หนังสือที่ใช้ตัวอักษร A-Z เป็นชื่อเรื่อง (ชื่อสั้นจริงๆ)

ปัจจุบันเว็บไซต์แนะนำหนังสือมีเยอะมากๆ ดังนั้นเว็บไซต์เหล่านี้จะต้องหาสิ่งแปลกมาลงบ้าง
ตัวอย่างเช่นเว็บที่ผมจะแนะนำวันนี้ เขาจะแนะนำเฉพาะหนังสือที่มีชื่อเรื่องสั้นที่สุด

แล้วหนังสือแบบไหนที่เรียกว่า “ชื่อเรื่องสั้นที่สุด
นั่นก็หมายถึงหนังสือที่มีแค่ตัวอักษรเดียวไงครับ A B C D ….. Z

เอาเป็นว่าลองดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ

หนังสือที่มีชื่อเรื่องเพียงแค่ อักษรตัวเดียว A - Z

เป็นยังไงกันบ้าง สั้นได้ใจมั้ยครับ
จริงๆ แล้วนอกจากหนังสือที่มีตัวอักษรเดียวแล้ว ยังมีหนังสืออื่นๆ ที่มีพยางค์เดียวด้วย

หนังสือที่มีชื่อเรื่องพยางค์เดียว

เป็นเว็บแนะนำหนังสือที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ดีจริงๆ ห้องสมุดอย่างเราก็น่าจะเอาไอเดียแปลกๆ แบบนี้ไปเล่นบ้างนะ
ตัวอย่าง : แนะนำหนังสือที่มีชื่อเรื่องสั้นที่สุด (เวอร์ชั่นภาษาไทย)

วันนี้ขอเสนอแค่นี้แล้วกัน ยังไงใครนึกอะไรดีๆ ก็แบ่งปันความคิดกันได้ที่นี่เลยนะครับ
สำหรับคนที่อยากเข้าไปดูเว็บไซต์นี้ ลองเข้าไปที่ http://www.abebooks.com/books/single-letter-title-shortest-mccarthy/warhol-updike.shtml

ของฟรี 27 อย่าง ที่หาได้จากห้องสมุด

วันนี้ผมเจอบทความนึงที่น่าสนใจมากจากเว็บไซต์ SavingAdvice ซึ่งเป็นเว็บที่แนะนำให้ประหยัด
ห้องสมุดสามารถทำให้ชีวิตของคนเราประหยัดได้จริงๆ หรือ” อันนี้น่าคิดมากครับ
บทความนี้จะแนะนำ 27 อย่างที่ไม่ต้องเสียเงินในห้องสมุด” เอาเป็นว่าเข้าไปดูกันดีกว่า

อะไรที่ฟรีบ้างในห้องสมุด ผมคงตอบว่า “มากมายเลยที่ฟรีในห้องสมุด”
อ่านหนังสือฟรี เล่นคอมพิวเตอร์ฟรี ดูหนังฟรี นอนฟรี….
พอเจอคำถามว่า 27 อย่างที่ฟรี ผมก็ลองไล่ดูแล้วก็แปลกใจว่าทำไมผมคิดได้ไม่ถึง 27 อย่าง

