เล่าเรื่องเก่า “ห้องสมุดสุดหรรษา (Happy Library)”

หลายคนชอบคิดว่าเรื่องห้องสมุดมีแต่เรื่องที่เป็นสาระ หรือไม่ก็เครียดๆ นะ
วันนี้ผมขอจึงขอแนะนำห้องสมุดในมุมมองบันเทิงบ้างนะครับ

library-happy

เมื่อปีที่แล้ว จำกันได้มั้ยครับว่ามีละครโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับห้องสมุดด้วย
ชื่อเรื่องว่า “ห้องสมุดสุดหรรษา (Happy Library)” เอาเป็นว่าผมจะมาย้อนเรื่องราวของละครเรื่องนี้นะครับ

ชื่อเรื่อง : ห้องสมุดสุดหรรษา (Happy Library)
ออกอากาศ : วันเสาร์ เวลา 13.00 น. สถานีโทรทํศน์ช่อง 7
กำกับการแสดง : ปัญญา ชุมฤทธิ์

นักแสดงในเรื่อง

1. ภาณุ สุวรรณโณ แสดงเป็น โอ๊ค
2. ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ แสดงเป็น ฝุ่น
3. ศรุต วิจิตรานนท์ แสดงเป็น นัท
4. ภารดี อยู่ผาสุข แสดงเป็น นุ่น
5. อติมา ธนเสนีวัฒน์ แสดงเป็น แนนนี่
6. เกริก ชิลเลอร์ แสดงเป็น นิรันดร์
7. วิภาวี เจริญปุระ แสดงเป็น แม่ไฝ
8. ญาณี ตราโมท แสดงเป็น อาจารย์สมศักดิ์
9. ชลิต เฟื่องอารมย์ แสดงเป็น ลุงเกริก
10. เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ แสดงเป็น เจ้หงส์
11. ปัญญาพล เดชสงค์ แสดงเป็น เก๋ง
12. นเรศ วีเดนมันน์ แสดงเป็น มาร์ค
13. อัครพงศ์ วาทีมงคล แสดงเป็น จู้
14. ดารณีนุช โพธิปิติ แสดงเป็น คุณตุ๊ก

เนื้อเรื่องย่อ

ชีวิต สุดหรรษาของสาวน้อย ฝุ่น(แตงโม-ภัทรธิดา) ผู้กำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและใฝ่ฝันที่จะเปิดร้านหนังสือ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้อ่านหนังสือ ฝุ่นเป็นลูกสาวคนเดียวของแม่ไฝ(กุ้ง-วิภาวี) เจ้าแม่สำนักทรงเจ้า ฝุ่นไม่ชอบที่แม่ทำอาชีพนี้ทำให้ฝุ่นมีเรื่องทะเลาะกับแม่อยู่บ่อยๆ ฝุ่นพยายามทั้งเรียนละทำงานหนักเพื่อเก็บเงินเปิดร้านหนังสือ ฝุ่นมี นัท(บิ๊ก-ศรุต) เป็นชายหนุ่มรู้ใจ ฝุ่นเอาเงินเก็บทั้งหมดไปเซ้งร้านต่อจากเฮียเม้ง โดยไม่รู้ว่าร้านเฮียเม้งเป็นหนี้อยู่ท่วมหัว ในที่สุดฝุ่นก็ได้เปิดร้านหนังสือ บุ๊คการ์เด้น โดยมี จู้(อัครพงศ์) เป็นสมุนช่วยงานที่ร้าน ฝุ่นมีคู่ปรับคนสำคัญคือ โอ๊ค(อู-ภาณุ) ซึ่งมักดูถูกฝุ่นว่าไม่สามารถพัฒนาร้านหนังสือให้เจริญได้ ฝุ่นเปิดร้านได้อาทิตย์เดียวหนี้สินที่ค้างชำระก็ทำให้ฝุ่นปวดหัว ฝุ่นเปิดร้านได้สามวันมีลูกค้าหนึ่งคน ฝุ่นไปกู้เงินนายเก๋ง(เอ-ปัญญาพล) ดอกโหดแต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น สุดท้ายฝุ่นจึงตัดสินใจละทิ้งความคิดเดิมๆ เธอเปลี่ยนร้านหนังสือที่กำลังจะเจ๊ง ให้เป็นห้องสมุดชุมชนแทน

เรื่อง ราววุ่นๆของห้องสมุดสุดหรรษาจึงเริ่มขึ้น เมื่อเก๋งเจ้าพ่อเงินกู้ตกหลุมรักฝุ่น นิรันดร์(เกริก ชิลเลอร์) เจ้าของร้านกาแฟก็มาเสนอเปิดมุมกาแฟ ตามด้วยคุณตุ๊ก(ท๊อป-ดารณีนุช) ที่เข้ามาเสนอขายของมากมาย ต่อด้วยลุงเกริก(ตุ่ม-ชลิต) ที่เข้ามาเปิดโต๊ะดูดวง ส่วนนัทกับนุ่น(เปิ้ล-ภารดี) สองพี่น้องก็เสนอให้มีมุมอินเตอร์เนท ด้วยเหตุนี้เองทำให้ฝุ่นมีศัตรูคนสำคัญ คือเจ้หงส์(จิ๊ก-เนาวรัตน์) และสุดท้ายคนที่ทำให้หัวใจของฝุ่นหวั่นไหวกลับเป็น มาร์ค(มาร์คุซ) พิธีกรหนุ่มรูปหล่อเพื่อนสมัยเรียน ปัญหาเรื่องห้องสมุด และปัญหาเรื่องหัวใจ ทำให้ฝุ่นต้องพยายามหาทางออก

