ห้องสมุดเคลื่อนที่ : ตู้แช่หนังสือเย็นๆ ที่สมุทรสาคร (Street Library @ Samutsakhon)

กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะทำให้ห้องสมุดเป็นที่รู้จักต่อสังคม นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการกระจายองค์ความรู้ไปสู่สังคมอีกด้วย ในยุคที่คนเราไม่ต้องวิ่งเข้าหาข่าวสารหรือความรู้ แต่ข่าวสารหรือความรู้จะวิ่งเข้าหาเราเอง นี่คือบทพิสูจน์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร

street_library_at_samutsakhon

กิจกรรมนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Street Library @ Samutsakhon
โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อบจ.สมุทรสาคร ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร (SK park)

กิจกรรมตู้แช่หนังสือเย็นๆ นี้มาจากไอเดียของมูลนิธิกระจกเงา ที่เอาตู้เย็นที่เสียแล้วมาปรับโฉมให้กลายเป็นตู้ที่ใส่หนังสือ และมอบให้วินมอเตอร์ไซต์ นั่นเอง

ภาพจาก campus sanook
ภาพจาก campus sanook

จากแนวคิดนั้นทำให้โครงการ Street Library จึงเกิดขึ้น โดยรูปแบบคล้ายๆ กัน คือ การนำตู้เย็นที่เสียแล้ว มาแต่งตัวใหม่ ด้วยการระบายสีและตกแต่งให้กลายเป็นตู้เย็นที่ใส่หนังสือได้

กิจกรรมรวมพลังเยาวชนออกแบบและเพ้นท์ตู้เย็นในโครงการ Street Library @ Samutsakhon เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม และ วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 ณ บริเวณอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร (SK park)

DSCN0289

บัดนี้เราได้เห็นตู้แช่หนังสือที่ตกแต่งเสร็จแล้วหลายใบ เอาเป็นว่าผมเก็บมาตัวอย่างตู้แช่หนังสือมาให้ชมกัน

DSCN0292 DSCN0291 DSCN0290

แผนในการดำเนินการต่อไป คือ การรับบริจาคหนังสือสำหรับใส่ตู้แช่หนังสือ ซึ่งทาง อบจ. สมุทรสาครและอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร (SK park) ได้จัดต่อไป

ซึ่งในวันที่ 2 เมษายน 2556 (ตรงกับวันรักการอ่าน) จะเป็นวันที่เหล่าตู้แช่หนังสือเย็นๆ หรือ ห้องสมุดริมถนน หรือ Street Library @ Samutsakhon จะถูกนำไปวางตามจุดต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้บริการแก่ชาวเมืองสมุทรสาครครับ

เป็นไงกันบ้างครับกับกิจกรรมดีๆ แบบนี้ เอาเป็นว่านี่ก็เป็นตัวอย่างนึงที่ผมต้องขอเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่าน
เผื่อว่าเพื่อนๆ จะเกิดแรงบันดาลใจในการต่อยอดกิจกรรมห้องสมุดของท่านสู่สังคมไทยบ้าง

ติดตามผลงานของอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาครได้ที่ http://www.facebook.com/SKpark.th

ไอเดียห้องสมุดเคลื่อนที่สไตล์ “รถถังหนังสือ”

เพื่อนๆ คงเคยเห็นห้องสมุดเคลื่อนที่ในเมืองไทยในรูปแบบที่เป็นรถบัสมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กศน หรือ กทม ก็มีห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ใช้รถบัสมาทำ วันนี้ผมมีแบบแปลกๆ มาให้ดูอีกแบบ นั่นคือ “รถถังหนังสือ”
จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่รถถังที่ทหารเข้าใช้กันหรอกนะครับ แต่เป็นเพียงรถที่ตกแต่งคล้ายๆ รถถังต่างหาก
รถถังหนังสือที่เพื่อนๆ ได้เห็นนี้ มีอยู่จริง ที่ประเทศอาร์เจนติน่า นะครับ

