สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีบรรยายเยอะมากๆ เอาเป็นว่าจะเอามาสรุปให้อ่านทีละตอนแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอคิวของการไปบรรยายที่จังหวัดร้อยเอ็ดก่อนแล้วกัน ในหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน

การบรรยายเรื่องนี้ผมใช้เวลาครึ่งวันบ่ายครับ เพราะช่วงเช้าหัวหน้าผมบรรยายไปแล้ว
(เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด“)

เริ่มจากไปดูสไลด์ที่ผมใช้บรรยายก่อนดีกว่า
Social media in library at roiet

เอาหล่ะครับมาอ่านบทสรุปของผมต่อแล้วกัน

การบรรยายเริ่มจากการเกริ่นเส้นทางจากบรรณารักษ์ในแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่
และเกริ่นถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ คือ
– ทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ทุกคนควรรู้….
– ทำความรู้จักสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
– กรณีศึกษาการใช้บล็อกสำหรับห้องสมุด
– กรณีศึกษาการใช้ Facebook สำหรับงานห้องสมุด
– แนวโน้มการก้าวสู่การเป็นห้องสมุดยุคใหม่ในโลก

บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพ (บรรณารักษศาสตร์) และมีความรู้ด้านไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์

การทำงานในห้องสมุดให้ราบรื่น จำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวม
และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเห็นภาพคือ Library Work Flow ตัวอย่างดังภาพ

ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที – ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรามากมาย เช่น งานบริหารห้องสมุด, งานจัดซื้อจัดหา, งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ, งานบริการต่างๆ, ระบบห้องสมุด

ไอทีสำหรับบรรณารักษ์ ผมย้ำแค่ 3 ประเด็น คือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และเอาไปใช้ให้ถูก

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ประเด็นไอทีในข้อ 1-7 ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ใช้กันอยู่แล้วเพียงแต่ต้องฝึกฝนกันมากๆ แต่ในข้อที่ 8 อยากให้เรียนรู้กันมากๆ นั่นคือ เรื่องเว็บ 2.0 นั่นเอง

เว็บ 2.0 มีลักษณะดังนี้ (สรุปประเด็นตามสไลด์)
– ยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์
– รูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์”
– แนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ
– การปรับเว็บไซต์จากการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว เป็นการให้บริการและข้อมูลที่ “ผู้ใช้” เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสร้าง แก้ไข


จาก “เว็บ 2.0” สู่ “ห้องสมุด 2.0” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ รับฟังผู้ใช้บริการ …..

ในอดีตช่องทางที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักห้องสมุดบนโลกออนไลน์ มีเพียงวิธีเดียว คือ “เว็บไซต์ห้องสมุด” แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์มากมายให้เลือกใช้ ที่สำคัญ คือ “ฟรี”

สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันความรู้ – เครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันความรู้

ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์แบบต่างๆ เช่น Blog Facebook twitter

ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (Trend : Library in the Future)
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.


นี่ก็เป็นการสรุปการบรรยายให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ เอาเป็นว่าขอจบแต่เพียงเท่านี้หล่ะกันครับ

ผมขอฝากเอกสารชิ้นนึงให้อ่าน เป็นบทความที่ผมเขียนลงวารสารโดมทัศน์ของธรรมศาสตร์
อยากให้อ่านเพราะว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
อ่านได้ที่ “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผมและหัวหน้าของผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อบรรยายให้บรรณารักษ์ที่ทำงานอยู่ในห้องสมุดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในช่วงเช้าเป็นหัวข้อ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าของผม และตอนบ่ายเป็นหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน” โดยผมเอง

ซึ่งในขณะที่หัวหน้าของผมกำลังบรรยายในเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ผมเองก็ได้ทำการถ่ายทอดสดการบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย เผื่อที่ว่าเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้มาฟังก็สามารถอ่านการรายงานสดของผมได้

การรายงานสดของผมครั้งนี้ ผมใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter
ซึ่งง่ายต่อการรายงานสดๆ มาก เพราะพิมพ์ข้อความละครั้งไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น
การดำเนินการรายงานสดของผมใช้ชื่อว่า “Live Tweet” และใช้คำหลักว่า “#Libraryatroiet

ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่า ผมรายงานเป็นอย่างไรบ้าง
[ผมจะเรียงจากข้อความแรกไปจนถึงข้อความสุดท้ายนะครับ]

Live Tweet : “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” #Libraryatroiet

– หัวข้อในช่วงเช้านี้ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์ยุคใหม่ & เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” #LibraryatRoiet

– วิทยากรช่วงเช้านี้ หัวหน้าผมเอง คุณนพดล วีรกิตติ #LibraryatRoiet

– เมื่อกี้วิทยากรพูดถึงแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา #LibraryatRoiet

– การจัดชั้นวารสารที่น่าสนใจอยากให้ห้องสมุดดูร้านหนังสือเป็นตัวอย่าง #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดหลายแห่งจัดนิตยสารโดยการเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นผู้ใช้ที่ต้องการหานิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันลำบากในการเดินมากๆ #LibraryatRoiet

– ถ้าจัดชั้นนิตยสารตามหมวดหมู่ หรือ เรียงนิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สบาย บรรณารักษ์ก็ทำงานง่าย #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังแนะนำเทคนิคเรื่องการนำ mindmap มาใช้ในการหาความคิดสร้างสรรค์ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์มีเสื้อกันเปื้อยด้วย เท่ห์ป่ะหล่ะ #LibraryatRoiet

– Library2.0 แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือ สมุดเซ้นเยี่ยมชมห้องสมุด และ สมุดแสดงความคิดเห็นในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– สมุดเซ็นเยี่ยม หรือ สมุดแสดงความคิดเห็น ที่ดี คือ สมุดวาดเขียน (สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด) จะดีมากๆ #LibraryatRoiet

– จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิต บรรณารักษ์ต้องมีชีวิตชีวาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากทำงาน #LibraryatRoiet

– อาชีพการจัดการความรู้เป็นอาชีพที่ต้องการมากในต่างประเทศ #LibraryatRoiet

– สังคมต้องช่วยให้คนมีความรู้ที่ดี เพื่อให้คนมีโอกาสในช่วง AEC ห้องสมุดคือหน่วยงานที่ต้องสร้างองค์ความรู้นั้น #LibraryatRoiet

– ในประเทศอเมริกา obama แต่งตั้งให้บรรณารักษ์ดูแลนโยบายการจัดการความรู้ของประเทศ ถ้าเมืองไทยหล่ะ ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ #LibraryatRoiet

– ที่อุบลราชธานี ราชภัฎอุบลเองยังต้องมาดูงานที่ห้องสมุดประชาชน #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังยกตัวอย่างห้องสมุดเทศบาลระยอง ที่เทศบาลกู้เงินจาก world bank เพื่อพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– Seattle ประชากรมีมากกว่า 168 เชื้อชาติ ห้องสมุดประชาชนจึงจัดคอร์สอบรมภาษาอังกฤษให้ฟรี #LibraryatRoiet

– ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น ก็จะมีรายได้มากขึ้น ผลสุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้มากขึ้น นี่แหละกลไล #LibraryatRoiet

– เหตุผลง่ายๆ ที่ท้องถิ่นต้องลงทุนพัฒนาห้องสมุดในท้องที่ของตัวเอง #LibraryatRoiet

– หนังสือดีๆ ควรมีในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ทำไมห้องสมุดถึงจะมีการ์ตูนไม่ได้หล่ะ การ์ตูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น #LibraryatRoiet

– รักการอ่านต้องเริ่มจากความสนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ #LibraryatRoiet

– คนที่ทำงานด้านไอทีอยากได้องค์ความรู้ด้านไอทีมาก แต่หนังสือก็ราคาแพง ห้องสมุดทำไมถึงไม่จัดหาให้คนกลุ่มนี้บ้างหล่ะ #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ต้องมีกรอบการเลือกที่ชัดเจน ไม่งั้นก็ได้หนังสือมาแบบไม่มีแก่นสาร #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดได้ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราก่อนว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไร และเรามีอะไร #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดวัสดุก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากแค่การอ่านเท่านั้น #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น กรณี “ผ้าย้อมมะเกลือป้องกันแสงยูวี” เป็นเรื่องที่ห้องสมุดก็นำมาเล่าได้ #LibraryatRoiet