เนื้อเรื่องย่อ ในแต่ละตอน สามารถหาอ่านได้ที่

http://www.ch7.com/Entertain/Drama_Story.aspx?ContentID=1061
http://www.numwan.com/drama/view.asp?GID=240

ฟังเพลงและเนื้อเพลงประกอบละคร ห้องสมุดสุดหรรษา

เพลง เพียงแค่ใจเรารักกัน โดย ป๊อบ (Calories Blah Blah)
http://www.ijigg.com/songs/V2CF0ED0PB0

เพลงใจหายไปเลย โดย KAL แคล คาโรลีน
http://www.ijigg.com/songs/V2C77DDBPA0

เป็นยังไงกันบ้างครับกับบทละครที่เกี่ยวกับห้องสมุดเรื่องนี้
เอาเป็นว่าถ้าใครยังไม่ได้ดูก็ลองหาดูได้จาก youtube นะครับ

ห้องสมุดที่ทำงานตามกระแสคอมพิวเตอร์

เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในห้องสมุดมีหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ เครือข่ายล่ม ไวรัสลงคอมพิวเตอร์
จนทำให้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของเราต้องหยุดทำงานและไม่สามารถปฏิบัติงานได้

problem-computer-library

หากเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ทุกคนก็คงบอกว่า ?สบายมาก พักแป๊บนึงก็ได้ เดี๋ยวมันก็ใช้ได้แล้ว?
แต่เหตุการณ์แบบนั้นผมคงไม่พูดถึงหรอกเพราะมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรา
แต่สำหรับบางที่และบางกรณีที่เป็นเหตุให้ระบบไม่สามารถใช้งานได้เป็นวันหรือหลายวัน

ห้องสมุดของท่านมีแผนสำรองในการปฏิบัติงานหรือไม่ หรือว่าต้องปิดห้องสมุดด้วยเลย แล้วมันจะดีหรอ

ระบบงานบางอย่างที่ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวถ้าใช้คอมไม่ได้จะทำไง
เช่น หากระบบใช้ไม่ได้ การยืม คืนหนังสือของผู้ใช้บริการจะทำอย่างไร
หากต้อง catalog หนังสือให้เสร็จคุณจะทำงานอย่างไร
บรรณารักษ์อย่างพวกคุณมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะต้องเพิ่งพิงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

อันที่จริงผมก็รู้อยู่แล้วหล่ะว่าบรรณารักษ์เรามีวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีด้วย
แต่บางที่ ที่ผมเจอบางทีพอระบบยืม คืนเสีย ห้องสมุดนั้นประกาศไม่ให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือไปด้วย
ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกยังไงก็ไม่รู้ ทำไมเราต้องอิงกับคอมพิวเตอร์หล่ะ

จำได้หรือเปล่าครับว่า…สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เรายังทำงานกันได้เลย มิใช่หรือ

วิธีการแก้ง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำสถาบันเหล่านั้นนะครับ
ง่ายมาแค่คุณจดรหัสผู้ยืม รหัสบาร์โค้ตของหนังสือ ประทับตราวันที่ยืม และประทับตราวันที่คืน
ลงกระดาษหรือไม่ก็อาจจะทำเป็นแบบหนังสือการยืม
ส่วนการคืนทำงานกว่าก็คือ ประทับตราวันที่คืน กับรหัสบาร์โค้ตของหนังสือก็เท่านั้นเอง
แต่ต้องดูเรื่องค่าปรับด้วยนะครับ แต่ถ้าดูไม่ได้ก็รอจนกว่าระบบจะใช้ได้แล้วส่งบิลแจ้งยอดให้กับผู้ใช้วันหลัง

ซึ่งพฤติกรรมของห้องสมุดที่ไม่ยอมทำงานเพราะว่าเปิดตามกระแสคอมพิวเตอร์
ผมพูดในเชิงประชดว่า คุณเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เก่งมาก
เพราะว่าพอคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้คุณก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พักผ่อนเพราะว่าทำอะไรไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมว่าปิดห้องสมุดไปเถอะครับ

เพราะว่าคติของบรรณารักษ์ที่ดีคือต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
ไม่ใช่อิงความสะดวกสบายของบรรณารักษ์นะครับ

ฝากไว้ให้คิดกันนิดนึง ห้องสมุดส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าดีอยู่แล้ว
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง ค่อยๆ ปรับและหาวิธีการแก้ปัญหา และควรมีแผนงานสำรองเตรียมไว้ด้วยนะครับ

