Infographic หมดยุคของสารานุกรมฉบับพิมพ์อย่าง Britannica

ไม่ได้นำ Infographic ข้อมูลดีๆ มาให้เพื่อนๆ ชมนานแล้ว วันนี้ผมขอแก้ตัวด้วยการนำเสนอ Infographic ข้อมูลของสารานุกรมแห่งหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก (คนที่เรียนด้านบรรณารักษ์จะต้องรู้จัก) นั่นคือ Britannica

แต่เพื่อนๆ หลายคนคงได้ข่าวเมื่อต้นปี 2012 ที่ สารานุกรมอย่าง Britannica ต้องประกาศยุติการพิมพ์สารานุกรมฉบับสิ่งพิมพ์ แต่สารานุกรมนี้ยังคงให้บริการในรูปแบบออนไลน์อยู่

อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
Encyclopedia Britannica หยุดพิมพ์แล้ว – http://www.blognone.com/node/30677
สารานุกรมบริทานิกาหยุดตีพิมพ์ – http://news.voicetv.co.th/global/33700.html (วีดีโอข่าว)

เอาหล่ะครับ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า วันนี้ผมนำ Infographic ที่เกี่ยวกับ Britannica มาให้ดูครับ ชมกันก่อนเลย

เอาหล่ะครับมาดูข้อมูลสรุปจาก Infographic นี้กัน

ข้อมูลประวัติแบบคร่าวๆ ของ Britannica
– ฉบับแรกพิมพ์ในปี 1771 (อายุในปัจจุบัน = 244 ปี)
– ฉบับดิจิทัลถูกจัดทำครั้งแรกในปี 1981 โดย Lexisnexis
– ฉบับออนไลน์ครั้งแรกและฉบับซีดีเวอร์ชั่นสมบูรณ์เกิดขึ้นในปี 1994
– ฉบับมือถือ (รองรับเครื่อง Palm) เกิดในปี 2000
– ฉบับแอพใช้งานกับอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่ของบริษัท apple (ipod,ipad,iphone) เกิดในปี 2011
– ปิดฉากสารานุกรม Britannica แบบสิ่งพิมพ์ในปี 2012

ทำไม Britannica ถึงไม่ทำสิ่งพิมพ์แล้วหล่ะ???
– ยอดขายตกลงอย่างรุนแรง ในปี 1990 ยอดขาย 120,000 ฉบับ ในปี 1996 เหลือยอดขาย 40,000 ฉบับ และในปี 2009 เหลือ 8,000 ฉบับ

ราคาของการใช้งานสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica ฉบับพิมพ์ ราคา 1,395 เหรียญสหรัฐ
– Britannica ฉบับ ipad ราคา 1.99 เหรียญสหรัฐ/เดือน
– Britannica ฉบับออนไลน์ สมัครสมาชิก 70 เหรียญสหรัฐ/ปี
– wikipedia ฟรี ฟรี ฟรี

จำนวนบทความสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนบทความประมาณ 65,000 บทความ
– Wikipedia มีจำนวนบทความประมาณ 3,890,000 บทความ

จำนวนคนที่เขียนบทความในสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนประมาณ 4,000 คน (ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง)
– Wikipedia มีจำนวนประมาณ 751,426 คน (ใครๆ ก็เขียนได้)

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ ก็คงต้องบอกว่ายุคของสารานุกรม Britannica ฉบับพิมพ์อาจจะถึงจุดสิ้นสุดไปแล้ว แต่สิ่งที่กำลังจะเริ่มต้นก็คือการแข่งขันกับ Wikipedia ในโลกออนไลน์นั่นเอง

เอาเป็นว่าเส้นทางนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามชมกันต่อไป

ปล.จริงๆ แล้ว การแข่งขันกันระหว่าง Britannica กับ Wikipedia ทำให้ผมรู้สึกถึงการแข่งขันระหว่าง Library และ Google ด้วย…

ที่มาของภาพ Infographic นี้มาจาก http://mashable.com/2012/03/16/encyclopedia-britannica-wikipedia-infographic/

Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

วันนี้ได้รับเกียรติให้ไปบรรยายที่สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เรื่อง “การใช้ Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” เลยอยากเอามาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่าน

รายละเอียดเบื้องต้นในการบรรยาย
ชื่อการบรรยาย : Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
หน่วยงานที่จัด : สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 9.00-12.00 น.

