ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูบรรณารักษ์

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (31 มกราคม) ได้มีโอกาสไปบรรยายให้ชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการ “บรรณารักษ์กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”  วันนี้จึงขอนำสื่อ เอกสารประกอบการบรรยาย และสรุปการบรรยาย “ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูบรรณารักษ์” ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามกัน

21st century skill for librarian

เอกสารประกอบการบรรยายสามารถชมได้ที่นี่เลย

[slideshare id=16363371&doc=21stcenturyskillforlibrarianok-130205100722-phpapp02]

วีดีโอที่ใช้ประกอบการบรรยาย

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=O35n_tvOK74[/youtube]

เนื้อหาการบรรยาย “ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูบรรณารักษ์” โดยสรุป

เทคโนโลยีทำให้โลกของเราเล็กลงเรื่อยๆ การติดต่อสื่อสารกันทำได้สะดวก การค้นหาความรู้ทำได้ง่าย ก่อให้เกิดโลกที่เต็มไปด้วยความรู้ ซึ่งเมื่อโลกเต็มไปด้วยความรู้ การเข้าถึงความรู้ทำได้ง่าย ข้อดีมีมากมายแต่ก็มีข้อเสียมากมายด้วยเช่นกัน มีสิ่งที่เราไม่รู้เยอะมาก แถมต้องมานั่งคิดวิเคราะห์ว่าข้อมูลหรือความรู้ไหนที่เป็นความจริง หรือข้อมูลไหนที่สามารถทำมาใช้ประโยชน์ได้

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกา (ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีเยี่ยม) เห็นว่าการศึกษาในโลกศตวรรษที่ 20 ซึ่งเน้นแต่เรื่องเทคโนโลยี มันไม่เหมาะกับการเรียนการสอนในยุคใหม่แล้ว และการเรียนในแบบเก่าไม่เหมาะกับสังคมปัจจุบันแล้ว จึงได้สร้างกรอบแนวคิดและหาแนวทางในการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ซึ่งได้นำเสนอกรอบแนวคิดออกมาดังรูป

21st Century Skills

วิชาแกนที่ต้องเรียนรู้ (Core Subject)
– ภาษาอังกฤษ การอ่าน หรือศิลปะการใช้ภาษา
– ภาษาที่สำคัญของโลก
– ศิลปะ
– คณิตศาสตร์
– เศรษฐศาสตร์
– วิทยาศาสตร์
– ภูมิศาสตร์
– ประวัติศาสตร์
– การปกครองและหน้าที่พลเมือง

แนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 (21st CENTURY THEMES)
– จิตสำนึกต่อโลก
– ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน และการเป็นผู้ประกอบการ
– ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง
– ความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ
– ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม

ทักษะและความสามารถที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในศตวรรษที่ 21 มีอยู่ 3 ด้านใหญ่ๆ คือ
1. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม มีดังนี้
– ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
– การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา
– การสื่อสารและการร่วมมือทำงาน

2. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี มีดังนี้
– ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ
– ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ
– ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

3. ทักษะชีวิตและการทำงาน  มีดังนี้
– ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว
– ความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง
– ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม
– การเพิ่มผลผลิตและการรู้รับผิด
– ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ

ทุกสิ่งจะสำเร็จได้ด้วยระบบสนับสนุนการศึกษาของศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย
– มาตรฐานและการประเมินของศตวรรษที่ 21
– หลักสูตรและการสอนของศตวรรษที่ 21
– การพัฒนาทางวิชาชีพของศตวรรษที่ 21
– สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ยังมีสูตรที่ถูกคิดออกมาเกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อีกตัวคือ 3Rs 4Cs ซึ่งประกอบด้วย
3Rs มาจาก
Reading การอ่าน
Writing การเขียน
Arithmetic การคำนวณ

4Cs มาจาก
Critical Thinking การคิดวิเคราะห์ Communication การสื่อสาร
Collaboration ความร่วมมือ
Creativity ความคิดสร้างสรรค์

เรื่องของแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การตอบสนองความต้องการทางประสบการณ์ของผู้เรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนรู้ในยุคใหม่สนใจแนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดสิ่งต่างๆได้

คำถามหลักของการนำเสนอของวงการต่างๆ “อะไรคือสิ่งที่เรากำลังนำเสนอ ?”
Starbucks นำเสนอ สถานที่ที่อยู่ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน
Apple นำเสนอ เครื่องมือที่ใช้ปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์
บริษัทเงินทุน นำเสนอ หนทางในการไปสู่อิสระภาพทางการเงิน
แล้วโรงเรียน – ห้องสมุด – แหล่งเรียนรู้ กำลังนำเสนออะไร…. ทิ้งไว้ให้คิดนะครับ