แนะนำ 27 อย่างที่ไม่ต้องเสียเงินในห้องสมุด
1 หนังสือฟรี – แน่นอนครับอ่านแล้วยืมกลับบ้านได้ฟรี
2 หนังสือเสียง – ห้องสมุดบางแห่งมีให้ฟังหนังสือเสียงด้วย นั่นแหละฟรี
3 ดีวีดี – ภาพยนตร์ สารคดี มีให้ชมฟรี
4 ซีดีเพลง – อยากฟังเพลงก็ฟรีนะครับ
5 หนังสือเก่าของห้องสมุด – บางแห่งก็นำมาขาย บางแห่งก็บริจาคฟรี
6 อินเทอร์เน็ต – เล่นเน็ตฟรีแถม wifi ให้ด้วย
7 คอมพิวเตอร์ – ไม่ได้เอาโน้ตบุ๊คมาก็ใช้คอมที่ห้องสมุดได้ฟรี
8 วารสาร นิตยสาร – นิตยสารเล่มใหม่ๆ ให้อ่านฟรี
9 ชมรมหนังสือ – ตั้งชมรมคนรักหนังสือได้ฟรีที่ห้องสมุด แล้วแต่ว่าจะสนใจหนังสือแนวไหน
10 งานนิทรรศการ -? ชมนิทรรศการฟรีแถมได้ความรู้
11 ที่คั่นหนังสือ – มีแจกตามเคาน์เตอร์บรรณารักษ์
12 คูปองส่วนลดจากร้านค้าใกล้เคียง – อันนี้เห็นในต่างประเทศเยอะแจกฟรีคูปองส่วนลดร้านค้าที่อยู่ใกล้ๆ ห้องสมุดซึ่ง แจกฟรี
13 การเรียนการสอนฟรี – ห้องสมุดมีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย อยากเรียนอะไรก็เรียนได้เลยฟรี
14 กิจกรรมสำหรับเด็ก – เล่านิทาน ระบายสี ฟรีในห้องสมุด
15 ศึกษาวรรณกรรม – ห้องสมุดมีเรื่องสั้น นวนิยายดีๆ มากมายให้อ่านฟรี
16 ผู้ช่วยในการค้นหาข้อมูล – บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าฟรี ลองใช้กันดู
17 บริการยืมหนังสือข้ามห้องสมุด – อยากได้หนังสือจากห้องสมุดอื่น บรรณารักษ์ยืมให้ฟรี
18 ฐานข้อมูล – ค้นคว้าเรื่องเฉพาะทางฐานข้อมูลมีให้ใช้ฟรี
19 ผู้ช่วยสำหรับผู้เชี่ยวชาญ – บรรณารักษ์เราช่วยค้นคว้าได้ทุกอย่างซึ่งนั้นแหละฟรี
20 กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ – สำนักพิมพ์สามารถใช้ห้องสมุดเป็นเวทีสำหรับการเปิดตัวหนังสือใหม่ได้ฟรี
21 ภาพยนตร์ – มีการจัดฉายภาพยนตร์ฟรี
22 คอนเสิร์ต – การจัดงานคอนเสิร์ตเล็กๆ หรืองานแสดงดนตรีในห้องสมุดก็ฟรีนะ
23 กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน – กิจกรรมส่งเสริมการอ่านมีบริการฟรีในห้องสมุด
24 ช่วยทำการบ้าน – เด็กๆ สามารถให้บรรณารักษ์ช่วยทำการบ้านฟรี
25 ห้องสมุดเคลื่อนที่ – ห้องสมุดสามารถออกไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนได้ฟรี
26 รายการหนังสือน่าอ่าน – ห้องสมุดจะช่วยคัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจให้ผู้ใช้บริการได้ฟรี
27 กิจกรรมสำหรับวัยรุ่น – กิจกรรมในห้องสมุดที่หลากหลายตอบสนองคนทุกเพศวัยฟรี

เอาเป็นว่าจบแล้วครับ 27 อย่าง แล้ว “27 อย่างที่ว่าไม่ต้องเสียเงินในห้องสมุด”
ห้องสมุดของเพื่อนๆ มีฟรีครบทั้งหมดเลยหรือปล่าวครับ อย่างไหนที่ไม่น่าจะฟรีบ้าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้ครับ

ต้นฉบับของเรื่องนี้มีคำอธิบายมากมาย เพื่อนๆ ลองเข้าไปอ่านได้ที่
http://www.savingadvice.com/articles/2008/07/04/102183_27-free-things-at-the-library.html

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติส่งท้ายปี 53 (มหกรรมหนังสือระดับชาติ)

เดือนนี้ไฮไลท์ที่ชาวบรรณารักษ์และห้องสมุดไม่ควรพลาด คือ
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2553 หรือที่หลายๆ คนชอบเรียกว่างานสัปดาห์หนังสือปลายปี

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้
ชื่องานภาษาไทย : งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 15
ชื่องานภาษาอังกฤษ : BookExpoThailand 2010
วันที่จัดงาน : 21-31 ตุลาคม 2553
เวลาในการจัดงาน : 10.00-21.00 น.
สถานที่จัดงาน : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เดือนตุลาคมถือว่าเป็นเดือนแห่งปีงบประมาณใหม่
ดังนั้นห้องสมุดหลายๆ แห่งคงจะถือโอกาสนี้ในการช้อปปิ้งหนังสือเข้าห้องสมุด
หนังสือราคาถูก มีของแถมมากมาย และมีร้านหนังสือให้เลือกมาก

นอกจากการช้อปปิ้งหนังสือแล้ว ผมไม่อยากให้พลาดเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่จัดในงานด้วย
เพราะเพื่อนๆ จะเห็นแนวคิดและนำไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมการอ่านในห้องสมุดได้ด้วย