– ในท้องถิ่นจะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจอีกเพียบ หน้าที่นึงของห้องสมุด คือ การดึงองค์ความรู้เหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นฟัง #LibraryatRoiet

– นึกอะไรไม่ออกให้เดินมาที่ห้องสมุด ห้องสมุดอยู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ #LibraryatRoiet

– พักเบรค 15 นาทีครับ เดี๋ยวกลับมารายงานต่อครับ #LibraryatRoiet

– อธิบายในช่วงเบรคนิดนึง #LibraryatRoiet คือ การรายงาน live tweet การอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 26 คน

– กลับมาจากเบรคแล้ว เริ่มด้วยของเด่นประจำจังหวัด #LibraryatRoiet

– ร้อยเอ็ดเด่นเรื่องข้าว (ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่ที่นี่) #LibraryatRoiet

– ช่วงนี้เน้นเรื่องการเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอในห้องสมุด ตัวอย่างกรณีศึกษาคือ “ตลาดนัดฮักสุขภาพ” ที่ห้องสมุดอุบลราชธานี #LibraryatRoiet

– คนรุ่นใหม่เรียนจบมาทำฟาร์ม ทำสวนกันเยอะเหมือนกันนะ “คนที่ต้องการใช้ความรู้เพื่อทำการเกษตร” ห้องสมุดจะทำอย่างไร #LibraryatRoiet

– การสังเกตความสนใจของผู้ใช้บริการแบบง่ายๆ คือ หยิบหนังสือมาดูด้านหลังตรงที่ประทับตรากำหนดส่ง ว่ามีเยอะแค่ไหน #LibraryatRoiet

– “คุณภาพชีวิต” เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจมาก #LibraryatRoiet

– การ survey แบบง่ายๆ และไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลย คือ การพูดคุยกับผู้ใช้บริการมากๆ #LibraryatRoiet

– การหาความรู้ของคนในต่างจังหวัดมักจะมาจากการพูดคุย ถามกันเอง ไม่ใช่การมาอ่านหนังสือในห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดควรจะจัดเวทีให้ #LibraryatRoiet

– คนขายของไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ของจีนก็เยอะ แต่ถ้าเราหาโอกาสทางธุรกิจเจอก็ไม่ยากนะ ห้องสมุดต้องช่วยหาประเด็นเหล่านั้น #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดไปศึกษาข้อมูลงานวิจัยผู้สูงอายุพบว่า “Lifestyle ของผู้สูงอายุในยุคนี้ต่างจากยุคก่อนหน้านี้” #LibraryatRoiet

– ผู้สูงอายุถามว่า “เวลาไปซื้อของตามศูนย์การค้าทำไมต้องให้พวกเขาเดินหลายๆ ชั้น ทีของเด็กยังมีเป็นมุมช้อปปิ้งของเด็กเลย” #LibraryatRoiet

– การจัดนิทรรศการของห้องสมุดแบบเดิมๆ คือ การจัดบอร์ด ไม่ว่าจะงานไหนก็เป็นการติดบอร์ด ไม่คิดว่าผู้ใช้บริการเบื่อบ้างหรอ #LibraryatRoiet

– คนพูดเรื่อง AEC กันเยอะ แต่ก่อนที่ห้องสมุดจะไปถึงขั้นนั้นได้ ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญกับสารสนเทศท้องถิ่นก่อน #LibraryatRoiet

– คนอุบลราชธานีบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องมีคำว่า “ราชธานี” สารสนเทศท้องถิ่นสำคัญมากนะ #LibraryatRoiet

– Creative Economy = ความรู้ท้องถิ่นต่อยอดกับสินค้าและบริการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก #LibraryatRoiet

– อาจารย์ปัญญาเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานีได้สนุกมาก เราก็เชิญเขามาเล่าในห้องสมุดให้ผู้ใช้บริการฟังสิ #LibraryatRoiet