แนวคิดในโลกมีมากมาย แต่ขอยกตัวอย่างแนวคิดที่น่าสนใจ และแนวคิดที่ควรรู้ดังนี้
– Long Tail
– Free economy
– Critical Mass
– Wikinomic
– Socialnomic
– Crowdsourcing

คุณครูและบรรณารักษ์ยุคใหม่กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จริงๆ แล้วแนวคิดก็คล้ายๆ กัน คือ เน้นเรื่องเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ และการทำงานเป็นเครือข่าย

สุดท้ายแนะนำให้อ่านหนังสือ “ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

Picture2

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นบทสรุปที่ผมบรรยาย “ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูบรรณารักษ์” นะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

BiblioTech ห้องสมุดแห่งแรกที่ไม่มีหนังสือเลยสักเล่ม

มีคนเคยถามผมว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้ห้องสมุดอาจจะไม่ต้องมีหนังสือสักเล่มในห้องสมุดก็ได้จริงหรือเปล่า” ซึ่งผมเองก็ตอบไปว่า “มันก็อาจจะเป็นไปได้แต่คงต้องใช้เวลานานหน่อย บางทีอาจไม่ทันในรุ่นของผมก็ได้ห้องสมุดดิจิตอลในหลายๆ ประเทศบางทีก็ยังคงต้องให้บริการหนังสือตัวเล่มอยู่บ้างเนื่องจากเรื่องลิขสิทธิ์ของหนังสือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

มาวันนี้ได้อ่านข่าว “The First Bookless Public Library: Texas to Have BiblioTech” ของสำนักข่าว ABC News

ภาพการออกแบบแนวคิด (Conceptual Design) ของ Bibliotech

ทำเอาผมอึ้งไปชั่วครู่เลยก็ว่าได้ “มันเกิดขึ้นจริงๆ หรือนี่” “มันเป็นไปแล้วนะ” “มันกำลังจะเป็นจริง” คำอุทานของผม มันพูดออกมามากมายในสมองของผม

ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จะไม่มีหนังสือเลยสักเล่ม ชื่อว่า “BiblioTech” ซึ่งตั้งอยู่ที่ Bexar County รัฐ Texas และที่สำคัญห้องสมุดแห่งแรกนี้จะเปิดในปี 2013 ด้วย

แรงบันดาลใจและแนวความคิดของการมีห้องสมุดแห่งนี้มาจากการอ่านหนังสือชีวประวัติของ Steve Jobs” ของท่านผู้พิพากษา Nelson Wolff

ภาพอาคารที่จะใช้ก่อสร้าง “BiblioTech”

แผนที่ตั้งของห้องสมุด

พื้นที่ทั้งหมดของห้องสมุดแห่งนี้ ประมาณ 4,989 ตารางฟุต เป็นห้องสมุดที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ในการเข้าถึงสื่อดิจิตอลต่างๆ เช่น เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) คอมพิวเตอร์ หนังสือที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 10,000 ชื่อเรื่อง

การให้บริการยืมคืนหนังสือผ่านอุปกรณ์ E-reader ของผู้ใช้บริการก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน

เอาเป็นว่านี่แหละครับ ห้องสมุดแห่งปัจจุบันที่มีกลิ่นไอความเป็นอนาคต
เมืองไทยเองผมว่าถ้าอยากทำแบบนี้ต้องเริ่มศึกษาจากกรณีตัวอย่างให้มากกว่านี้
และนอกจากศึกษาแล้วต้องลองจัดทำต้นแบบกันดูบ้าง ไม่งั้นงานนี้เมืองไทยคงต้องบอกว่า “อีกนาน”

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบจาก
– http://abcnews.go.com/Technology/bookless-public-library-texas-home-bibliotech/story?id=18213091
– http://www.mysanantonio.com/news/local_news/article/Bexar-set-to-turn-the-page-on-idea-of-books-in-4184940.php#photo-4012897
– http://news.cnet.com/8301-1023_3-57563800-93/first-all-digital-library-in-the-u.s-will-look-like-an-apple-store/
– http://sourcefednews.com/the-first-library-without-any-books/

การเขียนประวัติส่วนตัวเพื่อสมัครงานห้องสมุดและบรรณารักษ์

ช่วงต้นปีแบบนี้ เรื่องเด่นของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ (จริงๆ ทุกวงการนั่นแหละ) จะพูดถึงเรื่องการรับสมัครงานกันเยอะพอสมควร คงเพราะเป็นฤดูที่เราต้องต้อนรับน้องๆ ที่จะจบจากมหาวิทยาลัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้น้องๆ ได้เตรียมพร้อม (รุ่นพี่ๆ บางคนที่ต้องการแนวทาง) ผมจึงขอนำเสนอเรื่องการเขียนประวัติส่วนตัว หรือ Resume เพื่อสมัครงานในห้องสมุดมาให้อ่าน