กิจกรรมพิเศษที่จัดในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ เช่น
– นิทรรศการและกิจกรรม “ห้องสมุดหนังสือใหม่ ปี 2553”
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่านจากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
– นิทรรศการ “สมเด็จพระปิยมหาราชกับการปฏิรูปการศึกษา”
– Creative Book Industry: DIY My Book หนังสือใครๆ ก็ทำได้
– All for Book: Book for All

Hilight ที่ผมอยากแนะนำในงานนี้ มีมากมาย เช่น
– วันที่ 21 ตุลาคม 2553 เวลา 15.00-16.00 น. เปิดตัว e-book on i pad
– วันที่ 22 ตุลาคม 2553 เวลา 11.00-12.00 น. กิจกรรมทอฝันปันหนังสือให้น้อง ครั้งที่ 20
– วันที่ 22 ตุลาคม 2553 เวลา 12.00-13.00 น. กิจกรรมจากกระดาษถนอมสายตา Green Read by SCG Paper
– วันที่ 26 ตุลาคม 2553 เวลา 12.00-13.00 น. โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย D Ambassador 2010
– วันที่ 27 ตุลาคม 2553 เวลา 16.00-17.00 น. เปิดตัวหนังสือ “รวมบทกวีนิ้วกลม อุนนุน หมายเลข 1 สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยๆ ของนิ้วกลม”
– วันที่ 30 ตุลาคม 2553 เวลา 17.00-18.00 น. เปิดตัวเว็บไซต์ทีวีเพื่อการศึกษา www.etvMAC.tv

เอาเป็นว่ากิจกรรมดีๆ มีอีกเพียบเลย โดยเฉพาะการเปิดตัวหนังสือใหม่ๆ
ถ้าเพื่อนๆ สนใจตารางกิจกรรมลองเข้าไปดูได้ที่ http://thailandbookfair.com/bookexpo2010/hallA.php

นอกจากนี้งานสัมมนาดีๆ ก็มีอีกเพียบเลย เข้าไปดูได้ที่ http://thailandbookfair.com/bookexpo2010/seminar.php

แค่เห็นชื่อกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้ผมยิ่งอยากไปงานนี้เร็วๆ เหลือเกิน
เอาเป็นว่าถ้าผมได้ไปร่วมงานในครั้งนี้แล้ว ผมจะเก็บภาพบรรยากาศในงานมาฝากทุกๆ คนเลยครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่วางแผนที่จะมางานนี้ผมขอแนะนำว่าใช้รถไฟฟ้าใต้จะทำให้คุณไม่ต้องเครียดเรื่องการหาที่จอดรถนะครับ
เพราะอย่างที่รู้ๆ รถเยอะมากๆ รถติดทางเข้า แถมเข้ามาก็อาจจะไม่มีที่จอดอีก ดังนั้นรถไฟฟ้าใต้ดินดีที่สุดครับ

หากเพื่อนๆ อยากได้ข้อมูล หรือรายละเอียดกิจกรรมมากกว่านี้ผมแนะนำให้เข้าเว็บไซต์ทางการของงานนี้
เว็บไซต์ทางการของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 15 : http://thailandbookfair.pubat.or.th/bookexpo2010/

เคาน์เตอร์บรรณารักษ์ในห้องสมุดที่ทำจากหนังสือ

วันนี้เจอภาพการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ห้องสมุดที่น่าสนใจมากๆ เลยไม่พลาดที่จะเอามาอวด
เฟอร์นิเจอร์ที่จะเขียนถึงนี้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใกล้ตัวบรรณารักษ์ นั่นคือ “เคาน์เตอร์บรรณารักษ์” นั่นเอง

เคาน์เตอร์บรรณารักษ์ที่เพื่อนๆ มักคุ้นตาก็มักจะเป็นเคาน์เตอร์ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ใช่มั้ยครับ
บางที่อาจจะเป็นโครงเหล็กและปะด้วยไม้ หรือบางที่ก็นำโต๊ะทำงานออฟฟิตมาเป็นเคาน์เตอร์

ครั้งแรกที่ผมได้เห็นภาพนี้ ถึงกับอึ้งไปชั่วขณะเลยครับ
นั่นมันหนังสือนี่หน่า เอาหนังสือมาวางเรียงๆ กันแล้วเอาแผ่นกระจกวางไว้ข้างบนนี่
ผมว่ามันเป็นการออกแบบที่บ้าคลั่งมากๆ ครับ

