดเก็บ

nlt5

Hilight ของการเยี่ยมชมครั้งนี้อยู่ที่ ชั้น 2 ในห้องอ่านหนังสือ
พอเข้ามาถึงก็ต้องประหลาดใจ เมื่อภาพหอสมุดแห่งชาติแต่เดิมของผมถูกลบออกจากสมอง

แต่เดิมที่ผมมาใช้ห้องสมุดในชั้นสองจะมีการแบ่งออกเป็นสองห้องโดยการกั้นกระจก
ในส่วนโถงกลางของชั้นสองคือบริเวณร้านถ่ายเอกสารที่คอยให้บริการผู้ใช้

แต่สิ่งใหม่ๆ ที่ผมเห็นคือ เคาน์เตอร์กลางที่อยู่ตรงหน้าผมที่จะคอยบริการทั้งสองห้อง
นอกจากนี้ยังมีการเล่นสีสันในห้องสมุดใหม่ เช่น สีเหลือง สีชมพู แบบว่าเอาใจวัยรุ่นมากๆ
จากการกั้นห้องทั้งสองแบบเดิม กลายเป็น การรวมกันของห้อง แล้วแยกเป็นโซนดี

nlt6

ด้านหลังเคาน์เตอร์กลางมีมุมหนังสือพิเศษมากๆๆๆๆๆๆๆ
นั่นคือ Window on Dynamic Korea
เรียกง่ายๆ ว่ามุมหนังสือเกาหลี….. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
แบบว่ามีหนังสือภาษาเกาหลี หนังสือสอนภาษาเกาหลี หนังสือวัฒนธรรมและประเพณีเกาหลี ฯลฯ
นับว่าเป็นมุมที่สร้างสีสันอีกมุมหนึ่งให้ห้องสมุดเลยก็ว่าได้

nlt7

เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาพลักษณ์ด้านสถานที่และบริการที่เปลี่ยนไป
หวังว่าคงพอที่จะดึงดูดคนมาเข้าอสมุดแห่งชาติได้บ้างนะครับ
การพัฒนาและปรับเปลี่ยนหอสมุดแห่งชาติยังคงต้องดำเนินการต่อไป
เพื่อการบริการและภาพลักษณ์ที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับเวลาเปิด-ปิดทำการของหอสมุดแห่งชาติ
เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ 9.00 – 18.30
ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ เปิด 9.00 – 17.00
วันหยุดก็ตามวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดชดเชย และวันหยุดพิเศษอื่นๆ

ถ้าว่างๆ ก็ลองมาเที่ยวที่นี่กันดูนะครับ

ปล. หากมีเวลามากกว่านี้ผมคงจะสำรวจทุกซอกทุกมุมได้ทั่วเลยนะครับ
เอาเป็นว่าไว้โอกาสหน้าก็แล้วกันนะครับ

รวมภาพบรรยายกาศภายในหอสมุดแห่งชาติ

[nggallery id=5]

ผู้ใช้บริการห้องสมุดที่ดีควรจะ…

วันนี้ผมขอออกมาพูดให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดฟังบ้างนะครับ
คิดซะว่าผมพูดในฐานะบรรณารักษ์คนนึงก็แล้วกัน

librarybookmark

หลายครั้งบรรยากาศในห้องสมุดที่ผมพบ มันดูเหมือนจะไม่ใช่ห้องสมุด
สาเหตุก็เกิดจากการใช้บริการของผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศของห้องสมุดถูกทำลาย เช่น
– การพูดคุยส่งเสียงดังในห้องสมุด
– การนำขนมมากินในห้องสมุด
– การนอนหลับในห้องสมุด (แล้วส่งเสียงกรนดังมาก)

ฯลฯ อีกมากมาย

ปกติห้องสมุดเกือบทุกที่จะติดประกาศเรื่องกฎระเบียบในการใช้ห้องสมุด
ซึ่งเนื้อหาภายในกฎระเบียบเหล่านั้นก็น่าจะเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

เอาเถอะครับ งั้นผมขอทบทวนเรื่องนี้ให้ผู้ใช้บริการเข้าใจอีกสักทีก็ได้
พอดีผมเจอที่คั่นหนังสือที่ให้ข้อมูลเรื่องการใช้บริการของห้องสมุดที่สิงคโปร์
จึงอยากเอามาให้ผู้ใช้บริการหลายๆ คนได้อ่านกัน
รวมถึงเพื่อนๆ บรรณารักษ์สามารถนำข้อความเหล่านี้ไปติดประกาศไว้ในห้องสมุดของท่านก็ได้

ในที่คั่นหนังสือ มีข้อความดังนี้

1. Handle all library materials and facilities with care and respect
ผู้ใช้บริการควรจะดูแลรักษาทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด จงใช้อย่างระมัดระวัง เพราะว่าคุณไม่ได้ใช้หนังสือแค่คนเดียว

2. Maintain a quiet environment at all times
ผู้ใช้บริการควรจะดูแลความเงียบสงบภายในห้องสมุดทุกครั้งที่เข้าห้องสมุด เพราะถ้าคุณกำลังอ่านหนังสืออยู่แล้วมีเสียงดังรบกวนคุณคงไม่ชอบแน่

3. Show consideration to those who are waiting

เวลาอ่านหนังสือสักเล่ม หรือยืมหนังสือสักเล่มให้นึกถึงผู้ใช้บริการคนอื่นบ้าง เพราะหนังสือเล่มนึงอาจเป็นที่ต้องการของผู้ใช้หลายๆ คน

4. Return browsed library materials to the book bins
กรุณาวางหนังสือที่ใช้แล้วในจุดที่กำหนด เพราะบรรณารักษ์จะได้นำออกมาให้ผู้อื่นบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

5. Sleep at home, not at the library
ถ้าง่วงนอนมากๆ ขอแนะนำให้กลับไปหลับที่บ้านนะครับ ไม่ใช่หลับในห้องสมุด

6. Supervise your children at all times
ดูแล และแนะนำการใช้ห้องสมุดให้เด็กๆ ที่คุณพามาด้วยนะคร้าบ

7. Eat and drink at the cafe only
ถ้าหิว จะกินจะดื่มอะไรก็สามารถไปกินที่ร้านนะครับ ไม่ใช่กินในห้องสมุด

8. Settle outstanding payments promptly
ถ้ายืมหนังสือเกินกำหนด หรือทำผิดกฎของห้องสมุด คุณก็ต้องเสียค่าปรับด้วย กรุณาอย่างเบี้ยวนะครับ

9. Give priority for seats to those using library materials
ที่นั่งในห้องสมุดกรุณาแบ่งๆ กันใช้นะครับ ไม่ใช่เล่นจองคนเดียวเต็มโต๊ะ

10. Treat everyone with courtesy and respect
ปฏิบัติต่อผู้ใช้ห้องสมุดด้วยกัน ด้วยความเคารพและมีมารยาท

เป็นไงบ้างครับ อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นหรือปล่าว
ถ้ายังไม่เข้าใจอีก ผมจะได้ให้บรรณารักษ์พิมพ์ออกมาเป็นโปสเตอร์แจกเลยดีมั้ยครับ
เอาเป็นว่าไม่ว่าคุณจะใช้ห้องสมุดแบบไหน ขอให้ใส่ใจต่อคนรอบๆ ข้างที่ใช้บริการเหมือนกับคุณบ้างก็พอครับ

เหนื่อย เครียด ป่วย นี่แหละนิยามของผม

วันนี้ขอเล่าเรื่องส่วนตัวที่กำลังยุ่งเหยิงให้เพื่อนๆ ได้ฟังสักหน่อย
อย่างน้อยจะได้เข้าใจสภาพของผมในช่วงนี้ขึ้นมาบ้าง

sickme

หลายคนอาจจะสงสัยว่าช่วงนี้ทำไมผมดูเงียบลง
– MSN ก็ไม่ค่อยคุย
– hi5 ก็ไม่ค่อยตอบ
– twitter ก็ไม่ค่อย tweet
– email ก็นานกว่าจะตอบ
ฯลฯ

เรื่องที่ 1 – เหนื่อย
ช่วงนี้งานประจำของผม มีหน้าที่ที่ผมต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น
งานต่างๆ ต้องการความเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ดังนั้นงานประจำผมจึงต้องทุ่มเทให้งานประจำด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องบล็อกใหม่ที่กำลังเข้าที่ ก็ต้องอาศัยความขยันในการอัพเดทเรื่องของตัวเองบ่อยๆ
เพื่อให้บล็อกของผมสามารถสร้างชุมชนบรรณารักษ์ได้หลายรูปแบบ