ภาพจาก http://www.thaihowabout.com

ปล.ตัวอย่างหลักๆ จะเป็นภาษาอังกฤษนะครับ น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ สามารถแปลให้เป็นภาษาไทยก็ได้ ผมเชื่อในความสามารถของทุกท่านอยู่แล้ว

จริงๆ แล้วการสมัครงานในบางห้องสมุดหรือบางบริษัท เขาจะมีแบบฟอร์มในการกรอกข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งเพื่อนๆ สามารถใช้ได้เลย แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าห้องสมุดหรือบริษัทที่เราจะสมัครงานมีแบบฟอร์มอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทการที่เรามีประวัติส่วนตัว หรือ Resume นับว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่ดี

ข้อมูลที่ต้องมีในใบประวัติส่วนตัว (Resume)

1. ข้อมูลส่วนตัว

– ชื่อ นามสกุล
– วันเดือนปีเกิด (อายุ)
– ที่อยู่
– อีเมล์
– เบอร์โทรศัพท์

2. ข้อมูลด้านการศึกษา

– ประถม / มัธยม / อุดมศึกษา
– การเรียนนอกหลักสูตร เช่น ภาษาอังกฤษสำหรับห้องสมุด

3. ข้อมูลการฝึกงาน – ทำงาน

– ประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมตอนเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้
– ฝึกงานที่ไหน หน้าที่อะไร ระยะเวลาเท่าไหร่
– ทำงานที่ไหนมาบ้าง งานเสริม งานประจำ

4. ความสามารถพิเศษ หรือลักษณะนิสัยส่วนตัว

– ความสามารถด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใส่ชื่อโปรแกรมได้เลย
– ความสามารถทางภาษาอยู่ในระดับไหน

ผมขอย้ำเรื่องการเขียนประวัติส่วนตัว (Resume) นิดนึงนะครับ ว่าข้อมูลที่เขียนต้องเป็นความจริง อย่าคิดว่าเขียนเพื่อให้ประวัติตัวเองดูสวยงาม เพราะถ้าหากทางหน่วยงานจับได้ มันจะไม่เป็นผลดีกับเรานะครับ

อ๋อ ลืมบอกด้านบนสุดทางขวามือ เอารูปปัจจุบันมาติดด้วยก็ดีนะครับ (รูปแบบทางการนะครับ)

เมื่อได้ประวัติส่วนตัวแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาหาที่ทำงานแล้ว ลองค้นหาดูนะครับ เชื่อว่าเดือนนี้และเดือนหน้างานเพียบแน่นอน เมื่อรู้แล้วว่าจะสมัครที่ไหนก็เตรียมส่งประวัติส่วนตัวไปให้เขาพิจารณากันได้เลย

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจแม่แบบประวัติส่วนตัว ผมแนะนำให้เข้าไปดูที่
http://www.bestsampleresume.com/librarian-resumes.html

ซึ่งมีรูปแบบประวัติส่วนตัวสำหรับงานห้องสมุดหลากหลายประเภทมากๆ

ส่วนใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะต้องเขียนแนวไหน
ผมแนะนำว่าเข้าไปดูที่ http://www.libraryhub.in.th/my-portfolio/
ซึ่งเป็นประวัติส่วนตัว (Resume) ของผมเอง

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

บรรณารักษ์แนะนำ app : สื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจของ TKpark

ตามสัญญาครับว่านายห้องสมุดจะมารีวิว Application ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชาวห้องสมุดเดือนละ 1 app เดือนมกราคมนี้ ผมขอแนะนำ Application ของห้องสมุดไทยแห่งหนึ่ง ต้องบอกว่าเป็น App แรกของห้องสมุดเมืองไทยเลยก็ว่าที่ได้ App นี้มีการรวบรวมสื่อสาระการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย App นี้เป็นของอุทยานการเรียนรู้ หรือ TKpark นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นย้อนหลังไปสักนิดว่า
จริงๆ แล้ว App นี้ออกมานานพอควรแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการอัพเดทข้อมูลและสื่อใหม่ๆ ลงมาเพียบ
ดังนั้นจึงต้องขอพูดถึงสักหน่อยว่ามีอะไรเด็ดๆ บ้าง

TKapp สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งบนระบบปฏิบัติการ IOS หรือ Android