– จังหวัดมอบภาระในการเล่าเรื่องจังหวัดให้ห้องสมุดเป็นคนทำ #LibraryatRoiet

– การตั้งชื่อของกิจกรรมก็มีส่วนในการเรียกคนเข้าห้องสมุดเช่นกัน #LibraryatRoiet

– ขนาดภาพยนตร์ต่างๆ ยังมีการตั้งชื่อให้น่าสนใจเลย ดังนั้นห้องสมุดก็ควรตั้งชื่อกิจกรรมต่างๆ ให้โดนใจบ้าง #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างชื่อกิจกรรมแบบโดนๆ “จัดร้านให้ได้ล้าน, นิทรรศการเฮ็ดจังสิเด้อจังสิมีโอกาส” ภาษาถิ่นก็เป็นอีกไอเดียนึง #LibraryatRoiet

– มีโอกาสและช่องทางมากมายในการพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์ในอเมริกาใช้วิธีการสมัครเข้าร่วมกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเมือง เช่น กลุ่มไพธอน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มาใช้พื้นที่ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่ที่มีคนมาขอใช้ถ่ายทำรายการมากมาย นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการโปรโมทห้องสมุด #LibraryatRoiet

– เรื่องที่คิดไม่ถึง “มีครูมาขอเช่าพื้นที่ในห้องสมุดสอนหนังสือเด็กฟรี” สอนฟรีแถมให้เงินห้องสมุด มีแบบนี้ด้วย ห้องสมุดอุบลฯ #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเปิด stop motion เพื่อการแนะนำหนังสือในห้องสมุด ทำง่าย ใช้ได้จริง #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเล่าต่อถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับห้องสมุด ห้องสมุดไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้วนะ #LibraryatRoiet

– หลายๆ คนบอกว่าห้องสมุดจะพัฒนาได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งก็จริงส่วนนึง แต่ส่วนนึงผู้ปฏิบัติต้องพิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็น #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเกริ่นถึงเรื่องสื่อสังคมออนไลน์กับงานห้องสมุดซึ่ง ช่วงบ่ายผมจะเป็นคนบรรยายเอง #LibraryatRoiet

– ช่วงบ่ายอาจจะไม่มีการรายงานสดๆ แบบนี้ แต่ผมสัญญาว่าจะเอาเรื่องที่ผมบรรยายมาโพสในบล็อกให้อ่านนะครับ #LibraryatRoiet

– แนะนำหลักสูตรการอบรม 10 ด้าน เพื่อการพัฒนาบรรณารักษ์ “ห้องสมุดมีชีวิตเมื่อคนทำงานมีชีวิตชีวา” #LibraryatRoiet

– การอบรม คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้คนทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข #LibraryatRoiet

– ถ้าเรากลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีแรงในการคิดสร้างสรรค์ #LibraryatRoiet

– การเรียนเรื่อง “การค้นหา” มันมีวิธีมากมาย #LibraryatRoiet

– วิธีการเขียนบล็อกที่ง่ายที่สุด คือ อย่าไปคิดว่าจะเขียนเพื่อเอารางวัลซีไรต์ #LibraryatRoiet

– Unconference ในวงการห้องสมุดก็น่าสนใจนะ #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างงาน unconference “พรุ่งนี้บ่ายโมงไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกไปถ่ายรูปกัน” #photowalk #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดสมัยใหม่ ต้องเปลี่ยนปัญหาของผู้ใช้บริการ มาเป็น ปัญหาของเรา เช่น ผู้ใช้ไม่ได้เอาบัตรมา เราก็ต้องให้ยืมได้ #LibraryatRoiet

– ผู้บริหารเตือนพนักงาน “คุณจะทะเลาะกับลูกค้าเพราะเงิน 50 บาทอย่างนั้นหรือ” เพราะหลังจากนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาหาเราอีก #LibraryatRoiet #Like

– ความสุขของพวกเราคือ การเห็นผู้ใช้บริการมีความสุขกับการใช้ห้องสมุดที่พวกเราทำ #LibraryatRoiet

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นการสรุปประเด็นและเก็บตกไอเดียจากการบรรยายเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” โดยคุณนพดล วีรกิตติ นะครับ ส่วนบทสรุปในช่วงบ่าย เนื่องจากผมเป็นคนบรรยายเอง จึงไม่มีการทำ Live Tweet นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะสรุปลงบล็อกให้อ่านในตอนหน้าแล้วกัน