แต่พอพิจารณาจากแนวความคิดของผู้ออกแบบแล้ว เหตุผลก็ฟังดูเข้าท่าเหมือนกัน
คือ นำหนังสือเก่าหรือหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้มาวางเรียงๆ กัน
โดยให้เท่ากับความสูงที่บรรณารักษืจะสามารถนั่งให้บริการได้สบายๆ
จากนั้นก็วางแผ่นกระจกสักนิดเพื่อให้สามารถเป็นพื้นที่ในการเขียนหรือทำงานอย่างอื่นๆ ได้

เอาเป็นว่าเอาของที่ไม่ได้ใช้มาทำให้เกิดประโยชน์แบบนี้แหละ “รีไซเคิล”

ถามว่าสวยมั้ย ผมว่าก็ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว ดูคลาสสิคไปอีกแบบนะ
เพื่อนๆ ชอบกันบ้างหรือปล่าว (แต่ผมว่าคนที่รักหนังสือคงไม่เห็นด้วยแน่ๆ เลย)

ปล. จริงๆ หรือการนำหนังสือมารีไซเคิลทำนู้นนี่ยังมีตัวอย่างอีกเยอะนะครับ
เช่น ช่องระบายลมที่ทำจากหนังสือ (หลายหมื่นเล่มเลยแหละ)
http://inhabitat.com/2010/08/05/mind-blowing-building-built-from-thousands-of-books/

ตัวอย่างอีกที่คือห้องที่ทำจากหนังสือ
http://inhabitat.com/2010/02/24/book-cell-an-octagonal-building-made-entirely-from-books/

เอาหนังสือเก่าๆ มาแต่งสวนก็เข้าท่านะ
http://inhabitat.com/2010/08/17/living-garden-of-knowledge-made-from-40000-books/

เคาน์เตอร์นี้อยู่ที่ Delft University of Technology
http://inhabitat.com/2010/09/13/tu-delft-architecture-library-opens-with-desk-of-recycled-books/

ที่มาของเรื่องนี้ http://www.recyclart.org/2010/09/library-information-desk/
ต่อยอดองค์ความรู้เรื่องนี้จาก http://inhabitat.com/2010/09/13/tu-delft-architecture-library-opens-with-desk-of-recycled-books/

แนะนำหลักสูตรการเข้าเล่มและซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ ประจำปี 2553

เป็นเรื่องปกติของทุกปีนะครับเกี่ยวกับเรื่องการอบรมที่ทางสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยจัดขึ้น
หัวข้อที่ผมจะกล่าวนี้ ทุกๆ ปีก็มีการจัด (ปีที่แล้วผมก็แนะนำกิจกรรมนี้ “หลักสูตรการเข้าเล่มและซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ“)

book-binding-copy

แต่ถ้าการอบรมนี้มีหลักสูตรที่เหมือนกันทุกๆ ปี ผมก็คงไม่ต้องเขียนแบบนี้หรอกนะครับ
ใช่แล้วครับ เพราะว่าหลักสูตรนี้มีการปรับปรุงและไม่เหมือนเดิม ผมจึงนำมาแนะนำอีกครั้ง

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการอบรมครั้งนี้

ชื่อการอบรม : หลักสูตรการเข้าเล่มและซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ รุ่นที่ 4
วันและเวลาที่จัดการอบรม : 5-6 กรกฎาคม 2553
สถานที่จัดการอบรม : หอประชุมดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ผู้จัดงานอบรม : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

อย่างที่เคยเขียนไปว่า การอบรมเรื่องนี้มันน่าสนใจเพียงใด จนถึงตอนนี้ผมก็ยังคงยืนยันเช่นนั้นอยู่นะครับ
เพราะเรื่องของการเย็บเล่มและซ่อมหนังสือ มันไม่จำเป็นจะต้องใช้ทำงานแค่งานห้องสมุดหรอกนะครับ
มันสามารถนำไปใช้งานได้ทั่วๆ ไป เผลอๆ เอาไปทำธุรกิจส่วนตัวได้ด้วย เช่น เปิดร้านเย็บเล่ม หรือ เปิดร้านซ่อมหนังสือ

การอบรมในครั้งที่แล้ว (19-20 ตุลาคม 2552) มีหัวข้อดังนี้
– หลักการและวิธีการเข้าเล่มและซ่อมหนังสือ
– การบริหารจัดการ? วัสดุและอุปกรณ์ซ่อมหนังสืออย่างเป็นระบบ
– เครื่องมือ อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการเข้าเล่มและซ่อมหนังสือ
– วิธีเข้าเล่มทำปก และซ่อมหนังสือ

