นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน

ไปเที่ยวหัวหินกันมั้ยๆๆๆๆ ไหนๆ ก็มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งที ก็ขอแวะห้องสมุดแถวๆ นั้นกันสักหน่อย
ห้องสมุดแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของหัวหินและอยู่ใกล้จุดที่คนชอบไปถ่ายรูป คือ ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน


ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน แค่ชื่อเพื่อนๆ ก็คงเดาได้ว่าหน้าตาของห้องสมุดมันต้องเป็นห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟแน่ๆ
อ่ะ ถูกต้องครับ “ห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟ” และที่สำคัญมันอยู่ที่ “หัวหิน” และตั้งอยู่ใกล้ๆ “สถานีรถไฟหัวหิน”

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดการรถไฟแห่งที่ 3 ของประเทศนะครับ เปิดให้บริการในวันที่ 26 กันยายน 2552
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด

ความคิดริเริ่มในการเปิดห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำตู้รถไฟเก่ามาปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดรถไฟ เพื่อที่จะขยายการบริการด้านการศึกษาค้นคว้าและเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว นั่นเอง

ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานในการพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่
– การรถไฟแห่งประเทศไทย นำรถไฟเก่ามาปรับปรุงใหม่
– กศน ดูแลในส่วนการจัดการสื่อและการให้บริการห้องสมุด
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริจาคเงินเพื่อตกแต่งภายใน รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในห้องสมุด
– เทศบาลเมืองหัวหิน ดูแลเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกห้องสมุด และสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง


ภายในภาพรวมยังคงมีกลิ่นความเป็นรถไฟอยู่ด้วย โดยเฉพาะที่นั่งอ่านหนังสือยังคงใช้เก้าอี้ที่ใช้ในตู้รถไฟปรับอากาศ (คิดถึงภาพเก้าอี้นวมในรถไฟได้เลย) แถมด้วยเฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ยังคงใช้อุปกรณ์ที่มาจากตู้รถไฟเดิมด้วย


การจัดการเรื่องสื่อ (หนังสือ วารสาร นิตยสาร….)

– มีการรับสมัครสมาชิกเหมือนห้องสมุดประชาชน
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ใช้คือ PLS 5 (ของกศน.)
– การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– การจัดวางหนังสือยึดหลักหมวดหมู่ไม่ได้เรียงตามเลขหมู่ เช่น หมวดอาหาร หมวดธรรมะ หมวดภาษา


ใครที่สนใจอยากจะไปเยี่ยมชมต้องมาในวันจันทร์-เสาร์เท่านั้นนะครับ และในช่วงเวลา 9.00-17.00
ด้วย
เพราะนอกนั้นในวันอาทิตย์ หรือวันหยุดอื่นๆ ห้องสมุดปิดนะครับ

เอาหล่ะพาเที่ยวพอแล้วดีกว่า ใครมีโอกาสก็ลองไปชมกันดูเองนะครับ
หรือจะดูรูปภาพห้องสมุดโดยรวมจากด้านล่างนี้ก็ได้ สำหรับวันนี้ก็ไปแล้วนะครับ

ชมภาพห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินทั้งหมดได้ที่

[nggallery id=44]

ร้านหนังสือมีสไตล์ ณ หัวหิน Rhythm & Books

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวนานแล้ว วันนี้เลยขอพาเที่ยวแบบชิวๆ ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามแล้วกัน
วันนี้ผมขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวมี่หัวหินนะครับ (ไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วย)
(จริงๆ แล้วที่ไปหัวหิน จุดประสงค์หลักคือถ่ายภาพสำหรับงานแต่งงานของผม (prewedding))

สายๆ ของวันอาทิตย์ก่อนกลับ กรุงเทพฯ ผมก็ออกมาหาของกินรองท้องสักหน่อย
ซึ่งก็เลยขับรถมาหาของกินบริเวณถนนแนบเคหาสน์ และก็จอดรถลงมากินก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่แสนอร่อย
ในระหว่างที่กำลังกินอยู่ตาก็ชำเลืองไปเห็นร้านอยู่ร้านหนึ่งชื่อ “Rhythm & Books”
ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นไอความเป็นร้านหนังสือ (ตามสไตล์ของคนที่ชอบหนังสือ)
ดังนั้นเมื่อกินข้าวเสร็จ ผมก็ไม่รอช้าที่จะต้องแวะเข้าไปชมสักหน่อย

