The edublogaward 2011 สาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์

มีเพื่อนผมมาเตือนเกี่ยวกับเรื่อง The edublogaward ว่า “ผลของปี 2011 ยังไม่ออกหรอ ทำไมถึงไม่มีเขียนเรื่องนี้” ซึ่งเมื่อผมลองตรวจสอบดูก็เพิ่งเห็นจริงๆ ว่าผลมันออกมานานแล้ว ต้องขออภัยที่ลงข่าวล่าช้านะครับ เอาเป็นว่าลองมาติดตามกันดูดีกว่าว่าผลของปีนี้บล็อกไหนของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ที่ได้รับรางวัลบ้าง

ติดตามผลการประกาศรางวัลปีเก่าได้ที่
The edublogaward 2009 สาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์
The edublogaward 2010 สาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์

ปีนี้ผลการประกาศรางวัล The edublogaward 2011  สาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์ดูน่าสนใจมากขึ้น
(ปกติจะประกาศสาขาละ 3 บล็อก ปีนี้ประกาศเพิ่มเป็น 5 บล็อกครับ)

The edublogaward 2011 สาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์ บล็อกที่ได้รับรางวัลมีดังนี้
Try Curiosity! – http://www.trycuriosity.com/
Bulldog Readers Blog – http://bellbulldogreaders.edublogs.org/
The Daring Librarian – http://www.thedaringlibrarian.com/
Never Ending Search – http://blog.schoollibraryjournal.com/neverendingsearch
A Media Specialist’s Guide to the Internet – http://mediaspecialistsguide.blogspot.com/

Try Curiosity! - http://www.trycuriosity.com/
Bulldog Readers Blog - http://bellbulldogreaders.edublogs.org/
The Daring Librarian - http://www.thedaringlibrarian.com/
Never Ending Search - http://blog.schoollibraryjournal.com/neverendingsearch
A Media Specialist's Guide to the Internet - http://mediaspecialistsguide.blogspot.com/

ปีนี้บล็อกที่ได้รับรางวัลนี่ เป็นบล็อกที่ไม่เคยได้รับรางวัลนี้มาก่อน (บล็อกหน้าใหม่)
ปีที่แล้วยังมีบล็อกเก่าติดอันดับ แต่ปีนี้บล็อกเก่าไม่ติดเลย นับว่าน่าสนใจมากๆ

ยังไงก็ลองเข้าไปดูนะครับ

ติดตามข้อมูลรางวัลในสาขาอื่นๆ ได้ที่ http://edublogawards.com/announcing-the-2011-winners-congrats-to-all/

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

เรื่องที่จะเขียนให้อ่านในวันนี้ ตั้งใจว่าจะเขียนหลายทีแล้ว แต่ด้วยภาระงานที่มากมายจึงติดไว้นานมากๆ วันนี้พอดีอยู่ว่างๆ (จริงๆ ก็ไม่ได้ว่างมากหรอก) เลยขอเขียนเรื่องราวนี้ให้จบแล้วกัน

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21” เป็นเรื่องที่ผมอ่านมาจากบล็อกในต่างประเทศ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว แต่พออ่านแล้วเห็นทักษะต่างๆ แล้วก็จะรู้ว่ายังคงใช้ได้เลยทีเดียว

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับต้น (สายปฏิบัติ) แบ่งออกเป็น 5 ข้อย่อย คือ
– ความสามารถที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง
– นำสื่อออนไลน์เข้ามาใช้เพื่อความสะดวกสบาย
– ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีแบบเบื้องต้น
– ความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี
– ความสามารถในการรวบรวมไอเดียด้านเทคโนโลยีกับเครือข่ายห้องสมุด

สำหรับบรรณารักษ์ที่ปฏิบัติงานในระดับต้นส่วนใหญ่จะเน้นความสามารถในด้านการปฏิบัติเป็นหลัก ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจะมุ่งเน้นไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังนั้นทักษะในเรื่องของการยอมรับความเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญมาก อีกประเด็นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการทำงานตัวบรรณารักษ์เองก็จำเป็นต้องยึดหลักตามที่ผมเคยนำเสนอเรื่อง “รู้จัก – เข้าใจ – นำไปใช้” นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดึงไอเดียหรือการหาไอเดียเพื่อการพัฒนางานบริการต่างๆ ซึ่งที่มาของไอเดียก็มาจากหลากหลายทาง ในที่นี่ขอเน้นเกี่ยวกับการทำงานกันเป็นเครือข่าย ความช่วยเหลือระหว่างวงการวิชาชีพก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

2. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับสูง (สายการบริหาร) แบ่งออกเป็น 6 ข้อย่อย คือ
– ทักษะเรื่องการบริหารจัดการโครงการ
– ความสามารถในการตอบคำถามและการประเมินงานบริการห้องสมุด
– ความสามารถในการวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้บริการ
– วิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องสมุดแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นห้องสมุดที่ใช้สื่อออนไลน์
– ความสามารถในการหาจุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและเปรียบเทียบเทคโนโลยีด้านต่างๆ
– ความสามารถในการขายไอเดียห้องสมุด (นำเสนอห้องสมุด)

จะสังเกตได้ว่าทักษะและความสามารถของบรรณารักษ์ที่อยู่ในระดับสูง หรือสายงานบริหารจะต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่นกัน แต่คงไม่ต้องลงมาปฏิบัติเหมือนขั้นต้นแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่การประเมินการใช้งานด้านเทคโนโลยีในห้องสมุด การเปรียบเทียบระบบแบบต่างๆ รวมถึงงานวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้ พูดง่ายๆ ว่าจะมีทั้งงานบริหารและงานวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความสามารถในเรื่องการนำเสนอหรือขายไอเดียห้องสมุดให้สาธารณชนได้รู้จักและเห็นคุณค่าของห้องสมุดด้วย

เป็นไงบ้างครับ นี่ก็เป็นประเด็นทักษะและความสามารถที่น่าสนใจสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่

บทสรุปที่ผมชอบของบทความนี้มีอีกอย่าง คือ

“Technologies will come and go. Change is inevitable. But if librarians can adapt to and embrace change, can easily learn technologies, can keep up with changes in the profession, can plan for new services and evaluate old services, can develop services that meet the needs of all stakeholders, can evaluate technologies, and can sell their ideas and market services they will be better able to meet the challenges of changing user populations and changing technologies.”

