กรณีศึกษา : การพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน

จากวันก่อนที่ผมพูดถึงหนังสือเรื่อง “Digital Library Futures” ผมรู้สึกสนใจเกี่ยวกับบทความที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มากมาย วันนี้ผมขอยกตัวอย่างมาสักบทหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องกรณีศึกษาความสำเร็จของการดำเนินการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลของประเทศจีน

ชื่อบทความต้นฉบับ : To make a better digital library – some collaborative efforts in China
แปลเป็นภาษาไทย : การทำให้ห้องสมุดดิจิทัลดีขึ้น : ความพยายามในการสร้างความร่วมมือในประเทศจีน

ผมขอเก็บประเด็นต่างๆ จากบทความนี้มาเล่าให้ฟังนิดหน่อยแล้วกันครับ

เริ่มจากเรื่องของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลระดับประเทศของจีน ซึ่งจริงๆ แล้วหน่วยงานระดับสูงของจีนก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญมานานพอสมควรแล้วโดยจัดตั้งหน่วยงานต้นแบบและพัฒนามาจนถึงห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนเลยทีเดียว

ประวัติความเป็นมาแบบย่อๆ มีดังนี้
– 1997 เริ่มจัดตั้งโครงการห้องสมุดดิจิทัลจีนต้นแบบขึ้น
– 1998 มีการจัดตั้ง CALIS (China Academic Library & Information System)
– 1999 มีการจัดตั้ง NSDL (National Science Digital Library)
– 2000 มีการจัดตั้ง NSTL (National Science and Technology Library)
– 2001 มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน (National Digital Library of China)

หลังจากที่มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนขึ้นมาแล้ว ทางการจีนก็ได้ทำความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริการในการจัดทำโครงการห้องสมุดดิจิทัลร่วมกันด้วย หรือที่เรียกว่า โครงการ CADAL (China-US Million Book Digital Library project)

ในช่วงเริ่มต้นของโครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล ก็ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเช่นกัน โดยหลักๆ แล้ว จะเป็นเรื่องของการทำ Digitisation ซึ่งข้อมูลบางอย่างมีความซ้ำซ้อนกันจนทำให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

สิ่งที่ต้องคิดเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลในคลังข้อมูลของห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ นั่นคือ “มาตรฐานข้อมูล” ทางการจีนจึงได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างข้อมูลและชุดข้อมูลกลางขึ้น แล้วจัดตั้งเป็นคณะกรรมการกลางซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานดังนี้
– NLC (National Library of China)
– NCIRSP (National Cutural Information Resources Sharing Project)
– CALIS (China Academic Library & Information System)
– Shanghai Library
– NSL (National Science Library)
– Library of Party School of the Central Committee of C.P.C
– Library of National Defense University
– Zhejiang University Library

การประชุมเพื่อการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลและการให้บริการในจีน ดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้ง

บทสรุปของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีน
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนควรมีการกำกับจากหน่วยงานระดับสูงในจีน
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลเน้นการแบ่งปันความรู้และความร่วมมือกันสร้างความรู้
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติควรเปิดกว้าง (ไม่ใช่แค่สร้างโปรแกรม แต่ต้องพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ ให้รองรับด้วย)
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนเน้นการสร้างชุมชนและความร่วมมือ

เอาเป็นว่าบทความนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกันครับ
บทความอื่นๆ จะเป็นอย่างไรไว้ผมจะสรุปมาให้อ่านอีกนะครับ

อ่านอะไรดี : “Digital Library Futures” อนาคตห้องสมุดดิจิทัล

สวัสดีเรื่องแรกของบล็อก Libraryhub ปี 2555 ก่อนอื่นคงต้องสวัสดีปีใหม่เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์สักหน่อย และขออวยพรให้ทุกๆ ท่านพบแต่ความสุขและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคน

เอาหล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า วันนี้ผมจะมาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่าได้สาระค่อนข้างดีเล่มหนึ่ง เป็เรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล หรือทิศทางของห้องสมุดในยุคไซเบอร์เลยก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยเกี่ยวกับ “อนาคตของห้องสมุดดิจิทัล” ซึ่งเน้นในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังและการปรับกลยุทธ์ของห้องสมุดดิจิทัล

ปล. หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มนะครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Digital Library Futures : User perspectives and Institutional strategies
บรรณาธิการโดย : Ingeborg Verheul, Anna Maria Tammaro and Steve Witt
สำนักพิมพ์ : IFLA Publication
ISBN : 9783110232189
จำนวนหน้า : 150 หน้า


