มาตรฐานห้องสมุดสามดี (How to 3Dee Library)

วันนี้ในระหว่างที่ค้นหาข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตก็บังเอิญไปเจอหนังสือคู่มือเล่มนึงน่าสนใจมาก
เป็นคู่มือ “กรอบแนวทางการดำเนินงานห้องสมุด 3 ดี” จึงขอเอามาแชร์ให้เพื่อนได้อ่านกัน

รายละเอียดทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : กรอบแนวทางการดำเนินงานห้องสมุด 3 ดี
จัดทำโดย : สำนักงาน กศน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ISBN : 9789742323502

หนังสือเล่มนี้แจกฟรีนะครับ ไม่มีขายตามท้องตลาดหรอกครับ
ถ้าใครอยากได้ให้ไปดาวน์โหลดได้ที่ http://dnfe5.nfe.go.th/download/3Dbook.pdf

เนื้อหาในคู่มือเล่มนี้แบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น
– ความสำคัญและความเป็นมา
– เป้าประสงค์ตามนโยบาย “ห้องสมุด 3 ดี”
– วิสัยทัศน์
– พันธกิจ
– แนวทางการดำเนินงาน
– มาตรฐาน “ห้องสมุด 3 ดี”
– การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ

เอาเป็นว่าผมขอยกมาสักส่วนนึงให้อ่านนะครับ
เรื่องที่ผมจะยกมานี้ คือ มาตรฐาน “ห้องสมุด 3 ดี”
ซึ่งมีเพื่อนๆ หลายคนถามผมมาบ่อยมากๆ จึงขอเอาเรื่องนี้มาเล่านะครับ

ห้องสมุด 3 ดี มีอะไรบ้าง (หนังสือดี บรรยากาศดี บรรณารักษ์ดี)
แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีคำจำกัดความว่าอย่างไรกันบ้าง อะไรคือมาตรฐาน ???

หนังสือดี —> หนังสือ หรือ สื่อการเรียนรู้ที่งในรูปของสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อมัลติมีเดีย หรือสื่ออื่นๆ ต้องมีเนื้อหาที่ดี มีคุณภาพ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม

บรรยากาศดี —> บรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่านหนังสือ บริการในห้องสมุดอย่างเป็นกันเอง สะดวก สบาย ที่สำคัญต้องประหยัดพลังงาน และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน

บรรณารักษ์ดี —> บรรณารักษ์มีความรู้ และมีความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติงาน

มาตรฐานของห้องสมุด 3 ดี
1. หนังสือดี มาตรฐานอยู่ที่

1.1 หนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– เนื้อหามีสาระ ส่งเสริมจินตนาการ คุณธรรม จริยธรรม
– ความถูกต้องของข้อมูล เชื่อถือได้ มีการอ้างอิงถูกต้อง
– มีภาพและลายเส้นประกอบให้สอดคล้องกับเนื้อหา
– ใช้คำที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย
– มีรายการบรรณานุกรมที่หอสมุดแห่งชาติออกให้ (CIP)

1.2 การจัดหาหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– มีนโยบายการจัดหา
– มีคณะกรรมการคัดเลือก
– มีคณะกรรมการจัดซื้อ
– มีการจัดทำประกาศรายชื่อหนังสือที่จะซื้อ
– มีมุมแนะนำหนังสือดี
– มีการหมุนเวียนหนังสือเรื่อยๆ
– มีการจัดทำฐานข้อมูลหนังสือ
– มีการสนับสนุนสื่ออิเล็กทรอนิกส์

2. บรรยากาศดี มาตรฐานอยู่ที่

2.1 บรรยากาศภายในห้องสมุดดี ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– บรรยากาศทั่วไปดี เช่น สะอาด โล่ง โปร่ง สบาย แสงสว่างเพียงพอ ต้นไม้ร่มรื่น
– การจัดพื้นที่ทำให้น่าสนใจ เช่น มีมุมหนังสือที่หลากหลาย ไม่มีมุมอับ เฟอร์นิเจอร์สบาย ป้ายบอกทางชัดเจน
– การจัดส่วนส่วนการวางหนังสือ เช่น จัดวางหนังสืออย่างเหมาะสม เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก

2.2 บรรยากาศภายนอกห้องสมุดดี ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– สถานที่เป็นเอกเทศ
– ชุมชนเข้าถึงสะดวก
– มีสิ่งอำนวยความสะดวก
– อาคารน่าสนใจดึงดูดผู้ใช้บริการ เช่น ใช้สี
– พื้นที่ไม่คับแคบ จัดสัดส่วนให้เหมาะต่อการใช้บริการ
– ไม่มี dead zone พื้นที่ปรับได้ตามการใช้งาน