ต้นฉบับของเรื่องนี้ “Skills for the 21st Century Librarian” โดย Meredith Farkas

ปล. ถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่าการอ่านบล็อกของผมก็ตามไปอ่านบทความนี้เต็มๆ ได้ที่ต้นฉบับด้านบนที่ผมเกริ่นนะครับ

Infographic พฤติกรรมที่น่าสนใจของกลุ่มนักอ่าน Ebook

วันนี้ผมขอนำเสนอข้อมูล Infographic ที่น่าสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับ Ebook นะครับ Infographic นี้นำเสนอเรื่องพฤติกรรมที่น่าสนใจของบรรดาผู้ที่ใช้ Ebook และ Ereader ซึ่งสำรวจข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา

เราไปชม Infographic นี้กันนี้

สรุปข้อมูลจาก Infographic ตัวนี้แบบคร่าวๆ นะครับ

– จำนวนคนที่อ่าน E-book มีมากขึ้น
– คนที่อ่าน E-books ส่วนหนึ่งก็ยังคงอ่านหนังสือที่เป็นฉบับพิมพ์ด้วย
– การเป็นเจ้าของ E-reader ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น
– คนอ่าน E-book ส่วนใหญ่ใช้ Ipad ในการอ่าน
– เหตุผลหลักของการอ่าน E-book คือ ความพอใจในอุปกรณ์การอ่าน
– นักอ่าน E-book นิยมการซื้อหนังสือ E-book มาอ่านมากกว่าการยืม E-book จากห้องสมุด


ประเด็นของ Infographic ชิ้นนี้ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การเปรียบเทียบการใช้งานตามวัตถุประสงค์ด้วย (ระหว่างหนังสือตัวเล่มกับ E-Book)

1. อ่านหนังสือในระหว่างการเดินทาง นิยม E-Book
2. อ่านหนังสือที่มีตัวเลือกเยอะๆ นิยม E-Book
3. การอ่านหนังสือกับเด็ก นิยม หนังสือที่เป็นตัวเล่ม
4. หนังสือที่อยากจะแชร์ให้คนอื่นได้อ่าน นิยม หนังสือที่เป็นตัวเล่ม
5. อ่านหนังสือก่อนนอน นิยม E-Book (คะแนนออกมาสู้สีมาก)
6. หนังสือที่ต้องการอ่านแบบเร็วๆ นิยม E-Book

เอาเป็นว่าที่สุดแล้ว Ebook และ หนังสือแบบตัวเล่มก็ยังคงต่างมีจุดดีและจุดด้อยต่างกัน ที่สำคัญเลือกให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของเราน่าจะดีกว่านะครับ

กระแสของ Ebook และ Ereader เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น จนผมเองยังต้องย้ำและนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้นไปด้วย เพื่อให้วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์รวมไปถึงวงการศึกษาในเมืองไทยเตรียมรับมือและเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนางานบริการต่างๆ ของเรา

พวกเราพร้อมหรือยังที่จะเตรียมให้บริการและพัฒนางานบริการของเรา

credit : http://www.onlineuniversities.com/e-book-nation

เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผมและหัวหน้าของผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อบรรยายให้บรรณารักษ์ที่ทำงานอยู่ในห้องสมุดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในช่วงเช้าเป็นหัวข้อ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าของผม และตอนบ่ายเป็นหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน” โดยผมเอง

ซึ่งในขณะที่หัวหน้าของผมกำลังบรรยายในเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ผมเองก็ได้ทำการถ่ายทอดสดการบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย เผื่อที่ว่าเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้มาฟังก็สามารถอ่านการรายงานสดของผมได้

การรายงานสดของผมครั้งนี้ ผมใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter
ซึ่งง่ายต่อการรายงานสดๆ มาก เพราะพิมพ์ข้อความละครั้งไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น
การดำเนินการรายงานสดของผมใช้ชื่อว่า “Live Tweet” และใช้คำหลักว่า “#Libraryatroiet

ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่า ผมรายงานเป็นอย่างไรบ้าง
[ผมจะเรียงจากข้อความแรกไปจนถึงข้อความสุดท้ายนะครับ]

Live Tweet : “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” #Libraryatroiet

– หัวข้อในช่วงเช้านี้ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์ยุคใหม่ & เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” #LibraryatRoiet

– วิทยากรช่วงเช้านี้ หัวหน้าผมเอง คุณนพดล วีรกิตติ #LibraryatRoiet

– เมื่อกี้วิทยากรพูดถึงแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา #LibraryatRoiet

– การจัดชั้นวารสารที่น่าสนใจอยากให้ห้องสมุดดูร้านหนังสือเป็นตัวอย่าง #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดหลายแห่งจัดนิตยสารโดยการเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นผู้ใช้ที่ต้องการหานิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันลำบากในการเดินมากๆ #LibraryatRoiet

– ถ้าจัดชั้นนิตยสารตามหมวดหมู่ หรือ เรียงนิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สบาย บรรณารักษ์ก็ทำงานง่าย #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังแนะนำเทคนิคเรื่องการนำ mindmap มาใช้ในการหาความคิดสร้างสรรค์ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์มีเสื้อกันเปื้อยด้วย เท่ห์ป่ะหล่ะ #LibraryatRoiet

– Library2.0 แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือ สมุดเซ้นเยี่ยมชมห้องสมุด และ สมุดแสดงความคิดเห็นในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– สมุดเซ็นเยี่ยม หรือ สมุดแสดงความคิดเห็น ที่ดี คือ สมุดวาดเขียน (สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด) จะดีมากๆ #LibraryatRoiet

– จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิต บรรณารักษ์ต้องมีชีวิตชีวาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากทำงาน #LibraryatRoiet

– อาชีพการจัดการความรู้เป็นอาชีพที่ต้องการมากในต่างประเทศ #LibraryatRoiet

– สังคมต้องช่วยให้คนมีความรู้ที่ดี เพื่อให้คนมีโอกาสในช่วง AEC ห้องสมุดคือหน่วยงานที่ต้องสร้างองค์ความรู้นั้น #LibraryatRoiet

– ในประเทศอเมริกา obama แต่งตั้งให้บรรณารักษ์ดูแลนโยบายการจัดการความรู้ของประเทศ ถ้าเมืองไทยหล่ะ ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ #LibraryatRoiet