ห้องสมุดแห่งนี้อเนกประสงค์เกินไปหรือปล่าว

เพื่อนๆ หลายคนชอบบอกผมว่า อยากให้ห้องสมุดบริการทุกๆ อย่าง หรือ ประมาณว่าอเนกประสงค์เลยก็ดี
วันนี้ผมก็เลยขอเอาประเด็นห้องสมุดอเนกประสงค์ มาเล่าให้ฟังอีกที (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ นะครับ)

everything-in-library

สมมตินะครับ…สมมติ หากว่าห้องสมุดของเพื่อนๆ อเนกประสงค์แบบนี้ เพื่อนๆ ว่ามันดีหรือปล่าว

1. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นห้องเรียนได้ อาจารย์สามารถขอใช้วัสดุจากจากห้องสมุดได้
เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ วารสารเก่าๆ และก็ตัดกันอย่างสนุกสนานในห้องสมุด

2. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นคลังเก็บรวบรวมข้อสอบได้ โดยที่บรรณารักษ์เป็นผู้ตรวจสอบและเก็บให้
พออาจารย์หาข้อสอบเก่าๆ ไม่เจอก็มาโทษบรรณารักษ์และห้องสมุด

3. ห้องสมุดทำหน้าที่จัดกรรมการคุมสอบได้อีก อาจารย์ที่คุมสอบต้องมาลงชื่อที่ห้องสมุดในช่วงสอบ
ส่วนอาจารย์สำรองก็ต้องมานั่งรอในห้องสมุด สรุปว่าห้องสมุดทำหน้าที่ได้เหมือนหน่วยคุมสอบ

4. เวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร สามารถมายืมโต๊ะ เก้าอี้ที่ห้องสมุดได้
ส่วนผู้ที่ใช้ห้องสมุดคนอื่นก็นั่งพื้น หรือ ยืนอ่านแล้วกันนะครับ

5. เวลาปิดเทอมห้องสมุดต้องเตรียมสถานที่ไว้เพื่อใช้ในงานอื่นโดย
ต้องเก็บหนังสือออกจากชั้นและทำการจัดหนังสือใหม่ทุกครั้งเมื่อเปิดเทอม

6. เวลานักเรียนจะจบก็จะมาถ่ายรูปที่ห้องสมุดโดยใช้ห้องอ้างอิงเพื่อการถ่ายรูป
ส่วนนักเรียนที่รอถ่ายรูปก็จะเดินไปเดินมาและคิดว่าห้องสมุดเป็นตลาดซะก็สบายใจ

7. ใช้เป็นที่ลงทะเบียนของนักเรียนทุกๆ เทอม

8. ใช้เป็นสถานที่สัมภาษณ์งานของฝ่ายบุคคลด้วย โดยใช้ห้องโสตฯในการสัมภาษณ์

9. ห้องนอน ห้องพักผ่อน อยู่ที่ห้องสมุดทั้งนั้นเลย

10. และอื่นๆ อีก

ปล. บรรณารักษ์ที่ทำงานที่นี่ ไม่ได้อยากให้ห้องสมุดเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เอง
เนื่องจากนโยบายจากผู้บริหารได้มีคำสั่งออกมาเพื่อใช้ห้องสมุดในการดังกล่าวข้างต้น

เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดแบบนี้แก้ไขอย่างไร เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดของเพื่อนๆ เป็นแบบนี้หรือปล่าว
สรุปแล้วที่เล่ามา เพื่อนๆ ว่าห้องสมุดอเนกประสงค์อย่างนี้ดีมั้ยครับ

คุณครูสามารถพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุดได้ แต่…

เรื่องเก่าเล่าใหม่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของห้องสมุดสถานศึกษานะครับ
หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการที่คุณครูพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุนะครับ
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาดีกว่า

teacher-in-library

แต่ก่อนอื่นมาฟังเรื่องราวที่เกิดกับผมก่อนดีกว่า…

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในคาบวิชาสังคมศึกษา ของระดับชั้น…
คุณครูที่สอนในวิชานี้ได้นำนักเรียนในห้องที่สอนมาที่ห้องสมุด
และบอกกับบรรณารักษ์ว่า “จะนำนักเรียนมาหาข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อให้เด็กทำรายงาน”
โดยขอให้บรรณารักษ์ช่วยเตรียมหนังสือพิมพ์เก่าๆ ให้หน่อย เพื่อให้เด็กๆ หาข่าว และตัดข่าวได้
บรรณารักษ์ก็ได้จัดเตรียมให้ตามคำขอของคุณครูท่านนี้

หลังจากที่คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนเสร็จ
นักเรียนก็แยกย้ายกันไปทำงานตามโต๊ะของตัวเอง

จากนั้นบรรยากาศความสนุกสนานก็เกิดขึ้น นักเรียนทำงานไปก็คุยไป ตะโกนคุยกันไปมา
จนผู้ใช้บางส่วนที่เป็นคุณครูก็เข้ามาบอกบรรณารักษ์ว่าให้ช่วยตักเตือนนักเรียนเหล่านี้หน่อย
บรรณารักษ์ก็เดินไปเตือนหลายครั้ง เตือนทีก็เงียบที พอบรรณารักษ์เดินกลับมาเสียงก็ดังอีก