แต่ก่อนจะเข้าไปในร้านก็ขอหาข้อมูลนิดนึงจากอินเทอร์เน็ต
ในที่สุดก็พบว่า “ร้านหนังสือร้านนี้เป็นของนักเขียนชื่อดังคนนึงนั่นเอง”

คุณภาณุ มณีวัฒนกุล (พี่บาฟ)

เจ้าของร้านหนังสือร้านนี้ คือ พี่บาฟ หรือ “คุณภาณุ มณีวัฒนกุล”
นักเขียนนักเดินทาง “คนทำสารคดี” ที่เดินทางไปเกือบทั่วโลก

พอเข้าไปก็เจอกับพี่เขาเลย พี่เขาต้อนรับดีมากๆ เข้ามาพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผม
ได้พูดคุยกันสักพักผมก็เลยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของวงการหนังสือ
และแง่คิดที่หนังสือมีให้ต่อผู้อ่าน
เช่น การอ่านการ์ตูนก็สามารถแทรกแง่คิดให้ผู้อ่านได้ด้วย

ภายในร้าน Rhythm & Books มีขายอะไรบ้าง
– หนังสือมือสอง
– สมุดทำมือ
– ของฝากจากหัวหิน
– ภาพวาด
– เพลง
– ฯลฯ

นอกจากนี้ยังผู้ถึงความเป็นมาของร้านหนังสือร้านนี้และแรงจูงใจที่พี่บาฟมีต่อร้านนี้ด้วย
ซึ่งสิ่งๆ นั่น คือ “ความรักในหนังสือ” นั่นเอง กลับมาย้อนคิดผมเองก็คงคล้ายๆ กัน คือ “รักในห้องสมุด”

“ทำอะไรก็ได้ที่ใจรัก มันจะทำให้เรามีความสุข และไม่รู้จักเหนื่อยหน่ายกับมัน”

แม้ในวันนี้ร้านของพี่บาฟอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากแต่ ผมเชื่อครับว่าสักวันร้านของพี่บาฟจะต้องมีคนมาเยี่ยมชมมากขึ้น
พี่บาฟที่บอกผมอีกว่า จริงๆ แล้ว กำลังใจอีกอย่างที่พี่บาฟประทับใจ คือ การได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมชมร้านนั่นแหละ

ผมว่าถ้าบรรณารักษ์หลายๆ คนคิดแบบพี่บาฟ ผมว่าคงจะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ
เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอแนะนำร้านนี้ไว้เท่านี้แล้วกัน ใครที่ผ่านมาเที่ยวที่หัวหินก็อย่าลืมมาแวะที่นี่ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ก็แอบประทับใจและสัญญาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมมาหัวหิน ผมจะแวะมาที่ร้านหนังสือร้านนี้อีก
แล้วพบกันอีกนะครับ “Rhythm & Books” และยินดีที่ได้รู้จักอีกครั้งครับ พี่บาฟ

ที่อยู่ของ Rhythm & Books เลขที่4/56 ถนนแนบเคหาสน์ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ 77110 หมายเลขโทรศัพท์ 0814729390
จุดสังเกตง่ายๆ คือ ร้านจะอยู่ในซอยที่เยื้องๆ กับร้านเค้ก บ้านใกล้วัง เข้าซอยมาจะเจอทาวน์เฮาส์หลังที่สาม

ชมภาพบรรยากาศภายในร้าน Rhythm & Books

[nggallery id=41]

พาเที่ยวห้องสมุด SCG ? XP Library

พาเที่ยวห้องสมุดในวันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวของการไปเยี่ยมชมห้องสมุดของ SCG (XP Library)
จริงๆ แล้วผมไปเยี่ยมชมที่นี่มาเมื่อประมาณปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะว่าง เลยเอามาเล่าวันนี้
เอาเป็นว่าไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ ห้องสมุดแห่งนี้มีความพิเศษในหลายๆ อย่างยังไงบ้าง

ภายใน SCG XP ส่วนที่เป็นห้องสมุด (XP Library) จะอยู่ชั้น 2 และส่วนพื้นที่นิตยสาร (XP Magazine) จะอยู่ที่ชั้น 1


ห้องสมุด XP Library นี้เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบและตกแต่งภายในที่ดีมาก
บรรยากาศโดยทั่วๆ ไปภายในห้องสมุดเหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือมากๆ

การจัดหมวดหมู่หนังสือของที่นี่ไม่ได้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้หรือแอลซีหรอกนะครับ
แต่ที่นี่คิดการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบฉบับของตัวเอง (เพราะเป็นห้องสมุดเฉพาะ)

ซึ่งแยกหนังสือหลักๆ ออกเป็น
– สถาปัตยกรรม
– ออกแบบและตกแต่ง
– วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
– การจัดสวน
– การออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นห้องสำหรับคุยงานเป็นกลุ่ม (สำหรับปรึกษางาน)
และยังมีบริการถ่ายเอกสารและสแกนหนังสือด้วยนะครับ

ในส่วนที่เป็น XP Magazine มีระบบสืบค้นที่ค่อนข้างทันสมัยซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท HP ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบหน้าจอสัมผัสและโปรแกรมที่พัฒนามาเพื่อการนำเสนอข้อมูลนิตยสาร (ต้องลองไปเล่นดูนะ สุดยอดจริงๆ)

ระบบสืบค้นหนังสือบนเว็บไซต์ก็ทันสมัยมากๆ
http://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

อ๋อ แต่ต้องบอกก่อนนะว่า ห้องสมุดแห่งนี้เข้าได้เฉพาะสมาชิก (SCG XP) เท่านั้นนะครับ
แต่สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถทดลองเข้าฟรีได้ 1 ครั้ง (คล้าย TCDC)

การเป็นสมาชิกของที่นี่ไม่ใช่แค่สมาชิกห้องสมุดนะครับ แต่ต้องเป็นสมาชิกของ SCG XP เลยซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย
โดยสมาชิกของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ
1. Student Member (200 บาทต่อ 1 ปี)
2. Customer Member (600 บาทต่อ 2 ปี)
3. Professional Member (1000 บาทต่อ 2 ปี)

สิทธิประโยชน์ที่เด่นๆ สำหรับสมาชิก
– ใช้บริการ มุม XP Magazine ได้ฟรี (นิตยสารดีๆ จากทั่วโลก เรื่องการออกแบบและตกแต่งกว่า 250 ชื่อเรื่อง)
– ใช้บริการ XP library ได้ (หนังสือด้านการออกแบบภายใน ตกแต่งสวน วิศวกรรมโยธา การสร้างบ้าน)
– Internet Wifi สามารถใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายได้วันละ 2 ชั่วโมง
– นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มภายใน XP Cafe ได้อีก
– ยิ่งไปกว่านั้นใช้เป็นบัตรลดในการซื้อหนังสือที่ Asia book ได้ด้วย

เอาเป็นว่าสำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ที่
http://www.scgexperience.co.th นะครับ
เว็บไซต์ของส่วนงานห้องสมุด XP Libraryhttp://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

เป็นยังไงกันบ้างครับกับห้องสมุดแห่งนี้ ผมเองไม่ได้ไปมาปีกว่าๆ แล้ว แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ ส่วนที่เปลี่ยนไป
และผมเชื่อว่าต้องเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นแน่ๆ ดังนั้นเพื่อนๆ คนไหนว่างก็แนะนำให้ไปชมนะครับ

ก่อนจากกันในวันนี้ก็ขอทิ้งท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อนไว้จะพาไปเที่ยวห้องสมุดที่อื่นๆ บ้างนะครับ อิอิ

ชมภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library

[nggallery id=37]

แวะมาชมห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

วันนี้มีโอกาสมาเดินเล่น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เลยขอแวะมาชมห้องสมุดของที่นี่สักหน่อย
ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ ชั้นใต้ดินของ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”


เอาเป็นว่าผมขอนำเสนอข้อมูลตามสไตล์บรรณารักษ์ที่ชอบเที่ยวห้องสมุดแล้วกัน ดังนี้

Collection หลักๆ ของหนังสือที่นี่มีดังนี้
– หนังสือทั่วไป
– นวนิยาย
– เรื่องสั้น
– พระราชนิพนธ์ (ไม่ให้ยืม)
– หนังสืออ้างอิง
(ไม่ให้ยืม)
– หนังสือด้านศิลปะ (Collection หลักในห้องสมุดแห่งนี้)
– หนังสือเด็ก (มีมุมพิเศษที่แยกออกจากโซนปกติ)

การจัดกิจกรรมของห้องสมุดแห่งนี้ก็จะเน้นในเรื่องของกิจกรรมด้านศิลปะเป็นหลัก (เข้ากับสถานที่)
เช่น การทำที่คั่นหนังสือ การทำโปสการ์ด ….. โดยกิจกรรมเหล่านี้เด็กๆ จะชอบมากๆ