ข้อมูลทั่วไปจากเว็บไซต์ของ IFLA

http://www.ifla.org/publications/ifla-publications-series-146

เอาหล่ะครับ อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยและงานวิชาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล
ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละเรื่องของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เนื้อหาที่เรียงร้อยกัน (เลือกอ่านแต่เรื่องที่สนใจได้ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม)

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)
3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)

ในแต่ละส่วนก็จะประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ดังนี้
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
– The Virtual Scholar : the Hard and Evidential Truth
– Who are the Users of Digital Libraries, What do they Expect and want?
– A Content Analysis on the Use of Methods in Online User Research


2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)

– A Pianist’s Use of the Digitised Version of the Edvard Grieg Collection
– When is a Library NOT a Library?

3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)
– To Make a Better Digital Library – Some Collaborative Efforts in China
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge : the World Digital Library Perspective
– Digital Library Futures : Pressures on the Publisher-Librarian Relation in the Era of Digital Change

นอกจากส่วนเนื้อหาแล้วยังมีส่วนที่สรุปข้อมูลทั้งหมดและประวัติของผู้เขียน (วิทยากร) ด้วย
ซึ่งทำให้เราได้เห็น background ของผู้เขียน (วิทยากร) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการห้องสมุดดิจิทัลมาก่อน

เอาเป็นว่าผมเองก็อ่านไปได้บางส่วน (คงไม่ได้อ่านทั้งเล่มแหละ) แต่เลือกเรื่องที่อยากจะอ่านไว้แล้ว
ไว้ถ้ามีเวลาว่างจะเอาบางเรื่องมาเขียนเป็นบล็อกเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกทีแล้วกันครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน เดี๋ยวจะเอาหนังสือในกลุ่ม “ห้องสมุดดิจิทัล” ที่ผมอ่านมาแนะนำอีก ไว้เจอกันคราวหน้าครับ…

ปล. หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อมานะครับ แต่ยืมมาจาก TKpark ใครสนใจก็ลองมาหยิบยืมจากที่นี่แล้วกัน

Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ

เพื่อนๆ จำกันได้หรือปล่าว ว่าเมื่อเดือนที่แล้วผมทำแบบสำรวจเรื่องพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเพื่อนๆ (ลองอ่านดูย้อนหลังได้ที่ Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน) ในบทความนั้นผมสัญญาไว้ว่าจะนำผลการสำรวจมาทำเป็น Infographic ให้ชม ไปดูกันเลยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมขอสรุปจากแบบสำรวจเรื่องพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเพื่อนๆ อีกครั้งแล้วกัน ซึ่งมีข้อมูลดังนี้

– ผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 125 คน ซึ่งแบ่งเป็นเพศหญิง 96 คนและเพศชาย 29 คน

– หนังสือในกลุ่มบันเทิงคดี เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น การ์ตูน ได้รับความนิยมในการอ่านมากที่สุด รองลงมาเป็นหนังสืออื่นๆ ทั่วไป และนิตยสาร ส่วนหนังสือในกลุ่มหนังสือพิมพ์และตำราเรียนได้รับความนิยมในการอ่านน้อย (สาเหตุอาจจะมาจากการติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์รวดเร็วกว่าการติดตามผ่านสื่อสิ่งพิมพ์)

– ช่วงเวลาที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ช่วงเวลากลางคืน (ไม่ได้หมายความว่าอ่านหลังเที่ยงคืนนะครับ แต่เป็นการอ่านหลังจากการทำงานหรือเรียนแล้วกลับมาถึงบ้านตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป)

– นักอ่านก็ยังคงชอบการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่

เอาเป็นว่าผมก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ตอบแบบสำรวจในครั้งนี้นะครับ
ไว้วันหลังจะหาข้อมูลอะไรดีๆ แบบดีมาทำเป็น Infographic ให้ดูเล่นกันอีก

ปล. ภาพขยายได้นะครับถ้าคลิ๊กที่รูป นำภาพไปแล้วก็เครดิตให้ด้วยนะครับ

ข้อมูลตั้งต้นสามารถดูได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/2011/11/14/poll-libraryhub-reading-for-make-infographic/

หนังสือ ต้นคริสต์มาส กับเทศกาลส่งความสุข

ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปี บล็อกของผมก็มักจะนำเสนอรูปแบบการตกแต่งห้องสมุดด้วยหนังสือ (นำหนังสือมาทำเป็นต้นคริสต์มาส) ปีนี้ก็เช่นกันจะขอนำเสนออีกครั้ง

