การดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังเกิดปัญหาวิกฤต

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปีที่แล้ว มหาอุทกภัยปี 54 ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานต่างๆ มากมาย ห้องสมุดหลายแห่งต้องสูญเสียทรัพยากรสารสนเทศ บางแห่งอาจไม่ได้สูญเสียทรัพย์สินแต่ก็ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นบทเรียนนี้จึงนำไปสู่การหาแนวทางป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยถ้าเรามีแผนที่ดี ห้องสมุดก็จะสามารถพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

ข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
ชื่องาน : การสร้างแผนดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดปัญหาวิกฤต  (Business Continuity Plan /BCP)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
วันที่จัด : วันที่  13 – 14  ธันวาคม 2555

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้เป็นการจัดโดยความร่วมมือของหน่วยงาน 5 หน่วยงาน คือ
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต
– ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม


แนวคิดการบริหารจัดการเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤต หรือ Business Continuity Management (BCM) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับหน่วยงาน ยามที่เกิดวิกฤติหรือปัญหาหากเรามีแผนในการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนได้ต่อไป ห้องสมุดเองก็ควรมีแผนนี้ไว้ใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

หัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
– เทคโนโลยีกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ
– เจาะลึกแผนบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่องขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ : กรณีศึกษาของ CPALL
– มุมมองแผน BCP 5 สถาบัน
– การประเมินความเสี่ยงและแผนการจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Risk Assessment & Business Continuity Planning)

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับหัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ แถมวิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนด้วยนะครับ แต่มีเงื่อนไขนิดนึง คือ
– สงวนสิทธิผู้เข้าร่วมประชุมฯ สถาบันละ 2 ท่าน
– รับสมัครจำนวนจำกัด 150 ท่าน
– ปิดรับสมัครการลงทะเบียนออนไลน์ ภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2555

ใครที่ได้ไปงานนี้อย่าลืมเอาเรื่องมาเล่าให้ผมฟังด้วยน้า
หรือถ้าเป็นไปได้เจ้าภาพที่จัดงานเก็บเอกสารงานสัมมนาในครั้งนี้มาฝากผมด้วยน้า

ติดตามเว็บไซต์ข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ที่ http://203.131.219.245/bcp/

ประเด็นพูดคุยในงาน บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด

อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อวันก่อนว่า ผมได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินรายการของงานเสวนาครั้งนี้ (งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์) ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ จากการเสวนา ผมจะขอสรุปลงมาให้เพื่อนๆ อ่านเพื่อเป็นไอเดียและเล่าสู่กันฟังในเรื่องปัญหาน้ำท่วมกับห้องสมุด

หัวข้ออย่างเป็นทางการ คือ “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด” ซึ่งถูกเล่าโดย :-
– นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต

ผู้ดำเนินรายการ : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้ และเจ้าของบล็อก Libraryhub

แค่เห็นชื่อและตำแหน่งของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวแล้ว ผมขอบอกเลยครับว่าการเสวนาครั้งนี้สนุกแน่ๆ
เพราะเราจะได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างห้องสมุดที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วกัน

การเสวนาครั้งนี้ผมได้ลองตั้งคำถามคร่าวๆ เพื่อถามห้องสมุดทั้งสาม ดังนี้
1. คำถามที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนน้ำมาถึง :
– ข่าวเรื่องน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 มีให้เห็นแทบจะทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงประกาศหรือแถลงการณ์จากรัฐบาลอยู่ตลอด สำนักหอสมุดได้รับรู้ข่าวเหล่านี้และติดตามข่าวบ้างหรือไม่ และใส่ใจกับข่าวเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร
– เมื่อได้รับข่าวสารและรับรู้ว่าน้ำจะมาถึง ห้องสมุดมีการเตรียมตัวอย่างไร
– ในช่วงการเตรียมตัวรับน้ำท่วม ใครมีบทบาทต่อเรื่องนี้มากที่สุด ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ประชาชน

2. คำถามที่เกี่ยวกับช่วงน้ำท่วม
– เมื่อน้ำมาถึงแล้ว หอสมุดได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เสียหายด้านไหนบ้าง แล้วแก้ไขอย่างไรในเบื้องต้น
– บุคลากรของสำนักหอสมุดทำงานกันอย่างไรในช่วงน้ำท่วม และได้รับความช่วยเหลือบ้างหรือไม่
– น้ำท่วมนานแค่ไหน ต้องหยุดให้บริการนานแค่ไหน (รวมตั้งแต่น้ำมาจนน้ำลดและเปิดให้บริการ)
– มีช่องทางอื่นในการให้บริการห้องสมุดหรือไม่


3. คำถามที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูห้องสมุดหลังน้ำท่วม

– สำรวจความเสียหายดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เสียหายมากน้อยเพียงใด
– อะไรที่ต้องรีบดำเนินการหลังน้ำลด เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ
– น้ำท่วมแบบนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดตลอดทั้งปีหรือไม่
– งบประมาณที่ต้องใช้ในการฟื้นฟู
– ใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะกลับมาเป็นหอสมุดเหมือนเดิม
– การเรียกขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ


4. คำถามจุดประกายหรือไอเดียเล็กๆ ที่เกี่ยวกับน้ำท่วม

– ไอเดียการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของ ม รังสิต เรื่องการทาสีต้นไม้ที่ตายแล้วให้ดูสดใสต้อนรับเทศกาลปีใหม่
– สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนอื่นๆ รอบๆ มหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
– การจัดทำแผนเพื่อป้องกันภัยพิบัติด้านต่างๆ (ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม)

5. ทิ้งท้ายก่อนจบเสวนาด้วย “หากปีนี้น้ำมาอีก หอสมุดเอาอยู่หรือไม่”

6. คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนา

เอาเป็นว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรผมจะนำมาสรุปให้อ่านแน่นอนครับ
ใครที่อยากจะตั้งคำถามก็สามารถตั้งคำถามมาได้ที่ด้านล่างนี้นะครับ
ผมจะนำคำถามของท่านมาถามให้และสรุปมาให้อ่านแน่นอนครับ