เพียงแค่ลองค้นคำว่า “TKpark” หรือ “TKapp” ลงไปใน Apple stroe หรือ Google play

Content ที่มีอยู่ใน App นี้ ได้แก่

1. วัตถุเล่าเรื่อง (จำนวน 3 เล่ม)

1.1 กินอยู่อย่างไทย
1.2 ปัจจัย 4 ของชีวิต
1.3 คนก่อนประวัติศาสตร์บนดินแดนไทย

2. หนังสือเสียง (จำนวน 20 เรื่อง)

2.1 เด็กหญิงแก้มใสกับไร่ผัก
2.2 ยายกะตา
2.3 เมืองน่าอยู่ที่หนูรัก
2.4 ซีงอ เจ้าป่าผู้กล้าหาญ
2.5 ดอกสร้อยสุภาษิต
2.6 เมืองขวานทอง
2.7 ยิ้มของหนูดี
2.8 กระต่ายสามพี่น้อง
2.9 หนูแป้งแปลงขุมทรัพย์
2.10 ความฝันของชะเอม
2.11 เพื่อนรักจากต่างดาว
2.12 แม่ไก่ดื้อ
2.13 ดอกรักสัตว์แสนรู้
2.14 ปลาบู่ทอง
2.15 สังข์ทอง
2.16 ช้างดื้อ
2.17 เมืองมหาสารคาม
2.18 เพลงละอ่อน
2.19 เชียงใหม่เมืองบุญ
2.20 ไข่นุ้ยกับแพะน้อยในวันฮารีรายอ

3. เกมบุ๊ค (จำนวน 6 เกมส์)

3.1 สุโขทัย
3.2 รามเกียรติ๋
3.3 ไดโนไดโน่
3.4 อยุธยา
3.5 พลิกฟ้า ล่าดวงดาว
3.6 กุ๊ก กุ๊ก กรู๋ คนสู้ผี

4. เครื่องดนตรีไทย (4 ประเภท)

4.1 ดีด
4.2 สี
4.3 ตี
4.4 เป่า

5. ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน (จำนวน 5 เรื่อง)

5.1 นิราศนครวัด
5.2 ตำราแพทย์แผนโบราณ
5.3 ตำรับแกงไทย
5.4  หนังสือสมุดไทยดำตำราชกมวย
5.5 เพลงดนตรีประวัติศาสตร์

เป็นไงบ้างครับแค่ Content เพียบเลยใช่มั้ยครับ

สำหรับผมเองก็โหลด App นี้มาเพื่อดู Content ต่างๆ เหล่านี้แหละ
ซึ่งผมว่ามีประโยชน์มากมายเลย เช่น

– วัตถุเล่าเรื่อง ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของคนไทยมากขึ้น
– หนังสือเสียงไว้เปิดให้เด็กๆ ฟัง แถมมีเกมส์ฝึกสมองด้วย เด็กๆ ชอบมากเลย
– เกมบุ๊ค ไว้ใช้เวลาเบื่อๆ เล่นเกมส์ของทีเคแล้วต้องการคำแนะนำก็อ่านเรื่องประกอบได้
– เครื่องดนตรีไทย ทำให้เราได้ฟังเสียงของเครื่องดนตรีนั้นจริงๆ มีแบบเป็นเพลงและไล่เสียงด้วย
– ขุมทรัพย์ของแผ่นดินก็เป็นหนังสือที่หาอ่านได้ยากแล้ว

เอาเป็นว่าผมมีติดเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์อย่างที่ว่ามาแหละครับ App ฟรีแถมโหลดได้ง่ายแบบนี้ เพื่อนๆ ไม่ควรพลาดเลย
หรือห้องสมุดอื่นๆ อาจจะดูเป็นตัวอย่างในการพัฒนา App ของตัวเองก็ได้นะครับ

ภาพตัวอย่างการใช้งาน TKAPP

เมนูรวมสื่อ TK app
สื่อชุดวัตถุเล่าเรื่อง
สื่อหนังสือเสียง
สื่อเกมส์บุ๊ค

นายห้องสมุดขอแนะนำครูบรรณารักษ์ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

วันนี้มีเวลาไม่ค่อยมาก ผมจึงเลือกที่จะนั่งดูวีดีโอเพื่อผ่อนคลายบนรถตู้ในระหว่างการเดินทางกลับบ้าน บังเอิญเจอคลิปวีดีโอตัวนึงที่น่าสนใจมากเลยเลือกที่จะแนะนำให้เพื่อนๆ ชม (ขณะที่ผมเขียนบล็อกเรื่องนี้ ผมต้องออกตัวก่อนว่ากำลังนั่งบนรถตู้ เพราะฉะนั้นอาจมีพิมพ์ผิดบ้างต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วย)

วีดีโอนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวงการศึกษานะครับ บรรณารักษ์หลายคนคงอยากถามผมว่ามันเกี่ยวอะไร ผมขอชี้แจงแล้วกันว่า บรรณารักษ์ในโรงเรียน หรือ ครูบรรณารักษ์อาจดูแล้วนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ครับ

คลิปวีดีโอนี้ ชื่อว่า “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ลองชมกันได้เลยครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=tE32HERiEs4[/youtube]

สรุปสาระที่ได้จากวีดีโอ
ความรู้ที่เด็กยุคใหม่ควรรู้ในศตวรรษที่ 21 แนวคิดของโลกยุคใหม่
– ความรู้ที่เกี่ยวกับโลก
– ความรู้ด้านการเงิน
– ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี
– ความรู้ด้านสุขภาพ
– ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้เด็กยุคใหม่ควรถูกปลูกฝังทักษะสำคัญอีก 3 เรื่อง
ได้แก่
1. ทักษะชีวิตและการทำงาน
– ความหยืดหยุ่นและการปรับตัว
– การคิดริเริ่มสร้างสรรค์
– ทักษะด้านสังคมและการข้ามวัฒนธรรม
– การเป็นผู้สร้างและรับผิดชอบ
– ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ


2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม

– ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
– การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
– การสื่อสารและความร่วมมือ


3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี

– การใช้และประเมินสารสนเทศ
– วิเคราะห์และเลือกใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม
– การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างพื้นฐาน 4 ด้านเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
1. มาตรฐานและการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21
2. หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21
3. การพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 – ไม่ใช่แค่การอบรม
4. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้

ประโยคเด็ดที่นายแพทย์วิจารณ์ได้กล่าวไว้ในวีดีโอ คือ
“Teach Less, Learn More”
“เปลี่ยนเป้าหมายจาก ความรู้ ไปสู่ ทักษะ”

นอกจากนี้ในวีดีโอยังพูดถึงเรื่อง การเรียนโดยการปฏิบัติ หรือ Project Based Learning

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นสาระสำคัญที่ผมดึงมาจากวีดีโอนะครับ
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจ ผมแนะนำว่าต้องดูครับ ย้ำว่า ต้องดู

บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า บทความนี้ผมเขียนเพื่อร่วมสนุกในบล็อก Gotoknow ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ จาก gotoknow มาพบบทความนี้ ขอให้เข้าใจว่าบทความนี้เป็นของ “นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์” หรือ “Projectlib” หรือ “km_library” ใน Gotoknow นั่นเอง

ใน Gotoknow ให้เขียนเรื่อง “บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” โดยตอบคำถามดังต่อไปนี้

– ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง
– ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่
– บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร
– เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
– บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร
– บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป
– ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เอาเป็นว่าผมขอตอบคำถามทีละข้อแล้วกันนะครับ
ปล. ผมขอตอบทีละคำถาม (ต่างจากบล็อกของผมใน Gotoknow)

1. ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง

ตอบ – ภาพเดิมๆ ของเราเกี่ยวกับห้องสมุด คือ สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ การสืบค้นหนังสือ ทรัพยากรสำคัญของห้องสมุดคือหนังสือ แต่โลกได้เปลี่ยนไปมากเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเราค่อนข้างเยอะ ห้องสมุดควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับผู้ใช้บริการ ควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยคำตอบและข้อมูลที่ให้กับผู้ใช้บริการบางทีอาจไม่ได้เก็บอยู่ในรู้แบบหนังสือก็ได้ เช่น บางองค์ความรู้อยู่ในตัวบุคคล ห้องสมุดก็เชิญเขามาพูดหรือเป็นวิทยากรก็ได้ ห้องสมุด คือ พื้นที่ที่ให้บริการข้อมูล ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

2. ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่

ตอบ – ควรมี เพราะห้องสมุดคือสถานที่ที่รวบรวมความรู้ ซึ่งไม่ได้มีแค่หนังสือเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะเป็นสถานที่ที่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ต่างๆ ห้องสมุดไม่สามารถเก็บหนังสือได้ทุกเล่มบนโลก แต่ห้องสมุดจะเป็นคนบอกให้คุณรู้ว่าที่ไหนมีความรู้อะไร ที่ไหนมีข้อมูลอะไร และที่ไหนที่จะแก้ข้อสงสัยที่คุณอยากรู้ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ กระบวนการหนึ่งที่ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เริ่มจากคนที่ทำงานในห้องสมุด ผู้ใช้บริการ …..

3. บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร

ตอบ –บรรณารักษ์ไม่ใช่แค่คนที่นั่งเฝ้าหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่บรรณารักษ์จะต้องรู้จักหนังสือในห้องสมุดทั้งหมดด้วย การที่ผู้ใช้บริการมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ แล้วบรรณารักษ์สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ได้รอบห้องสมุดนับเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นมากๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนบทบาทของบรรณารักษ์ให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือก็ยิ่งดี เช่น เมื่อคนเข้ามาในห้องสมุดแล้วต้องการรู้วิธีการรักษาสุขภาพ บรรณารักษ์ก็จะแนะนำหนังสือพร้อมทั้งบอกได้ว่าเล่มไหนอ่านดี เล่มไหนอ่านง่าย ช่วยชี้นำทำให้เกิดการเรียนรู้และความสนใจในการอ่านหนังสือของผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

4. เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่

ตอบ – ควรเปลี่ยนอย่างยิ่ง การสืบค้นหนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ผมว่าไม่พอแล้วหล่ะครับ การค้นหาหนังสือแบบเดิมๆ คือ การค้นชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สถานที่จัดเก็บ โลกที่ผมอยากเห็นคือการสืบค้นข้อมูลของหนังสือที่นำไปสู่บทวิจารณ์หนังสือ (ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากที่อ่านหนังสือ ผมว่ามันมีค่าไม่ต่างจากเนื้อเรื่องในหนังสือเลย) หรือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับระบบสืบค้นหนังสือ เช่น สามารถกำหนดคำสืบค้นให้กับหนังสือที่เราสืบค้นได้ (การที่บรรณารักษ์เป็นคนกำหนดคำสืบค้นต่างๆ ให้หนังสือ บางครั้งทำให้ผู้ค้นสืบค้นไม่เจอ เพราะคำศัพท์ที่บรรณารักษ์นำมาใช้มาจากตำราการให้หัวเรื่อง)

5. บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร

ตอบ – ห้องสมุดแบบเดิมๆ ต้องมีบรรยากาศเงียบสงบ ใครส่งเสียงดังก็เหมือนคนทำผิดร้ายแรง จริงๆ แล้วสำหรับผมการที่ห้องสมุดมีเสียงบ้างไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะการที่คนได้อ่านหนังสืออาจมีเรื่องที่สงสัยหรือเรื่องที่ต้องอภิปรายกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องสมุดก็จำเป็นที่ต้องใช้เสียง ไม่เคยมีใครบอกเลยนะครับว่า การเรียนรู้ต้องนั่งเงียบๆ แล้วจะเรียนรู้ได้ดี (สำหรับผมการเรียนรู้เกิดจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และห้องสมุดควรเป็นสถานที่เอื้อให้เกิดสิ่งนี้)

6. บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป

ตอบ –อย่างแรกที่บรรณารักษ์ควรเป็น คือ การแนะนำเรื่องกระบวนการในการเปลี่ยนความรู้ อ่านหนังสือเสร็จให้ผู้ใช้บริการลองเขียนวิจารณ์หนังสือ หรือ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ใช้บริการอ่าน ผมว่าคนเราถ้าได้พูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมันทำให้เรายิ่งรู้มากขึ้นด้วย

7. ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ –ปัจจุบันนี้ห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอกด้วย (ประชาชนทั่วไป) ซึ่งการให้บริการความรู้ผมว่าทั้งสองแบบเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่เนื้อหาสาระมากกว่า เช่นในห้องสมุดประชาชนก็เน้นหนังสือที่ผู้ใช้บริการอ่านง่าย ไม่ซับซ้อนอะไรมาก ส่วนห้องสมุดโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยก็จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นและเนื้อหาเชิงวิชาการที่มากขึ้น

เอาเป็นว่าผมขอตอบแบบนี้ตามความคิดเห็นของผมนะ
นี่แหละ บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ผมอยากเห็น

1 วัน 1 ภาพ เพื่อสื่อความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย วันนี้ผมขอนำเสนอแนวคิดนึงที่ผมนำมาใช้กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook ได้สักระยะนึงแล้ว นั่นคือ “การจัดทำภาพข้อความเพื่อสื่อถึงความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่” วันนี้ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านสักหน่อย

1 ในความคิดและความตั้งใจของผมในปีนี้ คือ จะต้องโพสภาพข้อความที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ให้ได้วันละ 1 ภาพ

โดยรูปภาพที่ผมนำมาโพสนี้ ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรที่มันซับซ้อนเลย
แถมเป็นโปรแกรมฟรีอีกต่างหาก นั่นคือ โปรแกรม “Line Camera” นั่นเอง
และต้องบอกอีกว่าบางครั้งก็ใช้โปรแกรมง่ายๆ อย่าง Microsoft Powerpoint นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะบอก คือ ความง่ายของมัน
โปรแกรมที่ผมพูดถึงข้างต้นมันง่ายมากๆ
แต่เพื่อนๆ หลายคนคิดไม่ถึง