แต่สำหรับครั้งนี้มีหัวข้อการอบรมมีดังนี้
– การบริหารจัดการ วัสดุและอุปกรณ์ซ่อมหนังสืออย่างเป็นระบบ
– เครื่องมือ อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการเข้าเล่มและซ่อมหนังสือ
– การซ่อมหนังสือปกอ่อน
– การเย็บหนังสือ
– การซ่อมกระดาษเนื้อในหนังสือ

– การเข้าเล่มทำปกหนังสือ

ซึ่งจะสังเกตว่ามีหัวข้อที่เพิ่มเข้ามา 3 หัวข้อ (ที่ไฮไลท์สีแดง) ซึ่งนับว่าเป็นการลงรายละเอียดของงานได้ดีทีเดียว

เช่นเคยการอบรมครั้งนี้ต้องเสียเงินนะครับ (ซึ่งเท่ากับการอบรมครั้งที่แล้ว)
โดยถ้าเป็นสมาชิกของสมาคมห้องสมุดจะต้องจ่ายราคา 2,500 บาท
แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกของสมาคมห้องสมุดจะต้องจ่ายในราคา 2,800 บาทครับ

เอาเป็นว่าหากเพื่อนๆ สนใจก็ลองเข้าไปดูได้ที่
ใบสมัครหลักสูตรการเข้าเล่มและซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ

และหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวดี วิเชษฐ์พันธุ์ โทรศัพท์ 0-2734-9022-3 suwadee_tla@yahoo.com

สำหรับวันนี้ก็ขอแนะนำแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะ

ห้องสมุดควรแนะนำหนังสือใหม่แบบไหนดี

ห้องสมุดของเพื่อนๆ แนะนำหนังสือใหม่กันแบบไหนบ้างครับ วางไว้ในตู้โชว์หรือปล่าว
เอาเป็นว่าไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบการวางหนังสือแบบแปลกๆ มาให้ดูบ้าง

book-show

ห้องสมุดของคุณแนะนำหนังสือใหม่อย่างไร
– แปะรายชื่อไว้ที่บอร์ด ?
– สแกนหนังสือลงเว็บไซต์ห้องสมุด ?
– ใส่ไว้ในตู้แสดงหนังสือใหม่ที่เปิดไม่ได้ ?

และอีกต่างๆ มากมายที่คุณจะแนะนำหนังสือใหม่ๆ ให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้

ไอเดียง่ายๆ ในการนำเสนอหนังสือใหม่เพื่อสร้างสีสันให้กับห้องสมุด เริ่มต้นจาก :-

อุปกรณ์
1. โต๊ะสำหรับวงของ (ใหญ่หน่อยก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ตัวเล็กหน่อยก็ได้)
2. ผ้าแพรสีๆ แล้วแต่ว่าอยากได้สีไหน
3. หนังสือที่ต้องการแสดง (แนะนำหนังสือปกแข็งเท่านั้น)

อุปกรณ์แค่นี้ก็พอแล้ว หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดวางของคุณ
แต่ขอแนะนำสักนิดควรดูพื้นที่บนโต๊ะ กับจำนวนหนังสือด้วย
พยายามทำให้ดูสบายตากับผู้ใช้ (ไม่ วางหนังสืออัดแน่นไป)

กางหนังสือพอประมาณแล้วก็ตั้ง ไว้อย่างในรูป
จะตั้งอย่างไรก็ได้เต็มที่ ตามสบายเลยครับ

ขอแนะนำอีกสักนิดเพื่อความสุขของผู้ ใช้
ผู้ใช้สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้ แล้วก็แนะนำว่ากรุณาวางเก็บไว้ที่เดิม อิอิ