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมด้านไอทีบ้าง เช่น ไอทีเพื่อคนรุ่นใหม่ ฯลฯ

การเข้าใช้บริการห้องสมุดของที่นี่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอด
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ห้องสมุดที่นี่ก็ขอความกรุณาให้ลงชื่อเข้าใช้ด้วย

ที่นั่งในห้องสมุดแห่งนี้มีเยอะมากและเลือกนั่งได้หลายแบบ เช่น โต๊ะอ่านเป็นกลุ่ม ที่นั่งแบบโซฟา ฯลฯ
จำนวนที่นั่งผมนับคร่าวๆ จำนวนเกือบๆ 100 ที่นั่ง
นับว่าเยอะดีครับ

บรรยากาศภายในก็เงียบสงบดี เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้สมาธิเพื่อการอ่านหนังสือ
นอกจากหนังสือที่ให้บริการแล้วที่นี่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการด้วยนะครับ

การสมัครสมาชิกก็เหมือนกับห้องสมุดในกรุงเทพแห่งอื่นๆ แหละครับ (สังกัดเดียวกัน)
คือสมัครสมาชิกปีนึง 10 บาท และค่ามัดจำหนังสือ 40 บาท รวมๆ แล้ว 50 บาทครับ
ผมว่าคุ้มค่ามากๆ ยืมหนังสือได้ 2 เล่ม 1 สัปดาห์ หากคืนเกินกำหนดก็จะปรับเล่มละ 1 บาทต่อ 1 วัน

ที่นี่มี WIFI ให้ใช้ด้วยนะครับ แต่ต้องมาแจ้งที่เคาน์เตอร์บริการทุกครั้ง
เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนรหัสสำหรับการเข้าใช้ทุกวัน
โดยเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนทุกวันเนื่องจากต้องการเก็บสถิติการใช้งาน Wifi ในห้องสมุดครับ

ห้องสมุดแห่งนี้มี facebook ด้วยนะ ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.facebook.com/artlibrary

เอาเป็นว่าหากใครว่างๆ และแวะมาเที่ยวแถวๆ นี้ ผมก็ขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้ไว้เป็นที่อ่านหนังสือดีๆ อีกที่หนึ่ง

สำหรับการเดินทางมาที่นี่ เพื่อนๆ สามารถดูคำแนะนำด้านล่างนี้ได้เลย
“หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน 10330 เปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ในเวลา 10.00-21.00 น. มีรถประจำทางสาย 11, 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 47, 50, 54, 79, 93, 141, 204, 501 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสถานีสยาม แล้วเดินมาตามทางเชื่อมเข้าสู่อาคารหอศิลปวัฒนธรรมฯ ได้เลย

ชมภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดได้เลยครับ (ภาพบางส่วนผมนำมาจาก facebook ของห้องสมุดนะครับ)

[nggallery id=34]

บ้านหนังสือ : ห้องสมุดหลังเล็กสำหรับชุมชน

เมื่อวานผมนำรูปภาพของบ้านหนังสือลงใน facebook ส่วนตัวของผม
ทำให้หลายๆ คนสนใจและอยากรู้จัก “บ้านหนังสือ” วันนี้ผมจึงขอนำมาขยายเรื่องลงบล็อก

บ้านหนังสือ ก็คือ ห้องสมุดประเภทหนึ่งที่สังกัดกับกรุงเทพมหานคร โดยห้องสมุดในกลุ่มนี้จะจัดสร้างในชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่จำนวนหนึ่งหรือพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีห้องสมุดขนาดใหญ่ของกรุงเทพตั้งอยู่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องการอ่าน กรุงเทพฯ จึงได้จัดทำบ้านหนังสือขึ้นมาเพื่อให้คนเข้าถึงหนังสือมากขึ้น


บริการต่างๆ ในบ้านหนังสือ
– บริการวารสาร นิตยสารและหนังสือพิมพ์
– บริการหนังสือทั่วไป
– บริการดูหนัง ฟังเพลงและอินเตอร์เน็ต
– จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

เวลาทำการของบ้านหนังสือแต่ละที่เหมือนกับห้องสมุดทั่วๆ ไปแหละครับ คือ
เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์และวันหยุดพิเศษ