จากงานประจำ + งานบล็อก = เหนื่อยมากมาย

เรื่องที่ 2 – เครียด
งานประจำที่ผมทำอยู่เป็นงานราชการ ดังนั้นเวลาจะทำอะไรก็ตามต้องทำตามแบบราชการ
อยากจะบอกว่าจนวันนี้ผ่านไปก็เกือบครึ่งปีแล้ว ผมเองก็ยังไม่ชินกับลักษณะงานแบบนี้อยู่ดี
บางอย่างที่น่าจะทำได้ แต่พอเข้ากระบวนการราชการก็ไม่สามารถทำได้

จากระเบียบงานราชการ = เครียด

เรื่องที่ 3 – ป่วย
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย บางวันร้อน บางวันฝนตก
ผมเองก็ยังปรับสภาพไม่ค่อยทันหรอกนะครับ

แถมด้วยการหอบงานกลับมาทำเยอะก็เลยต้องนอนดึกขึ้น บางวันก็ไม่ได้นอน
เวลาพักผ่อนหายไป เลยทำให้สุขภาพทรุดลงนิดนึง

จากสภาพอากาศ + พักผ่อนน้อย = ป่วย

จากเรื่องที่ 1 + 2 + 3 จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง
และการระบายความในใจให้เพื่อนๆ ฟังวันนี้นั่นเอง

เหนื่อย + เครียด + ป่วย = ผมเองในตอนนี้

ห้องสมุดทำอะไรได้บ้างบน Facebook

หลังจากที่ผมลองเล่น Facebook มาได้ระยะหนึ่ง
ผมก็ได้พบกับห้องสมุดต่างๆ มากมายที่สมัครใช้งาน Facebook เช่นกัน

libraryinfacebook

วันนี้ผมเลยขออนุญาตพาเพื่อนๆ เข้าไปดูห้องสมุดต่างๆ เหล่านี้หน่อย
ว่าเขาใช้ Facebook ทำอะไรบ้าง

แต่ก่อนอื่นผมขอแอดห้องสมุดเหล่านี้ไว้เป็นเพื่อนผมก่อนนะครับ
เมื่อแอดห้องสมุดเหล่านี้เสร็จ ผมก็เริ่มเข้าไปดูทีละส่วนของห้องสมุดเลยครับ

ส่วนแรกที่ผมได้พบ คือ ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุด ซึ่งประกอบด้วย
– ชื่อห้องสมุด
– ที่อยู่
– แฟนคลับของห้องสมุด
– ข้อความทักทายผู้ใช้งาน
– รูปภาพของห้องสมุด
– วีดีโอแนะนำห้องสมุด

facebook

เดิมทีผมคิดว่าห้องสมุดใน Facebook จะสามารถทำได้เพียงเท่านี้
แต่ความเป็นจริงแล้วห้องสมุดยังสามารถใช้ Facebook ทำอย่างอื่นได้อีก

ฟีเจอร์เสริมที่ห้องสมุดนำมาใช้
– แหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมายที่ห้องสมุดแนะนำ โดยใช้ RSS Feed
– จุดเชื่อมโยงไปสู่เว็บไซต์ห้องสมุดอื่นๆ หรือบล็อกห้องสมุด (Link)
– ระบบสืบค้นฐานข้อมูลต่างๆ
– บริการพจนานุกรมออนไลน์

newlibraryfacebook

ภาพแสดงตัวอย่างระบบสืบค้นฐานข้อมูลที่อยู่ใน Facebook

– SUNCAT Search

suncat

– WorldCat

worldcat

– Warwick Library E-Journal Search

warwick-library

– Oxford English Dictionary Search

oxford

เป็นยังไงกันบ้างครับ ห้องสมุดบน Facebook ทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิดหรือปล่าว
อ๋อเกือบลืมบอกไป ว่าที่สำคัญอีกอย่าง คือ การสมัคร facebook ไม่ต้องเสียเงินสักบาทเลยนะครับ

รู้แบบนี้แล้ว เพื่อนๆ พร้อมที่จะนำห้องสมุดของท่านขึ้นมาไว้บน facebook บ้างหรือปล่าว