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ผมทำจาก Microsoft Powerpoint ภาพ Infographic หลายๆ ตัวที่ผมเคยโพสไปแล้วในบล็อกนี้

(ลองอ่านเรื่อง Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ)

เรื่องโปรแกรมบอกตรงๆ ครับมันไม่ยาก แต่เรื่องยาก คือ การนั่งคิดประโยคโดนๆ ที่จะสื่อสารออกมาในแต่ละวัน บางครั้งต้นใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็คิดได้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน

เมื่อได้ข้อความแล้วก็นำมาแยกประโยคและค่อยๆ พิมพ์ลงในโปรแกรมและจัดให้มันดูสวยงาม
เพียงแค่นี้ผมก็มีรูปภาพข้อความเก๋ๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วครับ

ลองมาดูกันตั้งแต่วันที่ 1 – 6 มกราคม 2556 ผมโพสรูปภาพอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 1 มกราคม 2556

วันที่ 2 มกราคม 2556

วันที่ 3 มกราคม 2556

วันที่ 4 มกราคม 2556

วันที่ 5 มกราคม 2556

วันที่ 6 มกราคม 2556

เอาเป็นว่าพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับ
ไอเดียนี้ทำให้คนเข้ามาที่เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยมากขึ้นเยอะมากๆ เลย
ผมเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดู อย่าคิดอะไรยากครับ ณ จุดๆ นี้

เมื่อนายห้องสมุดจัดกิจกรรมอ่านข้ามปีให้ชาวบรรณารักษ์

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเห็นเพื่อนๆ ถามถึงกันมากว่าในวันสิ้นปีจะ count down ที่ไหน และจะทำอะไรข้ามปี คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือ “ไปนับถอยหลังกับเพื่อนๆ” บ้าง “อยู่นับถอยหลังกับครอบครัวที่บ้าน“บ้าง และกิจกรรมอีกกิจกรรมที่คนให้ความสนใจกันเยอะคือ “การสวดมนต์ข้ามปี” ผมจึงจัดทำรูปภาพขึ้นมาสำหรับเพื่อนๆ ชาวเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยว่า

“สำหรับชาวห้องสมุด ใครที่ยังไม่มีโปรแกรมสำหรับวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมขอแนะนำ อ่านหนังสือข้ามปี กระแสใหม่สำหรับหนอนหนังสือ”

ซึ่งหลังจากที่ทำรูปภาพนั้นเสร็จ ผมก็คิดทันทีว่า “ลองจัดกิจกรรมแปลกๆ ดูกันมั้ย”

ผมจึงลงประกาศใต้รูปว่า

“ไม่ต้องทำตามแบบใคร เราก็มีกิจกรรม countdown ได้ตามสไตล์เรา (ห้องสมุดและบรรณารักษ์) นายห้องสมุดขอชวนเพื่อนๆ อ่านหนังสือข้ามปีเพื่อสร้างกระแสการรักการอ่าน ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถ่ายภาพของคุณกับหนังสือที่คุณจะใช้อ่านข้ามปี แล้วโพสมาที่เพจเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย 10 คนแรกที่โพสมาจะได้รับของที่ระลึกเก๋ๆ จากนายห้องสมุดจ้า ปล. ส่งได้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นะครับ ประกาศผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 ครับ”

นอกจากนั้นผมยังทำรูปขึ้นมาอีกรูปเพื่อย้ำถึงกิจกรรมนี้

ซึ่งในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผมก็นั่งลุ้นดูว่าจะมีเพื่อนๆ สนใจกิจกรรมนี้กันหรือไม่ จะมีคนมาร่วมลุ้นรางวัลกับผมหรือเปล่า (ตั้งใจว่าจะแจกของที่ระลึก 10 รางวัลนะ) แต่ผลออกมาว่า

มีผู้ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย จำนวน 7 คน

เราไปดูผลงานของทั้ง 7 คนเลยดีกว่าว่า เขาอ่านอะไรกันบ้าง

คนที่ 1 : “Nuan Kesaree”
อ่าน : “เมฆาสัญจร (Cloud Atlas)”

คนที่ 2 : “Siriluk Okaoka”
อ่าน : “หัวใจรักมังกรอหังการ”

คนที่ 3 : “Ilham Seng”
อ่าน : “คู่มือเพิ่มความสุขทุกๆวัน”