ไอเดียที่ผมชอบมากๆ ของบ้านหนังสือ คือ การนำตู้คอนเทนเนอร์สองตู้มาต่อกัน
ซึ่งมองในแง่งบประมาณและการใช้งาน รวมถึงพื้นที่ในการวาง ผมว่ามันเหมาะสมมากๆ
การมีบ้านหนังสือเยอะๆ ในกรุงเทพจะช่วยให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายกว่าการมีห้องสมุดใหญ่ๆ เพียงไม่กี่ที่

ลองดูวีดีโอแนะนำ “บ้านหนังสือ” ที่จัดทำโดย กทม. นะครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=OPTjGpr2w0U[/youtube]

ถ้าอยากทราบว่าบ้านหนังสือในกรุงเทพฯ มีอยู่ที่ไหนบ้างสามารถเข้าไปดูได้ที่
http://203.155.220.217/dll/house.html (ปัจจุบันมี 116? แห่งทั่วกรุงเทพฯ)

ก่อนจากกันผมขอแถมภาพถ่ายภายในจาก “บ้านหนังสือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ”

[nggallery id=32]

ปล. ภาพถ่ายบางส่วนผมนำมาจาก http://203.155.220.217/dll/house.html

นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

หลังจากที่ป่วยมาหนึ่งวัน พอฟื้นปุ๊บก็เกิดอารมณ์อยากเที่ยวทันที ดังนั้นอย่ารอช้าหาที่เที่ยวกันเลยดีกว่า
แต่เที่ยวตามสไตล์นายห้องสมุดทั้งทีมันก็ต้องเกี่ยวกับห้องสมุดสักหน่อย วันนี้ผมจึงพาเที่ยวห้องสมุดเช่นเดิม

ห้องสมุดที่ผมพาไปวันนี้อยู่ที่ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากจริงๆ ครับ
ห้องสมุดแห่งนี้ชื่อว่า “ห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์” (NitasRattanakosin Library)
เอาเป็นว่าผมขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้ตามสไตล์บรรณารักษ์พาเที่ยวนะครับ (ข้อมูลอาจจะออกไปทางห้องสมุดหน่อย)

โปรแกรมห้องสมุดที่ใช้ (โปรแกรมที่ใช้ในการสืบค้นและการจัดเก็บข้อมูลสื่อสารสนเทศ) คือ Alice for window
ระบบการจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ และใช้แถบสี (Spine Label) ในการแบ่ง collection ของสื่อสารสนเทศ

Collection ของสื่อสารสนเทศที่มีในห้องสมุดแห่งนี้

– พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ
– สัพเพเหระ
– ศิลปะรัตนโกสินทร์
– สังคมรัตนโกสินทร์
– หนังสือแนะนำ
– วรรณคดี นวนิยาย
– กิน เที่ยว
– นิตยสารที่นี่บอกรับไว้ประมาณ 16 ชื่อเรื่องครับ (อันนี้เดินไปนับเลย)
– หนังสือพิมพ์
– พระราชพิธี
– ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
– พระราชประวัติ พระบรมวงศานุวงศ์
– พระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์
– เกร็ดความรู้
– ประวัติและผลงานบุคคลสำคัญ
– สื่อมัลติมีเดีย

ห้องสมุดแห่งนี้ไม่มีบริการให้ยืมหนังสือออกนอกห้องสมุดนะครับ
ดังนั้นจึงมีบริการเสริมจำพวกถ่ายเอกสารหรือสแกน ซึ่งมีอัตราค่าบริการต่างๆ ดังนี้
– ถ่ายเอกสาร แผ่นละ 2 บาท
– สแกนแต่ไม่พิมพ์ 10 บาท
– สแกนและพิมพ์ขาวดำ 15 บาท
– สแกนและพิมพ์สี 20 บาท
– พิมพ์งานจากไฟล์อินเทอร์เน็ต 5 บาท

ภายในห้องสมุดบรรยากาศดีมากๆ มีที่นั่งแบบสบายๆ ให้เลือกหลายสไตล์
เช่น แบบเบาะนุ่มๆ นั่งอ่านชิวๆ หรือแบบนั่งกับไม่กระดาน แบบเท่ห์ๆ หรือแบบโต๊ะกลุ่ม แบบคนทำงาน ฯลฯ

นอกจากเรื่องที่นั่งแล้ว ชั้นหนังสือก็สวยงามมากมายครับ ดีไซน์ได้ดูดีมากๆ

หนังสือในห้องสมุดอาจจะดูน้อยไปสักนิดแต่ผมเชื่อว่าเป็นหนังสือที่เลือกแล้วว่าดีจริงๆ
หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์หลายเล่มหาอ่านได้ยากที่นี่ก็มีบริการ แบบว่าทึ้งจริงๆ