– ที่อุบลราชธานี ราชภัฎอุบลเองยังต้องมาดูงานที่ห้องสมุดประชาชน #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังยกตัวอย่างห้องสมุดเทศบาลระยอง ที่เทศบาลกู้เงินจาก world bank เพื่อพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– Seattle ประชากรมีมากกว่า 168 เชื้อชาติ ห้องสมุดประชาชนจึงจัดคอร์สอบรมภาษาอังกฤษให้ฟรี #LibraryatRoiet

– ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น ก็จะมีรายได้มากขึ้น ผลสุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้มากขึ้น นี่แหละกลไล #LibraryatRoiet

– เหตุผลง่ายๆ ที่ท้องถิ่นต้องลงทุนพัฒนาห้องสมุดในท้องที่ของตัวเอง #LibraryatRoiet

– หนังสือดีๆ ควรมีในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ทำไมห้องสมุดถึงจะมีการ์ตูนไม่ได้หล่ะ การ์ตูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น #LibraryatRoiet

– รักการอ่านต้องเริ่มจากความสนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ #LibraryatRoiet

– คนที่ทำงานด้านไอทีอยากได้องค์ความรู้ด้านไอทีมาก แต่หนังสือก็ราคาแพง ห้องสมุดทำไมถึงไม่จัดหาให้คนกลุ่มนี้บ้างหล่ะ #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ต้องมีกรอบการเลือกที่ชัดเจน ไม่งั้นก็ได้หนังสือมาแบบไม่มีแก่นสาร #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดได้ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราก่อนว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไร และเรามีอะไร #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดวัสดุก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากแค่การอ่านเท่านั้น #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น กรณี “ผ้าย้อมมะเกลือป้องกันแสงยูวี” เป็นเรื่องที่ห้องสมุดก็นำมาเล่าได้ #LibraryatRoiet

– ในท้องถิ่นจะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจอีกเพียบ หน้าที่นึงของห้องสมุด คือ การดึงองค์ความรู้เหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นฟัง #LibraryatRoiet

– นึกอะไรไม่ออกให้เดินมาที่ห้องสมุด ห้องสมุดอยู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ #LibraryatRoiet

– พักเบรค 15 นาทีครับ เดี๋ยวกลับมารายงานต่อครับ #LibraryatRoiet

– อธิบายในช่วงเบรคนิดนึง #LibraryatRoiet คือ การรายงาน live tweet การอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 26 คน

– กลับมาจากเบรคแล้ว เริ่มด้วยของเด่นประจำจังหวัด #LibraryatRoiet

– ร้อยเอ็ดเด่นเรื่องข้าว (ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่ที่นี่) #LibraryatRoiet

– ช่วงนี้เน้นเรื่องการเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอในห้องสมุด ตัวอย่างกรณีศึกษาคือ “ตลาดนัดฮักสุขภาพ” ที่ห้องสมุดอุบลราชธานี #LibraryatRoiet

– คนรุ่นใหม่เรียนจบมาทำฟาร์ม ทำสวนกันเยอะเหมือนกันนะ “คนที่ต้องการใช้ความรู้เพื่อทำการเกษตร” ห้องสมุดจะทำอย่างไร #LibraryatRoiet

– การสังเกตความสนใจของผู้ใช้บริการแบบง่ายๆ คือ หยิบหนังสือมาดูด้านหลังตรงที่ประทับตรากำหนดส่ง ว่ามีเยอะแค่ไหน #LibraryatRoiet

– “คุณภาพชีวิต” เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจมาก #LibraryatRoiet

– การ survey แบบง่ายๆ และไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลย คือ การพูดคุยกับผู้ใช้บริการมากๆ #LibraryatRoiet

– การหาความรู้ของคนในต่างจังหวัดมักจะมาจากการพูดคุย ถามกันเอง ไม่ใช่การมาอ่านหนังสือในห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดควรจะจัดเวทีให้ #LibraryatRoiet

– คนขายของไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ของจีนก็เยอะ แต่ถ้าเราหาโอกาสทางธุรกิจเจอก็ไม่ยากนะ ห้องสมุดต้องช่วยหาประเด็นเหล่านั้น #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดไปศึกษาข้อมูลงานวิจัยผู้สูงอายุพบว่า “Lifestyle ของผู้สูงอายุในยุคนี้ต่างจากยุคก่อนหน้านี้” #LibraryatRoiet

– ผู้สูงอายุถามว่า “เวลาไปซื้อของตามศูนย์การค้าทำไมต้องให้พวกเขาเดินหลายๆ ชั้น ทีของเด็กยังมีเป็นมุมช้อปปิ้งของเด็กเลย” #LibraryatRoiet

– การจัดนิทรรศการของห้องสมุดแบบเดิมๆ คือ การจัดบอร์ด ไม่ว่าจะงานไหนก็เป็นการติดบอร์ด ไม่คิดว่าผู้ใช้บริการเบื่อบ้างหรอ #LibraryatRoiet

– คนพูดเรื่อง AEC กันเยอะ แต่ก่อนที่ห้องสมุดจะไปถึงขั้นนั้นได้ ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญกับสารสนเทศท้องถิ่นก่อน #LibraryatRoiet

– คนอุบลราชธานีบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องมีคำว่า “ราชธานี” สารสนเทศท้องถิ่นสำคัญมากนะ #LibraryatRoiet

– Creative Economy = ความรู้ท้องถิ่นต่อยอดกับสินค้าและบริการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก #LibraryatRoiet

– อาจารย์ปัญญาเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานีได้สนุกมาก เราก็เชิญเขามาเล่าในห้องสมุดให้ผู้ใช้บริการฟังสิ #LibraryatRoiet

– จังหวัดมอบภาระในการเล่าเรื่องจังหวัดให้ห้องสมุดเป็นคนทำ #LibraryatRoiet

– การตั้งชื่อของกิจกรรมก็มีส่วนในการเรียกคนเข้าห้องสมุดเช่นกัน #LibraryatRoiet

– ขนาดภาพยนตร์ต่างๆ ยังมีการตั้งชื่อให้น่าสนใจเลย ดังนั้นห้องสมุดก็ควรตั้งชื่อกิจกรรมต่างๆ ให้โดนใจบ้าง #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างชื่อกิจกรรมแบบโดนๆ “จัดร้านให้ได้ล้าน, นิทรรศการเฮ็ดจังสิเด้อจังสิมีโอกาส” ภาษาถิ่นก็เป็นอีกไอเดียนึง #LibraryatRoiet

