นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

นายห้องสมุดพาเที่ยวงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยทุกท่าน วันนี้นายห้องสมุดขอพาไปชมงาน “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9” นะครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องาน : “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9”
วันเวลาในการจัดงาน : เริ่มวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2555 – 16 กุมภาพันธ์ 2556 (ทุกวันเสาร์) เวลา 16.00-17.30 น.
จัดโดย : มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

งานเทศกาลนิทานในสวนจัดมาแล้วหลายปี กิจกรรมนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องและความน่าสนใจของงานนี้ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน งานเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่านิทาน รวมถึงการเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 5

สวนสาธารณะที่จัดงานนี้มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน ดังนี้
1. สวนลุมพินี (วันที่ 8, 15, 22 ธันวาคม 2555 และ 5 มกราคม 2556)
2. สวนรถไฟ (วันที่ 12, 19, 26 มกราคม และ 2 กุมภาพันธ์ 2556)
3. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (วันที่ 9, 16 กุมภาาพันธ์ 2556)

ภายในงานเทศกาลนิทานในสวนมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
– การแสดง (ละครนิทาน)
– แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน
– ลานเสวนา
– งานประดิษฐ์
– ป้ายนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่านิทาน
– หนังสือนิทานภาพที่น่าสนใจให้เด็กๆ และพ่อแม่หยิบอ่าน


ความประทับใจในงานนี้ของผม คือ
– ได้เห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มานั่งฟังนิทานและอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน
– ได้ข้อมูลและข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง
– กิจกรรมครอบครัวที่น่าสนใจ

ชมวีดีโอที่ผมถ่ายมาเป็นตัวอย่างงานได้ที่ http://socialcam.com/v/COBamROb

เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะถ่ายภาพกำหนดการของงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9 ให้เพื่อนๆ ได้ดูและถ้าว่างก็ลองมาเข้าร่วมงานดูนะครับ

ในวันที่ผมมานี้ได้มีโอกาสดูละครนิทานเรื่อง “บ้านหลังน้อยยามค่ำคืน” โดยกลุ่มนิทานกระดานหก ได้ฟังประสบการณ์ในการเล่านิทานจาก ผศ. รพินทร คงสมบูรณ์ (อาจารย์ภาคบรรณฯ จาก มศว.) แถมด้วยเสวนา “รักลูกให้ถูกทางอย่างพ่อแม่มืออาชีพ” โดย พญ. ปริชวัน จันทร์ศิริ

เอาเป็นว่ายังมีอีกหลายสัปดาห์ที่จัดนะครับ แนะนำให้มาลองฟังดูแล้วจะรู้ว่าน่าประทับใจจริงๆ

ภาพบรรยากาศในงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

[nggallery id=62]

นายห้องสมุดพาเที่ยวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ม.ศิลปากร

ไม่ค่อยได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดนานแล้ว วันนี้จัดให้สักทริปแล้วกันครับ สำหรับวันนี้เราจะเข้าไปชมห้องสมุดในมหาวิทยาลัยกันบ้าง ที่นั่นคือ “หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร” ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหอสมุดแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร
ที่อยู่ : เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : 034-255092 / โทรสาร : 034-255092
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclib/
บล็อกของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog
Facebook ห้องสมุด : http://www.facebook.com/suslib.sanamchandra

หมายเหตุ ภาพห้องสมุดผมถ่ายเอาไว้นานแล้ว ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปบ้างหรือปล่าว

วันที่ไปเยี่ยมชมห้องสมุดแห่งนี้ ผมได้เดินทางไปพร้อมกับคณะเยี่ยมชมจากชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (ชบอ.) ซึ่งวันเดินทางไปตรงกับวันเสาร์ แต่ด้วยการนัดหมายที่ดีจึงได้เจอรุ่นพี่ มอ. บรรณารักษ์ (พี่ปอง) มาให้คำอธิบายและนำชมห้องสมุด แบบว่าแอบดีใจที่ได้เจอรุ่นพี่คนนี้มากๆ ด้วย

กระบวนการแรกก่อนเดินชมห้องสมุด พี่ปองได้พูดถึงภาพรวมของห้องสมุด รวมถึงกิจกรรมที่หอสมุดแห่งนี้ได้จัด ผมเองก็ได้เปิดมุมมองในเรื่องกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ของที่นี่ด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์จากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
– กิจกรรมยืมไม่อั้น (ช่วงปิดเทอม)
– การเดินแบบแฟชั่นหนังสือ
– การตกแต่งรถสามล้อด้วยหนังสือ
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในงานองค์พระ (งานประจำปีของจังหวัดนครปฐม)

ภายในอาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ จริงๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 อาคารนะครับ
โดยอาคารแรกที่พวกเราเยี่ยมชมจะเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งการให้บริการดังนี้

อาคารชั้น 1 ประกอบด้วย
– รับฝากของ
– งานบริการยืม คืน (เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง)
– งานธุรการ
– หนังสืออ้างอิง
– โถงนิทรรศการ (ช่วงที่ไปมีการแสดงงานศิลปะด้วย)
– ร้านกาแฟ

อาคารชั้น 2 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
– วิทยานิพนธ์
– บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า
– บริการฐานข้อมูล
– ถ่ายเอกสาร
– ห้องน้ำ
– ทางเชื่อมไปอาคาร มล.ปิ่น มาลากุล

อาคารชั้น 3 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือเยาวชน
– ปริญญานิพนธ์
– ห้องน้ำ

อาคารชั้น 4
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส
– นวนิยาย
– ศูนย์ข้อมูลวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา
– ฝ่ายวิเคราะห์และทรัพยากรห้องสมุด

ส่วนอีกอาคารนึงก็คือ อาคาร มล.ปิ่นมาลากุล นั่นเอง (อันนี้ไม่ได้เยี่ยมชมทั้งตึก) ได้ชมแค่ชั้น 1 เอง เพราะเวลามีจำกัด แต่ก็ต้องบอกว่าแค่ชั้น 1 ก็สุดยอดแล้ว

ส่วนอื่นๆ ที่เดินดูแล้วชอบก็คงไม่พ้นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในห้องสมุด เพราะอ่านแล้วโดนใจมาก เช่น แก้กรรมด้วยการออกสื่อ …..

เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสจะไปอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลมาให้เพื่อนๆ อ่านอีก หวังว่าจะได้พบกันอีกเร็วๆ นี้นะครับพี่ปอง อิอิ
สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ และชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาด้วยนะครับที่เปิดโอกาสให้ผมไปเปิดหูเปิดตาบ้าง อิอิ

ภาพบรรยากาศหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ในกล้องผม

[nggallery id=61]

Libraryhub พาชมห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองยะลา

ช่วงนี้ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่บ่อยมาก และการลงพื้นที่ของผมก็ยังคงเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดอยู่ เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสไปที่จังหวัดยะลา จึงอยากนำเสนอห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา ให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา
ที่อยู่ : สำนักงาน กศฯ. จังหวัดยะลา 1 ถนนอาคารสงเคราะห์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://yala.nfe.go.th/lbckyala

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาเพิ่งเปิดให้ใช้บริการเมื่อต้นปี 2555

ลักษณะอาคาร : เป็นอาคารเอกเทศ มี 2 ชั้น
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย
– มุมหนังสือทั่วไป 000-999 , นวนิยาย
– มุมเด็กและครอบครัว
– มุมบริการอินเทอร์เน็ต
– มุมวารสาร / สิ่งพิมพ์
– ห้องนักเขียนเมืองยะลา

ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย
– ห้องใต้ร่มพระบารมี
– ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
– ห้องอาเซียนศึกษา


ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเด่นในหลายเรื่องซึ่งผมจะสรุปให้อ่านดังนี้

1. หน้าจอสืบค้นหนังสือแบบ touch screen
อันนี้ผมชอบเป็นการส่วนตัว โปรแกรมที่ใช้จริงๆ ก็เป็น PLS แต่อุปกรณ์ Hardware ของที่นี่เป็นเครื่องแบบระบบสัมผัสซึ่งใช้ง่ายพอควร

2. ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
ข้อมูลละเอียดดีและเป็นข้อมูลที่ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของเมืองยะลาได้ดีทีเดียว

3. ห้องอาเซียนศึกษา
แยกเป็นห้องเอกเทศมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนค่อนข้างครบ แถมด้วยการจัดห้องในลักษณะคล้ายๆ โรงภาพยนตร์ ซึ่งห้องนี้ใช้ประยุกต์ในการสอนภาษาได้ด้วย

4. พื้นที่บริเวณรอบนอกอาคาร
เป็นพื้นที่โล่งสามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้