ส่วนคุณครูที่มอบหมายงานให้นักเรียนนั้น ก็นั่งอ่านนวนิยายตามสบาย โดยที่ไม่เตือนลูกศิษย์กันเลย

พอหมดคาบคุณครูท่านนี้ก็เช็คชื่อนักเรียน โดยการเรียกชื่อทีละคน
ซึ่งการเรียกชื่อของคุณครูท่านนี้คงกะว่าไม่ว่านักเรียนจะอยู่ส่วนไหนของห้องสมุด ก็คงต้องได้ยิน
เนื่องจากพลังเสียงของคุณครูท่านนี้ดีมาก เรียกทีเดียวคนหันมามองทั้งห้องสมุดเลย

พอคุณครูท่านนี้พานักเรียนกลับไปแล้ว บรรณารักษ์ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ
คือ หนังสือพิมพ์ที่ตัดกันเกลื่อนกลาดไม่ยอมเก็บให้ด้วย ต้องให้บรรณารักษืมาตามเก็บทีหลังอีก

สำหรับความคิดของผมแล้ว การที่คุณครูพานักเรียนมาที่ห้องสมุดผมถือว่าดีนะครับ
เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดด้วย

แต่ถ้าคุณครูจะสอนหนังสือไปด้วย ผมว่าคุณครูกลับไปสอนที่ห้องเรียนน่าจะดีกว่านะครับ

ถ้าในห้องเรียนไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็มาบอกกับบรรณารักษ์ได้ครับ เดี๋ยวบรรณารักษ์จัดไปส่งถึงที่เลย
อย่างน้อยห้องเรียนคงเสียงดังได้มากกว่าห้องสมุด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ
และคุณครูครับ การมอบหมายงานกรุณามอบหมายให้เสร็จในห้องเรียนไม่ใช่มามอบหมายที่ห้องสมุดครับ

ลด ละ เลิกการใช้เสียงเถอะครับไม่ต้องคิดถึงบรรณารักษ์ก็ได้
แต่อยากให้คิดถึงผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ

เรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดกับห้องสมุดแห่งนี้

ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ผมเลยขอเอามาให้เพื่อนๆ ช่วยวิจารณ์กันหน่อยแล้วกัน
เนื่องจากองค์กรแห่งนี้เน้นเทคโนโลยีต่างๆ นานาในสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคยสนใจห้องสมุด

technology-lib

แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกเน้นให้เกิดในองค์กร แต่ก็ถูกละเลยจากบุคลากรในองค์กรอยู่ดี เช่น

– การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี VOIP แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้
– แจก Ipod ให้บุคลากรแต่ใช้ไม่เป็น
– อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีไว้โหลดหนัง โหลดเพลง
– มีการจัดสอบวัดความรู้ด้านไอทีในองค์กร แต่สามารถส่งตัวแทนไปสอบได้
– ระบบการให้บริการด้วยเว้บไซต์ออนไลน์ แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไม่เป็นสุดท้ายก็ต้องเดินมาที่แผนก
– เว็บไซต์องค์กรที่ไม่เคยอัพเดทเลย

นี่คือสิ่งที่องค์กรตอบสนองให้บุคลากรในหน่วยงาน แต่สิ่งที่ได้มาคือความไร้ค่ามากๆ
บ้างก็ใช้ไม่เป็น บ้างก็นำไปใช้ผิดจุดประสงค์ กลุ้มใจแทนองค์กรเลยครับ

ทีนี้หันมาดูที่ห้องสมุดบ้างดีกว่า
1. มีคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการสืบค้น (ที่โต๊ะบรรณารักษ์เท่านั้น)
2. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นระบบที่ใช้ได้เสถียรที่สุด และไม่ยืดหยุ่นให้ใคร (วันหยุดก็จะคิดค่าปรับแถมให้ด้วย)
3. เครื่องทำสำเนาของสื่อโสตฯ ทำได้ (แต่เอากลับบ้านไปทำนะบรรณารักษ์)
4. ชั้นหนังสือมีจำนวนมาก (แต่หนังสือมากกว่า)
5. มีสื่อโสตฯ มากมาย (เอากลับไปดูที่บ้านนะครับ)
6. มีเว็บห้องสมุด (แต่ต้องไปฝากคนอื่นเอาขึ้น server)

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ
แต่ขอเอาไว้เล่าให้ฟังต่อคราวหน้าดีกว่า เพราะแค่นี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งสลดแล้ว

สุดท้ายก็ขอฝากให้เพื่อนๆ ช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่าสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

หาหนังสืออ่านเล่นใน Google books search ดีกว่า

เรื่องนี้เขียนมานานแล้ว แต่อยากให้อ่านกันอีกสักรอบครับ
เกี่ยวกับการสืบค้นหนังสือโดยเฉพาะพวก text book ในเว็บไซต์ Google Books Search

textbook

ทำไมผมต้องแนะนำให้ใช้ Google Books Search หรอ….สาเหตุก็มาจาก :-
ข้อจำกัดของการใช้ Web OPAC ที่สืบค้นได้แต่ให้ข้อมูลเพียงแค่รายการบรรณานุกรมของหนังสือเท่านั้น
แต่ไม่สามารถอ่านเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้นได้ เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงต้องเดินทางมายืมหนังสือที่ห้องสมุด
แต่ลองคิดสิครับว่าถ้าห้องสมุดปิด เพื่อนๆ จะอ่านเนื้อเรืองของหนังสือเล่มนั้นได้ที่ไหน