สมาชิกของห้องสมุดก็ปีละ 100 บาทเท่านั้น (สำหรับประชาชนทั่วไป) ส่วนเด็กๆ ก็นำบัตรนักเรียนมาเข้าฟรีนะ
หรือถ้าใครมาชมนิทรรศการแล้วมีบัตรเข้าชมนิทรรศการก็สามารถเข้าห้องสมุดฟรีครับ
ถ้าใครแค่อยากแวะเข้ามาชมห้องสมุดอย่างเดียวก็เสียค่าเข้าชม 20 บาท (1 day pass) ครับ
แต่ 20 บาทก็ไม่ได้ไปไหนหรอกนะครับ ได้เข้าชมห้องสมุดแถมด้วยชั่วโมงอินเทอร์เน็ตอีก 1 ชั่วโมงครับ

แค่วันนี้ผมแวะมา ผมก็สมัครสมาชิกแล้วครับ 1 ปี สิทธิประโยชน์ก็คือ เข้าห้องสมุดได้ตลอดแล้วก็อินเทอร์เน็ตอีก 1.5 ชั่วโมงครับ
ยิ่งไปกว่านั้น บัตรใบนี้เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ครับ คือแตะที่ประตูเข้าห้องสมุดแล้วประตูก็เปิดออกเองอัตโนมัติด้วยครับ
แบบว่ามันไฮเทคมากๆ เลยครับ ผมชอบมากๆ เลย

ที่นี่มีบริการให้เช่าห้องประชุมด้วยนะครับ ซึ่งห้องประชุมก็เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย
แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่ามีค่าใช้บริการ (จะบอกว่าแอบแพงนิดนึง แต่ผมว่าถ้าจัดกิจกรรมก็คงคุ้มอ่ะ)
ค่าบริการของห้องประชุมไม่เกิน 4 ชั่วโมง คิด 2000 บาท ถ้า 4-8 ชั่วโมง คิด 4000 บาท
และถ้าเกินกว่า 8 ชั่วโมงคิดอัตราชั่วโมงละ 500 บาท
(จริงๆ ค่าใช้งานห้องประชุมเฉลี่ยชั่วโมงบละ 500 บาทอยู่แล้ว)

เอาเป็นว่าวันนี้ผมก็ขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้แบบคร่าวๆ ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ
อยากให้เพื่อนๆ ลองมาใช้บริการกันดู แล้ววันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังใหม่หลังจากไปที่นี่บ่อยๆ แล้ว
ห้องสมุดดีๆ แบบนี้ ผมก็อยากแนะนำให้เพื่อนๆ มากันมากๆ เลยครับ นายห้องสมุดคอนเฟิมว่าดีจริงๆ


เว็บไซต์นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ : http://www.nitasrattanakosin.com/index.php

แอบโฆษณากิจกรรมที่น่าสนใจของห้องสมุดแห่งนี้นิดนึงนะครับ ห้องสมุดจะมีกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์? (ทุกวันศุกร์ 16.00-18.00)
วันที่ 5 และ 12 พ.ย. –> พวงกุญแจ “ดนตรีเริงรมย์”
วันที่ 19 พ.ย. –> กระทงแก้วเก้า
วันที่ 26 พ.ย. –> ที่คั่นหนังสือ “ดนตรีในดวงใจ”

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง หรืออยู่ใกล้ๆ แล้วอยากร่วมก็ขอเชิญนะครับ

ปล. ห้องสมุดแห่งนี้ภายในไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพนะครับ ผมเลยเก็บรูปมาได้ไม่มาก เอาไว้จะแอบถ่ายมาเรื่อยๆ แล้วกัน 555

นายบรรณารักษ์พาทัวร์ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนาน วันนี้ผมจึงขอจัดทริปเล็กๆ ในการไปเที่ยวห้องสมุดบ้างแล้วกันนะครับ
ห้องสมุดที่ผมจะพาไปวันนี้คือ ห้องสมุดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ครับ นั่นคือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง


นั่นเองห้องสมุดแห่งนี้อยู่ใกล้ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครับ เพื่อนๆ จะมารถเมล์ หรือลงรถไฟฟ้าแล้วเดินมาก็ได้นะครับ
พูดง่ายๆ ว่ามาที่นี่สะดวกมากๆ ครับ