5. นอกรั้วของห้องสมุด มีการจัดกิจกรรม “เรียนรู้ภาษาอาเซียน”
ซึ่งมีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์สัปดาห์ละคำ (สัปดาห์ที่ผมได้เป็น “คำขอบคุณ” ของทั้ง 10 ชาติอาเซียน)

เอาเป็นว่าพี่น้องที่อยู่แถวนั้นถ้ามีเวลาผมก็ขอแนะนำว่าเป็นห้องสมุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
ปล.อื่นๆ ก็คงเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไปผมไม่ขอบรรยายแล้วกัน

ชมภาพบรรยากาศห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาทั้งหมด

[nggallery id=59]

บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library

วันนี้นายห้องสมุดพาเที่ยวขอพาเพื่อนๆ ไปชมห้องสมุดในต่างประเทศบ้าง ซึ่งห้องสมุดที่ผมจะพาไปชมวันนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ห้องสมุดแห่งนี้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมมากๆ และห้องสมุดแห่งนี้ คือ “Bishan Public Library

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดแห่งนี้
ห้องสมุด : Bishan Public Library
ที่อยู่ : 5 Bishan Place, #01-01, Singapore 579841
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 21.00 น.
การเดินทาง : สถานีรถไฟฟ้า Bishan

อย่างที่เกริ่นไว้แหละครับว่าห้องสมุดนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาคารห้องสมุดเป็นเอกลักษณ์มากๆ แถมเป็นอาคารเอกเทศ (ห้องสมุดประชาชนของประเทศสิงคโปร์หลายแห่งมักอยู่ในห้างสรรพสินค้าและใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้า)

อาคารห้องสมุดประชาชน Bishan มี 5 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดิน – ห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน – หนังสือเด็ก
ชั้น 1 เป็นโซนวารสาร นิตยสาร และเคาน์เตอร์บริการยืมคืน
ชั้น 2 มุมหนังสือนวนิยาย บันเทิงคดี
ชั้น 3 มุมหนังสือสารคดี และหนังสือทั่วไป และหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์
ชั้น 4 มุมหนังสือเยาวชน และโซนมัลติมีเดีย

จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมประทับใจ คือ
– มุมอ่านหนังสือหรือช่องทำงานส่วนตัว (ช่องที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารมีลักษณะเป็นช่องๆ กระจกสี) ซึ่งที่นี่เรียกว่า pods

– พื้นที่โซนเด็กที่แยกออกจากโซนอื่นๆ ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
– การให้บริการยืมคืนหนังสือด้วยตัวเองผ่านตู้ Kiosk หน้าห้องสมุด (บริการ 24 ชั่วโมงจริงๆ)

– บริการบรรณารักษ์ตอบคำถาม แม้ว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์จะอยู่ที่ชั้น 1 แต่ในชั้นอื่นๆ ก็มีบริการถามบรรณารักษ์เช่นกัน โดยสามารถโทรภายในลงมาถามก็ได้ หรือจะถามผ่านระบบ FAQ ก็ได้

เอาเป็นว่าก็เป็นห้องสมุดที่ให้แง่คิดและไอเดียกับผมอีกแห่งหนึ่ง
ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมกันนะครับ

ชมภาพบรรยากาศที่ผมถ่ายมาได้ที่นี่

[nggallery id=57]

นายห้องสมุดพาชม พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน

นานๆ ทีจะมีโอกาสออกไปดูงานนอกสถานที่ วันนี้ผมมีอีกสถานที่นึงที่น่าสนใจมาฝาก
นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “The Jim Thompson House

สถานที่นี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น…
– เรือนไทยที่มีการผสมผสานของชีวิตความเป็นอยู่อย่างคนตะวันตก
– เรื่องราวของสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนี้
– ความเป็นมาและเรื่องราวความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านหลังนี้ (คุณจิม)
ฯลฯ


เรื่องราวชีวประวัติของคุณจิมทอมป์สัน (เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ
ตั้งแต่เรื่องของการก่อสร้างเรือนไทยหลังนี้ การทำงานของคุณจิม รวมถึงเรื่องของวงการอุตสาหกรรมผ้า
เรื่องที่คุณจิมหายสาบสูญนี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

การเดินในบ้านจิม (พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน) ครั้งนี้
จากเรื่องข้อมูลต่างๆ และรูปแบบของการจัดเรือนไทยทำให้ผมขนลุกอยู่ตลอดเวลา
(ที่ขนลุกนี้ไม่ได้หมายความว่าเพราะเรื่องไม่ดีนะครับ แต่เป็นเรื่องรายละเอียดในบ้านหลังนี้ต่างหาก)