– มีโอกาสและช่องทางมากมายในการพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์ในอเมริกาใช้วิธีการสมัครเข้าร่วมกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเมือง เช่น กลุ่มไพธอน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มาใช้พื้นที่ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่ที่มีคนมาขอใช้ถ่ายทำรายการมากมาย นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการโปรโมทห้องสมุด #LibraryatRoiet

– เรื่องที่คิดไม่ถึง “มีครูมาขอเช่าพื้นที่ในห้องสมุดสอนหนังสือเด็กฟรี” สอนฟรีแถมให้เงินห้องสมุด มีแบบนี้ด้วย ห้องสมุดอุบลฯ #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเปิด stop motion เพื่อการแนะนำหนังสือในห้องสมุด ทำง่าย ใช้ได้จริง #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเล่าต่อถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับห้องสมุด ห้องสมุดไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้วนะ #LibraryatRoiet

– หลายๆ คนบอกว่าห้องสมุดจะพัฒนาได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งก็จริงส่วนนึง แต่ส่วนนึงผู้ปฏิบัติต้องพิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็น #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเกริ่นถึงเรื่องสื่อสังคมออนไลน์กับงานห้องสมุดซึ่ง ช่วงบ่ายผมจะเป็นคนบรรยายเอง #LibraryatRoiet

– ช่วงบ่ายอาจจะไม่มีการรายงานสดๆ แบบนี้ แต่ผมสัญญาว่าจะเอาเรื่องที่ผมบรรยายมาโพสในบล็อกให้อ่านนะครับ #LibraryatRoiet

– แนะนำหลักสูตรการอบรม 10 ด้าน เพื่อการพัฒนาบรรณารักษ์ “ห้องสมุดมีชีวิตเมื่อคนทำงานมีชีวิตชีวา” #LibraryatRoiet

– การอบรม คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้คนทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข #LibraryatRoiet

– ถ้าเรากลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีแรงในการคิดสร้างสรรค์ #LibraryatRoiet

– การเรียนเรื่อง “การค้นหา” มันมีวิธีมากมาย #LibraryatRoiet

– วิธีการเขียนบล็อกที่ง่ายที่สุด คือ อย่าไปคิดว่าจะเขียนเพื่อเอารางวัลซีไรต์ #LibraryatRoiet

– Unconference ในวงการห้องสมุดก็น่าสนใจนะ #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างงาน unconference “พรุ่งนี้บ่ายโมงไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกไปถ่ายรูปกัน” #photowalk #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดสมัยใหม่ ต้องเปลี่ยนปัญหาของผู้ใช้บริการ มาเป็น ปัญหาของเรา เช่น ผู้ใช้ไม่ได้เอาบัตรมา เราก็ต้องให้ยืมได้ #LibraryatRoiet

– ผู้บริหารเตือนพนักงาน “คุณจะทะเลาะกับลูกค้าเพราะเงิน 50 บาทอย่างนั้นหรือ” เพราะหลังจากนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาหาเราอีก #LibraryatRoiet #Like

– ความสุขของพวกเราคือ การเห็นผู้ใช้บริการมีความสุขกับการใช้ห้องสมุดที่พวกเราทำ #LibraryatRoiet

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นการสรุปประเด็นและเก็บตกไอเดียจากการบรรยายเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” โดยคุณนพดล วีรกิตติ นะครับ ส่วนบทสรุปในช่วงบ่าย เนื่องจากผมเป็นคนบรรยายเอง จึงไม่มีการทำ Live Tweet นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะสรุปลงบล็อกให้อ่านในตอนหน้าแล้วกัน

งานเสวนา “หนังสือเก่า เล่าเรื่อง มรดกภูมิปัญญาไทย”

มีข่าวฝากประชาสัมพันธ์มาให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้เข้าร่วมครับ เป็นงานเสวนาที่ผมอ่านแล้วก็ยังรู้สึกว่าน่าสนใจดี เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือเก่าและหนังสือหายากครับ ชื่องานเสวนานี้คือ “หนังสือเก่า เล่าเรื่อง มรดกภูมิปัญญาไทย”


รายละเอียดงานเสวนาเบื้องต้น
ชื่องานภาษาไทย : หนังสือเก่า    เล่าเรื่อง   มรดกภูมิปัญญาไทย
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันและเวลาที่จัด : วันศุกร์ที่  15  มิถุนายน พ.ศ. 2555    เวลา  8.30 – 17.00 น.
จัดโดย : ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานนี้เพื่อนๆ จะได้พบกับผู้ที่อยู่ในวงการหนังสือเก่า หรือ หนังสือหายากมากมาย ซึ่งพวกเขาจะมาเล่าให้ฟังถึงคุณค่าและความสำคัญของหนังเก่าที่มีต่อชุมชนและสังคมไทย

หัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้
– มรดกภูมิปัญญาในกรมพระจันทบุรีนฤนาถ
– เล่าเรื่อง ลีลาของ “ฉันท์”
– เสน่ห์หนังสือเก่า
– หนังสือเก่า ความรัก ความผูกพัน กับคนสำคัญ

บุคคลที่ให้เกียรติมาถ่ายทอดเรื่องราว เช่น
– รองศาสตราจารย์อัมพร ทีขะระ (ผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุดหนังสือหายาก)
– รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ)
– รองศาสตราจารย์คึกเดช กันตามระ (นักวิชาการ/นักเขียน)
– คุณอเนก นาวิกมูล (นักวิชาการ/นักเขียน/เจ้าของบ้านพิพิธภัณฑ์)
– นางสุกัญญา ชลศึกษ์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์)
– นางชมัยภร แสงกระจ่าง (นักเขียน อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)
– นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ (นักเขียน)

เป็นยังไงกันบ้างครับทั้งหัวข้อและวิทยากรทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจนะครับ

ดังนั้นถ้าใครไม่ติดธุระหรือสนใจก็เข้าร่วมงานนี้ได้นะครับ เพียงแค่ดาวน์โหลดแบบตอบรับด้านล่างนี้
คลิ๊กที่นี่เลย “แบบฟอร์มตอบรับเข้าร่วมงาน

เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วก็สำรองที่นั่งโดยส่งแบบตอบรับไปที่ Benja.r@car.chula.ac.th หรือ  Anurak.m@car.chula.ac.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์มรดกภูมิปัญญา  โทร.  0-2218-2934

ข้อความประชาสัมพันธ์ของงานนี้ (เพื่อนๆ สามารถ copy และ ส่งต่อไปให้เพื่อนๆ คนอื่นได้นะครับ)

ศูนย์วิทยทรัพยากร   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ขอเชิญชวนคนรักหนังสือเก่า     ผู้ชื่นชอบงานเขียน  และผู้รักการอ่านทั้งหลาย    ร่วมงานเสวนาเรื่อง   หนังสือเก่า    เล่าเรื่อง    มรดกภูมิปัญญาไทย         เนื่องในโอกาสวันกิติยากร    เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระจันทบุรีนฤนาถ   ที่ทรงมีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ในวันศุกร์ที่  ๑๕  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕    เวลา  ๘.๓o – ๑๗.oo  น.   ณ  ห้องประชุมชั้น  ๗   ศูนย์วิทยทรัพยากร      โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างองค์ความรู้ทางมรดกภูมิปัญญา  เผยแพร่เรื่องราวของหนังสือหายากให้สาธารณชนได้ตระหนักในคุณค่า  ความรู้   และความสำคัญของหนังสือเก่าที่มีต่อชุมชน  สังคม   และประเทศชาติ     ผ่านเรื่องเล่า    บันทึกความทรงจำและความรู้สึกที่งดงามของบุคคลต่างๆ   ประกอบด้วยการบรรยายเรื่อง  มรดกภูมิปัญญาในกรมพระจันทบุรี นฤนาถ   โดย   รองศาสตราจารย์อัมพร  ทีขะระ    รองศาสตราจารย์ฉลอง   สุนทราวาณิชย์     และ คุณธงชัย  ลิขิตพรสวรรค์    เล่าเรื่องลีลาของ “ ฉันท์ ”  โดย  รองศาสตราจารย์คึกเดช  กันตามระ     ฟังสบายๆ กับเรื่อง  เสน่ห์หนังสือเก่า  โดย  คุณเอนก  นาวิกมูล    ในภาคบ่ายพบกับการเสวนาเรื่อง  หนังสือเก่า  ความรัก  ความผูกพัน  กับคนสำคัญ  โดย   ศิลปินแห่งชาติ  นางสุกัญญา  ชลศึกษ์   (กฤษณา  อโศกสิน)  นางชมัยภร   แสงกระจ่าง   และนายแพทย์พงศกร  จินดาวัฒนะ    พร้อมเปิดบ้านเยี่ยมชมห้องกรมพระจันทบุรีนฤนาถ    ศูนย์มรดกภูมิปัญญา  จุฬาฯ  การบริการหนังสือหายาก  และหนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์

7 องค์ประกอบสำคัญในการทำเว็บไซต์ห้องสมุดชั้นเยี่ยม

วันนี้ผมก็มีเวลานั่งไล่อ่านบล็อกของเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ในต่างประเทศ แล้วพอดีไปสะดุดกับการบล็อกของ David Lee King เรื่อง “Seven Essential Elements to an Awesome Library Website” เลย ตามไปดูสไลด์และเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี ก็เลยอยากแชร์เรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน โดยขอแปลเป็นชื่อเรื่องได้ว่า “7 องค์ประกอบสำคัญในการทำเว็บไซต์ห้องสมุดชั้นเยี่ยม

ไปชมสไลด์ที่มาของข้อมูลนี้กันก่อนนะครับ

มาดู “7 องค์ประกอบสำคัญในการทำเว็บไซต์ห้องสมุดชั้นเยี่ยม” ตามที่ผมถอดความและอธิบายเพิ่มเติมกัน

1. Customers want something to read, watch, & listen to when they visit the library
(ผู้ใช้บริการต้องการบางสิ่งบางอย่างเพื่ออ่าน ดู ฟัง เหมือนตอนมาที่ห้องสมุด)

การที่เว็บไซต์ห้องสมุดมีสื่อบางประเภทให้บริการบนเว็บไซต์เป็นสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์ห้องสมุดมีสีสันมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูหรือชมวีดีโอผ่านทางออนไลน์ ดาวน์โหลดไฟล์เพลง เสียงไว้ฟัง หรือจะเป็นการดาวน์โหลด E-Book ไว้อ่าน (กรณ๊ใน Slide ยกกรณีศึกษา Ebook ว่าเป็นเคสที่ประสบความสำเร็จมากๆ)

2. Customers have questions & ask at the library (ผู้ใช้บริการมีคำถามและต้องการถามที่เว็บไซต์ห้องสมุด)
เว็บไซต์ห้องสมุดควรมีบริการตอบคำถามออนไลน์เนื่องจาก เว็บไซต์ถือเป็นช่องทางที่ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อมาที่ห้องสมุดได้ง่าย

3. Customers need to know the normal stuff too (ผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลทั่วๆ ไปของห้องสมุดด้วย)
ข้อมูลปกติของห้องสมุดสำคัญมากเพราะบางทีผู้ใช้บริการก็ต้องการรู้เช่นกัน เช่น เบอร์โทรศัพท์ของห้องสมุด เวลาเปิดปิดของห้องสมุด นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการยืมคืน การสมัครสมาชิก ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องมีบนเว็บไซต์ห้องสมุด

4. Websites need actual staff! (เว็บไซต์ต้องการผู้ให้บริการเช่นกัน)
บางห้องสมุดอาจจะมองว่าการทำเว็บไซต์เป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ แต่เรื่องของการดูแลเขาก็ปล่อยปะละเลย ไม่อัพเดทเว็บไซต์เลย ดังนั้นเว็บไซต์ของห้องสมุดจำเป็นที่จะต้องมีคนดูแลและให้บริการเช่นกัน จงคิดซะว่าเว็บไซต์ของห้องสมุดก็เสมือนสาขาย่อยของห้องสมุดจริงๆ ด้วย