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาห้องสมุดของกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งนะครับ
โครงสร้างอาคารแบ่งออกเป็นสองอาคารใหญ่ๆ แต่เชื่อมถึงกันนะครับ

ภายในอาคารแต่ละหลังมีบริการดังนี้
อาคาร 1 ชั้น 1? – เคาน์เตอร์บริการยืมคืน ฝากของ หนังสือพิมพ์ วารสาร มุมสืบค้น
อาคาร 1 ชั้น 2? – บริการที่นั่งอ่านหนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง หนังสือวิชาการ
อาคาร 1 ชั้น 3 – บริการที่นั่งอ่านหนังสือ นวนิยบาย เรื่องสั้น เรื่องแปล
อาคาร 2 ชั้น 1 – ห้องสมุดสำหรับเด็ก
อาคาร 2 ชั้น 2 – ห้องทำการบ้าน
อาคาร 2 ชั้น 3 – ห้องมินิเธียร์เตอร์ (ดูหนัง)

บริเวณลานกว้างด้านหน้าห้องสมุดมีไว้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยนะ
เพื่อนๆ คนไหนอยากจัดกิจกรรมกลางแจ้งก็ลองมาขอพื้นที่ดูนะครับ (ทำเรื่องไปที่ กทม เลย)
รับรองว่าที่นี่จัดกิจกรรมได้สะดวกมากๆ แถมอยู่ใจกลางเมืองด้วย


ห้องสมุดแห่งนี้ปิดวันจันทร์วันเดียวนะครับ วันอื่นๆ สามารถมาใช้บริการได้ตามปกติ
ห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ใช้บริการบ่อยๆ แหละครับ เพราะว่าห้องสมุดปิดบริการ 2 ทุ่ม
ผมมักจะมายืมหนังสือช่วงทุ่มกว่าๆ ประจำเพราะเป็นทางกลับบ้านผมด้วย

ที่นี่สมัครสมาชิกถูกมากครับ ปีนึง 10 บาท และค่ามัดจำหนังสือ 40 บาทเอง
รวมๆ แล้ว 50 บาทผมว่าคุ้มค่ามากๆ ยืมหนังสือได้ 2 เล่ม 1 สัปดาห์ หากคืนเกินก็เล่มละ 1 บาทครับ

หนังสือที่เพิ่งยืมล่าสุดพฤหัสที่แล้ว

เอาเป็นว่าผมขอแนะนำให้มาใช้บริการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้แห่งนี้นะครับ
สำหรับอาทิตย์หน้าผมจะพาไปห้องสมุดของ กทม อีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีครับ
อย่าลืมติดตามด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ผมคงจบทริปนี้ก่อนนะครับ

ชมภาพบรรยากาศภาพในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนางได้เลยครับ

[nggallery id=30]

ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีโฉมใหม่

ยังจำกันได้มั้ยครับว่าผมเคยแนะนำ “ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี” ไปแล้ว
ถ้าจำไม่ได้ลองอ่านที่เรื่อง “ทัวร์ห้องสมุดประชาชนอุบลราชธานี

ภาพจำลองห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ภาพจำลองห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

เป็นยังไงกันบ้างครับ จำกันได้หรือยัง

หลังจากที่โครงการศูนย์ความรู้กินได้เข้ามาปรับปรุง ออกแบบ และตกแต่งใหม่
วันนี้ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้เปลี่ยนไปอย่างที่ว่าเกือบจำไม่ได้เลยก็ว่าได้

ตอนนี้สถานที่พร้อมให้บริการผู้ใช้บริการแล้วนะครับ
และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 นี้แล้วด้วย

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอเอาภาพตัวอย่างมาให้เพื่อนๆ ดูกันก่อน
แล้วเดี๋ยวถ้ามีเวลา ผมจะเขียนแนะนำบริการใหม่ๆ ในห้องสมุดแห่งนี้ให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ

ไปดูรูปกันเลย

[nggallery id=25]

ปล. ถ้าอยากรู้ว่าเปลี่ยนแปลงแค่ไหนแนะนำให้ดูในเรื่อง “ทัวร์ห้องสมุดประชาชนอุบลราชธานี” ตามนะครับ