บล็อกของผมในปีก่อนๆ
ปี 2010 ไอเดียการจัดต้นคริสต์มาสในห้องสมุดทั่วโลก
http://www.libraryhub.in.th/2010/12/28/christmas-tree-in-top-world-library/

ปี 2009 เทศกาลคริสต์มาสกับชาวห้องสมุด
http://www.libraryhub.in.th/2009/12/01/christmas-in-library-begin/

และในปีนี้ห้องสมุดในเมืองไทยเราก็เริ่มทำต้นคริสต์มาสจากหนังสือแล้วเช่นกัน
ลองชมตัวอย่างดูได้ตามด้านล่างนี้เลยครับ (สำนักวิทยบริการฯ มรภ.เชียงใหม่)


ปล. ภาพนี้นำมาจากในกลุ่ม Librarian in Thailand นะครับ

เพื่อเป็นไอเดียสำหรับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดคนอื่นๆ ปีนี้ผมก็ขอนำเสนอรูปภาพต้นคริสต์มาสที่มาจากการเรียงหนังสืออีกเช่นเดิม แต่คราวนี้ขอมาเป็นแบบ slideshow นะครับ ดูไปเรื่อยๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน

Credit : http://www.flickr.com/photos/67718410@N04/

สุดท้ายนี้ต้องขออวยพรให้เพื่อนๆ ทุกท่านพบแต่ความสุขความเจริญถ้วนหน้าครับ
Merry Christmas and Happy New Year 2012

แนวคิดการออกแบบห้องสมุด – 10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด

วันนี้ขอนำบทความเก่าจากบล็อกเดิม projectlib มาเล่าใหม่สักนิดนะครับ
เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุดเยอะมาก

เรื่องๆ นี้ต้นฉบับมาจากเรื่อง “10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด (แนวความคิดในการออกแบบห้องสมุด)
ซึ่งผมแปลมาจากบทความ “Ten Things About What People Want

ซึ่งบทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อปี 2008 นะครับ โดย PLA (สมาคมห้องสมุดประชาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้ ALA

ดังนั้นแน่นอนครับว่าเป็นบทความที่เหมาะกับห้องสมุดประชาชนมากๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดประชาชนเป็นหลัก
โดยดึงรายละเอียดมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชน
บทความนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ผมขอแนะนำให้นักออกแบบอาคารได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ด้วย

10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด มีดังนี้

1. Comfortable places (soft furniture, fireplaces, lights)
สถานที่ต้องสะดวกสบาย เช่น มีการจัดเฟอร์นิเจอร์สวยงาม มีแสงไฟสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก

2. Meeting rooms and study rooms
มีห้องประชุมกลุ่ม และห้องที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้

3. Supported services (self-check out, drive-up windows, outside pick-up lockers)
มีการสนับสนุนในงานบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกของตัวผู้ใช้ เช่น บริการยืมคืนด้วยตัวเอง, ที่ฝากของหรือตู้ล็อกเกอร์เก็บของ

4. Food service (Vending is more practical than coffee shops)
มีบริการในส่วนอาหาร โดยอาจจะแยกมุมให้บริการต่างหาก

5. Multi-functional children’s areas (with special sized doors, murals)
มีมุมเพื่อกาศึกษาสำหรับเด็ก เช่น หนังสือเด็ก ของเล่นเด็ก

6. Teen friendly areas
มุมสำหรับวัยรุ่น (ไม่ต้องคิดลึกนะครับ มุมนี้เป็นมุมสำหรับทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกัน เช่น มีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฉายหนังในวันหยุดสุกสัปดาห์)

7. Retail-oriented merchandising (bookstore-like open face shelving)
นอกจากยืมคืนหนังสือ หรือบริการอ่านแล้ว ห้องสมุดควรมีส่วนที่เป็นการค้าด้วย เช่น ขายหนังสือที่น่าสนใจ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

8. Technology (unobtrusive stations, wireless patios, RFD checkout)
เทคโนโลยีในห้องสมุดก็ต้องมีความทันสมัยตามยุค หรือตามสังคมให้ทัน เช่นมีบริการ wifi, ใช้ชิป rfid

9. Good way finding (more than just good signs – good paths)
มีวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้หาหนังสือได้เร็วขึ้น เช่น ทำป้ายบอกหมวดหมู่ติดตามชั้นหนังสือให้ชัดเจน บอกรายละเอียดครบถ้วน