5. Have Goals! (มีเป้าหมาย)
การมีเว็บไซต์ห้องสมุดต้องมีเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่สักแต่ว่ามีเว็บไซต์และก็ปล่อยเว็บไซต์ให้เป็นไปตามยถากรรม การกำหนดตัวชี้วัดจะทำให้เกิดการพัฒนาและการตื่นตัวในการบริการต่างๆ เครื่องมือที่แนะนำ คือ การจัดเก็บสถิติคนเข้าออกของเว็บไซต์ห้องสมุด

6. Reach beyond your webbish boundaries (เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเว็บไซต์ห้องสมุดของคุณให้มากขึ้น)
การมีเว็บไซต์ห้องสมุดแล้วไม่ประชาสัมพันธ์หรือไม่ทำให้คนนอกรู้จัก มันช่างน่าเสียดายนัก ปัจจุบันโลกของ Social Media เข้ามามีผลต่อการเข้าถึงเว็บไซต์มากมาย ดังนั้นคุณก็สามารถใช้ช่องทางเหล่านั้นได้ด้วย เช่น Facebook Twitter และที่กำลังมาแรงก็คือ Pinterst ด้วย

7. Mobile-Friendly (เป็นมิตรกับอุปกรณ์สื่อสาร)
อันนี้แปลไทยแล้วอาจจะงงเล็กน้อย ขออธิบายแล้วกันนะครับ องค์ประกอบที่ 7 พูดถึงเรื่องการแสดงผลเว็บไซต์ห้องสมุดบนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet ก็ตาม เพราะปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากๆ และเร็วๆ นี้อาจจะมีจำนวนที่แซงคอมพิวเตอร์แบบพกพาก็ได้

นับว่าเป็นสไลด์ที่คอนข้างมีประโยชน์เลยทีเดียวใช่มั้ยครับ
เอาเป็นว่าก็ลองทำความรู้จักและเอาไปใช้กันดูนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอปิดบล็อกไว้แต่เพียงเท่านี้ อิอิ

ที่มาของความรู้นี้จาก http://www.slideshare.net/davidleeking/seven-essential-elements-to-an-awesome-library-website
ติดตามอ่านบล็อกของ David Lee King ได้ที่ www.davidleeking.com

เก็บตกบรรยากาศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2555

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 6 เมษายน) ผมได้มีโอกาสไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมา เดินชมนิทรรศการ เดินชมหนังสือลดราคา และแนวโน้มที่เกี่ยวกับหนังสือ วันนี้ผมจึงขอสรุปและลงภาพบรรยากาศในงานสัปดาห์หนังสือให้เพื่อนๆ ได้อ่านและชมกันครับ

เอาเป็นว่าภาพรวมที่เห็น คือ คนยังคงเยอะเช่นเดิม และร้านหนังสือมาออกบูธมากขึ้นด้วย (หรือปล่าว)
เพราะมีการเปิดโซนขายหนังสือด้านหน้าของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย (บริเวณที่ขึ้นมาจากรถไฟฟ้า)

เป้าหมายหลักๆ ของงานนี้ของผมอย่างแรก คือ บูธนิทรรศการกรุงเทพเมืองหนังสือโลก (World Book Capital)
เอาเป็นว่าช่วงที่ผมอยู่บูธก็มีการสัมภาษณ์คุณทราย เจริญปุระกันอยู่

เนื้อหาที่อยู่ในบูธก็น่าสนใจดี คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการอ่านในแบบต่างๆ
นอกเหนือจากห้องสมุดแล้ว การอ่านเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ เช่น ป้ายรถเมล์ สวนสาธารณะ บนรถเมล์ ห้องน้ำ ……

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งเรื่อง คือ roadmap การพัฒนาให้กรุงเทพเป็นเมืองหนังสือโลก

เมื่อออกจากบูธนี้แล้วด้านข้างๆ ของบูธนี้ คือ บูธนิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2555
เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว

อีกนิทรรศการที่น่าสนใจ คือ “นิทรรศการห้องสมุดหนังสือใหม่”
เป็นนิทรรศการที่รวบรวม แนะนำ และแยกหนังสือใหม่ออกเป็นหมวดๆ เพื่อง่ายต่อการหา
ที่ประทับใจในบูธนี้ คือ คนให้ความสนใจเยอะมาก “หยิบหนังสือมานั่งอ่านได้ตามอัธยาศัย” จริงๆ

นิทรรศการที่ตามกระแสอีกเรื่อง คือ “นิทรรศการหนังสืออัญมณีแห่งอาเซียน”
รวบรวมหนังสือซีไรท์ของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน
แถมให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างๆ ไว้ด้วย

ตรงข้ามกันเป็น “นิทรรศการหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

หลังจากชมนิทรรศการในส่วนต่างๆ แล้ว ผมก็ได้เดินชมภาพรวมของงานหนังสือ
ทุกบูธคึกคักมาก อาจเพราะเป็นวันหยุดคนเลยเยอมากกว่าเดิมอีก

ส่วนไอเดียและหัวข้อที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ “Ebook”
ต้องบอกว่าถ้าใครได้สังเกตจะพบว่ามีการโปรโมทเรื่อง Ebook มากขึ้น

มีบูธนึงที่นำเสนอเรื่องนี้ “Ebook Showcase @ Thailand”
ในบูธนี้จะมีการแนะนำ app ที่ใช้ในการอ่านและโหลด Ebook ซึ่งมีอยู่หลาย App เลยทีเดียว
ซึ่งที่เห็นเดี๋ยวนี้ร้านหนังสือใหญ่ๆ ก็เปิดตัว App กันเองเพียบเลย เช่น Se-ed, naiin, asia book

ที่เห็นๆ อีกอย่าง คือ การจำหน่ายเครื่อง Kindle ในงาน
แถมราคาก็ไม่แพงมากด้วย เห็นแล้วอยากได้สักเครื่อง แต่ไม่เอาดีกว่า อิอิ

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นภาพและบทสรุปที่ผมได้จากการเดินในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินะครับ
เพื่อนๆ ที่ไปงานนี้เอาเรื่องมาแชร์กันบ้างนะครับ ใครได้หนังสืออ่านบ้างก็เข้ามาเล่าได้

ก่อนจากกันของรวมภาพบรรยากาศทั้งหมดไว้ให้ชมนะครับ
ภาพบรรยากาศทั้งหมดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

[nggallery id=55]

