วันเสาร์ที่จะถึงนี้เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม หรือ ที่เราเรียกว่า วันเด็ก นั่นเอง ช่วงนี้ห้องสมุดหลายๆ แห่งคงกำลังเตรียมงานวันเด็กกันอยู่ ผมจึงขอนำรูปแบบงานวันเด็กในห้องสมุดที่เคยจัดมาเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ
จริงๆ เรื่องงานวันเด็กของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีผมเคยเขียนในบล็อกของผมแล้ว
เรื่อง “งานวันเด็ก ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี”
วันนี้ผมขอเขียนในมิติที่เกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมงานแล้วกันครับ
เริ่มตั้งแต่การประชุมกันในทีมเพื่อหากิจกรรมต่างๆ มาลงในงานวันเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วคิดออกมาแล้วมีมากมาย ได้แก่
– การวาดภาพระบายสี
– การเล่านิทาน
– การตอบคำถามเพื่อแจกของรางวัล
– การพับกระดาษโอริงามิ
– การปั้นดินน้ำมัน
– การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์
– การชมภาพยนตร์
ฯลฯ
จริงๆ แล้วคิดไว้เยอะมาก แต่ก็มาแบ่งเป็นประเภทๆ อีกที เช่น กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมเพื่อนักอ่าน กิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้ชื่อโซนต่างๆ ดังนี้
1 โซนสร้างพลานามัย
2 โซนรักการอ่าน
3 โซนสร้างจินตนาการ
4 โซนเทคโนโลยี
5 โซนส่งเสริมอาชีพ
เมื่อได้ชื่อกิจกรรมและโซนกิจกรรมแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องคิดคือ “การเขียนโครงการวันเด็ก” ออกมา
ที่ต้องรีบเขียนออกมาเพื่อที่เราจะนำโครงการนี้ไปขอรับอภินันทนาการของรางวัล ของแจก และเงินทุนจากผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สำหรับจัดงานต่อไป
เมื่อได้ของรางวัล ของแจก และของสนับสนุนต่างๆ แล้วก็เริ่มดำเนินการวางแผนงานต่อ คือ จัดสรรของรางวัลเพื่อลงไปในกิจกรรมต่างๆ
จากนั้นก็เริ่มวางผู้ที่เป็นหลักในกิจกรรมต่างๆ และแบ่งหน้าที่กันทำ
ห้องสมุดประชาชนไม่ต้องกลัวว่าคนจะน้อย กศน สามารถมอบหมายครู กศน มาช่วยห้องสมุดจัดงานได้ด้วย
สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างจุดเด่นให้กับห้องสมุด
ลองคิดดูนะครับ วันเด็ก หน่วยงานต่างๆ ก็จัดงานกันมากมาย
ถ้าห้องสมุดไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เด็กๆ ก็อาจจะหายไปอยู่ที่งานวันเด็กที่หน่วยงานอื่นๆ จัดก็ได้
สุดท้ายก็ประชุมกันอีกสักนิดก่อนจัดงานสองวันเพื่อตรวจสอบว่า ยังขาดเหลืออะไรอีกหรือไม่
นี่แหละครับ กว่าจะเป็นงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ชมภาพกิจกรรมในงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ทั้งหมด
[nggallery id=35]