หัวข้อในวันนี้ที่ผมเอามาโพสลง เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผมได้รับเกียรติให้ไปบรรยายและเป็นผู้ดำเนินรายการด้วย งานนี้เป็นงานสัมมนาวิชาการ ความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน สำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาคาร 1 ชั้น 4 ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปฟังผมวันนั้น ผมจึงขอเอาเรื่องที่ผมบรรยายมานำเสนอให้อ่านสักหน่อย (http://www.libraryhub.in.th/2012/07/11/seminar-economic-finance-human-and-library-role/)
เอาเป็นว่าไปชมสไลด์ของผมกันก่อนดีกว่า
บทบาทของห้องสมุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน
[slideshare id=15010099&doc=libraryrolefordevelopsocial-121103113039-phpapp02]
สรุปจากสไลด์
ก่อนเริ่มต้นบรรยายอย่างเป็นทางการผมได้เกริ่นถึงความสำคัญของห้องสมุดที่เป็นมากกว่าแค่ห้องเก็บหนังสือ เพราะสถานที่แห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ของประเทศได้อย่างดีทีเดียว ประเทศที่พัฒนาแล้วมักเห็นความสำคัญของการพัฒนาห้องสมุด…
ห้องสมุด ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของชุมชน เอาง่ายๆ ว่าห้องสมุดเหมือนกับ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง ฯลฯ
ห้องสมุดถูกจัดอยู่ในหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษานอกระบบ – เพราะการจะใช้ห้องสมุดเราไม่ได้มีแบบแผนตายตัวเหมือนหลักสูตรที่จัดในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั่นเอง
โครงสร้างพื้นฐานแบบไม่เป็นทางการเหล่านี้ จะช่วย :–
– สนับสนุนแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน
– บ่มเพาะภูมิปัญญาในระดับบุคคลที่ทำให้ความรู้และรสนิยมของผู้คน
– ผลิตองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
ห้องสมุดช่วยพัฒนาเมืองได้อย่างไร
– การเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูตัวเมือง ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ หอสมุดกลางซีแอตเติล (Seattle Public Library) ใครจะไปเมืองนี้ต้องไม่พลาดที่จะเข้าชมห้องสมุดแห่งนี้
– ต้นแบบของสิ่งปลูกสร้างรุ่นใหม่ ตัวอย่างคือ อาคารหอสมุดกลาง ประเทศสิงคโปร์ อาคารห้องสมุดที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปี 2005 หลังจากนั้นทำให้หลายๆ อาคารและหลายๆ หน่วยงานต้องเข้ามาศึกษาดูงานและขอคำปรึกษา
– พัฒนาเมืองด้วยการเป็นศูนย์รวมและสถานที่ยึดเหนี่ยวของชุมชน ตัวอย่างอยู่ไม่ไกล คือ อุทยานการเรียนรู้จังหวัดยะลา (TK park Yala) อีกตัวอย่างของการพัฒนาเมืองด้วยการพัฒนาห้องสมุด เมื่อมีห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ดีๆ ในพื้นที่ ผู้คนในพื้นที่ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากช่วยพัฒนาเมืองแล้วยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจด้วย จากรายงานเรื่อง “ประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของห้องสมุดประชาชนในรัฐฟลอริดา” พบว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจไม่เพียงแต่เห็นพ้องกันว่า “ธุรกิจท้องถิ่นได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่ห้องสมุดทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
ห้องสมุดประชาชนกรีนส์โบโร (Greensboro (NC) Public Library) ร่วมกับโครงการประกาศนียบัตรด้านการจัดการที่ไม่หวังผลกำไร มหาวิทยาลัยดุ๊คส์ (Duke University) จัดการอบรมและเวิร์คช็อปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 35 คอร์ส หัวข้อต่างๆ เช่น การเขียนเอกสารขอทุน การหาทุน การเขียนแผนธุรกิจ และการตลาด
ห้องสมุดสามารถช่วยพัฒนาคนทำให้คนได้งานทำ ซึ่งห้องสมุดประชาชนยุคใหม่ จะมีการนำเสนอข้อมูลตำแหน่งงานว่าง การฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ การอ่านออกเขียนได้ ให้คำปรึกษาด้านการเขียนใบสมัครงาน ประวัติย่อ และจดหมายนำการสมัครงาน
บทบาทที่กล่าวมาถูกพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือในการวัดผลตอบแทนของการมีห้องสมุด (เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้ว อ่านต่อได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/2011/08/19/cost-benefit-analysis-for-us-public-libraries/)
เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงผลสรุปที่ผมนำมาฝากให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ
ปล. ต้องขออภัยผู้ร่วมบรรยายอีกท่านด้วย ที่ไม่ได้สรุปข้อมูลของท่านในครั้งนี้ แล้วผมจะนำมาสรุปอีกครั้งให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