สรุปการบรรยาย สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด

เมื่อวันอาทิตย์ที่มา (วันที่ 25 มีนาคม 2555) ผมได้รับเกียรติให้ไปเป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด” ซึ่งจัดโดยห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสุมดแห่งประเทศไทยฯ ตามธรรมเนียมครับที่ผมจะต้องมาสรุปงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://www.libraryhub.in.th/2012/02/28/workshop-facebook-for-library-service/

การบรรยาย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
– ช่วงเช้า เน้นทฤษฎี ความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และแนะนำการใช้งาน Facebook เบื้องต้น
– ช่วงบ่าย เน้นการปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การสมัครใช้งาน Facebook การปรับแต่งหน้าตา และเครื่องมือที่ไม่ควรพลาด

ปล. สื่อสังคมออนไลน์มีมากมาย แต่หลักๆ วันนั้นผมลงรายละเอียดที่ Facebook Fanpage เป็นหลัก

Slide ที่ผมใช้บรรยายมีจำนวน 3 Slide ประกอบด้วย
1. เปิดมุมมองห้องสมุดในต่างประเทศ
2. พฤติกรรมของผู้ใช้ห้องสมุด “ระดับนักศึกษา” 2005-2010 (ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากยังไม่สมบูรณ์)
3. Facebook Fanpage สำหรับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์

ผมขอสรุปไปทีละ Slide เลยแล้วกันนะครับ เพื่อที่ว่าเพื่อนๆ จะได้เปิด  Slide และดูตามไป

1. เปิดมุมมองห้องสมุดในต่างประเทศ

Slide ชุดนี้ผมอยากให้ผู้ที่เข้าฟังการบรรยายได้รู้จักคำศัพท์และเครื่องมือต่างๆ กันสักหน่อย ซึ่งได้แก่ Blog, Wiki, IM, Tag, Widget, Library Search, RSS, Flickr, Ning, Facebook, Slideshare, Youtube, Scribd, Spokeo, Zoomii, Zotero, Yahoo Pipe, Bibme

2. พฤติกรรมของผู้ใช้ห้องสมุด “ระดับนักศึกษา” 2005-2010 (ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากยังไม่สมบูรณ์)

3. Facebook Fanpage สำหรับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์

Slide ชุดนี้เป็นเนื้อหาหลักของการบรรยายในวันนั้นเลย (จริงๆ เป็นสไลด์ชุดเดียวกับที่ผมบรรยายที่โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ซึ่งเพื่อนๆ สามารถอ่านได้จาก http://www.libraryhub.in.th/2012/02/16/facebook-fanpage-for-thai-junior-encyclopedia-project/) แต่ผมขอเอามาสรุปอีกครั้งก็แล้วกัน

เรื่องของความหมายของ Facebook คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วเนื่องจากผู้ที่เข้าอบรมทุกคนใช้ Facebook กันอยู่แล้ว

รูปแบบการใช้ Facebook ในปัจจุบัน เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. Profile
2. Group
3. Page

แต่ละแบบใช้งานและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ในวงการห้องสมุดเมืองไทยก็มีความเข้าใจในเรื่องการใช้ Facebook กันผิดประเภทหลายแห่ง
ส่วนใหญ่มักจะสมัครใช้ Facebook ในแบบ Profile จำนวนมากเนื่องจากสมัครง่าย
แต่หลายๆ คนลืมคิดถึงข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว จำนวนสมาชิก การวัดผลการใช้งาน…

ดังนั้นข้อสรุปแล้ว ผมจึงนำเสนอให้ ห้องสมุดใช้แบบ Page จะดีกว่า เพราะ
ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้เล่น Facebook) จำนวนสมาชิกที่ไม่จำกัด และการวัดผลที่ชัดเจน

ตัวอย่าง Facebook Fanpage ในวงการห้องสมุดที่น่าสนใจ
– Tkpark อุทยานการเรียนรู้ (http://www.facebook.com/tkparkclub)
– Thailand Creative & Design Center (TCDC) (http://www.facebook.com/tcdc.thailand)
– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ความรู้กินได้ (http://www.facebook.com/Ubonpubliclibrary)
– เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย (http://www.facebook.com/THLibrary)
– Thammasat University Libraries (http://www.facebook.com/pages/Thammasat-University-Libraries/100107346702609)

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ Facebook Fanpage
1. คอยอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดใหม่ให้ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ อยากปล่อยให้ข่าวไม่อัพเดทเกิน 1 เดือน
2. หากผู้ใช้บริการขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดหรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ขอต่ออายุการยืมหนังสือ ห้องสมุดไม่ควรปฏิเสธ
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการด้วย อย่าเงียบหายหรือละเลย พยายามตอบและให้บริการด้วยความเร็ว
4. ไม่นำเรื่องราวพฤติกรรมที่แย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลงในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ของห้องสมุด
5. พยายามพูดคุยหรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในห้องสมุดเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์บ้าง
6. การจัดกิจกรรมในห้องสมุดทุกครั้งควรนำมาลงในเว็บไซต์ห้องสมุดและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดตามข่าวสารของห้องสมุด

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงบทสรุปแบบคร่าวๆ ในวันนั้นนะครับ
ก่อนปิดบล็อกวันนี้ ผมขอขอบคุณ บริษัท Mercuri Data ด้วยนะครับที่สนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้

ภาพการอบรมในวันนั้นผมลงให้แล้วใน Facebook เพื่อนๆ สามารถเข้าไปชมภาพบรรยากาศได้เลยที่
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.352474518127142.74790.196587720382490&type=1

แล้วอย่าลืมมากด Like เป็น Fanpage ของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ด้วยนะครับ http://www.facebook.com/THLibrary

ภาพบรรยากาศการอบรมในวันนั้นทั้งหมด

[nggallery id=54]