ภาพความทรงจำดีๆ ณ ห้องสมุด TK park

หลังจากที่เมื่อวานผมได้อัพเดท ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของห้องสมุด TK park ให้เพื่อนรู้กันแล้ว
วันนี้ผมขอนำภาพถ่ายความประทับใจและความทรงจำดีๆ ในห้องสมุด TK park มาลงให้เพื่อนๆ ดูนะครับ

memorial-in-tkpark

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุด
ชื่อห้องสมุด : อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park
ชื่อภาษาอังกฤษ : Thailand Knowledge Park
ที่อยู่ : ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ชั้น 8 Dazzle Zone
เว็บไซต์ : http://www.tkpark.or.th

ประวัติความเป็นมาของอุทยานการเรียนรู้ผมคงไม่เล่านะครับ เนื่องจากเพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://www.tkpark.or.th/tk/index.php?option=com_content&view=article&id=81&Itemid=165&lang=th

แต่ผมขอเราเรื่องราวที่ผมเข้าใช้บริการแทนแล้วกันนะครับ

ก่อนหน้าที่จะมี TK park ผมก็เพิ่งพาห้องสมุดอื่นๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หรือ ไม่ก็ห้องสมุดประชาชน นั่นแหละครับ
ซึ่งพอมี TK park เข้ามาทำให้ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับการมีห้องสมุดใหม่ๆ ในบ้านเรามากๆ เลยครับ

บรรยากาศที่ดี หนังสือที่ดี เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผมเริ่มติดใจในห้องสมุดแห่งนี้มากขึ้น
ผมสมัครสมาชิกเพื่อยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านบ้าง เอาโน้ตบุ๊คมาเล่นที่นี่บ้าง

ผมเคยพาเพื่อนจากต่างประเทศมาเที่ยวห้องสมุดที่นี่ด้วย
ซึ่งเขาก็ประทับใจมากๆ เลยถึงขั้นว่ายอมสมัครสมาชิกเลยด้วยซ้ำ

แม้ในช่วงหลังที่ผมทำงานหนักมากขึ้น ไม่ค่อยได้ใช้เวลาในห้องสมุดแห่งนี้นาน
แต่ผมก็จะมายืมหนังสือจากที่นี่แล้วก็นำกลับไปอ่านที่บ้านตลอด

Text book ด้านห้องสมุดและบรรณารักษ์ดีๆ ก็มีให้เลือกอ่านสมควรเลย
ตัวอย่างเช่น 2 เล่มด้านล่างนี้นะครับ มีทั้งเรื่อง การวางแผนกลยุทธ์ และการควบคุมคุณภาพในงานห้องสมุด

book

เอาเป็นว่าเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นที่นี่มากมาย สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้ห้องสมุดแห่งนี้ด้วยนะครับ

ไปชมภาพบรรยากาศดีๆ ในห้องสมุดแห่งนี้กันนะครับ

[nggallery id=24]

ปล. ภาพที่นำมาให้ชมเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อปีที่แล้วนะครับ

แนะนำห้องอ่านหนังสือชุมชนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วันนี้ผมขอแนะนำห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ รู้จักดีกว่า
ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้จัดสร้างและบริหารงานโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นั่นเอง

sac-reading-room

ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้ให้บริการด้านใดบ้าง
– หนังสือ
– วารสาร
– หนังสือพิมพ์
– วีดีโอ
– อินเทอร์เน็ต
– ข้อมูลตลิ่งชันศึกษา
– หนังสือด้านคุณธรรม

ใครๆ ก็สามารถเข้าใช้บริการที่นี่ได้ครับ และไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
บรรยากาศที่เย็นสบาย สื่อที่ทันสมัย บริการที่น่าประทับใจ แบบนี้ต้องมาลองครับ
กิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านที่นี่ก็จัดเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องอีก เยี่ยมไปเลยใช่มั้ยครับ

ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552
โดยให้บริการในวันจันทร์ ? ศุกร์ เวลา 7.00 ? 18.00 น. และวันเสาร์ เวลา 8.00 -17.00 น.

เอาเป็นว่าใครที่สนใจหรือว่างๆ อยากอ่านหนังสือก็สามารถแวะไปได้ที่
ห้องอ่านหนังสือชุมชนหน้าศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรแถวๆ ตลิ่งชันนะครับ

ใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อได้ที่ 02-8809429 ต่อ 3101

ปล.เรื่องนี้ผมได้ดองไว้มาหลายเดือนแล้วไม่ว่างที่จะเขียนแนะนำ ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ

ไปดูรูปภาพสวยๆ ของห้องอ่านหนังสือชุมชนกันหน่อยดีกว่า

[nggallery id=22]