เพียงเท่านี้ก็คงช่วยสร้างสีสันให้ห้องสมุดได้บ้างนะครับ

อ่านหนังสือแบบสามมิติได้แล้วใน Google Books

วันนี้ดีเดย์ Google เปิด Service ใหม่ใน Google books
โดย Service ใหม่ที่ว่านี้คือ การเพิ่มฟีเจอร์หนังสือให้ดูแบบสามมิติได้

google-3d-view-in-april-fools-day

วันนี้ผมเลยขอเข้าไปทดสอบแล้วนำมาให้เพื่อนๆ ดูกัน
เริ่มจากการเข้าไปที่หน้า Google bookshttp://books.google.co.th

googlebooks

จากนั้นผมได้ค้นคำว่า “Library” ซึ่งได้ผลการสืบค้นดังภาพ

librarybook-google

จากนั้นลองเข้าไปดูหนังสือสักเล่มนึง เมนูด้านบนเพื่อนๆ จะเห็นคำว่า “ดูในแบบ 3 มิติ

cover-book

เห็นแค่หน้าปกอาจจะดูว่าไม่แตกต่างมาก เอาเป็นว่าให้ดูเนื้อหาบ้างดีกว่า

detail-view

เอาเป็นว่า แนะนำให้ไปหาแว่นสามมิติมาใส่อ่านกันดูนะครับ แล้วจะได้รู้สึกว่าเป็นสามมิติ
นับว่า Google ช่างพัฒนารูปแบบการอ่านหนังสือได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ
ก็ขอปรบมือให้กับความตั้งใจในการพัฒนา อนาคตเราคงอาจจะได้เห็นอะไรที่เหนือจินตนาการอีกมากนะครับ

ปล. นี่คือการเล่น April Fool day ของ Google

ข่าว (ไม่ดี) เรื่องการซื้อหนังสือในโครงการห้องสมุดสามดี

เรื่องดีๆ ในวงการห้องสมุดมีให้อ่านเยอะแล้ว วันนี้ผมขอนำข่าวๆ นึงมาลงให้อ่านนะครับ
ผมเชื่อว่าบรรณารักษ์ในห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่ คงต้องได้ยินข่าวนี้บ้างหล่ะ

old-book-in-library

ขอเกริ่นให้ทราบสักนิดนะครับว่า…
เมื่อเดือนที่แล้วผมก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่นะครับ
เท่าที่รู้ คือ ทาง กศน. ได้งบเพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามนโยบาย “ห้องสมุดสามดี”
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ข่าวเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นการจัดซื้อหนังสือก้อนใหญ่อีกครั้งนึงของห้องสมุดประชาชน

แต่หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ผมก็ได้ยินข่าวจากบรรณารักษ์หลายๆ คนว่า
การจัดซื้อหนังสือครั้งนี้ มีความแปลกและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

เอาเป็นว่าผมคงบอกรายละเอียดแบบลึกๆ ไม่ได้
แต่ก็ได้แค่ให้กำลังใจและปลอบบรรณารักษ์ว่า “อย่าคิดมาก”
ยังไงก็ถือว่าได้หนังสือใหม่เข้าห้องสมุดแล้วกัน

เอางี้ดีกว่าเพื่อนๆ ลองอ่านข่าวด้านล่างนี้ก่อนนะ

หัวข้อข่าว : ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดกศน.ส่งกลิ่น
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 คอลัมน์การศึกษา

URL : http://dailynews.co.th/newstartpage/printmode.cfm?categoryid=42&contentid=49149

เนื้อข่าวมีดังนี้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย? (สำนักงาน กศน.) กล่าวถึงปัญหาการร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ประชาชนของ กศน. ตามโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ว่า ที่ผ่านมา กศน. ได้รับงบฯซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน แห่งละ 30,000 บาท แต่ปีนี้ได้รับงบฯเอสพี 2 เพื่อจัดซื้อหนังสือแห่งละ 450,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15% ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในการจัดซื้อมากขึ้น โดยที่ผ่านมามี กศน.อำเภอหลายแห่งในภาคกลางร้องเรียนว่ารายชื่อหนังสือที่ได้ไม่ตรงกับความ ต้องการ ตนจึงสั่งการให้ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ผอ.กศน.) อำเภอไปทบทวนแล้ว

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่คาดว่าจะกลายเป็นกลียุคต่อไป คือ เรื่องการส่งหนังสือไม่ครบตามรายการที่ประมูลได้ เพราะมีบางบริษัทจับกลุ่มฮั้วกัน เช่น บางพื้นที่บริษัทประมูลหนังสือ จำนวน 1,200 รายการ ในวงเงิน 450,000 บาท แต่ส่งหนังสือได้เพียง 800 รายการ เพราะที่เหลือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่ยอมขายให้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นสถานศึกษาจะต้องรายงานมาโดยเร็วเพื่อจะได้หา ทางแก้ปัญหาต่อไป แต่หากอำเภอใดรับหนังสือไม่ครบตามสัญญาที่ประมูล แล้วอ้างว่าบริษัทส่งหนังสือไม่ครบ ผอ.กศน.อำเภอ ในฐานะผู้จัดซื้อต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้มอบอำนาจให้แล้ว