การเข้าชมบ้านหลังนี้ต้องเสียค่าเข้าชมด้วยนะครับ

ผู้ใหญ่ 100 บาท และเด็ก 50 บาท ครับ
ซึ่งการเข้าชมจะมีไกด์เดินพานำชมและเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยนะครับ

ภายในเรือนไทยหลัก (ตัวบ้านหลัก) ไม่ให้ถ่ายภาพนะครับ แต่เพื่อนๆ สามารถถ่ายภาพจากนอกอาคารเข้ามาในตัวบ้านได้
สาเหตุก็เพราะว่า ถ้าเราเข้าไปถ่ายภาพอย่างนี้เราจะไม่ตั้งใจฟังเรื่องราวจากไกด์ไงครับ

เอาเป็นว่าถ้าใครพอมีเวลาว่างและสะดวกผมก็ขอแนะนำให้เป็นสถานที่ที่เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ดีแห่งหนึ่งนะครับ
การเดินทางบอกตรงๆ ว่านั่งรถไฟฟ้าไปก็สะดวกครับ ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติและเดินอีกนิดก็ถึงและ

สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
สามารถชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.jimthompsonhouse.com/thai/index.asp

ชมภาพบรรยากาศใน “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” ทั้งหมด

[nggallery id=53]

นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

นายห้องสมุดไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนานเลยนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ไปค่อนข้างบ่อยเช่นกัน นั่นคือ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” นั่นเอง เอาเป็นว่าในห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านกันดู

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (สังกัด กทม นะครับ) (ข้อมูลจากห้องสมุดประชาชนกรุงเทพฯ)

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

การให้บริการภายในของห้องสมุดก็จะคล้ายๆ กับห้องสมุดประชาชนที่อื่นๆ นั่นแหละครับ เช่น

หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา

– บริการที่นั่งอ่านหนังสือ
– บริการยืมคืน
– บริการสื่อมัลติมีเดีย
– บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– บริการหนังสืออ้างอิง
– บริการหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา (อันนี้เยี่ยมมากๆ)
– บริการมุมเด็ก
– บริการสอนใช้คอมพิวเตอร์
– บริการกาแฟ-เครื่องดื่ม
ฯลฯ อีกมากมาย ต้องลองไปใช้กันดูนะครับ

การสมัครสมาชิกเพียงแค่เพื่อนๆ นำบัตรประชาชนมา และเสียค่าสมาชิกเพียง 50 บาทต่อปี ก็จะได้รับบัตรสมาชิกอันแสนสวย
สมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือ 1 สัปดาห์ 4 เล่ม ครับ ถ้ายืมเกินก็เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อ 1 เล่มครับ

เอาหล่ะครับ Hilight จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้
คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับ บริษัท Microsoft นั่นเอง
แล้ว Microsoft มาช่วยอะไรห้องสมุดแห่งนี้บ้างหล่ะ …
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

มาที่นี่แล้วทำให้ผมรู้สึกว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” ของกรุงเทพฯ มันช่างเป็นสถานที่ๆ เหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง แล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาลองใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้นะครับ

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-252-8030

ชมภาพห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีทั้งหมดได้เลยครับ

[nggallery id=52]

พาชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติฉบับนายบรรณารักษ์พาเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวและเยี่ยมชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมา
จึงอยากแชร์ความคิดเห็นและนำเสนอรูปภาพภายในอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติให้เพื่อนๆ ได้เห็น

เพื่อนๆ หลายๆ คนคงทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้หอสมุดแห่งชาติได้มีการเปิดตัวอาคารใหม่ที่ได้จัดสร้างจนเสร็จและถยอยย้ายของ (หนังสือวิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย หนังสือหายาก เอกสารโบราณ) มาไว้ที่นี่จนเสร็จ

การเดินทางมาที่นี่ผมยังคงใช้รถเมล์โดยสารสาย 9 เช่นเคย (วงเวียนใหญ่ – หน้าหอสมุดแห่งชาติ)

หอสมุดแห่งชาติด้านหน้าเมื่อเรามองเขาไป เราก็ยังคงเห็นอาคารเดิมอ่ะครับ (อาคารใหม่อยู่หลังอาคารเก่า)
เมื่อผ่านประตู รปภ. ก่อนเข้าไปในอาคารเก่า ผมก็สะดุดกับป้ายที่อยู่ที่โต๊ะของพี่ รปภ. มีข้อความสรุปง่ายๆ ว่า

หอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่ราชการ ไม่อนุญาตให้คนที่แต่งกายไม่สุภาพเข้ามาใช้บริการ……” (อันนี้เดี๋ยวผมขอยกยอดไว้เขียนวิจารณ์คราวหน้านะ)

เข้ามาดูที่ตึกใหม่กันดีกว่า หลักๆ แล้วแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง

ชั้นที่ 1 บรรณารักษ์ในส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (งาน ISBN, CIP) + ห้องสมุดวชิรญาณ พื้นที่ลานเอนกประสงค์
ชั้นที่ 2 ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย
ชั้นที่ 3 ห้องบริการหนังสือหายาก
ชั้นที่ 4 ห้องจัดเก็บเอกสารโบราณ ตู้พระธรรม

หลักๆ ในวันนั้นผมลองเดินตรวจสอบจากชั้น 1 (ลานอเนกประสงค์) และ ชั้น 2 นะครับ (ชั้นอื่นๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดบริการอ่ะครับ)

การเดินทางเข้าไปที่อาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมีหลายวิธีครับ เช่น
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางห้องสมุดดนตรี
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางหอจดหมายเหตุ
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 1
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 2

ชั้น 1 วันอาทิตย์นี่แบบว่าอย่างเงียบเลย อาจเพราะว่าปิดไฟในลานอเนกประสงค์จึงทำให้มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนั่งเล่นละมั้ง เดินอยู่คนเดียวแบบว่าน่ากลัวมากๆ เลย แม้ว่าจะเป็นอาคารใหม่ก็เถอะแต่ดูเงียบมากๆ

ชั้น 2 เป็นห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการจะค้นวิทยานิพนธ์ เพื่อนๆ ก็ควรปฏิบัติดังนี้

“ค้นคว้าวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย โปรดค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือชั้น 2 อาคารเดิม และจดเลขหมู่หนังสือหรือรหัสเลขและปีพ.ศ. ก่อนเข้าใช้บริการชั้น 2 อาคารใหม่”

ข้อความที่ผมนำมาลงนี้เป็นข้อความที่มาจากคำแนะนำที่ทางหอสมุดแห่งชาตินำมาติดไว้ที่ชั้น 1 และหน้าประตูห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของอาคารใหม่ด้วย

ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าเพราะอะไร เอาเป็นว่าลองดูรูปนี้ครับ แล้วจะเข้าใจ

(ตึกใหม่แต่ระบบไอทียังไม่พร้อมครับ)

ภายในห้องวิทยานิพนธ์เข้าไปแล้วบรรยากาศดีกว่าอาคารเดิมเยอะมาก โต๊ะเก้าอี้เยอะมากๆ เลย ณ เวลาที่ผมเข้าไปนี้มีผู้ใช้บริการ 3 คน บวกบรรณารักษ์อีก 2 คน สรุปว่าห้องนั้นมีแค่ 6 คน (รวมผมด้วย) ห้องใหญ่บรรยากาศดี จริงๆ อยากให้มีการใช้เยอะๆ นะ จะได้คุ้มค่าไฟหน่อย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปอ่ะครับ

การใช้บริการห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. สืบค้นวิทยานิพนธ์ที่ต้องการ (ที่อาคารใหม่นี้จะเก็บวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 2547 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากต้องการฉบับเก่ากว่านี้ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขตลาดกะบัง เฉลิมพระเกียรติ)
2. กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการ (ใส่ชื่อ-นามสกุลผู้ที่ขอยืม, เลขหมู่และปีของหนังสือ)
3. รอบรรณารักษ์ไปหยิบ
4. แลกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่เคาน์เตอร์
5. นำไปใช้ได้เลย
6. นำมาคืนที่เคาน์เตอร์เพื่อแลกบัตรคืน

หนังสือวิทยานิพนธ์ที่จัดเก็บที่นี่มีการลงเลขหมู่ในลักษณะนี้
ตัวอย่าง 054/51 = หนังสือวิทยานิพนธ์ปี 2551 เล่มที่ 54

เอาหล่ะครับวันนี้ก็ขอ Review เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก
วันหลังจะกลับมา Review แบบละเอียดอีกทีนึงแล้วกัน เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมในส่วนดีและขอติเพื่อปรับปรุงในส่วนที่ต้องเสริม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ

“เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงนามอนุมัติ ให้ก่อสร้างอาคารใหม่หอสมุดแห่งชาติด้วยงบประมาณ จำนวน 438,000,000 บาท (สี่ร้อยสามสิบแปดล้านบาท) และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2552 และเปิดให้ใช้บริเวณอาคารใหม่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554”

ชมภาพบรรยากาศอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด

[nggallery id=51]

วิจารณ์และพาชมห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม

อย่างที่เมื่อวานได้เกริ่นเอาไว้ว่ามาบรรยายที่โรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งที เลยขอเยี่ยมชมห้องสมุดในโรงเรียนนี้ดูบ้าง และขอเก็บภาพต่างๆ มาด้วย เพื่อลงในบล็อก Libraryhub วันนี้เลยขอทำตามสัญญาเอาเรื่องนี้มาลงให้อ่านและชมภาพกัน

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดที่จะพาไปชม
สถานที่ : ห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม
ที่อยู่ : 85 หมู่.7 ตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร 35160
เว็บไซต์ : http://www.kww.ac.th/web54/index.php

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำอำเภอนะครับ ทำการสอนในระดับมัธยมศึกษา (ตั้งแต่ ม. 1- ม. 6) จำนวนนักเรียนรวมแล้วประมาณเกือบ 1000 คน

ห้องสมุดโรงเรียนแห่งนี้เพิ่งจะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงด้านสถานที่หลายส่วนด้วยกัน เช่น มีการติดแอร์ในห้องสมุด และออกแบบมุมบริการต่างๆ ในห้องสมุดมากมาย

หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ครอบคลุมเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนหรืออ่านประกอบการเรียน มีการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบดิวอี้

การยืมคืนก็คงคล้ายๆ กับห้องสมุดโรงเรียนอื่นๆ แหละครับ คือ แบ่งการยืมคืนเป็นสองส่วนคือระดับนักเรียนและครูอาจารย์

จากการเดินสำรวจรอบๆ พบว่า
1. ชั้นที่เก็บจุลสาร จดหมายข่าวยังดูเละเทะไม่เรียบร้อย
คำแนะนำ = เลือกจัดเก็บข่าวสารที่มีประโยชน์ หรือ ตัดบทความที่น่าสนใจเก็บไว้ เพื่อทำกฤตภาคออนไลน์ต่อไป

2. การจัดนิทรรศการในห้องสมุดมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย
คำแนะนำ = สามารถจัดวางนิทรรศการบนโต๊ะอ่านหนังสือได้เลย หรือทำป้ายคำคมที่เกี่ยวกับการอ่านมาแปะไว้บริเวณรอบๆ ห้องสมุด

3. มุมโต๊ะที่อ่านหนังสือค่อนข้างคมมาก (กลัวเด็กชนแล้วหัวจะแตก)
คำแนะนำ = หานวมมาหุ้มบริเวณมุมโต๊ะลดอันตรายที่จะเกิดขึ้น

***ผมคอมเม้นต์ให้ทางทีมงานห้องสมุดได้รับทราบแล้ว และคาดว่าจะมีการปรับปรุงเร็วๆ นี้

เอาเป็นว่าที่เหลือผมว่าก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะผู้ใช้บริการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเหมือนกัน (สำหรับโรงเรียนต้องระวังมากๆ ด้วยเพราะ Tablet กำลังจะมา) ผมก็จะขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ บรรณารักษ์ทุกๆ คนด้วยเหมือนกัน

ปล. ที่ห้องสมุดไหนอยากให้ผมไปเยี่ยมชมและวิจารณ์ก็ติดต่อมาได้ครับยินดีมากๆ ถ้าไม่ไกลมากไม่คิดค่าบริการอยู่แล้ว อิอิ

ชมภาพห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งหมดได้ที่นี่เลย

[nggallery id=48]

การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)

หลังจากฟังการบรรยายของวิทยากรหลายๆ คนในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 สิงหาคมก็มีการจัดไปศึกษาดูงานกันที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ผมจึงขอตามไปดูงานด้วย และได้เก็บภาพต่างๆ มามากมายเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาได้ชมห้องสมุดกัน

การไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ของกลุ่มบรรณารักษ์การแพทย์ค่อยข้างจะสนุกกว่าทุกที่ที่ผมเคยพบ นั่นคือทางเจ้าภาพของงานได้เหมารถ ปอ สีส้ม สาย 77 จำนวน 1 คัน เป็นรถที่จะพาเราไปศึกษาดูงาน เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร วิทยากร ผู้ฟัง ต่างก็ได้ใช้บริการรถเมล์คันดังกล่าวทั้งนั้น บางคนนั่ง บางคนยืน สนุกสนานครับ เดี๋ยวลองดูในอัลบั้มรูปแล้วกันนะครับ

พอไปถึงที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ก็เกิดอุปสรรคขึ้นนิดหน่อย คือ จำนวนผู้ที่เข้าชมเกือบๆ 70 กว่าคนครับ เลยต้องแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ผลัดกันชมด้านนอกกลุ่มนึงด้านในกลุ่มนึง

เคยได้ยินคนพูดว่า ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ

เรื่องของประวัติความเป็นมาของห้องสมุด (ของลอกมาจากวิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%8C)

สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) จดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีนำมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพโดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน

นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็คือ นาง Sarah Blachley Bradley ซึ่งเป็นภรรยาของคุณหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)

ในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อ จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ

ส่วนชื่อปัจจุบันของห้องสมุด คือ สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ นั้นมาจากชื่อของนาง Jennie Neilson Hays ซึ่งชื่อเดิมของ นาง Jennie Neilson Hays คือ Jennie Neilson เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวได้อพยพไปอยู่อเมริกาต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และได้พบกับคุณคุณหมอ Thomas Heyward Hays ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2429 และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2430

ต่อมานาง Jennie Neilson Hays ได้เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดโดยเตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในปี เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือน เมษายน พ.ศ. 2463

ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุดในปี พ.ศ. 2414 เป็นต้นมาห้องสมุดไม่มีสถานที่ทำการถาวรย้ายไปตามที่ที่จะได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนาง Jennie Neilson Hays ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2463 ด้วยความรักที่เธอมีต่อห้องสมุด คุณหมอ Thomas Heyward Hays จึงได้สร้างอาคารถาวรและซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นของห้องสมุดและเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน ดังนั้นสมาคมห้องสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดเนลสันเฮย์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จเริ่มเปิดทำการในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยสถานที่ตั้งนั้นอยู่ที่ เลขที่ 193,195 ถนนสุรวงศ์ และปัจจุบันห้องสมุดก็ยังเปิดให้บริการอยู่

อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) และสถาปนิกผู้ช่วยชื่อนายจีโอวานี แฟร์เรโร (Mr.Giovanni Gerreo)ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิค โดยผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิดและปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าไปย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน

อาคารห้องสมุดเนลสันเฮย์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

นี่ก็เป็นเรื่องราวแบบคร่าวของความเป็นมาเกี่ยวกับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง การสร้างห้องสมุดเพื่อเป้นที่ระลึกแก่ภรรยาที่เสียชีวิต เรื่องราวคล้ายๆ ทัชมาฮาล เลยนะครับ

ข้อมูลทั่วไปที่นายบรรณารักษ์ไปสังเกต
– หนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดครับ
– การจัดหนังสือใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– มีตู้บัตรรายการใช้อยู่ด้วย
– อยู่ในระหว่างการปรับปรุงห้องนิทรรศการ และห้องสมุดบางส่วน
– ตู้หนังสือทุกตู้มีกระจกปิดเพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้า และรักาาความชื้นในห้องสมุดด้วยระบบการระบายอากาศที่ดี
– กิจกรรมสำหรับเด็กจะจัดทุกเสาร์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยจัด
– ค่าเข้าใช้บริการ ครั้งละ 50 บาท (เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาห้องสมุด)

อัตราค่าสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้
– ประเภทครอบครัว 3300 บาทต่อปี
– ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 22 ปีขึ้นไป) 2500 บาทต่อปี
– ประเภทผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 1500 บาทต่อปี
– ประเภทเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป) 1700 บาทต่อปี

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ได้ที่ http://www.neilsonhayslibrary.com

หรือถ้าอยากไปชมสถานที่จริงก็สามารถเดินทางไปได้อยู่แถวๆ ถนนสุรวงศ์ หรือสอบถามทางได้ที่เบอร์ 0-2233-1731 นะครับ

ชมภาพการไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ทั้งหมด

[nggallery id=46]