และนี่คือที่มาของการสืบค้นหนังสือบนโลกออนไลน์

ปัจจุบัน Search Engine ที่มีผู้ใช้งานในลำดับต้นๆ ของโลก ทุกคนคงจะนึกถึง Google
เวลาที่เราต้องการข้อมูลอะไรก็ตามเราก็จะเริ่มที่หน้าของ Google แล้วพิมพ์คำที่เราต้องการค้น เช่น ระบบสารสนเทศ
ผลของการสืบค้นจากการใช้ Search Engine จะมีสารสนเทศจำนวนมากถูกค้นออกมา
เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ ผู้ใช้สามารถได้เนื้อหาและข้อมูลในทันที แต่เราจะเชื่อถือข้อมูลได้มากเพียงไรขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของข้อมูล
รวมถึงเราจะนำข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตไปอ้างอิงประกอบได้หรือไม่
แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเอกสารที่เราสืบค้นมีใครเป็นผู้แต่งที่แท้จริง

googlebooks

Google Book Search – http://books.google.com/
เป็นบริการใหม่ของ Google ที่ให้บริการในการสืบค้นหนังสืออิเล็ทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
ซึ่งผลจาก การสืบค้นปรากฎว่าได้สารสนเทศแบบเต็ม (Full-text Search)
ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ทำงานวิจัยอาจารย์ นักศึกษา สามารถค้นหนังสือและอ่านหนังสือได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านถานที่และเวลา

ยกตัวอย่างจาก นาย ก. เช่นเดิมที่ค้นหนังสือสารสนเทศในตอนเที่ยงคืนของวันอาทิตย์
หากนาย ก. ใช้บริการ Google Books Search ในตอนนั้น นาย ก. ก็จะได้ข้อมูลในทันที ไม่ต้องรอมาที่ห้องสมุด

แต่อย่างไรก็ตาม Google Books Search ยังมีข้อจำกัดหนึ่งสำหรับคนไทยคือ
ยังไม่สามารถสืบค้นหนังสือฉบับภาษาไทยได้ ดังนั้นหนังสือที่ค้นได้จะอยู่ในภาษาอื่นๆ เท่านั้น
คนไทยคงต้องรอกันอีกสักระยะมั้งครับถึงจะใช้ได้อย่างสมบูรณ์

แต่ถ้าอนาคต Google ทำให้สามารถค้นหนังสือภาษาไทยได้ถึงต่อนั้น
Google คงเป็นหนึ่งในคู่แข่งของห้องสมุดแน่ๆ อีกไม่นานต้องรอดูกันไป

ปล. มีบทความนึงที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่อง Full-text Searching in Books
เป็นบทความที่พูดถึง Google Books Search และ Live Search Books

วันนี้ผมขอแนะนำเพียงเล็กน้อยไว้วันหลังผมจะมา demo
และสอนเทคนิคการสืบค้นอย่างสมบูรณืแล้วกันนะครับ

ผู้ชายก็เป็นบรรณารักษ์ได้นะ…

เพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยและถามผมอยู่เสมอว่า “ทำไมผู้ชายถึงไม่ค่อยเรียนบรรณารักษ์”
หรือไม่บางคนก็ถามว่า “วิชาชีพบรรณารักษ์ทำไมไม่ค่อยมีผู้ชาย” วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
เกี่ยวกับเรื่องมุมมองของคนส่วนใหญ่ต่อ อาชีพบรรณารักษ์ และ ผู้ชาย

librarian-male

เริ่มจากในสมัยที่ผมเรียนบรรณารักษืก่อนแล้วกันนะครับ
เพื่อนๆ เชื่อหรือไม่ว่า 4 ปี รวมกันมีเพศชายแค่ 10 คนเท่านั้นเอง
ซึ่งถ้าเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ ถือว่าน้อยมากๆ

หลังจากที่ผมเรียนจบแล้ว ได้ไปสมัครงานบรรณารักษ์หลายๆ ที่
ผมมักเจอคำถามลักษณะนี้บ่อยมากว่า ?ผู้ชายแท้หรือปล่าว ทำไมถึงเลือกเรียนและมาเป็นบรรณารักษ์?
ตอนแรกผมก็อึ้งไปนิดหน่อยเพราะไม่คิดว่าเขาจะล้อเล่นได้แรงแบบนี้
แต่พอได้คุยกับหลายๆ คน ผมก็เริ่มเข้าใจครับว่า คงเป็นเพราะมุมมองของวิชาชีพหล่ะมั้ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์เป็นอาชีพหนึ่งที่มีผู้หญิงทำงานเยอะ หรือมีค่านิยมในการทำงานนั่นเอง
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิง เช่น พยาบาล บรรณารักษ์ ฯลฯ
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย เช่น ตำรวจ ทหาร ฯลฯ