?ปัญหาเรื่องการจัดซื้อส่วนกลางไม่สามารถควบคุมได้ เพราะได้กระจายอำนาจให้สถานศึกษาไปแล้ว และที่ผ่านมาทราบว่ามีคนไปแอบอ้างว่าเป็นทีมงานของผม ขอให้ดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ ซึ่งมี กศน.อำเภอหลายแห่งโทรศัพท์มาถาม ผมก็ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เคยมีทีมงาน อย่าไปเชื่อและขอให้จัดซื้อตามระเบียบและขั้นตอน? นายอภิชาติกล่าวและว่า ส่วนที่มีการแอบอ้างผู้ใหญ่ในกระทรวงนั้น ยอมรับว่าได้ยินมาเช่นกันว่า ขณะนี้มีการสถาปนาดีลเลอร์เฉพาะกิจขึ้นมาและอ้างว่าเกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ใน กระทรวง แต่ก็ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ ผอ.กศน.อำเภอ ดังนั้นหากสถานศึกษาใดถูกกดดันให้จัดซื้อโดยไม่สมัครใจ ก็ขอให้ร้องมายังส่วนกลางจะได้เร่งแก้ไขให้.

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คิดยังไงกับข่าวแบบนี้ครับ
ลองช่วยกันเสนอความคิดเห็นให้ผมฟังหน่อยว่าเรื่องแบบนี้ เพื่อนๆ คิดยังไง

ปล. หลังจากที่ข่าวนี้ออกมาผมเชื่อว่าห้องสมุดประชาชนหลายที่คงต้องระงับการซื้อหนังสือชั่วคราวทันที
และก็รอให้มีการตรวจสอบผ่านไปก่อนจึงจะดำเนินการจัดซื้อได้เช่นเดิม

การวางแผนสำหรับอาคารห้องสมุดสมัยใหม่ ตอนที่ 3

หลังจากที่ผมเคยสรุปหนังสือเรื่อง ?Planning the modern public library building? บทที่ 1 และ 2 นานแล้ว
วันนี้ผมขอสรุปบทที่ 3 และ 4 ต่อเลยดีกว่า ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบห้องสมุดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังแถมด้วยเรื่องของการให้บริการที่ควรจะมีในห้องสมุดประชาชน

planning-public-library-part-3

ขอแจ้งรายละเอียดทั่วไปของหนังสือเล่มนี้อีกที

ชื่อหนังสือ : Planning the modern public library building
แก้ไขและเรียบเรียงโดย : Gerard B. McCabe, James R. Kennedy
สำนักพิมพ์ : Libraries Unlimited

Chapter 3 : Greening the Library : An Overview of Sustainable Design
เป็นบทที่ว่าด้วยการออกแบบห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่น่าสนใจของห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันในนาม “Green Library” นั่นเอง มีดังนี้
Building Site (ที่ตั้งของตัวอาคาร) มีข้อแนะนำคือควรเน้นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของห้องสมุดที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก รวมไปถึงการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวอาคาร นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกของห้องสมุดนั้นๆ ด้วย

Building Design (การออกแบบอาคาร) การออกแบบห้องสมุดโดยคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมองเรื่องใกล้ๆ ตัว เช่น การดูทิศทางลม การส่องสว่างของแสงจากธรรมชาติ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังทางเลือก ฯลฯ นอกจากออกแบบด้านในห้องสมุดแล้ว เรายังต้องมองการออกแบบภายนอกอาคารด้วย

Interior Design (การออกแบบและตกแต่งภายใน) ให้เน้นเรื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากธรรมชาติเป็นหลัก และปรับสภาพทั่วๆ ไปให้กลมกลืนกันทั่วห้องสมุด

Engineering System (ระบบต่างๆ ในอาคาร) เช่น เรื่องไฟฟ้า แสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ระบบบำบัดน้ำ ฯลฯ

ห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้โลก รวมไปถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนของห้องสมุดด้วย

เอาเป็นว่านี่ก็คือเนื้อหาคร่าวๆ ของบทที่ 3 เรื่องห้องสมุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ต่อไปผมจะขอกล่าวถึง บทที่ 4 ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบริการต่างๆ ที่ควรมีในห้องสมุดประชาชน

Chapter 4 : An ounce of prevention : Library directors and the designing of public library
เป็นบทที่ว่าด้วยบริการที่ควรมีในห้องสมุดประชาชน