สไลด์ที่ผมใช้ในการบรรยาย

หัวข้อที่ผมในบรรยายในวันนี้ประกอบด้วย
– ทำไมต้องเป็น Facebook Fanpage
– ตัวอย่าง Facebook Fanpage วงการห้องสมุด
– เริ่มต้นสมัคร Facebook Fanpage สำหรับโครงการสารานุกรมไทย
– การใช้งาน Facebook Fanpage ให้ประสบความสำเร็จ

ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ ผมอยากให้ทุกๆ คนได้รู้จักและเข้าใจว่าทำไมเราต้องใช้ Facebook กันก่อน
เริ่มจากความหมายของ Facebook โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า Facebook คือ เว็บไซต์ในกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์เว็บหนึ่งที่ให้บริการแบ่งปันเรื่องราว แสดงความคิดเห็น แบ่งปันรูปภาพ แบ่งปันวีดีโอ แบ่งปันข้อมูลในเรื่องที่สนใจ ให้กลับกลุ่มเพื่อนๆ ของเรา นอกจากนี้ยังใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อนที่รู้จักกัน และเพื่อนใหม่ที่เราอยากรู้จักในโลกออนไลน์ด้วย

จากนั้นผมได้นำสถิติของ Facebook ในช่วงต้นปี 2010 และ ปลายปี 2010 มาให้ดูว่า
จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านคนภายในปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังนำข้อมูลของประเทศที่มีการใช้ Facebook 10 อันดับ มาให้ชม และตั้งข้อสังเกตให้คิดเล่นๆ นิดหน่อย

รูปแบบการใช้ Facebook ในปัจจุบัน เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. Profile
2. Group
3. Page

แต่ละแบบใช้งานและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ในวงการห้องสมุดเมืองไทยก็มีความเข้าใจในเรื่องการใช้ Facebook กันผิดประเภทหลายแห่ง
ส่วนใหญ่มักจะสมัครใช้ Facebook ในแบบ Profile จำนวนมากเนื่องจากสมัครง่าย
แต่หลายๆ คนลืมคิดถึงข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว จำนวนสมาชิก การวัดผลการใช้งาน…

ดังนั้นข้อสรุปแล้ว ผมจึงนำเสนอให้ ห้องสมุดใช้แบบ Page จะดีกว่า เพราะ
ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้เล่น Facebook) จำนวนสมาชิกที่ไม่จำกัด และการวัดผลที่ชัดเจน

ก่อนที่จะมี Facebook Fanpage ของห้องสมุด จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
– Page Name (ชื่อของหน้า) อันนี้สำคัญมากเพราะตั้งแต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แนวทางในการเลือกชื่อของหน้า คือ เลือกชื่อที่ทำให้คนอื่นเข้าใจ ชื่อหน่วยงาน ชื่อโครงการ ชื่อที่ทำให้อื่นรู้ว่าเป็นเรา
– Profile Image (รูปแทนหน้าเพจ) แนวทางในการเลือกรูปภาพ คือ เลือกภาพที่ดึงดูดใจผู้ใช้บริการ ภาพที่ใช้แทนหน้าของเรา ย้ำชื่อของเราลงในภาพด้วยก็ดี
– Page Info (ข้อมูลทั่วไป) ลงข้อมูลของหน้าของเรา การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการกับเราต้องชัดเจน

ตัวอย่าง Facebook Fanpage ในวงการห้องสมุดที่น่าสนใจ
– Tkpark อุทยานการเรียนรู้ (http://www.facebook.com/tkparkclub)
– Thailand Creative & Design Center (TCDC) (http://www.facebook.com/tcdc.thailand)
– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ความรู้กินได้ (http://www.facebook.com/Ubonpubliclibrary)
– เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย (http://www.facebook.com/THLibrary)
– Thammasat University Libraries (http://www.facebook.com/pages/Thammasat-University-Libraries/100107346702609)