ขอเล่าต่อนะครับ ที่ทำงานบางแห่งถามผมว่า “ผู้ชายสามารถเป็นบรรณารักษ์ได้ด้วยหรอ”
ผมก็ตอบไปว่า ?ต้องทำได้สิครับ เพราะว่าผมเรียนจบมาด้านนี้ แถมมันก็เป็นอาชีพที่ผมรักด้วย ทำไมถึงจะทำไม่ได้?
เค้าก็ตอบว่า ?ผู้หญิงน่าจะเป็นบรรณารักษ์ได้ดีกว่าผู้ชาย? ตกลงมันเป็นแบบนี้จริงหรอ

นอกจากนี้ในใบประกาศรับสมัครงานขององค์กรบางแห่ง ได้มีการระบุว่ารับสมัครบรรณารักษ์ที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น
ผมก็แปลกใจว่าทำไมถึงต้องระบุคุณสมบัติว่า เฉพาะเพศหญิง บางทีองค์กรนี้อาจจะมีเหตุผลสักอย่าง ซึ่งผมยังไม่เข้าใจ

ที่ร้ายแรงกว่านั้นยังมีอีกกรณีหนึ่งครับ เนื่องจากผมมีเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลขององค์กรแห่งหนึ่ง
พอผมถามถึงเรื่องนี้ เขาก็ตอบว่า ?ก็เป็นปกติที่เวลารับบรรณารักษ์ เขาจะดูผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย?

ผมจึงถามต่อว่าทำไมหล่ะ ก็ได้คำตอบว่า
?เพราะว่าผู้หญิงทำงานละเอียดกว่าผู้ชาย และมีการบริการที่สุภาพ อ่อนโยน และดึงดูดผู้ใช้บริการได้?
เอาเป็นว่ายังไงๆ ถ้าองค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ องค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ผู้หญิงเท่านั้น

เอาเป็นว่าที่กล่าวมาก็เป็นเพียงบางองค์กรเท่านั้นนะครับ

จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้หรอกนะครับ แต่เพราะว่าในสิ่งที่เพื่อนผมตอบมาให้ฟังนั้น
บางทีผมก็รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่หรอก เพราะ “เพื่อนชายบางคนที่ผมรู้จักเขาก็ทำงานแบบว่าละเอียดกว่าผู้หญิง” ก็มี
เรื่องการบริการ บรรณารักษ์ทุกคนที่เรียนมักจะถูกสอนมาอยู่แล้วว่าเราต้อง service mind อยู่แล้ว
ส่วนสุดท้ายผมคงเถียงไม่ได้ เนื่องจากเพศชายยังไงๆ ก็ไม่สามารถดึงดูดใครเข้าห้องสมุดได้
และอีกอย่างการจะดึงดูดใครเข้าห้องสมุดมันไม่ใช่แค่เรื่องว่าเพศหญิงหรือเพศชาย
แต่มันขึ้นอยู่กับภาพรวมของห้องสมุดว่าสามารถบริการและตอบสนองผู้ใช้บริการมากที่สุดหรือไม่

สรุปจากเรื่องนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายก็สามารถทำงานบรรณารักษ์ได้ทั้งนั่นแหละ
และจะทำงานดีหรือไม่ดียังไง มันขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมการให้บริการของแต่ละคนไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพศ

หมายเหตุก่อนจบ ผมยืนยันครับว่า ผมเป็นผู้ชาย 100% ที่ทำงานบรรณารักษ์นะครับ

ความสัมพันธ์ระหว่างงานห้องสมุดกับงานฝ่ายบุคคล

เรื่องราวที่ผมกำลังจะเขียนต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่ผมทำงานเป็นบรรณารักษ์ให้องค์กรแห่งหนึ่งอยู่
และผมเชื่อว่าห้องสมุดภายในองค์กรหลายๆ แห่งมักประสบปัญหานี้เช่นกัน (องค์กรที่มีห้องสมุดให้บริการคนภายใน)

hr-library

เมื่อบุคลากรคนหนึ่งลาออกไปแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลไม่แจ้งให้ห้องสมุดทราบ
วันดีคืนดีห้องสมุดมาตรวจสอบข้อมูลอีกที ก็พบว่าบุคลากรที่ลาออกคนนั้นมีหนังสือค้างส่ง
ซึ่งถ้าเป็นหนังสือทั่วไปค้างส่งคงไม่เท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนังสือที่ค้างส่งที่เป็น text book ราคาแพงและหลายเล่มด้วย
และเมื่อขอข้อมูลจากผ่านบุคคลและติดต่อไปยังบุคลากรคนนั้นกลับติดต่อไม่ได้

ห้องสมุดเกิดความเสียหายเนื่องจากบุคลากรลาออกไปหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหา…

ห้องสมุดพยายามทำเรื่องไปให้ฝ่ายบุคคลหลายรอบแล้ว (เรื่อง ขอตรวจสอบสถานะการยืมของบุคลากรที่มีความประสงค์จะลาออก)
แต่กลับถูกเมินเฉย และต่อว่ากลับมาว่า “เป็นหน้าที่ของห้องสมุดที่ต้องทวงถามการยืมจากบุคลากรเอง
แต่เมื่อชี้แจงว่า “ในเมื่อห้องสมุดมิอาจจะทราบได้ว่าเดือนนี้ใครจะลาออกบ้างแล้วจะให้ห้องสมุดทำอย่างไร
กลับได้รับคำตอบว่า “ห้องสมุดก็ต้องมาตรวจสอบจากฝ่ายบุคคลเอง

สรุปง่ายๆ หน้าที่ของห้องสมุดนอกเหนือจากงานที่ต้องดูแลหนังสือแล้ว
ยังต้องมาดูแลว่าบุคลากรคนไหนจะลาออกเมื่อไหร่และก็ต้องตามเช็คให้อีก
มันถูกต้องหรือไม่ อันนี้ผมคงไม่อยากให้ความเห็น
เพราะว่าผมคิดว่าเพื่อนๆ คงคิดกันได้ว่าใครควรรับผิดชอบงานอะไรกันแน่

เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ลองอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนด้านล่างดูนะครับ

ห้องสมุดควรจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของตัวเอง
เช่นฝ่ายการเงิน / ฝ่ายบุคคล เพื่อพูดคุยและตกลงข้อกำหนดต่างๆ ร่วมกัน
มิใช่ผลักภาระและปัญหาให้กันอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้

เมื่อมีบุคลากรมาขอลาออก คนๆ นั้นก็จะยื่นเรื่องขอลาออกที่ฝ่ายบุคคล
ฝ่ายบุคคลก็จะควรตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคนๆ นั้นที่มีต่อองค์กร
โดยทั่วไปฝ่ายบุคคลก็จะติดต่อไปยังฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายตรวจสอบวัสดุ ฝ่ายการเงินและควรติดต่อกับห้องสมุดด้วย

ฝ่ายห้องสมุดก็จะได้ตรวจสอบหนังสือค้างส่งและค่าปรับค้างชำระของบุคลากรท่านนั้นด้วย
หากไม่ทำเช่นนี้แล้ว เมื่อบุคลากรท่านนั้นลาออกไปแล้ว ห้องสมุดจะไม่รู้เรื่องเลยและหนังสือที่มีคุณค่าก็จะกลายเป็นหนังสือสูญหาย

เอาเป็นว่าการพูดคุยทำความเข้าใจในหน้าที่ จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้
หากพูดคุยกันแล้วมีเรื่องถกเถียงกันก็ให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ก็ได้นะครับ

นี่ก็เป็นเพียงข้อเสนอของผม และเรื่องราวที่อยากเล่าสู่กันฟังก็เท่านั้นเอง

บรรณารักษ์กับเว็บไซต์ถามตอบ

วันนี้ขอนำเสนอบทความเก่าขอเล่าใหม่อีกสักเรื่องนะครับ…
ชื่อบทความนี้ คือ Librarians Eat Questions for Breakfast ซึ่งบทความนี้ผมอ่านเจอใน LISNews
โดยเนื้อหาหลักๆ ของบทความนี้ คือ บทบาทของบรรณารักษ์กับเว็บไซต์ถามตอบต่างๆ

answersite-librarian

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับถามตอบ เช่น
Yahoo! Answer – http://answers.yahoo.com/
Ask MetaFilter – http://ask.metafilter.com/
Wikipedia Reference Desk – http://en.wikipedia.org/wiki/Wikipedia:Reference_desk/

มีผลสำรวจจากเว็บไซต์เหล่านี้ พบว่า ผู้ที่เข้ามาตอบคำถามจำนวนหนึ่งเป็นบรรณารักษ์นั่นเอง
ซึ่งคำตอบเหล่านี้นับว่าเป็นคำตอบที่มีคุณภาพมากและช่วยผู้ใช้ได้มากเลยทีเดียว

จากวัฒนธรรมในการถามและตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้
ทำให้มีห้องสมุดจำนวนไม่น้อยนำความคิดดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในงานบริการห้องสมุดแบบเสมือน (Virtual Library)
โดยบรรณารักษ์จะตั้งคำถามและตอบคำถามต่างๆ ผ่านทางระบบห้องสมุดแบบเสมือน (Virtual Library) นั่นเอง

การประยุกต์ใช้งานเว็บไซต์ถามตอบ
เริ่มจากผู้ใช้บริการเข้ามาตั้งคำถามที่ระบบห้องสมุดแบบเสมือน (Virtual Library) ซึ่งอาจจะนำมารวมกับระบบเว็บไซต์ของห้องสมุดก็ได้
โดยหลักการตั้งคำถามของผู้ใช้บริการ ระบบจะต้องครอบคลุมเนื้อหาในชีวิตประจำวันและเรื่องสารสนเทศต่างๆ ด้วย
และเมื่อบรรณารักษ์มาทำงานในช่วงเช้าของแต่ละวัน บรรณารักษ์ก็จะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้กับผู้ใช้บริการ