คนที่ 4 : “Pretty Lib”
อ่าน : “แฟรี่วอร์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลา”

คนที่ 5 : “Chaninthron Uanlam”
อ่าน : “เล่าเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน”

คนที่ 6 : “Piraporn Kiewkhen”
อ่าน : “บทสวดพลจักรรัตนสูตรเพื่อกำจัดภัยพิบัติดั่งสมัยพุทธกาล”

คนที่ 7 : “Natthicha Smile Klongklaew”
อ่าน : “คนตายยาก”

เอาเป็นว่าผมก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” ของผมนะครับ
ขอสรุปรายชื่อผู้โชคดีทั้ง 7 คน ดังนี้
1. Nuan Kesaree
2. Siriluk Okaoka
3. Ilham Seng
4. Pretty Lib
5. Chaninthron Uanlam
6. Piraporn Kiewkhen
7. Natthicha Smile Klongklaew

ผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าวเดี๋ยวผมจะติดต่อไปหลังไมค์นะครับ
เพื่อขอที่อยู่และจะจัดส่งของที่ระลึกไปให้

เอาเป็นว่าปีหน้าค่อยมาเจอกันใหม่กับการ “อ่านข้ามปี” ของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยนะครับ หวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ กติกาจะเป็นยังไงปีหน้าต้องติดตามกัน อิอิ

นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

งานสัมมนามิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด

ปลายเดือนนี้มีงานสัมมนางานหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ นั่นคือ “การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29” นั่นเอง ซึ่งธีมที่จะพูดในปีนี้ คือ เรื่องมิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด มาลองอ่านระอียดของงานนี้กัน

รายละเอียดงานสัมมนาเบื้องต้น
ชื่องาน : การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29
ธีมงาน : มิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารเรียนรวม 5 ชั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วันที่จัด : วันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556
จัดโดย : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้นมาก (เริ่มเห็นก็ตอนหลังน้ำท่วมใหญ่นี่แหละ) ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมีหลายลักษณะ เช่น ความร่วมมือในการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือในการรวมกลุ่มกันบอกรับฐานข้อมูล ความร่วมมือในการพัฒนาโปรแกรมห้องสมุด หรือแม้แต่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

เอาเป็นว่าหัวข้อนี้ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ควรนำมาพูดกันอย่างจริงจังบ้าง
คนนอกวงการจะได้รู้สักทีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ห้องสมุดรวมกลุ่มกันมันคือเรื่องใหญ่

หัวข้อที่น่าสนใจของงานนี้

– Library Consortium Management
– การพัฒนาคลังสารสนเทศขนาดใหญ่โดยใช้ DSpace รองรับการให้บริการหลากหลาย Platform (Windows, iPad, Android)
– การใช้ระบบสืบค้น Google Search Appliance กับงานห้องสมุด
– การพัฒนาคลังสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมและข้อมูลท้องถิ่นของห้องสมุดและข่ายความร่วมมือเพื่อรองรับประชาคมอาเชียน
– What we learn from EU, their Libraries Cooperation, and Repositories
– Virtual Newspaper in an Educational and Engaging Environment
– Powering Quality Research
– PLoT – Public Library of Thailand ระบบฐานข้อมูล และคลังสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม
– ห้องสมุดในฝัน
– แนวทางความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
– Britannica Online – The Complete Digital Resource
– มิติใหม่ของการบอกรับฐานข้อมูลออนไลน์
– Creating a Different Future for Library Services, World Share Management Services
– The Lines of Crowdsourcing as a Way Forward for Libraries
– ความร่วมมือในการดำเนินงานประกันคุณภาพห้องสมุด
– วิวัฒนาการของสื่อกระดาษสู่ดิจิทัล
– สื่อทรัพยากรสารสนเทศกับระบบ Cloud Computing
– การใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อการสืบค้นข้อมูลสำหรับห้องสมุดอนาคต (EBSCO Discovery Service)
– บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสถานะความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
– Partnership with Taylor & Francis
– แนวโน้มในอนาคตของความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

เห็นหัวข้อแล้วก็ต้องอึ้ง เพราะอัดแน่นด้วยเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น
ที่สำคัญยังมีวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมบรรยายเยอะพอสมควร

การสัมมนาครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงาน 2500 บาทนะครับ
และปิดรับลงทะเบียนออนไลน์ – ชำระเงินค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 8 มกราคม 2556 เท่านั้น

เอาเป็นว่าน่าสนใจขนาดนี้ก็อยากให้เพื่อนๆ มาร่วมงานกันเยอะๆ นะครับ
ส่วนใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็อ่านกันต่อได้ที่
http://coconference.library.tu.ac.th/