3. บรรณารักษ์ดี มาตรฐานอยู่ที่

3.1 บรรณารักษ์มีคุณภาพ ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการห้องสมุด
– มีทักษะในการปฏิบัติงานในห้องสมุดดี เช่น ด้านไอที ด้านการบริการ ด้านการจัดกิจกรรม

3.2 บรรณารักษ์มีความเป็นมืออาชีพ ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– มีกระบวนการและขั้นตอนในการทำงานในห้องสมุด
– เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง
– บริหารจัดการความรู้ในรูปแบบใหม่
– เป็นนักคิด นักพัฒนา และนักวางแผนในการใช้ไอทีเพื่อการปฏิบัติงาน
– เป็นผู้ประสานเครือข่าย
– เป็นผู้นำด้านบริการใหม่ๆ
– มีความภูมิใจในอาชีพ

3.3 บรรณารักษ์มีจิตบริการ ต้องอาศัยสิ่งบ่งชี้ดังนี้
– มีทัศนคติเชิงบวก
– ติดตามและปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ตลอด
– มีความคิดสร้างสรรค์
– บุคลิกภาพดี และมีความสุขในการทำงาน

เป็นยังไงกันบ้างครับ ที่อ่านมาผมรู้สึกว่าประเด็นเรื่อง “บรรณารักษ์ดี” จะมีเนื้อหาเยอะกว่าอย่างอื่น
โดยเฉพาะในเรื่อง มาตรฐานของการเป็น “บรรณารักษ์มืออาชีพ” ยิ่งมีรายละเอียดเยอะ
และข้อที่ถูกใจผมมากๆ คือ “บรรณารักษ์มืออาชีพ” ต้องมีความภูมิใจในอาชีพ

เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอฝากแง่คิดไว้เท่านี้ก่อนนะครับ
สำหรับใครที่อยากอ่านต่อก็ดาวน์โหลดเล่มนี้มาอ่านได้ครับ
http://dnfe5.nfe.go.th/download/3Dbook.pdf

ปล. เนื้อหาที่ผมเขียนด้านบนนี้ผมอ่านแล้วสรุปใจความมานะครับ ไม่ได้ copy มาทั้งดุ้น
ดังนั้นใครก็ตามที่นำบทความนี้ไปอ้างก็กรุณาอ่าน สรุป และแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ

ข่าว (ไม่ดี) เรื่องการซื้อหนังสือในโครงการห้องสมุดสามดี

เรื่องดีๆ ในวงการห้องสมุดมีให้อ่านเยอะแล้ว วันนี้ผมขอนำข่าวๆ นึงมาลงให้อ่านนะครับ
ผมเชื่อว่าบรรณารักษ์ในห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่ คงต้องได้ยินข่าวนี้บ้างหล่ะ

old-book-in-library

ขอเกริ่นให้ทราบสักนิดนะครับว่า…
เมื่อเดือนที่แล้วผมก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่นะครับ
เท่าที่รู้ คือ ทาง กศน. ได้งบเพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามนโยบาย “ห้องสมุดสามดี”
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ข่าวเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นการจัดซื้อหนังสือก้อนใหญ่อีกครั้งนึงของห้องสมุดประชาชน

แต่หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ผมก็ได้ยินข่าวจากบรรณารักษ์หลายๆ คนว่า
การจัดซื้อหนังสือครั้งนี้ มีความแปลกและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

เอาเป็นว่าผมคงบอกรายละเอียดแบบลึกๆ ไม่ได้
แต่ก็ได้แค่ให้กำลังใจและปลอบบรรณารักษ์ว่า “อย่าคิดมาก”
ยังไงก็ถือว่าได้หนังสือใหม่เข้าห้องสมุดแล้วกัน

เอางี้ดีกว่าเพื่อนๆ ลองอ่านข่าวด้านล่างนี้ก่อนนะ

หัวข้อข่าว : ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดกศน.ส่งกลิ่น
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 คอลัมน์การศึกษา

URL : http://dailynews.co.th/newstartpage/printmode.cfm?categoryid=42&contentid=49149