เมื่อบรรณารักษ์ปฏิบัติแบบนี้ทุกวัน บรรณารักษ์ก็จะได้ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นได้
อุปมาว่าอาหารเช้าของบรรณารักษ์เหล่านี้ก็คือความรู้ต่างๆ มากมายจากผู้ใช้บริการนั่นเอง

คำถามที่ผู้ใช้บริการมักจะถาม แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
– คำถามด้านสารสนเทศ —> บรรณารักษ์สามารถหาคำตอบได้ในห้องสมุด
– คำถามอื่นๆ —> บรรณารักษ์ก็สามารถหาคำตอบหรือตั้งคำถามได้ใน Answer site ต่างๆ ได้

สำหรับความเห็นของผมนะครับ ผมว่ามันก็ดีเหมือนกัน ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้บรรณารักษ์ด้วย
เนื่องจากปกติบริการตอบคำถามส่วนใหญ่บรรณารักษ์จะเจอคำถามที่อยู่ในห้องสมุดเพียงเท่านั้น
แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถถามข้อมูลได้ทุกเรื่องบรรณารักษ์ก็จะได้เปิดความคิดใหม่ๆ ไปด้วย

เพื่อนๆ ว่ามั้ยหล่ะครับ

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ (NLM Classification)

การจัดหมวดหมู่หนังสือตามมาตรฐานของห้องสมุดมีอยู่หลายรูปแบบ
แล้วแต่ว่าเพื่อนๆ จะเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับห้องสมุดของเพื่อนๆ เอง
วันนี้ผมจึงขอนำเสนอการจัดหมวดหมู่ทางการแพทย์ให้เพื่อนๆ รู้จักนะครับ

nlm

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม NLM
หรือชื่อเต็มๆ คือ National Library of Medicine นั่นเอง

ประวัติของการจัดหมวดหมู่แบบ NLM
เกิดจาก Army Medical Library ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องการจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดในปี 1944
ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่หนังสือโดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข (ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแอลซี)
และได้เสนอแนะให้ห้องสมุดทางการแพทย์มีการจัดหมวดหมู่ในลักษณะดังกล่าว
จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ขึ้น

ซึ่งทำให้ได้แม่แบบในการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ฉบับแรกขึ้น ในปี 1948
โดยพัฒนามาจากการจัดหมวดหมู่แบบแอลซีนั่นเอง

การปรับปรุงหมวดหมู่ต่างๆ ใน NLM Classification ก็มีการปรับปรุงมาโดยตลอด
เนื่องจากในวงการแพทย์ก็มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดเช่นเดียวกับด้านเทคโนโลยี

ในปี 2002 ก็มีการจัดทำเว็บไซต์และตีพิมพ์ข้อมูลของการจัดหมวดหมู่ทางการแพทย์ขึ้น
ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.nlm.nih.gov/class/index.html

การจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์ โดยทั่วไปจะใช้ตัวอักษรหลัก 2 ตัว คือ Q และ W

โดยแต่ละตัวอักษรสามารถแบ่งหมวดย่อยลงไปอีกระดับได้ ซึ่งเหมือนกับการจัดหมวดหมู่แบบแอลซี เช่น
หมวดหลัก Q – Preclinical Sciences (วิชาว่าด้วยสุขภาวะเบื้องต้น)
หมวดย่อย QS – Human Anatomy กายวิภาคศาสตร์มนุษย์
หมวดย่อย QT – Physiology สรีรวิทยา
หมวดย่อย QU – Biochemistry ชีวเคมี
หมวดย่อย QV – Pharmacology เภสัชวิทยา

หมวดหลัก W – Medicine and Related Subjects (การแพทย์และเรื่องที่เกี่ยวข้อง)
หมวดย่อย WA – Public Health สาธารณสุขศาสตร์
หมวดย่อย WB – Practice of Medicine แพทยศาสตร์
หมวดย่อย WC – Communicable Diseases โรคติดต่อ

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างแค่บางหมวดหมู่เท่านั้น หากจะดูหมวดแบบเต็มๆ ลองเข้าไปดูที่
http://wwwcf.nlm.nih.gov/class/OutlineofNLMClassificationSchedule.html

หลังจากที่ได้หมวดหมู่แล้ว หลังจากนี้ก็ต้องใช้การเปิดตารางดัชนี
เพื่อกำหนดเลขอารบิค 1 – 999 เพื่อให้ได้หมวดหมู่และรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ

เช่น หากต้องการพจนานุกรมเกี่ยวกับโรคติดต่อ ก็ต้องไปดูเลขเฉพาะของหมวดนั้นๆ ลงไปอีก
ซึ่งจะได้ หมวดโรคติดต่อ + พจนานุกรม = WC + 13
ดังนั้น พจนานุกรมเกี่ยวกับโรคติดต่อ = WC13

และถ้าอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ ก็จะต้องมีเลขผู้แต่ง และปีพิมพ์ของหนังสือเล่มนั้นด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับเรื่องราวการจัดหมวดหมู่หนังสือทางการแพทย์
มันก็มีความซับซ้อนไม่ต่างจากการจัดหมวดหมู่หนังสือแบบอื่นๆ เช่นกัน

รู้รึยังครับการงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