ไปดูกันเลยครับว่าห้องสมุดประชาชน (ในต่างประเทศ) เขามีบริการอะไรบ้าง

– ชั้นหนังสือทั่วไป
– พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ
– มุมหนังสือเด็ก
– มุมเรียนรู้ตามอัธยาศัย (ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างกลุ่ม)
– มุมสื่อมัลติมีเดีย
– มุมแนะนำหนังสือใหม่ และหนังสือยอดนิยม
– มุมประวัติศาสตร์ หรือ หอจดหมายเหตุ
– มุมสารสนเทศท้องถิ่น
– มุมวรรณกรรม นวนิยาย เรื่องสั้น
– มุมบริการอ้างอิง
– มุมบริการตอบคำถาม
– มุมแสดงนิทรรศการ
– มุมเงียบ หรือพื้นที่อ่านหนังสือแบบเงียบๆ
– มุมบริการเครือข่ายห้องสมุด
– มุมทำงานและนำเสนองานสำหรับหน่วยงานอื่นๆ
– ห้องปฏิบัติการ

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงบริการต่างๆ ในห้องสมุดประชาชนแบบคร่าวๆ
ในเรื่องรายละเอียดเพื่อนๆ ลองเข้าไปหาอ่านได้จากเว็บไซต์ห้องสมุดประชาชนทั่วไป (ในต่างประเทศ) เองนะครับ

อ๋อ สำหรับคนที่อยากอ่านตัวอย่างบางส่วนของหนังสือ
ทาง google book search ได้สแกนไว้ให้อ่านแบบเล่นๆ 300 หน้า ลองไปอ่านที่
http://books.google.com/books?id=NUplCIv1KRYC&dq=Planning+the+modern+public+library+building&printsec=frontcover&source=bn&hl=th&sa=X&oi=book_result&resnum=4&ct=result

การ์ตูนเรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่า หากทำหนังสือห้องสมุดหายควรทำยังไง

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านการ์ตูน 4 ช่องของต่างประเทศครับ วันนี้ขอนำมาให้เพื่อนๆ อ่านเล่นสักตอนนึง
ซึ่งผมขอเลือกการ์ตูนที่เกี่ยวกับห้องสมุดนะครับ จะได้สอดคล้องกับเนื้อหาในบล็อกผมสักหน่อย

peanut-library-cartoon

เนื้อหาก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ แค่เป็นการ์ตูนที่เกี่ยวกับเด็กคนนึงที่ทำหนังสือของห้องสมุดหายเท่านั้นเอง
เพื่อนๆ อยากรู้มั้ยครับว่าเด็กคนนี้จะแก้สถานการณ์ยังไง เอาเป็นว่าลองอ่านไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ

peanuts

ปล. การ์ตูนที่ผมนำมาให้ดูวันนี้ ผมนำมาจากเว็บไซต์ของ OCLC เป็นการ์ตูนที่ชื่อว่า “Peanuts”

ข้อความในการ์ตูนมีดังนี้
กรอบที่ 1 ? Dear Library, I have lost your book (ถึงห้องสมุด, ฉันทำหนังสือของคุณหาย)
กรอบที่ 2 ? I can not find it anywhere (หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ)
กรอบที 3 ? I will come to the library and turn myself in (
ผมจะไปที่ห้องสมุดและมอบตัว)
กรอบที่ 4 ? Please do not harm my mother and father (
กรุณาอย่าทำร้ายพ่อและแม่ของผม)

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับการ์ตูนน่ารักๆ นี้
ผมว่านะ “ขนาดเด็กๆ ยังมีความคิดที่ดีและสร้างสรรค์มากๆ เลย”

ช่างเป็นข้อคิดที่ดีมากๆ เลยนะครับ เพราะว่าขนาดเด็กยังมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำเลย
ดังนั้นหากเพื่อนๆ ทำหนังสือของห้องสมุดหายก็อย่ากังวลมากครับ ให้แจ้งกับห้องสมุดตามตรง
แล้วจะชดใช้ให้ห้องสมุดวิธีใดก็แล้วแต่ท่านสะดวกเลย เช่น ไปหาหนังสือแบบเดียวกันมาใช้คืน หรือ จ่ายค่าปรับให้ห้องสมุด ก็ได้

การ์ตูนแบบนี้ดูสนุกๆ แถมสอดแทรกข้อคิดที่ดีด้วย ไว้วันหลังผมจะหามาให้ดูอีกนะครับ