หลังจากที่เล่าเรื่องเชิงทฤษฎีและเห็นชมตัวอย่างหน้า Facebook Fanpage เสร็จ ก็เริ่มเข้าสู่การ Workshop กันได้

Step By Step กันเลยนะครับ ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. การสมัครใช้งาน Facebook Fanpage
– เมื่อ login Facebook แล้ว ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/pages/create.php
– เลือกหมวดหมู่ของหน้า Facebook Fanpage ในกรณีของโครงการสารานุกรมไทย เลือก “องค์กรไม่แสวงหากำไร”
– ใส่ชื่อของหน้า (Page Name) แล้วกดเริ่มกันเลย
– ได้หน้าเพจแล้วครับ
– ใส่รูปภาพของหน้ากันต่อเลยครับ
– เชิญชวนเพื่อนเข้ามากด Like
– ใส่รายละเอียดของหน้าให้เรียบร้อย
– จากนั้นก็ใช้ได้แล้วครับ

2. การปรับแต่ง Facebook Fanpage เบื้องต้น

– การตั้งค่าของคุณ
– จัดการสิทธิ์
– ข้อมูลเบื้องต้น
– รูปประจำตัว
– คุณสมบัติ
– เครื่องมือ
– จัดการผู้ดูแล
– แอพ
– โทรศัพท์มือถือ
– เจาะลึก
– วิธีใช้
– การเปลี่ยนชื่อ URL ให้สั้นลง


3. การใช้งานและรู้จักเครื่องมือที่ดีของ Facebook Fanpage

– การใช้งาน Page Insight (ดูสถิติการเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการ)
– การโพสข้อความ รูปภาพ ลิ้งค์ วีดีโอ แบบสอบถาม

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ Facebook Fanpage
1. คอยอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดใหม่ให้ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ อยากปล่อยให้ข่าวไม่อัพเดทเกิน 1 เดือน
2. หากผู้ใช้บริการขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดหรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ขอต่ออายุการยืมหนังสือ ห้องสมุดไม่ควรปฏิเสธ
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการด้วย อย่าเงียบหายหรือละเลย พยายามตอบและให้บริการด้วยความเร็ว
4. ไม่นำเรื่องราวพฤติกรรมที่แย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลงในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ของห้องสมุด
5. พยายามพูดคุยหรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในห้องสมุดเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์บ้าง
6. การจัดกิจกรรมในห้องสมุดทุกครั้งควรนำมาลงในเว็บไซต์ห้องสมุดและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดตามข่าวสารของห้องสมุด

เอาหล่ะครับนี่ก็เป็นเพียงสาระตามสไลด์ที่ผมได้บรรยายและ workshop กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ

จริงๆ แล้วไม่เชิงว่าเป็นการบรรยายหรอกครับ แต่เป็นการลงมือทำไปพร้อมๆ กับการบรรยายเลยมากกว่า เพราะว่าผลสำเร็จของการบรรยายในวันนี้ ก็คือ “สำนักงานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ก็มี Facebook Fanpage ไว้ใช้

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากรู้ว่า Facebook Fanpage ของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นอย่างไร
ก็ลองชมกันได้ที่ http://www.facebook.com/saranukromthai
ตั้งแต่การอบรมจนถึงตอนนี้ (ช่วงที่กำลังเขียนบล็อก 22.00) มีแฟนเพจ 53 คนคร้าบบบบ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ก็เข้าไปช่วยกันกด Like หน้านี้กันด้วยนะครับ
http://www.facebook.com/saranukromthai
ขอฝากไว้ให้ชมและรับความรู้กันมากๆ ครับ

กรณีศึกษาเรื่องสารานุกรมออนไลน์ : Britannica VS Wikipedia

วันนี้ผมขอนำเรื่องเก่ามาเรียบเรียงและเล่าใหม่อีกสักครั้งนะครับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนสงสัยมากมายเกี่ยวกับการอ้างอิงบทความต่างๆ ในสารานุกรม
โดยกรณีที่ผมนำมาเขียนนี้จะขอเน้นไปในเรื่องสารานุกรมที่เป็นสิ่งพิมพ์กับสารานุกรมออนไลน์

reference-site

ซึ่งเรื่องมันมีอยู่ว่า…มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามผมถึงเรื่อง
การนำข้อมูลบน website ไปอ้างอิงในการทำรายงานว่ากระทำได้หรือไม่ และมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า

อันที่จริงคำถามนี้ผมก็เคยตั้งคำถามในใจไว้เหมือนกัน แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้สักที
เพราะว่าประเด็นในเรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญออกมากล่าวไว้ไม่เหมือนกัน โดยสรุปได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มที่บอกว่าข้อมูลสามารถนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากในหลักการเขียนบรรณานุกรมยังมีการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์
2. กลุ่มที่บอกว่าข้อมูลไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ทั้งหมด ซึ่งต้องเลือกและพิจารณาแหล่งข้อมูลเสียก่อนจึงจะอ้างอิงได้
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบทความทางวิชาการ เช่น รายงานการประชุม ฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า สารานุกรมออนไลน์

สารานุกรมออนไลน์ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต เราสามารถจำแนกได้ออกเป็นอีกสองกลุ่ม คือ

1. สารานุกรมออนไลน์ทั่วไป
ได้แก่ Encyclopedia Britannica , Encarta เป็นต้น
สารานุกรมจำพวกนี้ได้รับความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานานเนื่องจากสารานุกรม เหล่านี้นอกจากมีบนอินเทอร์เน็ตแล้วยังมีในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์อีกด้วย

2. สารานุกรมเสรี ได้แก่ Wikipedia, PBwiki เป็นต้น
สารานุกรมจำพวกนี้เป็นสารานุกรมที่ให้ข้อมูลค่อนข้างดี แต่บางครั้งก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาจากนักวิชาการ ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงกันเรื่องความน่าเชื่อถืออยู่

ข้อแตกต่างระหว่าง Britannica กับ Wikipedia คือ ผู้แต่งหรือผู้เขียนบทความ
ถ้าเป็นของ Britannica ผู้เขียนจะเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
แต่ Wikipedia ผู้แต่งหรือผู้เขียนคือใครก็ได้ที่เข้าใจหรือรู้ในเรื่องๆ นั้น เข้ามาเขียนด้วยภาษาง่ายๆ อธิบายตามที่เขารู้
ถ้าสิ่งที่เขารู้มันผิดก็จะมีคนเข้ามาแก้ไขให้เรื่อยๆ จนได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ที่สุด

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเรื่อง wikipedia เพิ่มเติม ลองอ่านดูที่
แนะนำวิกิพีเดีย โดยเว็บไซต์ wikipedia
Wikipedia สารานุกรมฟรีออนไลน์ที่ใครๆ ก็เขียนได้ โดยผู้จัดการ 360 องศา

หากจะถามถึงการอ้างอิงเนื้อหาผมคงตอบไม่ได้ว่าจะอ้างอิงได้หรือไม่
เพื่อนๆ ต้องพิจารณากันเองนะครับ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับบทความที่เราจะนำมาใช้ว่ามีความน่าเชื่อถือขนาดไหน
เพราะว่าใน wikipedia แต่ละเรื่องจะต้องมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องดูแหล่งอ้างอิงของบทความนั้นๆ ด้วย

มีบทความของ Nature Magazine Dec 14, 2005 เรื่อง Internet encyclopaedias go head to head
ได้สำรวจความถูกต้องของข้อมูลแล้วพบว่า ใน Britannica กับ Wikipedia มีความผิดพลาดในระดับพอๆ กัน
ซึ่งหลายคนมองบทความชิ้นนี้ว่าเป็นการทำให้ Britannica เสียชื่อเสียงหรือเปล่า
แต่ในโลกของอินเทอร์เน็ตอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเหมือนกันนะ
จนถึงวันนี้จากการจัดอันดับเว็บไซท์ของ alexa ปี 2009 Wikipedia ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ของโลนะครับ

แล้วเพื่อนๆ คิดยังไงกับเรื่องนี้ครับ
บทความในวิกิพีเดียสามารถนำมาอ้างอิงได้มั้ย
แล้วความน่าเชื่อถือเพื่อนๆว่าเชื่อได้กี่เปอร์เซ็นต์ครับ