10. Sustainable environment (energy efficiency, green materials, pollution free)
ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น มุมไหนที่มีผู้ใช้น้อยก็อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง บางที่ผมเคยเห็นว่าเครื่องใช้บางอย่างใช้แผงโซล่าห์เซลล์ด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ ห้องสมุดที่เพื่อนๆ ทำงานอยู่มีลักษณะตามนี้หรือปล่าว
ถ้ามีนั่นก็หมายความว่า ท่านมีสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าไม่มีก็ลองดูสิครับว่าจะทำอะไรได้บ้าง (10 สิ่งนี้ห้องสมุดอาจจะไม่ต้องมีทั้งหมดก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรเป็นหลักครับ)

ที่มา http://plablog.org

พาชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติฉบับนายบรรณารักษ์พาเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวและเยี่ยมชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมา
จึงอยากแชร์ความคิดเห็นและนำเสนอรูปภาพภายในอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติให้เพื่อนๆ ได้เห็น

เพื่อนๆ หลายๆ คนคงทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้หอสมุดแห่งชาติได้มีการเปิดตัวอาคารใหม่ที่ได้จัดสร้างจนเสร็จและถยอยย้ายของ (หนังสือวิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย หนังสือหายาก เอกสารโบราณ) มาไว้ที่นี่จนเสร็จ

การเดินทางมาที่นี่ผมยังคงใช้รถเมล์โดยสารสาย 9 เช่นเคย (วงเวียนใหญ่ – หน้าหอสมุดแห่งชาติ)

หอสมุดแห่งชาติด้านหน้าเมื่อเรามองเขาไป เราก็ยังคงเห็นอาคารเดิมอ่ะครับ (อาคารใหม่อยู่หลังอาคารเก่า)
เมื่อผ่านประตู รปภ. ก่อนเข้าไปในอาคารเก่า ผมก็สะดุดกับป้ายที่อยู่ที่โต๊ะของพี่ รปภ. มีข้อความสรุปง่ายๆ ว่า

หอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่ราชการ ไม่อนุญาตให้คนที่แต่งกายไม่สุภาพเข้ามาใช้บริการ……” (อันนี้เดี๋ยวผมขอยกยอดไว้เขียนวิจารณ์คราวหน้านะ)

เข้ามาดูที่ตึกใหม่กันดีกว่า หลักๆ แล้วแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง

ชั้นที่ 1 บรรณารักษ์ในส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (งาน ISBN, CIP) + ห้องสมุดวชิรญาณ พื้นที่ลานเอนกประสงค์
ชั้นที่ 2 ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย
ชั้นที่ 3 ห้องบริการหนังสือหายาก
ชั้นที่ 4 ห้องจัดเก็บเอกสารโบราณ ตู้พระธรรม

หลักๆ ในวันนั้นผมลองเดินตรวจสอบจากชั้น 1 (ลานอเนกประสงค์) และ ชั้น 2 นะครับ (ชั้นอื่นๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดบริการอ่ะครับ)

การเดินทางเข้าไปที่อาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมีหลายวิธีครับ เช่น
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางห้องสมุดดนตรี
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางหอจดหมายเหตุ
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 1
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 2

ชั้น 1 วันอาทิตย์นี่แบบว่าอย่างเงียบเลย อาจเพราะว่าปิดไฟในลานอเนกประสงค์จึงทำให้มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนั่งเล่นละมั้ง เดินอยู่คนเดียวแบบว่าน่ากลัวมากๆ เลย แม้ว่าจะเป็นอาคารใหม่ก็เถอะแต่ดูเงียบมากๆ

ชั้น 2 เป็นห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการจะค้นวิทยานิพนธ์ เพื่อนๆ ก็ควรปฏิบัติดังนี้

“ค้นคว้าวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย โปรดค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือชั้น 2 อาคารเดิม และจดเลขหมู่หนังสือหรือรหัสเลขและปีพ.ศ. ก่อนเข้าใช้บริการชั้น 2 อาคารใหม่”

ข้อความที่ผมนำมาลงนี้เป็นข้อความที่มาจากคำแนะนำที่ทางหอสมุดแห่งชาตินำมาติดไว้ที่ชั้น 1 และหน้าประตูห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของอาคารใหม่ด้วย

ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าเพราะอะไร เอาเป็นว่าลองดูรูปนี้ครับ แล้วจะเข้าใจ

(ตึกใหม่แต่ระบบไอทียังไม่พร้อมครับ)

ภายในห้องวิทยานิพนธ์เข้าไปแล้วบรรยากาศดีกว่าอาคารเดิมเยอะมาก โต๊ะเก้าอี้เยอะมากๆ เลย ณ เวลาที่ผมเข้าไปนี้มีผู้ใช้บริการ 3 คน บวกบรรณารักษ์อีก 2 คน สรุปว่าห้องนั้นมีแค่ 6 คน (รวมผมด้วย) ห้องใหญ่บรรยากาศดี จริงๆ อยากให้มีการใช้เยอะๆ นะ จะได้คุ้มค่าไฟหน่อย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปอ่ะครับ

การใช้บริการห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. สืบค้นวิทยานิพนธ์ที่ต้องการ (ที่อาคารใหม่นี้จะเก็บวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 2547 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากต้องการฉบับเก่ากว่านี้ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขตลาดกะบัง เฉลิมพระเกียรติ)
2. กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการ (ใส่ชื่อ-นามสกุลผู้ที่ขอยืม, เลขหมู่และปีของหนังสือ)
3. รอบรรณารักษ์ไปหยิบ
4. แลกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่เคาน์เตอร์
5. นำไปใช้ได้เลย
6. นำมาคืนที่เคาน์เตอร์เพื่อแลกบัตรคืน

หนังสือวิทยานิพนธ์ที่จัดเก็บที่นี่มีการลงเลขหมู่ในลักษณะนี้
ตัวอย่าง 054/51 = หนังสือวิทยานิพนธ์ปี 2551 เล่มที่ 54

เอาหล่ะครับวันนี้ก็ขอ Review เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก
วันหลังจะกลับมา Review แบบละเอียดอีกทีนึงแล้วกัน เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมในส่วนดีและขอติเพื่อปรับปรุงในส่วนที่ต้องเสริม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ

“เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงนามอนุมัติ ให้ก่อสร้างอาคารใหม่หอสมุดแห่งชาติด้วยงบประมาณ จำนวน 438,000,000 บาท (สี่ร้อยสามสิบแปดล้านบาท) และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2552 และเปิดให้ใช้บริเวณอาคารใหม่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554”

ชมภาพบรรยากาศอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด

[nggallery id=51]

อ่านอะไรดี : พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R

ช่วงนี้เห็นหลายๆ คน พูดถึงเรื่องความสำคัญของการอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ผมจึงขอแนะนำหนังสืออีกสักเล่มที่เกี่ยวกับการอ่านมาฝาก
ชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ คือ “พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R
สำนักพิมพ์ : สุวีริยาสาส์น
ISBN : 9789741329526
จำนวนหน้า : 152 หน้า
ปีพิมพ์ : 2551

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับการอ่าน และ ตัวอย่างแบบฝึก (แผนการสอนเรื่องการอ่าน)
บทที่ 1 และ 2 เป็นเรื่องทฤษฎีล้วนๆ พูดถึงความสำคัญของการอ่าน และเทคนิดการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
และตั้งแต่บทที่ 3 ไปจนถึงบทสุดท้ายจะเป็นเนื้อเรื่องตัวอย่างที่มีไว้ให้อ่าน ลองอ่านและทำแบบทดสอบดู

หลักๆ ที่ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านก็เพราะคำว่า “SQ3R” นั่นแหละครับ
พอได้อ่านและเข้าใจถึงแนวทางในการอ่านแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีความสำคัญมากๆ

เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าการวัดผลสำเร็จของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีอะไรบ้าง
หนังสือเล่มนี้รวบรวมจากนักวิชาการมาหลายคน เช่น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร, อาจารย์อรษา บุญปัญญา ฯลฯ

ตัวอย่างการวัดว่าผู้อ่านมีทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมากน้อยเพียงใด จะต้องดูจากสิ่งดังต่อไปนี้
– ความสามารถในการจำแนกประเภทของงานเขียน
– ความสามารถแยกแยะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น
– ความสามารถอธิบายความหมายของคำศัพท์ สำนวน อุปมา
– การตัดสินสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด
– การบอกจุดประสงค์ของผู้เขียน
– การจับแนวความคิดหลัก
– การจับน้ำเสียงหรือความรู้สึกของผู้เขียน
– การบอกโครงเรื่องหรือสรุปเรื่อง
– การประเมินคุณค่าของเรื่องที่อ่าน

เอาหล่ะครับ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว ผมจะได้อธิบายถึง หลัก SQ3R กันต่อเลย ว่ามันคืออะไรและย่อมาจากอะไร

การอ่านแบบ SQ3R ผู้ริเริ่ม คือ นายฟรานซิส พี โรบินสัน (ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ) เขาได้แนะนำเทคนิคนี้กับนักศึกษา ซึ่งการอ่านแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

SQ3R = S Q R R R = Survey, Question, Read, Recite, Review
มาดูฉบับแปลไทยโดยอาจารย์ฉวีลักษณ์กันสักหน่อย

Survey = การสำรวจ = สำรวจ ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ สารบัญ คำนำ รวมถึงแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการเขียน
Question = การตั้งคำถาม = การพิจารณาให้แน่ชัดว่าเราต้องการคำตอบอะไรจากการอ่าน
Read = การอ่าน = อ่านเพื่อให้ได้คำตอบตามที่ตั้งคำถามโดยมุ่งหารายละเอียดเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในคำถาม
Recite = การจดจำ = เมื่อได้รับคำตอบแล้วควรมีการจดบันทึกไว้เพื่อเตือนความจำ
Review = การทบทวน = ต้องหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงบทสรุปที่ผมอยากให้อ่านก็เท่านั้นนะครับ ถ้าอยากอ่านแบบเต็มๆ ก็หาอ่านได้ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด หรือไม่ก็ห้องสมุดต่างๆ ก็น่าจะต้องมีหนังสือเล่มนี้นะครับ

เอาเป็นว่าผมก็ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ให้เพื่อนๆ อีกสักเล่มหนึ่งแล้วกันนะครับ
อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องอ่านและคิดวิเคราะห์ได้ด้วยถึงจะทำให้เรารู้จริง

อ่านอะไรดี : 20 คมคิด ฝ่าวิกฤตการอ่าน

แนะนำหนังสือดีๆ มาพบกับเพื่อนๆ อีกแล้วนะครับ ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะมากๆ เลยเนื่องจากอ่านเพื่อให้หายเครียดเรื่องน้ำท่วมอ่ะครับ (แอดมินกลายเป็นผู้ประสบภัยไปซะแล้ว) เมื่อวานเขียนเรื่อง “Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน” ดังนั้นวันนี้จึงขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่อง “การอ่านหนังสือ” แล้วกันครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : 20 คมคิด ฝ่าวิกฤตการอ่าน
สำนักพิมพ์ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ISBN : 9786167197296
จำนวนหน้า : 63 หน้า
ปีพิมพ์ : 2552


หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมมุมมองและข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมการรักการอ่านจากบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่และเกี่ยวข้องกับการอ่าน

เอาเป็นว่าแต่ละคนกล่าวอะไรไว้บ้าง ลองอ่านได้เลยครับ (ปล. ตำแหน่งของบุคคลหลายๆ คนเป็นตำแหน่งในช่วงปี 2552 นะครับ)

1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : นายกรัฐมนตรี
“การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรงพลังสำหรับมวลมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งสำหรับคนทุกคน”

2. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
“การเติมเต็มการศึกษาตลอดชีวิต ให้ประชาชนมีความสามารถในการอ่าน การแสวงหาความรู้ เข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา จากสื่อและวิธีการที่หลากหลายในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

3. ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ : อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
“รัฐบาลทุกชุดต้องทำเรื่องนี้ เพราะนโยบายรักการอ่านสำคัญมาก และคนในสังคมต้องเข้าใจว่า สังคมดีขึ้นต้องมาจากการศึกษาดี คุณภาพการศึกษาดี ต้องอ่านและเขียน เพราะนี่คือทักษะสำคัญในการครองชีพ”

4. ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล : ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
“ถ้าเราส่งเสริมการอ่านอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีหนังสือดีๆ อะไรให้อ่าน ก็ไม่เกิดผล แต่ในขณะเดียวกันหากมีหนังสือออกมากองจำนวนมาก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการอ่าน หนังสือก็จะกองอยู่อย่างนั้น ไม่มีคนอ่าน ทั้งนี้หนังสือจะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อได้รับการจับต้อง ได้รับการอ่าน”

5. คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต : นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
“รัฐบาลต้องมีนโยบายการอ่านแบบครบวงจร คือ ส่งเสริมให้มีนักเขียนที่ดี ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์สามารถจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณภาพ และมีช่องทางในการจำหน่ายที่กระจายไปอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดโรงเรียน มีกิจกรรมซึ่งสามารถจูงใจให้เด็กเข้าห้องสมุด รวมทั้งดึงเอาคนในชุมชนมาช่วยกันทำงานในห้องสมุด”

6. ชมัยภร แสงกระจ่าง : นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
“ทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น จัดกลุ่มนักอ่าน อ่านแล้วเล่าสู่กันฟัง สร้างครอบครัวรักการอ่าน สร้างมุมการอ่านทุกที่ทุกเวลา ทำให้หนังสือราคาถูกและดี การยกย่องและให้กำลังใจนักอ่านและนักเขียนให้มากกว่าดารา”

7. ริสรวล อร่ามเจริญ : นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
“ทุกวันอาทิตย์ในรายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชน ควรให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวว่า ผู้นำประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่าน”

8. ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน : นายกสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย
“ภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดพลังทางสังคม ควรจะต้องสร้างนโยบายหลักเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยว่าต้องการให้เป็นเช่นใด”

9. เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป : กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
“การอ่าน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ การสร้างนิสัยรักการอ่านจึงต้องทำในทุกกลุ่มอายุ คือ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป”

10. ผาณิต เกิดโชคชัย : ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์การเรียนรู้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การใช้นโยบายภาษีในเชิงส่งเสริมผู้ประกอบการที่สัมพันธ์กับการอ่าน เพื่อให้มีต้นทุนที่เหมาะสมและเอื้อให้ผู้ซื้อมีอำนาจเป็นเจ้าของหนังสือหรือสื่อเรียนรู้เป็นของตนเองได้”

11. พฤหัส พหลกุลบุตร : ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา กลุ่มมะขามป้อม
“เด็กต้องเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมเองจึงจะมีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเขาทำให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นรูปธรรมจริงๆ และยั่งยืน”

12. ทศสิริ พูลนวล : บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
“รัฐต้องเริ่มจากแผนพัฒนาทุนมนุษย์ ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ในอีกกี่ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องการประชากรที่มีทักษะชีวิตด้านใดบ้าง ประชากรของประเทศต้องพึ่งพาตนเองได้ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ซึ่ง “การอ่าน” อยู่ในฐานะเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด”

13. จรัญ มาลัยกุล : มูลนิธิกระจกเงา
“ผู้ใหญ่เองก็ต้องอ่านด้วย อย่าไปคิดแค่ให้เด็กอ่านเท่านั้น ผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงว่าการอ่านนั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ไม่ใช่ปัญหาของเด็ก”

14. เข็มพร วิรุณราพันธ์ : ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สสส.
“การอ่านควรเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ควรแทรกอยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งบูรณาการอยู่ในหลายๆ เรื่อง ไม่ควรแยกออกไปต่างหาก เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็ก ถ้าจะทำยุทธศาสตร์เพื่อเด็ก การอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลให้ได้”

15. ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ : สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ (สพร.) สำนักงาน กศน.
“ทุกๆ หน่วยของสังคมต้องช่วยกันสร้างกระบวนรัการอ่าน และควรที่จะสร้างค่านิยม “การอ่าน” ให้เป็นคุณลักษณะจำเป็นขั้นพื้นฐาน”

16. ดร.กมล รอดคล้าย : ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
“ส่งเสริมการอ่านโดยระดมสรรพกำลัง ทำให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลยุทธ์นอกกรอบ คือ มีนวัตกรรม เทคนิค วิธีการรูปแบบใหม่ๆ ที่จูงใจคนให้อ่านหนังสือ โดยอาจศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับคนไทย”

17. ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม : ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
“การส่งเสริมการอ่านต้องเริ่มจากเด็กเล็กๆ ระดับปฐมวัย ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ Bookstart จึงอยู่ที่ความเข้าใจของพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็ก”

18. ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ : โครงการบริการวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
“ผู้ใหญ่ต้องช่วยดูแลให้เด็กอ่านหนังสือ หาหนังสือให้เด็กอ่าน ตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ปล่อยปละละเลย ซื้อหนังสือให้เด็ก แทนการให้เด็กเล่นแต่คอมพิวเตอร์”

19. สรวงธร นาวาผล : กลุ่ม We are happy
“หนังสือต้องอยู่ในใจเด็ก ให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จากการอ่านหนังสือ ได้เป็นเจ้าของ และมีความสุขกับหนังสือ โดยสร้างสุขภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านทั้งใน ครอบครัว และชุมชน”

20. วันทนีย์ นามะสนธิ : ผู้ช่วยกรรมการ สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
“ทุกคนในสังคมไทยประสานความร่วมมือกันสร้างสังคมแห่งการอ่าน อาทิ ผู้นำทางความคิด/ผู้นำทางสังคม มีนิสัยรักการอ่าน และเป็นต้นแบบอันดีให้กับเยาวชน และประชาชนในสังคม”