เจ้าของรถคันนี้คือ คุณ Raul Lemesoff ได้นำรถ Ford Falcon ปี 1979 มาตกแต่งให้เหมือนรถถัง
โดยถ้าสังเกตที่ตัวของรถจะพบว่าเกราะที่ใช้ตกแต่งพื้นผิวของรถถังเป็นหนังสือ ซึ่งมีจำนวน 900 เล่มทีเดียว

Concept ของรถถังคันนี้ คือ “Weapon of Mass Instruction” อาวุธของการสอนแบบมวลชน
“contribution to peace through literature”  นำเสนอความสันติสุขผ่านวรรณกรรม


ลองฟังบทสัมภาษณ์ของเจ้าของรถคันนี้กันครับ
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=yFi27PQ2bxo[/youtube]
นับว่าเป็นไอเดียที่ดีเลยใช้ปล่าวครับ อิอิ ผมชอบไอเดียเขาจริงๆ เลย
แต่เพื่อนๆ หลายๆ คนคงเป็นห่วงหนังสือที่อยู่บนตัวรถแน่ๆ
เพราะว่าต้องเจอทั้งแดด ความชื้น และบางทีอาจจะเจอฝน
น่าสงสารหนังสือเหล่านั้นเหมือนกันนะครับ
แต่เอาเถอะครับ มองให้มันเป็นศิลปะ ก็คงช่วยให้หายเครียดบ้าง

หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด (One Tumbon One Library)

วันนี้ขอเขียนบล็อกแนวแปลกให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันสักหน่อย
ว่าแต่ว่าเพื่อนๆ เคยได้ยินคำนี้มั้ยครับ คำว่า OTOL(One Tumbon One Library)
หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด” นั่นแหละ

library-country

จริงๆ คำนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ แค่ผมฟังคำว่า OTOP OTOP OTOP บ่อยมากเกินไป
เลยขอแหวกแนวมาเป็น OTOL สำหรับวงการบรรณารักษ์บ้าง

ทำไมต้องมี 1 ตำบล 1 ห้องสมุดหล่ะ
เพื่อนๆ ก็ลองคิดดูว่าถ้ามีช่องทางในการเข้าถึงความรู้ได้มากๆ คนก็จะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น

แนวความคิดที่อยากเห็นคนไทยทุกคนเข้าถึงสารสนเทศได้ง่ายขึ้น

?แล้วทำไมต้องเป็นห้องสมุดหล่ะ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ห้องสมุดคงเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นแล้วก็ได้?

คำพูดนี้ผมอาจจะไม่เถียงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงสารสนเทศได้เร็วขึ้น
แต่เพื่อนๆ เคยคิดถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศมั้ยครับที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ดังนั้นผมจึงบอกว่าห้องสมุดเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากกว่า
โดยที่ห้องสมุดในแต่ละชุมชนไม่ต้องใหญ่โตมากหรอกครับ ขอแค่มีหนังสือที่มีประโยชน์ให้อ่านก็ดีพอแล้ว
ผมว่าก็จะช่วยเพื่อนในชนบทของเราได้แล้ว

โครงการห้องสมุดที่ผมเห็นมากมาย เช่น ห้องสมุดเคลื่อนที่, ชมรมอาสาที่ไปสร้างห้องสมุด
สิ่งเหล่านี้ผมอยากให้เมืองไทยมีมากๆ เพราะว่าการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนในชาติเหมือนกัน
ถ้าคนในชาติมีคุณภาพ ประเทศชาติก็จะเจริญตามไปด้วย

อย่าเพิ่งเครียดกันนะครับ
ผมเพียงแค่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดก็เท่านั้น
ช่วยๆ กันทำให้เกิดขึ้นนะครับ 1 ตำบล 1 ห้องสมุด

ปล. รูปที่ให้ดูเป็นห้องสมุดของวัดแห่งหนึ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ไปช่วยจัด หนังสือไม่เยอะแต่คุณค่าทางใจมีค่ามากที่สุด