บรรณารักษ์ต้องไม่พลาดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2555

มาแล้วคร้าบ!!!! งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานหนังสือที่หลายๆ คนรอคอย งานที่เพื่อนๆ จะได้พบกับหนังสือและกิจกรรมการอ่านที่น่าสนใจมากมาย วันนี้ผมขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนเพื่อนๆ มางานนี้ก็แล้วกันนะครับ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2555
ชื่องานภาษาไทย : งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 10 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Bangkok International Book Fair 2012 and National Book Fair 2012
วันที่ในการจัดงาน : 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2555 เวลา 10.00-21.00 น.
สถานที่จัดงาน : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้จัดงาน : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ธีมงานของปีนี้ : การอ่านคือการพัฒนาชีวิต (Read for Life)
อาทิตย์หน้านี้แล้วนะครับเพื่อนๆ ชาวบรรณารักษ์ ทำไมผมถึงอยากให้เพื่อนๆ มางานนี้ นะหรอ!!!! อืม เอางี้ดีกว่า ขอแบบสั้นๆ เลย คือ “Show Share Shop” แล้วกัน
Show – มาดูงานหนังสือ กิจกรรมในงาน นิทรรศการในงาน
Share – มาดูว่าวงการสำนักพิมพ์กันสิว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว แล้วเอามาต่อยอดกับวงการห้องสมุดของเรา
Shop – แน่นอนครับว่ามาซื้อหนังสือ
กิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เช่น
– นิทรรศการห้องสมุดหนังสือใหม่
– กิจกรรม “นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ” โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
– นิทรรศการกรุงเทพเมืองหนังสือโลก (World Book Capital)
– นิทรรศการแสดงผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2555 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
– นิทรรศการหนังสืออัญมณีแห่งอาเซียน
– นิทรรศการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ E-Book @ Thailand
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
– นิทรรศการหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นี่แค่ตัวอย่างนิทรรศการหลักๆ ในงานนี้นะครับ กิจกรรมที่เกี่ยวกับหนังสือยังมีอีกมากครับ เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.bangkokibf.com/seminar.php นะครับ
เอาเป็นว่าผมคงไม่ต้องบรรยายความยิ่งใหญ่ของงานนี้หรอนะครับ
เพราะเพื่อนๆ ก็คงได้ยินข่าวกันอยู่ทุกปี เอาเป็นว่าไปเจอกันในงานแล้วกันนะครับ

อ่านอะไรดี : ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน

ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องห้องสมุดกับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เยอะมาก และคำถามนึงที่เพื่อนๆ ถามมาเยอะ คือ “บรรณารักษ์ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง” ผมก็แนะนำไปหลายๆ อย่างแต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องย้ำ คือ ภาษาอังกฤษ และวันนี้ผมขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับ “ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์”


ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่องภาษาไทย : ภาษาอังกฤษสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : English for Public Librarians
จัดพิมพ์โดย : โครงการวิจัยการพัฒนาชุดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปีพิมพ์ : 2552
จำนวนหน้า : 406 หน้า
ISBN : 9786115050086

โจทย์การพัฒนาบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนให้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นโจทย์ที่ท้าทายผมมาก
ดังนั้นผมจึงต้องค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือสอนภาษาอังกฤษ การฝึกอบรมด้านภาษา ฯลฯ
ซึ่งการค้นพบหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ครับ จึงต้องเอามาเขียนลงบล็อกให้ได้

หนังสือเล่มนี้อย่างที่ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่าเป็นของ มสธ. นั่นแหละครับ
ผมจึงตามไปที่ มสธ. และถามหาหนังสือเล่มนี้ ซึ่งรู้มาว่า มีหนังสือเล่มนี้อยู่จริง แต่ไม่มีจำหน่าย
ดังนั้นผมจึงต้องเสาะหามาให้ได้เพื่อนำมาศึกษา ซึ่งต้องขอขอบคุณอาจารย์น้ำทิพย์มากๆ ที่กรุณาให้ผมนำมาศึกษา

ภายในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
หน่วยที่ 1 Welcoming Visitors
หน่วยที่ 2 Reading for Professional Development
หน่วยที่ 3 Writing for Professional Development

ในแต่ละส่วนเน้นทักษะที่ไม่เหมือนกัน เช่น

หน่วยที่ 1 ที่เกี่ยวกับการต้อนรับผู้ใช้บริการ จะเป็นบทที่เน้นการสนทนา (พูด) เป็นหลัก ซึ่งในบทนี้ที่ผมชอบมากๆ คือ มีสคริปส์ให้อ่านด้วย ประมาณว่าถ้ามีผู้ใช้บริการเข้ามาที่ห้องสมุด สามารถอ่านบทสคริปส์ตามนี้ได้เลยทีเดียว ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
1.1 การกล่าวต้อนรับผู้ใช้บริการ
1.2 การนำชมห้องสมุดในส่วนต่างๆ
1.3 คำถามจำพวก FAQ และการกล่าวขอบคุณและอำลาผู้เยี่ยมชม

หน่วยที่ 2 เน้นทักษะการอ่านเป็นหลัก ซึ่งบรรณารักษ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น การอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ หรือการอ่านข้อมูลที่เกี่ยวกับห้องสมุด ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
2.1 การอ่านข้อมูลสารสนเทศ เช่น ข่าว เว็บไซต์ห้องสมุด
2.2 การอ่านที่เกี่ยวกับงานห้องสมุด เช่น catalog
2.3 การอ่านที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ

หน่วยที่ 3 เน้นทักษะการเขียนเป็นหลัก ซึ่งการเขียนเป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะใช้สื่อสารกับผู้ใช้บริการหรือการติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายห้องสมุดอื่นๆ ในต่างประเทศด้วย ในหน่วยนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ อีก เช่น
3.1 การติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ เช่น จดหมาย เอกสารต่างๆ
3.2 การติดต่อผ่าน E-mail
3.3 การเขียนแบบฟอร์มต่างๆ

เอาเป็นว่าน่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยครับ เอาเป็นว่าก็ลองหามาอ่านกันบ้างแล้วกัน

หนังสือเล่มนี้หายากมากครับ เพราะทำออกมาจำกัด แต่ในช่วงนั้นได้ยินว่ามีหลายห้องสมุดได้รับและเข้าอบรมเรื่องนี้กันไปแล้ว คำแนะนำของผมง่ายๆ คือ หยิบออกมาทบทวนกันบ้างนะครับ ส่วนใครที่ยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ ขอให้รอสักครู่ ผมจะนำมาเล่าให้อ่านในบล็อกเรื่อยๆ แล้วกันครับ

ปล. หนังสือเล่มนี้ต้องขอขอบคุณ อาจารย์น้ำทิพย์ วิภาวิน ที่กรุณาให้ผมยืมอ่านและนำมาถ่ายเอกสารครับ