เป็นยังไงกันบ้างครับ ได้รับข้อคิดดีๆ เพียบเลยใช่มั้ยครับ
นี่แหละครับอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า สังคมไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับการอ่านอยู่นะครับ
ผมเองก็อยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆ ยิ่งอ่านมากภูมิคุ้มกันทางปัญญายิ่งมีมากเช่นกัน

ปล. หนังสือเล่มนี้สามารถยืมอ่านได้ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุด TK park นั่นเอง

Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน

วันนี้วันจันทร์คาดว่าหลายๆ คนคงยุ่งกับการทำงานมาก รวมถึงหลายๆ คนคงจะยุ่งกับเรื่องน้ำท่วมกันอยู่
วันนี้ผมขอใช้เวลาแบบสั้นๆ เพื่อขอเก็บข้อมูลเรื่องการอ่านของทุกๆ ท่านนะครับ


แบบสำรวจนี้ไม่ได้นำมาใช้เพื่อการวิจัยหรอกครับ เพียงแค่อยากรู้ว่าพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเพื่อนๆ เป็นอย่างไร
เอาหล่ะครับขอรบกวนแค่กดเลือกคำตอบที่เป็นพฤติกรรมการอ่านของท่านจริงๆ นะครับ คำถามก็มีไม่กี่ข้อดังนี้

1. เรื่องเพศกับการอ่านหนังสือ

[poll id=”21″]

2. ประเภทหนังสือที่ท่านอ่าน

[poll id=”22″]

3. ช่วงเวลาที่อ่านหนังสือ

[poll id=”23″]

4. ชอบอ่านจากสื่อประเภทใด

[poll id=”24″]

คำถามก็ง่ายๆ ใช่มั้ยครับ ยังไงก็รบกวนตอบกันสักนิดแล้วกันครับ

แบบสำรวจนี้ผมขอตั้งเวลาในการปิดรับข้อมูล 1 เดือนนะครับ (ปิดรับคำตอบ 20 ธันวาคม 2554)
เพื่อที่จะนำข้อมูลในบล็อกเรื่องนี้มาจัดทำเป็น Infographicให้เพื่อนๆ ดูครับ
(คล้ายๆ กับเรื่อง http://www.libraryhub.in.th/2011/11/09/graphic-designer-and-reading-habits-infographic/)

ขอบคุณทุกๆ ท่านมากครับ

เดี๋ยวนี้ห้องสมุดก็นำ Tablet มาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้กันแล้ว

หลายวันก่อนในกลุ่ม Librarian in Thailand ใน Facebook มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการนำ Tablet มาใช้ในห้องสมุด ว่ามีที่ไหนให้ใช้บริการบ้าง และให้ใช้บริการอย่างไร วันนี้ผมจึงขอนำตัวอย่างที่ห้องสมุด TK park มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ

จุดให้บริการ Tablet ของ TK Park จะอยู่ที่ห้อง MindRoom
และใช้ได้ในจุดที่กำหนดเท่านั้น นั่นคือ ห้อง Mindroom

เอาง่ายๆ คือไม่ได้มีไว้ให้ยืมออกครับ และที่ต้องกำหนดในมุม เท่านั้นเพราะเพื่อความปลอดภัยและการดูแลจากเจ้าหน้าที่

Tablet ที่ให้บริการ คือ Acer Iconia A100
ซึ่งใน TK Park มีให้บริการจำนวน 3 เครื่อง

ภายใน Tablet จะบริการเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย Content หลักๆ คือ
– TK E-Book ชุด “วัตถุเล่าเรื่อง”
– TK Audio Book หรือสื่อการเรียนรู้หนังสือเสียง
– TK Valuable Book หรือสื่อการเรียนรู้ชุด “ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน”
– TK Game Book
– TK eBook
– Read Me Egazine

ลองมาดูคลิปวีดีโอ Review กันหน่อยดีกว่าครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=_YN-_ootboY[/youtube]

เอาเป็นว่า ณ เวลา เที่ยงของวันอาทิตย์ที่ผมมาสังเกตการณ์อยู่ตอนนี้ ยังไม่มีผู้เข้ามาใช้ Tablet เลย
ดังนั้นใครที่สนใจอยากจะมาทดลองใช้ Tablet เพื่อการเรียนรู้ในห้องสมุดก็ขอเชิญได้นะครับ ที่อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park นั่นเอง

ปล. ห้องสมุดไหนที่มีโครงการจะจัดหา Tablet เพื่อนำมาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้ก็สามารถปรึกษาห้องสมุด TK Park ได้นะครับ