เนื้อข่าวมีดังนี้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย? (สำนักงาน กศน.) กล่าวถึงปัญหาการร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ประชาชนของ กศน. ตามโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ว่า ที่ผ่านมา กศน. ได้รับงบฯซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน แห่งละ 30,000 บาท แต่ปีนี้ได้รับงบฯเอสพี 2 เพื่อจัดซื้อหนังสือแห่งละ 450,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15% ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในการจัดซื้อมากขึ้น โดยที่ผ่านมามี กศน.อำเภอหลายแห่งในภาคกลางร้องเรียนว่ารายชื่อหนังสือที่ได้ไม่ตรงกับความ ต้องการ ตนจึงสั่งการให้ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ผอ.กศน.) อำเภอไปทบทวนแล้ว

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่คาดว่าจะกลายเป็นกลียุคต่อไป คือ เรื่องการส่งหนังสือไม่ครบตามรายการที่ประมูลได้ เพราะมีบางบริษัทจับกลุ่มฮั้วกัน เช่น บางพื้นที่บริษัทประมูลหนังสือ จำนวน 1,200 รายการ ในวงเงิน 450,000 บาท แต่ส่งหนังสือได้เพียง 800 รายการ เพราะที่เหลือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่ยอมขายให้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นสถานศึกษาจะต้องรายงานมาโดยเร็วเพื่อจะได้หา ทางแก้ปัญหาต่อไป แต่หากอำเภอใดรับหนังสือไม่ครบตามสัญญาที่ประมูล แล้วอ้างว่าบริษัทส่งหนังสือไม่ครบ ผอ.กศน.อำเภอ ในฐานะผู้จัดซื้อต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้มอบอำนาจให้แล้ว

?ปัญหาเรื่องการจัดซื้อส่วนกลางไม่สามารถควบคุมได้ เพราะได้กระจายอำนาจให้สถานศึกษาไปแล้ว และที่ผ่านมาทราบว่ามีคนไปแอบอ้างว่าเป็นทีมงานของผม ขอให้ดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ ซึ่งมี กศน.อำเภอหลายแห่งโทรศัพท์มาถาม ผมก็ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เคยมีทีมงาน อย่าไปเชื่อและขอให้จัดซื้อตามระเบียบและขั้นตอน? นายอภิชาติกล่าวและว่า ส่วนที่มีการแอบอ้างผู้ใหญ่ในกระทรวงนั้น ยอมรับว่าได้ยินมาเช่นกันว่า ขณะนี้มีการสถาปนาดีลเลอร์เฉพาะกิจขึ้นมาและอ้างว่าเกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ใน กระทรวง แต่ก็ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ ผอ.กศน.อำเภอ ดังนั้นหากสถานศึกษาใดถูกกดดันให้จัดซื้อโดยไม่สมัครใจ ก็ขอให้ร้องมายังส่วนกลางจะได้เร่งแก้ไขให้.

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คิดยังไงกับข่าวแบบนี้ครับ
ลองช่วยกันเสนอความคิดเห็นให้ผมฟังหน่อยว่าเรื่องแบบนี้ เพื่อนๆ คิดยังไง

ปล. หลังจากที่ข่าวนี้ออกมาผมเชื่อว่าห้องสมุดประชาชนหลายที่คงต้องระงับการซื้อหนังสือชั่วคราวทันที
และก็รอให้มีการตรวจสอบผ่านไปก่อนจึงจะดำเนินการจัดซื้อได้เช่นเดิม

คลิปวีดีโอ 3D ความหวังห้องสมุดไทย

วันนี้ผมขอนำคลิปวีดีโอบน youtube มาให้เพื่อนๆ ดูสักตอนนึงนะครับ
ซึ่งเนื้อหาในคลิปวีดีโอนี้เกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดสามดีซึ่งเป็นความหวังในการพัฒนาห้องสมุดเมืองไทย

3d-library

เราไปดูคลิปกันก่อนดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=ydt4OsdgUok[/youtube]

คลิปนี้จัดทำโดย VOICE News (Voice of the New generation)

เนื้อหาในคลิปวีดีโอได้กล่าวถึง
– ความหมายของห้องสมุดสามดี
– จำนวนห้องสมุดที่มีในประเทศไทย
– จำนวนห้องสมุดที่มีเยอะแต่ไม่ทำให้สถิติการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้น
– คนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออ่านหนังสือน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ
– ระบบหนังสือหมุนเวียน
– สถาบันหนังสือแห่งชาติ
– โครงการที่เกี่ยวกับการรักการอ่าน

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองจับใจความกันดูนะครับ